จงบอกรายละเอียดสำคัญตราสัญลักษณ์ของ

การออกแบบตราสัญลักษณ์ (LOGO)

โลโก้  คือชื่อ  สัญลักษณ์หรือเครื่องหมายการค้าของบริษัทหรือองค์กร  อาจมีลักษณะเป็นตัวอักษรที่มีรูปแบบโดดเด่น  หรือเป็นภาพที่มีชื่อบริษัทอยู่ด้วย  เป็นสัญลักษณ์หรือมิเช่นนั้น  ก็ประกอบขึ้นด้วยทุกองค์ประกอบที่กล่าวมารวมกัน แต่ไม่ว่าจะมีรูปแบบเป็นอย่างไร  วัตถุประสงค์ของโลโก้ก็คือ  การบ่งบอกถึงภาพลักษณ์ของบริษัทหรือองค์กรนั้นๆ  การออกแบบโลโก้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการสร้าง

แบรนด์ (สินค้า) เคล็ดลับนั้นมีอยู่ด้วยกัน 10 ข้อคือ

1. เน้นความเรียบง่ายเป็นหัวใจหลัก  ขอให้ระลึกไว้ว่า  โลโก้เป็นบันไดเพียงขั้นหนึ่ง  ท่านไม่อาจให้คำอธิบายแผนงานธุรกิจของท่านทั้งหมดบนบันไดเพียงขั้นเดียว

2. ดึงดูดใจผู้พบเห็น  และควรมีที่ว่างให้ผู้พบเห็นค้นหาความหมายที่ต้องการสื่อออกมา ทางโลโก้นั้นด้วยตนเองบ้าง ทั้งนี้ต้องดูไม่ยากเกินไปด้วย

          3. มองไปข้างหน้า คิดถึงความยั่งยืนของโลโก้

4. ใช้ภาพแบบเวคเตอร์  นั่นคือลายเส้นที่สะอาดตาชัดเจน  ไม่ใช้สีมาก  เนื่องจากภาพแบบเวคเตอร์นั้น  จะให้ทั้งความตัดกัน ( contrast ) และความสมดุล ( balance) ในตัว

5. มีความยืดหยุ่น พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

6. จดจำได้ง่าย

7. สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์  โลโก้จะต้องออกมาทำให้ลูกค้าสามารถจินตนาการถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการของท่านได้ง่ายด้วย

8. เลือกสีอย่างสร้างสรรค์  เลือกสีโลโก้ให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายของท่านอย่างไรก็ตาม ท่านอาจใช้สีโลโก้ต่างๆ กันไปได้บนวัสดุต่างๆ เช่นนามบัตร  หรือกระดาษซองจดหมาย ขึ้นอยู่กับเซ็กเมนต์ของลูกค้าของท่าน

9. มีเอกลักษณ์เฉพาะตน ท่านควรทำวิจัยวงการธุรกิจ  และกลุ่มเป้าหมายของท่านก่อนที่จะออกแบบโลโก้  เพื่อให้ทราบถึงลักษณะของธุรกิจเพื่อให้โลโก้ของท่านไม่ไปคล้ายคลึงกับของผู้อื่น

10. ใช้ได้ในทุกลักษณะ  โลโก้ที่ดีควรใช้ได้ในทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นบนป้ายหัวกระดาษเขียนจดหมาย  นามบัตร  ตัวสินค้าหรือเว็บไซต์ บางครั้ง  โลโก้สามารถใช้ได้ดีบนเว็บไซต์หรือบิลบอร์ด  แต่ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้บนปากกาหรือถ้วยกาแฟ  เพราะฉะนั้นท่านควรคำนึงถึงจุดนี้ด้วย  เนื่องจากในการสร้างความจดจำในแบรนด์นั้น ท่านจะต้องเผยแพร่  ท่านจะต้องเผยแพร่โลโก้และภาพลักษณ์ของท่านให้สม่ำเสมอที่สุดเท่าที่จะทำได้

บรรจุภัณฑ์ (packaging)

ความหมายของบรรจุภัณฑ์

          คำนิยามเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์  “บรรจุภัณฑ์เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่ใช้ในการบรรจุสินค้าในการจัดจำหน่ายเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อ หรือผู้บริโภค ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม จะเห็นได้ว่าบรรจุภัณฑ์มีบทบาทอย่างมากในสภาพสังคมปัจจุบัน นอกจากนี้รูปแบบบรรจุภัณฑ์ ยังมีความสัมพันธ์กับศิลปวัฒนธรรมของชาติอีกด้วย”องค์ประกอบสำคัญของบรรจุภัณฑ์ ที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดการรับรู้ และเกิดความพึงพอใจในสินค้า มีดังนี้

