ประเทศไทยรับต้นแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

สถาบันกษัตริย์: มองราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญอังกฤษ ย้อนดูการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไทยในขณะนี้

10 ธันวาคม 2020

ประเทศไทยรับต้นแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ที่มาของภาพ, Reuters

"การไม่ทำอะไรเลยนั่นแหละคือสิ่งที่เราต้องทำ" สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองทรงตรัสอย่างไม่พอพระทัยกับลอร์ดเมาท์แบตเทน ในซีซัน 3 ของซีรีส์เน็ตฟลิกซ์เรื่อง "เดอะคราวน์" (The Crown)

ในความเป็นจริง เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าจริงแค่ไหนที่ลอร์ดเมาท์แบตเทน (แสดงโดย ชาร์ลส์ แดนซ์) ซึ่งเป็นพระมาตุลาหรือน้าของเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ คิดจะร่วมก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากนายกรัฐมนตรีฮาโรลด์ วิลสัน

บทพูดของโอลิเวีย โคล์แมน ที่แสดงเป็นสมเด็จพระราชินีนาถ ก็แต่งขึ้น แต่มันก็ได้สะท้อนหลักการจริงที่ว่าสถาบันกษัตริย์อังกฤษต้องวางตัวเป็นกลางและไม่มีบทบาททางการเมืองใด ๆ

มาในซีซันที่ 4 หลายคนบอกว่าจิลเลียน แอนเดอร์สัน แสดงเป็นมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรี "สตรีเหล็ก" ของสหราชอาณาจักร ได้ "เว่อร์" และน่ารำคาญเกินไป

แต่ฉากการพบปะเป็นประจำระหว่างผู้นำประเทศและประมุขของรัฐที่พระราชวังบัคกิงแฮมก็สะท้อนธรรมเนียมที่ว่า พระมหากษัตริย์มีสิทธิ์ที่จะทรงได้รับการปรึกษาหารือ (the right to be consulted), สิทธิ์ที่จะทรงให้กำลังใจ (the right to encourage), และสิทธิที่จะทรงตักเตือน (the right to warn) ตามที่วอลเตอร์ เบจชอต ปัญญาชนและนักหนังสือพิมพ์อังกฤษชื่อดัง เขียนไว้ในหนังสือ "The English Constitution" (ค.ศ.1867 หรือ พ.ศ. 2410)

ที่มาของภาพ, Netflix

คำบรรยายภาพ,

จิลเลียน แอนเดอร์สัน เล่นเป็น มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรี "สตรีเหล็ก" ของสหราชอาณาจักร

ในไทย การประท้วงทั่วประเทศในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาทำให้เกิดปรากฏการณ์ ความรุนแรง วาทะดัง การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ พัฒนาการทางการเมือง และกระแสโต้กลับ ที่ไม่อาจสรุปได้ใน 1 ย่อหน้า

แต่อาจสรุปได้หรือไม่ว่า ใจกลางของปัญหาความขัดแย้งคือคำถามที่ว่า เราจะจัดวางสถาบันกษัตริย์ไว้ที่แห่งหนใดในระบอบการปกครองของไทยในปัจจุบันและอนาคต

ที่จริงแล้ว นี่ก็เป็นคำถามที่ถูกถกเถียงเรื่อยมาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2475 มาจนปัจจุบัน

"เอาแบบอังกฤษ" ฝ่ายหนึ่งว่า

"เอาแบบไทย ๆ" อีกฝ่ายโต้

บีบีซีไทยย้อนดูพัฒนาการการจัดวางที่ทางให้สถาบันกษัตริย์ในประเทศที่ถือว่าเป็นต้นแบบของระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างสหราชอาณาจักร และย้อนดูวิกฤตในไทยที่ว่าด้วยเรื่องสถาบันกษัตริย์

"มันเป็นการเดินทางที่ยาวนาน"

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

พระเจ้าจอห์นทรงลงพระปรมาภิไธยลงบนแมกนา คาร์ตา หรือ มหากฎบัตร

"ผมคิดว่ามันเกิดขึ้นครั้งสุดท้ายในศตวรรษที่ 17 " ดร.บ็อบ มอร์ริส กล่าวกับบีบีซีไทย

นักวิจัยจากหน่วยวิจัยด้านรัฐธรรมนูญ (The Constitution Unit) คณะรัฐศาสตร์ ของยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ ลอนดอน (UCL) ผู้นี้ กำลังพูดถึงเหตุการณ์ที่สถาบันกษัตริย์อังกฤษเข้ามาแทรกแซงการเมือง

