การบริหารราชการไทยในอดีต-ปัจจุบัน

We’ve updated our privacy policy so that we are compliant with changing global privacy regulations and to provide you with insight into the limited ways in which we use your data.

You can read the details below. By accepting, you agree to the updated privacy policy.

Thank you!

View updated privacy policy

We've encountered a problem, please try again.

การบริหารราชการไทยในอดีต-ปัจจุบัน

การพัฒนาระบบราชการไทย

*** [ระบบบริหารราชการไทย]เอกสาร

*** ผศ.ดร.สถาพร วิชัยรัมย์ [อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (รปม.)]

การบริหารราชการไทยในอดีต-ปัจจุบัน

บทนำ

ระบบบริหารราชการไทยมีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านการเมืองการปกครองและพฤติกรรมการบริหารราชการมาหลายยุคหลายสมัย แต่ละยุคสมัยก็มีลักษณะการบริหารราชการที่แตกต่างกัน มีสภาพปัญหาเกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาก็มีลักษณะต่างกัน สภาพปัญหาดังกล่าว ยังรวมถึงความคาดหวังต่อการให้บริการประชาชนที่มากขึ้นด้วย ทำให้ระบบราชการไทยต้องมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ มีการบริหารจัดการที่ดี อีกทั้งในปัจจุบันกระแสแห่งการจัดการภาครัฐสมัยใหม่ได้ส่งผลให้การบริหารงานภาครัฐต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ประเทศไทยก็ได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ในการพัฒนาระบบราชการไทยให้มีความทันสมัย มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศ

ลักษณะของระบบบริหารราชการไทย

การบริหารราชการไทยในอดีต-ปัจจุบัน
ลักษณะของระบบบริหารราชการไทยมีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน โดยในแต่ละช่วงเวลาจะมีลักษณะของระบบราชการที่แตกต่างกันไปและปัญหาของระบบราชการก็จะต่างกันไปด้วย

จะเห็นได้ว่า การบริหารราชการไทยได้มีการพัฒนาการบริหารมาอย่างต่อเนื่อง โดยการพัฒนาการบริหารที่ผ่านมามักจะให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้าง การจัดแบ่งส่วนราชการ และการจัดอัตรากำลังเป็นสำคัญ ส่วนการปรับบทบาท ภารกิจ วิธีการบริหารราชการ กฎหมาย งบประมาณ และวัฒนธรรมการบริหารเพิ่งได้รับความสำคัญในระยะหลังๆ โดยเฉพาะตั้งแต่มีการจัดทำแผนแม่บทการปฏิรูประบบราชการและแผนปฏิรูปการบริหารภาครัฐเป็นต้นมา

ระบบบริหารราชการไทยจึงมีลักษณะเป็นไปตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินที่กำหนดให้มีการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น มีบทบาทภารกิจตามกฎหมาย มีองค์การ โครงสร้างที่เป็นแบบแผน มีระบบงานที่มีภารกิจในด้านต่าง ๆ มีบุคลากรของรัฐที่ทำหน้าที่ให้บริการประชาชน นอกจากนี้ภายใต้กฎระเบียบต่างๆ อาจทำให้เป็นอุปสรรคของการทำงานในด้านต่างๆ

ปัญหาของระบบราชการไทย

ระบบราชการไทย นับตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูประบบราชการเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นเป็นต้นมาจนถึงพ.ศ. 2545 จึงได้มีการปฏิรูปอีกครั้งซึ่งระหว่างนั้นมีเพียงการปรับปรุง เสริมแต่งเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้แล้วในทางการเมือง รัฐบาลเกือบทุกสมัยมักมีนโยบายปรับปรุงประสิทธิภาพระบบราชการ แต่ทำไปทำมาก็ไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมที่จะแสดงให้เห็นว่าระบบราชการมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ข่าวคราวเกี่ยวกับการคอรัปชั่นในวงราชการก็มิได้ลดลง ในทางกลับกันกลับมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นต้นทุนตัวหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจขอประเทศไปแล้ว

การบริหารราชการไทยในอดีต-ปัจจุบัน

ปัญหาของระบบบริหารราชการไทยจะเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบราชการที่ยังมีความล่าช้า การขยายตัวของหน่วยงานราชการ มีโครงสร้างและภารกิจที่มีความซ้ำซ้อนขาดความชัดเจน การบริหารบุคคลยังมีระบบอุปถัมภ์ ทำให้บุคลากรขาดแรงจูงใจในการปฏิบัติหน้าที่นอกจากนี้ยังถูกแทรกแซงทางการเมือง

