อันตรายที่เกิดจากการเชื่อมแก๊ส

♦ ไอระเหย ควันและแก๊สจากการเชื่อมโลหะ อันตรายที่ถูกมองข้าม

เรียบเรียงโดย  ชัชชัย  อินนุมาตร

ในปัจจุบันกระบวนการเชื่อมโลหะนั้นนับว่ามีความสำคัญมากอย่างหนึ่งในอุตสาหกรรม ในผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่งๆ อาจจะต้องมีการประกอบจากชิ้นส่วนโลหะย่อยๆเป็นสิบเป็นร้อยชิ้น  การประกอบงานนั้นหากว่าไม่มีการเชื่อมโลหะแล้วอาจทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นได้มากทีเดียว และเคยมีผู้กล่าวไว้ว่ารถยนต์ที่ท่านใช้อยู่อาจจะมีราคาแพงกว่าหลายเท่าตัวถ้าไม่ใช้การเชื่อมโลหะ

แต่หากท่านสังเกตจะพบว่า เมื่อใดที่มีการเชื่อมโลหะจะต้องมีควันเกิดขึ้นทุกครั้ง และท่านได้คิดบ้างหรือไม่ว่า ควันที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอันตรายต่อท่านและมันสามารถทำให้ท่าน “ตายผ่อนส่ง” ได้อย่างไม่รู้ตัว         ช่างเชื่อมที่เชื่อมโลหะในงานบางประเภท เช่น การเชื่อมสแตนเลส, เหล็กเคลือบสังกะสี หรือ ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี หรือการเชื่อมชิ้นงานที่ผ่านการชุบเคลือบผิวมาแล้ว บุคคลจำพวกนี้มักจะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายสูง

ในการเชื่อมโลหะจะมี ไอระเหย (Fumes)  เกิดขึ้นจากการที่โลหะได้รับความร้อนสูงจนกระทั่งหลอมละลายและเกิดไอระเหยของโลหะ  เมื่อไอระเหยถูกควบแน่น (Condense)  จะอยู่ในรูปอนุภาคของแข็งที่ละเอียดมาก (Solid fine particle) [1] ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า 1 ไมครอน (0.001 มม.) [2]  ไอระเหยนี้จะมีส่วนประกอบสองส่วน คือไอระเหยที่มองเห็นได้ ซึ่งเราจะเห็นในลักษณะเปลวควันและอยู่ในรูปของออกไซด์ของโลหะ และไอระเหยที่มองไม่เห็นซึ่งเป็นส่วนประกอบของแก๊ส เรียกว่าไอระเหยของแก๊ส [5]  ซึ่งมาจากแก๊สที่ใช้ในการเชื่อมหรืออาจจะมาจากการสลายตัวของฟลักซ์เนื่องจากความร้อนในการเชื่อมก็ได้

ไม่ว่าจะเป็นไอระเหยชนิดใดก็สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อช่างเชื่อมได้ โดยที่ควันและไอระเหยต่างๆ นี้จะลอยขึ้นสู่ด้านบนเนื่องจากความร้อน และอนุภาคขนาดเล็กก็จะลอยอยู่ในอากาศบริเวณที่ทำการเชื่อม และอนุภาคเล็กๆ เหล่านี้สามารถเข้าสู่ทางเดินหายใจของผู้ที่ปฏิบัติงานได้อย่างง่ายดายหากผู้ปฏิบัติงานไม่มีการป้องกันที่ดีพอ

ความอันตรายที่เกิดขึ้นจะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบดังนี้