เขาเล่าว่าในตอนนั้น พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 พยายามจะปกครองประเทศด้วยพระองค์เองโดยไม่ฟังรัฐสภา พระองค์ทรงนำทัพต่อสู้กับฝ่ายรัฐสภาในสงครามการเมืองอังกฤษ 2 ครั้ง ก่อนถูกสำเร็จโทษในข้อหากบฏ เมื่อปี 1649 (พ.ศ. 2192) ส่งผลให้อังกฤษเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นสาธารณรัฐในระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตยขึ้นมาอีกครั้งในปี 1660 (พ.ศ. 2203)

"มันเป็นการเดินทางที่ยาวนาน" ดร.มอร์ริสกล่าว เมื่อถามว่าเหตุใดฝ่ายบริหารและสถาบันกษัตริย์ในสหราชอาณาจักรถึงสามารถแยกออกจากกันได้อย่างสิ้นเชิงอย่างในปัจจุบัน

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

อาคารรัฐสภาอังกฤษ

เขาอธิบายว่า หลักนิติธรรม (rule of law) และหลักอำนาจอธิปไตยของรัฐสภา (parliamentary sovereignty) เป็นรากฐานสำคัญของระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่มั่นคงของประเทศ กว่าที่อำนาจอธิปไตยจะเป็นของรัฐสภาได้ ต้องผ่านการต่อสู้ยาวนานหลายร้อยปี ขณะเดียวกันสิ่งที่พัฒนาควบคู่มาด้วยก็คือหลักนิติธรรม ซึ่งบังคับให้ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียม แม้กระทั่งพระมหากษัตริย์

เว็บไซต์รัฐสภาสหราชอาณาจักรอธิบายว่าหลักอำนาจอธิปไตยของรัฐสภาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญอังกฤษ มีอำนาจสูงสุดในการออกหรือยกเลิกกฎหมาย และโดยทั่วไปแล้ว ศาลเองก็ไม่มีอำนาจมาสั่งยกเลิกกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาได้

ดร.มอร์ริสบอกว่า หมุดหมายแรกที่สำคัญของระบอบราชาธิปไตยฯ ก็คือ แมกนา คาร์ตา หรือมหากฎบัตร ในปี 1215 (พ.ศ. 1758) ซึ่ง "เป็นครั้งแรกที่กษัตริย์ถูกบังคับให้ตระหนักว่าไม่ควรใช้อำนาจตามอำเภอใจ"

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ,

กว่าที่อำนาจอธิปไตยจะเป็นของรัฐสภาได้ ต้องผ่านการต่อสู้ยาวนานหลายร้อยปี

จาก 63 มาตราในแมกนา คาร์ตา ทุกวันนี้มี 4 มาตราด้วยกันที่ยังมีผลบังคับใช้ตามระบบกฎหมายจารีตประเพณี (common law) ซึ่งเว็บไซต์รัฐสภาสหราชอาณาจักรบอกว่าเป็นหลักสำคัญสำหรับการพัฒนากฎหมายอังกฤษตั้งแต่ศตวรรษที่ 14-17 ยกตัวอย่างเช่น มาตราที่ 39 ที่บอกว่า:

"เสรีชนคนใดย่อมมิอาจถูกจับกุม หรือจองจำ หรือยึดทรัพย์หรือสิทธิ์ หรือกลายเป็นอาชญากร หรือถูกเนรเทศ หรือทำลายล้างไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ และจะไม่ถูกจัดการไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม เว้นแต่จะมีคำตัดสินอย่างเป็นถูกกฎหมายจากคณะลูกขุน หรือด้วยกฎหมายของแผ่นดิน"

เว็บไซต์รัฐสภาสหราชอาณาจักรระบุว่า "แมกนา คาร์ตา กำหนดกฎหมายที่กษัตริย์และคนอื่น ๆ ต้องทำตามเหมือนกันเป็นครั้งแรก มีการทำสำเนาของแมกนา คาร์ตา นำออกไปประกาศตามมณฑลต่าง ๆ ของอังกฤษเพื่อที่ทุกคนจะได้รู้ว่ามีสิ่งนี้อยู่"

ดร.มอร์ริสเล่าต่อว่า หมุดหมายสำคัญต่อมาเริ่มในปี 1529 (พ.ศ. 2072) ในสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ที่มีการปฏิรูปทำให้รัฐสภามี"ความสำคัญในระบบอย่างเป็นทางการอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน"

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

พระเจ้าเฮนรีที่ 8

"เพราะว่ากษัตริย์ต้องอาศัยรัฐสภาไม่ใช่เพื่อเรียกเก็บภาษีเท่านั้น แต่ในการอนุมัติกฎหมายด้วย นี่จึงเป็นเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับสถาบันกษัตริย์ ...กษัตริย์ยังเป็นผู้ปกครองที่มีอำนาจเด็ดขาดอยู่ แต่พระองค์ต้องปกครองในรัฐสภา"

