ความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศไทย กับสิงคโปร์ ด้าน สังคม และ วัฒนธรรม

โครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ

โครงการความร่วมมือระหว่างประเทศของมูลนิธิชัยพัฒนา

 

1. สาธารณรัฐสิงคโปร์
โครงการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาและวัฒนธรรมระยะสั้นระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนาและสาธารณรัฐสิงคโปร์

ความเป็นมา นางชวา ซิว ซัน (H.E. Mrs. Chua Siew San) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสิงคโปร์ประจำประเทศไทย ได้เข้าเยี่ยมคารวะ นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2555 ณ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา และได้หารือในเบื้องต้นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะริเริ่มโครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการศึกษาระยะสั้น ระหว่างนักเรียนไทยและนักเรียนสิงคโปร์ร่วมกัน เพื่อสืบสานมิตรภาพและความร่วมมือด้านการพัฒนาการศึกษาที่ดีเสมอมาระหว่างสองประเทศ และจากการหารือในเบื้องต้น เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาได้เห็นชอบให้ดำเนินโครงการดังกล่าวร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสิงคโปร์ประจำประเทศไทย

ความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศไทย กับสิงคโปร์ ด้าน สังคม และ วัฒนธรรม

วัตถุประสงค์ เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนด้อยโอกาสที่กำลังศึกษาอยู่ในหลักสูตรสายอาชีพในโรงเรียนภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิฯ ในท้องถิ่นทุรกันดารได้เปิดโลกทัศน์และสร้างแรงบันดาลใจจากหลักสูตรอาชีวศึกษาและการฝึกอาชีพ ตลอดจนเทคโนโลยีที่ทันสมัยของประเทศสิงคโปร์ เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ที่จะได้รับจากโครงการนี้มาประยุกต์ใช้กับการศึกษาของนักเรียน การพัฒนาตนเอง รวมถึงการศึกษาสายอาชีพของประเทศไทยในอนาคต โดยทางรัฐบาลสิงคโปร์ได้คัดเลือกโรงเรียนนอร์ธไลท์ (NorthLight School) ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ที่รัฐบาลก่อตั้งขึ้นมา เพื่อดูแลนักเรียนด้อยโอกาสโดยเฉพาะ ให้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว

กิจกรรม การดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนได้เริ่มต้นตั้งแต่ ปี 2556 จนถึง 2562 (ปัจจุบัน) มีนักเรียนแลกเปลี่ยนจำนวน 3 รุ่น โดยมีนักเรียนไทยที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 28 คน ครูไทย 12 คน จากโรงเรียนวังน้อย (พนมยงค์วิทยา) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โรงเรียนคุระบุรีชัยพัฒนาพิทยาคม จังหวัดพังงา โรงเรียนอุดมศาสน์วิทยา และโรงเรียนศรีฟารีดาบารูวิทยา จังหวัดยะลาและนักเรียนสิงคโปร์ 56 คน ครูสิงคโปร์ 9 คน จากโรงเรียน Northlight
      • แลกเปลี่ยนความรู้ภาคทฤษฎี และปฏิบัติเกี่ยวกับสายวิชาชีพ อาทิ วิชาเทคนิคการซ่อมอุปกรณ์ต่างๆ วิชาการบริหารจัดการโรงแรม และอื่นๆ
      • แลกเปลี่ยนทางขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม ของทั้งสองประเทศ อาทิ การทัศนศึกษาสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์
      • แลกเปลี่ยนทางภาษา จากการเข้าค่ายเตรียมการและทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจ และการแลกเปลี่ยนทางภาษากับเพื่อนสิงคโปร์

          เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2562 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินติดตามการดำเนินงานโครงการฯ ที่โรงเรียน Northight สาธารณรัฐสิงคโปร์ ในการนี้ ได้เสด็จฯ ไปยังห้องประชุมของโรงเรียนเพื่อทรงเปิดโครงการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาและวัฒนธรรมระยะสั้นรุ่นที่สาม จากนั้น เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการเรียนการสอนของโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนได้มีการจัดห้องเรียนให้เหมาะสมกับวิชาที่เรียน และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง เช่น ห้องเรียนการโรงแรมได้จัดทำเป็นโรงแรมเสมือนจริงขนาดเล็ก ห้องเรียนวิชาการค้าขายได้จำลองร้านขายของชำขนาดย่อม ห้องเรียนทำอาหารได้จัดให้มีอุปกรณ์การทำอาหารทั้งคาวและหวานอย่างครบครัน ห้องเรียนคณิตศาสตร์ได้จัดให้มีการเรียนการสอนแบบเน้นกิจกรรมและนำเล่นเกมส์มาช่วยในการเรียนการสอนด้วย ส่วนห้องเรียนวิชาช่างนั้น ได้จัดให้มีกิจกรรมซ่อมบำรุงซึ่งเน้นการปฎิบัติเสมือนจริง นอกจากนี้ยังมีห้องเกมส์ ไว้ให้นักเรียนได้ผ่อนคลายและทำกิจกรรมร่วมกัน โดยได้มีการจัดสรรเวลาไว้อย่างเหมาะสม
          ในโอกาสนี้ ทรงทำขนมทาร์ตไส้สับปะรดในห้องเรียนการทำอาหารหวาน จากนั้น ทรงฉายพระรูปร่วมกับคณะผู้บริหาร ครู และเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนนอร์ธไลท์ รวมทั้งนักเรียนและครูที่เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนทั้งจากไทยและสิงคโปร์

