ปัญญา วุฒิ ก เร เต เต ทิน โน ว่า เท น มา มิ หั ง มี ความ หมาย ว่า

raponsan:
ปัญญาวุฒิ กเรเตเต

วุฒิ หรือ วุฑฒิธรรม ๔ (ธรรมเป็นเครื่องเจริญ, คุณธรรมที่ก่อให้เกิดความเจริญงอกงาม)

 ๑. สัปปุริสังเสวะ (คบหาสัตบุรุษ, เสวนาท่านผู้รู้ผู้ทรงคุณ)

๒. สัทธัมมัสสวนะ (ฟังสัทธรรม, เอาใจใส่เล่าเรียน หาความรู้จริง)

 ๓. โยนิโสมนสิการ (ทำในใจโดยแยบคาย, คิดหาเหตุผลโดยถูกวิธี)

 ๔. ธัมมานุธัมมปฏิบัติ (ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม, ปฏิบัติธรรมให้ถูกต้องตามหลักคือให้สอดคล้องพอดีตามขอบเขตความหมายและวัตถุประสงค์ที่สัมพันธ์กับธรรมข้ออื่นๆ, นำสิ่งที่ได้เล่าเรียนและตริตรองเห็นแล้วไปใช้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลัก ตามความมุ่งหมายของสิ่งนั้นๆ)

 ธรรมหมวดนี้ ในบาลีที่มา เรียกว่า ธรรมที่เป็นไปเพื่อ ปัญญาวุฒิ คือ เพื่อความเจริญงอกงามแห่งปัญญา

องฺ.จตุกฺก.๒๑/๒๔๘/๓๓๒
ที่มา พจนานุกกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม (ป.อ.ปยุตโต)

ดอกไม้ไหว้ครู

คนโบราณ ( ยุคก่อนราว 100 ปีมาแล้ว ) จะสอนจะเตือนคนด้วยกันเอง เพื่อให้อยู่ในสังคมของยุคนั้นได้อย่างเป็นสุขมีวิธีสอนอยู่หลายวิธี เช่น การสอนโดยการบอกตรง ๆ แต่มักจะถูกปฏิเสธหรือดื้อไม่ยอมรับคำสอน ก็จะเปลี่ยนเป็นการสอนโดยการเล่านิทานให้เป็นคติเตือนใจ จึงจะเห็นได้ว่านิทานไทย หรือที่เรียกกันว่านิทานพื้นบ้าน จะมีหลายประเภทหลายระดับของของผู้ฟังที่ต้องการสอนหรือเตือนสติว่า ควรทำ ไม่ควรทำ หรือระมัดระวัง ถ้าจะกระทำ

ถ้าเป็นเด็ก ๆ ก็จะใช้นิทานที่เกี่ยวกับสัตว์ เกี่ยวกับการสามัคคีการเสียสละ การมีความมานะพยายามและการมีจิตใจอ่อนโยน มีเมตตาต่อสัตว์ เกี่ยวกับการสามัคคี การเสียสละ มีความมานะพยายามและการมีจิใจอ่อนโยน มีเมตตาต่อสัตว์และต่อเพื่อน ๆ ด้วยกัน ตลอดจนความซื่อสัตย์ สุจริต

           เมื่อถึงวัยหนุ่มสาว มีเหย้ามีเรือนแล้วก็จะเป็นนิทานอีกลักษณะหนึ่ง โดยมุ่งสอนให้ระมัดระวังเรื่องการครองรัก ครองเรือน การคบชู้สู่ชาย การล่วงเกินทางเพศกับ พี่เมีย น้องเมีย ตลอดจนแม่ยายหรือบุคคลอื่น ๆ ในบ้าน

           นิทานไทย ไม่เว้นแม้กระทั้ง พระสงฆ์องค์เจ้า ตาเถร ยายชี ก็มีเรื่องเล่าไว้เป็นเครื่องเติอนสติเป็นการควบคุมพระธรรมวินัยอีกชั้น หนึ่ง นอกจากการอาบัติทางสงฆ์

