กายภาพบำบัด เส้นเอ็นอักเสบ

ถ้าคุณมีอาการเจ็บที่บริเวณข้อมือเวลาทำกิจกรรมแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน นี่คืออาการของ ‘เอ็นข้อมืออักเสบ’ ซึ่งเป็นสาเหตุการเจ็บข้อมือที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งเอ็นข้อมือที่อักเสบนี้เกิดได้จากสองสาเหตุ คือ การใช้งานข้อมือลักษณะซ้ำๆ บ่อยๆ และภาวะที่เกิดจากอุบัติเหตุแม้เพียงเบาๆ หรือบางคนอาจเรียกว่า”ผิดท่า” 

แม้ว่า เอ็นข้อมืออักเสบ จะเป็นภาวะที่เราพบเจอได้บ่อยครั้งก็ไม่ควรมองข้าม เพราะหากเป็นเอ็นอักเสบธรรมดาก็ไม่น่าเป็นห่วง แต่การเจ็บบริเวณนี้ก็ยังมีอีกหลายสาเหตุที่การวินิจฉัยและการรักษามีวิธีที่ต่างกันออกไป 

การพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเรื่องเล็กๆ บริเวณข้อมือนั้นมีรายละเอียดมากมายอย่างที่เราคิดไม่ถึง แต่ในเบื้องต้นจะขอพูดถึงสาเหตุของอาการเจ็บข้อมือที่เราพบได้บ่อยที่สุด ได้แก่ เอ็นและปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ

อ่านเพิ่มเติม ปวดข้อมือมานานไม่หายสักที นี่คืออาการที่ไม่ควรมองข้าม

เอ็นข้อมืออักเสบMuscles of hand

ทำความรู้จักเส้นเอ็นของข้อมือกันก่อน

ข้อมือเป็นส่วนข้อต่อของร่างกายที่ใช้งานบ่อยที่สุด สามารถเคลื่อนไหวได้ในหลายทิศทาง การที่ข้อมือทำเช่นนี้ได้จำเป็นต้องอาศัยเอ็นรอบๆ ข้อมือ ทั้งยึดไว้และช่วยดึงให้เคลื่อนไหวในแนวต่างๆ ทำให้เอ็นเหล่านี้เกิดการอักเสบ การบาดเจ็บได้ง่าย 

นอกจากนั้นเอ็นข้อมือยังมีส่วนประกอบที่เกิดมาคู่กัน คือ ปลอกหุ้มเอ็น ที่รั้งเอ็นให้อยู่แนบข้อมือไว้ แม้จะช่วยกันทำงาน แต่หากเราใช้งานข้อมือมากๆ ทั้งเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นจะอักเสบบวม ทำให้เกิดอาการเจ็บข้อมือได้ เส้นไหนจะอักเสบอยู่ที่ลักษณะการใช้งานว่าเรามีการใช้งานตำแหน่งไหนมาก ที่พบได้บ่อยที่สุดคือการอักเสบของเอ็นที่บริเวณสันข้อมือฝั่งนิ้วหัวแม่มือที่เรียกกันว่า De Quervain’s Tenosynovitis

โรคเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ (De Quervain’s Tenosynovitis)De Quervain’s Tenosynovitis

โรคเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ (De Quervain’s Tenosynovitis)

เป็นโรคในกลุ่มเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บข้อมือ 

หากลองสำรวจตัวเอง ลองคลำดูจะพบว่าจุดนี้อยู่ที่ปุ่มนูนบนสันข้อมือฝั่งนิ้วหัวแม่มือ ซึ่งเป็นที่อยู่ของเอ็นที่ช่วยในการขยับเหยียดนิ้วหัวแม่มือ การขยับนิ้วหัวแม่มือในบางทิศทางจะทำให้เกิดอาการเจ็บแปลบขึ้นมาทันที นอกจากนี้จะมีอาการบวมในบริเวณนี้ร่วมด้วยได้ หากเป็นมาสักระยะหนึ่งจะมีการหนาตัวของปลอกหุ้มเส้นเอ็นขึ้นมา สามารถคลำเจอลักษณะก้อนนูนขึ้นมาได้

ถึงแม้ว่าเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นบริเวณข้อมืออักเสบนี้เป็นภาวะที่พบบ่อยที่สุดในการเจ็บบริเวณนี้ แต่ก็ยังมีภาวะอื่นที่ทำให้มีอาการคล้ายกันได้ ดังนั้นหากพักการใช้งานเบื้องต้นแล้ว ยังมีอาการเจ็บอยู่ ควรมาให้แพทย์ช่วยตรวจวินิจฉัยเพื่อไม่ให้อาการเรื้อรังจะดีที่สุด

อาการบาดเจ็บ และโรคอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกับโรคเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ

ด้วยความที่ข้อมือเป็นส่วนที่เล็ก เต็มไปด้วยส่วนประกอบที่สำคัญมากมาย ทำให้คนไข้ทีมีอาการเจ็บในบริเวณนี้ อาการเจ็บที่เกิดขึ้นแท้จริงแล้วอาจเกิดจากสาเหตุหลายๆ สาเหตุในบริเวณใกล้เคียงกันได้ จากปัจจัยเสี่ยงเดียวกัน ทำให้ในบางรายถึงแม้ว่าจะรักษาด้วยการฉีดยา ผ่าตัดไปแล้ว อาการก็ยังไม่หายทั้งหมด จึงจำเป็นที่จะต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยสาเหตุอย่างละเอียด 

อาการเจ็บข้อมือที่มีอาการเจ็บใกล้เคียงอื่นๆ ได้แก่

 โรคข้อโคนนิ้วโป้งเสื่อมและอักเสบ 

  • พบได้บ่อย มักพบในคนกลุ่มที่มีการใช้มือทำงานเยอะๆ 
  • กิจกรรมที่ทำให้เกิดการเสื่อมและอักเสบ คือ งานที่ใช้แรงบีบนิ้งโป้งมากๆ เช่น การใช้กรรไกร การซักผ้าด้วยมือ เป็นต้น
  • มีอาการเจ็บบริเวณข้อโคนนิ้วโป้ง เนื่องจากการใช้มือที่มีการหนีบ หยิบจับ สะสมจนทำให้ข้อโคนนิ้วโป้งเสื่อม 
  • เป็นโรคที่อาการเจ็บจะอยู่ใกล้กับโรคเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ
  • โรคข้อโคนนิ้วโป้งเสื่อม จึงอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ
  • จำเป็นต้องใช้ประสบการณ์และความแม่นยำของแพทย์เฉพาะทางในการแยกโรค 

โรคเอ็นอักเสบอื่นๆในข้อมือ 

  • เป็นการอักเสบหรือบาดเจ็บของเอ็นเส้นอื่นๆในบริเวณใกล้เคียงกัน
  • มีโอกาสที่จะเป็นร่วมกับโรคเอ็น และปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ 
  • จำเป็นต้องวินิจฉัยอย่างละเอียดโดยแพทย์เฉพาะทางด้านมือ

การรักษาโรคข้อโคนนิ้วโป้งเสื่อม และโรคเอ็นอักเสบ สามารถรักษาให้หายได้ ด้วยวิธีคล้ายๆ กับโรคเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ ในกรณีที่มีอาการมากและมีอาการในหลายส่วน ต้องวินิจฉัยว่าควรจะผ่าตัดในบริเวณไหนที่จะแก้ปัญหาได้ตรงจุด โดยคนไข้แต่ละรายจะมีรายละเอียดแตกต่างกันไป 

ซึ่งการวินิจฉัยแยกโรค จำเป็นต้องใช้ประสบการณ์ และความคุ้นเคยของแพทย์เฉพาะทางด้านมือ เพราะบริเวณที่เป็นสาเหตุของการเจ็บอยู่ห่างกันเพียงเล็กน้อย ต้องใช้ความประณีตในการตรวจ รวมทั้งอาจพิจารณาตรวจเพิ่มเติมที่เหมาะสม เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกค้อง

การลุกลามจากเอ็นข้อมืออักเสบสู่อาการบาดเจ็บอื่นๆ

โรคเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ ไม่สามารถลุกลามไปเป็นโรคอื่นๆ ได้ แต่อาจเชื่อมโยงกับอาการบาดเจ็บหรือการอักเสบที่ตำแหน่งอื่นๆ ของมือ เนื่องจากสาเหตุของการอักเสบนั้น เกิดจากการใช้มือและข้อมือทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันซ้ำๆ ทำให้มีโอกาสที่เส้นเอ็นหลายเส้นจะเกิดการอักเสบร่วมกันได้ 

นอกจากนี้ ยังพบได้บ่อยว่าเอ็นข้อมืออาจมีการอักเสบควบคู่ไปกับเอ็นของนิ้วทำให้เกิดนิ้วล็อก หรือเอ็นอักเสบบวมจนเบียดเส้นประสาททำให้มีอาการทั้งปวดและชามือร่วมด้วย

อ่านบทความเพิ่มเติม:

มือชา ปลายนิ้วชา อาการบอกเหตุ และแนวทางการรักษาเส้นประสาทบริเวณข้อมือถูกกดทับ

การผ่าตัด รักษาอาการมือชา ที่มีสาเหตุจากเส้นประสาทถูกกดทับ

การรักษาโรคเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ 

โดยหลักๆ การรักษาเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ จะแบ่งออกเป็นระยะขึ้นอยู่กับอาการของโรค เริ่มต้นจากการหลีกเลี่ยงหรือพักการใช้งานมือ ร่วมกับการกินยาลดการอักเสบ อาจพิจารณาใช้การกายภาพบำบัดควบคู่กันไป หากอาการยังไม่ดีขึ้นจะพิจารณาการรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบ