การนับพุทธศักราชที่ 1 เริ่มนับเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วกี่ปี

หลายคนคงจะเคยสงสัยว่า คริสต์ศักราช ที่เมืองนอกเขาใช้ในการนับแต่ละปีที่ผ่านมานั้นต่างจาก พุทธศักราช ของบ้านเราอย่างไร วันนี้จะมาอธิบายให้ทุกท่านได้เข้าใจกันนะคะ

พุทธศักราช

เขียนย่อว่า พ.ศ. (ภาษาอังกฤษคือ Buddhist Era เขียนย่อได้ว่า BE หรือ B.E.) หมายถึง ช่วงเวลาซึ่งกำหนดเอาปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันปรินิพพานเป็นเบื้องต้นในการกำหนดนับ ซึ่งพุทธศักราชนี้ในประเทศไทยเริ่มนับเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว 1 ปี

นอกจากนี้ ยังมีคำว่าพุทธกาล หรือ พุทธสมัย ใช้กล่าวถึงช่วงเวลาที่พระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์อยู่ ซึ่งความหมายโดยนัยก็นั่นคือตั้งแต่ 80 ปีก่อนพุทธศักราชจนถึงเริ่ม พ.ศ. 1 แต่บ่อยครั้งที่มีการระบุว่า x ปีก่อนพุทธกาล ซึ่งมีความหมายเหมือกับ x ปีก่อนพุทธศักราช เช่น

* ฉันเกิดในปี พ.ศ. 2528
* I was born in BE 2528.

การกล่าวถึงปีโดยอ้างอิงพุทธศักราชนั้นเป็นที่นิยมในประเทศไทย และประเทศที่นับถือพุทธศาสนา แต่หากจะปรับเป็นสากล คงต้องใช้คริสต์ศักราช

คริสต์ศักราช

มาจากภาษาละติน คือ Anno Domini Nostri lesu Christi หรือในภาษาอังกฤษคือ Anno Domini : AD หรือ A.D. เขียนย่อว่า ค.ศ. หมายถึง ปีของพระเยซูคริสต์ โดยเริ่มจับจากปีที่เชื่อว่าพระเยซูทรงประสูติเป็น ค.ศ. 1 ซึ่งตรงกับปีพุทธศักราช 544 และมีระยะเวลาห่างจากพุทธศักราช 543 ปี ใช้วันที่ 1 มกราคม ของทุกปีเป็นวันเปลี่ยนศักราช และเป็นปีที่ใช้อ้างอิงสากล

นอกจากนี้ยังมีการใช้ ก่อนคริสตกาล (ภาษาอังกฤษเรียกว่า Before Christ : BC หรือ B.C.) ในการกล่าวถึงช่วงเวลาก่อนที่พระเยซูทรงประสูติ หรือมารับสภาพมนุษย์ จึงมีการใช้คำว่า x ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งมีความหมายเหมือนกับ x ปีก่อนคริสต์ศักราช

หากจะปรับ พ.ศ. ให้เป็น ค.ศ. จึงต้องลบ 543 ปี เช่น

* ปี พ.ศ. 2543 – 543 = ปี ค.ศ. 2000
* ปี พ.ศ. 2559 – 543 = ปี ค.ศ. 2016

ดังนั้น

* ฉันเกิดในปี พ.ศ. 2528

อาจจะใช้ปีคริสต์ศักราชเพื่อความเป็นสากลมากขึ้น แปลได้เป็น

* I was born in 1985.

ส่วนถ้าจะแปลง ค.ศ. เป็น พ.ศ. ก็จะต้องบวกเข้าไป 543 เช่น

* ปี ค.ศ. 2000 + 543 = ปี พ.ศ. 2543

การอ่านปี ค.ศ.
เราอาจแบ่งลักษณะการอ่านออกเป็นวิธีง่ายๆ ดังนี้

1. หากไม่มีหลักพันหรือหลักร้อยให้อ่านตามจำนวน เช่น
* 1 อ่านว่า one
* 55 อ่านว่า fifty-five

2. หากมีหลักพัน แต่หลักร้อยเป็นตัวเลข 0 จะอ่านว่า n thousand (and) x แต่ถ้าสองตัวหัวท้ายเป็นเลขศูนย์ ก็อ่านแค่ n thousand เช่น
* 1000 อ่านว่า one thousand
* 2009 อ่านว่า two thousand (and) nine
* 2016 อ่านว่า two thousand (and) sixteen

3. หากหลักร้อยไม่ใช่เลข 0 ให้อ่าน n hundred and x แต่ถ้าสองตัวท้ายเป็นเลขศูนย์ ก็อ่านแค่ n hundred เช่น
* 101 อ่านว่า one hundred (and) one
* 483 อ่านว่า four hundred (and) eighty three
* 1500 อ่านว่า fifteen hundred