           การสอนในลักษณะที่สามได้แก่ การใช้คำคล้องจอง สุภาษิต หรือคำพังเพย ผูกไว้เตือนใจเตือนสติ เช่น    
" น้ำขึ้นให้รีบตัก "
" ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม "
" มือไม่พายอย่าเอาเท้า ราน้ำ "
" รักดีหามจั่วรักชั่วหามเสา "
" รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง "
" รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี "
" รักยาวให้ปั่น รักสั้นให้ต่อ "
" เห็นช้างขี้อย่าขี้ตามช้าง "
" อย่าขี่ช้างจับตั๊กแตน "
" ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ "
" ไม่เห็นน้ำอย่าตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกอย่าโก่งหน้าไม้ "
" เรือล่มเมื่อจอด ตาบอดเมือแก่ "
" ดูช้างให้ดูที่หาง ดูนางให้ดูที่แม่ ดูให้แน่ต้องดูถึงยาย "
ฯลฯ

            คำสุภาษิตมีคุณสมบัติพิเศษ คือ ถ้าทำตามแล้วจะได้ดีตามนั้นส่วนคำพังเพยให้เกิดการเปรียบเทียบ เตือนสติจะทำหรือไม่ทำ ที่ยกตัวอย่างมานี้ เป็นส่วนย่อย ๆ เท่านั้น มีอีกมากมาย ที่คนโบราณท่านคิดไว้เป็นเรื่องน่าแปลกอย่างหนึ่งว่าในยุคปัจจุบันนี้ไม่มี ใครแต่ง สุภาษิต หรือคำพังเพยเพิ่มเติมอีกเลย มีแต่คำขวัญ ลม ๆแล้ง ๆ ท่องกันแจ้ว ๆ แต่ไม่ได้นำมาประพฤติปฏิบัติ

           การสอนของคนโบราณในประการที่สี่ได้แก่การใช้คุณลักษณะพิเศษของใบไม้ ดอกไม้ ต้นไม้ผลไม้ ก้อนหิน อาหาร ขนม โดยดุจากลักษณะ คุณสมบัติ ชื่อ มาเป็นเครื่องประกอบการเรียนการสอนหรือเรียกว่า อุปกรณ์การสอนคงไม่ผิด ( แสดงว่าคนโบราณเก่ง รู้จักการใช้อุปกรณ์การสอนมานมนาน ก่อนครูในยุคปัจจุบันเสียอีก )

           อุปกรณ์การสอนที่ว่ามีมากมาย ขอยกตัวอย่างอีก 2-3 ชนิด เช่น เวลาจะให้เจ้าบ่าวขึ้นเรือนหอ ให้เจ้าบ่าวยืนบนก้อนหินลับมีด ( เป็นแท่งสี่เหลี่ยมผืนฟ้า ยาว 12 นิ้ว ด้านกว้างราย 4-5 นิ้ว เป็นหินทรายเนื้อละเอียด ) บนก้อนหินมีหญ้าแพรกปูทับอยู่ แล้วญาติพี่น้องของฝ่ายเจ้าสาวก็จะราดน้ำล้างเท้าให้ ก็เป็นการสอนโดยใช้อุปกรณ์การสอนให้เจ้าบ่าวตระหนักว่า มาเป็นบ่าวจะต้องใจคอหนักแน่นเหมือนหิน และขยันทำมาหากินให้เจริญรุ่งเรืองดุจหญ้าแพรก ( เป็นหญ้าที่ทนน้ำทนฝนทนแดดทนไฟ )

              ปลูกต้นไม้ไว้หน้าบ้านต้องเป็นต้นมะยม หลังบ้านต้องเป็นต้นขนุน ก็เป็นการสอนให้รู้จักทำตัวให้เป็นที่รักใคร่นิยมชมชอบของเพื่อนบ้าน ( มะยม ) และรู้จักอุดหนุนจุนเจอเครือญาติพี่น้องตลอดจนคนบ้านใกล้เรือนเคียง ( ขนุน ) ใช้เป็นการสอนและใช้ต้นไม้เป็นอุปกรณ์การสอนอาหารหรือขนมในสำรับกับข้าวก็จะใช้เป็นอุปกรณ์การสอนได้หมด เช่น ขนมจีน จะต้องจับให้ยาว ๆ ( เส้นยาว ) เพื่อให้รักกันยืดยาว ใช้ขนมจีนสอนขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทองก็สอนให้รู้จักทำมาหากินให้มั่งมีเงินทอง ใช้ชื่อขนมสอน ใช้ขนมเป็นอุปกรณ์การสอน ฯลฯ

           ดอกไม้ก็ต้องเป็นดอกรักดอกบานไม่รู้โรย ดอกบานชื่นดอกทานตะวัน ใช้ชื่อดอกไม้เป็นมงคลและใช้ดอกไม้เป็นอุปกรณ์การสอน

           " ดอกมะเขือ " เป็นอุปกรณ์การสอนที่แยบคาย ใช้สอนให้คนรู้จักการอ่อนน้อมถ่อมตน เช่น ในการไหว้ครู จะเป็นครูดนตรี ปีพาทย์ ครูมวย ครูสอนหนังสือครูอะไรก็แล้วแต่คนโบราณจะใช้ดอกมะเขือ เป็นอุปกรณ์การสอนโดยถือว่าดอกมะเขือ เป็นดอกไม้แทนความอ่อนน้อมถ่อมตน การจะฝากตัวเป็นศิษย์ต้องรู้จักกราบไหว้บูชาครู มีกิริยามารยาทที่ดีสุภาพอ่อนโยน เมื่อมาสมัครเป็นศิษย์

              คุณสมบัติที่กล่าวข้างต้นใช้ดอกมะเขือสอน เพราะดอกมะเขือทุกดอกจะโน้มดอก ค้อมกลีบลงต่ำเสมอ เป็นการสอนให้ศิษย์รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้เป็นครู

            นอกจากการใช้ดอกมะเขือแล้ว ยังมีหญ้าแพรก ดอกเข้มมัดรวมกันไว้อีกด้วย นอกเหนือจากธูปเทียนและข้าวตอก ก็เป็นอุปกรณ์การสอนผู้เป็นศิษย์อีกเช่น กัน หญ้าแพรกหมายถึง ความเจริญงอกงามทนต่อลมฟ้าอากาศแพร่กระจายรวดเร็ว

           ดอกเข็มก็ให้มีปัญญาเฉียบแหลมราวเข็ม คือฉลาดนั่นเองส่วนข้าวตอกก็ให้ปัญญาเฉลียวฉลาดคิดได้แตกฉานราวข้าวตอกที่ แตกเมื่อคั่วในกระทะใบบัว

           ผู้เขียนเองนับถือในภูมิปัญญาของคนโบราณอย่างยิ่งและรำลึกถึงบุญคูณอยู่ตลอด เมื่อไหร่ที่ทำบุญก็จะอุทิศส่วนกุศลไปให้อยู่เสมอมิได้ขาด คนโบราณช่างชาญฉลาดที่จะสอนด้วยกลวิธีต่าง ๆ แม้กระทั่งการใช้ดอกไม้ต้นไม้ ฯลฯ เป็นอุปกรณ์การสอนทำให้ลูกศิษย์ให้ยุคก่อน เก่า และรู้จักกตัญญูรู้คุณผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์อยู่ตลอดไป แม้จะเป็นครูที่มีแต่จิตวิญญาณ ตามความเชื่อและครูที่มีตัวตน

               ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ที่คุยนักหนาว่าเก่งเป็นเลิศกว่าคนโบราณ จะรู้เท่าทัน ภูมิปัญญาของท่านเหล่านั้นบ้างหรือเปล่าปัจจุบันเวลาไหว้ครู เห็นแต่พานพุ่มมีดอกไม้จากต่างประเทศนำมาบูชาครู แล้วก็คอยฟังผลการประกวดพานว่าใครจะได้ที่หนึ่ง  กับครูในปัจจุบันจึงไม่ต่างอะไรกับคนบอกหนังสือกับคนมารู้หนังสือการเคารพนับถือการอ่อนน้อมถ่อมตน หายไปไหนตกเย็นครู ( บางคน ) เป็นนักธุรกิจเปิดสอนพิเศษ ให้กับนักเรียนของตน เก็บค่าเรียนเป็นชั่วโมง จึงไม่ต่างอะไรกับผู้รับจ้างสอนหนังสือกับเด็กจ้างครูสอน การเคารพนับถือ การอ่อนน้อมถ่อมตนจึงไม่เกิดขึ้น น่าเวทนา หญ้าแพรกดอกมะเขือ เสียจริง ที่ไม่มีโอกาสเป็นอุปกรณ์การสอนแบบโบราณอีกต่อไปแล้ว

ที่มา  http://www.culture.go.th/knowledge/story/vid/teacher/vid.html

raponsan:
ขนบประเพณี - สักวา ไหว้ครู
สาธุสะจะขอไหว้   พระศรีไตรสรณา
พ่อแม่แลครูบา   เทวดาในราศี
ข้าเจ้าเอากอขอ   เข้ามาต่อกอกา
มีใส่ไว้ในเท่านี้   ขออย่ามีที่โทษา

   นี่เป็นบทไหว้ครูที่เราคุ้นกันมากจากกาพย์พระไชยสุริยาของพระสุนทรโวหาร (ภู่) หรือที่เราเรียกท่านตามฉายาที่ชาวบ้านเรียก ๆ กันว่า "สุนทรภู่" กวีสี่แผ่นดินต้นรัตนโกสินทรสมัย หนังสือซึ่งถือเป็นหนังสือเรียนได้ เพราะสอนวิธีการเรียนหนังสือไทยอย่างสนุก โดยเอาคำประพันธ์มาล่อ ซึ่งก็จะทำให้จำได้ง่าย ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๕ - ๖ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้นำมาเป็นตัวอย่างการประสมอักษรในตำราเรียนของท่านที่เรียกว่า "มูลบทบรรพกิจ"

การกระทำอะไรต่าง ๆ ของคนไทยนั้น โดยเฉพาะในกิจกรรมพิธีกรรมต่าง ๆ มักจะเริ่มด้วยการไหว้ครูก่อนเพราะถือว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีครู ถ้าได้คารวะครูบาอาจารย์แล้ว จะเป็นมลคลทำอะไรก็ไม่ติดขัด ตรงกันข้ามกับการทำอะไรอย่างไม่คารวะ คนไทยจะรู้สึกไม่ค่อยปลอดโปร่ง โดยเฉพาะในการศิลปะแล้ว จะมีการเคารพครูเป็นอย่างสูง และถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จริงจังมาก จะทำอย่างสุกเอาเผากินหรือลือเลียนไม่ เยาวชนจึงได้รับการสอนให้รู้จัก มาตั้งแต่เยาว์วัยและนับว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งที่กวีเก่า ๆ ท่านได้กรุณาแต่งบทไหว้ครูให้อนุชนได้ท่องจำได้ใช้เป็นเครื่องพลี บทไหว้ครูใคร ๆ ก็ต้องผ่านและมักจะจำกันได้นั้นคือ

 ปาเจรา จริยา โหนติ คุณุตรานุสาสกา

ข้าขอประณตน้อมสักการ บูรพคณาจารย์
ผู้กอปรเกิดประโยชน์ศึกษา ทั้งท่านผู้ประสาทวิชา
อบรมจริยา แก่ข้าในกาลปัจจุบัน ข้าขอเคารพอภิวันท์
ระลึกคุณอนันต์ ด้วยใจนิยมบูชา ขอเดชกตเวทิตา
อีกวิริยะพา ปัญญาให้เกิดแตกฉาน
ศึกษาสำเร็จทุกประการ อายุยืนนาน
อยู่ในศีลธรรมอันดี ให้ได้เป็นเกียรติเป็นศรี
ประโยชน์ทวี แก่ชาติและประเทศไทยเทอญ

ปัญญาวุฒิ กเรเตเต ทินโนวาเท นมามิหัง
(เพื่อสะดวกแก่การอ่าน ขออนุญาตเขียนเป็นการสะกดการันต์แบบไทย โดยเฉพาะภาษาบาลีที่กำกับตอนต้นและตอนท้าย)

   กาพย์ฉบัง ๑๖ ที่เราสวดในวันไหว้ครูทุก ๆ ปีนี้มีคุณค่าทางจิตใจแก่เราเป็นอันมาก จะทำการใดต่อ ๆ ไปรู้สึกอบอุ่นใจว่าเป็นศิษย์มีครู มีผู้คอยสอดส่องดูแลให้เราทำได้ดีถูกต้อง ในวงการศิลปะไม่ว่าจะเป็นดนตรี นาฏศิลป์ สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม วิศวกรรม ฯลฯ

ล้วนมีการไหว้ครูก่อนแสดงทั้ง พวกดนตรี นาฏศิลป์ จึงมักจะมีพิธีไหว้ครู ครอบศีรษะก่อนจะแสดงหรือออกไปประกอบกิจกรรมเสมอ มักมีพิธีใหญ่โตเป็นประจำทุกปี ครูของช่างทั้งหลายทั้งปวงนั้น มักจะเป็นพระพิฆเณศร หรือพระวิษณุกรรม พระประโคนธรรพ ครูของวรรณศิลป์จะเป็นพระสุรัสวดี เป็นต้น

ในวงการศิลปะทั้งมวล ผู้ประกอบการศิลปะมักจะแสดงความเคารพทุกครูบาอาจารย์อย่างจริงใจ แม้แต่ ครูพักลำจำคือ จำเอาจากที่ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟังมาก็ถือเป็นครู ผู้ใดลบหลู่ดูหมิ่น ไม่เคารพครูบาอาจารย์มักไม่ค่อยเจริญ ในการแสดงทางศิลปะ การไหว้ครูจึงเป็นสิ่งที่ขาดเสียมิได้ พิธีกรรมในการจัดไหว้ครูนั้น เป็นสิ่งที่ควรรู้และระลึกไว้เสมอว่า ผู้หวังเจริญในการประกอบศิลปะทั้งหลายทั้งปวง การไหว้ครูเป็นสิ่งที่ขาดมิได้

 การไหว้ครูของการแสดงต่าง ๆ มักจะมีลักษณาการใกล้เคียงกัน ในที่นี้จะขอยกตัวอย่าง การไหว้ครูในการแสดงสักวามาเป็นเครื่องรำลึกพอควรแก่กรณี ในหนังสือ ประชุมบทสักวาที่เล่นถวายในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งสมาคมนิสิตเก่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จัดพิมพ์เป็นครั้งที่สามใน พ.ศ. ๒๕๓๔ มีบทไหว้ครูที่ขอยกมาเป็นตัวอย่าง บทไหว้ครูของอาลักษณ์ เล่นถวายที่พระที่นั่งสนามจันทร์ เมื่อวันพุธ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีวอก จัตวาศก ๑๒๓๔ มีว่า