  • ประเภทของกระบวนการเชื่อมที่ใช้ เช่นการเชื่อมแบบ ฟลักซ์คอร์ หรือการเชื่อมไฟฟ้าโดยใช้ลวดเชื่อมหุ้มฟลักซ์ เป็นต้น
  • ชนิดของลวดเชื่อมที่ใช้
  • สีเคลือบหรือสารเคลือบผิว รวมถึงคราบน้ำมัน จารบี ที่ตกค้างอยู่บนชิ้นงานเชื่อม
  • ลักษณะการระบายอากาศ
  • ชนิดของโลหะที่ทำการเชื่อม เช่น การเชื่อมสแตนเลสจะก่อให้เกิดไอระเหยของโครเมี่ยมและนิคเกิล ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหืดหรือมะเร็ง โดยเฉพาะโครเมี่ยมสามารถทำให้เกิดไซนัสและโพรงจมูกเป็นรู ส่วนธาตุแมงกานีสที่มีอยู่ในเหล็กกล้าคาร์บอนสามารถทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) **  เมื่อทำการเชื่อมเหล็กกล้า [3,4]

ควันและไอระเหยที่เกิดขึ้นสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้ [2]

ผลระยะสั้น       เมื่อได้รับปริมาณไอระเหยมากเกินไปจะมีอาการดังนี้

  1. อาการไข้เนื่องจากไอระเหยของโลหะ (Metal fume fever) เกิดขึ้นในผู้ที่รับไอระเหยของออกไซด์สังกะสี (Zinc oxide fume) มากเกินไป อาการที่เกิดขึ้นจะคล้ายกับอาการของไข้หวัดใหญ่  โดยปกติจะเกิดอาการขึ้นหลังจากได้รับไอระเหยไปแล้วหลายชั่วโมง อาจจะมีอาการไข้   หนาวสั่น  เจ็บแสบคอ  กระหายน้ำ ปวดกล้ามเนื้อหรืออ่อนเพลีย   เจ็บกระเพาะอาหารและลำไส้  คลื่นเหียนอาเจียน  อาการเหล่านี้จะบรรเทาลงภายในหนึ่งถึงสามวันหลังจากได้รับไอระเหย และไม่มีผลตกค้าง
  2. อาการเนื่องจากการได้รับโอโซนมากเกินไป (Exposure to ozone) การเชื่อมโลหะด้วยระบบ MIG หรือ พลาสมา ก่อให้เกิดก๊าซโอโซน และจะเกิดมากในการเชื่อมด้วย TIG [7] หากมีการสูดดมก๊าซนี้มากเกินไปอาจจะมีอาการน้ำมูกไหลมาก  ปวดศรีษะ  ง่วงนอน  เซื่องซึม  ระคายเคืองตา  หรือระคายเคืองทางเดินหายใจหรืออาจทำให้ทางเดินหายใจ อักเสบได้ หากอาการรุนแรงอาจจะมีของเหลวหรือเลือดคั่งในปอด แต่อย่างไรก็ตามอาการระคายเคืองเหล่านี้อาจจะไม่เกิดทันทีทันใด
  3. อาการเนื่องจากการได้รับไนโตรเจนออกไซด์มากเกินไป (Exposure to nitrogen oxide) ประกอบด้วยไนตริกออกไซด์ และไนโตรเจนไดออกไซด์ ที่ได้จากการเชื่อมอาร์ค [6] เมื่อได้รับไนโตรเจนออกไซด์จะมีการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจคล้ายกับการได้รับโอโซน มักจะไม่เกิดอาการทันที แต่อาจจะมีผลทำให้มีของเหลวในปอดหรือมีอาการน้ำท่วมปอด ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากหยุดการรับไอระเหย

นอกจากไนโตรเจนออกไซด์แล้ว ในการเชื่อมโลหะยังก่อให้เกิดแก๊สที่เป็นอันตรายอีกหลายชนิด ดังเช่น

คาร์บอนไดออกไซด์  (CO2)   มักจะใช้ในการเชื่อม MIG ทั่วไป แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จะเป็นอันตรายหากทำการเชื่อมในที่อับอากาศหรือสถานที่คับแคบซึ่งมีการระบายอากาศไม่พอเพียง แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จะเข้าไปแทนที่ออกซิเจน ทำให้บริเวณการเชื่อมนั้นขาดออกซิเจน และสามารถทำให้ช่างเชื่อมหมดสติได้โดยไม่รู้ตัว