  1. ภาชนะบรรจุ (Pack)อาจเป็นวัสดุชนิดต่าง ๆ เช่น หลอดแก้ว กล่อง ขวด ถุง กระป๋อง หรืออาจทำด้วยพลาสติก กระดาษ เหล็ก ไม้  เป็นต้น
  2. ฉลาก (Label) คือสิ่งที่แปะติดที่ขวด กล่อง หรือพิมพ์ลงภาชนะบรรจุ
  3. ยี่ห้อ (Brand name) คือชื่อเรียกสินค้าทั่วไป
  4. เครื่องหมายการค้าที่ใช้โฆษณา(Logo) จะออกแบบให้มีลักษณะเด่น เพื่อให้เกิดการจดจำ
  5. ใบบอกวิธีใช้สินค้า (Literature)  เป็นส่วนที่ให้รายละเอียด แจ้งสรรพคุณ วิธีใช้ บางครั้งอาจเป็นคู่มือสินค้า

หน้าที่ของบรรจุภัณฑ์

          บรรจุภัณฑ์มีความสำคัญสำคัญ สำหรับสินค้าและการตลาดอย่างมาก จะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้  ความสำคัญหน้าที่ของบรรจุภัณฑ์  มีดังต่อไปนี้

          1. การบรรจุและการคุ้มครองป้องกัน (Containment) บรรจุภัณฑ์ จะต้องออกแบบให้สามารถคุ้มครองป้องกันสินค้า จากความเสียเนื่องจากการขนส่ง ป้องกันสินค้าไม่ให้เน่าเสีย ไม่ทำให้เสื่อมสลายไว และสามารถเก็บรักษาได้ง่าย

2. การบ่งชี้ผลิตภัณฑ์ (Identification) บรรจุภัณฑ์จะต้องแสดงให้เห็นตัวสินค้าต่อผู้บริโภคทันที โดยการใช้ชื่อสินค้า  เครื่องหมายการค้า ชื่อผู้ผลิต ลักษณะประเภทของสินค้า

          3. การอำนวยความสะดวก (Convenience) ในกระบวนการผลิตและการตลาด บรรจุภัณฑ์ ต้องเอื้ออำนวยความสะดวกต่อการขนส่ง ลการเก็บรักษาในคลังสินค้า บรรจุภัณฑ์ จะต้องมีความแข็งแรง ทนทาน สามารถวางซ้อนทับเพื่อประหยัดพื้นที่ บรรจุภัณฑ์ จะต้องมีขนาด รูปที่ลงตัว เพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการวางซ้อนในชั้นวาง

4. การดึงดูดความสนใจผู้บริโภค (Consumer appeal) สิ่งที่เห็นในบรรจุภัณฑ์ทั้งหมด  เช่น ขนาด รูปร่าง สี วัสดุข้อความตัวอักษร จะเป็นสิ่งนำมาซึ่งความสนใจของผู้บริโภคซึ่งผู้ออกแบบจะต้องออกแบบ ให้เกิดประสิทธิภาพทางการสื่อสาร และเกิดผลทางจิตวิทยาต่อผู้บริโภค

          5. เศรษฐกิจ(Economic) บรรจุภัณฑ์มีบทบาทสำคัญในการกำหนดราคาขายของสินค้า  เพราะถือว่าบรรจุภัณฑ์ เป็นต้นทุนการผลิตด้วยเช่นกัน

แนวคิดกับนักออกแบบงานของที่ระลึก

แนวคิดนักออกแบบงานของที่ระลึกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อลดต้นทุนการผลิต

บรรจุภัณฑ์เป็นต้นทุนทางตรงที่สำคัญตัวหนึ่งในการผลิตสินค้ารองลงมาจากตัววัตถุดิบ ถ้าสามารถลดค่าใช้จ่ายบรรจุภัณฑ์ให้ต่ำลงได้ ก็จะทำให้ต้นทุนสินค้าต่อหน่วยต่ำลงด้วย หนึ่งในวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการบรรลุผลกำไรที่มากกว่า คือ การลดต้นทุนของวัสดุบรรจุภัณฑ์ แนวคิดในการลดต้นทุนของบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มผลกำไร ได้แก่

– การลดระดับคุณสมบัติทางกายภาพของวัสดุบรรจุภัณฑ์ให้ต่ำลง เช่น ลดความหนา ลดน้ำหนัก โดยจะต้องพิจารณาว่า เมื่อลดแล้วยังมีความเหมาะสมหรือไม่ และการประหยัดที่เกิดขึ้นจะคุ้มหรือไม่

– พิจารณาทางเลือกอื่นของวัสดุบรรจุภัณฑ์ ควรเลือกวัสดุทำบรรจุภัณฑ์ชนิดใหม่ที่ราคาถูกกว่าแทนวัสดุเดิม เช่น บรรจุภัณฑ์พลาสติกควรแทนที่บรรจุภัณฑ์แก้ว เป็นต้น

– ใช้ประโยชน์จากวัสดุบรรจุภัณฑ์ให้ได้ผลคุ้มค่ากว่าเดิม เป็นการนำวัสดุบรรจุภัณฑ์มาใช้ให้คุ้มค่าขึ้น จะประหยัดต้นทุนได้มากขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลง dimension เพียงเล็กน้อยของกล่องกระดาษ อาจจะทำให้การจัดวางภาพ คลี่บนกระดาษมาตรฐาน 1 แผ่น ได้จำนวนกล่องมากขึ้นโดยเสียเศษน้อยที่สุด ทำให้โรงพิมพ์สามารถพิมพ์กล่องได้จำนวนมากขึ้น