สักวาขอบังคมประนมน้อม   พระจุลจอมเกล้าเกษกษัตริย์ฉัตรเฉลิม
วงอาลักษณ์จักสนองร้องประเดิม   เป็นบทเริ่มเพิ่มพระบารมี
แม้กล่าวคำลำพองคะนองจิต   มิได้คิดสอบสวนดูถ้วนถี่
ขอพระคุณมุลิกาฝ่าธุลี   อย่าได้มีโทษาแก่ข้าเอย
   บทนี้ถือว่า องค์ประธานคือ สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเป็นประมุขสูงสุดในที่นั้น จึงมิต้องไหว้ครูอื่น ๆ เหมือนที่ผู้ใหญ่สั่งสอนว่า ถ้าไปในงานใดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับ ณ ที่นั้น เราจะต้องไม่ไปยกมือไหว้คนอื่นใดในบริเวณนั้นอีก นี่คือวัตรที่ถูกต้อง แต่คนเราออกจะรู้สึกว่าตนจะไม่เป็นที่น่าดู ถ้าไม่แสดงควมเคารพคนที่รู้จักกัน กลัวจะถูกตำหนิได้
ส่วนวง “ พระองค์เจ้าประเสริฐศักดิ์” ทรงบทไหว้ครูว่า

สักวามาบังคมประนมบาท   บรมไทธิราชนรังสรรค์
มิ่งมงกุฏอยุธยาทั่วสามัญ   ดังฉัตรแก้วกางกั้นสยามภพ
ทรงปัญญาดังมหากระแสสินธุ์   มิรู้สิ้นไหลหลั่นพลั่งตระหลบ
บำรุงเมืองเรืองรองอร่ามครบ   ขจรจบเกียรติยศปรากฏเอย

ในยุคปัจจุบัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเคยทรงบทไหว้ครูไว้ อย่างครั้งที่ทรงสักวาครั้งแรกของพระองค์ ณ ศูนย์วิจัยวัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม เมื่อ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๓๐ ดังนี้

สักวาไหว้ครูผู้สอนสั่ง   ไหว้ทุกท่านที่นั่งอยู่ที่นี่
ล้วนแต่เป็นนักปราชญ์จอมกวี   อาวุโสศักดิ์ศรีเป็นอาจารย์
ไม่เคยเล่นสักวาข้าอ่อนหัด   กลอนติดขัดจงช่วยด้วยสงสาร
มาวันนี้หวังใจให้เบิกบาน   คุณครูท่านโปรดสงเคราะห์ให้เหมาะเอย
ครั้งที่สองเมื่อทรงสักวาที่วังบ้านปลายเนิน ๒๖ กันยายน ๒๕๓๑ พระองค์ทรงไหว้ครูว่า
สักวาน้อมเบญจางคประดิษฐ์   ไหว้ไตรรัตน์ประสิทธิ์ประเสริฐผล
ดุลแสงสูรย์ส่องสว่างกระจ่ายมน   เชิดชูชนพ้นวิสัยแห่งภัยพาล
ไหว้คุณครูอาจารย์ชาญวิชา   ศิลปะทุกสาขารู้แตกฉาน
เพียรสอนสั่งด้วยเมตตามาก็นาน   ขอให้ท่านช่วยวันนี้กลอนดีเอย

   นักกลอนชั้นครูในยุคปัจจุบันหลายท่านที่เคยแต่งบทสักวาไหว้ครูได้น่าฟัง ม ร ว ศึกฤทธิ์ ปราโมช เคยแสดง ณ สังคีตศาลา เมื่อ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๐๒ ในการเล่นสักวาเรื่องสังข์ทอง ไว้ว่า

สักวาประนมนิ้วขึ้นเหนือเศียร   ต่างธูปเทียนดอกไม้ทองของถวาย
ไหว้พระแก้วทั้งสามอร่ามราย   ที่ส่องสายทางเลิศเกิดปัญญา
ไม่ไหว้ครูอื่นใดในพิภพ   ผู้แจ้งจบเกินพระพุทธสุดจักหา
ไม่มีศาสตร์ใดล้ำพระธรรมา   พระสงฆ์สาวกวิมุติสุดเปรียบเอย
นับเป็นบทไหว้ครูชั้นครูทีเดียว บทนี้ร้องด้วยเพลงพระทอง อาจารย์มนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ – ดนตรี กรมศิลปากร เคยบอกบทไหว้ครูในการแสดงสักวาเรื่องขุนช้างขุนแผน ทีหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวาระถวายพระพรปีใหม่ ๑๒ มกราคม ๒๕๐๓ ว่า

