ท่านงาวังนัมเยลได้วางรากฐานการปกครองด้วยกฎหมาย ๒ ฉบับ ได้แก่ ชา ลุง มิลุ ลุง และโล ทริม มิลุ ทริม

พระพุทธศาสนาในภูมิภาคเอเชีย

            

๑. เพื่อให้ผู้ศึกษาทราบภาพรวมของพระพุทธศาสนาในเอเชียในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร

            

๒. เพื่อให้ผู้ศึกษามีความรู้ความเข้าใจประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในเอเชียตั้งแต่อดีตที่พระพุทธศาสนาเริ่มเผยแผ่เข้าไปจนถึงปัจจุบัน  

๑. ภาพรวมพระพุทธศาสนาในเอเชีย

๒.  ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในเอเชีย

๒.๑ พระพุทธศาสนาในเอเชียใต้

๒.๒ พระพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออก

๒.๓ พระพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

๒.๔ พระพุทธศาสนาในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้

๒.๕ พระพุทธศาสนาในเอเชียกลาง

         

๑. พระพุทธศาสนาในเอเชียยุคปัจจุบันเจริญรุ่งเรืองอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก ซึ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม  ในแถบนี้ประชาชนส่วนใหญ่นับถือนิกายเถรวาท ยกเว้นประเทศเวียดนามส่วนใหญ่นับถือนิกายมหายาน  ส่วนเอเชียตะวันออก ได้แก่ ประเทศจีน  เกาหลีใต้  ไต้หวัน ทิเบต ญี่ปุ่น เป็นต้น ในแถบนี้ประชาชนส่วนใหญ่นับถือนิกายมหายาน  ในเอเชียใต้ก็มีบางประเทศที่พระพุทธศาสนายังเจริญอยู่ เช่น ประเทศศรีลังกา และภูฏาน เป็นต้น

         

๒. พระพุทธศาสนาเข้าไปสู่ประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชียไม่พร้อมกัน บางประเทศก็เข้าไปตั้งแต่เมื่อครั้งพุทธกาล โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ใกล้อินเดีย เช่น ประเทศเนปาล บังกลาเทศ อัฟกานิสถาน เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่แล้วได้รับพระพุทธศาสนาครั้งแรกในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช จากการจัดส่งสมณทูต ๙ สาย ไปประกาศพระศาสนา

หลังจากแต่ละประเทศรับพระพุทธศาสนาไปแล้ว ก็มีทั้งยุคเจริญและยุคเสื่อม ความเสื่อมของพระพุทธศาสนา มีปัจจัยสำคัญมาจากทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งสาเหตุภายในนั้นสำคัญที่สุด คือ หากพุทธบริษัทไม่ได้เป็นชาวพุทธที่แท้จริง ไม่หมั่นศึกษาทั้งปริยัติและปฏิบัติ  ก็ไม่มีปฏิเวธ คือการบรรลุธรรมระดับต่างๆ จึงเป็นเหตุให้มีศรัทธาไม่มั่นคง และส่งผลเป็นความเสื่อมของพระพุทธศาสนาในที่สุด ปัจจัยภายนอกเป็นเพียงปลายเหตุเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการเมือง หรือการรุกรานจากต่างศาสนา เป็นต้น แต่ถ้าพุทธบริษัทเป็นชาวพุทธที่แท้จริงแล้ว ก็จะส่งผลให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นไป ภัยใดๆ ก็ไม่สามารถทำลายได้

ภาพรวมพระพุทธศาสนาในเอเชีย

ทวีปเอเชียเป็นถิ่นกำเนิดของศาสนาใหญ่ทุกศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลามและฮินดู ปัจจุบันศาสนาคริสต์มีศาสนิกมากที่สุดคือ ๒,๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐ คนทั่วโลก  อันดับสองคือ ศาสนาอิสลาม มี ๑,๓๐๐,๐๐๐,๐๐๐ คน อันดับสามคือ กลุ่มที่ไม่มีศาสนาบ้าง ผู้ไม่เชื่อในพระเจ้าบ้าง (Atheist) หรือผู้ที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะรู้เรื่องพระเจ้าบ้าง (Agnostic) ในกลุ่มนี้มีประมาณ ๑,๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐ คน  ศาสนาฮินดูเป็นลำดับที่สี่ มีศาสนิก ๙๐๐,๐๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งเกือบทั้งหมดอยู่ในประเทศอินเดีย  อันดับที่ห้าเป็นศาสนาในประเทศจีน ได้แก่ เต๋า ขงจื้อ และศาสนาพื้นเมือง มีประมาณ ๓๙๔,๐๐๐,๐๐๐ คน ส่วนพระพุทธศาสนาอยู่ในลำดับที่หก มีพุทธศาสนิกชนประมาณ ๓๗๖,๐๐๐,๐๐๐ คนทั่วโลก

พระพุทธศาสนายังแบ่งออกเป็นนิกายเถรวาทประมาณ ๑๒๔,๐๐๐,๐๐๐ คน มหายานประมาณ ๒๐๕,๐๐๐,๐๐๐ คน และอื่นๆ อีกประมาณ ๔๗,๐๐๐,๐๐๐ คน ในนิกายมหายานเฉพาะพระพุทธศาสนาแบบทิเบตหรือวัชรยาน มีศาสนิกประมาณ ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ คนทั่วโลก

สำหรับพระพุทธศาสนาในเอเชียปัจจุบันเจริญรุ่งเรืองอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก ซึ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกอบด้วยประเทศไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม เป็นต้น ส่วนเอเชียตะวันออกประกอบด้วยประเทศจีน มาเก๊า เกาหลีใต้ ไต้หวัน ทิเบต  เป็นต้น ในเอเชียใต้ก็ยังมีอยู่พอสมควรโดยเฉพาะในศรีลังกา และภูฏาน ส่วนในอินเดียมีพุทธศาสนิกชนอยู่ ๗,๐๐๐,๐๐๐ คน ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับศาสนาฮินดูซึ่งมีถึง ๙๐๐,๐๐๐,๐๐๐ คน

หากพิจารณาสัดส่วนของประชากรทั้งหมดกับผู้นับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ประเทศไทยมีสัดส่วนของประชากรนับถือพระพุทธศาสนาสูงที่สุดในโลกคือ ๙๕% รองลงมาคือ กัมพูชา ๙๐% พม่า ๘๘% ภูฏาน ๗๕% ศรีลังกา ๗๐% ทิเบต ๖๕% เป็นต้น แต่ถ้าถือเอาจำนวนผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนามากที่สุดโดยไม่คำนึงถึงสัดส่วนประชากรแล้ว ประเทศจีนมีพุทธศาสนิกชนมากที่สุดในโลกคือ ๑๐๒,๐๐๐,๐๐๐ คน รองลงมาคือญี่ปุ่น ๘๙,๖๕๐,๐๐๐ คน ส่วนประเทศไทย เป็นอันดับที่สามคือ ๕๕,๔๘๐,๐๐๐ คน ดังแผนภูมิต่อไปนี้

ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในเอเชีย

พระพุทธศาสนามีจุดกำเนิดที่ประเทศอินเดียทางตอนเหนือและเผยแผ่ไปยังนานาประเทศโดยรอบ บางประเทศนั้นพระพุทธศาสนาเผยแผ่ไปถึงตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยเฉพาะประเทศที่มีพรมแดนติดกับอินเดีย เช่น ประเทศเนปาล เป็นต้น แต่ส่วนมากได้รับพระพุทธศาสนา ครั้งแรกในยุคพระเจ้าอโศกมหาราช จากสมณทูต ๙ สาย ดังกล่าวแล้วในบทที่ ๒  ประเทศต่างๆ ในเอเชียเปิดรับเอาพระพุทธศาสนาเข้ามาประสมประสานกับอารยธรรมเดิมของตน จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของดินแดนนั้นๆ

ทวีปเอเชียมีประชากรราว ๖๐% ของประชากรโลก มีเขตแดนติดต่อกับ ๒ ทวีป คือ  ทวีปแอฟริกา และทวีปยุโรป นอกจากนี้ ทวีปเอเชียยังรวมถึงเกาะต่างๆ ในมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกด้วย แบ่งภูมิภาคออกเป็นส่วนตามทิศต่างๆ ดังนี้คือ เอเชียเหนือ เอเชียกลาง เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เอเชียใต้ และเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ (หรือตะวันออกกลาง)

            

การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในยุคก่อนนั้น พระภิกษุผู้เป็นธรรมทูตมักจะเดินทางไปบนเส้นทางการค้าขายที่เรียกว่า เส้นทางสายไหม (Silk Road) ซึ่งเป็นเส้นทางของขบวนคาราวานในภูมิภาคเอเชียใต้ที่เชื่อมเมืองต่างๆ ระหว่างเอเชียไมเนอร์ไปถึงประเทศจีนเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าสำคัญ อันได้แก่ เส้นไหม ผ้าไหม และเครื่องเทศ เป็นต้น

ในช่วง ๓,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว เส้นทางสายไหมเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโตของแหล่งอารยธรรมโบราณหลายแห่ง คือ อียิปต์โบราณ เมโสโปเตเมีย จีน โรมัน เปอร์เซียและอินเดีย เส้นทางสายไหมมีทั้งทางบกและทางทะเล สำหรับทางบกมีอยู่ ๒ สาย คือ

๑. เริ่มต้นที่ประเทศจีน จากเมืองฉางอัน (Chang'an) ปัจจุบันเรียกชื่อซีอาน (Xi'an)  ซึ่งเป็นเมืองหลวงตั้งอยู่ในมณฑลชานสี (Shaanxi) ผ่านมณฑลกันสู (Kansu) มณฑลซินเจียง (Xinjiang) ข้ามเทือกเขาพามีร์ (Pamir) สู่ประเทศอัฟกานิสถานและอิหร่าน

๒. อีกเส้นทางหนึ่งจากตอนใต้ของประเทศรัสเซียเข้าสู่เอเชียกลางไปยังประเทศแถบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เส้นทางนี้ยาวมากกว่า ๑๐,๐๐๐ กิโลเมตร เป็นเส้นทางแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการค้าระหว่างประเทศจีน และประเทศในเอเชียกลาง

สำหรับการเดินทางทางทะเล เส้นทางสายไหมยังขยายไปยังเกาหลี ญี่ปุ่น และประเทศแถบคาบสมุทรอินโดจีนได้แก่ ไทย พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชาและอินโดนีเซีย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการเดินทางไปยังคาบสมุทรเปอร์เซียและประเทศแถบชายฝั่งทะเลอาหรับ (Arabian Sea) หลังจากนั้นจึงต่อไปยังประเทศอื่นๆ

๑.  พระพุทธศาสนาในเอเชียใต้

เอเชียใต้ประกอบด้วยประเทศบนเทือกเขาหิมาลัย ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน เนปาล ภูฏานและบังกลาเทศ รวมทั้งประเทศในมหาสมุทรอินเดีย ได้แก่ ศรีลังกาและมัลดีฟส์  ประเทศเหล่านี้เป็นต้นแหล่งแห่งพระพุทธศาสนาในยุคแรก โดยเฉพาะประเทศอินเดีย พระพุทธศาสนาบังเกิดขึ้นท่ามกลางสังคมอินเดียที่มีความหลากหลายทางด้านความเชื่อ แต่ด้วยเวลาเพียงไม่นานก็สยบความเชื่อและวัฒนธรรมดั้งเดิมลงได้ จนกลายเป็นศาสนาที่สูงเด่นในครั้งพุทธกาล ยุคต่อมาก็ค่อยๆ แผ่ขยายผ่านเส้นทางสายไหมไปยังนานาประเทศโดยรอบ ดังจะได้บรรยายในแต่ละประเทศดังนี้

ประเทศเนปาลมีชื่อเป็นทางการว่า ราชอาณาจักรเนปาล (Kingdom of Nepal) ตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย มีพรมแดนติดกับทิเบต และอินเดีย มีเมืองหลวงชื่อ กาฐมาณฑุ และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เนปาลมีประชากรประมาณ ๒๗,๑๓๓,๐๐๐ คน (พ.ศ.๒๕๔๘) The ๒๐๐๑ census (พ.ศ.๒๕๔๔) ระบุว่า ชาวเนปาล ๘๐.๖% นับถือศาสนาฮินดู ๑๐.๗% (ประมาณ ๒,๙๐๓,๒๓๑ คน) นับถือศาสนาพุทธ ๔.๒% เป็นมุสลิม ๓.๖% นับถือคิรัท (Kirat) ซึ่งเป็นศาสนาพื้นเมือง ๐.๕% นับถือศาสนาคริสต์ และ ๐.๔% นับถือศาสนาอื่นๆ

พระพุทธศาสนาเข้าสู่เนปาลตั้งแต่สมัยพุทธกาล ทั้งนี้เพราะกรุงกบิลพัสดุ์อันเป็นเมืองประสูติของพระโพธิสัตว์ ซึ่งในอดีตอยู่ในรัฐอุตตระของอินเดีย ปัจจุบันอยู่ในเขตเนปาลขณะที่อังกฤษปกครองอินเดีย ได้แบ่งกรุงกบิลพัสดุ์ให้เป็นส่วนของเนปาล ในสมัยพุทธกาลพระพุทธองค์เคยเสด็จไปโปรดพระญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ นอกจากนี้หลังพุทธปรินิพพานแล้วพระอานนท์ก็ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาไปในบริเวณนี้ ชาวเนปาลส่วนหนึ่งจึงนับถือพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ยุคพุทธกาล

ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ทรงพระราชทานพระราชธิดาพระนามว่า จารุมตี แก่ขุนนางใหญ่ชาวเนปาล พระเจ้าอโศกมหาราชและเจ้าหญิงจารุมตีทรงสร้างวัดและเจดีย์หลายแห่งในเนปาล ซึ่งยังคงปรากฏอยู่ที่กรุงกาฐมาณฑุในปัจจุบัน

พระพุทธศาสนาในยุคแรกเป็นนิกายเถรวาท ต่อมาเมื่อเสื่อมสูญไป เนปาลกลายเป็นศูนย์กลางของมหายานนิกายตันตระ ซึ่งใช้คาถาอาคมและพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีพุทธปรัชญาสำนักใหญ่ๆ เกิดขึ้นอีก ๔ นิกาย คือ สวาภาวิภะ ไอศวริกะ การมิกะและยาตริกะ ซึ่งแต่ละนิกายยังแยกย่อยออกไปอีก นิกายต่างๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานเข้าด้วยกันของความคิดทางปรัชญาหลายๆ อย่าง ชาวเนปาลได้รักษาสืบทอดพุทธปรัชญาเหล่านี้มาจนถึง ปัจจุบัน ในแต่ละนิกายมีคำสอนดังนี้

๑. นิกายสวาภาวิภะ นิกายนี้สอนว่า สิ่งทั้งหลายในโลกมีลักษณะแท้จริงในตัวของมันเอง ซึ่งแสดงออกเป็น ๒ ทาง คือ ความเจริญ (ปฺรวฺฤตฺติ) และความเสื่อม (นิวฺฤตฺติ)

๒. นิกายไอศวริกะ นิกายนี้สอนให้เชื่อในเทพเจ้าผู้สมบูรณ์ที่สุด และมีอำนาจที่สุด

๓. นิกายการมิกะ นิกายนี้สอนการอบรมจิตใจ เพราะเป็นวิธีกำจัดอวิชชาให้หมดสิ้นได้

๔. นิกายยาตริกะ นิกายนี้สอนให้เชื่อในความมีอยู่ของวุฒิปัญญาและเจตจำนงอิสระ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างปรัชญาต่างๆ ของอินเดียและทิเบต ภายใต้อิทธิพลของศาสนาฮินดูและพระพุทธศาสนา

ในสมัยที่ชาวมุสลิมเข้ารุกรานแคว้นพิหารและเบงกอลของอินเดีย พระภิกษุจากอินเดียต้องหลบหนีภัยเข้าไปอาศัยในเนปาล และได้นำคัมภีร์พระพุทธศาสนาเข้าไปด้วย ซึ่งมีการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีจนถึงทุกวันนี้ แต่เมื่อมหาวิทยาลัยนาลันทาในอินเดียถูกทำลาย   ก็ส่งผลให้พระพุทธศาสนาในเนปาลพลอยเสื่อมลงด้วย

ปัจจุบันเนปาลมีการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเถรวาทขึ้นใหม่ โดยส่งพระภิกษุสามเณรไปศึกษาในประเทศต่างๆ เช่น ศรีลังกา พม่า และไทย เมื่อกลับมาเนปาลแล้วก็ออกเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะพระภิกษุที่เดินทางไปศรีลังกาได้อาราธนาท่านธรรโทรยะสุภะ ภิกษุชาวศรีลังกามาฟื้นฟูพระพุทธศาสนาด้วย มีการแปลพระสูตรจากภาษาบาลีเป็นภาษาท้องถิ่นแล้วจัดพิมพ์ออกเผยแพร่

            

ประเทศภูฏานมีชื่อเป็นทางการว่า ราชอาณาจักรภูฏาน (Kingdom of Bhutan) เป็นประเทศเล็กๆ มีพื้นที่เพียง ๔๗,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่บนเชิงเขาหิมาลัย อยู่ทางตอนใต้ของจีนและทิเบต เหนือบังกลาเทศและอินเดีย ติดกับเนปาล มีเมืองหลวงชื่อ ทิมพู ลักษณะการปกครองเป็นแบบกึ่งศาสนากึ่งอาณาจักรคล้ายกับทิเบต แต่มีความต่างกันบ้าง คือทิเบตมีองค์ทะไล ลามะเป็นผู้นำทั้งทางศาสนาและอาณาจักร ส่วนภูฏานมีกษัตริย์ปกครองประเทศ และมีพระสงฆ์ผู้มีสมณศักดิ์สูงสุด เรียกว่า เจ เคนโป (Je Khenpo) เป็นประมุขสงฆ์และช่วยบริหารราชการแผ่นดินด้วย เจ เคนโป มีฐานะเทียบเท่ากษัตริย์ ในอดีตการปกครองของทั้งสองประเทศเหมือนกัน ประชากรในภูฏานมีประมาณ ๗๕๒,๗๐๐ คน (พ.ศ. ๒๕๔๘)  โดย ๗๔% นับถือพระพุทธศาสนา นิกายตันตรยาน ๒๕% นับถือศาสนาฮินดู ๐.๗% เป็นมุสลิมและ ๐.๓% นับถือศาสนาคริสต์

พระพุทธศาสนาในภูฏานมีลักษณะแบบเดียวกับทิเบต โดยท่านคุรุปัทมสัมภวะเป็นผู้นำพระพุทธศาสนาตันตระมาเผยแผ่ครั้งแรกในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ต่อมาในปี พ.ศ.๑๗๖๓  ลามะทิเบตชื่อ ปาโช ดรุกอมชิโป (Phajo Drugom Shigpo) เดินทางมาเผยแผ่นิกายดรุกปะกาจู (Drukpa Kagyupa) ซึ่งพระลามะในนิกายนี้สามารถมีภรรยาได้ ในระหว่างที่ลามะปาโชเดินทางไปเมืองทิมพู ท่านได้แต่งงานกับนางโซนัม พอลดอน มีบุตรสาว ๑ คน บุตรชาย ๔ คน ลามะปาโชเป็นที่เคารพนับถือของชาวภูฏานมาก เป็นผู้นำทั้งศาสนจักรและอาณาจักร เช่นเดียวกับทิเบต ต่อมาบุตรชายทั้ง ๔ คน ได้ครองเมืองคนละเมือง นิกายดรุกปะกาจูได้เป็นนิกายที่สำคัญของประเทศภูฏานจนถึงปัจจุบัน

ในช่วงแรกๆ ภูฏานรับแบบอย่างการปกครองมาจากทิเบต คือ ผู้นำประเทศจะเป็นผู้นำทางศาสนาด้วย  ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนแปลงคือ กษัตริย์ทำหน้าที่ปกครองฝ่ายบ้านเมือง ส่วนพระสังฆราชหรือ เจ เคนโป ปกครองสงฆ์เป็นหลัก แต่ก็มีส่วนในการปกครองประเทศด้วย โดยพระสงฆ์มี ๑๐ ที่นั่งในสภา ผู้วางรากฐานการปกครองนี้คือ ลามะชับดรุง งาวัง นัมเยล (Shabdrung Ngawang Namgyel; พ.ศ.๒๑๓๗ - ๒๑๙๔) การปกครองระบอบนี้ใช้กฎหมาย ๒ ฉบับ คือ โล ทริม มิ ลุ ทริม คือกฎหมายทางใจ และซา ลุง มิ ลุ ลุง คือกฎหมายทางโลก

ต่อมาวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๘ พระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ทรงประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญและมีคณะองคมนตรีเป็นที่ปรึกษา สภาแห่งชาติ ของภูฏานเรียกว่า Tsongdu ทำหน้าที่ในการออกกฎหมาย ประกอบด้วยสมาชิก ๑๕๑ คน จำนวน ๑๐๖ คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และอีก ๕๕ คน มาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์

ชาวภูฏานมีเทศกาลที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งคือ เทศกาลเตชู (Tsechu) ซึ่งจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อระลึกถึงการกำเนิดของท่านคุรุปัทมสัมภวะ ผู้ได้รับการกล่าวขานว่าถือกำเนิดมาจากดอกบัวตามความเชื่อในพระพุทธศาสนานิกายวัชรยาน เทศกาลนี้จะจัดขึ้นทุกปีหมุนเวียนไปตามปฏิทินทางจันทรคติ ในเทศกาลจะมีการแสดงระบำหน้ากาก โดยพระลามะ  ผู้แตกฉานในตำราวัชรยาน จะสวมใส่เสื้อผ้าที่สวยงามหลากหลายด้วยหน้ากากแห่งทวยเทพ ปีศาจและเหล่าสรรพสัตว์