คาร์บอนมอนออกไซด์  (CO)   แก๊สชนิดนี้เกิดขึ้นจากการใช้แก๊สปกคลุมเมื่อทำการเชื่อม MIG เช่นกัน และจะมีอยู่ในบริเวณที่ทำการเชื่อม และเมื่อบริเวณนั้นมีการระบายอากาศที่ไม่ดีพอ ช่างเชื่อมจะมีโอกาสได้รับแก๊สนี้ในปริมาณสูง  การได้รับแก๊สชนิดนี้มากเกินไปก่อให้เกิดอาการง่วงซึม ปวดศรีษะ อาเจียน และอาจหมดสติได้

ฟอสจีน  (phosgene)  เป็นแก๊สพิษชนิดรุนแรง ปกติแล้วจะไม่เกิดจากควันที่เกิดจากการเชื่อม แต่จะเกิดขึ้นจากการที่แสงอุลตร้าไวโอเลตที่เกิดขึ้นจากการเชื่อมทำปฏิกิริยาทางเคมีกับไอระเหยของสารละลายประเภทคลอริเนต ที่อยู่ใกล้กับบริเวณการเชื่อม เช่น น้ำยาไตรโครโรเอทธิลีน, ไตรโครโรอีเธน, หรือ เปอร์โครโรเอทธีลีน การได้รับแก๊สชนิดนี้เป็นเวลานานจะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ  หรือหากรุนแรงปอดอาจจะเสียหายได้

ผลระยะยาว    เมื่อร่างกายได้รับไอระเหยจากการเชื่อมเป็นเวลานานๆ  อาจเกิดผลต่อร่างกายได้ดังนี้ [2]

ผลต่อระบบทางเดินหายใจ   อาจเกิดการอักเสบหรือระคายเคืองเรื้อรัง ซึ่งเป็นอาการที่รุนแรงมากกว่าการสูบบุหรี่

ผลต่อระบบประสาท   ซึ่งมีผลจากการได้รับไอระเหยของตะกั่วหรือแมงกานีสมากเกินไป

ระบบหัวใจและหลอดเลือด   เนื่องจากการได้รับก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ จากการเชื่อม MIG/MAG ก๊าซนี้จะรวมตัวกับฮีโมโกบิลในเลือด ทำให้เลือดมีความสามารถในการพาออกซิเจนลดลง ดังนั้นช่างเชื่อมจะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้

อาการผิวหนังอักเสบ      สาเหตุจากสารประกอบโครเมี่ยม (IV)   จากการเชื่อมสแตนเลส

โรคมะเร็ง   มีการพิจารณาเกี่ยวกับสารก่อมะเร็งในไอระเหยที่เกิดจากการเชื่อม และมีข้อมูลว่าช่างเชื่อมมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดมากกว่าบุคคลทั่วไปประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายที่มีสาเหตุจากไอระเหยของโลหะ ดังนี้

ตะกั่ว  พบในทองเหลืองบางชนิด เหล็กกล้าผสม  โลหะผสมสำหรับงานบัดกรี   ตะกั่วมีผลต่อระบบประสาท  ระบบเลือด และระบบทางเดินอาหาร    แต่อย่างไรก็ตามในช่างเชื่อมจะพบอาการพิษจากตะกั่วน้อย แต่จะพบมากในผู้ที่ปฏิบัติงานตัดหรือเชื่อมงานที่เคลือบสีที่มีส่วนผสมของตะกั่ว เช่น การตัด-ทำลาย โครงสร้างเรือหรือสะพาน

แคดเมี่ยม  พบมากในโลหะชุบผิวและลวดเชื่อมเงินผสมบางชนิด (Silver brazing alloy)  สามารถก่อให้เกิดอันตรายรุนแรงได้จากอาการถุงลมโป่งพอง [6]  และเกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ  หลอดลมอักเสบ  โรคปอดอักเสบจากสารเคมี   อาการอาจจะเกิดขึ้นหลังจากได้รับสารไปแล้วหลายชั่วโมง  การได้รับแคดเมี่ยมออกไซด์เพียงครั้งเดียวแต่ปริมาณมาก จะก่อให้เกิดอันตรายรุนแรงถึงตายได้    การได้รับพิษจากแคดเมี่ยมเรื้อรังอาจทำให้ปอดและไตเสียหายได้