ผลที่ได้รับ เนื่องจากมีการคัดเลือกนักเรียนที่ไม่ได้มีผลการเรียนดี และไม่ค่อยได้รับโอกาส แต่มีความโดดเด่นทางด้านมนุษยสัมพันธ์ การเข้าสังคม และมีความคิดสร้างสรรค์ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ ทำให้นักเรียนได้เปิดโลกทัศน์และสร้างแรงบันดาลใจจากหลักสูตรอาชีวศึกษาและการฝึกอาชีพ ตลอดจนเทคโนโลยีที่ทันสมัยของประเทศสิงคโปร์ ให้สามารถนำความรู้และประสบการณ์ ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการศึกษาสายอาชีพของตนต่อไป โดยนักเรียนมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี มีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น กล้าแสดงออก มีการผูกมิตรกับเพื่อนต่างภาษาต่างวัฒนธรรม สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้า นักเรียนที่ได้รับโอกาสตั้งใจเรียนมากขึ้น เพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดี ส่งผลให้การเรียนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนกลายเป็น “บุคคลแบบอย่าง” หรือ role model ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเพื่อนนักเรียนด้วยกันและนักเรียนรุ่นน้อง

2. สหพันธรัฐมาเลเซีย
2.1 โครงการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาและวัฒนธรรมระยะสั้นระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนาและกรมการศึกษา รัฐเกดะห์ สหพันธรัฐมาเลเซีย

ความเป็นมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชกระแสให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการตรวจสอบโรงเรียนที่รับผลกระทบจากธรณีพิบัติภัยสึนามิ และยังไม่ได้รับการช่วยเหลือในการปรับปรุงซ่อมแซม ทั้งนี้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้พบว่ามีโรงเรียนจำนวน 7 โรงเรียน ในพื้นที่เกาะ จังหวัดสตูล ซึ่งได้รับความเสียหาย อาคารเรียนแตกร้าว มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ได้แก่ โรงเรียนบ้านตันหยงกลิง โรงเรียนบ้านตันหยงอุมา โรงเรียนบ้านตันหยงกาโบย โรงเรียนบ้านเกาะยะระโตดนุ้ย โรงเรียนบ้านเกาะสาหร่าย โรงเรียนบ้านเกาะยาว และโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง


          สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ประสานงานไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสตูล เพื่อเข้าดำเนินโครงการก่อสร้าง ปรับปรุง และซ่อมแซมโรงเรียนที่รับผลกระทบจากธรณีพิบัติภัยสึนามิทั้ง 7 แห่งดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันการดำเนินงานโครงการฯ เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อมาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสตูล ได้แจ้งให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา รับทราบถึงโครงการความร่วมมือทางด้านการศึกษาระหว่างส่วนงานราชการระดับท้องถิ่น ระหว่างประเทศไทย และสหพันธรัฐมาเลเซีย ได้แก่ โครงการอบรมค่ายวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และโครงการโรงเรียนคู่แฝด เพื่อส่งเสริมพัฒนาความรู้ และเพิ่มพูนประสบการณ์ให้แก่นักเรียนจากทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นช่องทางหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ครู และนักเรียน ตลอดจนระบบหลักสูตรการศึกษาในท้องถิ่นจังหวัดสตูล

          วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชานุมัติหลักการสำหรับการดำเนินงานโครงการความร่วมมือทางด้านการศึกษาระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา กับกรมการศึกษารัฐเกดะห์ สหพันธรัฐมาเลเซีย และได้มีการลงนามความร่วมมือขึ้นในวันที่ 3 มีนาคม 2552 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีลงนามดังกล่าว

วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนการสอน และพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในวิชา และภาษาอังกฤษ พร้อมส่งเสริมจิตสำนักด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมโดยนักเรียนที่ได้รับการคัดเลือกได้มีโอกาสเดินทางไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในด้านภาษา การศึกษาและวัฒนธรรมกับสาธารณรัฐมาเลเซีย ซึ่งมีการดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ ทั้งในด้านภาษา ศาสนาและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน

กิจกรรม ที่ผ่านมา ได้มีการจัดค่ายและการอบรมระยะสั้นให้แก่ครูและนักเรียน
      • English Camp การจัดค่ายภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษแก่นักเรียนและครู โดยเป็นฝ่ายไทย 45 คน ฝ่ายมาเลเซีย 25 คน โดยจัดกิจกรรมที่โรงเรียน S.K. Seri Negeri
      • Network Training Module for English Teacher การอบรมภาษาอังกฤษแก่ครูผู้สอน โดยจัดกิจกรรมที่โรงเรียน S.K. Seri Negeri และ โรงเรียน Kebangsaan Tunku Putra
      กิจกรรมภาษามลายู เพื่อพัฒนาศักยภาพและทักษะของผู้บริหาร ครู และเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสตูล ในการใช้ภาษามลายูในการสื่อสาร โดยจัดกิจกรรมที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสตูล และที่เกาะลังกาวี
      • ค่าย ICT เพื่อพัฒนาทักษะแก่นักเรียนและครูให้สามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสารมาใช้ในการเรียนการสอนให้เกิดประสิทธิภาพและมีประโยชน์สูงสุด โดยจัดกิจกรรมที่โรงเรียน Kebangsaan Tunku Putra
      • ค่ายวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม เป็นการจัดค่ายวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแก่นักเรียน เพื่อให้ความรู้และเข้าใจในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยจัดกิจกรรมที่โรงเรียน S.K. Seri Negeri และ โรงเรียน Kebangsaan Tunku Putra
          ต่อมา ได้ต่อยอดการจัดค่ายระยะสั้นให้เกิดเป็นโครงการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาและวัฒนธรรมขึ้น โดยจัดให้นักเรียนไทยเข้าเรียนในโรงเรียน SMK Langkawi โดยเน้นด้านภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และอาเซียนศึกษา และให้นักเรียนพักที่หอพักของโรงเรียนที่ผ่านมา ได้มีการดำเนินโครงการไปแล้ว 1 รุ่น เมื่อปี 2557 โดยได้นำนักเรียนจากโรงเรียนในพื้นที่เกาะจังหวัดสตูล 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ้านตันหยงกาโบยชัยพัฒนา โรงเรียนบ้านเกาะสาหร่ายชัยพัฒนา และโรงเรียนบ้านตันหยงอุมา ชัยพัฒนา ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เดินทางไปจำนวน 6 คนและ ครู 3 คน

ผลที่ได้รับ นักเรียนมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี กล้าแสดงออกมากขึ้น ได้รับประสบการณ์ตรงจากการเข้าเรียนในโรงเรียนของสหพันธรัฐมาเลเซีย แม้ว่าระยะเวลาจะสั้น แต่ด้วยตารางเวลาเรียน และสภาพแวดล้อมที่ใม่แตกต่างจากในประเทศไทยมากนัก ทำให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้นักเรียนยังได้เพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับสหพันธรัฐมาเลเซียทั้งในด้านระบบการศึกษา วัฒนธรรมและชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงได้พัฒนาทักษะในการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับสังคมของประเทศเพื่อนบ้านซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

2.2 โครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนาและ Institute of Bioproduct Development, Universiti Teknologi Malaysia สหพันธรัฐมาเลเซีย

ความเป็นมา สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้จัดหลักสูตรฝึกอบรมให้แก่คณะนักวิจัยจาก Institute of Bioproduct Development (IBD), Universiti Teknologi Malaysia (UTM) จำนวน 3 ราย เรื่องการวิเคราะห์และพัฒนาคุณภาพน้ำและดินด้วยวิธีทางธรรมชาติ ณ โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อปี 2556 คณะนักวิจัยมีความประทับใจในแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนเป็นอย่างมาก และมีความประสงค์ที่จะมีความร่วมมือทางวิชาการกับสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา จึงได้เชิญ เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิชัยพัฒนา เดินทางไปเยือน UTM เพื่อหารือรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือทางวิชาการด้านการแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่เหมาะสม จากนั้น ได้มีการลงนามความร่วมมือเมื่อปี 2557

วัตถุประสงค์ เพื่อเปิดโลกทัศน์ จุดประกายความคิดและส่งเสริมให้ผู้จัดการและเจ้าหน้าที่โครงการของสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาสามารถแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในงานโครงการกับนักวิจัยของ IBD ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ และยังได้เผยแพร่งานของมูลนิธิฯ ให้เป็นที่รู้จักภายนอกประเทศไทย เป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย นอกจากนั้นยังเป็นการสนับสนุนการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกัน

กิจกรรม เมื่อปี 2558 และ ปี 2560 สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้นำเจ้าหน้าที่และผู้จัดการโครงการจำนวน 4 รายและ 6 ราย ตามลำดับ จาก 9 โครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา เดินทางไปเข้าร่วมการฝึกอบรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์และการพัฒนาสินค้าชีวภาพหลายหลักสูตร เช่น หลักสูตรการคิดค้นผลิตภัณฑ์ครัวเรือนและผลิตภัณฑ์สำหรับดูแลร่างกาย หลักสูตรการพัฒนาสูตรและขั้นตอนการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร หลักสูตรการหมักปุ๋ยชีวภาพด้วยเทคโนโลยี EM เป็นต้น