บังกลาเทศมีชื่อเป็นทางการว่า สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ (Peoples Republic of Bangladesh) คำว่า "บังกลาเทศ (Bangladesh)" แปลว่า "ประเทศแห่งเบงกอล" ตั้งอยู่ทาง ทิศเหนือของอ่าวเบงกอล มีพรมแดนติดกับอินเดียเกือบทุกด้าน เมืองหลวงชื่อ ธากา เป็นเมืองใหญ่สุด บังกลาเทศมีประชากรประมาณ ๑๔๑,๘๒๒,๐๐๐ คน (พ.ศ.๒๕๔๘) นับถือศาสนา  อิสลาม ๘๘.๓% ศาสนาฮินดู ๑๐.๕% ศาสนาคริสต์ ๐.๗% ศาสนาพุทธ ๐.๕% ส่วนมากอยู่ในเขตจิตตะกอง ซึ่งมีตระกูลชาวพุทธที่สืบเนื่องมายาวนานคือตระกูลบารัว

บังกลาเทศในปัจจุบันมีประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า ๑,๐๐๐ ปี เดิมเป็นส่วนหนึ่งของ อินเดีย  เคยเป็นดินแดนที่ศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก่อน ต่อมาพ่อค้าชาวอาหรับนำศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแผ่ จนชาวบังกลาเทศส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม    มาถึงทุกวันนี้

ปี พ.ศ.๒๓๐๐ อังกฤษเข้ายึดครองอินเดียและปกครองอยู่เกือบ ๒๐๐ ปี ได้คืนเอกราชให้อินเดียในปี พ.ศ.๒๔๙๐ แต่แบ่งดินแดนออกเป็น ๒ ส่วน คือ อินเดีย และปากีสถาน เบงกอลตะวันออก (East Bengal) หรือส่วนที่เป็นบังกลาเทศปัจจุบัน เป็นจังหวัดหนึ่งของปากีสถานเรียกกันว่าปากีสถานตะวันออก ต่อมาชาวปากีสถานตะวันออกไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลกลาง เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๔ จึงประกาศแยกตัวออกมา และได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์ในวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๔

         

พระพุทธศาสนาเข้าสู่บังกลาเทศหลายยุคหลายสมัย เริ่มตั้งแต่สมัยพุทธกาล ทั้งนี้สังเกตได้จากวัฒนธรรมของชาวเบงกอลคล้ายคลึงกับชาวมคธ ในปี พ.ศ.๒๔๓ พระเจ้าอโศกมหาราชเผยแผ่พระพุทธศาสนามายังดินแดนแห่งนี้ด้วย และในปี พ.ศ.๖๐๐ สมัยพระเจ้ากนิษกมหาราช  ทรงเลื่อมใสพระพุทธศาสนานิกายสรวาสติวาทินและเผยแผ่เข้ามาสู่บังกลาเทศเช่นกัน หลังจากนั้นพระพุทธศาสนามหายานก็เจริญรุ่งเรืองเรื่อยมา จนกระทั่งในปี พ.ศ.๑๖๔๓ - ๑๘๔๓ พระพุทธศาสนาก็เสื่อมลง ศาสนาพราหมณ์เข้ามามีบทบาทแทน

ต่อมาในสมัยยะไข่ (มอญ) พระพุทธศาสนาเถรวาทเจริญรุ่งเรืองมาก สมัยนั้นจิตตะกองอยู่ภายใต้

การดูแลคุ้มครองของยะไข่ มีพระภิกษุสงฆ์จำนวนมากจาริกไปยังจิตตะกองและได้เผยแผ่สืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนานถึง ๑๐๐ ปี ทำให้ชาวจิตตะกองนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมาจนถึงทุกวันนี้ พระพุทธศาสนาในบังกลาเทศแบ่งนิกายออก เป็น ๒ นิกาย คือ

๑. นิกายมาเถ หรือมหาเถรนิกาย เป็นนิกายเก่าแก่ ยึดหลักคำสอนดั้งเดิมหรือเถรวาท มีพระภิกษุอยู่ประมาณ ๔๐-๕๕ รูป อยู่ที่ตำบลราอุชาน รางคุนิยา โบวาลคลี และปาจาลาอิศ

๒. นิกายสังฆราช นิกายนี้เกิดภายหลังนิกายมาเถ คือ นับย้อนไปประมาณ ๑๐๐ กว่าปีที่ผ่านมานี้เอง มีพระสังฆราชเมธมหาเถระ เป็นผู้ให้กำเนิด มีพระภิกษุประมาณ ๘๐๐ กว่ารูป อาศัยอยู่ทั่วประเทศ

ประเทศศรีลังกา (Sri Lanka) หรือชื่อทางการว่า สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา (Democratic Socialist Republic of Sri Lanka) ได้รับผลกระทบจากการสู้รบระหว่างรัฐบาล และกบฏทมิฬอีแลมมายาวนาน เพิ่งมีข้อตกลงหยุดยิง เมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๔๕ ศรีลังกามีเมืองหลวงชื่อ ศรีชเยวรเทเนปุระคอตเต เมืองที่ใหญ่ที่สุดคือ โคลัมโบ    มีประชากรประมาณ ๒๐,๗๔๓,๐๐๐ คน (พ.ศ.๒๕๔๘) นับถือศาสนาพุทธประมาณ ๖๘% ฮินดู ๑๘% และคริสต์ศาสนา ๗-๘% โดยส่วนใหญ่ผู้ที่นับถือฮินดูนั้นเป็นชาวทมิฬ ส่วนคริสเตียนเป็นชาวโปรตุเกสและฮอลแลนด์

ศรีลังกามีวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะวัฒนธรรมการบวช  พระภิกษุจะนิยมบวชตลอดชีวิต แต่ละปีบวชได้เพียงครั้งเดียว และแต่ละวันบวชได้เพียง ๑ รูปเท่านั้น ด้วยเหตุนี้พระภิกษุศรีลังกาจึงมีคุณภาพ ไม่ได้บวชโดยหวังพึ่งพระศาสนาเพียงชั่วครั้งชั่วคราวแล้วลาสิกขาออกไป ปัจจุบันพระภิกษุที่จาริกเผยแผ่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็นพระจากศรีลังกาจำนวนมาก ทั้งนี้เพราะท่านมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษเป็นอย่างดีและมีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา

ศรีลังกาเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาเถรวาทมาตั้งแต่ยุคโบราณ พระพุทธศาสนาจากอินเดียเข้าสู่ลังกาเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๖ โดยพระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งพระมหินทเถระและคณะไปประกาศพระศาสนาในสมัยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ มีคนออกบวชหลายพันคน พระราชาทรงอุทิศมหาเมฆวันอุทยานเป็นวัด เรียกว่า วัดมหาวิหาร พระมหินทเถระได้นำ      พระไตรปิฎกพร้อมทั้งอรรถกถามาสู่ลังกา และยังได้นำอารยธรรม ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม เข้าไปด้วย

ต่อมาพระนางอนุฬาเทวีมเหสีและสตรีบริวารจำนวนมากปรารถนาจะอุปสมบทบ้าง พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะจึงทรงส่งคณะทูตไปสู่ราชสำนักของพระเจ้าอโศก ทูลขอพระสังฆมิต-ตาเถรี และกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ด้านทักษิณมาสู่ลังกาทวีป จึงทำให้มีสตรีออกบวชเป็นภิกษุณีกันจำนวนมาก

ในปี พ.ศ.๔๓๓๑ รัชสมัยของพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย พวกทมิฬเข้ายึดครองอนุราธปุระเป็นเวลา ๑๔ ปี จนพระองค์ต้องเสียราชบัลลังก์และเสด็จลี้ภัยไปซ่องสุมกำลัง ระหว่างนั้นทรงได้รับการอุปถัมภ์จากพระมหาติสสะ ต่อมาเมื่อปราบพวกทมิฬได้แล้วจึงเสด็จกลับมา ครองราชย์อีกครั้ง ทรงให้ทำการสังคายนาและจารึกพระพุทธพจน์ลงใบลานเป็นครั้งแรก  นอกจากนี้ยังทรงอุปถัมภ์พระมหาติสสะพร้อมทั้งสร้างวัดอภัยคีรีวิหารถวายด้วย เป็นเหตุให้พระภิกษุมหาวิหารไม่พอใจ สงฆ์จึงแตกออกเป็น ๒ คณะ คือ มหาวิหาร กับอภัยคีรีวิหาร

คณะมหาวิหารเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขพระธรรมวินัยใดๆ และยังตำหนิรังเกียจภิกษุต่างนิกายว่าเป็นอลัชชี ส่วนคณะอภัยคีรีวิหารเป็นคณะที่เปิดกว้าง  ยอมรับเอาความคิดเห็นต่างนิกาย ไม่รังเกียจภิกษุต่างนิกาย

พระพุทธโฆษาจารย์ กาลต่อมามีปราชญ์พระพุทธศาสนาผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งชื่อพระพุทธโฆษาจารย์ (เกิดปี พ.ศ.๙๔๕) เดินทางจากอินเดียมาที่สำนักมหาวิหารเพื่อศึกษา  พระพุทธศาสนาและแปลคัมภีร์ต่างๆ ท่านรจนาคัมภีร์พระพุทธศาสนาที่สำคัญๆ ประมาณ ๑๓ คัมภีร์ซึ่งพุทธศาสนิกชนได้ใช้ศึกษากันมาจนถึงปัจจุบัน เช่น คัมภีร์ญาโณทัยปกรณ์ วิสุทธิมรรค และคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความพระไตรปิฎกต่างๆ เช่น อรรถกถาธรรมบท อรรถกถาชาดก อรรถกถาพระวินัย อรรถกถาพระสูตรต่างๆ เป็นต้น

ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ถึง ๑๗ เป็นยุคที่ลังกาเดือดร้อนวุ่นวายเพราะการรุกรานจากอินเดียบ้าง ความไม่สงบภายในบ้าง ในช่วงนี้เองพระภิกษุณีสงฆ์ได้สูญสิ้นไป  และพระภิกษุก็ลดน้อยลงไปมาก จนกระทั่ง พ.ศ.๑๖๐๙ เมื่อพระเจ้าวิชัยพาหุที่ ๑ มีพระราชประสงค์ จะฟื้นฟูพระศาสนา แต่ทรงหาพระภิกษุที่อุปสมบทถูกต้องแทบไม่ครบ ๕ รูป จึงต้องอาราธนาพระสงฆ์จากพม่าตอนใต้มากระทำอุปสมบทกรรมในลังกา

ในรัชสมัยของพระเจ้าปรากรมพาหุที่ ๑ (พ.ศ.๑๖๙๗-๑๗๓๐) ซึ่งเป็นพระโอรสของพระเจ้าวิชัยพาหุที่ ๑ พระพุทธศาสนาในศรีลังการุ่งเรืองมาก มีการรวมคณะสงฆ์ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชปกครองสงฆ์ทั้งประเทศเป็นครั้งแรก ทรงสร้างวัดวาอารามด้วยศิลปกรรมที่งดงาม ทำให้ลังกากลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธ-ศาสนา มีพระสงฆ์และนักปราชญ์จากหลายประเทศมาศึกษาจำนวนมาก

ภายหลังรัชกาลนี้พวกทมิฬจากอินเดียก็มารุกรานอีก ได้เข้าตั้งถิ่นฐานมั่นคงและขยายอาณาเขตออกไปเรื่อยๆ อาณาจักรสิงหลต้องถอยร่นลงใต้และต้องย้ายเมืองหลวงอยู่บ่อยๆ ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญได้ยาก เพียงแต่ธำรงรักษาความมั่นคงเข้มแข็งไว้เท่านั้น ในปี พ.ศ. ๒๐๑๙ พระภิกษุคณะหนึ่งจากพม่ามารับการอุปสมบทที่ลังกาและนำคัมภีร์ภาษาบาลีกลับไปด้วย

ประมาณปี พ.ศ.๒๐๕๐ ชนชาติโปรตุเกสได้เข้ามาค้าขาย และใช้กำลังยึดครองดินแดนบางส่วนไว้ พยายามบังคับชาวลังกาให้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ทำให้พระพุทธศาสนากลับเสื่อมถอยลง จนต้องนิมนต์พระสงฆ์จากประเทศพม่ามาให้การอุปสมบทแก่กุลบุตรชาวศรีลังกาอีก

ในปี พ.ศ.๒๒๐๐ ชาวฮอลันดาได้เข้ามาค้าขายในลังกาและช่วยขับไล่พวกโปรตุเกสออกไปได้ เมื่อฮอลันดายึดครองพื้นที่ได้จึงนำเอาคริสต์ศาสนามาเผยแพร่อีก และพยายามกีดกันพระพุทธศาสนา สถานการณ์พระพุทธศาสนาในขณะนั้นย่ำแย่ลงมาก ชาวพุทธเองก็มัวแต่รบราฆ่าฟันกัน อีกทั้งยังเกิดวิกฤตการณ์ข้าวยากหมากแพงอย่างรุนแรง พระภิกษุสงฆ์อดรนทนไม่ไหวได้ทิ้งวัดวาอารามไปจนหมด แต่มีสามเณรเหลืออยู่บ้างโดยมีสามเณรสรณังกรเป็นหัวหน้าคณะ

ในปี พ.ศ.๒๒๙๔ สามเณรสรณังกรทูลขอให้ พระเจ้ากิรติศรีราชสิงหะ กษัตริย์ลังกาในขณะนั้น ส่งทูตมานิมนต์พระสงฆ์จากเมืองไทยไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนา สมัยนั้นตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงส่งพระสมณทูตไทยไปจำนวน ๑๐ รูป มีพระอุบาลีเป็นหัวหน้า ทำการบรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรชาวลังกาถึง ๓,๐๐๐ คน ณ เมืองแคนดี สามเณรสรณังกรซึ่งได้รับการอุปสมบทในครั้งนี้ ได้รับการสถาปนาให้เป็นสมเด็จพระสังฆราช ตั้งแต่นั้นมาจึงเกิดนิกายสยามวงศ์หรืออุบาลีวงศ์ขึ้น ต่อมาพระอุบาลีเถระเกิดอาพาธและได้มรณภาพในลังกานั่นเอง

ในสมัยเดียวกันนี้ มีสามเณรลังกาคณะหนึ่งเดินทางไปขอรับการอุปสมบทในประเทศพม่า แล้วกลับมาตั้งนิกายอมรปุรนิกายขึ้น อีกคณะหนึ่งเดินทางไปขออุปสมบทจากคณะสงฆ์มอญแล้วกลับมาตั้งนิกายรามัญนิกายขึ้น ในสมัยนั้นจึงมีนิกายเกิดขึ้น ๓ นิกาย คือ นิกายสยามวงศ์ นิกายอมรปุรนิกาย และนิกายรามัญ ซึ่งยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ในปี พ.ศ.๒๓๔๕ อังกฤษเข้าครองอำนาจแทนฮอลันดา ได้ทำสนธิสัญญากับกษัตริย์ลังกาเพื่อรับประกันสิทธิของฝ่ายลังกาและเพื่อคุ้มครองพระศาสนา ครั้นต่อมาเกิดกบฏขึ้นเมื่ออังกฤษปราบกบฏได้สำเร็จจึงดัดแปลงสนธิสัญญาเสียใหม่  ทำให้ระบบกษัตริย์ลังกาสูญสิ้นตั้งแต่บัดนั้น

ในช่วงแรกของการปกครองโดยรัฐบาลอังกฤษ พระพุทธศาสนาได้รับความเป็นอิสระมากขึ้น ด้วยสนธิสัญญาดังกล่าว แต่ภายหลังถูกกีดกันและต่อต้านจากศาสนาคริสต์อีก รัฐบาลถูกบีบให้ยกเลิกสัญญาที่คุ้มครองพระพุทธศาสนา องค์การคริสต์เตียนผูกขาดการศึกษาทั่วประเทศ โรงเรียนชาวพุทธเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวคือ ทีทโดดันดุวา นอกจากนี้บาทหลวงยังโจมตีคำสอนในพระพุทธศาสนาอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง แต่ไม่มีใครสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้  จนกระทั่งท่านคุณานันทเถระได้ถือกำเนิดขึ้นใน พ.ศ.๒๓๖๖ ต่อมาได้ออกบวชและศึกษาพระธรรมวินัยจนแตกฉาน ท่านได้อาสาเป็นทนายแก้ต่างให้พระศาสนา ด้วยการโต้วาทะกับนักบวชที่มาจาบจ้วงศาสนาพุทธจนได้รับชัยชนะ ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองอีกครั้ง

การโต้วาทะจัดขึ้น ๕ ครั้งด้วยกันในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๐๘ - เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๑๖  ศาสนิกอื่นที่มาร่วมฟังหรือได้อ่านบทโต้วาทะจากหนังสือพิมพ์ในแต่ละครั้งนั้น หลายคนเสื่อมศรัทธาจากศาสนาเดิมของตนแล้วหันมานับถือพระพุทธศาสนา หนึ่งในนั้นคือ เฮนรี่ สตีล โอลคอตต์ (Henry Steele Olcott) เขาและมาดามเอช.พี.บลาวัตสกี ตัดสินใจเดินทางมาศรีลังกาในปี พ.ศ.๒๔๒๓ พอเหยียบแผ่นดินศรีลังกาที่ท่าเมืองกัลเล ทั้งสองได้ประกอบพิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะทันที ณ วัดวิชัยนันทะ จากนั้นได้ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง  จัดตั้งโรงเรียนชาวพุทธขึ้น ๔๐๐ โรงเรียนทั่วประเทศเพื่อแข่งขันกับโรงเรียนคริสเตียน

นอกจากนี้ยังมีชาวตะวันตกอีกหลายท่านมาศึกษาและฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกา เช่น เอฟ.แอล.วูดวาร์ด (F.L.Woodward) บุตรของนักบวชนิกายโปรเตสแตนต์แห่งซาแฮมประเทศอังกฤษ เดินทางมาถึงศรีลังกาในวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๖ ได้ช่วยสอนหนังสือที่วิทยาลัยพระพุทธศาสนามหินทะ

ขณะนั้นวิทยาลัยมหินทะมีนักเรียนอยู่ ๖๐ คน ศึกษากันอยู่ในอาคารเรียนเก่าๆ ของชาวฮอลันดา เอฟ.แอล.วูดวาร์ด บริจาคเงินกว่า ๒,๐๐๐ ปอนด์ เพื่อก่อสร้างอาคารเรียนใหม่  เขาออกแบบอาคารเรียนเอง ควบคุมการก่อสร้างเอง และด้วยความทุ่มเทในการทำงานต่อมาไม่นานนักเรียนจึงเพิ่มขึ้นเป็น ๓๐๐ คน วูดวาร์ดสอนนักเรียนวันละหลายๆ ชั้น รู้จักชื่อศิษย์ทุกคนทั้งชื่อจริงและชื่อเล่น นิสัยส่วนตัวของเขาเป็นคนเคร่งครัดในวินัยมาก เขาจึงปั้นศิษย์ด้วยวินัย เป็นเหตุให้วิทยาลัยเติบโตรวดเร็วมาก เขาทำหน้าที่เป็นอาจารย์ใหญ่อยู่ ๑๖ ปีโดยไม่รับเงินเดือน วูดวาร์ดเลื่อมใสในพระพุทธศาสนายิ่งนัก จะถืออุโบสถศีลและสวมชุดขาวในวันพระจันทร์เพ็ญ จะนิมนต์พระมารับภัตตาหารที่วิทยาลัยปีละหลายๆ ครั้ง โดยเขาจะทำหน้าที่ล้างเท้าพระสงฆ์ทีละรูปด้วยกิริยานอบน้อมอย่างยิ่ง

ด้วยการช่วยกันฟื้นฟูพระพุทธศาสนาอย่างจริงจังของพุทธศาสนิกชนเหล่านี้ จึงทำให้ศาสนาพุทธเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง และที่สำคัญปัจจุบันศรีลังกาเป็นประเทศที่มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

๒.  พระพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออก

ประเทศในเอเชียตะวันออก ได้แก่ จีน ไต้หวัน มองโกเลีย เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น พระพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออกเป็นนิกายมหายาน โดยเริ่มต้นเผยแผ่จากอินเดียสู่จีน จากจีนสู่เกาหลีและจากเกาหลีสู่ญี่ปุ่น เป็นต้น ส่วนประเทศทิเบตนั้นบางตำรากล่าวว่า ได้รับพระพุทธศาสนาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ซึ่งจะได้ขยายความในรายละเอียดดังต่อไปนี้

สาธารณรัฐประชาชนจีน (Peoples Republic of China ) มีเมืองหลวงชื่อปักกิ่ง เมืองที่ใหญ่ที่สุดคือ เซี่ยงไฮ้ ปัจจุบันจีนปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ มีประชากรมากที่สุดในโลก  คือ ประมาณ ๑,๓๑๕,๘๔๔,๐๐๐ คน (พ.ศ.๒๕๔๘) จำนวนพุทธศาสนิกชนในจีนนั้นยากที่จะประเมินว่ามีอยู่เท่าไร จากข้อมูลในวิกิพีเดียระบุว่ามีอยู่ประมาณ ๒๘๐-๓๕๐ ล้านคน ในขณะที่เว็บไซต์ www.adherents.com ระบุว่ามี ๑๐๒ ล้านคน อย่างไรก็ตามจีนก็เป็นประเทศที่มีพุทธศาสนิกชนมากที่สุดในโลก จีนมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า ๔,๐๐๐ ปี มีราชวงศ์ต่างๆ ผลัดเปลี่ยนกันปกครองสืบต่อกันมาหลายราชวงศ์ เริ่มตั้งแต่ราชวงศ์เซี่ย ซาง โจว จิ๋น ฮั่น จิ้น เหลียง ซุย ถัง สมัย ๕ ราชวงศ์ ได้แก่ ซ้อง เหลียว หยวน หมิง และราชวงศ์ชิง นอกจากนี้ยังมีราชวงศ์ย่อยๆ อีกมากในที่นี้จะกล่าวเฉพาะราชวงศ์ที่มีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาเท่านั้น

พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศจีนประมาณพุทธศักราช ๖๐๘ ในสมัยของพระเจ้าฮั่นมิ่งตี่แห่งราชวงศ์ฮั่น ตำนานกล่าวว่าคืนหนึ่งพระจักรพรรดิทรงพระสุบินไปว่ามีบุรุษทองคำเหาะไปทางทิศตะวันตก พระองค์จึงสอบถามขุนนางว่า ฝันเช่นนี้มีความหมายว่าอย่างไร ขุนนางผู้หนึ่งตอบว่าทางทิศตะวันตกมียอดคน (พระสัมมาสัมพุทธเจ้า) ถือกำเนิดขึ้น เมื่อได้ยินเช่นนั้นพระองค์จึงรับสั่งให้ขุนนาง ๑๘ คน ออกเดินทางเพื่อเสาะหายอดคนผู้นั้น ในที่สุดก็เดินทางมาถึงเมืองโขตาน ได้พบพระภิกษุ ๒ รูป คือ พระกาศยปะมาตังคะกับพระธรรมรักษ์ ขุนนางจีนจึงนิมนต์พระทั้งสองรูปนี้ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ประเทศจีน

เมื่อพระเถระทั้งสองรับนิมนต์แล้ว จึงใช้ม้าขาวบรรทุกพระคัมภีร์และพระพุทธรูปไปยังเมืองโลยางนครหลวงของจีนในขณะนั้น พระเจ้าฮั่นมิ่งตี่ทรงพอพระทัยอย่างมากและรับสั่งให้สร้างวัดขึ้นที่ด้านนอกของประตูเมืองหย่งเหมิน โดยให้ชื่อว่า วัดแปะเบ้ยี่ แปลว่า วัดม้าขาว เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ม้าที่บรรทุกพระคัมภีร์พระพุทธศาสนามา ถือว่าวัดม้าขาวเป็นปฐมสังฆาราม ในประเทศจีน และพระเจ้าฮั่นมิ่งตี่เป็นปฐมกษัตริย์จีนที่นับถือพระพุทธศาสนา การอุปสมบทเกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.๗๙๓ โดยพระภิกษุอินเดียชื่อ พระธรรมกาละ เดินทางไปจีนเหนือถึงเมืองโลยาง ทำพิธีผูกพัทธสีมาขึ้นและให้การอุปสมบทแก่กุลบุตรจีน

ในยุคราชวงศ์จิ้น พวกมองโกลได้แผ่อิทธิพลมาทางภาคเหนือของจีน เข้ายึดลุ่มแม่น้ำเหลืองไว้หมด  ทำให้จีนแบ่งเป็นภาคเหนือและใต้ เรียกว่า ยุคน่ำปัก (พุทธศตวรรษที่ ๘ - ๑๑) ภาคเหนือเป็นมองโกล ส่วนภาคใต้เป็นจีนแท้  มีแม่น้ำแยงซีเกียงเป็นพรมแดน ในยุคน่ำปักนี้สมณะเสิงเจียนนำคัมภีร์มหาสังฆิกะ-ภิกษุณีกรรมันและภิกษุณีปาฏิโมกข์ มายังเมืองโลยางและได้อุปสมบทภิกษุณีรูปแรกขึ้นในระหว่างปี พ.ศ.๙๐๐ - ๙๐๔ คือ ภิกษุณีจิงเจียน ณ ภิกษุณีอารามจูหลิน เมืองโลยาง

ในสมัยพระเจ้างุ่ยบูเต้แห่งจีนเหนือทรงหลงเชื่อลัทธิเต๋าว่า จะทำยาอายุวัฒนะให้เสวยแล้วจะมีพระชนม์ ๑๐,๐๐๐ ปี แต่นักบวชเต๋าขอให้พระองค์ทำลายพระพุทธศาสนาเสีย พระเจ้างุ่ยบูเต้จึงตรัสสั่งทำลายวัดและประหารพระสงฆ์ ในครั้งนั้นพระราชโอรสซึ่งเป็นพุทธมามกะได้ส่งสายลับไปเตือนพระสงฆ์ให้หนีไปก่อน พระภิกษุส่วนใหญ่จึงรอดตาย แต่วัดถูกทำลายไป ๓๐,๐๐๐ กว่าวัด

หลังจากการสรรคตของพระเจ้างุ่ยบูเต้ พระราชนัดดาของพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อไป กษัตริย์พระองค์นี้ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนาขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ.๙๒๙ - พ.ศ.๑๐๗๗ ทรงสร้างถ้ำตุนหวงขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระกัมมัฏฐาน ยุคต่อมามีการสร้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลายร้อยปี จนกลายเป็นสถานที่มหัศจรรย์ มีถ้ำน้อยใหญ่กว่า ๔๐๐ ถ้ำ ถ้ำทั้งหมดขุดด้วยแรงงานคน ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ชาวพุทธในอดีตหาวิธีป้องกันไม่ให้พระสัทธรรม อันตรธาน จึงจารึกพระไตรปิฎกลงบนแผ่นผาภายในถ้ำต่างๆ แล้วปิดประตูถ้ำด้วยก้อนศิลา โดยหวังให้คนยุคหลังได้ศึกษา ปัจจุบันถ้ำนี้ตั้งอยู่กลางทะเลทรายโกบี เมืองตุนหวง มณฑลกานสู

พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับจนถึงสมัยพระเจ้าเหลียงบูเต้ ทรงครองราชย์ พ.ศ.๑๐๒๒ ณ เมืองนานกิง ภาคใต้ของจีน พระองค์ได้รับฉายาว่าเป็นอโศกแห่งแผ่นดินจีนยุคสมัยของพระองค์มีนักบวชจำนวนมาก เฉพาะเมืองโลยาง มีภิกษุและภิกษุณีถึง ๒,๐๐๐,๐๐๐ รูป พระต่างชาติอีก ๓,๐๐๐ รูป พระเจ้าเหลียงบูเต้ทรงถือมังสวิรัติ ทรงออกกฎหมายห้ามฆ่าสัตว์ทั่วประเทศ  พระภิกษุจึงหันมาฉันเจหรือมังสวิรัติตามพระราชาจนเป็นประเพณีมาถึงปัจจุบัน  พระองค์ทรงศึกษาธรรมะและแสดงธรรมด้วยพระองค์เองอยู่เนืองๆ ทรงอุทิศพระองค์เป็นอุปัฎฐากพระถึง ๓ ครั้ง ญาติวงศ์และข้าราชการต้องใช้เงินถึง ๑ โกฏิ เพื่อไถ่พระองค์ออกมา

ปรมาจารย์ตั๊กม้อ หรือพระโพธิธรรม (Bodhidharma) ชาวอินเดียใต้ เข้าไปเผยแผ่พุทธศาสนาในสมัยพระเจ้าเหลียงบูเต้ ท่านเดินทางไปที่จีนภาคเหนือในปี พ.ศ.๑๐๖๙ สร้าง     วัดเสี่ยวลิ่มยี่ หรือวัดเส้าหลินขึ้นบนภูเขาซงซัว มณฑลเหอหนัน จากนั้นก่อตั้งนิกายฉานขึ้น ฉาน หมายถึง ฌาน ในภาษาบาลี หรือ ธยาน ในภาษาสันสกฤต หรือ เซน ในภาษาญี่ปุ่น ตำนานเล่าว่า ขณะอยู่วัดเส้าหลิน ปรมาจารย์ตั๊กม้อนั่งสมาธิผินหน้าเข้าฝาอยู่ ๙ ปีไม่ลุกขึ้น

นิกายเซนเน้นการปฏิบัติสมาธิและวิปัสสนาเพื่อให้เข้าถึงฌานที่เรียกว่า ซาเซน โดยไม่อาศัยตัวหนังสือหรือปริยัติธรรมใดๆ จึงมีคำขวัญประจำนิกายว่า "ปุกลิบบุ้นยี่ ติกจี้นั้งซิม เกียงแส่ เซ่งฮุด" แปลว่า ไม่ต้องอาศัยหนังสือแต่ชี้ตรงไปยังจิตของมนุษย์ ให้เห็นแจ้งในภาวะที่แท้จริงแล้วบรรลุเป็นพุทธะ ต่อมานิกายเซนได้ขยายไปยังประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม   และปัจจุบันเป็นที่นิยมมากในตะวันตก

ปรมาจารย์ตั๊กม้อยังเป็นผู้ให้กำเนิดวิชากังฟูวัดเส้าหลินซึ่งโด่งดังไปทั่วโลกอีกด้วย ในตอนนั้นท่านเห็นว่า พระมีสุขภาพอ่อนแอ ไม่สามารถเจริญกรรมฐานได้อย่างเคร่งครัด จึงหาวิธีให้พระภิกษุฝึกฝนร่างกายควบคู่กับปฏิบัติธรรม   เริ่มแรกกังฟูจึงไม่ได้ฝึกเพื่อการต่อสู้แต่เป็นหนทางเข้าสู่แก่นธรรมะ ภายหลังถูกดัดแปลงเป็นวรยุทธสำหรับการสู้รบ ในสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ.๑๑๖๑-๑๔๕๐) การฝึกวิทยายุทธของวัดเส้าหลินได้รับการสนับสนุนจากราชสำนักอย่างเต็มที่ถึงขนาดมีกองทัพพระ ยามศึกสงครามจะให้พระภิกษุลาสิกขาไปป้องกันประเทศ พอเสร็จศึกจึงกลับมาบวชใหม่

มหันตภัยคุกคามพระพุทธศาสนา ในช่วง พ.ศ.๑๑๑๗ - ๑๑๒๐ มหันตภัยใหญ่หลวงได้เกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาในแคว้นจิว คือ มีการยกเลิกพระพุทธศาสนาและลัทธิเต๋า บังคับให้พระสงฆ์ลาสิกขา ๒,๐๐๐,๐๐๐ รูป ยึดวัดและหลอมพระพุทธรูปเพื่อเอาทองคำและทองแดงไปทำทองแท่งและเหรียญกษาปณ์ ในยุคพระเจ้าเฮียนตง ห้ามมีการสร้างวัด หล่อพระพุทธรูปและพิมพ์พระสูตรโดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ที่จะบวชต้องสวดพระสูตรได้ ๑,๐๐๐ หน้า หรือเสีย   ค่าบวชให้หลวง ๑๐๐,๐๐๐ อีแปะ

ต่อมาปี พ.ศ.๑๓๘๘ รัชสมัยจักรพรรดิบู่จง ทรงเลื่อมใสลัทธิเต๋า ทรงแต่งตั้งนักบวชเต๋า เป็นเสนาบดี มีการโต้วาทีกันระหว่างพระภิกษุกับนักบวชเต๋า ฝ่ายพระภิกษุได้รับชัยชนะ พระเจ้าบู่จงไม่พอพระทัย ทรงสั่งทำลายวัดกว่า ๔,๖๐๐ วัด ทำลายเจดีย์และวิหารกว่า ๔๐,๐๐๐ แห่ง บังคับให้ภิกษุและภิกษุณีสึกมากกว่า ๒๖๐,๐๐๐ รูป สมัยพระเจ้าซีจงทรงบังคับให้ภิกษุครองจีวรแบบเต๋า บางยุคหน่วยงานราชการขายบัตรอุปสมบท คนมีศรัทธาแต่ไม่มีเงินก็ไม่ได้บวช พระภิกษุต้องเสียภาษี  ยกเว้นผู้พิการหรือมีอายุ ๖๐ ปี เช่น รัชกาลพระเจ้ายินจงในปี พ.ศ.๑๕๗๘

ราชวงศ์ถังยุคทองของพุทธจักร  หลังจากที่พระพุทธศาสนาในแคว้นจิวถูกทำลายไป  ต่อมาได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่ในสมัยราชวงศ์ซุย (พ.ศ.๑๑๓๒ - ๑๑๖๑) และได้รับการพัฒนาให้เจริญรุ่งเรืองสูงสุดในสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ.๑๑๖๑ - ๑๔๕๐) โดยเฉพาะยุคถังไท่จงฮ่องเต้ สมัยนี้มีความเจริญทั้งฝ่ายอาณาจักรและพุทธจักร  มีการสร้างวัดขึ้นหลายแห่ง มีการแปลพระสูตรจากภาษาบาลีเป็นภาษาจีนมากมายและที่สำคัญมีนักปราชญ์คนสำคัญเกิดขึ้นคือ พระถังซัมจั๋ง และ สมณะอี้จิง

พระถังซัมจั๋ง เป็นนักปราชญ์ชาวพุทธคนสำคัญ คำว่า ถังซัมจั๋ง แปลว่า ผู้ทรงพระไตรปิฎกแห่งราชวงศ์ถัง ท่านถือกำเนิดในตระกูลเฉิน ในปี พ.ศ.๑๑๔๓ ณ เมืองโลยาง ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหอหนัน มีนามเดิมว่า เฉินฮุย เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี มีฉายาว่า ฮวนฉาง หรือหยวนฉ่าง หรือเฮี่ยนจัง เมื่อบวชแล้วก็ตั้งใจศึกษาพระพุทธศาสนาจนแตกฉาน  แต่เมื่อศึกษาไปมากเข้าท่านเกิดความสงสัยและขัดแย้งในใจ คัมภีร์ประกอบการค้นคว้าก็มีน้อย  ท่านจึงมีความคิดที่จะไปศึกษาให้ถึงต้นแหล่งคือ ประเทศอินเดีย

ในปี พ.ศ.๑๑๗๓ ท่านจึงตัดสินใจออกเดินทาง เส้นทางไปนั้นอันตรายมาก ต้องผ่านทะเลทรายร้อนระอุและเทือกเขาอันหนาวเหน็บ ก่อนหน้านั้นมีภิกษุนับร้อยๆ รูปเดินทางไปแล้ว แต่ส่วนใหญ่สิ้นชีวิตในระหว่างทาง กวีจีนจึงเขียนโคลงไว้ว่า "ขื่อเจี่ยเซ่งแปะ กุยบ่อจั๊บ เอ๋าเจี่ย อังใจ จุ้ยเจี่ยลั้ง" แปลว่า ในยามไปสิ มีจำนวนนับร้อย ครั้นยามกลับเล่าก็เหลือไม่ถึงสิบ บุคคลผู้อยู่ภายหลังไฉนเลยจะทราบถึงความยากลำบากของผู้ที่ไปก่อน

ก่อนเดินทาง มีผู้หวังดีเตือนถึงอันตรายดังกล่าว แต่พระถังซัมจั๋งยืนยันว่า อาตมาตั้งใจจะไปเยือนดินแดนศักดิ์สิทธ์และศึกษาธรรม อาตมาจะไม่เสียใจเลยหากต้องตายระหว่างเดินทาง ในที่สุดท่านจึงออกเดินทาง เส้นทางที่ใช้ต้องผ่านทะเลทรายตะกลามากัน  (Taklamakan) ซึ่งแปลว่า เข้าได้แต่ออกไม่ได้ เป็นหนึ่งในทะเลทรายที่อันตรายที่สุดในโลก    ชาวจีนเรียกว่า ทะเลทรายมรณะ กระบอกน้ำของท่านตกลงบนพื้นระหว่างเดินทาง น้ำที่มีอยู่ก็ไหลออกจมหายไปในผืนทรายจนหมดสิ้น ท่านต้องอดน้ำอยู่ ๔ วันครึ่งกว่าจะเจอแหล่งน้ำ

หลังจากเดินทางมาได้ ๑ ปีก็ถึงอินเดีย และพักอยู่ ๑๙ ปี ระหว่างนั้นได้ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทาอยู่ ๕ ปี โดยเป็นศิษย์ของอธิการบดีศีลภัทร หลังจากศึกษาพระไตรปิฎก จนแตกฉานแล้ว จึงเดินทางกลับประเทศจีนโดยนำคัมภีร์กลับไปกว่าพันเล่ม เมื่อพระเจ้าถังไถ่จงมหาราชทรงทราบว่าท่านมาถึงพรมแดนจีนแล้ว ทรงปีติโสมนัสมาก ให้จัดขบวนเกียรติยศไปรับในฐานะเป็นบุรุษอาชาไนยของชาติ ในวันที่เข้าสู่นครเชียงอาน ทรงรับสั่งให้ราษฎรทุกบ้านที่ขบวนผ่านตั้งโต๊ะบูชาหน้าบ้าน

พระถังซัมจั๋งทุ่มเทแปลคัมภีร์ที่เอาชีวิตเป็นเดิมพันอัญเชิญมาออกสู่ภาษาจีน แปลทั้งหมด ๗๔ คัมภีร์ นับเป็นจำนวนลานได้พันกว่าผูก  ในปี พ.ศ.๑๑๘๓ ท่านยังเขียนบันทึกการ เดินทางตามหาพระไตรปิฎกไว้ด้วย โดยให้ชื่อว่า "ต้าถังซียู่จี้" หมายถึง จดหมายเหตุการณ์เดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง  บันทึกนี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อนักการศึกษา ในยุคหลัง สำหรับใช้เป็นคู่มือในการสำรวจวัดโบราณในอินเดีย เพราะเป็นบันทึกที่แม่นยำมากจนได้ชื่อว่าเป็นผู้นำทางที่ไม่เคยพลาดเลยในอินเดีย เมื่อท่านอายุได้ ๖๔ ปีเกิดอาพาธและมรณภาพลงท่ามกลางความเศร้าเสียใจของชาวจีนทั้งชาติ พระเจ้าถังเกาจงทรงให้ข้าราชการทั้งประเทศหยุดงาน ๓ วัน เพื่อไว้ทุกข์ ในวันฝังศพมีคนมาร่วมพิธี ๒,๐๐๐,๐๐๐ คน

พระไตรปิฎกฉบับแรกของโลก เมื่อราชวงศ์ซ้องได้รับการสถาปนาขึ้นโดยพระเจ้าไทโจ้วอ่องเต้ในปี พ.ศ.๑๕๐๓ พระองค์ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาด้วยการพิมพ์พระไตรปิฎก พร้อมอรรถกถาและฎีกา เป็นฉบับแรกของโลก เนื่องจากจีนเป็นชาติแรกที่พิมพ์หนังสือได้    ชาวยุโรปได้รับรู้เรื่องกระดาษและการพิมพ์หลังจากจีนเกือบ ๔๐๐ ปี พระไตรปิฎกฉบับนี้จัดพิมพ์ลงบนแผ่นไม้ทั้งหมด ๑๓๐,๐๐๐ แผ่น หอสมุดแห่งชาติประเทศไทยได้จัดเก็บตัวอย่างจำลองของพระไตรปิฎกฉบับนี้ไว้ด้วย หลังจากราชวงศ์ซ้องแล้ว พระพุทธศาสนาก็เริ่มเสื่อมลงอีก ลัทธิขงจื้อมีอิทธิพลสูงกว่า เนื่องจากยุคหลังพระสงฆ์ไม่ค่อยศึกษาหาความรู้จึงไม่มีความองอาจในการเทศน์สอน ปัญญาชนจึงหันไปนับถือขงจื้อที่ส่งเสริมการศึกษา

กบฏไท้เผง ในสมัยราชวงศ์ชิงหรือแมนจู (พ.ศ.๒๑๘๗-๒๔๕๕) เริ่มมีนักล่าอาณานิคมตะวันตกเข้ามาและนำคริสต์ศาสนามาเผยแผ่ด้วย มีชาวจีนคนหนึ่งชื่อ ซิวฉวน เข้ารีตนับถือคริสต์ หาพรรคพวกได้มากจึงตั้งกลุ่มกบฏขึ้นชื่อ ไท้เผง แปลว่า มหาสันติ พวกกบฏโฆษณาว่า พระยะโฮวาสั่งให้ทำลายพระพุทธศาสนา ลัทธิขงจื้อ เต๋า และราชวงศ์แมนจู   ให้หมด สร้างโลกคริสเตียนใหม่ในเมืองจีน กบฏไท้เผง ใช้เวลารบ ๑๖ ปี ยึดจีนได้ ๑ ใน ๓ ตั้งเมืองหลวงขึ้นที่นานกิง บังคับให้ประชาชนเข้ารีต แล้วทำลายวัดและศาลเจ้า ฆ่าคน ๒๐ ล้านคน วัดในเขตของกบฏจำนวนพันๆ ร้างโดยไม่มีทางบูรณะใหม่ขึ้นเลย

สมัยสาธารณรัฐ ดร.ซุน ยัดเซ็น ก่อการปฏิวัติเปลี่ยนการปกครองจากระบอบกษัตริย์เป็นสาธารณรัฐในปี พ.ศ.๒๔๕๔ เนื่องจากไม่พอใจการปกครองของกษัตริย์ซึ่งเห็นแก่ประโยชน์ตนมากกว่าประเทศชาติ สถานการณ์พระพุทธศาสนาในยุคสาธารณรัฐนั้นค่อนข้างตกต่ำ  ศาสนาพุทธเป็นเหมือนวัตถุโบราณที่ถูกลืม ปัญญาชนรุ่นใหม่หันไปนับถือคริสต์ศาสนาซึ่งมาควบคู่กับระบอบการปกครองใหม่อันเป็นสิ่งทันสมัยสำหรับชาวจีน แต่ยุคนี้ก็ยังมีพระภิกษุและภิกษุณีอยู่มากพอสมควรคือ ๗๓๘,๐๐๐ รูป มีวัดประมาณ ๒๖๗,๐๐๐ วัด

ยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน ยุคสาธารณรัฐอยู่ได้เพียง ๓๘ ปีเท่านั้น ประเทศจีนก็มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองอีกครั้งใน พ.ศ.๒๔๙๒ เหมาเจ๋อตุงผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีชัยต่อเจียงไคเช็กผู้นำพรรคก๊กมินตั๋งในสงครามกลางเมือง เจียงไคเช็กจึงหนีไปอยู่เกาะไต้หวันพร้อมประชาชนจำนวนหนึ่ง  เหมาเจ๋อตุงปกครองด้วยลัทธิมาร์กซิส ซึ่งขัดแย้งกับพระพุทธศาสนา โดยถือว่า พระเป็นกาฝากสังคม มีการบีบคั้นให้พระลาสิกขา ผู้ไม่สึกก็ให้ทำนาและปลูกชา วัดเกือบทุกแห่งถูกสั่งปิด พระภิกษุหลายรูปหลบหนีไปเกาะไต้หวันและปักหลักเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่นั่น จนปัจจุบันไต้หวันเป็นประเทศหนึ่งที่พระพุทธศาสนาแข็งแกร่งมีชื่อเสียงระดับโลก เช่น วัดฝอกวงซัน ซึ่งมีท่านซิงหวินต้าซือเป็นผู้นำ วัดนี้ได้ขยายสาขาออกไปกว่า ๒๕๐ ประเทศทั่วโลก