แมงกานีส  พบในเหล็กกล้าผสมและลวดเชื่อมพอกผิวแข็งบางชนิด  แมงกานีสอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบประสาทและทางเดินหายใจ การได้รับไอระเหยจากแมงกานีสในการเชื่อมเชื่อม อาจทำให้ปอดอักเสบรุนแรง

หรืออาจเกิดอาการไข้เนื่องจากการได้รับอาการไข้เนื่องจากไอระเหยของโลหะ (Metal fume fever)  และมีรายงานว่าพบอาการเกี่ยวกับระบบประสาทและการควบคุมกล้ามเนื้อ ในช่างเชื่อมที่ทำการเชื่อมเหล็กผสมแมงกานีสสูงและเชื่อมในสถานที่อับอากาศ

สังกะสี  พบในโลหะบัดกรี  ทองเหลือง  บรอนซ์  เหล็กชุบสังกะสีหรือที่เรียกว่า เหล็กชุบกัลวาไนซ์   เมื่อทำการเชื่อมจะมีไอระเหยของสังกะสีออกไซด์  หลังจากนั้นหลายชั่วโมง จะมีอาการไข้เนื่องจากไอระเหยของโลหะ  มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่  แต่จะหายไปเองภายใน 24-48 ชั่วโมง

เหล็ก    การเชื่อมโลหะมักก่อให้เกิดเหล็กออกไซด์ และมีลักษณะเป็นอนุภาคเล็กๆ  สามารถเข้าสู่ปอดได้โดยผ่านทางการหายใจ  หากมีปริมาณมาก อนุภาคของเหล็กออกไซด์จะตกค้างอยู่ในปอด สามารถตรวจพบได้โดยการเอกซ์เรย์ จะเห็นเป็นเม็ดเล็กๆ กระจายอยู่ในปอด อาจทำให้เกิดโรคปอดจากการได้รับฝุ่นผงเหล็กมากเกินไป (siderosis)

โมลิบดีนั่ม   พบในโลหะผสมบางชนิด โมลิบดีนั่มก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจและดวงตา เมื่อได้รับในปริมาณมาก

โคบอลต์   พบมากในเหล็กที่ทนความร้อนสูงและเหล็กที่มีความแข็งแรงสูง  การสูดดมไอระเหยของโคบอลต์ก่อให้เกิดอาการหายใจเป็นช่วงสั้นๆ  ไอและปอดอักเสบ

วาเนเดียม    พบในเหล็กผสมบางชนิดและลวดเชื่อมบางชนิด  การได้รับไอระเหย โดยเฉพาะกับ pentoxide (V2O5) จะทำให้ระคายเคืองตา ระบบทางเดินหายใจและลำคอ และอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดปอดอักเสบจากสารเคมี

นิคเกิล   พบในเหล็กที่ชุบนิกเกิล , ลวดเชื่อมเหล็กกล้าผสมต่ำความแข็งแรงสูง (high-strength low-alloy steel electrodes) และเหล็กสแตนเลส  ช่างเชื่อมที่ทำการเชื่อมสแตนเลสอาจจะเกิดอาการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจได้นิกเกิลเป็นสารที่ทำให้เกิดมะเร็งจมูกและปอด

โครเมี่ยม  เป็นธาตุผสมที่สำคัญในสแตนเลส และอาจมีในลวดเชื่อมพอกผิวแข็งบางชนิด โครเมท (Chromate) อาจจะพบได้ในควันที่เกิดขึ้นจากการเชื่อมสแตนเลส หรือควันที่เกิดขึ้นจากการเชื่อมด้วยลวดเชื่อม chrome-alloy  ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินหายใจ    การรับไอระเหยของโครเมี่ยม (VI) มากเกินไปอาจจะก่อให้เกิดโรคผิวหนังหรือหิดได้ ช่างเชื่อมสแตนเลสโดยวิธี MIG จะมีโอกาสได้รับโครเมี่ยม (VI) น้อยกว่าช่างเชื่อมที่ใช้ลวดเชื่อมไฟฟ้าหุ้มฟลักซ์

