เฉลย ใบงานที่ 3.1 เรื่อง ศิลป์ และ รส แห่ง ภาษา ตอน ขุนช้างถวายฎีกา

We’ve updated our privacy policy so that we are compliant with changing global privacy regulations and to provide you with insight into the limited ways in which we use your data.

You can read the details below. By accepting, you agree to the updated privacy policy.

Thank you!

View updated privacy policy

We've encountered a problem, please try again.

ใบความรู้ที่ ๑  เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน

ตอน ขุนช้างถวายฎีกา

ที่มาของเรื่อง

            บทเสภาเรื่องขุนช้าง ขุนแผน เป็นเรื่องที่เชื่อกันว่า เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เพราะปรากฏในพระราชพงศาวดาร คำให้การชาวกรุงเก่า เล่าสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัย   พระเจ้าปราสาททอง ต่อมามีผู้นำเรื่องนี้มาแต่งเป็นเสภา ขับลำนำเข้าจังหวะดนตรี แต่ต้นฉบับเดิมในสมัยกรุงศรีอยุธยาหายไป ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้แต่งขึ้นใหม่อีกครั้ง

               ใน พ.ศ. ๒๔๖๐ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และหมื่นกวีพจน์ปรีชา ได้ทรงชำระเรื่องขุนช้าง ขุนแผนทั้งหมด ๔๓ ตอน ซึ่งหอสมุดแห่งชาติได้จัดพิมพ์ จึงเรียกว่า ขุนช้าง ขุนแผนฉบับหอสมุดวชิรญาณ หรือฉบับหอสมุดแห่งชาติ

      ผู้แต่ง 

                บทเสภาเรื่องขุนช้าง ขุนแผน มีผู้แต่งหลายท่าน ได้แก่

๑.      รัชกาลที่ ๒ ทรงพระราชนิพนธ์ ๕ ตอน ดังนี้

๑)     พลายแก้วเป็นชู้กับนางพิม

๒)    ขุนช้างขอนางพิม

๓)    ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง ได้นางแก้วกิริยา

๔)    ขุนแผนพานางวันทองหนี

๕)    นางวันทองหึงนางลาวทอง

๒.    รัชกาลที่ ๓ ทรงพระราชนิพนธ์ ตอน ขุนช้างตามนางวันทอง

๓.     สุนทรภู่ แต่งตอนกำเนิดพลายงาม

ลักษณะการแต่ง

                 เป็นกลอนเสภา กล่าวคือ ลักษณะการแต่งเหมือนกลอนสุภาพ แต่มักจะใช้คำขึ้นต้นบทว่า “ครานั้น”

เนื้อเรื่องย่อ

                 เรื่องขุนช้าง ขุนแผน ตอนขุนช้างถวายฎีกา กล่าวถึง พลายงามหรือพระไวย ลูกของขุนแผนกับนางวันทองที่คิดถึงแม่ที่ไปอยู่กับขุนช้าง จึงลอบขึ้นเรือนขุนช้างกลางดึกโดยสะกดขุนช้างและ              ข้าทาส บริวารให้หลับ สะเดาะกลอนประตูเรือนเข้าไป อ้อนวอนและบังคับให้นางวันทองไปกับตน ถ้าไม่ไปจะตัดศีรษะแม่ไป นางวันทองเกรงลูกจะเป็นบาปจึงยอมไปด้วย ขุนช้างตื่นขึ้นมา โกรธแค้น           พระไวยมาก แม้พระไวยจะส่งหมื่นวิเศษผลมาบอกว่าที่ต้องลักนางวันทองเพราะพระไวยป่วยก็ตาม ขุนช้างทูลเกล้าถวายฎีกากล่าวหาพระไวย โดยขุนช้างได้ตามเสด็จสมเด็จพระพันวษาไปถวายฎีกาในน้ำ          ขณะที่พระองค์เสด็จประพาสทางเรือ ทำให้ขุนช้างถูกทำโทษ โบยตี ๓๐ ที ส่วนนางวันทองอยู่ทีบ้านพระไวยเกิดฝันร้าย ขุนแผนรู้ว่าเป็นลางไม่ดีแต่ไม่กล้าบอกนางวันทอง