หลังจากเหมาเจ๋อตุงถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ.๒๕๑๙ เติ้งเสี่ยวผิงเข้ารับตำแหน่งในฐานะผู้นำรัฐบาลแทน  ยุคนี้ได้ผ่อนความเข้มงวดลง ทำให้พระพุทธศาสนาฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๖ หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่ามีการค้นพบพระบรมสารีริกธาตุ ๒๑ องค์ ที่วัดหวาหลิน เขตลี่วาน นครกวางโจว สื่อจีนระบุว่า พระบรมสารีริกธาตุมักปรากฏ เมื่อบ้านเมืองมีสันติสุขและสูญหายเมื่อบ้านเมืองเดือดร้อน นับตั้งแต่ยุคเติ้งเสี่ยวผิงเป็นต้นมาพระพุทธศาสนาในจีนจึงค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ จนปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่มีพุทธศาสนิกชนมากที่สุดในโลก

นิกายในประเทศจีน จีนเป็นต้นแหล่งของพระพุทธศาสนามหายานหลายนิกายซึ่งต่อมาได้เผยแผ่ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยนิกายที่สำคัญๆมีดังนี้คือ นิกายสัทธรรมปุณฑริกหรือเทียนไท้ นิกายสุขาวดี หรือเจ้งโท้วจง และนิกายธฺยาน หรือเซน เป็นต้น สำหรับนิกายเซนได้กล่าวไว้แล้วในประวัติของพระโพธิธรรม ในที่นี้จะกล่าวถึงอีก ๒ นิกายดังนี้

. นิกายสัทธรรมปุณฑริก เป็นนิกายที่ยึดพระสัทธรรมปุณฑริกสูตรเป็นแม่บท ซึ่งพระสูตรนี้ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าแต่งขึ้นที่ไหน เมื่อใด และด้วยภาษาอะไร ตัวพระสูตรได้รับการแปลจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีน ๖ ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ.๗๙๘ ฉบับที่ได้รับการยอมรับและนิยมศึกษากันมากที่สุดคือ ฉบับของพระกุมารชีวะซึ่งแปลในปี พ.ศ.๙๔๙ สัทธรรมปุณฑริกสูตร มีชื่อเสียงเด่นขึ้นมาเมื่อพระตีเจี้ย (พ.ศ.๑๐๘๑ - ๑๑๔๐) แห่งภูเขาเทียนไท้ ได้รู้แจ้งสารัตถธรรมของสัทธรรมปุณฑริกสูตรแล้วก่อตั้งเป็นนิกายสัทธรรมปุณฑริก (ฮวบฮั่วจง) ขึ้น  หรือเรียกว่า นิกายเทียนไท้ ตามชื่อสำนัก นิกายนี้สอนว่า ด้วยหลักแห่งสัทธรรมปุณฑริกสูตรเท่านั้นที่จะทำให้ทุกคนสามารถบรรลุพุทธภาวะได้อย่างเสมอภาคกัน พระสูตรนี้เป็นการเปิดเผยความลี้ลับสุดยอดแก่พระสาวกทั้งปวงก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน

สัทธรรมปุณฑริกสูตร แปลเป็นภาษาจีนว่า เมียวโฮเร็งเงเคียว คำว่า เมียวโฮ คือ พระสัทธรรม คำว่า เร็งเง แปลว่า ดอกบัวขาว หรือ ปุณฑริก คำว่า เคียว แปลว่า สูตร ส่วนในภาษาอังกฤษ สัทธรรมปุณฑริกสูตร แทนด้วยคำว่า Lotus Sutra

ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาเผยแผ่จากจีนไปสู่เกาหลีและจากเกาหลีไปสู่ญี่ปุ่น นิกายสัทธรรมปุณฑริกสูตรก็ถูกนำไปเผยแผ่ด้วย ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่นิกายนี้ในญี่ปุ่นคือ พระไซโจ แห่งสำนักสงฆ์บนภูเขาฮิเออิ และพระนิชิเร็น

. นิกายสุขาวดี นิกายสุขาวดีก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.๙๔๕ สมัยราชวงศ์จิ้นโดยพระฮุยเอี้ยง  ท่านพำนักอยู่ที่วัดตังนิ่มยี่ บนภูเขาลู้ซัว มณฑลกังไส บนภูเขาขุดสระใหญ่ ปลูกดอกบัวขาวเต็มสระ ท่านฮุยเอี้ยงพร้อมสาวกหลายพันคนนั่งสวดมนต์หน้าสระนี้ โดยสมมติว่า สระน้ำแห่งนี้เป็นสระทิพย์ในแดนสุขาวดี ซึ่งท่านเหล่านั้นต่างตั้งจิตปรารถนาจะไปเกิด

เบื้องต้นสำนักนี้อาศัยข้อความในพระสูตร ชื่อ พุทธธฺยานสาครสูตร คือ เพ่งจิตถึงพระอมิตาภพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ ต่อมาได้มีการพัฒนารูปแบบคำสอนไปตามลำดับ นิกายนี้   ไม่มีหลักอภิปรัชญาที่ซับซ้อนให้ต้องคิดมาก เหมาะกับสามัญชนทั่วไป

พระชานเตา (Shan tao) สรุปหัวใจหลักของนิกายนี้ไว้ ๓ ประการคือ

๑. สิ่ง  แปลว่า  ความเชื่อ  ต้องปลูกศรัทธาอย่างซาบซึ้งในองค์พระอมิตาภะ

๒. ง๋วง  แปลว่า  ตั้งปณิธานอธิษฐานเพื่อไปเกิดในแดนสุขาวดีอย่างแน่วแน่

๓. เหง คือ ปฏิบัติกาย วาจา ใจ ให้อยู่ในกุศลธรรม โดยเฉพาะการเปล่งคำบูชาพระอมิตาภพุทธเจ้าว่า นโม อมิตาภาย พุทฺธาย ภาษาจีนว่า นัมบู ออนี ท่อฮุด ภาษาญี่ปุ่นว่า นัมบู อมิดา บุตสึ  ภาษาญวนว่า นามโบ อายีด้า เผิก โดยต้องท่องวันละหลายๆ หน ยิ่งมากยิ่งดี  ภาวนาด้วยการนับลูกประคำ ประคำเม็ดหนึ่งต่อภาวนาบทหนึ่ง

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้ว  ในปี พ.ศ.๒๔๙๑ คาบสมุทรเกาหลีถูกแบ่งเป็นสองส่วน คือ เกาหลีเหนือปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ และเกาหลีใต้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย  เกาหลีเหนือ (North Korea) มีชื่อเป็นทางการว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (Democratic Peoples Republic of Korea : DPRK) มีเมืองหลวงชื่อ เปียงยาง และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด เกาหลีเหนือมีประชากรประมาณ ๒๓,๑๑๓,๐๑๙ คน (พ.ศ.๒๕๔๙) ส่วนใหญ่ไม่มี     ศาสนา เพราะระบอบคอมมิวนิสต์ไม่สนับสนุนศาสนา มีพุทธศาสนิกชนนิกายเซนอยู่เพียง ๔๐๐,๐๐๐ คน (๑.๖๗%) ลดลงจากเดิม ๒๓.๓๓% วัดมีอยู่ ๓๐๐ วัด และมีคริสต์ศาสนิกชนประมาณ ๑๒,๐๐๐ คน (๐.๐๕%)

เกาหลีใต้ (South Korea) มีชื่อเป็นทางการว่า สาธารณรัฐเกาหลี (Republic of Korea) มีเมืองหลวงชื่อ โซล และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด  เกาหลีใต้มีประชากรประมาณ ๔๗,๘๑๗,๐๐๐ คน นับถือศาสนาพุทธมหายานประมาณ ๒๕% นับถือศาสนาคริสต์ ๒๕% นับถือศาสนาขงจื้ออีก ๒% และมีกลุ่มที่ไม่เชื่อในพระเจ้าอีก ๓๐ - ๕๒% (Nonbeliever in God) หรือประมาณ ๑๔,๕๗๙,๔๐๐-๒๕,๒๗๐,๙๖๐ คน เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีภิกษุณีอยู่จำนวนมาก ในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ ๑๐,๐๐๐ รูป พระพุทธศาสนาเริ่มเข้าสู่ประเทศเกาหลีเมื่อปี พ.ศ.๙๑๕ โดยพระธรรมทูตซุนเตา ท่านนำนิกายมหายานจากจีนมาสู่อาณาจักรโกกุเรียวคือเกาหลีในปัจจุบัน

สมัยก่อนเกาหลีประกอบด้วย ๓ อาณาจักรคือ โกกุเรียว ปึกเจ และซิลลา ซึ่งปกครองคาบสมุทรเกาหลีและบางส่วนของแมนจูเรีย ตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑ ก่อนคริสตกาลถึงคริสต์ศตวรรษ ที่ ๗ ผู้นำทั้ง ๓ อาณาจักรยกพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ต่อมาอาณาจักรซิลลาสามารถรวมแคว้นทั้งสามให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ในปี พ.ศ.๑๒๐๐ ทำให้ประเทศเป็นปึกแผ่นมั่นคง  รัฐบาลให้การอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง มีการจัดพิมพ์พระไตรปิฎก ๑,๖๐๐ หน้า  ด้วยตัวพิมพ์ไม้แกะ และจารึกพระคัมภีร์เป็นจำนวน ๕๐,๐๐๐ กว่าเล่ม ยุคนี้พระพุทธศาสนาจึงเจริญรุ่งเรืองมาก

อาณาจักรซิลลาปกครองเกาหลีอยู่ได้ ๒๗๘ ปี ก็พ่ายแพ้แก่อาณาจักรโกกุเรียวในปี พ.ศ.๑๔๗๘ ราชวงศ์นี้ก็มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์จะนิมนต์พระภิกษุหนึ่งรูปเป็นที่ปรึกษา ยุคนี้มีการสร้างวัดวาอารามจำนวนมาก และมีวัฒนธรรมอย่างหนึ่งเกิดขึ้นคือ ครอบครัวเกาหลีที่มีลูกชาย ๔ คน ต้องให้บวชเป็นพระ ๑ คน

เนื่องจากพระเกาหลีบวชในนิกายมหายานเมื่อบวชแล้วก็จะมีกิจกรรมสงฆ์ที่แตกต่างจากนิกายเถรวาท เช่น  ต้องทำนา ทำกิมจิ  เก็บผลไม้ เป็นต้น  การทำนานั้นจะทำเป็นกลุ่มใหญ่ ในปลายเดือนมิถุนายน โดยขณะดำนาพระภิกษุจะพับขากางเกงถอดเสื้อคลุมออกแล้วเข้าแถวดำนา มีพระสองรูปถือเชือกยาวเพื่อจัดแถวให้ตรง ส่วนการทำกิมจินั้นคือการทำผักดองจากกะหล่ำและหัวไชเท้าเพื่อเตรียมไว้ฉันในฤดูหนาว และยังมีการเก็บผลไม้ เช่น เกาลัด ผลต้นสน และลูกพลับสุก สำหรับฉันในฤดูหนาว

         

พระเกาหลีจะนิยมบำเพ็ญทุกรกิริยาคล้ายกับสมัยที่พระสิทธัตถโพธิสัตว์ออกบวชใหม่ๆ  เช่น อดอาหาร ฉันอาหารดิบ ไม่เอนหลังนอน ไม่พูด เผานิ้วตัวเอง และมีการปลีกวิเวกไปอยู่ในหุบเขาโดยไม่ปลงผม หนวด และเครา

การห้ามภัตรหรือการอดอาหาร เป็นที่นิยมกันมากในเกาหลี ใช้เวลาประมาณ ๓ วัน ถึง ๒ อาทิตย์ เพราะเชื่อว่าเป็นการรักษาโรคเรื้อรังได้ทุกชนิด ส่วนการเผานิ้วมือตัวเอง ทำเพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บางรูปก็ทำเพื่อความมั่นคงในการบวช บ้างก็ทำเพื่อเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร แต่บางรูปทำเพื่อความมีชื่อเสียงต้องการให้ฆราวาสเคารพนับถือยิ่งขึ้น

ในปี พ.ศ.๑๙๓๕ - ๒๔๕๓ พระพุทธศาสนาในเกาหลีเข้าถึงยุคเสื่อม เนื่องจากราชวงศ์โซซอน

ขึ้นมามีอำนาจ และเชิดชูลัทธิขงจื้อให้เป็นศาสนาประจำชาติ มีคำสั่งห้ามบวชพระ  พระสงฆ์จึงหนีออกไปอยู่อย่างสงบตามชนบทและป่าเขา

เกาหลีตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นในปี พ.ศ.๒๔๕๓ ญี่ปุ่นส่งเสริมให้พระสงฆ์มีครอบครัวได้ และสนับสนุนให้ดำรงชีวิตเหมือนฆราวาส ทั้งนี้เพราะญี่ปุ่นต้องการทำลายวัฒนธรรมของเกาหลีซึ่งถูกหล่อหลอมขึ้นจากคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธศาสนา หากสามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของพระภิกษุได้ ก็จะทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมได้ด้วย

พระเกาหลีมีครอบครัว เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนการมีครอบครัว พระสงฆ์เกาหลีจำนวนมากจึงเริ่มมีครอบครัวอย่างเงียบๆ เพราะช่วงแรกๆ ยังไม่เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง และก่อนหน้านี้เคยมีผู้นำเสนอขอให้พระมีครอบครัวมาก่อนแล้วแต่ไม่ได้รับการอนุมัติ ในปี พ.ศ.๒๔๒๒ พระชาวเกาหลีชื่อ ฮันยองกัน ได้ยื่นฎีกาต่อคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นและคณะผู้บริหารฝ่ายสงฆ์ เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกข้อห้ามภิกษุภิกษุณีมีครอบครัว โดยมีเหตุผลดังนี้

        

๑) ถ้าไม่อนุญาตให้พระภิกษุมีครอบครัว ก็จะมีพระลาสิกขาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าอนุญาต พระก็จะอยู่ในสมณเพศต่อไปได้ สามารถมีทายาทสืบพระพุทธศาสนาเพื่อแข่งขันกับศาสนาอื่นได้ และในปัจจุบันพระที่มีครอบครัวโดยไม่เปิดเผยก็มีอยู่แล้ว จึงก่อให้เกิดความละอายโดยไม่จำเป็น

         

๒) พระฮันยองกันอ้างว่า หลักคำสอนในศาสนาพุทธถือว่า การถือเพศพรหมจรรย์ หรือไม่ถือพรหมจรรย์ไม่ได้แตกต่างกันเลย การไม่ถือพรหมจรรย์นั้นจะทำให้พระภิกษุมีประสบการณ์ชีวิตในทางโลกเพิ่มขึ้น

ข้อเสนอนี้รัฐบาลไม่ได้อนุมัติ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะกระแสต่อต้านมีมากกว่า แต่ในที่สุดเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๙ สภาสงฆ์แห่งเกาหลีภายใต้การควบคุมของญี่ปุ่นมีมติเห็นชอบให้พระเกาหลีมีครอบครัวได้ ผลการตัดสินใจครั้งสำคัญนี้เป็นจุดเริ่มต้นแห่งความแตกแยกระหว่างพระภิกษุที่ถือพรหมจรรย์กับพระภิกษุที่มีครอบครัว

อย่างไรก็ตามพระที่มีครอบครัวต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตอย่างมาก เนื่องจากต้องมีรายได้มาเลี้ยงครอบครัว ต้องทำงานแบบฆราวาส จึงไม่มีเวลาศึกษาพระธรรมวินัย ไม่มีเวลาฝึกสมาธิ และเผยแผ่คำสอนพระพุทธศาสนา ที่สำคัญที่สุดอันเป็นความประสงค์ของญี่ปุ่นคือ ไม่มีเวลาปลุกระดมมวลชนต่อต้านญี่ปุ่น จึงทำให้ปกครองง่าย

ในปี พ.ศ.๒๔๘๘ ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ กองทัพสหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกาเข้ายึดเกาหลีจากญี่ปุ่น และแบ่งประเทศออกเป็น ๒ ส่วน คือ เกาหลีเหนือ(North Korea) และเกาหลีใต้ (South Korea)

เมื่อเกาหลีพ้นจากการปกครองของญี่ปุ่นแล้ว ชาวพุทธโดยเฉพาะพระสงฆ์ในเกาหลีใต้ได้เคลื่อนไหว มีการประชุมใหญ่แล้วลงมติให้รัฐบาลยกเลิกข้อบังคับต่างๆ ที่ขัดแย้งกับหลักพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งให้คณะสงฆ์ปกครองตนเอง โดยมีสำนักงานอยู่ในนครหลวงและจังหวัดต่างๆ มีการประชุมเพื่อตราธรรมนูญปกครองคณะสงฆ์ขึ้นในปีพ.ศ.๒๔๘๙ ส่วนเกาหลีเหนือนั้นปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งไม่สนับสนุนศาสนาใดๆ จึงไม่มีความเคลื่อนไหวทางศาสนามากนัก

ผลจากการเคลื่อนไหวให้มีการยกเลิกกฎต่างๆ เช่น การอนุญาตให้พระมีครอบครัว เป็นต้น ทำให้เกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างพระที่ประพฤติพรหมจรรย์กับพระที่มีครอบครัว ในที่สุดในปี พ.ศ.๒๕๐๕ คณะสงฆ์เกาหลีจึงแตกออกเป็น ๒ นิกาย คือ นิกายโชกาย และนิกายแตโก  ซึ่งนิกายโชกายคือพระที่ถือพรหมจรรย์ ส่วนนิกายแตโกคือพระที่มีครอบครัว นิกายโชกายนั้นได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและศาลสูงตัดสินให้มีสิทธิปกครองทุกวัดในประเทศรวมทั้งนิกายแตโกด้วย แต่ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถยังข้อขัดแย้งให้สงบลงได้

ปัจจุบันพระพุทธศาสนาในเกาหลีเป็นนิกายเซนผสมกับความเชื่อในพระอมิตาภพุทธเจ้าและพระเมตไตรยโพธิสัตว์ พระสงฆ์มีความคิดก้าวหน้าทันเหตุการณ์ ตื่นตัวที่จะปรับปรุงตนให้ทันโลกอยู่เสมอ การพัฒนาพระสงฆ์เน้นไปที่การศึกษาซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของรัฐบาล ชาวเกาหลีมีสถิติอ่านออกเขียนได้ถึง ๙๕% ข้อมูลในปี พ.ศ.๒๕๒๖ ระบุว่ามีพุทธศาสนิกชนอยู่ ๑๑,๑๓๐,๒๘๘ คน ฝ่ายหญิง ๗,๑๖๐,๗๐๔ คน ฝ่ายชาย ๓,๙๖๙,๕๘๔ คน  มีวัดที่ลงทะเบียน ๓,๑๖๓ วัด และไม่ลงทะเบียนอีก ๔,๐๙๐ วัด มีพระภิกษุจำนวน ๑๔,๒๐๖ รูป และภิกษุณี ๖,๕๔๙ รูป ส่วนมากเป็นนิกายโชกาย คือนักบวชที่ประพฤติพรหมจรรย์

เกาหลีใต้มีมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาอันเก่าแก่คือ ดงกุก สร้างในปี พ.ศ.๒๔๔๙ ประกอบด้วยวิทยาลัย ๙ แห่ง และบัณฑิตวิทยาลัย ๔ แห่ง มีนักศึกษาชายหญิงประมาณ ๑๕,๐๐๐ คน มีหลักสูตรอบรมพิเศษสำหรับภิกษุและภิกษุณี มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีโครงการแปลและ จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับเกาหลีในปี พ.ศ.๒๕๐๗ โดยการนำของคณะสงฆ์ มีคณะกรรมการแปล ๖๕ คน ออกตีพิมพ์เดือนละ ๑ เล่ม จนกว่าจะครบ ๒๔๐ เล่ม ระยะเวลาดำเนินโครงการ ๔๕ ปี  นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนพระปริยัติธรรมสำหรับภิกษุ ภิกษุณี สามเณรและสามเณรีด้วย โดยเปิดโอกาสให้ฆราวาสเข้าเรียนร่วมกับนักบวชได้

คณะสงฆ์เกาหลีใต้ยังมีสถานศึกษาฝ่ายสามัญระดับต่างๆ ด้วย เปิดรับนักเรียนชายหญิงทั่วไป มีคฤหัสถ์เป็นผู้บริหาร แต่อยู่ในความควบคุมของคณะกรรมาธิการฝ่ายการศึกษาของคณะสงฆ์ โดยแบ่งประเภทของสถาบันได้ดังนี้

มหาวิทยาลัยและวิทยาลัย                     แห่ง

โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย   ๑๑         แห่ง

โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น       ๑๖          แห่ง

โรงเรียนประถมศึกษา                             แห่ง

สำหรับภิกษุณีในเกาหลีใต้นั้น เป็นผู้มีความรู้ความสามารถปฏิบัติศาสนกิจเคียงบ่า   เคียงไหล่กับพระภิกษุได้เป็นอย่างดี ผู้หญิงเกาหลีนิยมบวชเป็นภิกษุณีตั้งแต่อายุ ๒๐ - ๔๐ ปี โดยบวชเป็นสามเณรีถือศีล ๑๐ อยู่ ๒ ปี แล้วเรียนในมหาวิทยาลัยหลักสูตร ๓-๕ ปี จากนั้นจึงบวชเป็นภิกษุณี ถือศีล ๓๖๘ ข้อ การปกครองภิกษุณีนั้นขึ้นต่อองค์การการปกครองคณะสงฆ์ทั้งหมด จึงทำให้สงฆ์สองฝ่ายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในแต่ละวัดจะมีภิกษุณีเป็นเจ้าอาวาส

ประเทศญี่ปุ่น (Japan) มีเมืองหลวงชื่อ โตเกียว และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด ประชากรญี่ปุ่นมีประมาณ ๑๒๘,๐๘๕,๐๐๐ คน (พ.ศ.๒๕๔๘) พุทธศาสนิกชนมีประมาณ ๘๙,๖๕๐,๐๐๐ คน ซึ่งมากเป็นอันดับ ๒ ของโลก รองจากประเทศจีน ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น แบ่งออกเป็น ๖ ยุค คือ ยุคแรก ยุคนารา ยุคโชกุนตระกูลแรก ยุคสงครามกลางเมือง ยุคปิดประเทศ และยุคเมจิถึงปัจจุบัน

ยุคแรก พระพุทธศาสนาจากจีนเผยแผ่เข้าสู่ญี่ปุ่นโดยผ่านเกาหลีในปี พ.ศ.๑๐๙๕ ซึ่งอยู่ในรัชสมัยของพระเจ้ากิมเมจิ ในครั้งนั้นพระเจ้าเซมาโวกษัตริย์แคว้นกทุระแห่งเกาหลีทรงส่งพระพุทธรูปทองเหลืองหุ้มทองคำ และพระคัมภีร์ไปถวายพระเจ้ากิมเมเจิพร้อมทั้งพระราชสาส์นมีใจความว่า นี่เป็นศาสนาที่ดีที่สุดที่หม่อมฉันเห็น หม่อมฉันไม่ต้องการให้ศาสนานี้จำกัดแพร่หลาย เฉพาะเพียงเกาหลีแห่งเดียว ขอให้พระองค์โปรดรับศาสนานี้ไว้ พระจักรพรรดิญี่ปุ่นทรงพอพระทัยเพราะไม่เคยได้สดับคำสอนอันวิเศษเช่นนี้มาก่อน ตั้งแต่นั้นชาวญี่ปุ่นจึงเริ่มนับถือพระพุทธศาสนา แต่ยังไม่แพร่หลาย เพราะศาสนาเดิมคือชินโต ยังมีอิทธิพลอยู่มาก

จนกระทั่งถึงสมัยที่จักรพรรดินีซูอิโกะ (Suiko) ครองราชย์ ประมาณปี พ.ศ.๑๑๓๕-๑๑๗๑ พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก พระนางทรงสละราชสมบัติออกผนวชเป็นภิกษุณี โดยมอบภาระให้พระราชนัดดาพระนามว่า อุมายาโดะ (Umayado) ทำหน้าที่สำเร็จราชการแทน  เจ้าชายอุมายาโดะนี้ ต่อมาได้รับการขนานพระนามว่า โชโตกุ ไทชิ

เจ้าชายโชโตกุทรงยกพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ทรงสร้างวัดประมาณ   ๔๐๐ วัด ทรงรอบรู้พระไตรปิฎก ทรงนิพนธ์อรรกถาพระสูตรสำคัญของมหายาน ๓ สูตร คือ  สัทธรรมปุณฑริกสูตร วิมลเกียรตินิเทศสูตร ศรีมาลาเทวีสิงหนาทสูตร ต้นฉบับลายพระหัตถ์ยังคงรักษาอยู่จนถึงปัจจุบัน ทรงบัญญัติกฎหมายแห่งรัฐโดยยึดหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เพราะผลงานทางพระพุทธศาสนาที่ทรงทำไว้มากมาย เจ้าชายโชโตกุจึงได้รับฉายาว่า เป็นพระเจ้าอโศกแห่งญี่ปุ่น

พระพุทธศาสนาที่เจ้าชายโชโตกุทรงศรัทธาชื่อว่า เอกยาน มีธรรมกายเป็นจุดหมายมีคำสอนประสานกันระหว่างมหายานและเถรวาท ไม่แบ่งแยกกันระหว่างพระสงฆ์กับคฤหัสถ์  ทุกคนสามารถปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันได้โดยไม่ต้องออกบวชหรือปลีกวิเวก เมื่อเจ้าชายโชโตกุสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.๑๑๖๕ พสกนิกรต่างเศร้าโศกเสียใจอย่างสุดซึ้ง เหล่าพุทธบริษัทจึงสร้างพระพุทธรูปขนาดเท่าพระวรกายพระองค์ขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งคุณความดีของพระองค์

ยุคนารา ตั้งแต่ยุคเจ้าชายโชโตกุเป็นต้นมา  พระพุทธศาสนาก็เจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับ

กลายเป็นส่วนหนึ่งของ วัฒนธรรมญี่ปุ่นสืบมา  เมื่อถึงสมัยนารา (Nara) ประมาณปี พ.ศ.๑๒๕๓ - ๑๓๒๗ พระพุทธศาสนาก็เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น นารา อันเป็นราชธานีของญี่ปุ่นยุคนั้นถึงกับได้ ชื่อว่า นครแห่งอารามหนึ่งพัน เพราะถนนทุกสายในเมืองนี้มีวัดพระพุทธศาสนา ยุคนั้นมีนักปราชญ์ญี่ปุ่นไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่ประเทศจีนเพิ่มมากขึ้นและได้นำนิกายต่างๆ มาเผยแผ่ในญี่ปุ่น ซึ่งสมัยนั้นมี ๖ นิกายด้วยกัน

               

ในปี พ.ศ.๑๒๘๔ พระเจ้าจักรพรรดิโชมุทรงประกาศจักรพรรดิราชโองการให้สร้างวัดของราชการประจำจังหวัดทั่วประเทศ ยุคนี้ลาภสักการะเกิดขึ้นกับคณะสงฆ์มาก เพราะกษัตริย์  และพสกนิกรให้การอุปถัมภ์ จึงทำให้มีผู้เข้ามาบวชเพื่อหวังลาภสักการะจำนวนมาก อีกทั้งคณะสงฆ์ เข้าครอบงำราชการแผ่นดิน ทำให้ห่างเหินการปฏิบัติธรรม ศาสนาจึงเสื่อมลง พระจักรพรรดิ ต้องการจะลิดรอนอำนาจทางการเมืองของพระสงฆ์ จึงย้ายเมืองหลวงจากนาราไปเกียวโต (เฮอัน) พระพุทธศาสนา ๖ นิกายนี้จึงไม่ได้รับการอุปถัมภ์จากราชสำนักอีก เป็นเหตุให้เสื่อมลงในที่สุด

 

ในยุคเกียวโตหรือเฮอัน (พ.ศ.๑๓๓๗ - ๑๗๒๘) พระไซโจ และพระคูไค ซึ่งเดินทางไปศึกษายังประเทศจีนได้กลับมาเผยแผ่ที่ญี่ปุ่น ท่านไซโจตั้งสำนักสงฆ์ขึ้นที่ภูเขาฮิเออิในปี พ.ศ.๑๓๒๘ เพื่อเผยแผ่นิกายเทนได หรือเทียนไท้ หรือนิกายสัทธรรมปุณฑริก พระสงฆ์สำนักนี้มีอาวุธไว้ป้องกันตัวในยามศึกสงครามด้วย ส่วนท่านคูไคได้กลับมาเผยแผ่นิกายชินงอน หรือ ตันตระ ยุคนี้ราชการให้การสนับสนุนพระพุทธศาสนาอย่างมากเช่นกัน พระจักรพรรดิเกือบทุกพระองค์เสด็จออกผนวช แต่ช่วงปลายยุคมีสงครามเกิดขึ้น  โดยขุนพลชื่อ โยริโมโต แห่งตระกูล มินาโมโต บุกโจมตีกรุงเกียวโตและนารา ยึดอำนาจการปกครองจากพระจักรพรรดิ และได้เผาวัดวาอารามไปจำนวนมาก ยุคนั้นพระสงฆ์บางวัดจึงมีกองทัพไว้ป้องกันวัด และมีพระบางพวกออกรบเพื่อช่วงชิงอำนาจทางการเมืองด้วย แต่โยริโมโตก็สามารถปราบปรามได้อย่างราบคาบ

ยุคโชกุนตระกูลแรก โชกุน หมายถึง ผู้บัญชาการกองกำลังทหารของประเทศ หากเปรียบกับตำแหน่งทางทหารในปัจจุบันแล้ว อาจเทียบได้กับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้ที่ได้รับตำแหน่งโชกุนคนแรกคือ โยริโมโต หลังจากที่โยริโมโตตีเมืองเฮอันและนาราได้แล้ว ในปี พ.ศ.๑๗๒๘ เขาสถาปนาเมืองกามากุระขึ้นเพื่อเป็นศูนย์การปกครองระบบโชกุนหรือรัฐบาลทหาร และได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระจักรพรรดิในปี พ.ศ. ๑๗๓๕ ให้ดำรงตำแหน่ง เซอิไทโชกุน ยุคนี้พระพุทธศาสนาจึงเสื่อมโทรมเพราะไฟสงคราม แต่พุทธศาสนิกชนก็พยายามฟื้นฟูขึ้นใหม่จนกลับรุ่งเรืองอีก โดยครั้งนั้นมีนิกายที่สำคัญอยู่ ๓ นิกายคือ นิกายโจโด นิกายเซน และนิกายนิจิเร็น

๑. นิกายโจโด หรือสุขาวดี ท่านโฮเน็นได้ก่อตั้งนิกายนี้ขึ้นในยุคกามากุระ วันหนึ่งท่านได้อ่านอรรถกถาอมิตายุรธยานสูตรพบข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า หากบุคคลนึกถึงและออกพระนามพระอามิตาพุทธเจ้า โดยมิต้องคำนึงถึงอากัปกิริยาและกาลเวลาแล้ว ถ้าปฏิบัติได้สม่ำเสมอก็ย่อมเรียกได้ว่า เป็นสัมมากัมมันตะ เพราะต้องด้วยปฏิญญาแห่งพระอมิตาภพุทธเจ้า  ท่านรู้สึกประทับใจข้อความนี้มากและได้เลิกข้อปฏิบัติอย่างอื่นหมด เปล่งแต่คำว่า นัมบู อมิดา บุตสึ อย่างเดียว โดยเชื่อว่าเพียงแค่นี้ก็สามารถไปเกิดยังแดนสุขาวดีซึ่งเป็นที่อยู่พระอมิตาภพุทธเจ้าได้ จากนั้นท่านจึงออกเผยแผ่คำสอนและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วทั้งนี้เพราะหลักปฏิบัติไม่ยุ่งยากซับซ้อน

๒. นิกายเซน ท่านโยไซ และท่านโดเกน ได้เดินทางไปศึกษาที่ภูเขาฮิเออิ จากนั้นก็เดินทางไปยังประเทศจีน ศึกษาพระพุทธศาสนานิกายเซนแล้วนำกลับมาเผยแผ่ที่ญี่ปุ่น ท่านโยไซสร้างวัดชื่อ โชฟูกูจิ ขึ้นในปี พ.ศ.๑๗๓๔ ที่เกาะกิวชิว เมืองกามากุระ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่นิกายรินไซเซน ส่วนท่านโดเกนสร้างวัดเออิเฮอิจิขึ้นเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่ โซโตะเซน

จากที่กล่าวแล้วว่า นิกายเซนเน้นการปฏิบัติสมาธิและวิปัสสนาเพื่อให้เข้าถึงฌานที่เรียกว่า ซาเซน โดยไม่อาศัยตัวหนังสือหรือปริยัติธรรมใดๆ  จึงมีคำขวัญประจำนิกายว่า ปุกลิบ-บุ้นยี่ ติกจี้นั้งซิม เกียงแส่ เซ่งฮุด แปลว่า ไม่ต้องอาศัยหนังสือแต่ชี้ตรงไปยังจิตของมนุษย์ ให้เห็นแจ้งในภาวะที่แท้จริงแล้วบรรลุเป็นพุทธะ ความแตกต่างกันระหว่างรินไซเซน กับโซโตะเซน คือ รินไซเซน อาจารย์ผู้สอนจะใช้วิธีรุนแรงต่างๆ ปลุกลูกศิษย์ให้ตื่นเพื่อความรู้แจ้ง เช่น     ถ่ายทอดธรรมด้วยการตะโกนใส่ลูกศิษย์บ้าง ใช้ไม้เท้าตีขณะนั่งวิปัสสนาบ้าง ส่วนโซโตะเซนอาจารย์จะฝึกให้ลูกศิษย์มองความจริงจากแง่มุมต่างๆ ให้เห็นว่าแต่ละมุมล้วนมีเอกภาพเดียวกัน ไม่อาจแยกขาดจากกัน

๓. นิกายนิชิเร็น เป็นนิกายที่ยึดพระสัทธรรมปุณฑริกสูตรเป็นแม่บทโดยพระนิชิเร็นเป็นผู้ก่อตั้งขึ้น ท่านเกิดวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๑๗๖๕ และอุปสมบทเมื่ออายุได้ ๑๖ ปีหลังจากศึกษาพระธรรมมาเป็นเวลา ๑๐ ปีแล้ว ท่านได้ข้อสรุปว่า คำสอนของพระสัทธรรมปุณฑริกสูตรนี้เท่านั้นถูกต้องแท้จริง

จากนั้นจึงเริ่มเผยแผ่คำสอน หลักปฏิบัติของนิกายนี้ไม่ซับซ้อน เพียงแต่มีศรัทธามั่นคงแล้วกล่าวนมัสการว่า นะมุ เมียวโฮ เรงเง เคียว ซึ่งแปลว่า ขอนอบน้อมแด่สัทธรรมปุณฑริกสูตร โดยขณะกล่าวต้องตระหนักว่าตนเองมีพุทธภาวะอยู่ในตัว แล้วจะสามารถกำจัดสักกายทิฏฐิและบรรลุธรรมได้

นิชิเร็นเป็นคนหัวรุนแรง เผยแผ่คำสอนโดยวิธีโจมตีต่างนิกาย เขาด่าโฮเน็นผู้ก่อตั้ง  นิกายสุขาวดีว่าเป็นสัตว์นรก การกล่าว นัมบู อมิดา บุตสึ ของนิกายสุขาวดีก็เป็นทางไปสู่นรก อีกทั้งชอบวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เขาเขียนเสนอโครงการปกครองประเทศให้รัฐบาล และพยากรณ์ว่า ถ้ารัฐบาลไม่ทำตามเขาจะมีมหันตภัยมาสู่ประเทศ นิชิเร็นจึงมีคนเกลียดชังมาก   เขาถูกเนรเทศ ๒ ครั้ง ถูกทำร้ายถึง ๒ ครั้ง แต่ก็รอดตายมาได้ทุกคราว

ยุคสงครามกลางเมือง หลังจากที่โชกุนตระกูลแรกคือมินาโมโตปกครองประเทศมาได้ ๒๘ ปี อำนาจจึงเริ่มเปลี่ยนมือ คือในปี พ.ศ.๑๗๕๖ อำนาจที่แท้จริงเปลี่ยนไปยังตระกูลโฮโจ ซึ่งเป็นตระกูลทางภรรยาของโยริโมโต

การฟื้นฟูอำนาจการปกครองโดยจักรพรรดิมีขึ้นในช่วงสั้นๆ คือตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๘๗๖ - ๑๘๘๑ หลังจากนั้นรัฐบาลโชกุนหรือรัฐบาลทหารชุดใหม่ก็ได้สถาปนาขึ้นอีก  โดยตระกูลอาชิคางะ ที่มุโรมาจิ ในกรุงเกียวโต หลังจากปกครองประเทศมาได้ ๒๐๐ กว่าปี ก็เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นระหว่างผู้นำทหารแต่ละตระกูล  ในครั้งนั้นมีนักรบผู้หนึ่งชื่อ โอดะ โนบุนากะ (Oda Nobunaga)  ฝึกให้ทหารของเขาใช้อาวุธปืนที่พ่อค้าโปรตุเกสนำมาขายในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ จึงทำให้กองทัพแข็งแกร่งและสามารถปราบหัวเมืองต่างๆ ลงได้

ช่วงสงครามกลางเมืองนี้ส่งผลกระทบต่อพระพุทธศาสนาอย่างร้ายแรงมาก พระภิกษุถึงกับต้องจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับเหล่าทหาร โดยมีสำนักสงฆ์นิกายเทนไดแห่งภูเขาฮิเออิเป็นศูนย์กลางของกองทัพ โอดะ โนบุนากะ สั่งการให้กองทหารกว่า ๓๐,๐๐๐ นาย เข้าโอบล้อมเทือกเขาฮิเออิแล้วตีโอบตะลุยขึ้นไปยังวัดซากาโมโตะ สั่งให้ฆ่าพระทุกรูปและชาวบ้านทุกคนบนเทือกเขาไม่เว้นแม้แต่ผู้หญิงและเด็กทารก ให้เผาวัดและบ้านเรือนทุกหลังจนวอดวาย จากนั้น ให้ทหารบุกเผาวัดอื่นๆ อีกประมาณ ๓,๐๐๐ วัดที่มีทีท่าว่าจะก่อการกบฏต่อเขา

หลังจากปราบกองทัพพระสงฆ์ลงได้ราบคาบแล้ว โอดะ โนบุนากะสนับสนุนให้มิชชันนารีชาวโปรตุเกสนำศาสนาคริสต์นิกายเยซูอิทมาเผยแผ่ จนได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว แม้ตัวเขาเองก็เปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนาด้วย  โนบุนากะครองอำนาจอยู่ได้กว่า ๔๘ ปี ก็ถูกอะเคจิ มิตสึฮิเดะ แม่ทัพคนสนิทสังหารในปี พ.ศ.๒๑๒๕ เนื่องจากแค้นใจที่ถูกโนบุนากะทำให้เขาได้รับความอับอายต่อหน้านายทหาร แต่อะเคจิ มิตสึฮิเดะก็ถูกลอบสังหารเช่นเดียวกันจากโทโยโทมิ ฮิเดโยชิ นายทหารคนสนิทอีกคนหนึ่งของโอดะ โนบุนากะ

จากนั้น โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ก็ได้สืบทอดอำนาจต่อจากโนบุนากะ รวมญี่ปุ่นให้เป็นหนึ่งเดียวได้สำเร็จในปี พ.ศ.๒๑๓๓  ช่วงแรกเขาสนับสนุนนักสอนศาสนาชาวตะวันตกเป็นอย่างดี จนกระทั่งวันหนึ่งกะลาสีฝรั่งพูดในร้านเหล้าว่า รัฐบาลของเขาอาศัยพวกบาทหลวงเป็นแนวหน้า ในการล่าอาณานิคม ที่ใดชาวพื้นเมืองนับถือคริสต์ศาสนามาก ก็ชื่อว่าเป็นเมืองขึ้นทางจิตใจ  ถ้าเกิดสงครามขึ้นแล้ว พวกเหล่านี้จะเป็นสายลับช่วยกองทัพให้เข้ามาโจมตีบ้านเมืองของตน เมื่อฮิเดโยชิทราบเรื่องนี้ จึงออกคำสั่งกวาดล้างคริสต์ศาสนาให้สิ้นซาก

ยุคปิดประเทศ หลังจากฮิเดโยชิเสียชีวิตแล้ว โทะคุงะวะ อิเอะยะสุ ได้ครองอำนาจต่อโดยย้ายศูนย์กลางการบริหารแผ่นดินไปที่เมืองเอะโดะ (ปัจจุบันคือโตเกียว) และได้ตั้งรัฐบาลโชกุนขึ้นในปี พ.ศ.๒๑๔๖ รัฐบาลโทะคุงะวะปกครองญี่ปุ่นอยู่ ๒๖๐ ปี ยุคนี้ยังมีการติดต่อกับตะวันตกทางด้านการค้า  แต่ได้กำจัดนักบวชและคริสต์ศาสนิกชนอย่างรุนแรง เช่น ประหารชีวิต กำหนดโทษเผาทั้งเป็นและริบทรัพย์ผู้นับถือศาสนาคริสต์ ต่อมาได้ขับไล่ชาวตะวันตกออกจากประเทศ สั่งห้ามชาวต่างชาติทุกคนเข้าประเทศ ยกเว้นกลุ่มที่ได้รับอนุญาตบางกลุ่ม ตั้งแต่นั้นญี่ปุ่นจึงเข้าสู่ยุคปิดประเทศ สถานการณ์พระพุทธศาสนายุคนี้ก็ซบเซา เพราะถูกรัฐบาล   แทรกแซง และให้การสนับสนุนศาสนาขงจื้อแทน

ยุคเมจิถึงปัจจุบัน ญี่ปุ่นปิดประเทศอยู่ประมาณ ๒๕๐ ปี เปิดประเทศอีกครั้งหลังจาก การมาเยือนของสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.๒๓๙๖ ยุคนี้ระบบโชกุนอ่อนแอลงมากและสิ้นอำนาจลงในสมัยพระจักรพรรดิเมจิ (พ.ศ.๒๔๑๑ - ๒๔๕๕) สมัยนี้ญี่ปุ่นเจริญก้าวหน้ามาก ด้วยระยะเวลาเพียง ๓๐ ปีแห่งการพัฒนาประเทศตามตะวันตก ญี่ปุ่นได้กลายเป็นยุโรปแห่งตะวันออก  มีกำลังทางเศรษฐกิจและทางทหารพรั่งพร้อม จนสามารถจมกองทัพเรือรัสเซียในทะเลญี่ปุ่นได้ทั้งกองทัพ

ยุคนี้ลัทธิชินโตได้รับความนิยม เพราะคำสอนยกย่องพระจักรพรรดิให้เป็นอวตารของเทพเจ้า ส่วนพระพุทธศาสนากลับเสื่อมโทรม มีการห้ามตั้งนิกายใหม่ ห้ามสร้างวัดเพิ่ม พิธีกรรม ความเชื่อและวัตถุที่เคารพในพระพุทธศาสนาถูกยกเลิกจากพระราชสำนักทั้งหมด ประกาศให้ ยึดวัดมาสร้างเป็นโรงเรียน โรงงาน บังคับให้ชีไปมีสามี ด้วยแรงกดดันนี้ทำให้พุทธบริษัทมีความตื่นตัวและปฏิรูปพระพุทธศาสนาเพื่อความอยู่รอดดังนี้

๑.  สร้างโรงเรียนขึ้นในวัดใหญ่ๆ บางวัด และสร้างวิทยาลัยอาชีวะชั้นสูงด้วย

๒.  สร้างมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาขึ้น  โดยรวบรวมทุนจากวัดใหญ่ๆ หลายวัด หรือรวบรวมทุนระหว่างนิกาย เช่น นิกายเท็นไดกับนิกายชิน มหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นที่สร้างโดยทุนของพระพุทธศาสนายุคนั้นมี ๑๓ แห่ง เช่น มหาวิทยาลัยโอตานิ