การปฏิรูประบบราชการภายใต้แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการภาครัฐแนวใหม่

ภายใต้บริบทของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอันเรียกว่าโลกาภิวัตน์ทำให้เกิดแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการสมัยใหม่ที่ถูกนำมาใช้ในองค์การต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้หน่วยงานต่างๆ ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพเกิดผลลัพธ์ที่ต้องการ

การบริหารราชการไทยในอดีต-ปัจจุบัน

การบริหารงานภาครัฐ (Public Administration) ได้ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตามกรอบแนวคิดหรือตัวแบบระบบราชการในอุดมคติซึ่งแนวคิดดังกล่าวถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นโดยนักสังคมวิทยาชาวเยอรมันที่ชื่อ Max Weber โดยหลักการแล้วการบริหารงานภาครัฐในแนวทางนี้เน้นให้ความสำคัญต่อโครงสร้างสายการบังคับบัญชา การสั่งการตามลำดับชั้นที่ชัดเจนและแน่นอน มีการแบ่งงานกันทำตามความเชี่ยวชาญชำนาญการ สร้างความมั่นคงแน่นอนในอาชีพการรับราชการการปฏิบัติงานเป็นไปตามระเบียบและแบบแผนมาตรฐานที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เน้นความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และไม่คำนึงถึงตัวบุคคลในการให้บริการประชาชน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความยุติธรรม สามารถควบคุมการใช้อำนาจดุลพินิจและทุจริตประพฤติมิชอบ ป้องกันการแทรกแซงทางการเมืองและเล่นพรรคเล่นพวก

การบริหารจัดการภาครัฐแบบใหม่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุของระบบบริหารราชการแบบดั้งเดิม ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีสภาพที่ยังไม่เอื้อต่อการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป มีลักษณะล่าช้า ขาดความคล่องตัว มีการปฏิบัติงานโดยยึดหลักระเบียบที่เคร่งครัด ปัญหาเหล่านี้นำไปสู่การบริหารงานภาครัฐที่ขาดประสิทธิภาพ ซึ่งหลายประเทศได้ประสบปัญหาที่มีลักษณะเหมือนกัน การจัดการภาครัฐแบบใหม่ (New Public Management) ที่องค์การภาครัฐได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของ Boston. ที่ได้อธิบายแนวคิดการจัดการภาครัฐแนวใหม่ที่มีจุดประสงค์หลักเพื่อให้การบริหารภาครัฐมีความทันสมัย มีประสิทธิภาพ และสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก

การปฏิรูประบบราชการไทย

จากแนวคิดการจัดการภาครัฐแนวใหม่ที่มุ่งถึงการจัดระบบบริหารราชการให้มีประสิทธิภาพทำให้รัฐบาลไทยในสมัยต่างๆ ได้มีแนวคิดให้การพัฒนาระบบบริหารราชการให้มีประสิทธิภาพโดยการปฏิรูประบบบริหารในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

ความจำเป็นในการปฏิรูประบบราชการไทย

การบริหารราชการไทยนอกเหนือจากการปฏิรูปเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและภารกิจของราชการอันเป้าหมายหลักแล้วปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เทคโนโลยีและวิทยาการก็ล้วนก็ล้วนมีอิทธิพลที่ส่งผลให้องค์การต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจำเป็นต้องมีการปฏิรูปเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลง สำหรับประเทศไทยมีความจำเป็นในการปฏิรูประบบราชการ

    • การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ระบบบริหารราชการไทยจัดเป็นระบบหรือองค์ประกอบย่อยหนึ่งของสังคม เมื่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกเปลี่ยนแปลงไป ระบบการบริหารราชการไทยย่อมต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนพัฒนาให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่ผ่านมาระบบการบริหารราชการไทยยังมีปัญหาทางการบริหารหลาย ๆ ประการดังกล่าวไว้แล้ว
    • โครงสร้างขนาดใหญ่ทำให้งานล่าช้า ระบบราชการไทยจากอดีตมีขนาดใหญ่ มีความสลับซับซ้อน มีสายการบังคับบัญชามาก เป็นปัญหาที่ขาดการแก้ไขหรือปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการขาดประสิทธิภาพ ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างน่าพอใจจำเป็นต้องมีการปฏิรูปให้เกิดประสิทธิภาพ มีขนาดองค์การที่เล็กลง สามารถให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้มากขึ้น
    • ความล้าสมัยของกฎหมาย กฎ ระเบียบและข้อบังคับต่างๆ การบริหารราชการไทยที่ผ่านมา ยังไม่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ โดยยังพบว่ากฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ หลายฉบับที่ใช้อยู่ยังเป็นอุปสรรคในการบริหารและการปฏิบัติงานอันอาจส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการทำงาน และขาดประสิทธิภาพในการทำงาน
    • การมุ่งระเบียบวิธีมากกว่าการมุ่งเน้นผลงาน กระบวนการบริหารราชการไทยที่ผ่านมามุ่งเน้นระเบียบเป็นเป้าหมายในการปฏิบัติงานมากว่าผลของงาน จึงไม่สามารถตองสนองต่อความต้องการของประชาชนได้มากนัก การปฏิรูปการปฏิบัติงานโดยมุ่งเน้นผลงานจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการบริหารราชการไทยยุคใหม่
    • พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ พฤติกรรมการการบริหารของข้าราชการไทยที่ผ่านมามักถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบมาโดยตลอดโดยเฉพาะการถูกมองว่าปฏิบัติงานไม่คุ้มค่ากับภาษีอากรของประชาชน ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม ให้ความสำคัญกับกฎระเบียบและผู้บังคับบัญชามากกว่าประชาชน การปฏิรูปพฤติกรรมการทำงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐจึงเป็นวาระเร่งด่วนสำหรับการบริหารราชการไทย
    • ขาดการนำเทคนิคเครื่องเมือการบริหารงานยุคใหม่มาประยุกต์ใช้ในการทำงานการบริหารราชการไทยที่ผ่านาขาดการนำเทคนิคการบริหารงานสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ส่งผลให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และประหยัดเท่าที่ควร การปฏิรูปด้านการบริหารอาจนำเทคนิคการบริหารสมัยใหม่ เช่น การนำหลักการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์มาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานภาคราชการ จึงเป็นวิธีหนึ่งในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารราชการไทยได้
    • การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ยังมีอยู่อย่างจำกัด การบริหารราชการไทยที่ผ่านมามีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานค่อนข้างน้อย ส่งผลให้การจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระบบ ข้อมูลต่าง ๆ ที่มีอยู่ก็กระจัดกระจายไปส่วนราชการต่างๆ ทำให้ยากต่อการนำมาใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงปฏิบัติการและเชิงบริหาร การปฏิรูปราชการไทยโดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการทำงานจึงจะช่วยให้การปฏิบัติงานและการตอบสนองความต้องการของประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
    • ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานภาครัฐจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การที่จะทำให้ระบบการบริหารราชการไทยสามารถดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างพึงพอใจสูงสุดจำเป็นต้องพัฒนาความรู้ทางการบริหารของบุคคลภาคราชการ โดยเฉพาะตัวผู้บริหารให้มีความรู้และทักษะทางการบริหารเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำความรู้และทักษะต่างๆ เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในหน่วยงานให้ประสบความสำเร็จต่อไป

การบริหารราชการไทยในอดีต-ปัจจุบัน
แนวโน้มการบริหารราชการไทย

จากแนวคิดการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ และการปฏิรูประบบราชการไทยย่อมส่งผลให้ระบบราชการไทยในอนาคตจะมีสมรรถนะและมีลักษณะ ดังนี้

    • การให้บริการของภาครัฐแก่ประชาชนในอนาคตใช้กลไกตลาดมากขึ้น
    • การบริหารระบบราชการจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
    • การบริหารราชการในอนาคตจะมีลักษณะของการบริหารแบบมีส่วนร่วมมากขึ้น
    • การให้บริการแก่ประชาชนในอนาคตจะต้องมีลักษณะเข้มข้น

จากแนวคิดการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ ส่งผลทำให้ระบบบริหารราชการไทยจำต้องมีการปฏิรูปตามยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว ในอนาคตระบบบริหารราชการไทยก็จะมีลักษณะการบริหารงานที่ยืดหยุ่น มีระบบกลไกตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง องค์การราชการจะต้องมีการแข่งขันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาการบริหารงาน มีข้าราชการที่มีสมรรถนะสูงเข้ามาปฏิบัติงาน รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อเป้าหมายในการตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

หลักการพัฒนาระบบราชการไทย

การพัฒนาระบบราชการไทยมีวิวัฒนาการมาเป็นระยะเวลานานหลายยุคสมัย มียุคแห่งการพัฒนาการบริหารราชการได้เป็น 4 ยุคได้แก่ 1) ยุคก่อนการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2435 2) ยุคปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2435 3) ยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2475 4) ยุคปฏิรูประบบราชการ พ.ศ. 2545  โดยเฉพาะในยุคล่าสุดนี้เป็นการพัฒนาระบบราชการเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบริหารราชการทั้งด้านโครงสร้าง ขั้นตอน กฎ ระเบียบ คำสั่ง พฤติกรรมการบริหารราชการอันเกิดจากบุคลากรของรัฐ ทำให้ภาคราชการไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มุ่งพัฒนาการบริหารงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพภายใต้ชื่อว่าการจัดการภาครัฐแนวใหม่

การบริหารราชการไทยในอดีต-ปัจจุบัน

แนวคิดการจัดการภาครัฐแนวใหม่เกิดมาจากการหลอมรวมแนวคิดที่แตกต่างกัน 2 กระแสโดยกระแสแนวคิดแรกคือเศรษฐศาสตร์สถาบันใหม่ (New Institutional Economics) ซึ่งเกิดมาจากทฤษฎีทางเลือกสาธารณะ (Public Choice Theory) ทฤษฎีผู้ว่าจ้าง-ตัวแทน (Principal-agent Theory) และทฤษฎีต้นทุน-ธุรกรรม (Transaction Theory) ซึ่งมองการเมืองเปรียบเสมือนปรากฏการณ์ทางการตลาดและอีกกระแสแนวคิดหนึ่งคือการจัดการนิยม (Managerialism) ซึ่งเป็นแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการบริหารภาครัฐโดยนำเอาวิธีการหรือเทคนิคต่างๆของภาคธุรกิจเอกชนมาใช้หรือเป็นการบริหารงานที่เลียนแบบภาคธุรกิจเอกชนโดยมีลักษณะลดขั้นตอน ลดขนาดโครงสร้างองค์การ รวมทั้งพฤติกรรมการดำเนินงานโดยมุ่งผลลัพธ์สุดท้ายมากกว่าวิธีการทำงาน

สรุป

ผลของการปฏิรูปและการพัฒนาระบบราชการไทยภายใต้แนวคิดการจัดการภาครัฐแนวใหม่เป็นที่คาดหมายไว้ว่าจะมีระบบราชการที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองพันธกิจและภารกิจในการให้บริหารแก่ประชาชน และประเทศชาติได้อย่างสมบูรณ์มีขนาดกะทัดรัด และโปร่งใสตรวจสอบได้ และยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นศูนย์กลางภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย โดยใช้หลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีหรือหลักธรรมาภิบาล

อ่านเพิ่มเติมที่

http://dspace.bru.ac.th/xmlui/handle/123456789/7910[เอกสารประกอบการสอนรายวิชาระบบบริหารราชการไทย]

บทความก่อนหน้านี้

https://pa.bru.ac.th/2021/09/12/goodgovernance/ ธรรมาภิบาลในองค์การภาครัฐ

การบริหารราชการไทยในอดีต-ปัจจุบัน

ระบบคลังข้อมูลวิชาการ[เอกสารอิเลกทรอนิกส์]

