ปัญหาการขาดแคลนอาหารและทรัพยากร


ปัญหาการขาดแคลนอาหารและทรัพยากร

“ความมั่นคงทางอาหาร” (food security) กลายเป็นสิ่งที่หลายองค์การและองค์กรระหว่างประเทศ หยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นที่ทั่วโลกต้องกังวล โดยเฉพาะการขาดแคลนอาหารที่แต่เดิมก็เป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศอยู่แล้ว จนกระทั่งโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก จึงเป็นประเด็นที่มาซ้ำเติมปัญหา “ภาวะความไม่มั่นคงทางอาหาร” (food insecurity) ให้ยิ่งรุนแรงขึ้นเป็นทวีคูณ

จากข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) พบว่าในปี 2019 ประชากรโลกกว่า 2 พันล้านคน หรือคิดเป็น 25.9% ของประชากรทั้งโลก ที่ต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะใน วิกฤตโควิด-19 แนวโน้มสถานการณ์ก็ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก ด้านองค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) ระบุว่ามีประชากรโลกมากกว่า 135 ล้านคน ที่เข้าสู่ภาวะอดอยากในปี 2019 สอดคล้องกับ องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ให้ข้อมูลว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนประชากรที่ขาดแคลนอาหารเพิ่มขึ้นเกือบ 60 ล้านคนทั่วโลก ขณะที่ข้อมูลจากโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (World Food Program : WFP) ชัดเจนว่าในปี 2020 จะมีผู้คน 265 ล้านคนที่เสี่ยงอดอยากขาดแคลนอาหารยิ่งขึ้นจากภาวะโควิด เว้นเสียแต่นานาชาติจะสามารถจัดการกับโควิดได้อย่างรวดเร็ว ถึงจะพอลดผลกระทบลงได้

เรื่องนี้ ธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) และผู้แทนถาวรไทยประจำ FAO บอกถึงความกังวลของ UN เกี่ยวกับความไม่เพียงพอของอาหารที่อาจจะเกิดเร็วขึ้น โดยบางประเทศเข้าสู่สภาวการณ์ขาดแคลนอาหารแล้ว และในหลายประเทศก็กำลังประสบปัญหาการขนส่งอาหารที่ชะงักงันในช่วงล็อกดาวน์ จากวิกฤตโควิด เป็นภาพสะท้อนถึงจุดอ่อนด้านการผลิตอาหารที่ไม่เพียงพอของหลายประเทศทั่วโลก

หากโควิดเป็นตัวเร่งให้ความมั่นคงทางอาหารของโลกต้องสั่นคลอนแล้ว “ภาวะภัยแล้ง” ก็ถือเป็นต้นเหตุให้อัตราการเกิดปฏิกิริยานี้เร็วขึ้น ซึ่งผลกระทบหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือ ประชาชนเกิดความอดอยากเนื่องจากการขาดน้ำในการอุปโภคบริโภค รวมถึงผลิตผลทางการเกษตรทั้งการเพาะปลูกและการเลี้ยงปศุสัตว์ที่ลดลงจากการที่ไม่มีน้ำหล่อเลี้ยง จนผลผลิตเกษตรปศุสัตว์อาจไม่เพียงพอต่อการบริโภค

สำหรับประเทศไทย สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ หรือ สสน. คาดการณ์ว่าปี 2564 นี้ ไทยจะเผชิญกับวิกฤตภัยแล้งอย่างหนัก จากปริมาณฝนสะสมในปี 2563 ที่ผ่านมา มีค่าน้อยกว่าค่าปกติ 4% ถือเป็นภาวะฝนน้อยกว่าปกติ 2 ปีติดต่อกัน (2562-2563) ทำให้ฤดูแล้งนี้ไทยอาจจะมีน้ำไม่เพียงพอ หากบริหารจัดการน้ำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม จากการที่ประเทศไทยอยู่ในตำแหน่งที่ตั้งที่ดี ด้วยภูมิประเทศที่เหมาะสมและภูมิอากาศเขตร้อน ไทยจึงกลายเป็น อู่ข้าวอู่น้ำ ที่มีความโดดเด่นด้านการผลิตสินค้าเกษตร ประกอบกับอุตสาหกรรมเกษตรต่อเนื่องไปจนถึงการผลิตอาหาร ผู้ประกอบการไทยต่างมุ่งพัฒนาระบบการผลิตให้ทันสมัย ได้มาตรฐานสากล เน้นการผลิตอาหารปลอดภัย ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 13 ของโลก ได้ดุลการค้าในสินค้าเกษตรและอาหารปีละกว่า 6 แสนล้านบาท

และถึงแม้ว่าจะอยู่ในภาวะที่ต้องต่อสู้กับโควิด-19 อย่างหนักตลอดปีที่ผ่านมา แต่ไทยก็ยังสามารถส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรสูงขึ้นจากเดิมถึง 30% ถือเป็นการนำรายได้เข้าประเทศในช่วงวิกฤตได้อย่างสวยงาม สอดคล้องกับการคาดการณ์ของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ว่าการส่งออกของไทยในปี 2564 จะเติบโตระหว่าง 3-4% มีสินค้าที่เป็นปัจจัยบวกที่สำคัญคือ สินค้ากลุ่มอาหารที่จะยังคงมีมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่กลับมารุนแรงทั่วโลกอีกครั้ง