เว็บไซต์รัฐสภาสหราชอาณาจักรระบุว่า ในตอนนั้น พระเจ้าเฮนรีที่ 8 ทรงตั้งใจเรียกประชุมสภาเพื่อดำเนินขั้นตอนการหย่าร้างจากแคทเธอรีนแห่งอารากอน หลังไม่ได้รับการอนุมัติจากพระสันตะปาปาแห่งกรุงโรม แต่ในช่วงไม่กี่ปีนั้น บทบาทของรัฐสภาได้เปลี่ยนแปลงไปถึงระดับโครงสร้าง

เว็บไซต์ดังกล่าวอธิบายต่อว่า "รัฐสภายังคงอยู่ได้ด้วยพระประสงค์ของกษัตริย์ แต่พระเจ้าเฮนรีที่ 8 และผู้สืบทอดราชบัลลังก์องค์ต่อ ๆ มาทรงทราบว่าสามารถทำตามพระประสงค์ได้ดีที่สุดผ่านการเห็นชอบของรัฐสภาในรูปแบบพระราชบัญญัติ"

อย่างไรก็ดี ร้อยปีต่อมา เกิดจุดแตกหักอีกครั้งระหว่างสถาบันกษัตริย์และรัฐสภาในสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ที่ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองและอังกฤษกลายเป็นสาธารณรัฐอยู่ 11 ปี อย่างที่ได้กล่าวถึงไปแล้วในข้างต้น

ก้าวสำคัญของหลักอำนาจอธิปไตยของรัฐสภาคือ การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (Glorious Revolution) ในปี 1688 (พ.ศ. 2231) ที่พระเจ้าเจมส์ที่ 2 ทรงถูกโค่นจากราชบัลลังก์และทรงต้องลี้ภัย และพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 และสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 ทรงขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ร่วมกันแทน

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

วิลเลียมแห่งออเรนจ์เดินทางมาถึงอังกฤษก่อนที่จะขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 ร่วมกับสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2

ผลลัพธ์จากเหตุการณ์นั้นคือ พระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิ (Bill of Rights) ในปี 1689 (พ.ศ. 2232) ซึ่งมีสาระสำคัญคือ กำหนดให้มีประชุมรัฐสภาเป็นประจำ ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาอย่างเสรีมากขึ้น (แม้จะยังจำกัดกลุ่มคนที่มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ในวงแคบ) ให้เสรีภาพในการแสดงออกในรัฐสภา และลดอำนาจพระมหากษัตริย์

"นี่เป็นส่วนประกอบหลักของหลักอำนาจอธิปไตยของรัฐสภาเพราะว่าเป็นรัฐสภาที่เป็นผู้ตัดสินใจว่ากษัตริย์จะได้เงินเท่าไร พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 และสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 เป็นเหมือนผู้มาเช่าอยู่อาศัยเท่านั้น" ดร.มอร์ริสกล่าว

"ฝ่ายบริหารค่อย ๆ แยกออกจากกษัตริย์เรื่อย ๆ และปีที่คนมักนับกันคือปี 1717 (พ.ศ. 2260) ตอนที่พระเจ้าจอร์จที่ 1 ทรงยกเลิกการเสด็จไปร่วมประชุมกับคณะรัฐมนตรี"

และหลังจากนั้น ดร.มอร์ริส บอกว่า หลักนิติธรรมและหลักอำนาจอธิปไตยของรัฐสภาก็พัฒนาจนแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยมา ส่วนบทบาทและธรรมเนียมปฏิบัติของสถาบันกษัตริย์ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นผลลัพธ์ของพัฒนาการทางการเมืองอันยาวนานหลายร้อยปีนี้ โดย "ไม่จำเป็นว่าต้องมาจากข้อตกลงที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร"

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ในรัฐพิธีเปิดการประชุมรัฐสภา และรัฐพิธีพระราชดำรัสสมเด็จพระราชินีนาถ หรือ Queen's Speech เมื่อปีที่แล้ว

ดร.มอร์ริสบอกว่า "เป็นที่เข้าใจกันว่าสมเด็จพระราชินีจะไม่มีบทบาททางการเมือง พระองค์จะทำตามแต่เฉพาะที่คณะรัฐมนตรีถวายแนะนำ และเป็นคณะรัฐมนตรีที่เป็นผู้รับผิดชอบต่อรัฐสภาถึงคำแนะนำที่พวกเขาถวายแด่สมเด็จพระราชินี"

เขาเล่าว่าบทบาทและธรรมเนียมปฏิบัติของสมเด็จพระราชินีเพิ่งจะถูกมาบันทึกอย่างเป็นรูปเป็นร่างในคู่มือคณะรัฐมนตรี (Cabinet Manual) เมื่อปี 2010 (พ.ศ. 2553) โดยมีการพูดถึงพระราชอำนาจ หรือ royal prerogative ว่าเป็น "อำนาจที่หลงเหลืออยู่ที่กษัตริย์ทรงมีติดตัวมา" ซึ่งมีวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ

จากที่กษัตริย์เคยใช้พระราชอำนาจนี้ได้ ทุกวันนี้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้พระราชอำนาจเอง ไม่ว่าจะด้วยสิทธิ์ของตัวเอง หรือจากคำแนะนำที่ถวายแด่พระมหากษัตริย์โดย "พระองค์ต้องทรงทำตามข้อผูกมัดทางรัฐธรรมนูญ"

และแนวปฏิบัติดังกล่าวนี้เองก็สะท้อนหลักการที่ว่า กษัตริย์จะทรงกระทำผิดไม่ได้ (The king can do no wrong) เพราะกษัตริย์ทรงไม่สามารถทำอะไรได้เลย เพราะทุกอย่างต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการและต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

"เราเป็นสาธารณรัฐอยู่แล้ว"

ที่มาของภาพ, Getty Images

ดร.มอร์ริส เป็นบรรณาธิการร่วมของหนังสือ "The Role of Monarchy in Modern Democracy" (บทบาทของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่) โดยหนังสือเล่มนี้โต้แย้งความคิดนักวิชาการบางกลุ่มที่มองว่าประเทศต่าง ๆ ที่มีสถาบันกษัตริย์ รวมถึงสหราชอาณาจักร จะต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นสาธารณรัฐเข้าสักวัน

เขาบอกว่า สถาบันกษัตริย์และระบอบประชาธิปไตยที่ก้าวหน้า สามารถไปด้วยกันได้ตราบใดที่สถาบันกษัตริย์ปฏิบัติตนดี วางตัวเป็นกลาง และไม่ไปพัวพันกับเรื่องอื้อฉาวทางการเงิน

ดร.มอร์ริสบอกว่าอีกเหตุผลหนึ่งคือ "เราเป็นสาธารณรัฐอยู่แล้ว"

ที่มาของภาพ, PA Media

คำบรรยายภาพ,

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ปี 1953

เขาหมายความว่า แม้ว่าในเชิงเทคนิค สหราชอาณาจักรปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติ "เรามีลักษณะของการเป็นสาธารณรัฐเกือบทั้งหมดแล้ว"

เขาขยายความว่า สหราชอาณาจักร "มีฝ่ายบริหารที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา เรามีรัฐสภาคอยควบคุมการออกกฎหมาย และสถาบันกษัตริย์ที่ไม่มีอำนาจอิสระ ต้องทำตามที่คณะรัฐมนตรีบอก และด้วยวิธีนี้เองเราทำให้สถาบันกษัตริย์และระบอบประชาธิปไตยไปด้วยกันได้"

  • เลือกตั้งอังกฤษ: แปดศตวรรษของพัฒนาประชาธิปไตย
  • เลือกตั้งอังกฤษ: ทำความรู้จัก "รัฐพิธีพระราชดำรัสสมเด็จพระราชินี"
  • เรื่องแปลกเกี่ยวกับรัฐสภาสหราชอาณาจักรที่คุณอาจไม่รู้
  • ควีนจะมีพระราชดำรัสสร้างขวัญกำลังใจแก่ประชาชนในวิกฤตโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระบาด

"เราจะอธิบายปรากฏการณ์แบบนี้อย่างไรได้"

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกกับบีบีซีไทยว่า สำหรับในไทย การกำหนดสถานะและพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ลงในรัฐธรรมนูญเป็นข้อโต้แย้งมาตั้งแต่ปี 2475 แล้ว

จากที่ก่อนหน้านี้ ไทย "ค่อนข้างสอดคล้อง" กับระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญตามนิยามสากล อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผู้นี้บอกว่า ตั้งแต่การบังคับใช้ รัฐธรรมนูญปี 2560 และการออกกฎหมายหลายฉบับในเวลาต่อมา ทำให้เกิดการตั้งคำถามอย่างกว้างขวางว่าได้เข้าไปเปลี่ยนหลักการ "the king can do no wrong" หรือไม่

รศ.สมชายกำลังพูดถึง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดให้การจัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และไม่เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายอื่นใด และ พ.ร.ก. โอนอัตรากำลังพลฯ พ.ศ. 2562 ซึ่งโอนกำลังพลและงบประมาณของทั้งกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ไปเป็นหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์

ชื่อเต็มของ พ.ร.ก. ที่ว่าคือ พระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพล และงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2563 ด้วยคะแนนเสียง 374 ไม่เห็นด้วย 70 งดออกเสียง 2 จากองค์ประชุม 446 เสียง ก่อนที่ที่ประชุมวุฒิสภาจะเห็นชอบ และประกาศใช้ไม่กี่วันต่อมา

สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2560 อาจารย์นิติศาสตร์ผู้นี้ยกตัวอย่างมาตรา 15 ซึ่งกำหนดให้การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตำแหน่งให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

รศ.สมชายบอกว่า เมื่อหน่วยงานเหล่านี้ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล แต่อยู่ภายใต้พระราชอำนาจโดยตรง "เราจะอธิบายปรากฏการณ์แบบนี้อย่างไรได้"

"เวลาเราพูดว่าพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ สิ่งที่ต้องเข้าใจร่วมกันก็คือ มันไม่ได้หมายความว่ารัฐธรรมนูญเขียนอย่างไรก็ได้แล้วเป็นไปตามนั้น รัฐธรรมนูญต้องวางหลักการให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยอย่างเช่น the king can do no wrong"

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

รศ.สมชายบอกว่า สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการปรับเปลี่ยนหรือแก้ไข เพราะ "การใช้อำนาจที่ถึงแม้ว่าจะเป็นไปตามกฎหมาย แต่เนื่องจากตัวกฎหมายพื้นฐานถ้ามันไม่สอดคล้องกับหลักการ มันก็จะถูกตั้งคำถามขึ้นเรื่อย ๆ"

นี่หมายความว่าราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญแบบไทยไม่สอดคล้องกับนิยามของสากล ?

"ในเมืองไทยมันมีปัญหาแบบนี้ บางอย่างมันอาจจะเขียนสอดคล้องกับสากล แต่ในทางปฏิบัติหรือการตีความมันไม่สอดคล้อง คล้าย ๆ กับมาตรา 112 หลายประเทศก็มี แต่เขาไม่มีการฟ้องร้องพร่ำเพรื่อแบบนี้... เวลาบอกว่าอะไรสอดคล้องไม่สอดคล้อง ดูบทบัญญัติอย่างเดียวมันอาจจะบอกได้ไม่หมด"

รศ.สมชายบอกว่า เงื่อนไขที่สำคัญที่สถาบันกษัตริย์จะดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงคือสถาบันฯ ต้องไม่เลือกฝักฝ่ายทางการเมือง เพราะเมื่อมีฝ่ายหนึ่งชื่นชม ก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะมีอีกฝ่ายไม่เห็นพ้อง และอาจนำไปสู่การถูกโจมตีและวิพากษ์วิจารณ์

อย่างไรก็ดี เขาบอกว่าปัญหาอีกอย่างคือวัฒนธรรมการเมืองไทยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา มีการหยิบเอาสถาบันฯ มาสนับสนุนฝ่ายตน ซึ่งไม่อาจจัดได้ว่าเป็นความจงรักภักดี เพราะเป็นการผลักให้สถาบันฯ อยู่ตรงข้ามกับคนอีกจำนวนหนึ่ง

  • กลุ่มราษฎรตั้งตู้ไปรษณีย์จำลองใกล้พระบรมมหาราชวัง ส่ง "ราษฎรสาส์น" ถึงรัชกาลที่ 10
  • ร. 10 : ผู้เชี่ยวชาญเล่าผ่านสารคดีบีบีซีทำไมนักศึกษายอมเสี่ยงคุกเพื่อให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
  • จาก "รูปที่มีทุกบ้าน" สู่การชุมนุมปกป้องสถาบันฯ ที่สวนลุมพินี
  • ในหลวง ร. 10 ตรัสทักทาย “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ต่อชายที่ชูพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ร.9 ไว้เหนือหัว

ไม่ใช่ "สัญลักษณ์" แต่เป็น "ศูนย์รวมของชาติ"

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม เนื่องในในวโรกาสครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2549 โดยมีประชาชนรอเฝ้าฯ รับเสด็จ และร่วมถวายพระพร

อย่างไรก็ดี นักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ถูกบางฝ่ายเรียกว่ามีแนวคิด "กษัตริย์นิยม" มองเรื่องนี้แตกต่างออกไป

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ และประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2558 เขียนในหนังสือ

"กฎหมายมหาชน เล่ม 2: การแบ่งแยกกฎหมายมหาชน-เอกชน และพัฒนาการกฎหมายมหาชนในประเทศไทย" ว่าหลัก "the king can do no wrong" ทำให้พระมหากษัตริย์อังกฤษเป็นเพียง "สัญลักษณ์" ของชาติเท่านั้น แต่ในไทยพระมหากษัตริย์เป็น "ศูนย์รวมของชาติที่มีบทบาททางสังคมอย่างแท้จริงในการแก้ปัญหาให้ราษฎรเป็นส่วนใหญ่"

ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ ดร. บวรศักดิ์บอกด้วยว่า เอกลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตยไทยคือ อำนาจอธิปไตยอยู่ที่พระมหากษัตริย์และประชาชน ขณะที่รัฐธรรมนูญของชาติอื่นถือว่า ประชาชนเท่านั้นที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

ที่มาของภาพ, Thierry Falise/Getty Images

นักกฎหมายมหาชนผู้นี้อธิบายว่าที่เป็นเช่นนี้ เพราะ

1. พระมหากษัตริย์กับประชาชนไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วยปัจจัยเรื่องประเพณีในสังคมวัฒนธรรมไทย

2. เมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงอำนาจอธิปไตยอยู่ "สละพระราชอำนาจนั้นให้ประชาชนทั้งประเทศ ด้วยการพระราชทานรัฐธรรมนูญ แล้วลดพระองค์ลงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่ยังทรงใช้อำนาจแทนปวงชน"

ดร. บวรศักดิ์บอกว่า เมื่อเกิดการรัฐประหารยกเลิกรัฐธรรมนูญ อำนาจอธิปไตยจะกลับมาเป็นของพระมหากษัตริย์เฉกเช่นก่อน 24 มิ.ย. 2475 และเมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามที่คณะรัฐประหารถวาย "ก็เท่ากับพระมหากษัตริย์สละอำนาจอธิปไตยกลับคืนมาที่ประชาชนอีก"

  • วสิษฐ เดชกุญชร เล่าเรื่อง ในหลวง ร. 9 “ประชาชนของพระราชา”
  • Soul of a Nation สารคดีอันทรงคุณค่าโดยบีบีซีเมื่อ 40 ปีก่อน
  • ศ.(พิเศษ) ธงทอง จันทรางศุ: บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

ไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชัง

นอกจากเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ของสมาชิกราชวงค์อังกฤษ เกร็ดประวัติศาสตร์ที่ซีรีส์ "เดอะคราวน์" มักดึงมาแล้วนำไปแต่งเรื่องขยายต่อมักเป็นเรื่องท่าทีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองท่ามกลางวิกฤตต่าง ๆ

จากเรื่องรัฐประหารในซีซันที่ 3 ในตอนที่ 8 ของซีซันล่าสุด มีการพูดถึงกรณีอื้อฉาวเมื่อปี 1986 ที่ นสพ.ซันเดย์ ไทมส์ ลงข่าวโดยอ้างแหล่งข่าวในสำนักพระราชวังว่า สมเด็จพระราชินีทรงเห็นว่าการดำเนินนโยบายในประเทศของนายกรัฐมนตรีมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ "ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ" และ "ทำให้เกิดความแตกแยก"

ที่มาของภาพ, Netflix

คำบรรยายภาพ,

โอลิเวีย โคล์แมน แสดงเป็นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองตั้งแต่ซีซัน 3 เป็นต้นมา

แอนดรูว์ นีล บรรณาธิการของนสพ.ซันเดย์ ไทมส์ ในขณะนั้นยืนยันว่านั่นเป็นเรื่องจริง แม้ในตอนนั้นสำนักพระราชวังออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง

ถึงแม้เราไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าข้อเท็จจริงคืออะไร แต่กรณีอื้อฉาวนี้ก็ได้ขับเน้นให้เห็นว่าแม้กระทั่ง "ข่าวลือ" ว่าประมุขของรัฐมีท่าทีทางการเมืองไปทางทิศทางใดทิศทางหนึ่งอาจทำให้เกิดวิกฤตระดับประเทศได้

ย้อนไปเมื่อปี 2559 ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและผู้เชี่ยวชาญด้านราชสำนัก ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทย ไว้ว่า ตั้งแต่เปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย มีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวที่ได้ทรงใช้พระราชอำนาจในฐานะพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบใหม่ และตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ พระองค์ได้ทรงวางทิศทางบทบาทของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของไทยซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถนำมาอ้างอิงในวันข้างหน้าได้

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ในหลวง ร.9 ทรงให้ความสำคัญกับฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเสด็จในรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภาด้วยพระองค์เอง 33 ครั้ง ในภาพนี้เป็นรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา วันที่ 4 มี.ค. 2548 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

ศ. (พิเศษ) ธงทองบอกว่า แม้ว่าจะมีบางจังหวะที่ "ชีพจรการเมืองไทย" ทำประเทศเบี่ยงเบนไปจากวิถีประชาธิปไตยบ้าง แต่ "พระมหากรุณาธิคุณในฐานะที่ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินนั้น ไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชัง"

