สุวรรณภูมิหรือดินแดนแห่งทองคํา

สวัสดีค่ะ  พบกับความรู้เรื่องประวัติศาสตร์และโบราณคดีกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  ชุมพร  กันอีกแล้วนะคะ   ตอนนี้คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก  สุวรรณภูมิ ใช่ไหมค่ะ   

ในอดีต  คำว่า  สุวรรณภูมิ  เป็นที่รู้จักกันในกลุ่มนักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์  โบราณคดี  และผู้ที่ศึกษาความเป็นมาของพระพุทธศาสนาค่ะ  แต่ในปัจจุบัน  สุวรรณภูมิ  ถือได้ว่าเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยในชื่อ  ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือที่เรียกว่า  สนามบินสุวรรณภูมิ  สนามบินใหม่  ทันสมัย และเป็นอีกหนึ่งแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวให้นำเงินตราเข้าประเทศ  และในวันนี้ (28  ก.ย.49) ยังเป็นวันเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิอย่างเป็นทางการอีกด้วยค่ะ

แต่เพื่อนๆ เคยสงสัยไหมค่ะว่าชื่อ  สุวรรณภูมิ  หมายถึงอะไรและมีความสำคัญกับประเทศไทยอย่างไร วันนี้เรามาทำความรู้จักกับสุวรรณภูมิ  ด้วยกันนะคะ  

คำว่า  สุวรรณภูมิ  แปลตามรากศัพท์ได้ว่า  ดินแดนแห่งทองคำ   โดยปรากฏชื่อในวรรณกรรมของตะวันตกและตะวันออกว่า  ดินแดนสุวรรณภูมิเป็นดินแดนที่พวกพ่อค้าชอบเดินทางไปค้าขายเพื่อหวังความร่ำรวย และภัมภีร์มหาวงศ์ของลังกายังระบุว่าพระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งสมณทูตมาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมิอีกด้วย

นักวิชาการได้ให้ข้อสมมุติฐานเกี่ยวกับสุวรรณภูมิไว้ 3  ประการ  คือ

ประการที่  1.
สุวรรณภูมิ หมายถึง  ดินแดนที่อุดมไปด้วยแร่ทองคำ  เนื่องจากทองคำเป็นแร่ธาตุที่หายาก  ดังนั้นเมื่อมีข่าวลือว่ามีทองคำในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำให้พ่อค้าตื่อนตัวที่จะเดินทางมาค้าขายเพื่อแสวงหาทองคำ  ในเรื่องนี้ศาสตราจารย์ยอร์ช  เซเดส์ ได้ตั้งสมมุติฐานไว้ว่า เนื่องจากเกิดภาวะวิกฤตในแบคเตรียช่วงพุทธศตวรรษที่  4  ทำให้อินเดียไม่สามารถซื้อทองคำจากไซบีเรียได้  อินเดียจึงหันไปซื้อทองคำจากอาณาจักรโรมัน  ต่อมาในพุทธศตวรรษที่  6 - 7 จักรพรรดิโรมันสั่งห้ามไม่ให้ทองออกนอกอาณาจักรโรมัน  พวกพ่อค้าอินเดียจึงมุ่งไปทางดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อแสวงหาทองคำ  อย่างไรก็ตามข้อสันนิษฐานนี้ยังไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีมาสนับสนุน แม้จะมีหลักฐานว่ามีเหมืองทองคำในมาเลเชียและเกาะสุมาตรา แต่ก็เป็นทองคำคุณภาพต่ำที่ถูกนำมาผลิตเป็นเครื่องประดับด้วยเทคนิควิธีแบบพื้นบ้าน

ประการที่  2 
สุวรรณภูมิ  หรือดินแดนแห่งทองคำ  อาจหมายถึงดินแดนที่มีแหล่งผลิตเครื่องใช้สำริดที่มีส่วนผสมของดีบุกในปริมาณสูง  ซึ่งทำให้ผิววัตถุมีสีเหลืองคล้ายสีทอง  ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวอินเดีย  สันนิฐานว่าพื้นที่ด้านตะวันตกของภาคกลางประเทศไทย  น่าจะเป็นแหล่งผลิตเครื่องมือเครื่องใช้สำริด  เรื่องจากได้ขุดพบเป็นจำนวนมากจากแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร  อ.พนมทวน  จ.กาญจนบุรี

ประการที่  3
 สุวรรณภูมิอาจสื่อความหมายในเชิงเปรียบเทียบว่าหมายถึง  ดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องเทศและของป่า  ซึ่งจัดเป็นสินค้าที่มีราคาแพง  ดังนั้นเมื่อพ่อค้าเดินไปมาค้าขายในบริเวณนี้แล้วจะร่ำรวยกลับไป   จึงเปรียบเทียบว่า ดินแดนแห่งทอง
 

รู้จักความหมายของ  สุวรรณภูมิ  และข้อสันนิษฐานต่างๆ ไปบ้างแล้วนะคะ  คราวหน้าเรามาทำความรู้จักสุวรรณภูมิกันต่อค่ะ  สำหรับวันนี้ลาไปก่อน จนกว่าจะพบกันใหม่ค่ะ

เอกสารอ้างอิง

 - ผาสุข  อินทราวุธ, ศ.ดร. สุวรรณภูมิจากหลักฐานทางโบราณคดี. ภาควิชาโบราณคดี  คณะโบราณคดี  มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2548.