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของไทย และถือเป็นโอกาสของประเทศ รวมถึงผู้ประกอบการด้านอาหารที่มีศักยภาพและพร้อมเต็มที่ในการบุกตลาด โดยเฉพาะในภาวะที่ทั่วโลกกำลังขาดแคลนอาหาร และกังวลกับวิกฤตความมั่นคงทางอาหารสำหรับประชากรของตนเอง ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิดเช่นนี้ ไทยต้องแสดงบทบาทพระเอกผู้ผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อป้อนคนทั้งโลก

บทความโดย สังวาลย์ สยาม นักวิชาการอิสระ



  • ภัยแล้ง
  • ครัวโลก
  • ความมั่นคงทางอาหาร
  • วิกฤตขาดแคลนอาหาร

สภาวะอาหารขาดแคลนอย่างร้ายแรงในโลกปัจจุบันเกิดได้จากทั้งการกระทำของธรรมชาติและจากมือมนุษย์ ประเทศ 2 ม. ม้า เป็นตัวอย่าง มาดากัสการ์ (Madagascar) คือ ม.ม้า ตัวแรก และเมียนมา (Myanmar) คือ ม.ม้าตัวที่สอง ขณะนี้คนนับล้านในสองประเทศกำลังอยู่ในสภาวะที่ลำบากมาก

มาดากัสการ์ เป็นประเทศที่เป็นเกาะ ตั้งอยู่ทางตะวันออกของชายฝั่งทวีปอาฟริกา      (ห่างจากฝั่งประมาณ 400 กิโลเมตร)    เกาะนั้นใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลกโดยมีพื้นที่ใกล้เคียงประเทศไทยคือ 500,000 ตารางกิโลเมตร    มีประชากร 28 ล้านคน     ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์    ผู้คนประกอบด้วยลูกหลานของบรรพบุรุษชาวอาฟริกาที่พายเรือออกมาตั้งรกราก     ลูกหลานของชาวเกาะที่มาจากหมู่เกาะมาเลย์ และคนพื้นเมือง รวมแล้วกว่า 6-7 ชาติพันธุ์
    มาดากัสการ์ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสเมื่อร้อยกว่าปีก่อน และได้รับอิสรภาพในปี 1960  จากนั้นก็ปกครองแบบลุ่ม ๆ ดอน ๆ อยู่ภายใต้ระบอบคอมมูนิสต์  รัฐประหาร  ประชาธิปไตย  เปลี่ยนกันไปมาแต่ที่แน่นอนก็คือประชาชนชาว Malagasy (ชื่อเดิมของมาดากัสการ์) ยากจนอย่างไม่เปลี่ยนแปลง     รายได้ต่อหัวต่อปีคือ 470 เหรียญ (เมียนมา 1,400 เหรียญ    และไทย 7,600 เหรียญ)
    เกาะนี้มีความงดงามตามธรรมชาติดั้งเดิมอย่างมากเนื่องจากถูกตัดขาดจากโลกภายนอกมายาวนาน   โดยเชื่อว่าก่อนจะแยกออกมาเป็นเกาะเคยเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียเมื่อ 88 ล้านปีก่อน กว่าร้อยละ 90 ของสัตว์ป่าบนเกาะนี้จะไม่พบเห็นที่อื่น มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก และอุดมด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ

สินค้าส่งออกอันดับหนึ่งคือฝักวานิลลา (ให้กลิ่นวานิลลา)  แร่นิกเกิล   กานพลู               แร่โคบอลต์     แร่เหล็ก      ถ่านหิน     ทองแดง     เสื้อหนาวถัก      ฯลฯ   สินค้าเกษตรอื่นที่ปลูกกันมากก็คือกาแฟ    ลิ้นจี่     มันสำปะหลัง    ฯลฯ
    มาดากัสการ์ผลิตวานิลลาธรรมชาติเป็นอันดับหนึ่งของโลกโดยผลิตถึง 80% ของผลผลิตโลก และเป็นผู้ผลิตกานพลูรายใหญ่ของโลกด้วย     ประเทศที่ส่งสินค้าออกไปขายก็คือจีน      ฝรั่งเศส     อิหร่าน     ฮ่องกง   ฯลฯ    การท่องเที่ยวเป็นอีกแหล่งหนึ่งของรายได้ที่สำคัญ
    ประเทศร่ำรวยด้วยทรัพยากรและแร่ธาตุ  มีสัตว์ป่าและต้นไม้ที่แปลกกว่าที่อื่นจนมีนักท่องเที่ยวเยี่ยมเยือนปีละ 500,000 คน    เหตุใดผู้คนจึงยากจนมากและผู้คนทางใต้ของเกาะขณะนี้กำลังขาดแคลนอาหารอย่างหนัก     คำตอบก็คือคุณภาพของคน     การแพร่ระบาดของโควิด    และส่วนที่สำคัญคือการปกครองที่อุดมไปด้วยการเล่นพรรคเล่นพวกและคอร์รัปชั่น
    ที่กำลังลำบากคือประชากรประมาณ 1.1 ล้านคนทางใต้ซึ่งกำลังหิวโหย  ในจำนวนนี้มีเด็ก 500,000 คน ที่กำลังสุ่มเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารอย่างรุนแรง     หลายครอบครัวเอาอาหารที่ได้รับแจกจากสหประชาชาติมากินกับต้นกระบองเพชร     สาเหตุสำคัญคือการแปรเปลี่ยนสภาวะอากาศของโลก จากการเผาไหม้จน เกิดก๊าซเรือนกระจกและทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อความแปรปรวนของอากาศ ซึ่งคนที่นี่แทบไม่มีส่วนในการสร้างสภาวการณ์ที่เลวร้ายนี้เลย