ฟลูออไรด์   การเชื่อมจะทำให้เกิดฝุ่นของฟลูออไรด์ พบได้ทั้งการเชื่อมแบบการเชื่อมไฟฟ้าด้วยลวดหุ้มฟลักซ์ การเชื่อมแบบฟลักซ์คอร์  และในฟลักซ์ซับเมอร์จ   ฟลูออไรด์ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อตา  ระบบทางเดินหายใจ  ฟลูออไรด์ทำให้ความหนาแน่นของกระดูกและเอ็นเพิ่มขึ้นเนื่องจากการสะสมของฟลูออไรด์  แต่ไม่มีรายงานยืนยันว่าเกิดความผิดปกติของกระดูกและเอ็น

ซิลิกอน   พบในลวดเชื่อมบางชนิดในรูปของสารประกอบโลหะหรือออกไซด์ หรือทั้งสองอย่างและสามารถอยู่ในรูปของซิลิกอนไดออกไซด์ในฟลักซ์ซับเมอร์จด้วย และอาจะอยู่ในรูปของฝุ่นผงที่ละเอียดในถังฟลักซ์  ซึ่งฝุ่นละอองเหล่านี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้และทำให้เกิดโรคที่เรียกว่า Silicosis ได้

มีรายงานว่า ช่างเชื่อมมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดมากกว่าผู้บริหารหรือเจ้าของโรงงานถึง 40 % เนื่องมาจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน และช่างเชื่อมที่ไม่ใช้อุปกรณ์ป้องกันไอหรือควันจะได้รับอนุภาคที่เป็นอันตรายประมาณครึ่งกรัมในการทำงาน 8 ชั่วโมง เมื่อคำนวณแล้วจะพบว่าใน 1 ปี จะมีอนุภาคเล็กๆ ที่เข้าสู่ร่างกายถึง 100 กรัม  และหากทำงานลักษณะนี้ไป 25 ปี ก็จะมีอนุภาคที่เข้าสู่ร่างกายถึง 2.5 กิโลกรัม !!!   [7]  และหากเป็นบุคคลที่สูบบุหรี่ก็จะมีอัตราเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีก

The American Conference of Governmental Industrial Hygienists (ACGIH) กำหนดไว้ว่า ไอระเหยที่เกิดจากการเชื่อมนั้น จะต้องมีค่า threshold limit value (TLV)  ไม่มากกว่า  5 มิลลิกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร(mg/m3)  ต่อการทำงานวันละ 8 ชั่วโมง หรือสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง [8]

การที่ช่างเชื่อมจะทำงานได้อย่างปลอดภัยนั้น จะต้องหลีกเลี่ยงควันหรือไอระเหยเหล่านั้น  ในคู่มือความปลอดภัยหลายๆ เล่มจะกล่าวไว้ง่ายๆ ว่า “ให้พยายามหันศรีษะของท่านออกจากควันและไอระเหย ”  นับว่าเป็นวิธีที่พื้นฐานที่สุด  แต่ในการทำงานจริงแล้วมักจะปฏิบัติได้ยาก เนื่องจากช่างเชื่อมจะต้องมองดูแนวเชื่อมตลอดเวลาที่ทำการเชื่อม  และจากธรรมชาติของควันที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ ย่อมจะลอยขึ้นสู่ด้านบน และจะต้องผ่านบริเวณใบหน้าของผู้ที่ทำการเชื่อมอย่างเลี่ยงไม้ได้

