ผลกระทบ ของการเปลี่ยนแปลง ด้านเศรษฐกิจ

ประเด็นสำคัญ

  • Policy Brief ฉบับนี้เขียนขึ้นจากงานวิจัยเกี่ยวกับการเจรจาการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นศึกษาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) โดยการผสมผสานการศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเจรจาและการวิเคราะห์เชิงปริมาณเพื่อประเมินผลกระทบจากข้อตกลง
  • ประเทศไทยมีนโยบายที่ชัดเจนที่จะใช้ FTA กับประเทศต่างๆ ทั้งในระดับทวิภาคี และระดับภูมิภาค เป็นยุทธศาสตร์ในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพิ่มโอกาสในการส่งออก และสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ
  • ประเทศไทยเจรจาและทำข้อตกลงการค้าเสรีกับหลายๆ ประเทศในคราวเดียวกัน โดยเน้นการเจรจาด้านการลดภาษี และคำนึงถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจในการรักษาประเทศคู่ค้าและเปิดตลาดส่งออกใหม่ๆ เป็นสำคัญ
  • JTEPA เป็นการเปิดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่นในมิติที่ครอบคลุมทั้งการค้าการลงทุน และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทุกด้าน การเปิดการค้าเสรีตามความตกลง ดังกล่าวส่งผลให้เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นทำให้ปริมาณการปลดปล่อยมลพิษต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
  • กระบวนการเจรจาที่มีความครบถ้วนด้านบุคลากรผู้เจรจา ข้อมูล และการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งการประเมินต้นทุนและผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการเจรจาเขตการค้าเสรี
  • เอกชนและผู้ประกอบการไทย ต้องติดตามสถานการณ์การเจรจาอย่างใกล้ชิด และมีการพัฒนาความสามารถในการผลิตและการแข่งขันอยู่เสมอ เพื่อให้ทันต่อการแข่งขันที่รุนแรงและ ไร้พรมแดนในตลาดโลก


* สรุปและเรียบเรียงจากรายงานการวิจัยเรื่อง “การศึกษาทางกฎหมาย และการพัฒนาเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น โดยคำนึงถึงต้นทุนสิ่งแวดล้อม: กรณีศึกษาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์” โดย สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (2552) และเอกสารประกอบอื่นๆ
* สรุปและเรียบเรียงโดย ดร.สุเนตรา เล็กอุทัย ()

  1. บทนำ

ประเทศไทยมีนโยบายที่ชัดเจนทั้งในรัฐบาลที่ผ่านมาและปัจจุบันในการใช้การเจรจาการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) กับประเทศต่างๆ เป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในระดับทวิภาคี และระดับภูมิภาค โดยมีเป้าหมายเพื่อการสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพิ่มโอกาสในการส่งออก และสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานของประเทศ โดยใช้หลักการเจรจาเพื่อลดอัตราภาษีศุลกากรและลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี

กระบวนการสร้างความโปร่งใสโดยใช้หลักธรรมาภิบาลเป็นสิ่งที่สำคัญในการดำเนินนโยบาย FTA ให้เป็นที่ยอมรับจากสังคม ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน และเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ กล่าวคือ รัฐบาลจะต้องสร้างความโปร่งใสในกระบวนการเจรจาตั้งแต่ขั้นตอนการริเริ่ม การเจรจา และการลงนาม โดยเปิดเผยข้อมูลและรายละเอียดที่จำเป็นให้แก่ประชาชนได้รับทราบทั้งด้านบวกและด้านลบของข้อตกลง รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น

การทำความตกลงการค้าเสรีที่เน้นแต่ผลทางด้านการค้าและเศรษฐกิจเป็นสำคัญนั้น แม้จะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แต่ปริมาณการปลดปล่อยมลพิษต่างๆ อาจส่งผลเสียหายสะสมต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในระยะยาว การประเมินผลกระทบของความตกลงจึงควรพิจารณาให้รอบคอบ ครอบคลุมในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน โครงการวิจัยเรื่อง การศึกษาทางกฎหมาย และการพัฒนาเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น โดยคำนึงถึงต้นทุนสิ่งแวดล้อม : กรณีศึกษาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์  ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อศึกษากรอบกฎหมายและพัฒนาเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ในการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคมและด้านสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมุ่งศึกษาอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์ และใช้สาขาการผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเป็นกรณีศึกษา เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่สำคัญของไทย และเชื่อมโยงกับการจัดทำความตกลงที่มีญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญ

  1. กระบวนการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น

ประเทศไทยเจรจาและทำข้อตกลงการค้าเสรีกับหลายๆ ประเทศในคราวเดียวกัน โดยเน้นการเจรจาด้านการลดภาษี เนื่องจากคาดหวังผลกระทบทางบวกต่อเศรษฐกิจและการเมืองในการรักษาประเทศคู่ค้าและมุ่งหวังการเปิดตลาดส่งออกใหม่ๆ ประกอบกับเล็งเห็นประเทศคู่แข่งอย่างสิงคโปร์ได้ดำเนินการสำเร็จไปก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม กระบวนการเจรจาที่เร่งรัดนี้ ส่งผลให้ขาดการจัดลำดับความสำคัญของคู่เจรจา รวมทั้งขาดการศึกษาวิจัยอย่างครบถ้วนในมิติด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น ศักยภาพและประสบการณ์ของกำลังคนในการเจรจาระหว่างประเทศที่มีจำกัดอาจส่งผลให้เสียเปรียบประเทศคู่เจรจาที่มีกลไกการเจรจาที่ชัดเจน มีองค์กร ภาคประชาชนและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมรับรู้เนื้อหาสาระ

โดยหลักการแล้ว อำนาจต่อรองในการเจรจาเป็นสิ่งสำคัญ รัฐบาลและทีมเจรจาจะต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับผลประโยชน์ของประเทศ รวมทั้งจุดอ่อนจุดแข็งของประเทศอย่างสมบูรณ์ นอกจากนั้นจะต้องรู้ข้อมูลสถานภาพของประเทศคู่เจรจาเป็นอย่างดีด้วย หลักการ FTA ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าประเทศจะได้รับประโยชน์เสมอไปจากการลงนามข้อตกลง โดยทั่วไปประเทศมักเริ่มต้นการเจรจาในประเด็นที่ตกลงกันได้ง่ายก่อน กล่าวคือ ไม่ขัดผลประโยชน์ซึ่งกันและกันหรือมีแรงกดดันจากกลุ่มการเมืองและประชาชนส่วนใหญ่ หลังจากนั้นจึงจะเจรจาในประเด็นที่ต่างฝ่ายต่างต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศ ซึ่งในกรณีของทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ข้อบทที่มักเป็นประเด็นหลัก คือ การค้าสินค้าเกษตร สำหรับกระบวนการเจรจาของประเทศไทย เป็นลักษณะ Top-down ของผู้บริหารประเทศ ทั้งในประเด็นการเลือกประเทศเจรจา จุดยืนในการเจรจาว่าคนกลุ่มใดควรได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ ไม่มีหลักการนำร่างความตกลงมาเปิดเผย หรือมีกติกาการเปิดเวทีแสดงความเห็นและการสรุปผลกระทบ รวมทั้งเปิดเผยแนวทางการดำเนินการเจรจาที่ชัดเจน ส่งผลให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นและเตรียมปรับตัวได้ทันการก่อนการเจรจาจะบรรลุข้อตกลง

การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น เริ่มต้นจากการเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในระหว่างวันที่ 18-21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 ซึ่งได้มีการหารือในหลายประเด็นรวมทั้งการจัดทำเขตการค้าเสรี ซึ่งสอดคล้องกับการกำหนดนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ของนายกรัฐมนตรี โคอิสุมิ จากเดิมที่ประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเวทีการเจรหาพหุภาคีภายใต้องค์การการค้าโลก เปลี่ยนเป็นการให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศอาเซียนและผลักดันการดำเนินเศรษฐกิจแบบภูมิภาคนิยม และทวิภาคีมากขึ้นผ่านข้อตกลงเขตการค้าเสรี และข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (Economic Partnership Agreements: EPAs) หลังจากการหารือได้มีการจัดตั้งคณะทำงานและประชุมร่วมกันระหว่างสองประเทศ ผู้นำทั้งสองประเทศเห็นชอบให้เริ่มเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น หรือ Japan-Thailand Economic Partnership Agreement (JTEPA) อย่างเป็นทางการเมื่อ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ต่อมามีการเจรจาอย่างเป็นทางการ 9 ครั้งก็สามารถบรรลุข้อตกลงได้เมื่อวันที่ 1 ก.ย. พ.ศ. 2548 รวมทั้งสิ้น 13 ประเด็น (ภาคผนวก) โดยประเด็นการเจรจาสำคัญส่วนใหญ่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุการณ์ทางการเมืองของไทยทำให้การลงนามล่าช้า แต่ในที่สุดความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นก็ได้รับการลงนามเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2549 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่  1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 กล่าวได้ว่า JTEPA เป็นการเปิดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศในมิติที่ครอบคลุมทั้งการค้า การลงทุน และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทุกด้าน โดยยึดรูปแบบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจยุคใหม่ญี่ปุ่น-สิงคโปร์ เป็นต้นแบบ