                สมเด็จพระพันวษาโปรดให้ไต่สวนคดีตามฎีกาของขุนช้าง พระองค์รับสั่งให้นางวันทองเลือกว่าจะอยู่กับใคร นางวันทองกราบทูลเป็นกลางว่าแล้วแต่ สมเด็จพระพันวษาจะทรงตัดสิน                 สมเด็จพระพันวษากริ้วมาก หาว่าเป็นคนสองใจ จึงรับสั่งให้ประหารชีวิตนางวันทอง

คำศัพท์สำคัญ

                จตุบททวิบาท                        =             สัตว์สี่เท้าและสัตว์สองเท้า

                ทักทิน                                   =                วันอันชั่วร้าย

                ลิ่ม                                          =                ไม้หรือเหล็กสำหรับขัดให้แน่น

                ดาล                                        =                กลอนประตูที่ทำด้วยไม้สำหรับขัดบานประตู

                อัฒจันทร์                              =                ที่นั่งเป็นชั้นๆสำหรับดูการแสดงในที่นี้หมายถึง    ชั้นที่วางเครื่องแก้ว

                ษมา                                       =                กล่าวคำขอโทษ

                มินหม้อ                                =                เขม่าดำที่ติดก้นหม้อ

                ยาเข้าปรอท                          =                ยาที่ประสมสารปรอท

                สาระแน                               =                ชอบเข้าไปยุ่งในเรื่องของคนอื่น

                ถกเขมร                                 =                การนุ่งผ้าหยักรั้งขึ้นไปจนพ้นหัวเข่า

                ประจุบัน                               =                ปัจจุบัน

                กระดานชนวน                    =                 กระดานที่ทำด้วยหินชนวนใช้เขียนหนังสือ

                ประพาสบัว                          =                เที่ยวไปทางเรือในฤดูน้ำหลาก

                บโทนอันต้นกัญญา            =                  ผู้คอยให้จังหวะในการพายเรือ

                พระสูตร                               =                พระวิสูตร หมายถึง ม่าน

                หมากเวทย์                           =                หมากที่มีเวทมนตร์คาถา

                น้ำมันพราย                          =                น้ำมันที่ได้จากการลนปลายคางหญิงที่ตาบทั้งกลม

                น้ำมันจันทน์                        =                น้ำมันที่กลั่นจากไม้จันทน์ มีกลิ่นหอม

                สิงหนาท                              =                เสียงตวาดที่เหมือนกับเสียงของราชสีห์

                ตราสิน                                  =                แจ้งความ

                ปรับไหม                              =                การชำระเงินทดแทนความผิด

                อุธัจ                                        =              ประหม่า

                จู่ลู่                                          =              หุนหันพลันแล่น

ความสำคัญของเรื่อง

                 เรื่องขุนช้าง ขุนแผน เป็นวรรณคดีที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรให้เป็นยอดของวรรณคดีประเภทกลอนสุภาพ ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

๑.      มีเนื้อเรื่องสนุกสนาน น่าติดตามตลอดทั้งเรื่อง เพียบพร้อมด้วยรสวรรณคดีครบถ้วนทุกรสกระบวนกลอนดี อ่านเข้าใจง่าย

๒.    เนื้อเรื่องมีความสมจริงสมจัง สมเหตุสมผล ตัวละครมีชีวิตชีวา  เป็นไปเหมือน ชีวิตจริง มีรัก โลภ โกรธ หลง ฯลฯ ตามความเป็นไปแห่งปุถุชนทั้งหลาย

๓.     แม้ว่าจะมีผู้แต่งหลายคน แต่เนื้อเรื่องมีความสัมพันธ์กัน ไม่สับสน บุคลิกและลักษณะนิสัยสม่ำเสมอ คงเส้นคงวา

๔.     ให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมในสมัยก่อนเป็นอย่างดี

   คุณค่าของเรื่อง

 ๑.     ด้านวัฒนธรรมประเพณี  เรื่องขุนช้าง ขุนแผน ตอนขุนช้างถวายฎีกา ให้คุณค่าด้านวัฒนธรรมประเพณีหลายประการ เช่น

