จดทะเบียน สมรสกับชาวต่างชาติ เขตบางรัก

ต้อนรับ "วันแห่งความรัก" 14 กุมภาฯ วันวาเลนไทน์ (Valentine’s Day) เช็คข้อควรรู้ ก่อน "จดทะเบียนสมรส" กับชาวต่างชาติ ทำอย่างไรให้มีผลทางกฎหมายทั้ง 2 ประเทศ

สำหรับคนไทยที่พบรักชาวต่างประเทศและมีแผนจดทะเบียนสมรส ควรเช็คเอกสารและเงื่อนไขทางกฎหมายให้ละเอียด เพื่อให้แน่ใจว่ามีผลทางกฎหมายทั้ง 2 ประเทศ โดยการจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ จดทะเบียนภายใต้กฎหมายไทย และ จดทะเบียนภายใต้กฎหมายต่างชาติ

จดทะเบียนภายใต้กฎหมายไทย
ณ สํานักงานเขต/ที่ว่าการอําเภอ/สํานักงานทะเบียนท้องถิ่น

เอกสารที่ใช้

  • ชาวต่างชาติขอใบรับรองความเป็นโสด ที่สถานทูตชาติของคู่สมรสในประเทศไทย กรณีบางสถานทูตไม่มีสิทธิออกใบรับรอง ต้องติดต่อสํานักงานเขตในประเทศต้นทาง
  • นําเอกสารดังกล่าวแปลเป็นภาษาไทย
  • นําเอกสารต้นฉบับ (ภาษาต่างประเทศ) และฉบับแปล (ภาษาไทย) ยื่นรับรองที่กองสัญชาติและนิติกรณ์
  • กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ
  • หนังสือเดินทางของชาวต่างชาติ
  • คนไทยต้องมีบัตรประจําตัวประชาชนหรือหนังสือเดินทาง
  • จดทะเบียนที่สํานักงานเขต/ที่ว่าการอําเภอ/สํานักงานทะเบียนท้องถิ่น
  • พยาน 2 คน (ฝ่ายละ 1 คน)
  • ชาวต่างชาติต้องมีล่ามมาด้วย (ล่ามและพยานอาจเป็นคนเดียวกันก็ได้)

จดทะเบียนภายใต้กฎหมายต่างชาติ
(กฎหมายประเทศคู่สมรส)

เอกสารที่ใช้

  • ติดต่อสถานทูตชาติของคู่สมรสที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย เพื่อขอเอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติ
  • นําเอกสารดังกล่าวแปลเป็นภาษาอังกฤษ
  • นําเอกสารต้นฉบับ (ภาษาต่างประเทศ) และฉบับแปล (ภาษาไทย) ยื่นรับรองที่กองสัญชาติและนิติกรณ์กรมการกงสุลกระทรวงการต่างประเทศ
  • บัตรประจําตัวประชาชนพร้อมเอกสาร ยื่นขอหนังสือรับรองการสมรสกับสถานทูตของคู่สมรส ที่อยู่ในไทยแล้วนําไปใช้ยังต่างประเทศได้

บุคคลที่สมรสได้ตามกฎหมายไทยจะต้องมีคุณสมบัติต่อไปนี้

  • เป็นชายหรือหญิง มีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์
  • ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต
  • กรณีคู่สมรสอายุต่ำกว่า 20 ปี บิดา - มารดา ต้องมาให้ความยินยอม
  • ทั้งคู่ต้องมีสถานะโสดหรือหย่าเรียบร้อยแล้ว
  • ผู้หญิงที่ยิ่งหย่าร้างหรือสามีเสียชีวิต ต้องรอให้พัน 310 วัน

จะเห็นได้ว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่างคนไทยกับคนต่างชาติ ไม่ได้มีขั้นตอนยุ่งยากมากนัก เพียงแค่มีเอกสารที่สำคัญอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะ "ใบรับรองความเป็นโสด" เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางกฎหมายตามมา

สํานักงานอัยการสูงสุด แนะนำเพิ่มเติมว่า กรณีมีข้อสงสัย สามารถโทรสอบถามฝ่ายจดทะเบียนสมรส/สถานทูต เรื่องเอกสารและขั้นตอนเพื่อความสะดวก รวดเร็ว และกรณีวางแผนขอวีซ่าหรือกลับต่างประเทศ แนะนําให้คัดเอกสารการจดทะเบียนสมรสเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อแจ้งประเทศของคู่สมรสให้มีผลต่อกฎหมายและเงื่อนไขต่าง ๆ

ขอรับคำปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ชั้น 2 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ในวันและเวลาราชการ หรือโทรศัพท์ 0 2142 1532, 0 2142 1533 อีเมล [email protected]

จดทะเบียน สมรสกับชาวต่างชาติ เขตบางรัก

จดทะเบียน สมรสกับชาวต่างชาติ เขตบางรัก

จดทะเบียน สมรสกับชาวต่างชาติ เขตบางรัก

ประสบการณ์ จดทะเบียนสมรสกับต่างชาติ เขตบางรัก

สวัสดีค่ะ เราเป็นคนนึงที่มีแฟนเป็นคนต่างชาติ และต้องการจดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามกฏหมาย ซึ่งต้องหาข้อมูลว่าจะจดทะเบียนสมรสที่ไหน เอกสาร และขั้นตอนในการจดทะเบียนสมรสกับต่างชาติจะมีความยุ่งยากอย่างไร ซึ่งพบว่าข้อมูลของหลายๆท่านที่แชร์ประสบการณ์ไว้ที่นี่มีประโยชน์มากๆกับผู้ที่มีความต้องการคล้ายกัน โดยเฉพาะข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเพื่อเตรียมตัวล่วงหน้า สำหรับผู้ที่อยู่ต่างจังหวัดไกลๆ และต้องการมีความทรงจำกับการจดทะเบียนสมรสที่สำนักงานเขตบางรัก ดังนั้เราจึงตัดสินใจนำประสบการณ์ของตัวเอง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือน กันยายน 2561 นี้มาเเชร์ให้ทุกท่านเผื่อจะมีประโยชน์กับผู้ที่กำลังค้นหาข้อมูลต่อไปค่ะ

สิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมไปด้วย 4 อย่างดังต่อไปนี้

1. เอกสาร ตัวเรา ประกอบด้วย
      1.    บัตรประชาชน  (ตัวจริง)
      2.    ทะเบียนบ้าน (ตัวจริง)
      3.    สำเนาเปลี่ยนชื่อ (ถ้ามี)  จำนวน 2 ใบ
      4.    สำเนาเปลี่ยนนามสกุล (ถ้ามี)  จำนวน 2 ใบ
      5.    สำเนาใบหย่า หรือ สำเนาใบมรณะบัตรของอดีตคู่สมรส (ถ้ามี)  จำนวน 2 ใบ

2.เอกสาร คู่สมรส ประกอบด้วย
      1.    ใบรับรองสถานะ (ใบโสด) ที่ได้รับการรับรองจากสถานทูตของคู่สมรสที่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งได้เเปลเป็นภาษาไทยและยื่นขอลงตราประทับรับรองเอกสารแปลจากกกงศุลไทยเรียบร้อยแล้ว ถ่ายเอกสารเก็บไว้ดูได้ ตัวจริงจะถูกเก็บไว้ที่สำนักงานเขต
      2.    สำเนาหน้าพาสปอร์ตที่มีรูป  จำนวน 2 ใบ
      3.    สำเนาวีซ่า หน้าที่เดินทางล่าสุด  จำนวน 2 ใบ
      4.    สำเนาใบหย่า หรือ สำเนาใบมรณะบัตรของอดีตคู่สมรส (ถ้ามี)  จำนวน 2 ใบ
      5.    ใบเสร็จค่าลงตราประทับรับรองเอกสารแปลจากกงสุลไทย