สำหรับขั้นตอนการเจรจาของประเทศไทย มีการแต่งตั้งคณะทำงานและคณะกรรมการขึ้นหลายคณะ และแบ่งตามภารกิจของหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก ส่งผลให้การจัดทำข้อมูลขาดเอกภาพ และประสิทธิภาพในการเจรจาต่อรองมีน้ำหนักลดลง นอกจากนั้นไม่มีกฎหมายหรือระเบียบที่ชัดเจนในการกำกับดูแลและให้โอกาสประชาชนมีส่วนร่วม ในขณะที่ยุทธศาสตร์การเจรจาของญี่ปุ่นมีการทำงานใกล้ชิดระหว่างภาครัฐกับเอกชน จัดลำดับความสำคัญให้ประเทศไทยเป็นประเทศสำคัญอันดับต้นๆ ในการเจรจา โดยเอกชนและประชาชนมีส่วนติดตามและกดดันการทำงานในระหว่างการเจรจา โดยเฉพาะญี่ปุ่นยืนยันในหลักการรักษาผลประโยชน์และปกป้องเกษตรกรของประเทศ การปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมบริการและการใช้ประเทศในเอเชียเป็นตลาดกระจายสินค้าและฐานการผลิต

  1. ผลกระทบของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ในด้านกฎหมาย

คณะผู้วิจัยได้ศึกษาเปรียบเทียบกรอบกฎหมายหลายระนาบ ทั้งกรอบกฎหมายภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลก หลักกฎหมายระหว่างประเทศ หลักกฎหมายภายใน และความตกลงพหุภาคีว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เพื่อเปรียบเทียบเนื้อหาสาระกับความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น รวมทั้งศึกษาทบทวนวรรณกรรมกระบวนการเจรจาความตกลงของไทยและญี่ปุ่น

จากการศึกษาพบว่าปัญหาที่สำคัญ คือ มีความขัดแย้งระหว่างการบังคับใช้กฎหมายภายใน กับการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ความตกลง JTEPA ในบางประเด็น ได้แก่ ไทยไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับเขตการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมได้ เนื่องจากความตกลงระหว่างประเทศอยู่นอกเหนือการบังคับใช้ตามกฎหมายภายใน เป็นต้น นอกเหนือจากนั้น ความตกลง JTEPA เปิดช่องให้มีการส่งสินค้าขยะเข้ามากับซากสินค้าใช้แล้วเพื่อการนำมาใช้ใหม่ กล่าวคือ สามารถนำเข้าสินค้าขยะมากำจัดในประเทศไทยได้ ซึ่งเป็นภาระแก่ประเทศและก่อให้เกิดมลพิษ ในกรณีที่มีข้อพิพาทระหว่างรัฐและนักลงทุนต่างชาติ ความตกลง JTEPA ตกลงให้ใช้กลไกอนุญาโตตุลาการ ในขณะที่ทฤษฎีหลักกฎหมายมหาชน หน่วยงานภาครัฐไม่ตกอยู่ภายใต้การบังคับใช้กลไกนี้ ซึ่งเมื่อใช้การยุติข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการแล้ว ในบางกรณีโดยเฉพาะกรณีที่กระทบต่อนโยบายสาธารณะ เมื่อเกิดข้อพิพาทระหว่างรัฐและนักลงทุน การยุติข้อพิพาทจะมุ่งเน้นแต่ประเด็นการค้า การลงทุน ปัญหาเศรษฐกิจ และการเปิดเสรีเป็นสำคัญ โดยไม่ได้คำนึงถึงปัญหาทางสังคม

  1. ผลกระทบของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ในด้านเศรษฐกิจ

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าการส่งออกในปี พ.ศ. 2551 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.54 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และคิดเป็นร้อยละ 10.63 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเบื้องต้น โดยมีอัตราการเติบโตของมูลค่าส่งออกในช่วงปี พ.ศ. 2545-2551 เฉลี่ยประมาณร้อยละ 7 ต่อปี ทั้งนี้ สินค้ากลุ่มคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ครองสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 ของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด โดยมีประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ       ซึ่งหากมีความร่วมมือการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น การลดอุปสรรคทางการค้าในสินค้ากลุ่มนี้ จะส่งผลกระตุ้นการผลิตภายในประเทศและการส่งออก แต่ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดขยะ กากของเสีย และมลพิษ หรือปัญหาสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นด้วย

ในกระบวนการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีสารอันตรายหลายประเภท เช่น ปรอท แคทเมียม ตะกั่ว และสารระเหยต่างๆ ที่สามารถก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพของคนงานในระหว่างการผลิต เครื่องใช้และอุปกรณ์เมื่อเลิกใช้แล้วก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ขยะ ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีเฉพาะในการกำจัดโลหะหนักและสารอันตราย การจัดการที่ไม่ถูกวิธีอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบนิเวศ ปัญหาการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม และส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ ประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย มักเป็นแหล่งระบายขยะอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์เก่า ที่รัฐบาลประเทศพัฒนาแล้วสนับสนุนให้ส่งออกเพื่อลดค่าใช้จ่ายการกำจัดและนำรายได้เข้าประเทศจากการส่งออก

เพื่อให้สามารถประเมินผลกระทบด้านต้นทุนต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นระบบ คณะผู้วิจัยใช้ผลจากแบบจำลองดุลยภาพทั่วไป (Global Trade Analysis Project: GTAP) ที่มีผู้ประเมินผลทางการค้าและเศรษฐกิจเบื้องต้นอยู่ก่อนแล้ว โดยนำเอาผลการเปลี่ยนแปลงผลผลิตและรายได้ประชาชาติจากความตกลง JTEPA มาทำการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและต้นทุนผ่านค่าการบำบัดด้วยโปรแกรม STELA Model1 ซึ่งหากปริมาณมลพิษไม่สูงมากไปกว่าความสามารถในการบำบัดของธรรมชาติ มลพิษเหล่านั้นก็อาจไม่มีต้นทุนเกิดขึ้น ทั้งนี้ การประเมินต้นทุนและผลกระทบจะครอบคลุมขั้นตอนการผลิตวัตถุดิบ การผลิตสินค้า การกระจายสินค้า การบริโภคสินค้า การกำจัดซากผลิตภัณฑ์และการนำกลับมาใช้ใหม่ โดยการคำนวณปริมาณมลพิษที่เกิดจากขั้นตอนต่างๆ แบ่งออกเป็น กากของเสีย ก๊าซที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ภาวะความเป็นกรด มลพิษทางน้ำ และผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศโอโซน

จากการคำนวณผลกระทบจากทุกขั้นตอนการผลิตคอมพิวเตอร์ในสภาวะเศรษฐกิจปกติเปรียบเทียบกับกรณีของ JTEPA พบว่า ในสถานการณ์ที่ยังไม่มีความตกลง JTEPA ปริมาณการบริโภค การส่งออกและการนำเข้าเพิ่มขึ้นโดยตลอด และมลพิษแต่ละชนิดก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย และเมื่อเปรียบเทียบกับการเปิดการค้าเสรีตามความตกลง JTEPA พบว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2554-2556 ปริมาณการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยประมาณร้อยละ 0.14-1.03 ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.87-6.44 และปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 3.66-8.74

ผลการคำนวณต้นทุนการบำบัดมลพิษ พบว่า ในสภาวะปกติต้นทุนการบำบัดโดยรวมยังไม่สูงนัก คิดเป็นประมาณร้อยละ 1.16 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม มีการสะสมของปัญหา ต้นทุนจากการบำบัดจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ภายในเวลา 10 ปี กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2556 ต้นทนุจะสูงถึงประมาณ 21.48 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 751.8 แสนล้านบาท โดยมีต้นทุนการบำบัดที่เกิดจากมลพิษด้านก๊าซเรือนกระจก และมลพิษทางน้ำสูงที่สุด หรือประมาณร้อยละ 40 ของต้นทุนทั้งหมด รองลงมาเป็นต้นทนุด้านการกำจัดกากขยะ (ร้อยละ 14 ของต้นทุนทั้งหมด) แต่เมื่อคำนวณผลกระทบจากการทำความตกลง JTEPA จะพบว่า มลพิษทุกตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มูลค่าการบำบัดสูงขึ้น โดยต้นทุนการบำบัดที่เกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจกและน้ำเสียยังคงมีสัดส่วนสูงที่สุด และเพิ่มมากที่สุด โดยรวมมีต้นทุนรวมเพิ่มขึ้นอีก 272 ล้านเหรียญสหรัฐในปี พ.ศ. 2553 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีก 1.875 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี พ.ศ. 2556

1 แบบจำลอง  STELA เป็นโปรแกรมคณิตศาสตร์เชิงพลวัตร (Dynamic Model) ที่คำนวณการเปลี่ยนแปลงปริมาณการผลิตจากปริมาณอุปสงค์คอมพิวเตอร์ หักด้วยการนำเข้า และบวกด้วยการส่งออก จากนั้นจึงนำปริมาณการผลิตดังกล่าวไปคำนวณผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป 