"...ทรงดำรงพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ในระบอบที่เป็นประชาธิปไตย พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเลือกได้ว่าใครจะเป็นนายกฯ ไม่เคยทรงแต่งตั้งนายกฯ ตามอำเภอพระทัยเลย เป็นสิ่งที่มาจากเหตุการณ์ทางการเมือง มาจากข้อเสนอจากฝ่ายต่าง ๆ"

จงรักภักดี พระบารมี และลักษณะรัฐบาล

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ในหลวง ร.9 ทรงเกี่ยวข้าวบางส่วนที่ได้จากโครงการในพระราชดำริ ที่ จ.ปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2541

ในหนังสือ "พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ" ของ ศ.(พิเศษ) ธงทอง ซึ่งมาจากวิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2529 ที่ศึกษากรณีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 เขาบอกว่า ไม่อาจกล่าวได้ว่าหลักเรื่องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยและสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองแห่งสหราชอาณาจักรจะเหมือนกันในหลักการและรายละเอียด เพราะการกำเนิดและวิวัฒนาการเรื่องสถาบันฯ ของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน

ศ.(พิเศษ) ธงทอง บอกว่า พระราชอำนาจที่จะทรงได้รับคำกราบบังคมทูลและการปรึกษาหารือสำคัญที่สุด แต่รัฐบาลจะรับพระราชกระแสนั้นไปพิจารณาเอง เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล เพราะพระราชกระแส "มิใช่กระแสพระบรมราชโองการเด็ดขาดอย่างในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์"

คำบรรยายวิดีโอ,

บทสัมภาษณ์ ศ. (พิเศษ) ธงทอง จันทรางศุ ถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์

ศ.(พิเศษ) ธงทองสรุปไว้ว่า การใช้พระราชอำนาจนั้น จะได้ผลจริงจังมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับ ความจงรักภักดีของราษฎร, พระบารมีของพระมหากษัตริย์ และ ลักษณะของรัฐบาล

สำหรับข้อสามนี้ ศ.(พิเศษ) ธงทองอธิบายไว้ว่า หากพระมหากษัตริย์พระชนมายุน้อย เพิ่งเสด็จขึ้นครองราชย์ ยังไม่มีโอกาส "บำเพ็ญบารมีให้เป็นที่ประจักษ์แจ้งทั่วไป" ก็เป็นไปได้ยากที่จะทำให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะถึงที่จะพระราชทานคำแนะนำอันมีประโยชน์แก่รัฐบาล

แต่ในทางกลับกัน หากพระมหากษัตริย์พร้อมด้วย "พระคุณธรรมและพระคุณวุฒิ" ทุกด้าน นายกรัฐมนตรีที่หมุนเวียนเข้ามารับตำแหน่งก็ "คงต้องยอมรับข้อเท็จจริงในความด้อยประสบการณ์" และ "น้อมเกล้าฯ ขอรับพระราชทานคำแนะนำอันมีค่าจากสถาบันพระมหากษัตริย์"

"ไม่ได้ไปลดทอนพระราชอำนาจตอนนี้ ก็ไม่ตาย"

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

ป้ายไวนิลขนาดใหญ่เป็นรูปซองจดหมายถึง "กษัตริย์วชิราลงกรณ์" เคลื่อนไปพร้อมกับขบวนการ "ราษฎร" จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มุ่งหน้าสำนักพระราชวัง เมื่อ 8 พ.ย.

ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปฏิเสธคำขอสัมภาษณ์จากบีบีซีไทย แต่ก่อนหน้านั้น เขาให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเมื่อ 29 พ.ย. ว่า การเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ดำเนินอยู่ขณะนี้เกี่ยวข้องกับการแก้กฎหมายและแก้รัฐธรรมนูญ ควรทำผ่านกระบวนการในรัฐสภา ไม่ใช่บนท้องถนน

ศ.ดร.ไชยันต์ตั้งคำถามว่า ผู้ประท้วงกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "ราษฎร" ยกระดับ "ความรุนแรงทางภาษา การล้อเลียนอย่างเข้มข้น ด้อยค่าอย่างรุนแรง" เท่ากับต้องการให้มีคนมากระทำความรุนแรงใส่ หรือพยายามทำให้เกิดรัฐประหาร และก็อาจจะมีการกล่าวอ้างว่าสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เบื้องหลังอีก

อาจารย์รัฐศาสตร์ผู้นี้บอกว่า อีกปัญหาหนึ่งคือ คนรุ่นใหม่ไม่มีประสบการณ์ตรงกับเรื่องในอดีต และอยู่ภายใต้กระแสข้อมูลในโซเชียลมีเดีย พร้อมทั้ง "งานวิชาการชุดหนึ่ง" ที่ "พยายามชี้ให้เห็นว่าปัญหาทั้งหมดอยู่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เบื้องหลัง แทรกแซงทางการเมืองมาตลอด อาจจะย้อนตั้งแต่สมัย 2490 มา" และขณะเดียวกัน ฝ่ายรัฐก็ไม่ได้พยายามออกมาอธิบายว่าความเป็นจริงเป็นอย่างไร

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ,

ตำรวจฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่แยกเกียกกายเมื่อวันที่ 17 พ.ย.