เอกสารอ้างอิง

  1. กระมล ทองธรรมชาติ และพรศักดิ์ ผ่องแผ้ว. (2551). ข้าราชการไทยความสำนึกและอุดมการณ์. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  2. โกลด์สมิท, สตีเฟ่น. (2552). การบริหารงานภาครัฐแบบเครือข่าย : มิติใหม่ของภาครัฐ. กรุงเทพฯ :เอ็กซเปอร์เน็ท.
  3. ไกรยุทธ์ ธีรตยาคีนันท์. (2534). ทฤษฎีว่าด้วยความล้มเหลวของรัฐ เศรษฐศาสตร์ ภาครัฐ : รวมบทความ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  4. จุมพล หนิมพานิช. (2550). การบริหารจัดการภาครัฐใหม่ : หลักการ แนวคิด และกรณีตัวอย่างของไทย. (พิมพ์ครั้งที่2). นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
  5. เฉลิม ศรีผดุง และอิศเรศ ศันนีย์วิทยกุล. (2559). เอกสารการสอนชุดวิชาการจัดการเชิงกลยุทธ์ในภาครัฐกิจ หน่วยที่ 1-8. (พิมพ์ครั้งที่ 3). นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
  6. ทศพร ศิริสัมพันธ์. (2557). ประมวลสาระชุดวิชาแนวคิดทฤษฎีและหลักการรัฐประศาสนศาสตร์. (พิมพ์ครั้งที่ 10). นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
  7. ทิพาวดี เมฆสวรรค์. (2540). การปฏิรูปภาคราชการสู่สภาพที่พึงปรารถนา: ทำอย่างไร ใครรับผิดชอบ. วารสารข้าราชการ. 42(2), หน้า 24-43.
  8. เทพศักดิ์ บุณยรัตพันธุ์. (2557). ประมวลสาระชุดวิชาแนวคิดทฤษฎีและหลักการรัฐประศาสนศาสตร์. (พิมพ์ครั้งที่ 10). นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
  9. นพรัฐพล ศรีบุญนาค. (2551). เอกสารการสอนชุดวิชาการบริหารการพัฒนาและการพัฒนาการบริหาร หน่วยที่ 8-15. (พิมพ์ครั้งที่ 4). นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
  10. นราธิป ศรีราม. (2551). เอกสารการสอนชุดวิชาการบริหารราชการไทย หน่วยที่ 9-15. (พิมพ์ครั้งที่ 5). นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
  11. นราธิป ศรีราม. (2559). เอกสารการสอนชุดวิชาการบริหารราชการไทย หน่วยที่ 8-15. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
  12. บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ และคณะ. (2560). ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบอบบริหารราชการไทย. สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2560, จาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php
  13. ปรัชญา เวสารัชช์. (2539). การปฏิรูปราชการเพื่ออนาคต: ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา. งานวิจัยภายใต้โครงการปรับภาคราชการเข้าสู่โลกาภอวัฒน์ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ) การสัมมนาวิชาการประจำปี 2539 เรื่อง “การปฏิรูปราชการเพื่ออนาคต” 13-15 มีนาคม 2539 โรงแรมแอมบาสเดอร์ จอมเทียน ชลบุรี.
  14. พิทยา บวรวัฒนา. (2557). ประมวลสาระชุดวิชาแนวคิดทฤษฎีและหลักการรัฐประศาสนศาสตร์. (พิมพ์ครั้งที่ 10). นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
  15. รัชยา ภักดีจิตต์. (2555). ธรรมาภิบาลเพื่อการบริหารภาครัฐและเอกชน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  16. วรเดช จันทรศร. (2541). ปรัชญาการบริหารภาครัฐ. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : สหายบล็อกและการพิมพ์.
  17. สมาน รังสิโยกฤษฏ์. (2546). การบริราชการในอดีต ปัจจุบันและอนาคต. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : บรรณกิจ 1991.
  18. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน. (2545). แนวทางการบริหารราชการยุคใหม่ของรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง หัวหน้ากลุ่มภารกิจและอธิบดี. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน.
  19. สุรศักดิ์ ชะมารัมย์. (2560). การบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่: กระแสหลักของการเปลี่ยนแปลงในการบริหารงานภาครัฐ. สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม 2560, จากwww.lppreru.com/…/download.php
  20. Bozeman, Barry. (2000). Bureaucracy and Red Tape. New Jersey : Prentice Hall.
  21. Denhardt, Robert B. and Grubbs, Joseph W. (2003). Public Administration: An Action Orientation. 6th ed. USA: Wadsworth/Thomson
  22. Osborne, David and Gaebler, Ted. (1992). Reinventing Government How the Entrepreneurial Spirit is Transforming the Public Sector. Massachusetts : Addison-Wesley.
  23. Peters, B.G. (1995). Governance in Chancing Environment. London : Queen’s University Press.
  24. Willson, Janes Q. (1989). Bureaucracy : What Government Agencies Do and Why They Do It ?. New York : Basic Books.
  25. Yamamoto, Hiromi. (2003). New Public Management-Japan’s Practice. Japan : Institute for International Policy Studies Publications.