ในโรงงานอุตสาหกรรม หรือโรงงานเชื่อมประกอบโครงสร้างเหล็กต่างๆ มักพบว่าช่างเชื่อมจะใช้วิธีป้องกันตนเองด้วยการใช้ผ้าปิดบริเวณปากและจมูกหรืออาจจะใช้ที่ครอบจมูกเพื่อป้องกันกลิ่นเท่านั้น   แต่หากท่านลองสังเกตดูโดยการส่องมองกับแสงจะพบว่าผ้าที่ท่านใช้นั้นจะมีช่องว่างเล็กๆ ระหว่างใยผ้ามากมาย และเมื่อเทียบกับขนาดของไอระเหยที่เกิดขึ้นจากการเชื่อมที่มีขนาดเล็กจนกระทั่งมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นแล้ว ขนาดของไอระเหยจะมีขนาดเล็กกว่ามากมายหลายเท่า  ดังนั้นไอระเหยจึงสามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายของท่านผ่านทางช่องระหว่างใยผ้าได้อย่างง่ายดาย

ในปัจจุบันได้มีผู้ผลิตอุปกรณ์เพื่อป้องกันอันตรายจากไอระเหยที่เกิดขึ้นจากการเชื่อม ซึ่งสามารถกรองฝุ่นควันและไอระเหยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยประกอบชุดกรองอากาศเข้ากับหน้ากากเชื่อมที่สามารถปรับแสงได้โดยอัตโนมัติ ดังแสดงไว้ในรูปที่ 1     ชุดกรองอากาศนี้มีขีดความสามารถในการกรองอากาศได้ถึง 50 เท่า  หมายความว่า หากบริเวณการทำงานนั้นมีการวัดไอระเหยหรือควันที่เกิดขึ้นจากการเชื่อมได้เท่ากับ 250 มิลลิกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร (250 mg/m3)  และมีข้อกำหนดว่าไอระเหยที่เกิดจากการเชื่อมนั้น จะต้องมีค่า threshold limit value (TLV)  ไม่มากกว่า 5 มิลลิกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร(mg/m3)  ต่อการทำงานวันละ 8 ชั่วโมง หรือสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง [8]  ดังนั้นเครื่องกรองอากาศที่ใช้จะต้องมีความสามารถในการกรองอากาศเสียเป็นอากาศดี ไม่น้อยกว่า 50 เท่า ( 250 mg หารด้วย 5 mg  ) [7]

อุปกรณ์กรองอากาศนี้จะมีไส้กรองที่สามารถถอดเปลี่ยนได้เมื่อหมดอายุ และมีมอเตอร์พัดลมสำหรับเป่าอากาศที่บริสุทธิ์เข้าสู่หน้ากากเชื่อม   ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าช่างเชื่อมจะรับอากาศที่บริสุทธิ์ตลอดการทำงาน

นอกจากนั้นอุปกรณ์นี้ยังเป็นหน้ากากเชื่อมที่สามารถปรับแสงได้โดยอัตโนมัติ  เมื่อไม่มีการเชื่อมเลนส์จะทำหน้าที่เหมือนแว่นตากันแดด ช่างเชื่อมจะมองเห็นได้เป็นปกติ แต่เมื่อใดก็ตามที่มีแสงเชื่อมมากระทบ เลนส์จะปรับความเข้มเพื่อให้สามารถกรองแสงเชื่อมได้โดยทันที  นอกจากนั้นยังสามารถปรับเลือกระดับความเข้มของเลนส์ได้อีกด้วย

จะเห็นได้ว่าอุปกรณ์นี้นอกจากจะป้องกันอันตรายจากควันและไอระเหยแล้ว ยังสามารถป้องกันอันตรายจากแสงที่เกิดจากการเชื่อมได้อีกด้วย นับว่าได้ประโยชน์มากที่เดียว    ท้ายนี้ขอฝากไว้ว่า  การที่ช่างเชื่อมคนหนึ่งจะพัฒนาฝีมือถึงขั้นที่สามารถเชื่อมงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นจะต้องใช้เวลาและทรัพยากรมากมาย หากนายจ้างไม่สนใจที่จะป้องกันหรือดูแลบุคคลเหล่านั้น เมื่อพวกเขาเจ็บป่วยไม่สามารถทำงานได้เมื่อใด   เมื่อนั้นงานของท่านก็จะหยุดชะงักลง และท่านจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา หรือไม่ก็ต้องเสียเวลาหาคนทดแทนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้…