3.  พยาน จำนวน 2 คน โดยที่พยาน 1 คน ต้องเป็นญาติที่สามารถสืบความเกี่ยวข้องทางทะเบียนราษฏร์ได้  ส่วนอีกคนเป็นใครก็ได้แต่ต้องจัดหามาเอง  ซึ่งก่อนหน้านี้จะมีข้อมูลแชร์จำนวนมากว่า สำนักงานเขตบางรัก ไม่จำเป็นต้องเตรียมพยานไปด้วย แต่เนื่องจากมีกรณีการทำผิดกฎหมายจำนวนมาก ในปัจจุบันจึงค่อนข้างเคร่งครัด
4. ล่าม จะเป็นคนเดียวกับพยานก็ได้ และสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้  เนื่องจากเจ้าหน้าที่จะให้แปลข้อมูลเอกสารเกี่ยวกับคำร้องหรือข้อตกลงก่อนลงนามในใบสมรส

ขั้นตอนการยื่นขอจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติ
       สำนักงานแจ้งว่าเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 8.00 น.เป็นต้นไป เราจึงตัดสินใจไปนอนพักที่โรงแรมใกล้ๆ ที่สามารถเดินไปยังสำนักงานฯได้  เพื่อมั่นใจว่าจะไม่ต้องเสียเวลาเพราะรถติดและได้คิวแต่เช้า  วันนั้นเราไปถึงก่อนเวลาเล็กน้อย พบว่าเมื่อเดินเข้าประตูสำนักงานมีซุ้มดอกไม้สวยๆ ตกแต่งรอให้คู่รักถ่ายรูปได้ทั้ง 2 ด้าน  และเมื่อเดินเข้ามายังอาคารสำนักทะเบียน 3 ชั้น ด้านขวามือทางขึ้นอาคาร  จะมีโต๊ะ-เก้าอี้ พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่ให้บริการสอบถามและให้คำแนะนำอย่างมืออาชีพ  อีกทั้งช่วยจัดเตรียมเอกสารคำร้องขอจดทะเบียนสมรส (คร.1)ให้กรอก และที่นั่นมีคู่สมรสกับชาวต่างชาติที่กำลังกรอกข้อมูลคำร้องอยู่ก่อนหน้าแล้ว 1 คู่  เราพบว่าแบบฟอร์มของสำนักงานที่ให้ดาวน์โหลดจากหน้าเวปไซด์จะมีไม่ครบ ต้องไปรับและกรอกข้อมูลเพิ่มเติม  โดยจำเป็นต้องกรอกข้อมูลคำร้องทั้งของฝ่ายเรา และฝ่ายคู่สมรส คนละ 1 ฉบับ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดของคู่สมรสต้องกรอกเป็นภาษาไทย ไม่ว่าจะเป็นชื่อ นามสกุล อาชีพ ชื่อพ่อ-แม่ อื่นๆ  แต่ก็ไม่ยากเพราะข้อมูลที่ต้องการจะอยู่ในใบโสดที่แปลมาเรียบร้อยแล้ว แค่อาจรู้สึกไม่ชินกับการสะกดและเขียนข้อมูลต่างๆเป็นภาษาไทย ต้องเกร็งมือเพื่อลอกกันคำต่อคำเลย เพราะกลัวเขียนผิด 555  และขอแนะนำว่าก่อนไปคู่สมรสควรจะตกลงกันก่อนว่าจะมีการเปลี่ยนคำนำหน้าเป็นนาง หรือต้องการเปลี่ยนนามสกุลไหม  เพื่อจะได้ไม่เสียเวลาหรือตัดสินใจผิดพลาด ส่วนคู่เราตกลงไม่เปลี่ยนใดๆ เนื่องจากภาระในการขอเปลี่ยนเอกสารที่เกี่ยวข้องมีจำนวนมาก ทั้งใบขับขี่ บัตรปชช. ทะเบียนบ้าน พาสปอร์ต ฯ  