๓.  บำเพ็ญงานด้านสาธารณกุศล ด้วยการสร้างโรงพยาบาล สถานสงเคราะห์คนทุพพลภาพ สถานสงเคราะห์เยาวชน องค์กรจัดหางานให้แก่คนตกงาน วัดใหญ่ๆ หลายวัดรวมทุนกันสร้างบริษัทการค้า โรงงานอุตสาหกรรม เมื่อได้กำไรมาแล้วก็นำมาใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ของพระพุทธศาสนา

๔.  ส่งเสริมการค้นคว้าทางพระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวาง  จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก คือ ฉบับไทโช ตีพิมพ์หนังสือพระพุทธศาสนาจำนวนมาก ปีละหลายล้านเล่ม ความรู้ทางพระพุทธศาสนาของญี่ปุ่นจึงก้าวหน้ามาก

เมื่อมีการปฏิรูปเช่นนี้ ทำให้ฐานะพระพุทธศาสนาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว จนรัฐบาลไม่กล้า แตะต้องกิจการภายใน ในที่สุดการคุกคามพระพุทธศาสนาจึงยุติไปโดยปริยาย และหลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ ๒ นายพลแมคอาเธอร์ สั่งยุบศาสนาชินโต เพราะถือเป็นศาสนาเพาะวิญญาณสงคราม จึงทำให้พระพุทธศาสนาหมดคู่แข่งอย่างเป็นทางการไปหนึ่งศาสนา ซึ่งได้ต่อสู้ทางอุดมการณ์กันมายาวนานนับพันปี ถึงแม้จะไม่อาจลบเลือนไปจากจิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่นได้เสียทีเดียว

ทุกวันนี้คู่แข่งใหม่ที่น่ากลัวกว่าชินโตมากคือ วัฒนธรรมตะวันตก ที่นับวันจะหลั่งไหลเข้าไปยังญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ วัฒนธรรมเหล่านี้ส่งเสริมให้คนติดในวัตถุ ความสะดวกสบายและสนุกสนานเพลิดเพลินจนละทิ้งศาสนา เยาวชนทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะญี่ปุ่นให้เวลากับการคุยโทรศัพท์มือถือ เล่นอินเทอร์เน็ต เล่มเกมคอมพิวเตอร์ เดินเที่ยวห้างสรรพสินค้า มากกว่าเวลาอ่านหนังสือ หลายต่อหลายคนเล่นเกมจนไม่ได้หลับไม่ได้นอน จนมีข่าวเด็กช็อกตายหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้ได้ยินอยู่บ่อยๆ แล้วเยาวชนยุคนี้จะเอาเวลาที่ไหนมาสนใจพระพุทธศาสนาเพราะแม้แต่เวลานอนยังไม่มี

ปัจจุบันชาวญี่ปุ่นยังนับถือพระพุทธศาสนาควบคู่กับศาสนาชินโต โดยพระพุทธศาสนา แบ่งออกเป็นหลายนิกาย นิกายที่สำคัญมี ๕ นิกาย คือ

. นิกายเทนได หรือเทียนไท้ หรือสัทธรรมปุณฑริก พระไซโจเป็นผู้ตั้ง โดยตั้งชื่อนิกายตามชื่อภูเขาเทียนไท้ในประเทศจีน ซึ่งเป็นสำนักที่ท่านไปศึกษา

. นิกายชินงอน หรือตันตระ พระคูไคเป็นผู้ตั้งในเวลาใกล้เคียงกับนิกายเทนได     นิกายนี้ยึดคัมภีร์มหาไวโรจนสูตรเป็นหลัก ถือว่าพระไวโรจนพุทธเจ้าเป็นที่เคารพสูงสุด นอกจากนี้ นิกายนี้ยังประสานคำสอนเข้ากับลัทธิชินโต สามารถยุบวัดชินโตเป็นวัดชินงอนได้หลายวัด

. นิกายโจโด หรือสุขาวดี โฮเน็นเป็นผู้ตั้ง นิกายนี้สอนว่าสุขาวดีเป็นแดนอมตสุข   จะไปถึงได้ด้วยการออกพระนามพระอมิตาภพุทธะ โจโดยังมีนิกายย่อยอีกมาก เช่น โจโดชิน  หมายถึง สุขาวดีแท้ ตั้งโดยชินแรน มีคติว่า "ฮิโชฮิโชกุ ไม่มีพระไม่มีฆราวาส" ทำให้พระในนิกายนี้มีภรรยาได้ ฉันเนื้อได้ มีความเป็นอยู่คล้ายฆราวาส

. นิกายเซน หรือฌาน นิกายเซนเน้นการปฏิบัติสมาธิและวิปัสสนาเพื่อให้เข้าถึงฌานที่เรียกว่า ซาเซน นิกายนี้คนชั้นสูงและพวกนักรบนิยมมาก เซนมีนักวิชาการคนสำคัญคือ ดร.ดี ที ซูสุกิ (พ.ศ.๒๔๓๓-๒๕๐๙) เป็นผู้บุกเบิกเผยแผ่เซนให้เป็นที่รู้จักในตะวันตก ด้วยการแต่งตำราและแปลคัมภีร์เป็นภาษาอังกฤษ

. นิกายนิชิเร็น พระนิชิเร็นเป็นผู้ตั้ง นิกายนี้นับถือสัทธรรมปุณฑริกสูตรอย่างเดียว โดยภาวนาว่า นะมุ เมียวโฮ เรงเง เคียว (นโม สทฺธมฺมปุณฺฑริก สุตฺตสฺส แปลว่า ขอนอบน้อมแด่ สัทธรรมปุณฑริกสูตร) เมื่อเปล่งคำนี้ออกมาด้วยความรู้สึกว่ามีธาตุพุทธะอยู่ในใจ ก็บรรลุ      โพธิญาณได้

โซกะ กัคไค (Soka Gakkai) เป็นนิกายที่ใหญ่ที่สุดและมีอิทธิพลมากที่สุดในสายนิชิเร็น ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า ๑๒ ล้านคนใน ๑๙๐ ประเทศทั่วโลก โดยมี ไดซาขุ อิเคดะ เป็นผู้นำองค์กร โซกะ กัคไค แปลว่า สมาคมสร้างสรรค์คุณค่า

การเผยแผ่ของนิกายนี้ใช้ยุทธวิธี ชากุบุกุ แปลว่า ทำลายแล้วครอบครอง หมายความว่าทำให้มองเห็นข้อผิดพลาดในหลักคำสอนเก่าจนไม่เชื่อถือแล้วให้เปลี่ยนมานับถือนิกายนิชิเร็น วิธีเข้านิกายนี้คือ ทำลายรูปเคารพในศาสนาหรือนิกายเดิมของตนแล้วไปเข้าวัดที่อยู่ใกล้ เพื่อทำพิธีประมาณ ๒๕ นาที พร้อมรับมอบโงฮอนวอน มาตั้งบูชาที่บ้านตน และสวด นะมุ เมียวโฮ เรงเง เคียว ทุกวัน ตอนเช้า ๕ ครั้ง ตอนค่ำ ๓ ครั้ง

การบริหารของสมาคมเน้นความเป็นทีม สมาชิกต้องเป็นหนึ่งเดียวไม่มีการโต้แย้ง   หมู่คณะจะเข้มแข็งมั่นคงได้ด้วยศรัทธาเป็นฐานและเป็นจุดศูนย์รวม บุคคลเป็นเพียงส่วนประกอบและมีความหมายเพียงช่วยให้เกิดการกระทำของส่วนรวม

นิกายนี้จะสร้างรัฐซ้อนขึ้นในรัฐ  โดยสมาชิกประมาณ ๒๐-๓๐ ครอบครัว  รวมกันเป็น กลุ่มเรียกว่า Squad ถ้ารวมได้ ๖ Squad เรียกว่า Company ถ้ารวมได้ ๑๐ Company เรียกว่า District ถ้ารวมหลายๆ District เรียกว่า Religion Chapter หรือภาค แต่ละหน่วยเหล่านี้มีการประชุมกันเป็นประจำเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางศาสนาซึ่งกันและกัน

ในด้านเยาวชนมีการสอนธรรมภาคฤดูร้อน แจกตำราเกี่ยวกับหลักธรรมของนิกาย   และจัดสอบประจำปี เมื่อสอบได้ก็รับคุณวุฒิตามลำดับชั้น

ปัจจุบัน โซกะ กัคไค มีบทบาทสำคัญในการเมืองญี่ปุ่น  เพราะมีบุคคลชั้นนำของนิกายนี้เป็นเลขาธิการพรรคการเมืองชื่อ พรรคโกเมอิโต โดยมีนโยบายที่เป็นประชาธิปไตยแบบพระพุทธศาสนา พรรคนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็วจนมีอิทธิพลเป็นอันดับสามของประเทศ

ทิเบต (Tibet) ตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัยเป็นที่ราบสูงที่สูงที่สุดในโลกจนได้รับฉายาว่า หลังคาโลก ปัจจุบันทิเบตเป็นเขตปกครองพิเศษของจีน หลังจากถูกยึดครองในปี พ.ศ.๒๔๙๔ องค์ทะไล ลามะ เท็นซิน กยัตโซ ผู้นำทิเบตจึงเสด็จลี้ภัยไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่ ณ ธรรมศาลา ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ในปี พ.ศ.๒๕๐๒ โดยมีชาวทิเบตประมาณ ๘๐,๐๐๐ คนติดตามไปด้วย

ในอดีตก่อนการยึดครองของจีน ทิเบตได้รับฉายาว่า "แดนแห่งพระธรรม" (Land of Dharma) ปัจจุบันก็ยังหลงเหลือภาพนี้อยู่ แม้จะมัวหมองไปมากหลังจากเป็นเมืองขึ้นของจีน   ชาวทิเบตนิยมบวชเป็นพระภิกษุ เฉพาะในลาซา เมืองหลวงของทิเบต มีพระอยู่ถึงครึ่งหนึ่งของพลเมืองทั้งหมด  นอกเมืองหลวงก็มีอยู่จำนวนมาก  แต่ละวัดมีพระอยู่หลายพันรูป เช่น วัดเซรา มี ๗,๐๐๐ รูป วัดไคปุงมี ๕,๐๐๐ รูป วัดกันดันมี ๓,๐๐๐ รูป เป็นต้น ชาวทิเบตถือว่า ๓ วัดนี้เป็นประดุจเสาค้ำชาติ ๓ ต้น เหตุที่กุลบุตรออกบวชกันจำนวนมาก เพราะทิเบตมีวัฒนธรรมอย่างหนึ่งคือ แต่ละครอบครัวจะต้องอุทิศบุตรชายอย่างน้อย ๑ คน ให้บวชเป็นพระตลอดชีวิต

ศาสนาในทัศนะของชาวทิเบต ไม่ใช่เป็นเพียงกฎเกณฑ์ที่ให้คนคอยปฏิบัติตาม แต่ศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ผสมผสานอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเขา ดังที่ท่านสังฆรักขิตะกล่าวว่า พระพุทธศาสนาในทิเบตคือวิถีชีวิต ทั้งชีวิตของชาวทิเบตคือพระพุทธศาสนา  สภาพแวดล้อมคือพระพุทธศาสนา ทุกอณูของพื้นแผ่นดินทิเบต เราจะเห็นเฉพาะภาพพระพุทธศาสนา

         

ชาวทิเบตให้ความสำคัญกับการสวดมนต์มาก โดยเฉพาะบทสวดที่ชาวโลกคุ้นเคยกันดี คือ โอม มณี ปัทเท หุม อันเป็นมนต์ หรือมันตระแห่งความกรุณา พวกเขาเชื่อว่าถ้าสวดได้ถึง ๖๐๐,๐๐๐ จบ จะทำให้บรรลุพระนิพพาน แต่ละคนจะมีลูกประคำ ๑๐๘ ลูกประจำตัว เพื่อเป็นอุปกรณ์ช่วยในการสวดมนต์ อิทธิพลของพระพุทธศาสนาทำให้ชาวทิเบตมีนิสัยอ่อนน้อม ฉายภาพแห่งความเมตตากรุณาออกมาตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ในอดีตชาวทิเบตมีนิสัยโหดร้าย บางครั้งถึงกับกินเนื้อคนเลยทีเดียว

ในสมัยพุทธกาล ทิเบตเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอินเดีย อยู่ในอาณาเขตแคว้นโกศล ป่ามหาวัน ที่อยู่ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ มีบริเวณด้านเหนือครอบคลุมถึงภูเขาหิมาลัย ซึ่งเป็นที่ตั้งของทิเบตในปัจจุบัน พระพุทธองค์ทรงแสดงมหาสมยสูตรและมธุปิณฑิกสูตร ณ ป่ามหาวัน ดังนั้นพระพุทธศาสนาจึงเข้าสู่ทิเบตตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว ต่อมาสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งสมณทูต ๙ สายไปประกาศพระศาสนา โดยสายของพระมัชฌิมเถระและคณะได้เดินทางมาประกาศพระพุทธศาสนา ณ บริเวณเทือกเขาหิมาลัยนี้

ต่อมาปี พ.ศ.๙๗๖ กษัตริย์ลาโธ โธรี เย็นเซ (พ.ศ.๙๐๐ - ๑๑๐๐) ได้รับเครื่องบรรณาการจากตัวแทนอินเดีย อันมีคัมภีร์พระพุทธศาสนาและพระพุทธรูปด้วย พระองค์จึงเป็นกษัตริย์ทิเบตพระองค์แรกที่นับถือพระพุทธศาสนา ช่วงนี้พระพุทธศาสนายังไม่แพร่หลายเพราะลัทธิบอน  อันเป็นความเชื่อดั้งเดิมของชาวทิเบตยังมีอิทธิพลอยู่มาก

เมื่อพระเจ้าซองเซน กัมโป ขึ้นครองราชย์ (พ.ศ.๑๑๖๐ - ๑๒๔๑) ทรงทำสงครามกับจีนและตีเมืองเสฉวนได้  พระเจ้าถังไท่จงฮ่องเต้จึงปรารถนาจะผูกมิตรกับทิเบตด้วยการยกเจ้าหญิงในราชสกุลองค์หนึ่งพระนามว่า บุ้นเซ้งกงจู้ ให้เป็นมเหสีของพระเจ้าซองเซน กัมโป ต่อมาเมื่อทิเบตรุกรานเนปาล กษัตริย์เนปาลจึงขอผูกไมตรีด้วยการยกพระธิดาชื่อ กฤกุฏีเทวี ให้เป็นมเหสีของพระองค์เช่นกัน  ราชธิดาทั้งสองได้อัญเชิญพระพุทธรูปและคัมภีร์พระพุทธศาสนาเข้าไปในทิเบตด้วย ทั้งสองพระองค์ได้ชักจูงให้พระสวามีนับถือพระพุทธศาสนา

พระเจ้าซองเซน กัมโปทรงส่งที่ปรึกษาราชสำนักคนสำคัญชื่อ ทอนมี สัมโภตะ พร้อมคณะอีก ๑๒ คน ไปศึกษาพระพุทธศาสนา ณ มหาวิทยาลัยนาลันทา ประเทศอินเดีย ทอนมี สัมโภตะและคณะได้นำอักษรสันสฤตมาเป็นต้นแบบในการประดิษฐ์อักษรและไวยากรณ์ภาษาทิเบตขึ้น และได้แปลคัมภีร์พระพุทธศาสนาจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาทิเบตด้วย หลังจากนั้นชาวทิเบตจึงได้ศึกษาพระพุทธศาสนากันอย่างกว้างขวาง ในปี พ.ศ.๑๑๗๓ พระเจ้าซองเซน กัมโปประกาศให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ และทรงสร้างพุทธสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น พระราชวังโปตาลา และวัดโจคัง เป็นต้น

หลังจากรัชสมัยพระเจ้าซองเซน กัมโปแล้ว ลัทธิบอนกลับมามีอิทธิพลอีกครั้ง ได้ข่มพระพุทธศาสนาโดยอ้างฤทธิ์เดชต่างๆ ของลัทธิตน จนกระทั่งพระเจ้าธริซอง เดทเซน ขึ้นครองราชย์  (พ.ศ.๑๓๓๓ - ๑๔๐๑) พระองค์ทรงอาราธนาพระคุรุปัทมสัมภวะ แห่งลัทธิมนตรยาน ผู้รู้เวทมนตร์มากให้มาปราบลัทธิบอน ท่านคุรุปัทมสัมภวะใช้เวลา ๑ ปีกว่า จึงปราบได้หมดแล้วตั้งนิกายเนียงม่า (Nyiangma) หรือนิกายหมวกแดง และสร้างวัดสัมเยขึ้นเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

นอกจากนี้ พระเจ้าธริซอง เดทเซนยังนิมนต์พระนิกายสรวาสติวาทมา ๑๒ รูป แล้วคัดเลือกชาวทิเบตให้มาบรรพชาอุปสมบท ๕ คน ต่อมามีชาวทิเบตอีก ๓๐๐ คน ทั้งชายและหญิงมาบรรพชาอุปสมบทด้วย พระเจ้าธริซอง เดทเซนทรงตรากฎหมายให้มีการสนับสนุนด้านต่างๆ แก่พระภิกษุสามเณร จึงเป็นการวางรากฐานอันมั่นคงให้แก่พระพุทธศาสนา

พระเจ้าธริ รัลปาเชน (พ.ศ.๑๔๐๙ - ๑๔๔๔) ครองราชย์เป็นกษัตริย์ทิเบตพระองค์ต่อมา ทรงมีพระราชศรัทธาแรงกล้าในพระพุทธศาสนา ถึงกับสยายพระเกศารองเป็นอาสนะให้พระสงฆ์นั่งล้อมแสดงธรรมถวายพระองค์ ทรงแต่งตั้งชาวพุทธให้ดำรงตำแหน่งทางราชการเป็นจำนวนมาก และมีการลงโทษผู้ที่ไม่มีเคารพพระสงฆ์ด้วย ทำให้พวกลัทธิบอนหรือผู้ที่เสียผลประโยชน์ไม่พอใจมาก ด้วยเหตุนี้พวกนี้จึงลอบปลงพระชนม์พระองค์เสีย

พระพุทธศาสนารุ่งเรืองมายาวนานเพราะได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์ทุกพระองค์ที่ผ่านมา แต่เมื่อพระเจ้าลัง ดาร์ม่า (พ.ศ.๑๔๔๔ - ๑๔๔๙) ขึ้นครองราชย์ พระองค์นับถือลัทธิบอน จึงพยายามทำลายพระพุทธศาสนา บังคับให้พระสงฆ์ลาสิกขา พระภิกษุต้องหลบออกไปอยู่ในชนบท ภิกษุรูปหนึ่งอดรนทนไม่ไหวจากการกระทำของพระองค์ จึงแต่งตัวด้วยชุดดำ สวมหมวกสีดำเข้าไปปะปนกับชาวเมือง แล้วลอบปลงพระชนม์พระเจ้าลัง ดาร์ม่าเสีย

ต่อมาในปี พ.ศ.๑๕๗๗ - ๑๕๘๑ ทิเบตได้อาราธนาพระทีปังกรศรีชญาณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวิกรมศิลาแห่งอินเดีย ให้มาช่วยปฏิรูปพระพุทธศาสนาและก่อตั้งนิกายลามะ (Lamaism) ในทิเบต พุทธศตวรรษที่ ๑๖ นี้มีการส่งคนไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่มหาวิทยาลัยนาลันทามาก มีการแปลคัมภีร์เป็นภาษาทิเบต สร้างวัด และนิมนต์นักปราชญ์อินเดียไปทิเบตหลายท่าน ทำให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้ง

ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ท่านตสองขะปะได้สร้างวัดกันดัน ใกล้กับลาซาและตั้งนิกายเกลุกหรือนิกายหมวกเหลืองขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปฏิบัติวินัยให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น  เพราะลามะในนิกายเนียงม่าส่วนมากเลอะเทอะมีลูกมีเมียในวัด แต่นิกายเกลุกห้ามเด็ดขาด  นอกจากนี้ท่านยังรวบรวมคัมภีร์ที่ได้แปลเป็นภาษาทิเบตขึ้น โดยแบ่งเป็น ๒ หมวด คือ พุทธพจน์ ๑๐๐ เล่ม และอรรถกถา ๒๒๕ เล่ม คัมภีร์เหล่านี้เรียกว่า พระไตรปิฎก หรือคัมภีร์พระพุทธศาสนาฉบับทิเบต ซึ่งได้ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ลูกศิษย์ของท่านตสองขะปะได้สร้างวัดใหญ่ขึ้น คือ วัดเซรา วัดไคปุงและวัดตชิลุมโป และที่สำคัญ ท่านตสองขะปะยังเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดการสืบทอดอำนาจโดยการกลับชาติมาเกิดด้วย

กำเนิดองค์ทะไล ลามะ ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒ อัลตันข่านแห่งมองโกลบุกยึดทิเบต และมีโอกาสได้พบกับโซนัม กยัตโซ ประมุขสงฆ์นิกายเกลุก องค์ที่ ๓ อัลตันข่านเกิดความเลื่อมใสยิ่งนักจึงถวายตำแหน่ง ทะเล ให้แก่ท่าน ชาวทิเบตออกเสียงว่า ทะไล (Dailai) โซนัม กยัตโซได้ถวายตำแหน่งทะไล ลามะ ย้อนหลังขึ้นไปในสองชาติแรกของท่านด้วย ซึ่งก็คือประมุขสงฆ์นิกายเกลุกองค์ที่ ๑ และ ๒ นั่นเอง ยุคของทะไล ลามะ องค์ที่ ๔ นิกายเกลุกก็เจริญรุ่งเรืองเหมือนเดิม เพราะกองทหารมองโกลหนุนหลังอยู่