ผลที่ได้รับ ผู้เข้าอบรมได้รับความรู้และประสบการณ์มากมาย ทำให้สามารถนำไปปรับใช้ในการต่อยอดความรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ในโครงการ ซึ่งนับเป็นการเพิ่มมูลค่าและเพิ่มรายได้ให้กับโครงการแล้ว ยังสามารถนำมาความรู้ดังกล่าว มาจัดแสดงเพื่อถ่ายทอดให้แก่ชุมชนและบุคคลที่สนใจ โดยการฝึกอบรมมีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติซึ่งมุ่งเน้นให้ผู้เข้าอบรมได้นำความรู้จากภาคทฤษฎีมาปรับใช้ในภาคปฏิบัติ ซึ่งเจ้าหน้าที่โครงการได้นำความรู้เหล่านั้นมาคิดค้นต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์โครงการ สร้างรายได้ให้กับโครงการ เช่น น้ำยาล้างจานตะไคร้หอมผสมยูคาลิปตัส สมุนไพรจากใบเสม็ด ทั้งยาหม่อง สเปรย์กันยุง น้ำมันนวดและพิมเสนน้ำ นอกจากนั้นยังเผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชนที่สนใจที่มาเยี่ยมชมโครงการอีกด้วย

3. สาธารณรัฐประชาชนจีน

3.1 โครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนากับ Guangzhou Institute of Geochemistry (GIG), Chinese Academy of Sciences สาธารณรัฐประชาชนจีน

ความเป็นมา ด้วย คณะนักวิจัยจากโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้เดินทางไปเยือน GIG ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านธรณีเคมีและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลจีน เพื่อศึกษาดูงานและร่วมทำวิจัยภายใต้โครงการ Mekong River Program เรื่องการวิเคราะห์ปริมาณสารเคมีตกค้างจากอุตสาหกรรมและครัวเรือน และผลกระทบต่อคุณภาพน้ำตลอดจนคุณภาพชีวิตของชุมชนในบริเวณลุ่มน้ำโขง ซึ่งคณะนักวิจัยจากโครงการวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยฯ มีความประทับใจในความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของ GIG เป็นอย่างมาก
          นอกจากนี้ คณะนักวิจัยจาก GIG ได้เดินทางมาเยือนโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยฯ เพื่อศึกษาดูงานด้านการบำบัดน้ำเสียด้วยระบบพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม ซึ่งคณะนักวิจัยจาก GIG มีความสนใจแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วยต้นทุนที่ต่ำ ผ่านหลักการใช้ธรรมชาติบำบัดธรรมชาติของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตลอดจนบทบาทของมูลนิธิชัยพัฒนาในการต่อยอดองค์ความรู้ต่างๆ ไปสู่ชุมชน เป็นอย่างมากเช่นกัน ต่อมา GIG ได้แจ้งความประสงค์ที่จะมีความร่วมมือกับสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา จึงได้มีการลงนามความร่วมมือกันขึ้นเมื่อปี 2557


วัตถุประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้จัดกิจกรรมความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง

กิจกรรม คณะนักวิจัยจากโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้เดินทางไปเยือน Guangzhou Institute of Geochemistry (GIG) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและการบำบัดน้ำเสีย
          เพื่อเป็นการต่อยอดความร่วมมือทางด้านการถ่ายทอดความรู้ ในปี 2562 สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้จัดทำโครงการฝึกอบรมทางวิทยาศาสตร์ระยะสั้นให้แก่นักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนภายใต้ความดูแลของมูลนิธิ ชัยพัฒนา ได้แก่ โรงเรียนวังน้อย (พนมยงค์วิทยา) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โรงเรียน คุระบุรีชัยพัฒนาพิทยาคม จังหวัดพังงา โรงเรียนศรีฟารีดาบารูวิทยา จังหวัดยะลาและโรงเรียนอุดมศาสน์วิทยา จังหวัดยะลา เดินทางไปเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมทางวิทยาศาสตร์ระยะสั้น รุ่นที่ 1 โดยมีนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทย์-คณิตที่มีการเรียนดี จำนวน 8 คนและครู 4 คน

ผลที่ได้รับ นักวิจัยจากสองประเทศได้แลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ความรู้ ประสบการณ์ โดยผ่านทางการเยือน และผ่านทางการจัดงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ International Conference on Environment, Livelihood, and Services (ICELS) ที่สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นเจ้าภาพ ซึ่งนักวิจัยจาก GIG ได้เดินทางมาให้ความรู้ และร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลในงานสัมมนาดังกล่าว
          สำหรับการนำนักเรียนจากโรงเรียนที่อยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิชัยพัฒนาไปฝึกอบรมทางวิทยาศาสตร์ที่ GIG นั้น นับเป็นการเปิดโลกทัศน์ ทำให้ได้เห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เห็นการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยของต่างประเทศว่ามีความเป็นอยู่อย่างไร ได้เห็นการทำงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัยในการทำการทดลอง ซึ่งส่วนหนึ่งของการฝึกอบรมได้ให้นักเรียนนำความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมมาคิดโครงงานวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นการให้นักเรียนมีการพัฒนาด้านความตื่นตัวและความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ซึ่งประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนรู้เหล่านี้ จะเป็นประโยชน์สำหรับนักเรียน เป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนา คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต

3.2 โครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา-สาธารณรัฐประชาชนจีน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

ความเป็นมา เนื่องด้วย รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน มีความประสงค์ที่จะสร้างศูนย์ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย และเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในปี 2550 รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายเงิน จำนวน 8 ล้านหยวน (ประมาณ 40 ล้านบาท) เพื่อใช้ในการสนับสนุนการดำเนินโครงการ ระยะที่ 1 ในปี 2552 และทูลเกล้าฯ ถวายเงิน จำนวน 10 ล้านหยวน (ประมาณ 50 ล้านบาท) เพื่อใช้ในการสนับสนุนการดำเนินโครงการ ระยะที่ 2 ในปี 2555 ในรูปแบบสิ่งของ สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรกล บุคลากร พันธุ์พืช และปัจจัยการผลิตอื่นๆ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี
      ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงได้พระราชทานพระราชานุมัติให้ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินงาน โครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา-สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การดูแลของโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา ที่ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ บนพื้นที่โดยประมาณ 578 ไร่ 3 งาน 33 ตารางวา (231.5 เอเคอร์)

วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นศูนย์ทดลอง ศึกษา วิจัย ในการปลูกพืชชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่นำเข้ามาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อศึกษาถึงการเจริญเติบโต ผลผลิตที่ได้ วิธีการปลูก และการนำผลผลิตต่างๆที่ได้มาแปรรูป ซึ่งข้อมูลที่ได้สามารถนำไว้ใช้พัฒนาต่อยอดได้ต่อไปในอนาคต เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับประชาชนที่สนใจ

กิจกรรม โครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา-สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีการดำเนินงานแล้ว 2 ระยะ
      • ระยะที่ 1 ดำเนินการระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม 2552 ถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2554 รวมระยะเวลา 2 ปี โดยกระทรวงพาณิชย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มอบหมายให้บริษัท China Yunnan Corporation for International Techno-Economic Cooperation (CYC) มาดำเนินการก่อสร้างอาคารต่างๆ รวมถึงนำพืชสายพันธุ์จีนชนิดต่างๆ ได้แก่ ข้าว มันฝรั่ง กระเทียม พลับ ชา เห็ด และพืชน้ำมัน Rapeseed มาทดสอบปลูกตามระบบการเกษตรแบบยูนนานในสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศของประเทศไทย
      • ระยะที่ 2 ดำเนินการระหว่างวันที่ 28 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 28 มกราคม 2560 รวมระยะเวลา 2 ปี โดยกระทรวงพาณิชย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มอบหมายให้บริษัท Yunnan Native Produce Import and Export Group Co., Ltd. (YNPC) มาดำเนินการก่อสร้างอาคารต่างๆ รวมถึงนำพืชสายพันธุ์จีนชนิดต่างๆ ได้แก่ เห็ด ข้าว พืชผัก มันฝรั่ง และสตรอเบอรี่ มาทดสอบปลูกตามระบบการเกษตรแบบยูนนานในสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศของประเทศไทย

ผลที่คาดว่าจะได้รับ การดำเนินโครงการคาดหวังให้เป็นศูนย์เรียนรู้การปลูกพืชสายพันธุ์นำเข้าที่มาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับประชาชนที่สนใจ ซึ่งทางศูนย์ได้ทำการทดลอง ศึกษาวิจัยการปลูกพืช เพื่อดูผลผลิตและความเป็นไปได้ว่ามีการเจริญเติบโตเป็นอย่างไร เพื่อให้ประชาชนได้มาเรียนรู้และนำกลับไปพัฒนาต่อยอดในพื้นที่ของตนเอง

4. สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
โครงการแปลงสาธิตเกษตรผสมผสมผสานและเกษตรทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ มหาวิทยาลัยเกษตร Yezin กรุงเนปิดอว์

ความเป็นมา สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้นำคณะผู้บริหารหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรของเมียนมา เดินทางไปศึกษาดูงานโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา เมื่อวันที่ 11-15 กันยายน 2560 โดยเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เกี่ยวข้องกับการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ การบำบัดน้ำเสีย การกำจัดขยะ การพัฒนาพื้นดินให้เกิดประโยชน์ และแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งคณะฯ มีความสนใจเป็นอย่างมาก จึงมีความประสงค์ที่จะให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนานำความรู้ดังกล่าวไปเผยแพร่ที่ประเทศเมียนมา
          ต่อมา เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2560 นายจักร บุญหลง เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงย่างกุ้ง ได้เข้าพบเพื่อหารือกับนายอ่อง ตู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และชลประทานเมียนมา และนายติน ทุต ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เมียนมา รวมทั้งผู้บริหารของ Yezin Agricultural University (YAU) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยด้านการเกษตรของเมียนมา ที่ตั้งอยู่ ณ กรุงเนปิดอว์ เพื่อติดตามผลการศึกษาดูงานของคณะผู้บริหารหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรของเมียนมา ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นควรต่อยอดการศึกษาดูงานข้างต้นด้วยการจัดตั้ง “โครงการแปลงสาธิตเกษตรผสมผสมผสานและเกษตรทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ที่ประเทศเมียนมาเพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษา เจ้าหน้าที่ และเกษตรกรจากพื้นที่ต่างๆ ในประเทศเมียนมาที่เข้ามาศึกษาเรียนรู้และจะได้นำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้ โดยสถานเอกอัครราชทูตได้มีหนังสือเชิญพร้อมทั้งรายละเอียดข้อเสนอในการจัดตั้งโครงการดังกล่าวมายังสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา

วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นศูนย์ศึกษาสำหรับเจ้าหน้าที่ นักศึกษา หรือเกษตรกรจากพื้นที่ต่างๆ ในประเทศเมียนมาได้สามารถเข้ามาเรียนรู้ และนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อให้สามารถพึ่งตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
กิจกรรม การดำเนินกิจกรรมที่ผ่านมาสามารถแบ่งออกได้เป็นสัดส่วนดังนี้
      • การจัดสรรพื้นที่เพื่อดำเนินโครงการ พื้นที่ดังกล่าว YAU เป็นผู้จัดหา มีขนาด 9.43 เอเคอร์ โดยแบ่งพื้นที่เป็นสองส่วน ส่วนแรกจัดทำแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ ส่วนที่สองจัดสร้างอาคารศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรม
      • การเตรียมพื้นที่แปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ คณะผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิชัยพัฒนาได้ดำเนินการวัดพื้นที่ จัดสัดส่วนของแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่บ่อน้ำ พื้นที่ปลูกพืชไร่และผลไม้พื้นเมือง พื้นที่สำหรับปลูกข้าว และพื้นที่จำลองที่พักอาศัยของชาวบ้าน
      • การก่อสร้างอาคารศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรม ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) (SCG) เป็นผู้ดำเนินการออกแบบและก่อสร้าง โดยภายในอาคารจะประกอบด้วยห้องฝึกอบรม ห้องจัดนิทรรศการที่เกี่ยวกับความเป็นมาของโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ และแนวคิดทางการเกษตรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร การออกแบบตัวอาคารมีลักษณะสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของเมียนมา เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวเมียนมา
      • การศึกษาดูงาน มูลนิธิชัยพัฒนายินดีจะจัดการศึกษาดูงานด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ประเทศไทย ให้แก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และชลประทานเมียนมา และ YAU เพื่อรับทราบความต้องการที่ชัดเจนของฝ่ายเมียนมา
ผลที่คาดว่าจะได้รับ โครงการนี้จะเป็นแหล่งเรียนรู้ถาวรที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดและเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือระหว่างไทยและเมียนมา เนื่องจากในปี 2561 เป็นปีที่ครบรอบ 70 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทยและเมียนมา นอกจากนี้ยังเป็นการเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านการพัฒนาการเกษตรที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต อีกทั้งเป็นการช่วยเหลือประชาชนชาวเมียนมาให้มีรายได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีอาหารที่ถูกสุขลักษณะและปราศจากสารเคมีเพื่อบริโภค

5. สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ
ศูนย์สาธิตและประชาสัมพันธ์การปลูกหญ้าแฝก ในพื้นที่เมืองจิตตะกอง สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ

ความเป็นมา เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชานุมัติหลักการ และงบประมาณ สำหรับการดำเนินงานโครงการความร่วมมือด้านการปลูกหญ้าแฝก เพื่อป้องกันดินถล่ม ในพื้นที่สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ โดยการประสานงานจากเทศบาลเมืองจิตตะกอง สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ผ่านสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงธากา สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ เพื่อขอรับความช่วยเหลือ สำหรับการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ดินถล่ม ซึ่งเป็นปัญหาหลักของเมืองจิตตะกอง ในช่วงฤดูฝน วันที่ 7 พฤษภาคม 2561 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชานุมัติหลักการและงบประมาณ ในการจัดตั้งศูนย์สาธิตและประชาสัมพันธ์การปลูกหญ้าแฝกนั้น ในพื้นที่เมืองจิตตะกอง สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ


วัตถุประสงค์ เพื่อสาธิต และอบรมวิธีการปลูกหญ้าแฝกที่มีความถูกต้องตามหลักวิชาการ และมีความเหมาะสมกับพื้นที่ นอกจากนี้ยังเป็นการประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ความรู้ด้านหญ้าแฝก เพื่อให้เกิดความเข้าใจในประโยชน์ของหญ้าแฝกในการบรรเทา และแก้ไขปัญหาดินถล่ม รวมถึงประโยชน์อื่นๆ ในด้านการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพดิน อีกทั้งยังเป็นการเพาะและขยายพันธุ์กล้าแฝกให้มีคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอสำหรับการนำไปปลูก เพื่อการแก้ไขปัญหาดินถล่มในพื้นที่ต่างๆ