                ๑.๑     ด้านชีวิตความเป็นอยู่ จากคำประพันธ์ในเรื่อง  สะท้อนให้เห็นสภาพชีวิตความเป็นอยู่ ของคนสมัยนั้นว่า บ้านเศรษฐีมีเงินจะมีข้าทาสบริวารมาก เห็นได้จากคำประพันธ์ต่อไปนี้

                                            พลางเรียกหาข้าไทอยู่ว้าวุ่น                              อีอุ่นอีอิ่มอีฉิมอีสอน

                            อีมีอีมาอีสาคร                                                                  นิ่งนอนไยหวามาหากู

                ๑.๒    ด้านลักษณะบ้านเรือน  สะท้อนให้เห็นลักษณะบ้านเรือนที่มีกลอนประตูแบบขัดดาลและมีการปลูกไม้ดอกที่ชานบ้าน ดังคำประพันธ์ว่า

                                            สะเดาะดาลกลอนบานหน้าต่างกาง               ย่างเท้าก้าวขึ้นร้านดอกไม้

                ๑.๓     ด้านความเชื่อ  เรื่องขุนช้าง ขุนแผนตอนนี้ สะท้อนให้เห็นความเชื่อหลายประการ ดังนี้

                            ๑.๓.๑  ความเชื่อด้านโหราศาสตร์ เกี่ยวกับการใช้เวทมนตร์คาถา อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ การทำเสน่ห์เล่ห์กล  เช่น ตอนที่พลายงามลอบขึ้นเรือนขุนช้าง

                                            เป่ามนตร์เบื้องบนชอุ่มมัว                พรายยั่วยวนใจให้ไคลคลา

                            และตอนที่ขุนแผน จมึ่นไวยวรนาถและวันทอง จะเข้าเฝ้าสมเด็จพระพันวษาตามรับสั่ง ขุนแผนได้ใช้เวทมนตร์คาถาดังนี้

                                            สีขึ้ผึ้งปากกินหมากเวทย์                    ซึ่งวิเศษสารพัดแก้ขัดสน

                                  น้ำมันพรายน้ำมันจันทน์สรรเสกปน            เคยคุ้มขังบังตนแต่ไรมา

                            ๑.๓.๒  ความเชื่อเกี่ยวกับความฝัน และการแก้ฝันเพื่อที่จะทำให้เรื่องร้ายกลายเป็นดี เช่น

                                                   ครานั้นขุนแผนแสนสนิท                ฟังความตามนิมิตก็ใจหาย

                                     ครั้งนี้น่าจะมีอันตราย                                      ฝันร้ายสาหัสตัดตำรา

                                     พรุ่งนี้พี่จะแก้เสนียดฝัน                                  แล้วทำมิ่งสิ่งขวัญให้เป็นสุข

                            ๑.๓.๓  ความเชื่อเกี่ยวกับลางสังหรณ์ โดยเชื่อว่าสัตว์บางชนิดสามารถบอกเหตุหรือบางลางร้ายได้จากการแสดงอาการผิดปกติ เช่น

                                            ใต้เตียงเสียงหนูก็กุกกุก                     แมงมุมทุ่มอกที่ริมฝา

                ๑.๔     ด้านค่านิยม เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นค่านิยมด้านสังคม กล่าวคือ ผู้ชายมีเมียได้หลายคนโดยไม่ถูกตำหนิ แต่ผู้หญิงจะถูกตำหนิทันทีว่าเป็นคนสองใจ เห็นได้จากขุนแผนมีเมียถึง ๕ คน คือ

นางวันทอง  นางลาวทอง  นางสายทอง นางบัวคลี่  นางแก้วกิริยา แต่นางวันทองถึงแม้จำใจต้องไปอยู่กับขุนช้าง ก็ถูกกล่าวหาว่าสองใจ

                ๑.๕    ด้านการแต่งกาย เห็นลักษณะการนุ่งผ้าหยักรั้งขึ้นไปจนเหนือหัวเข่า ที่เรียกว่า ถกเขมร ดังนี้