สุวรรณภูมิหรือดินแดนแห่งทองคํา

สุวรรณภูมิหรือดินแดนแห่งทองคํา

ดินแดนสุวรรณภูมิ
         สุวรรณภูมิ เป็นชื่อเรียกดินแดนที่มีการกล่าวถึงในคัมภีร์โบราณหลายฉบับในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งคำว่าสุวรรณภูมินี่มีความหมายว่า แผ่นดินทอง
         ดินแดนสุวรรณภูมิ จึงแปลว่า ดินแดนแห่งทองคำ หมายถึงดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ปรากฏในคัมภีร์ของพระพุทธศาสนา ส่วนมากปรากฏในคัมภีร์ชาดก (เรื่องราวที่มีอดีตมายาวนาน) เช่น มหาชนกชาดก กล่าวถึงพระมหาชนกเดินทางมาค้าขายที่สุวรรณภูมิ แต่เรือแตกกลางทะเล ในสมัยสังคายนาครั้งที่ 3 ราว พ.ศ. 234 พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งพระธรรมทูตมาเผยแผ่พุทธศาสนาที่สุวรรณภูมิ โดยมีพระโสณเถระและพระอุตตรเถระเป็นประธาน เมื่อท่านมาถึง ได้ปราบผีเสื้อสมุทรที่ชอบเบียดเบียนชาวสุวรรณภูมิ ทำให้ชาวสุวรรณภูมิเลื่อมใส จากนั้นท่านได้แสดงพรหมชาลสูตร เป็นที่น่าสังเกตว่า ตอนปราบผีเสื้อสมุทร ท่านได้สวดพระปริตรป้องกันเกาะสุวรรณภูมิไว้ จึงมีคำเรียก สุวรรณภูมิ อีกชื่อหนึ่งว่า สุวรรณทวีป แปลว่า เกาะทอง เมื่อสันนิษฐานจากสองคำนี้ ทำให้ได้ข้อสรุปอย่างน้อย 2 อย่าง คือ
         1. สุวรรณภูมิ เป็นดินแดนที่เป็นแผ่นดินใหญ่
         2. สุวรรณทวีป คือ เกาะที่อยู่ติดกับสุวรรณภูมิ
         และเนื่องจากในชาดกกว่าว่า สุวรรณภูมิอยู่ทางทิศตะวันออกของอินเดีย เมื่อพิจารณาจากแผนที่โลก จึงน่าจะสันนิษฐานได้ต่อไปว่า สุวรรณภูมิ คือส่วนที่เป็นแผ่นดิน ได้แก่ ประเทศพม่า ลาว ไทย กัมพูชา ส่วนสุวรรณทวีปซึ่งเป็นเกาะ น่าจะได้แก่ เกาะชวา สุมาตรา หรืออินโดนีเซีย ตลอดทั้งฟิลิปปินส์ เมื่อพิจารณาหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาพบว่า เมืองหงสาวดี และเมืองนครปฐมสมัยทวารวดี มีอายุเก่าแก่ที่สุด และร่วมสมัยกัน คือ ราวพุทธศตวรรษที่ 6
“สุวรรณภูมิ” คืออะไร
        “สุวรรณภูมิ” อาจเป็นชื่อหนึ่ง ที่บางท่านทราบเพียงว่า เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช แด่ท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหม่ของประเทศไทย ในชื่อ “ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ หรือ สนามบินสุวรรณภูมิ” ซึ่งคงเป็นที่ที่ใครหลายคนคงได้ผ่านเข้าออกมาหลายครั้งหลายคราว หากแต่ความหมายของ “สุวรรณภูมิ” นั้นมีความเป็นมาที่กว้างไกล แต่มีจุดเริ่มต้นใกล้ตัวเราชาวอุษาคเนย์อย่างคาดไม่ถึง
        คำว่า “สุวรรณภูมิ” หากแปลตามรูปศัพท์แล้วหมายถึง แผ่นดินทอง หรือ ดินแดนทอง ซึ่งฟังคุ้นหูกันดี แต่คำเรียกเฉพาะที่อาจคุ้นกว่า คือ แหลมทอง อันหมายถึง บริเวณผืนแผ่นดินใหญ่ของอุษาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
     ตั้งแต่เมื่อราว 2,500 ปี มาแล้ว ดินแดนนี้นับว่าเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งสัตว์, พืชพันธุ์ธัญญาหาร และแร่ธาตุต่างๆ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งของกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายที่ล้วนเป็นเครือญาติทางสังคมวัฒนธรรม และเป็นบรรพบุรุษของไทยในทุกวันนี้