4. อ่านเป็นคู่ วิธีนี้เป็นที่นิยมในปัจจุบัน โดยหากมีเลขศูนย์ในหลักสิบ จะอ่านว่า oh การอ่านลักษณะนี้เป็นนิยมทั้งทางฝั่งอังกฤษและอเมริกา เช่น
* 483 อ่านว่า four eighty-three
* 1234 อ่านว่า twelve thirty-four
* 1806 อ่านว่า eighteen oh six
* 1999อ่านว่า nineteen ninety-nine
* 2016 อ่านว่า twenty sixteen

ที่มา :: http://www.trueplookpanya.com/new/cms_d ... e/1935-00/
ไอ-เก็ต-อิงลิช iGetEnglish ฉบับที่ 89

เรื่องที่ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆไม่สำคัญ แต่เมื่อใดที่ยกขึ้นมาเป็นประเด็น มักจะเกิดการถกเถียง      กันอย่างมาก เพราะเป็นเรื่องที่บางส่วนไปเกี่ยวข้องกับศาสนา ที่ถึงแม้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับคำสอนหรือความเชื่อโดยตรงก็ตาม นั่นก็คือเรื่องการนับศักราชในแต่ละปีนั่นเอง แต่ผมคิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่เราควรที่จะพิจารณาร่วมกันได้แล้ว

1.พุทธศักราช (พ.ศ.- B.E.) เป็นศักราชทางพุทธศาสนา นิยมใช้ในประเทศที่นับถือพุทธศาสนา จุดเริ่มต้นของการนับศักราชแบบพุทธศักราช คือ การเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ซึ่งตรงกันวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ในขณะที่ทรงมีพระชนมายุ 80 พรรษา ประเทศไทยรับเอาพุทธศักราชมาใช้อย่างแพร่หลายในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

วิธีนับพุทธศักราชมีด้วยกัน 2 แบบ คือ แบบไทยและแบบลังกา

แบบไทย เริ่มนับเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว 1 ปี นับเป็น พ.ศ. 1 โดยเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่า เดือน 6 และวันสิ้นปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการใช้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ในเอกสารราชการจนถึง พ.ศ. 2484 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จึงได้มีการเปลี่ยนวันสิ้นปีและวันขึ้นปีใหม่ให้เป็นแบบสากล

แบบลังกา เริ่มนับเร็วกว่าแบบไทย 1 ปี คือ เริ่มนับเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน เป็น พ.ศ. 1 ซึ่งพม่า ลาวและกัมพูชาก็ใช้แบบนี้เช่นกัน

2.คริสตศักราช (ค.ศ.- A.D.หรือ C.E.) เริ่มนับเอาตั้งแต่ปีที่พระเยซูคริสต์เกิดเป็น ค.ศ. 1 ซึ่งเวลานั้น พ.ศ. มีมาแล้วนับได้ 543 ปี ดังนั้นวันคริสต์มาสในปี 2021 จึงครบรอบวันสมภพ 2021 ปี โดยมีวันที่ 1 มกราคมของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ โดยระยะเวลาที่อยู่ก่อนคริสต์ศักราชเรียกว่าสมัยก่อนคริสต์ศักราชหรือก่อนคริสตกาล ใช้อักษรย่อว่าก่อน ค.ศ. (B.C.) ซึ่งในปัจจุบันมีผู้นิยมใช้และเผยแพร่ไปทั่วโลก

3.ฮิจเราะห์ศักราช(ฮ.ศ.)เป็นศักราชทางศาสนาอิสลามใช้ในประเทศที่นับถือศาสนา อิสลามเป็นศาสนาประจาชาติ ฮิจเราะห์ศักราชที่ 1 หรือ ฮ.ศ. 1 ตรงกับ พ.ศ. 1165 เป็นปีที่มี เหตุการณ์สำคัญทางศาสนาเกิดขึ้น คือ นบีมุฮัมมัด (ศาสดาของศาสนาอิสลาม) ทำฮิจเราะห์ (การอพยพโยกย้าย) จากเมืองเมกกะฮ์ไปอยู่ที่เมืองเมดินา การเทียบฮิจเราะห์ศักราชกับพุทธศักราชในปัจจุบันต้องเอา 1122 ไปบวกหรือลบ

4.มหาศักราช (ม.ศ.) หรือที่ชาวอินเดียเรียกว่า ศกาพทะ หรือ ศาลิวาหนกาล แปลว่า ปีของชาวศกะ (Scythian) เริ่มนับตั้งแต่ปีที่พระเจ้าศาลิวาหนะ หรือบางตำนานเรียกว่า พระเจ้ากนิษกะแห่งศกราชวงศ์ ทรงมีชัยชนะเหนือแคว้นโดยรอบ เป็นมหาศักราชที่ 1 มีวิธีการนับวันเดือนปีจะเป็นไปตามสุริยคติ โดยวันขึ้นปีใหม่คือวันที่ 1 เมษายนของทุกปี เกิดหลังพุทธศักราช 621 ปี