                                            ลุกถกเขมรร้องเกนไป                       ทุดอ้ายไพร่ขี้ครอกหลอกผู้ดี

                ๑.๖     ด้านบทบาทของพระเจ้าแผ่นดิน ขากเรื่องสะท้อนให้เห็น พระราชอำนาจของพระเจ้า-แผ่นดินในการลงโทษ  การตั้งพระราชกฤษฎีกา  และการตัดสินคดีความ ดังคำประพันธ์

                                            เฮ้ยใครรับฟ้องของมันที                   ตีเสียสามสิบทีจึงปล่อยไป

                            ลงพระราชอาญาตามว่าไว้                               พระจึงให้ตั้งกฤษฎีกา

                                            ครานั้นพระองค์ทรงธรณินทร์        หาได้ยินวันทองทูลขึ้นไม่

                            พระตรัสความถามซักไปทันใด                       ฤามึงไม่รักใครก็ว่ามา

 ๒.     ด้านความไพเราะ ความงามทางภาษา

 ๒.๑ การพรรณนาที่ไพเราะ โดยเฉพาะการพรรณนาธรรมชาติ  ทำให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพ เช่น

                            เงียบสัตว์จัตุบททวิบาท                                   ดาวดาษเดือนสว่างกระจ่างไข

               น้ำค้างตกกระเซ็นเย็นเยือกใจ                                       สงัดเสียงคนใครไม่พูดจา

 ๒.๒  การเปรียบเทียบแบบอุปมา โดยมีคำว่า “เหมือน” หรือคำอื่นๆที่มีความหมายว่า “เหมือน”  เช่น

                                            ครานั้นพระองค์ผู้ทรงภพ                 ฟังจบแค้นคั่งดังเพลิงไหม้

                            เหมือนดินประสิวปลิวติดกับเปลวไฟ              ดูดู๋เป็นได้อีวันทอง

                                            ดังทองคำทำเลี่ยมปากกะลา             หน้าตาดำเหมือนมินหม้อมอม

                             เหมือนแมลงวันว่อนเคล้าที่เน่าชั่ว                  มาเกลือกกลั้วปทุมมาลย์ที่หวานหอม

                            ดอกมะเดื่อฤาจะเจือดอกพะยอม                     ว่านักแม่จะตรอมระกำใจ

                ๒.๓  การเปรียบเทียบแบบอุปลักษณ์  เช่น

                                            รูปงามนามเพราะน้อยไปหรือ        ใจไม่ซื่อสมศักดิ์เท่าเส้นผม

                ๒.๔  ลีลากลอนที่แสดงอารมณ์ต่างๆ ได้อย่างสมจริงสมจัง ทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์คล้อยตามได้ เช่น

                            อารมณ์ขัน

                                            ยายจันงันงกยกมือไหว้                     นั่นพ่อจะไปไหนพ่อทูนหัว

                             ไม่นุ่งผ่อนนุ่งผ้าดูน่ากลัว                                 ขุนช้างมองดูตัวก็ตกใจ

                            อารมณ์โกรธ

                                            เร่งเร็วเหวยพระยายมราช                ไปฟันฟาดเสียให้มันเป็นผี

                            อกเอาขวานผ่าอย่าปรานี                                   อย่าให้มีโลหิตติดดินกู

                            เอาใบตองรองไว้ให้หมากิน                            ตกดินจะอัปรีย์กาลีอยู่

                            ฟันให้หญิงชายทั้งหลายดู                                สั่งเสร็จเสด็จสู่ปราสาทชัย

                            อารมณ์รัก

                                            จะเป็นตายง่ายยากไม่จากรัก            จะฟูมฟักเหมือนเมื่ออยู่ในกลางเถื่อน

                            ขอโทษทีพี่ผิดอย่างบิดเบือน                            เจ้าเพื่อนเสน่หาจงอาลัย

๓.    ด้านข้อคิดและคติสอนใจ  เรื่องขุนช้าง ขุนแผน ตอนขุนช้างถวายฎีกา ให้ข้อคิดและคติสอนใจหลายประการ ดังนี้