ส่วนเรื่องของการเรียกร้องให้ลดพระราชอำนาจ ศ.ดร.ไชยันต์ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ เดอะโมเมนตัม (The Momentum) ว่า ขั้วขัดแย้งสองฝ่าย "ต้องวัดกันตรงบัตรเลือกตั้ง" เขาบอกว่าการเปลี่ยนแปลงประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่

"เรื่องใหญ่หมายความว่า ถ้าไม่เปลี่ยนตอนนี้ ตายไหม… ก็ไม่ตายด้วยนะ นึกออกไหม ไม่ได้ไปลดทอนพระราชอำนาจตอนนี้ ก็ไม่ตาย มันไม่ได้กระทบชีวิตขนาดนั้นหรอก"

นักรัฐศาสตร์ผู้จบปริญญาเอกด้านปรัชญาการเมือง จากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (LSE) ระบุว่า "บางคนอาจจะบอกว่า กระทบสิ เพราะว่าไปเอาทรัพย์สินพระมหากษัตริย์คืนมา เพื่อไปกระจายให้ประชาชนได้สวัสดิการ ผลประโยชน์ ยึดมาจริง แต่เวลากระจาย ก็ขึ้นกับว่าใครเป็นรัฐบาล ใครเป็นสภา เขาก็จะไปจัดสรรให้ฐานเสียงเขามากกว่าไหม"

"สาธารณรัฐจำแลง" vs. "เสมือนระบอบสัมบูรณ์ฯ"

หลายเดือนที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวเรียกร้องของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มราษฎรทำให้นึกถึงบทพูดของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองใน "เดอะคราวน์" ที่ว่า "การไม่ทำอะไรเลยนั่นแหละคือสิ่งที่เราต้องทำ" บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์ "ไม่เซ็น" หากมีการก่อรัฐประหารเกิดขึ้น หรือจากการปราศรัยกล่าวหาสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าเลือกฝ่ายทางการเมือง อาทิ กรณีที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือ "โบว์" ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อ 7 ต.ค. 2551

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

สถานีโทรทัศน์แพร่ภาพ ร. 9 โปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ. สุจินดา คราประยูร และ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานกระแสพระราชดำรัสเพื่อเตือนสติ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2535

อย่างไรก็ดี อีกฝ่ายก็เห็นไปในทางเดียวกันกับนักกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่าง ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่มองว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยเป็นมากกว่าแค่ "สัญลักษณ์" บางคนยกเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ พล.อ. สุจินดา คราประยูร และ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง แกนนำผู้ชุมนุม เข้าเฝ้าฯ โดยบอกว่าเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพิเศษที่สถาบันพระมหากษัตริย์สามารถช่วยให้ประเทศชาติก้าวพ้นวิกฤตทางการเมืองไปได้

ในหนังสือ "สยามยามเปลี่ยน(ไม่)ผ่าน" ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2555 เนื่องในโอกาสชุมนุมปาฐกถา 70 ปี ศ.พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บทความของ ศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า สถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองในระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมาเป็นการยื้อยุดต่อสู้ของ 2 แนวโน้ม ได้แก่

1. "สาธารณรัฐจำแลง" (Disguised Republic) ซึ่งวอลเตอร์ เบจชอต ปัญญาชนอังกฤษ ใช้นิยามระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญอังกฤษ คืออำนาจบริหารแท้จริงตกอยู่กับนักการเมืองกระฎุมพี ส่วนสถาบันกษัตริย์เป็นเพียงประมุขเชิงสัญลักษณ์

2. "เสมือนระบอบสัมบูรณ์ฯ" (Virtual Absolutism) ซึ่ง ศ.ดร. เกษียรระบุว่า "ความมหัศจรรย์ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่เรามีในปัจจุบันคือ มันเป็นประชาธิปไตยโดยโครงสร้างกฎหมายทั่วไป แต่ผู้คนจำนวนหนึ่งในสังคมกลับมีความคิดความเข้าใจและพฤติกรรมเสมือนหนึ่งอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทำให้เกิดความสับสนปนเประหว่างพื้นที่การเมืองหรือพื้นที่สาธารณะกับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์..."

บทความดังกล่าวตีพิมพ์เมื่อเกือบทศวรรษที่แล้ว โดย ศ.ดร. เกษียร ปิดท้ายว่า ในไทย การยื้อยุดของสองแนวโน้มนี้ดำเนินไป "โดยมีกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นฉาก...."