สมัยทะไล ลามะ องค์ที่ ๕ โลซัง กยัตโซ (พ.ศ.๒๑๕๘ - ๒๒๒๓) การเมืองในทิเบตปั่นป่วน เกิดการแย่งชิงบัลลังก์กันในนครลาซา  กุชรีข่าน  ผู้นำมองโกลจึงเข้ามาช่วยปราบปราม จากนั้นจึงมอบอำนาจการปกครองทั้งฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักรให้แก่ท่านโลซัง กยัตโซ    ทะไล ลามะ องค์ที่ ๕ จึงเป็นจุดเริ่มต้นระบอบการปกครองที่มีพระเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ ท่านโลซัง กยัตโซ ทรงทำให้ชาวมองโกลเป็นพุทธศาสนิกชนทั้งประเทศ และทรงสร้างต่อเติมพระราชวังโปตาลาให้ใหญ่โตกว่าเดิม

องค์ทะไล ลามะในปัจจุบัน เป็นองค์ที่ ๑๔ พระนามว่า เท็นซิน กยัตโซ พระองค์ทรงจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่ ณ ธรรมศาลา ประเทศอินเดีย เนื่องจากทิเบตถูกกองทัพจีนยึดครองในปี พ.ศ.๒๔๙๔ พระองค์จึงเสด็จลี้ภัยมาอยู่ประเทศอินเดียในปี พ.ศ.๒๕๐๒ เหตุการณ์นี้ทำให้ทิเบตและพระพุทธศาสนาแบบทิเบตเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยเฉพาะชาวตะวันตก ในสหรัฐอเมริกามีชาวพุทธทิเบตอยู่ประมาณ ๕,๐๐๐,๐๐๐ คน ส่วนใหญ่เป็นนิกายหมวกเหลืองหรือเกลุก

องค์ทะไล ลามะ องค์ปัจจุบันได้มาเยือนประเทศไทยในปี พ.ศ.๒๕๓๖ เพื่อรับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศไทย ในการนี้รัฐบาลจีนได้เตือนประเทศไทยว่า ไม่ควรออกวีซ่าให้องค์ทะไล ลามะ เพราะว่าพระองค์เกี่ยวข้องกับกิจกรรมแบ่งแยกดินแดนจีนตลอดมา แต่รัฐบาลไทยก็ออกวีซ่าให้ โดยมีเหตุผลว่าเป็นเมืองพุทธ ไม่มีเหตุอันควรที่จะสกัดกั้นพระที่จะเข้าประเทศ นอกเสียจากมาก่อเหตุร้ายเท่านั้น แต่ด้วยกระแสกดดันจากจีนเมื่อองค์ทะไล ลามะเข้ามาในประเทศไทยแล้ว ปรากฏว่า ไม่มีวัดไหนกล้าให้ที่พักแก่ท่าน ในครั้งนั้น หลวงพ่อปัญญานันทะ วัดชลประทาน ได้อาสาให้พระองค์พักที่วัดท่าน แต่สุดท้าย วัดบวรนิเวศวิหารก็ได้นิมนต์ให้ท่านไปพักที่นั่นในฐานะเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชประมุขสงฆ์ไทย

ปัจจุบันพระพุทธศาสนามหายานในทิเบตเป็นแบบวัชรยานหรือตันตระ โดยมีนิกายสำคัญมี ๔ นิกาย คือ เนียงม่า กาจู สักยะ และเกลุก

. นิกายเนียงม่า ผู้ก่อตั้ง คือ คุรุปัทมสัมภวะ ท่านแบ่งคำสอนในพระพุทธศาสนาเป็น นวยาน พระในนิกายนี้นิยมสวมหมวกสีแดง

. นิกายกาจู อาจารย์ทุงโป ญาลจอร์ และมาร์ปะโชคี โลโด เป็นผู้ก่อตั้งโดยยึดหลักคำสอนสายทั้ง ๔ ของตันตระคือ กายมายา การสืบทอดวิญญาณ ความฝัน และแสงสว่าง      บางครั้งนิกายนี้เรียกว่า นิกายหมวกดำ เพราะเวลาประกอบพิธีพระนิกายนี้นิยมสวมหมวกสีดำ

. นิกายศากยะ ก่อตั้งโดยท่านคอนจ็อก เจลโป มีคำสอนสำคัญคือ ธรรมทอง ๑๓ ข้อ และคำสอนลัมเดร (Lamdre) หลักแห่งมรรคและผล ซึ่งเป็นการรวมกันระหว่างบริสุทธิ์และศูนยตา โดยสาระคือความแยกกันไม่ได้ระหว่างสังสารวัฏและนิพพาน พระในนิกายนี้นิยมสวมหมวกหลายสี

. นิกายเกลุก ผู้ก่อตั้งนิกายนี้ คือ อาจารย์ตสองขะปะ นิกายนี้มุ่งในด้านความเคร่งครัดทางวินัย  การศึกษาพระสูตรและตันตระจะใช้วิธีการวิเคราะห์โดยผ่านทางตรรกวิภาษ พระในนิกายนี้นิยมสวมหมวกสีเหลือง

พระราชวังโปตาลา ตอนเริ่มต้นสร้างเป็นเพียงวังเล็กๆ ต่อมามีการก่อสร้างต่อเติมขึ้นเรื่อยๆ นับร้อยปี จนเป็นพระราชวังที่ใหญ่โตมโหฬารมีพื้นที่ครอบภูเขาไว้ทั้งลูก พระราชวังโปตาลาเป็นศูนย์กลางแห่งจิตวิญญาณชาวทิเบต หลังคาประดับด้วยกระเบื้องทองคำ และมีพระเจดีย์หุ้มทองคำเรียงรายกันอยู่ชั้นบนสุด มีห้องต่างๆ กว่า ๑,๐๐๐ ห้อง เช่น ห้องประชุมรัฐสภา  มีโซนมหาวิทยาลัยสงฆ์ วิทยาลัยการแพทย์ ชาวทิเบตทุกคนที่เดินทางมาเยือนในวินาทีแรกที่เห็นยอดพุทธวิหารทองคำทุกคนจะคุกเข่าลงสวดมนต์

วัดโจคัง เป็นวัดแรกในทิเบต เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวทิเบตใฝ่ฝันที่จะจาริกไปแสวงบุญให้ได้สักครั้งในชีวิต พระเจ้าซองเซน กัมโปทรงสร้างวัดโจคังขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานองค์พระประธานโจโวศากยมุนี พระพุทธรูปที่สำคัญที่สุดในทิเบต ได้รับการอัญเชิญมาโดยมเหสีชาวเนปาลของพระองค์ ปัจจุบันวัดโจคังเจริญรุ่งเรืองมาก จะมีนักแสวงบุญนับ ๑,๐๐๐ คนกระทำประทักษิณและสวดมนต์ทุกวันทุกเวลา

ผู้จาริกแสวงบุญ แต่ละปีมีผู้แสวงบุญจำนวนมากไปเยือนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในทิเบตโดยเฉพาะพระราชวังโปตาลา และวัดโจคัง สำหรับชาวทิเบตแล้วการจาริกแสวงบุญไปยังวัดโจคังถือเป็นความปรารถนาสูงสุดและต้องเดิมพันกันด้วยชีวิตทีเดียว เพราะชาวทิเบตจำนวนมากใช้วิธีเดินทางไปด้วยเท้า  และมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องจบชีวิตลงก่อนจะถึงวัดโจคัง เพราะไม่อาจทนต่อสภาพอากาศที่โหดร้ายได้ โดยเฉพาะอากาศอันหนาวเย็นต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง    บางครั้งติดลบถึง ๔๐ องศา

เส้นทางแห่งการหยั่งรู้ ดันจู เป็นหนึ่งในนักเดินทางแสวงบุญนี้ จุดมุ่งหมายของเขานอกจากสร้างบุญให้กับตนเองแล้ว ดันจูออกจาริกเพื่อไถ่บาปให้พ่อที่ทิ้งครอบครัวไปตั้งแต่เขายังเด็ก เส้นทางกว่า ๒,๐๐๐ กิโลเมตร ระหว่างชิงไฮ (Qinghai) บ้านของเขาและวัดโจคังคือ สิ่งท้าทายอันยิ่งใหญ่  โจมาและใบมา คือแม่กับน้องสาวผู้คอยดูแลเขาตลอดการเดินทาง ดันจูท่องบทสวดมนต์ย่างเท้าไปข้างหน้าและนอนกราบเหยียดยาวบนหิน กรวด น้ำแข็ง และหิมะตลอดการเดินทาง  มีเพียงศรัทธาเท่านั้นที่ผลักดันเขาไปข้างหน้า  ดังจูไม่ได้คิดถึงจุดหมายเลย เขานึกถึงแต่วัตถุประสงค์และความหมายของแต่ละครั้งที่ก้มกราบลงบนถนน อันเปรียบประดุจเส้นทางแห่งการหยั่งรู้ ระดับความสูงกว่า ๔,๐๐๐ เมตร และอุณหภูมิที่ต่ำกว่าจุดเยือกแข็งได้ทำให้ทุกคนอ่อนล้า แต่ในที่สุดพวกเขาก็ทำสำเร็จหลังจากเดินทางมากว่า ๒ ปี โจมาได้แต่นั่งน้ำตาไหลด้วยความปีติเมื่อเห็นยอดพระราชวังโปตาลาแห่งนครลาซา ดันจูใช้เวลาทั้งวัน  สวดมนต์และกราบพระพุทธรูปทุกองค์ในวัดโจคัง การกราบแต่ละครั้งหมายถึงจุดสิ้นสุดแห่งการเดินทางอันยิ่งใหญ่ หลังจากพวกเขากลับไปถึงหมู่บ้านแล้ว คนทั้งหมู่บ้านออกมาต้อนรับด้วยความปีติ พระผู้ใหญ่แห่งวิหารซีในชิงไฮรับดันจูเป็นลามะ ซึ่งสิ่งนี้เป็นความหวังอันสูงสุดในชีวิตเขา

๓.  พระพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่ประเทศไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย รวมทั้งประเทศที่เป็นเกาะในทะเล ได้แก่ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไนและติมอร์ตะวันออก ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธในปัจจุบันคือ ไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชาและพม่า ส่วนประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซียและบรูไน จะนับถือศาสนาอิสลามเป็นหลัก ประเทศฟิลิปปินส์และติมอร์ตะวันออก ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะกล่าวถึงประเทศที่สำคัญๆ ๖ ประเทศ คือ ไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว พม่า และเวียดนาม ดังต่อไปนี้

ประเทศไทยมีชื่อเป็นทางการว่า ราชอาณาจักรไทย (Kingdom of Thailand) ปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๔๙)

ปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหาร  ก่อนหน้านี้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ไทยมีประชากรประมาณ ๖๒,๔๑๘,๐๕๔ คน (พ.ศ.๒๕๔๘) โดย ๙๕% นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท ๓% นับถือศาสนาอิสลาม และอีก ๒% นับถือศาสนาคริสต์

พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ไทยในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชประมาณปี พ.ศ.๒๓๖ โดยพระโสณเถระและพระอุตตรเถระเป็นผู้นำมาเผยแผ่ยังสุวรรณภูมิ ซึ่งในขณะนั้นอาณาจักรไทยรวมอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิด้วย สุวรรณภูมิ แปลว่า แผ่นดินทองคำ ปัจจุบันยังชี้ชัดไม่ได้ว่าสุวรรณภูมิอยู่ตรงไหน นักโบราณคดีมีทัศนะแตกต่างกัน ๔ กลุ่มใหญ่ดังนี้

๑. นักโบราณคดีกลุ่มอินเดีย ๙๐% เชื่อว่า สุวรรณภูมิ คือ แหลมมลายู ประกอบด้วยดินแดนส่วนใต้สุดของพม่า ภาคใต้ของไทยทั้งหมด คาบสมุทรมาเลเซีย และประเทศสิงคโปร์ ประวัติพื้นเมืองกล่าวไว้ว่า สมัยโบราณย่านนี้มีทองคำมาก  เล่นพนันกันโดยเอาทองออกประกัน ชนไก่ก็เอาทองเท่าตัวไก่เป็นเดิมพัน

๒. กลุ่มอินเดีย ๑๐% เชื่อว่า สุวรรณภูมิ คือ ริมทะเลด้านตะวันออกของอินเดียใต้

๓. กลุ่มพม่าเชื่อว่า สุวรรณภูมิ ได้แก่ตอนกลางและตอนใต้ของประเทศพม่า

๔. กลุ่มไทยเชื่อว่า ศูนย์กลางสุวรรณภูมิอยู่ที่จังหวัดนครปฐม

อย่างไรก็ตาม สุวรรณภูมิมีขอบเขตกว้างขวาง สิริวัฒน์ คำวันสา กล่าวไว้ว่า มีชนเผ่า   ต่างๆ หลายเผ่าอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ เช่น มอญ พม่า ละว้า มลายู และขอม เป็นต้น

อาณาจักรทวารวดี หลักจากที่บรรพบุรุษของไทยได้รับพระพุทธศาสนาเถรวาทมาตั้งแต่ยุคของพระเจ้าอโศกมหาราชแล้ว ก็ได้รักษาสืบทอดกันเรื่อยมาจนกระทั่งถึงยุคของ   อาณาจักรทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๓ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดนครปฐมในปัจจุบัน ในยุคนี้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง พบโบราณวัตถุและโบราณสถานต่างๆ มากมาย เช่น พระพุทธรูปศิลาขาว พบที่นครปฐม ๓ องค์ อยุธยา ๑ องค์ และพบพุทธสถานโบราณหลายแห่งในนครปฐม โดยเฉพาะองค์พระปฐมเจดีย์

อาณาจักรศรีวิชัย อาณาจักรที่อยู่ในช่วงเดียวกันกับทวารวดีคือ อาณาจักรศรีวิชัย ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๙ ซึ่งมีอาณาบริเวณกว้างครอบคลุมปลายแหลมมลายูและเกาะชวา ยังไม่พบหลักฐานระบุได้ชัดเจนว่าศูนย์กลางของอาณาจักรนี้อยู่ที่ใด ดร.เวลล์ กล่าวว่า เมืองปาเลมบัง บนเกาะสุมาตราในประเทศอินโดนีเซีย เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรศรีวิชัย  ในขณะที่ท่านพุทธทาสมีความเห็นว่า เมืองหลวงของศรีวิชัยอยู่ที่ไชยา สุราษฎร์ธานี

มีการค้นพบศิลาจารึกที่วัดเสมาเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งบ่งบอกว่าพระเจ้ากรุงศรีวิชัยเป็นผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนามหายาน และพบหลักฐานในที่อื่นๆ อีกมากมายในปี พ.ศ.๑๒๑๔ สมณะอี้จิงเดินทางจากจีนมาเรียนหนังสืออยู่ที่ศรีวิชัย ๖ เดือน จึงเดินทางต่อไปอินเดีย ท่านได้แนะนำเพื่อนภิกษุชาวจีนว่า ก่อนจะไปชมพูทวีปควรจะไปศึกษาเบื้องต้นที่ศรีวิชัยก่อน เพราะเป็นแหล่งศึกษาพระพุทธศาสนามหายานที่สำคัญและโด่งดังเกือบจะทัดเทียมกับอินเดีย

อาณาจักรลพบุรี ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๖ ราชวงศ์สุริยวรมันแห่งกัมพูชาเจริญรุ่งเรือง ได้แผ่อาณาจักรครอบคลุมมายังลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำมูล ได้มีชัยชนะเหนืออาณาจักรทวารวดีและตั้งราชธานีเพื่ออำนวยการปกครองขึ้นในเมืองต่างๆ เช่น  เมืองลพบุรี สุโขทัย ศรีเทพ (เพชรบูรณ์) พิมาย และสกลนคร ในเมืองต่างๆ เหล่านี้ ลพบุรีหรือละโว้เป็นเมืองสำคัญที่สุด ลพบุรีได้รับเอาพระพุทธศาสนามหายานจากกัมพูชามาผสมผสานกับเถรวาทดั้งเดิมที่สืบต่อมาตั้งแต่สมัยทวารวดี ในสมัยนี้มีการสร้าง  ศาสนสถานมากมาย เช่น พระปรางค์สามยอด ปราสาทหินพิมาย และปราสาทหินเขาพนมรุ้ง เป็นต้น

อาณาจักรสุโขทัย ประมาณปี พ.ศ.๑๘๐๐ หัวหน้าคนไทยกลุ่มหนึ่ง คือ พ่อขุนบางกลางหาว ได้ประกาศอิสรภาพขับไล่พวกขอมหรือกัมพูชาออกไป แล้วตั้งราชธานีขึ้นที่กรุงสุโขทัย และได้สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นปฐมกษัตริย์ของสยามประเทศ ทางด้านศาสนานั้นยุคนี้มีทั้งศาสนาพราหมณ์ พระพุทธศาสนามหายานและเถรวาทซึ่งตกทอดมาจากอดีต แต่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงเคารพนับถือนิกายเถรวาทมากที่สุด ต่อมาประมาณปี พ.ศ.๑๘๒๒ พ่อขุนรามคำแหงเสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นกษัตริย์องค์ ที่ ๓ แห่งกรุงสุโขทัย ยุคนี้มีความเจริญรุ่งเรืองมากทั้งอาณาจักรและพุทธจักร

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงอาราธนาพระสงฆ์จากนครศรีธรรมราชซึ่งไปร่ำเรียนมาจากลังกาให้มาเผยแผ่ที่กรุงสุโขทัย  ซึ่งต่อมาได้รับความนิยมมาก  คณะสงฆ์สมัยนั้นแบ่งเป็น ๒ คณะ คือ คณะคามวาสี คือฝ่ายคันถธุระหรือศึกษาด้านปริยัติ และคณะอรัญวาสี คือ ฝ่ายวิปัสสนาธุระหรือฝ่ายที่เน้นบำเพ็ญสมาธิภาวนา ชาวสุโขทัยมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก ดังข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้านที่ ๒ ตอนหนึ่งว่า

"...คนในสุโขทัยนี้มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัย ทั้งชาวแม่ ชาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุนทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้หญิงผู้ชาย ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อออกพรรษากรานกฐินเดือนหนึ่งจึงแล้ว  เมื่อกรานกฐินมีพนมเบี้ย พนมหมาก มีพนมดอกไม้ มีหมอนนั่งหมอนนอน บริพารกฐินโอยทานแลญิบล้าน ไปสวดญัตติกฐินถึงอรัญญิกพู้น..."

พระพุทธศาสนายุคสุโขทัยนั้นรุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยพระนัดดา (หลาน) ของพ่อขุนรามคำแหงคือ พระมหาธรรมราชาลิไท เสด็จขึ้นครองราชย์ประมาณปี พ.ศ.๑๘๙๐ ทรงเป็นกษัตริย์องค์แรกที่รอบรู้พระไตรปิฎกและภาษามคธ   ทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีพระพุทธศาสนา เรื่องไตรภูมิพระร่วง ซึ่งเป็นวรรณคดีชิ้นแรกของไทยในปี พ.ศ.๑๘๘๘ โดยอ้างอิงจากคัมภีร์ต่างๆ ถึง ๓๔ เรื่อง ทรงสร้างเจดีย์ที่นครชุม (เมืองกำแพงเพชร) สร้างพระพุทธชินสีห์ พระพุทธชินราชที่พิษณุโลก และในปี พ.ศ.๑๙๐๕ พระองค์เสด็จออกผนวช นอกจากนี้ศิลาจารึก หลักที่ ๕ กล่าวไว้ว่าพระเจ้าลิไททรงปรารถนาพุทธภูมิด้วยดังข้อความว่า "จุงเป็นพระพุทธ    จุงจักเอาฝูงสัตว์ทั้งหลาย(ข้าม)สงสารทุกข์นี้" เมื่อกษัตริย์ทรงมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาเช่นนี้จึงเป็นเหตุให้ประชาชนถือเป็นแบบอย่างและเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก

อาณาจักรล้านนา ได้รับการสถาปนาขึ้นในปี พ.ศ.๑๘๔๐ โดยพระยามังราย ทรงเป็นพระสหายสามเส้าระหว่างพ่อขุนรามคำแหงกับพระยางำเมืองแห่งเมืองพะเยา ทรงสร้างเมืองขึ้นที่เชิงเขาเทวบรรพต (ดอยสุเทพ) ให้ชื่อว่า นวปุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ พระพุทธศาสนาสมัยนั้นเป็นนิกายเถรวาทเป็นหลัก ซึ่งมีความแพร่หลายเป็นศาสนาประจำท้องถิ่น ต่อมาเมื่อพระเจ้าติโลกราชเสวยราชสมบัติระหว่างปี พ.ศ.๑๙๘๕ - ๒๐๒๐ ยุคนี้พระพุทธศาสนาเจริญที่สุดถือเป็นยุคทองของล้านนา ในปี พ.ศ.๑๙๘๕ ทรงบวชพระชาวเชียงใหม่ ๕๐๐ รูป ทรงสังคายนาพระไตรปิฎกที่ล้านนา ซึ่งถือเป็นการสังคายนาครั้งที่ ๘ ผลการสังคายนาครั้งนี้ทำให้ศาสนาเข้มแข็งและบ้านเมืองเป็นปึกแผ่นขึ้น

ต่อมาเมื่อพระเมืองแก้ว ซึ่งเป็นพระเจ้าหลานของพระเจ้าติโลกราชขึ้นครองราชย์ ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๓๘ - ๒๐๖๘ มีพิธีบวชนาคหลวงครั้งใหญ่ครั้งแรกในล้านนาถึง ๑,๒๐๐ กว่ารูป  สมัยล้านนาพระสงฆ์แตกฉานในคัมภีร์บาลีและแต่งตำราเป็นภาษาบาลีไว้มากกว่าสมัยใดๆ  จำนวนคัมภีร์ที่แต่งไว้ไม่ต่ำกว่า ๓๒ คัมภีร์ ตำราบางเล่มยังใช้เป็นหลักสูตรของคณะสงฆ์มาถึงปัจจุบัน เช่น มังคลัตถทีปนี ชินกาลมาลีปกรณ์ เป็นต้น แม้แต่บทสวดพาหุง ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้    ก็แต่งในยุคนี้ พระลังกาก็นำไปใช้สวดจนถึงปัจจุบันเช่นกัน

อาณาจักรอยุธยา พระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ.๑๘๙๓   ซึ่งขณะนั้นอาณาจักรสุโขทัยเริ่มเสื่อมอำนาจลงและในที่สุดได้เป็นเมืองขึ้นของอยุธยาในปีพ.ศ.๑๙๒๑ กรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรืองยาวนานถึง ๔๑๗ ปี มีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาถึง ๓๓ พระองค์ อยุธยาเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร ดังคำกล่าวว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" ทั่วทั้งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีวัดวาอาราม ปราสาท พระราชวัง ปูชนียสถาน และปูชนียวัตถุมากมาย

         

พระเจ้าอู่ทองทรงสร้างวัดขึ้น ๒ วัด คือ วัดพุทธไธศวรรย์ และวัดใหญ่ชัยมงคล พระพุทธศาสนาเจริญสูงสุดในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๘ แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.๑๙๙๑-๒๐๓๑ ทรงสร้างวัดและบูรณะวัดต่างๆมากมาย ในปี พ.ศ.๒๐๐๘ พระองค์เสด็จออกผนวช มีข้าราชการและบรมวงศานุวงศ์ออกบวชตามมากถึง ๒,๓๘๘ คน ซึ่งเป็นประดุจดั่งการออกบวชของพระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลายในอดีต

ครั้นถึงรัชกาลพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงหล่อพระพุทธรูปสูงใหญ่ชื่อ พระศรีสรรเพชญ์ ด้วยทองคำหนัก ๕๓,๐๐๐ ชั่ง แล้วหุ้มด้วยทองคำอีก ๒๘๖ ชั่ง หรือ ๒๒,๘๘๐ บาท หลังจากสมัยพระรามาธิบดีที่ ๒ พระพุทธศาสนาก็ได้รับการอุปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์เรื่อยมาจนกระทั่งถึงรัชกาลของพระเจ้าทรงธรรม กษัตริย์องค์ที่ ๒๑ แห่งกรุงศรีอยุธยา ครองราชย์ในปี พ.ศ.๒๑๕๓ ก่อนเสวยราชสมบัติพระองค์เคยออกผนวช เป็นผู้รอบรู้ในพระไตรปิฎก ต่อมาเมื่อเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วได้เสด็จลงพระที่นั่งจอมทอง ๓ หลัง เพื่อสอนพระบาลีแก่ภิกษุสามเณร ทุกวัน มีภิกษุสามเณรไปเรียนกันจำนวนมาก ในสมัยของพระองค์มีการส่งพระภิกษุไปเรียนที่ลังกาด้วย

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.๒๑๙๙ - ๒๒๓๑ พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่กิจทางศาสนา เสด็จทรงบาตรทุกวัน ในสมัยนั้นชาติตะวันตกเข้ามาล่าอาณานิคมในแถบเอเชีย ประเทศต่างๆ ตกเป็นเมืองขึ้นโดยมาก แต่ไทยรอดพ้นมาได้ทั้งด้านอาณาจักรและศาสนจักรด้วยพระปรีชาสามารถของกษัตริย์ในแต่ละสมัย ครั้งหนึ่งพระเจ้า  หลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส ส่งพระราชสาส์นมาถึงพระนารายณ์มหาราช มีใจความว่า พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสขอชักชวนพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาให้มาร่วมแผ่นดินเดียวกัน โดยขอให้พระองค์เปลี่ยนศาสนามานับถือศาสนาเดียวกับฝรั่งเศส...