กิจกรรม สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญด้านหญ้าแฝกและดินถล่มเข้าสำรวจพื้นที่เป้าหมาย และเก็บข้อมูลสภาพปัญหา ในระหว่างวันที่ 25 – 27 กุมภาพันธ์ 2561 และได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญรวมทั้งเจ้าหน้าที่ เดินทางไปสำรวจพื้นที่เพื่อจัดตั้งศูนย์สาธิตและประชาสัมพันธ์การปลูกหญ้าแฝกระหว่างวันที่ 8-10 พฤษภาคม 2561
          เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปเปิดศูนย์สาธิตดังกล่าว ในพื้นที่เมืองจิตตะกอง สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศอย่างเป็นทางการ เมื่อสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ถึงศูนย์สาธิตและประชาสัมพันธ์การปลูกหญ้าแฝก ได้เสด็จฯ เข้าพลับพลาพิธี โดยมีคณะบุคคลกราบบังคมทูลถวายรายงานประวัติความเป็นมาของโครงการฯ จากนั้นได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรบอร์ดนิทรรศการ และแปลงสาธิตการปลูกหญ้าแฝกทั้งในที่ราบลุ่มและลาดชันเพื่อเป็นการสาธิตการปลูกหญ้าแฝกเพื่อแก้ไขปัญหาดินถล่ม จากนั้น ทรงปลูกหญ้าแฝกพันธุ์พื้นเมืองในบริเวณที่เป็นพื้นที่ลาดชัน และทรงตัดแถบแพรเปิดศูนย์สาธิตและประชาสัมพันธ์การปลูกหญ้าแฝก

ผลที่คาดว่าจะได้รับ เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการนำร่อง จึงคาดการณ์ว่าเมื่อโครงการได้ดำเนินไประยะหนึ่งแล้ว จะสามารถบรรเทา และแก้ปัญหาดินถล่มในพื้นที่เมืองจิตตะกองได้ในระดับที่น่าพอใจ นอกจากนี้จะจัดการฝึกอบรม และเผยแพร่ความรู้ด้านแฝกเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ซึ่งจะได้นำไปแก้ไขปัญหาดินถล่มในพื้นที่ต่างๆ ในสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

6. สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

6.1 โครงการศูนย์ศึกษาและพัฒนากสิกรรมพื้นที่สูง เมืองปากซอง แขวงจำปาสัก

ความเป็นมา มหาวิทยาลัยจำปาสัก ได้กราบบังคมทูล สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขอพระราชทานโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา กับ มหาวิทยาลัยจำปาสัก เพื่อเป็นศูนย์รวมด้านวิชาการให้นักศึกษาและผู้ที่สนใจ เข้ามาศึกษา ดูงานได้ จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้พระราชทานพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินงาน โครงการจัดตั้งแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน ภายในมหาวิทยาลัยจำปาสัก และสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนากับมหาวิทยาลัยจำปาสัก ได้ทำการลงนามใน บันทึกข้อตกลง ร่วมกันดำเนินงานโครงการฯ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2550

วัตถุประสงค์ เพื่อให้เป็นสถานที่ถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรต่างๆ และเป็นศูนย์รวมด้านวิชาการให้แก่คณาจารย์ นักศึกษา และประชาชนโดยรอบมหาวิทยาลัย รวมทั้งเป็นสถานที่ฝึกงานสำหรับนักศึกษาที่จะได้ทดลองปฏิบัติงานจริงนอกเหนือจากการเรียนการสอนในห้องเรียน ซึ่งได้รับความร่วมมือในการดำเนินงานจากกรมพัฒนาที่ดิน กรมปศุสัตว์ กรมชลประทาน กรมประมง และกรมวิชาการเกษตร

กิจกรรม สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ร่วมกับหน่วยราชการ ประกอบด้วย กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน กรมวิชาการเกษตร กรมประมง และกรมปศุสัตว์ ดำเนินการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานของแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน เสร็จเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย
      • งานด้านพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ภายในแปลงฯ ล้อมรั้ว สร้างทางลำลองในไร่นา ทำถนนลูกรังบดอัด ต่อท่อระบายน้ำ และถางพื้นที่
      • งานชลประทาน ประกอบด้วย อาคารทดน้ำ ท่อส่งน้ำ ก่อสร้างสะพาน ถังเก็บน้ำและระบบท่อ
      • งานด้านปศุสัตว์ ได้ทำการก่อสร้างคอกสุกร คอกเป็ด คอกไก่ โรงเก็บ และผลิตอาหารสัตว์
      • งานด้านประมง ได้ทำการก่อสร้าง บ่อคอนกรีตและบ่อเพาะเลี้ยง โรงเก็บพัสดุ อาคารเพาะฟัก โรงสูบน้ำ
      • งานด้านการเกษตร ได้ทำการปรับรูปแปลงสาธิตการปลูกพืชชนิดต่างๆ และได้นำพืชชนิดต่างๆ มาลงปลูกในแปลงเรียบร้อยแล้ว
      • งานก่อสร้างอาคาร ประกอบด้วย อาคารอเนกประสงค์ หอพักนักศึกษา
นอกจากนี้ ได้จัดการฝึกอบรมด้านวิชาการเกษตรแขนงต่าง โดย นำคณะอาจารย์และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยจำปาสัก จำนวน 19 คน เข้ามาศึกษา ดูงานด้านวิชาการเกษตรในประเทศไทย ทั้งด้านการประมง ปศุสัตว์ วิชาการเกษตร และพัฒนาที่ดิน โดยได้ทำการฝึกอบรม ในระหว่างวันที่ 8 - 21 กันยายน 2551 เพื่อให้คณะผู้เข้ารับการฝึกอบรม นำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการบริหารจัดการแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน ต่อไป