– พิจารณาทางเลือกอื่นของรูปแบบบรรจุภัณฑ์ เช่น การนำบรรจุภัณฑ์ของสินค้าเดิมในท้องตลาดมาดัดแปลงให้อยู่ในรูปแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายและเพิ่มผลกำไรได้

– การลดส่วนประกอบของบรรจุภัณฑ์ให้น้อยลง เช่น กรณีของฝาปิดแบบติดกันเป็นชิ้นเดียว ซึ่งมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง อาจแทนที่ได้ด้วยการใช้ฝาพลาสติกแยกชิ้นกันได้สำหรับขวดพลาสติก

– การเปลี่ยนรูปทรงจากทรงกลมมาเป็นทรงสี่เหลี่ยม เนื่องจากทรงกลมหรือทรงกระบอกมีปริมาตรน้อยกว่าทรงเหลี่ยม (จัตุรัส) ประมาณ 25-27 % และทรงเหลี่ยมยังง่ายต่อการบรรจุลงในกล่องขนส่งและสะดวกในการขนส่ง และประหยัดเนื้อที่ในการจัดวางแสดงสินค้าด้วย

– การเพิ่มปริมาณบรรจุต่อกล่องให้มากขึ้น เช่น เคยบรรจุสินค้ากล่องหนึ่ง จำนวน12 ชิ้น เพิ่มปริมาณบรรจุเป็นกล่องละ 18 ชิ้นหรือ 24 ชิ้น จะทำให้ขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น และประหยัดค่าขนส่ง

– การลดจำนวนขนาดให้น้อยลง หากสินค้ามีขนาดที่หลากหลายจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการบรรจุมาก การลดจำนวนขนาดให้เหลือน้อยที่สุด ย่อมจะลดค่าใช้จ่ายดีกว่าการมีหลาย ๆ ขนาด และขนาดที่ควรตัดออกไปน่าจะเป็นขนาดที่เล็กที่สุด

– การลดขนาดพื้นที่ด้านกว้างของบรรจุภัณฑ์ พบว่าบรรจุภัณฑ์ที่มีด้านกว้างน้อยที่สุดจะมีต้นทุนถูกที่สุดเพราะใช้เนื้อที่กระดาษน้อยกว่า ถ้าด้านกว้างเพิ่มมากขึ้นก็จะสิ้นเปลืองกระดาษมาก นอกจากนี้ยังมีความสะดวกในการบรรจุ และบรรจุภัณฑ์มีความมั่นคงแข็งแรง

– การลดจำนวนสีที่พิมพ์และเลือกใช้คู่สีที่เหมาะสม การออกแบบกราฟิกมีส่วนช่วยในการจำหน่ายสินค้าและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของตราสินค้า ในบางกรณีอาจสำคัญกว่าทางเลือกอื่น ๆ ที่มีค่าใช้จ่ายสูงแต่ได้ผลน้อยกว่า การออกแบบกราฟิกง่าย ๆ ใช้สีเพียง 1-2 สี อาจให้ผลลัพธ์ที่ดี และประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการใช้สีในการพิมพ์ที่มากเกินไป เช่น 4-5 สี ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ เนื่องจากผู้บริโภคมักคำนึงถึงคุณภาพสินค้าเป็นหลัก มากกว่าจำนวนสีที่พิมพ์ลงบนบรรจุภัณฑ์ นักออกแบบที่ดีจึงมักใช้สีจำนวนน้อย แต่อาจใช้เทคนิคการพิมพ์หรือเทคนิคสกรีน รวมทั้งการเลือกใช้คู่สีที่เหมาะสมเข้าช่วย

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ความเข้าใจในขั้นตอนของกระบวนการพิมพ์ และระบบการพิมพ์ที่เหมาะสมกับวัสดุและการตลาด รวมทั้งข้อจำกัดของการพิมพ์แต่ละประเภทจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ในแง่คุณภาพให้กับตัวสินค้าได้

การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อลดต้นทุนการผลิตเป็นสิ่งจำเป็นแต่ในขณะเดียวกันก็ต้องให้ความสำคัญของการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการตลาดด้วย การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการตลาดปัจจุบันเริ่มมีความชัดเจนถึงกลุ่มเป้าหมาย และมีกลยุทธ์ในการแข่งขันทางการตลาดอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นด้านตราสินค้า บรรจุภัณฑ์ และการใช้เทคโนโลยีผลิตขั้นที่เหนือกว่า การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อเป็นหนึ่งในการครองตลาดนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการออกแบบที่หนีจากคู่แข่งขันไปเรื่อยๆ แต่การสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์คิดค้นขั้นที่เหนือกว่า และใช้เทคโนโลยีขั้นที่สูงกว่า ก็เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งซึ่งนักออกแบบเริ่มให้ความสำคัญ