สักวาถวายบังคมบรมบาท   ภูวนาถนฤบดินทร์ปิ่นเกศี
ทั้งสมเด็จพระบรมราชินี   พระบารมีปกเกล้าฯ เหล่าสักวา
ขอถวายพระพรทวีในปีใหม่   ให้สองไท้ทรงเกษมสุขหรรษา
พระชนม์ธำรงรัฐวัฒนา   ปกประชาไทยระรื่นฉ่ำชื่นเอย
ที่มา  http://www.culture.go.th/knowledge/story/vid/teacher/vid.html

ทุกท่านครับ คงไม่ต้องบอกว่า ณ โอกาสนี้เพื่อใคร

คุณครูทุกท่านครับ คำเรียกว่า ครู กับ อาจารย์ ได้ยินแล้วให้ความรู้สึกอย่างไรครับ

ผมไม่ใช่ครู ขออนุญาตสงสัย

อีกอย่าง คำไหว้ครูที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน(ปาเจราฯ) ผมหาประวัติไม่ได้

หวังใจเป็นอย่างยิ่งว่า คุณครูจะมีคำตอบให้ นักเรียนคนไหนทราบ ก็ตอบได้นะครับ

ขอให้ธรรมคุ้มครอง

chutina:
http://www.youtube.com/watch?v=lgGsNFV8B7o

16 มกราคม 2553 กำหนดเป็นวันครูแห่งชาติ ทุกปี

pimpa:
ครูใน จ.นราธิวาส ร่วมปฏิญาณตนไม่ทิ้งศิษย์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สืบทอดเจตนารมณ์ครูเหยื่อโจรใต้ 138 ราย พร้อมยืนสงบนิ่ง ไว้อาลัย...
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 16 ม.ค. ณ ห้องประชุมโรงเรียนนราสิกขาลัย อ.เมืองนราธิวาส นายธนน เวชกรกานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานในพิธีวันครู และมอบโล่รางวัลเกียรติบัตร รวมทั้งทุนการศึกษาแก่ข้าราชการครูที่มีผลงานดีเด่นประจำปี 2553 เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ครูที่เสียสละ และปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีมาตลอด โดยที่ไม่คำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อยและต้องเสี่ยงกับการเดินทางไปปฏิบัติ หน้าที่ในแต่ละวัน ท่ามกลางเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ นายวิชัย อสิเศวตกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้าน อ.เมืองนราธิวาส ได้เป็นผู้นำคณะครูกล่าวปฏิญาณตนและสวดคำฉันท์ระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ โดยสรุปใจความว่า ครูทุกคนจะร่วมอุดมการณ์สอนศิษย์ โดยไม่ละทิ้งพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนกว่าชีวิตจะหาไม่ เพื่อเป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 138 ราย ที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งภายหลังจากการปฏิญาณตนแล้วเสร็จ คณะครูที่ร่วมงานได้ร่วมกันยืนสงบนิ่ง 1 นาที เพื่อร่วมไว้อาลัยแก่ครู จำนวน 138 ราย โดยเฉพาะครูจูหลิง ปงกันมูล ครูโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ที่ถูกคนร้ายรุมประชาทัณฑ์จนเสียชีวิต ขณะสอนหนังสือเด็กชั้นอนุบาลเมื่อ ปี 2548 ที่ผ่านมา และรายล่าสุด นายมาโนช ชฎารัตน์ ครูโรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูลปัตตานี จ.ปัตตานี ที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 ม.ค.54 ที่ผ่านมา