ผลที่คาดว่าจะได้รับ ในปัจจุบันสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังมีการดำเนินงานและให้ความดูแลโครงการนี้ ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนาได้ทำการเตรียมความพร้อมให้แก่มหาวิทยาลัยจำปาสัก เพื่อให้พร้อมดูแลโครงการส่งมอบโครงการ หลังจากนั้นจะทำการส่งมอบให้มหาวิทยาลัยจำปาสักดำเนินงาน เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ต่อไป

6.2 โครงการศูนย์พัฒนาและบริการกสิกรรม-ป่าไม้ หนองเต่า แขวงสะหวันนะเขต
ความเป็นมา การจัดตั้งศูนย์พัฒนาและบริการกสิกรรมแขวงสะหวันนะเขต เป็นดำริของเจ้าแขวงสะหวันนะเขต ท่านวิไลวัน พมเข ในขณะนั้น โดยเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๓๓ เจ้าแขวงสะหวันนะเขตได้มีหนังสือถึงเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทร์ และ ดร.ทองลุน สีสุลิด รองนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลาวขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยและรัฐบาลลาวในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาและบริการความรู้ทางด้านกสิกรรมในลักษณะเดียวกับศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน-ห้วยซั้ว ขึ้นที่แขวงสะหวันนะเขต และเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๓ ดร.ทองลุน สีสุลิด ได้มีหนังสือกราบบังคมทูล สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขอพระราชทานโครงการความร่วมมือด้านการเกษตรในลักษณะเดียวกันกับศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน-ห้วยซั้ว ขึ้นที่แขวงสะหวันนะเขต
          ต่อมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานความร่วมมือ โดยให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการความร่วมมือดังกล่าว โดยในเบื้องต้นแขวงสะหวันนะเขตจัดพื้นที่สำหรับจัดตั้งศูนย์ฯ ไว้ ๒ แห่ง ได้แก่ ๑) พื้นที่บ้านนาจิหรีด กลุ่มบ้านที่ ๑๑ เมืองไกสอนพมวิหาน แขวงสะหวันนะเขต และ ๒) พื้นที่หนองเต่า บ้านโพนสิม กลุ่มบ้านที่ ๑๐ เมืองไกสอน พมวิหาน แขวงสะหวันนะเขต โดยที่ประชุมคณะทำงาน เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๔ ลงความเห็นว่า เห็นควรตั้งชื่อศูนย์ฯ อย่างเป็นทางการว่า “ศูนย์พัฒนาและบริการกสิกรรมแขวงสะหวันนะเขต”

วัตถุประสงค์ เพื่อให้เป็นสถานที่ถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรต่างๆ โดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงและเป็นศูนย์รวมด้านวิชาการให้แก่ประชาชนโดยรอบ
กิจกรรม ได้ดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ด้านการเกษตรโดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแบบศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน-ห้วยซั้ว ใน ๖ สาขาหลัก ได้แก่
      • การพัฒนาดินโดยกรมพัฒนาที่ดิน
      • การปลูกพืชและผลไม้โดยกรมวิชาการเกษตร
      • การปลูกข้าว โดยกรมการข้าว
      • งานปศุสัตว์ โดยกรมปศุสัตว์
      • งานประมง โดยกรมประมง
      • งานชลประทาน โดยกรมชลประทาน
ทั้งนี้ นอกจากการพัฒนาศูนย์ฯ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านกสิกรรมแล้ว คณะทำงานยังมีแนวคิดพัฒนาศูนย์ฯ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และวัฒนธรรม และยังมีการส่งเสริมให้มีการบริการจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งคณะทำงานด้านชลประทานได้ดำเนินงานร่วมกับแผนกกสิกรรมและป่าไม้แขวงสะหวันนะเขต สำรวจพื้นที่การเกษตรบริเวณบ้านโพนสิม ศึกษาสภาพการใช้น้ำเพื่อการเกษตร ปริมาณความต้องการ และระบบการบริหารจัดการตามธรรมชาติที่มีอยู่เดิม จัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำและจัดระบบการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพภูมิสังคม

ผลที่คาดว่าจะได้รับ เนื่องจากศูนย์พัฒนาและบริการกสิกรรม ได้รับความสนใจจากเกษตรกรและประชาชนที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างยิ่ง จึงทำให้กลายเป็นศูนย์ฯ ที่ประสบความสำเร็จด้านเผยแพร่ความรู้ คาดหวังให้ศูนย์นี้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรในภาคกลางของประเทศลาว เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรโดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงให้ประชาชนได้ดำเนินตามเป็นแบบอย่าง