5.จุลศักราช (จ.ศ.) เป็นการนับเดือนปีเป็นแบบทางจันทรคติ เริ่มนับ จ.ศ. 1 เมื่อปี พ.ศ. 1182 โดยนับเอาวันที่พระบุพโสระหัน สึกออกจากการเป็นพระมาเพื่อชิงราชบัลลังก์เป็นวันแรกของศักราช ซึ่งในสมัยโบราณถือตามสุริยคติใช้วันเถลิงศกเป็นวันปีใหม่ แต่เนื่องจากเดือน 5 ไทยเราตรงกับเดือนจิตรามาสอันเป็นเดือนแรกของปฏิทินจันทรคติของชมพูทวีป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดเกล้าให้ถือตามจันทรคติ คือใช้วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติและให้เป็นวันเปลี่ยนนักษัตรด้วย แต่ยังคงเปลี่ยนปีจุลศักราชในวันเถลิงศก

6.รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) เริ่มใช้ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2432 เป็นวันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 108 โดยถือเอาปีที่ตั้งกรุงเทพฯเป็นเมืองหลวงเป็นปีรัตนโกสินทร์ศกที่ 1 และใช้อยู่จนถึง ร.ศ. 131 เป็น ร.ศ. สุดท้าย หรือเพียง 23 ปี ก็เลิกใช้ไป

ปัจจุบันมีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวเท่านั้น ที่ใช้ปีพุทธศักราชในทางราชการและเป็นปีในทางศาสนาควบคู่ไปด้วย โดยเปลี่ยนพุทธศักราชในวันที่ 1 มกราคม

ศรีลังกาใช้ปีคริสตศักราชเป็นปีราชการและใช้ปีพุทธศักราชเป็นปีในทางศาสนา โดยจะเปลี่ยนพุทธศักราชในวันวิสาขบูชา

พม่าใช้ปีจุลศักราชหรือเมียนมาศักราชเป็นปีราชการและใช้ปีพุทธศักราชเป็นปีในทางศาสนา โดยจะเปลี่ยนพุทธศักราชในวันวิสาขบูชา แต่ในสื่อสิ่งพิมพ์และความนิยมของประชาชน จะใช้จุลศักราชควบคู่กับคริสตศักราช

ลาวใช้ปีคริสตศักราชเป็นปีราชการและใช้ปีพุทธศักราชเป็นปีในทางศาสนา โดยจะเปลี่ยนพุทธศักราชในวันสงกรานต์

กัมพูชาใช้ปีคริสตศักราชเป็นปีราชการและใช้ปีพุทธศักราชเป็นปีในทางศาสนา โดยจะเปลี่ยนพุทธศักราชในวันสงกรานต์

จีนใช้ ค.ศ.ในทางราชการมาตั้งแต่แรกสถาปนาประเทศในปี ค.ศ.1949

ไต้หวันจะใช้ ค.ศ.ควบคู่กับปีสาธารณรัฐศก ซึ่งพรรคก๊กมินตั๋งรับสืบทอดมาจากระบบปีรัชศกหรือ     ปีประจำรัชกาลจักรพรรดิของจีนโบราณ

ญี่ปุ่นใช้ ค.ศ.ควบคู่กับปีรัชศกประจำรัชกาลจักรพรรดิมาตั้งแต่สมัยเมจิจนถึงปัจจุบัน

หลักเกณฑ์การเทียบศักราชต่าง ๆ

  • ม.ศ. + 621 = พ.ศ. /จ.ศ. + 1181 = พ.ศ./ ร.ศ. + 2324 = พ.ศ./ ค.ศ.+543 = พ.ศ./ ฮ.ศ. + 1122 = พ.ศ.
  • พ.ศ. – 621 = ม.ศ. /พ.ศ. – 1181 = จ.ศ./ พ.ศ. – 2324 = ร.ศ. /พ.ศ. – 543 = ค.ศ./ พ.ศ. – 1122 = ฮ.ศ.

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าค่อนข้างจะยุ่งยากมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์ของไทยเพราะเราใช้การเรียนการสอนเป็น พ.ศ. จึงยากต่อการเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของโลกที่ส่วนใหญ่แล้วจะบันทึกเป็น ค.ศ. หากจะแปลงจาก พ.ศ.เป็น ค.ศ.จะต้องเอา 543 มาลบออกหรือบวกเพิ่มในทำนองกลับกัน

ฉะนั้น จึงได้มีการเสนอให้เปลี่ยน”คริสตศักราช”หรือ ค.ศ.ซึ่งแต่เดิมใช้ตัวย่อ A.D.(Anno Domini)หรือC.E.(Christian Era) เป็น”สากลศักราช”หรือ Common Era (ส.ก.- C.E.) และ Before Common Era (ก่อน ส.ก.- B.C.E )แทน เพื่อให้เป็นสากล และขจัดกลิ่นทางชาตินิยมหรือทางศาสนา เพราะขนาดชาตินิยม แรง ๆ อย่างญี่ปุ่น และจีนยังใช้ C.E.เลย  ส่วนไทยเราผมก็เห็นควรอย่างยิ่งที่จะเปลี่ยนไปใช้” สากลศักราชหรือ Common Era (ส.ก.- C.E.) เป็นปีราชการด้วยเช่นกัน

ท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดอย่างไร