                ๓.๑ การตัดสินใจใดๆ ควรใช้ปัญญาไตร่ตรองก่อนและต้องตัดสินใจให้เด็ดขาด

                            การที่นางวันทองต้องถูกลงโทษประหารชีวิตนั้นเพราะนางมีจิตใจไม่แน่นอนกับสามีคนแรกคือขุนแผน  นางก็รักมากมาย เพราะเคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมานาน  ส่วนขุนช้างนั้นน่าเห็นใจเพราะรักนางมาก ทำให้นางไม่กล้าตัดสินใจใดๆ จึงกราบทูลเป็นกลางๆ ทำให้สมเด็จพระพันวษา โกรธเป็นอย่างยิ่ง ดังคำประพันธ์

                                   มึงนี่ถ่อยยิ่งกว่าถ่อยอีท้ายเมือง                        จะเอาเรื่องไม่ได้สักสิ่งสรรพ์

                      ละโมบมากตัณหาตาเป็นมัน                                        สักร้อยพันให้มึงไม่ถึงใจ

                     ว่าหญิงชั่วผัวยังคราวละคนเดียว                                  หาตามตอมกันเกรียวเหมือนมึงไม่

                    หนักแผ่นดินกูจะอยู่ไย                                                  อ้ายไวมึงอย่านับว่ามารดา

         ๓.๒  แม่ย่อมรักและห่วงใยลูกเสมอ

                    จะเห็นได้จากตอนที่จมื่นไวยลอบขึ้นเรือนขุนช้าง สะกดให้ผู้คนหลับ แล้วจะพานางวันทองออกไปกับตน การกระทำของจมื่นไวยนั้น วันทองไม่เห็นด้วยเลย เพราะเป็นการกระทำที่ผิด แต่เมื่อเห็นลูกดื้อดึงดันจะให้มารดาไปด้วยให้ได้ ในที่สุดนางก็ยินยอม

         ๓.๓  การกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกาลเทศะมักเกิดโทษ

                    การที่ขุนช้างถวายฎีกากล่าวโทษจมื่นไวยต่อสมเด็จพระพันวษาขณะที่พระองค์เสด็จประพาสบัวโดยการ       “ลอยคอชูหนังสือดื้อเข้ามา    ผุดโผล่โงหน้ายึดแคมเรือ” นั้นทำให้สมเด็จ

พระพันวษาโกรธ  ถึงกับมีรับสั่งให้ลงโทษขุนช้าง “เฮ้ยใครรับฟ้องของมันที  ตีเสียสามสิบจึงปล่อยไป”

         ๓.๔  เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร

                    หากพิจารณาถึงสาเหตุที่นางวันทองต้องถูกลงโทษประหารชีวิตนั้น  จะเห็นได้ว่ามาจากความเคียดแค้นจองเวรกันระหว่างขุนช้างและจมื่นไวย  เพราะจมื่นไวยไปลักนางวันทองมาจากขุนช้าง  ทำให้ขุนช้างเป็นเดือดเป็นแค้น  ถึงกับถวายฎีกากล่าวโทษจมื่นไวย สมเด็จพระพันวษาจึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการตัดสินคดีดังกล่าว  ซึ่งหากไม่มีการอาฆาตจองเวรกัน  เรื่องที่นางวันทองถูกประหารชีวิต

คงไม่เกิดขึ้น

         ๓.๕  ผู้หญิงเป็นเพศที่เสียเปรียบเสมอ

                          ข้อคิดข้อนี้เห็นได้ชัดจากนางวันทอง ตัวละครที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากเพศตรงข้ามตลอดมา  แม้ว่าผู้ชายแต่ละคนมีความรักให้นาง  แต่นางก็ต้องตกเป็นเบี้ยล่างโดยไม่มีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องใดๆ นับแต่แต่งงานกับขุนแผนได้เพียงไม่กี่วัน  ก็ถูกขุนช้างหลอกไปเป็นเมีย  เมื่อขุนแผนกลับมาก็มีผู้หญิงอื่นตามมาด้วย  นอกจากนี้นางยังต้องรับกรรมในการแย่งยื้อกันไปมาระหว่างขุนช้างและขุนแผน ตลอดทั้งเรื่อง  ทั้งๆที่นางไม่มีความผิด   ในที่สุดนางก็ต้องถูกประหารชีวิต