บริเวณนี้ปกติก็ประสบภาวะฝนแล้งอย่างรุนแรงตลอดมาในประวัติศาสตร์อยู่แล้ว    แต่ครั้งนี้ถือว่าเลวร้ายสุดในรอบ 40 ปี     ผลผลิตของมันสำปะหลังที่เป็นอาหารหลักของคนที่นี่เป็นเพียง     60-90% ของปีปกติ และเมื่อโควิด-19 ระบาด   นักท่องเที่ยวก็ไม่มา      รายได้ที่เคยพอมีมาจุนเจือบ้างก็หายไปทั้งหมด    ประชากร 1.5 ล้านคนที่พึ่งการท่องเที่ยวถูกกระทบอย่างมาก
    การขายลูกสาวไปเป็นเมียเศรษฐีซึ่งเป็นแฟชั่นของที่นี่ระบาดไปทั่ว     เด็ก ๆ หยุดไปโรงเรียนเพื่อช่วยพ่อแม่หาผักหาปลา   ผู้คนกว่าล้านคนต้องกระเสือกกระสนหาอาหารมายังชีพซึ่งปริมาณอาหารทั้งประเทศนั้นพอมี แต่ที่เป็นปัญหาคือมันมีราคาสูงขึ้นจนคนที่ยากจนสุดในทางใต้ของเกาะเข้า      ไม่ถึง    

      ความอดอยากท่ามกลางความพอมีกินของทั้งประเทศเป็นภาพสะท้อนของสังคมในโลกจำนวนมากที่มี climate change   ซึ่งกำลังเปลี่ยนมาเป็น climate crisis   และในที่นี้คือ climate famine  เป็นสาเหตุหลักโดยมีระบบปกครองที่มีปัญหาเป็นสาเหตุประกอบที่สำคัญ

      ประเทศ ม.ม้าที่สองคือ "เมียนมา" มีพรหมแดนติดกับประเทศไทย   ยาว 2,400 กิโลเมตร ติดกับจีนยาว 2,100 กิโลเมตร   และติดกับอินเดีย  ยาว 1,643 กิโลเมตร    แหล่งข่าวต่างประเทศระบุว่าการขาดแคลนอาหารของผู้คนประมาณ 1 ล้านคนในปัจจุบันกำลังจะรุนแรงขึ้นทุกขณะ  ความวุ่นวายของการเมืองในเมียนมาทำให้มีคนยากจน (มีรายได้ต่ำกว่าวันละหนึ่งเหรียญสหรัฐ) เพิ่มจากยอด 2.8 ล้านคน ก่อนปี 2020  เพิ่มอีก 3.4 ล้านคน   จนกลายเป็น 6.2 ล้านคน
    ในภาพรวมของประชากรในขณะนี้ยังนับได้ว่าพอมีอาหาร แต่สำหรับคนยากจนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้เนื่องจากไม่มีรายได้   ปัจจุบันก็หงุดหงิดอย่างมากอยู่แล้วกับการต่อสู้  สู้รบปรบมือกับรัฐบาล    แถมยังมีการระบาดของโควิด- เมื่อมีการขาดแคลนอาหารมาซ้ำเติมก็พอจินตนาการได้ว่าจะรู้สึกอย่างไรกัน
    ปัญหาข้างต้นของเมียนมาถือได้ว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงของไทย  หากคนเพียงหนึ่งล้านพร้อมใจกันเดินข้ามพรมแดนไทยที่ยาวเกินกว่าจะดูแลได้ตลอดแนวเพื่อแสวงหาอาหารและชีวิตที่ดีกว่า    อะไรจะเกิดขึ้นกับสถานการณ์ระบาดของโควิดในประเทศไทย  ไทยจะมีเงินทองเพียงพอที่จะช่วยเหลือเหมือนกรณีกัมพูชาในอดีตหรือไม่
    ไทยจะดูดีไหมในสายตาชาวโลกหากมีภาพทหารไทยถือปืนเดินตรวจแนวลวดหนามกั้นพรมแดน     คำถามเหล่านี้ต้องขบคิดเพราะมีความเป็นไปได้สูงหากเหตุการณ์ขาดแคลนอาหารมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น.