5. ข้อเสนอแนะ

  • รัฐบาลผู้ซึ่งมีอำนาจในการกำหนดนโยบายการเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีใดๆ  ในอนาคต จะต้องพิจารณามิติด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมให้ครบถ้วน รวมทั้งคำนึงถึงกระบวนการเจรจาที่รอบคอบและเป็นระบบ
  • หน่วยงานที่รับผิดชอบกระบวนการเจรจาเขตการค้าเสรี ต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยเผยแพร่ข้อมูลการเจรจา และเปิดรับฟังความคิดเห็นในหลายช่องทาง รวมทั้งจัดการประชุมรับฟังความเห็นของประชาชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชน ผู้ประกอบการต่างๆ รวมทั้งนักวิชาการและนักกฎหมายมีส่วนร่วมเสนอแนะแนวทางการเจรจา และเตรียมปรับตัวกับผลการเจรจาในอนาคตได้ทันท่วงที
  • การค้าเสรีเป็นนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่รัฐบาลทั่วโลกให้ความสำคัญ ดังนั้น เอกชนและผู้ประกอบการไทย ต้องติดตามสถานการณ์การเจรจาอย่างใกล้ชิด และมีการพัฒนาความสามารถในการผลิตและการแข่งขันอยู่เสมอ เพื่อให้ทันต่อการแข่งขันที่รุนแรงและไร้พรมแดนในตลาดโลก
  • สำหรับงานวิจัยในอนาคต เพื่อให้ทราบผลประโยชน์สุทธิที่ได้จากความตกลงใดๆ ควรมีการต่อยอดงานศึกษาชิ้นนี้ โดยเพิ่มเติมการคำนวณผลกระทบของภาคการผลิตอื่นๆ ประกอบกับการมีข้อมูลการบำบัดที่สมบูรณ์ตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ประเมินความเสียหายที่อาจเกิดจากการสะสมทำลายสภาพแวดล้อมจนไม่สามารถบำบัดกลับคืนได้อีก รวมทั้งเพิ่มเติมข้อมูลสุขภาพประชาชน และประสิทธิภาพในการทำงานของแรงงานในภาคการผลิตต่างๆ

บรรณานุกรม


             จันทจิรา เอี่ยมมยุรา และชาติชาย เชษฐสุมน (2549) กลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลฝ่ายบริหารในการเจรจาความตกลงว่าด้วยการค้าเสรี (FTA), คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ศูนย์ศึกษาเอเปก แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, (2548), โครงการวิจัยที่ปรึกษาการวิเคราะห์เจรจาภายใต้ความร่วมมือหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระหว่างไทย – ญี่ปุ่น, เสนอต่อสำนักงานเจรจาเขตการค้าเสรีไทย ญี่ปุ่น กระทรวงการต่างประเทศ. ข้อมูลออนไลน์ จาก www.mfa.go.th/jtepa/asset/apec_ch20.pdf

สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (2552) การศึกษาทางกฎหมาย และการพัฒนาเครื่องมือทางเศรษฐกิจ เพื่อประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น โดยคำนึงถึงต้นทุนสิ่งแวดล้อม: กรณีศึกษาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, รหัสโครงการ RDG 5030029สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

Antweiler, Copeland, and Taylor (2001) “Is Free Trade Good for the Environment” American Economic Review, vol. 91(4), pages 877-908.

Nagai, Fumio (2004), “Thailand’s FTA Policy: From ‘Dual Track’ Policy to ‘New Asian’ Policy”, in: Siriporn Wajjwalku ( ed.), Japan-ASEAN Comprehensive Economic Partnership: Asian Perspectives, Bangkok: Thammasat University Press for the Thammasat University Institute of East Asian Studies and the Japan Foundation, p. 77-142.

ภาคผนวก

ประเด็นสำคัญในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น

  1. การค้าสินค้า ได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรม (Industrial Goods) และสินค้าเกษตร ป่าไม้ ประมง (Agricultural, Forestry and Fishery Products)
  2. มาตรการปกป้อง (Bilateral Safeguard Measures) คือ กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin)
  3. พิธีการศุลกากร (Customs Procedures)
  4. การค้าไร้กระดาษ (Paperless Trading)
  5. การค้าบริการ (Trade in Services)
  6. การลงทุน (Investment)
  7. ความร่วมมือ (Cooperation)
  8. การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ (Government Procurement)
  9. การแข่งขัน (Competition)
  10. ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property)
  11. การรับรองมาตรฐานร่วมกัน (Mutual Recognition)
  12. การส่งเสริมบรรยากาศทางธุรกิจ (Enhancement of the Business Environment)
  13. การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา (Movement of Natural Persons)