**    Parkinson’s disease   **

หมายถึงอาการของโรคที่เกิดความผิดปกติของสมอง หรือเนื่องมาจากเนื้อสมองบางส่วนได้รับความเสียหายหรือเซลล์ประสาทในสมองที่ควบคุมการเคลื่อนที่ของกล้ามเนื้อเสื่อมลง อาการสั่นเทา เดินหรือเคลื่อนที่ลำบาก ความสัมพันธ์ระหว่างกล้ามเนื้อผิดปกติ [9]

ข้อมูลอ้างอิง

  1. http://www.ccohs.ca/
  2. http://www.nohsc.gov.au
  3. http://manganismfyi.com/
  4. http://www.cdc.gov/
  5. http://www.mmu.ac.uk/
  6. AWS, Welding Fumes and Gases Welding Journal September 2002 , USA.
  7. Hornel Int. A practical guide to welding respirator protection
  8. http://www.osha-slc.gov
  9. http://health.yahoo.com/health/dc/000755/0.html

การป้องกันอันตรายในการเชื่อมแก๊สมีอะไรบ้าง

วิธีการป้องกันอันตราย 1.ก่อการใช้อุปกรณ์เชื่อม ต้องผ่านการอบรม 2.สวมใส่ชุดป้องกันอันตราย ใส่ถุงมือกันความร้อน มีอุปกรณ์ปิดจมูก มีแว่นตา กระบังหน้า ที่ป้องกันอันตรายจากรังสีอุลตราไวโอเลต 3.วางชิ้นงานที่จะเชื่อมในระดับความสูงที่เหมาะสมในการปฏิบัติงาน 4.การเชื่อมในที่อับอากาศ ต้องระวังเป็นพิเศษ ดึงสายไฟออกทุกครั้ง

ควันเชื่อม อันตรายไหม

ควันเชื่อมอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงสำหรับคนงานหากสูดดม อ้างอิงจาก OSHA การได้รับสัมผัสสารในระยะสั้นอาจส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้เวียนศีรษะหรือตาจมูกและการระคายเคืองในลำคอ การได้รับควันจากการเชื่อมเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดมะเร็งในปอด, กล่องเสียงและทางเดินปัสสาวะ, รวมถึงระบบประสาทและไตถูกทำลาย ก๊าซบางชนิดเช่นฮีเลียม ...

รังสีที่เกิดจากการเชื่อมไฟฟ้าชนิดใดที่มีอันตรายมากที่สุด

2). รังสีอินฟราเรด เป็นรังสีที่ว่าถ้าสะสมเอาไว้ ตาจะเป็นต้อกระจก ถ้าไม่มีวิธีป้องกันรังสีที่ถูกต้องและรัดกุม สำหรับรังสีอินฟราเรดนี้นับได้ว่ามีอันตรายร้ายแรงมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับรังสีชนิดอื่น ที่เกิดจากการเชื่อมและตัดโลหะ ความเข้มรังสี 700 - 1,400 nm.

เป็นช่างเชื่อมอันตรายไหม

การสูดควันเชื่อมเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่ร้ายแรงที่สุดสำหรับช่างเชื่อม ควันเชื่อมนั้นมีสารที่ทำให้เกิดโรคในระยะยาว อาการและโรคจากควันเชื่อมเหล่านี้หลายตัวจะปรากฏให้เห็นเฉพาะเมื่อรับสารเข้าร่างกายเป็นระยะเวลานานเท่านั้น ดังนั้นคุณจึงจำเป็นต้องปกป้องตัวเองจากควันเชื่อม แม้จะไม่รู้สึกถึงผลกระทบใดๆ ในขณะนั้น