       เมื่อกรอกคำร้องเสร็จสิ้น เราได้รับบัตรคิวเป็นคู่จดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติในลำดับที่ 2 แล้วจึงยื่นเอกสารคำร้องและแนบกับเอกสารที่เกี่ยวข้องตามรายการข้างต้น แต่เนื่องจากเราไม่ได้เตรียมนัดหมายพยานล่วงหน้า เพราะเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่จะดูแลเรื่องนี้ให้ได้ ตามข้อมูลในอินเตอร์เนตที่เราค้นหาไปก่อนหน้า เจ้าหน้าที่แจ้งเราว่าถ้าไม่มีพยานจะแนะนำให้เราไปจดทะเบียนสมรสที่สำนักงานเขตอื่นๆ  แต่เราไม่ได้สอบถามว่าที่ไหนเพราะตั้งใจมาที่นี่โดยเฉพาะ  และกรณีของเราโชคดีที่มีพี่สาวและพี่เขยอยู่ปริมณฑล ซึ่งเมตตามาเป็นพยานให้แม้ต้องมาแบบไม่ได้ตั้งตัว คนนึงนั่งเรือมา อีกคนนึงนั่งรถไฟฟ้ามา แล้วมาต่อมอเตอร์ไซด์อีกที รู้สึกผิดเลยเรา แต่ก็อดดีใจไม่ได้ที่มีพวกเค้าในวันนั้น เพราะมีพวกเค้าอยู่ด้วยจึงทำให้สำคัญของเรากลายเป็นวันพิเศษขึ้นมาในทันทีเลย เมื่อทุกอย่างครบขั้นตอนต่างๆ ก็ดำเนินไปอย่างราบรื่น และมีความสุขจนเสร็จสิ้น
        บริเวณที่นั่งรอ สำนักงานได้จัดซุ้มตกแต่งดอกไม้ เก้าอี้ เป็นมุมน่ารักๆ ไว้ให้บริการคู่สมรส ซึ่งเราสามารถถ่ายรูปเป็นที่ระลึกในขณะที่นั่งรออีกด้วย น่าประทับใจและได้บรรยากาศของวันพิเศษ จนไม่น่าแปลกใจว่าทำไมคู่รักทั้งคู่คนไทย และคู่กับคนต่างชาติ จึงชื่นชอบและต้องการมาจดทะเบียนสมรสกันที่สำนักงานเขต “บางรัก” และแม้กระทั่งพยานของเราซึ่งเป็นพี่สาวและพี่เขย ยังเปรยขึ้นมาว่าเราน่าจะจดทะเบียนหย่ากันแล้วกลับมาจดทะเบียนสมรสกันที่นี่บ้าง 555
         ขณะที่นั่งรอขั้นตอนต่างๆ เราได้อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์กับคู่สมรสอื่นๆ ว่าการขอจดทะเบียนสมรสกับต่างชาติ ณ สำนักงานเขตบางรัก ให้บริการจำนวน 8 คู่ต่อวัน และมีระยะเวลาในการให้บริการประมาณ 90 นาที
          ในส่วนของคู่เรา ขั้นตอนส่วนใหญ่ราบรื่น มีตื่นเต้น เร้าใจ เล็กน้อย แต่ก็เป็นอีกวันที่ประทับใจ หากมีใครที่กำลังวางแผนจะจดทะเบียนสมรส และมีบรรยากาศของการร่วมยินดี ไม่เพียงแต่ชื่อสถานที่ๆมีความหมายดีเท่านั้น บรรยากาศ และการให้บริการอย่างมืออาชีพ ที่มีความหมายแห่งการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ซึ่งควรค่าแก่การจดจำ  เราขอแนะนำเลย “สำนักงานเขตบางรัก”

by ดอกไม้ในป่ากว้าง