     ในเอกสารโบราณที่สำคัญต่างๆ อาทิ มหาวงศ์ พงศาวดารลังกา ชาดกพุทธศาสนาในอินเดีย และไปจนถึงนิทานเปอร์เซียในอิหร่าน เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงหลักฐานว่าชาวสิงหล(ลังกา) ชาวชมพูทวีป(อินเดีย) รวมทั้งชาวอาหรับ-เปอร์เซีย (อิหร่าน) ผู้เป็นนักเดินทางผจญภัยแลกเปลี่ยนค้าขายสิ่งของเครื่องใช้ ต่างพากันเรียกผืนแผ่นดินใหญ่ของอุษาคเนย์โบราณว่า สุวรรณภูมิ มาไม่น้อยกว่า 2,500 ปีมาแล้ว
     โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่พระเจ้าอโศกได้ส่งพระโสณเถระและพระอุตตรเถระมาเผยแผ่พุทธศาสนายังดินแดนที่ชื่อ “สุวรรณภูมิ” การที่เรื่องราวดังกล่าวได้ปรากฎอยู่ในคัมภีร์มหาวงศ์ พงศาวดารลังกา ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 10 แต่ไม่มีปรากฎอยู่ในบันทึกของพระเจ้าอโศก ทำให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องที่แน่นแฟ้นกันของสุวรรณภูมิและลังกาในช่วงเวลานั้น
     และนอกจากชนชาติต่างๆดังกล่าวแล้ว ชาวฮั่น(จีน)ยุคโบราณเอง ก็เรียกดินแดนนี้ว่า จินหลิน หรือ กิมหลิน ซึ่งมีความหมายเดียวกับชื่อ สุวรรณภูมิ ที่แปลว่า แผ่นดินทอง ดินแดนทอง แหลมทอง นั่นเอง
     ด้วยเหตุนี้ สุวรรณภูมิ จึงไม่ใช่ชื่อรัฐหรืออาณาจักร แต่เป็นชื่อดินแดนแผ่นดินใหญ่ของอุษาคเนย์หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปัจจุบัน ที่ขนาบด้วย 2 มหาสมุทร คือ มหาสมุทรแปซิฟิก อยู่ทางด้านทิศตะวันออก กับมหาสมุทรอินเดียอยู่ทางด้านตะวันตก ส่งผลให้ดินแดนสุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนค้าขาย หรือ “จุดนัดพบ” ระหว่างโลกตะวันตก (หมายถึงอินโด-เปอร์เซีย และอาหรับ) กับโลกตะวันออก (หมายถึงจีนฮั่นและอื่นๆ) มีความมั่งคั่งและมั่นคงแล้วมีรัฐใหญ่ๆ เกิดขึ้นในยุคต่อๆมา เช่น ทวารวดี, ฟูนัน, เจนละ, ศรีวิชัย, ทวารวดีศรีอยุธยา, ละโว้-อโยธยาศรีรามเทพนคร จนถึงกรุงศรีอยุธยา ฯลฯ ดึงดูดให้ผู้คนจากที่ต่างๆทุกทิศทางเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่ง ทำให้เกิดความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่ผสมผสานทางสังคมวัฒนธรรมและเผ่าพันธุ์จนเป็น “คนไทย” และเครือญาติชาติต่างๆในอุษาคเนย์ปัจจุบัน
     ความบริบูรณ์ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวดังกล่าว สุวรรณภูมิ เป็นนามอันเป็นมงคลที่คนแต่ก่อนยกย่องใช้เรียกชื่อบ้านนามเมืองสืบเนื่องหลายยุคสมัย ได้แก่ รัฐสุพรรณภูมิ (ราวหลัง พ.ศ. 1600) จนเป็นเมืองสุพรรณ (ราวหลัง พ.ศ. 1800) และจังหวัดสุพรรณบุรี รวมทั้งชื่อ เมืองสุวรรณภูมิ (ราว พ.ศ. 2315 สมัยกรุงธนบุรี) แล้วเปลี่ยนเป็นอำเภอ สุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อราว 100 ปีมาแล้ว
     ดังนั้นนาม สุวรรณภูมิ จึงสอดคล้องกับดินแดนที่เต็มไปด้วยความหลากหลายและความอุดมสมบูรณ์ ทั้งทรัพยากรแผ่นดิน กลุ่มชาติพันธุ์ ประกอบกับที่ตั้งอันเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการค้าโลกตะวันออก-ตะวันตก สมกับชื่อ แผ่นดินทอง อันเป็นถิ่นฐานของบรรพชนคนไทยนั่นเอง

สุวรรณภูมิหรือดินแดนแห่งทองคํา

http://th.wikipedia.org/wiki/ดินแดนสุวรรณภูมิ
http://www.sujitwongthes.com/suvarnabhumi/2011/03//“สุวรรณภูมิ”-คืออะไร-2/

สุวรรณภูมิหรือดินแดนแห่งทองคํา