พระนารายณ์มหาราชทรงขอบพระทัยพระเจ้าฝรั่งเศสหนักหนาที่มีความสนิทเสน่หาในพระองค์ แต่ทรงประหลาดใจว่า เหตุใดพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสจึงมาก้าวก่ายกับฤทธิ์อำนาจของพระผู้เป็นเจ้า เพราะการที่มีศาสนาต่างๆ ในโลกนี้ ไม่ใช่เป็นความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าหรอกหรือ พระองค์จึงปล่อยให้มีไปดั่งนั้น มิได้บันดาลให้มีเพียงศาสนาเดียว เมื่อพระผู้เป็นเจ้ามีฤทธิ์มากในเวลานี้ พระองค์คงปรารถนาให้ตัวเรานับถือพุทธศาสนาไปก่อน เพราะฉะนั้นเราจึงจะรอคอยพระกรุณาของพระองค์ บันดาลให้เราเลื่อมใสในคริสต์ศาสนาในวันใด เราก็จะเข้ารีตในวันนั้น จึงขอฝากชะตากรรมของเราและกรุงศรีอยุธยาสุดแต่พระเจ้าจะบันดาลเถิด

พระนารายณ์มหาราชทรงโปรดให้มีพระราชโองการประกาศว่า ให้คนไทยนับถือศาสนา ได้ตามชอบใจ แล้วพระราชทานที่ดินให้สร้างโบสถ์คริสตังใหม่ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ทูตฝรั่งเศสผิดหวัง มากเกินไป มีคนไทยบางส่วนหันมานับถือคริสต์ศาสนาแต่ก็เพียงน้อยนิด  แม้ผ่านมา ๓๐๐ กว่าปีจนถึงปัจจุบัน คริสต์ศาสนิกชนในไทยมีเพียง ๒% เท่านั้น กุศโลบายของพระนารายณ์มหาราชนี้เป็นการเสียน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่เอาไว้  แต่ถ้าพระองค์ทรงเปลี่ยนศาสนาเสียแล้ว  เป็นไปได้ว่าในยุคนั้นและยุคต่อมาชาวไทยโดยส่วนใหญ่จะเปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนาตามพระองค์ ปัจจุบันชาวพุทธอาจจะเป็นชนกลุ่มน้อยในท่ามกลางคริสต์ศาสนิกชนก็เป็นไปได้

สมัยกรุงธนบุรี หลักจากที่กรุงศรีอยุธยาสูญเสียเอกราชให้แก่พม่าในปี พ.ศ.๒๓๑๐  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้เอกราชได้ในปลายปีเดียวกัน แล้วทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่ ทรงสนับสนุนปัจจัย ๔ แก่พระภิกษุสามเณรที่ตั้งใจเล่าเรียนพระไตรปิฎก และทรงขอร้องให้ภิกษุตั้งมั่นอยู่ในพระธรรมวินัย หากขัดข้องสิ่งใดพระองค์จะจัดการอนุเคราะห์ ทรงมีพระราชดำรัสว่า "ถ้าพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวงมีศีลคุณบริบูรณ์ในพระศาสนาแล้ว  แม้จะปรารถนามังสะรุธิระของโยม  โยมก็อาจจะเชือดเนื้อแลโลหิตออกมาบำเพ็ญทานได้"  เพราะสมัยนั้นมีภิกษุประพฤตินอกรีตตั้งตนเป็นแม่ทัพ  พระเจ้าตากสินจึงจับสึกไปจำนวนมาก

สมัยรัตนโกสินทร์ หลังจากสิ้นยุคธนบุรีแล้วพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติในวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ ทรงย้ายเมืองหลวงมาที่ กรุงเทพมหานคร หรือกรุงรัตนโกสินทร์ พระพุทธศาสนาในกรุงรัตนโกสินทร์นั้นมีความเจริญรุ่งเรืองไม่แพ้ยุคใดที่แล้วมา ทั้งนี้เพราะพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงเป็นหลักชัยในการ     ส่งเสริมบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี

รัชกาลที่ ๑ (พ.ศ.๒๓๒๕ - ๒๓๕๒) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา  เสด็จออกทรงบาตรเวลาเช้า ตอนเพลถวายภัตตาหาร  เวลาเย็นเสด็จออกท้องพระโรงเพื่อสดับพระธรรมเทศนาเป็นประจำ ทรงโปรดให้ทำสังคายนาพระไตรปิฎกในปลายปี พ.ศ.๒๓๓๑ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีสรรเพชญ์ (วัดมหาธาตุในปัจจุบัน) โดยมีพระภิกษุ  ๒๑๘ รูป ราชบัณฑิต ๓๒ คน

พระองค์เสด็จไปที่ประชุมสังคายนาวันละ ๒ ครั้ง เช้าและเย็น เพื่อถวายภัตตาหารและน้ำปานะ สังคายนาอยู่ ๕ เดือนจึงเสร็จ แล้วโปรดให้คัดลอกสร้างเป็นฉบับหลวงขึ้น เรียกว่า ฉบับทองใหญ่ นอกจากนี้ทรงออกกฎหมายเกี่ยวกับคณะสงฆ์เป็นครั้งแรกและออกต่อๆ กันมา รวม ๑๐ ฉบับ ฉบับที่ ๑ ออกในปี พ.ศ.๒๓๒๕ ฉบับที่ ๑๐ ออกในปี พ.ศ.๒๓๔๔  และทรงโปรดให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว ในปี พ.ศ.๒๓๒๕ เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต

รัชกาลที่ ๒ (พ.ศ.๒๓๕๒ - ๒๓๖๗) ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระเลิศหล้านภาลัย  มีการปรับหลักสูตรการศึกษาภาษาบาลีใหม่จาก "บาเรียนตรี บาเรียนโท บาเรียนเอก" เป็นแบบ ๙ ประโยค ดังที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ในการสอบวัดผลนั้น ใช้วิธีสอบปากเปล่าคือให้แปลพระบาลีต่อหน้ากรรมการ ๓ - ๔ รูป และมีครูเข้าฟังเป็นพยาน ๒๐ - ๓๐ รูป ถ้านักเรียนแปลเก่ง อาจจะสอบผ่าน ๙ ประโยคภายในวันเดียวก็ได้

ในปี พ.ศ.๒๓๖๓ มีอหิวาตกโรคระบาดผู้คนล้มตายมาก พระองค์จึงบำเพ็ญกุศลหลายอย่างเพื่อขจัดปัดเป่าภัยพิบัติ โปรดให้แปลพระปริตรเป็นภาษาไทย ให้เจ้านายและข้าราชการฝ่ายในฝึกหัดสวดพระปริตรทุกวัน โดยพระองค์เสด็จขึ้นทรงฟังสวดถวาย ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณทุกคืน ธรรมเนียมการสวดพระปริตรนี้ปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เมื่อ     ครั้งที่เมืองไพศาลีเกิดภัยพิบัติด้วยอหิวาตกโรคเป็นต้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสั่งให้พระอานนท์เรียนรัตนสูตรว่าด้วย "ยงฺกิญฺจิ ฯลฯ" แล้วทำพระปริตรสวดขจัดปัดเป่าภัยต่างๆ ในเมืองไพศาลีให้มลายหายไป

รัชกาลที่ ๓ (พ.ศ.๒๓๖๗ - ๒๓๙๔) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง มีคำกล่าวว่า ไม่ว่าพระองค์จะประทับอยู่ ณ ที่ใด ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อันใดเกิดขึ้น พระองค์จะทรงระลึกถึงการบำรุงพระศาสนาไว้ก่อน พระองค์เสด็จทรงบาตรทุกวัน ทรงอาราธนาพระมาถวายธรรมเทศนาและบอกคัมภีร์ในวังเป็นประจำ  พระองค์ไม่โปรดละครในคือละครที่มีผู้หญิงแสดง แต่โปรดการทรงธรรม ในรัชกาลนี้มีการสร้างพระไตรปิฎกมากกว่ารัชกาลอื่นที่แล้วมาคือ มีถึง ๕ ฉบับ ได้แก่ ฉบับรดน้ำเอก รดน้ำโท ทองน้อย ชุบย่อ และฉบับอักษรรามัญ ด้วยความที่พระองค์เอาใจใส่ต่อกิจการทางศาสนาเช่นนี้ จึงมีกุลบุตรออกบวชกันจำนวนมาก ตามบันทึกของชาวยุโรประบุว่า ในกรุงเทพมหานครมีภิกษุสามเณร ๑๐,๐๐๐ รูป และทั่วพระราชอาณาจักรมี ๑๐๐,๐๐๐ รูป

กำเนิดธรรมยุต ในสมัยนี้ได้เกิดนิกายธรรมยุตขึ้น โดยพระวชิรญาณเถระ ทรงศรัทธาเลื่อมใสในจริยาวัตรของพระมอญชื่อ ชาย พุทฺธวํโส จึงทรงอุปสมบทใหม่กับคณะสงฆ์มอญในปี พ.ศ.๒๓๗๒ แล้วตั้งคณะธรรมยุตขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๗๖ จากนั้นเสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศวิหารซึ่งเป็นศูนย์กลางของคณะธรรมยุติกนิกาย คณะสงฆ์เดิมนั้นถูกเรียกว่า มหานิกาย

ก่อนสวรรคต พระองค์ตรัสสั่งเหล่าข้าราชบริพารเรื่องกิจการบ้านเมืองและศาสนาไว้ว่า "สงครามข้างญวนข้างพม่าเห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ชาวฝรั่ง ให้ระวังให้จงดีอย่าให้เสียทีเขา การงานสิ่งใดของเขาที่คิดว่าดี  ควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่านับถือเลื่อมใสไปทีเดียว  ทุกวันนี้คิดจะสละห่วงใยให้หมด อาลัยอยู่แต่วัดสร้างไว้ใหญ่โตหลายวัดที่ยังค้างอยู่ก็มี ถ้าชำรุดทรุดโทรมไปจะไม่มีผู้ช่วยบำรุง... (เงินพระคลัง ๔ หมื่นชั่ง) ขอสัก ๑ หมื่นชั่งเถิด ถ้าผู้ใดเป็นเจ้าของแผ่นดินช่วยบอกแก่เขา ขอเงินรายนี้ช่วยทะนุบำรุงวัดที่ชำรุดและการวัดที่ยังค้างอยู่นั้นให้แล้วด้วย"

รัชกาลที่ ๔ (พ.ศ.๒๓๙๔-๒๔๑๑) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎได้ผนวชอยู่ ๒๗ พรรษา  ทรงลาสิกขาแล้วขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุ ๕๗ พรรษา ใน พ.ศ. ๒๓๙๔  พระองค์ทรงสร้างวัดใหม่ขึ้นหลายวัด เช่น วัดปทุมวนาราม วัดโสมนัสวิหาร วัดมกุฎกษัตริยาราม วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม และวัดราชบพิตร เป็นต้น ตลอดจนบูรณะวัดต่างๆ อีกมาก  โปรดให้มีพระราชพิธี "มาฆบูชา" ขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ.๒๓๙๔ ณ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ปวงชนชาวไทยได้ถือปฏิบัติเป็นประเพณีสืบกันมาจนถึงทุกวันนี้

รัชกาลที่ ๕ (พ.ศ.๒๔๑๑-๒๔๕๓) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราชทรงเป็นกษัตริย์ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ทรงนำพาชาติไทยไปสู่ความเจริญก้าวหน้าทั้งทางกิจการบ้านเมืองและทางศาสนา ทรงเริ่มต้นการศึกษาสมัยใหม่ในประเทศไทย โดยให้วัดเป็นศูนย์กลางและให้พระสงฆ์เป็นครูสอนหนังสือแก่เยาวชน ในปี พ.ศ.๒๔๒๗ ได้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรขึ้นเป็นแห่งแรก ณ วัดมหรรณพาราม

ในปี พ.ศ. ๒๔๓๒ ทรงโปรดให้ย้ายที่ราชบัณฑิตบอกพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณร จากในวัดพระศรีรัตนศาสดารามออกมาเป็นบาลีวิทยาลัยชื่อ มหาธาตุวิทยาลัย ที่วัดมหาธาตุ และต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้ประกาศเปลี่ยนนามมหาธาตุวิทยาลัย เป็นมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  ซึ่งเป็นที่ศึกษาพระปริยัติธรรมและวิชาการชั้นสูงของพระภิกษุสามเณร โดยทรงมุ่งหมายจะให้จัดการศึกษาแบบตะวันตก

ทรงโปรดให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยอักษรไทยชุดละ ๓๙ เล่ม จำนวน ๑,๐๐๐ ชุด ในปี พ.ศ.๒๔๓๕ ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๓๖ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงจัดตั้ง "มหามกุฏราชวิทยาลัย" ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งศึกษาพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุสามเณรฝ่ายธรรมยุตินิกาย

เพื่อให้การปกครองสงฆ์มีความรัดกุมยิ่งขึ้น พระองค์จึงโปรดให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์ขึ้นใน พ.ศ.๒๔๔๕ ตรงกับ ร.ศ.๑๒๑ (รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๑) นอกจากนี้พระองค์ยังทรงสร้างวัดใหม่ขึ้นหลายวัด เช่น วัดวัดราชบพิตร วัดเทพศิรินทราวาส วัดเบญจมบพิตร วัดอัษฎางนิมิตร วัดจุฑาทิศราชธรรมสภา และวัดนิเวศน์ธรรมประวัติทรงบูรณะวัดมหาธาตุ และวัดอื่นๆ อีก ทรงนิพนธ์วรรณกรรมทางพุทธศาสนาจำนวนมาก

รัชกาลที่ ๖ (พ.ศ.๒๔๕๓ - ๒๔๖๘) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาปราดเปรื่องในทางพระศาสนามาก ทรงนิพนธ์หนังสือพระพุทธศาสนาหลายเรื่อง เช่น เทศนาเสือป่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร เป็นต้น ทรงอบรมสั่งสอนธรรมะข้าราชการด้วยพระองค์เอง ในปี พ.ศ.๒๔๕๕ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส          ทรงเปลี่ยนวิธีการสอบบาลีสนามหลวงจากปากเปล่ามาเป็นข้อเขียนเป็นครั้งแรก

ต่อมาอีกหนึ่งปีคือใน พ.ศ.๒๔๕๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้ใช้พุทธศักราช (พ.ศ.) แทน ร.ศ. และในปี พ.ศ.๒๔๖๒ - ๒๔๖๓ ทรงโปรดให้พิมพ์คัมภีร์อรรถกถาพระไตรปิฎก อรรถกถาชาดกและคัมภีร์อื่นๆ เช่น วิสุทธิมรรค มิลินทปัญหา เป็นต้น   หลักสูตรนักธรรมที่เรียนกันอยู่ในปัจจุบันนี้ทรงโปรดให้จัดการศึกษาขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๖๙ ก่อนหน้านั้นเรียกว่า "องค์ของสามเณรรู้ธรรม" ซึ่งมีการสอบครั้งแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๔

รัชกาลที่ ๗ (พ.ศ.๒๔๖๘ - ๒๔๗๗) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้มีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๓ ของประเทศไทยขึ้นในระหว่าง พ.ศ.๒๔๖๘ - ๒๔๗๓เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วทรงให้จัดพิมพ์  พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐชุดละ ๔๕ เล่ม จำนวน ๑,๕๐๐ ชุด พระราชทานแก่ประเทศต่างๆ ประมาณ ๔๕๐ ชุด  ซึ่งนับเป็นเกียรติประวัติของประเทศสยาม  เพราะประเทศพุทธศาสนาอื่นๆ ในครั้งนั้นยังไม่มีประเทศใดทำได้ ปี พ.ศ.๒๔๗๑ กระทรวงธรรมการหรือกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบันได้จัดหลักสูตร "ธรรมศึกษา" เพื่อเปิดโอกาสให้ฆราวาสเรียนพระปริยัติธรรมอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก

รัชกาลที่ ๘ (พ.ศ.๒๔๗๗ - ๒๔๘๙) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลมีการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย ๒ ประเภท คือ

๑. พระไตรปิฎก แปลโดยอรรถ พิมพ์เป็นเล่มสมุด ๘๐ เล่ม เรียกว่าพระไตรปิฎกภาษาไทย แต่เสร็จสมบูรณ์หลังจากสิ้นรัชกาลพระองค์ไปแล้วคือในปี พ.ศ.๒๕๐๐ เพื่อฉลองในโอกาส ๒๕ พุทธศตวรรษ

๒. พระไตรปิฎก แปลโดยสำนวนเทศนา พิมพ์ลงใบลาน แบ่งเป็น ๑,๒๕๐ กัณฑ์ เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับหลวง เสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒

ในปี พ.ศ.๒๔๘๔ รัฐบาลออก พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔ เพื่อให้การปกครอง คณะสงฆ์มีความสอดคล้องเหมาะสมกับการปกครองแบบใหม่ ถัดมาอีก ๔ ปี คือในปี พ.ศ.๒๔๘๘ มหามกุฏราชวิทยาลัยซึ่งตั้งขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๓๖ ได้ประกาศตั้งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ ชื่อ "สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย"

รัชกาลที่ ๙ (พ.ศ.๒๔๘๙ - ปัจจุบัน) ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช มีการจัดตั้งโรงเรียนปริยัติธรรมแผนกสามัญระดับประถมปลาย และมัธยมศึกษาปีที่ ๑ - ๖ ในปี พ.ศ.๒๕๑๔ ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๐๑ มีการจัดตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวัดอาทิตย์ขึ้นเป็นแห่งแรก ณ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อเปิดการสอนพุทธศาสนาแก่เด็กและเยาวชน ต่อมาได้ขยายไปทั่วประเทศ กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้วิชาพระพุทธ-ศาสนาเป็นวิชาภาคบังคับแก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษา ปีที่ ๑-๖

ในปี พ.ศ.๒๕๐๘ ได้มีการจัดตั้งสำนักงานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกขึ้น ณ ประเทศไทย (พ.ส.ล.) เพื่อเป็นศูนย์กลางของชาวพุทธทั่วโลก นอกจากนี้ปัจจุบันมีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาผ่านวรรณกรรมมากขึ้น เพราะเข้าถึงประชาชนได้ง่ายและรวดเร็ว  หากผู้แต่งเขียนได้ดีจะได้รับความนิยมจากผู้อ่านไม่แพ้นวนิยาย เช่น หนังสือ "เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน" เป็นต้น ซึ่งจัดพิมพ์ ๓๐ กว่าครั้งแล้ว ขายดีมากเข้าถึงผู้อ่านกว่าแสนคน

ในด้านพิธีกรรมมีการเปลี่ยนแปลงพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์เป็นพิธีของรัฐบาล เรียกว่า "รัฐพิธี" โดยให้กระทรวงต่างๆ เป็นผู้จัด มีการจัดงานส่งเสริมพระพุทธศาสนาช่วงวันวิสาขบูชาของทุกปี  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จแทนพระองค์ในพิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทางพุทธศาสนา เช่น วันวิสาขบูชา มาฆบูชา อาสาฬหบูชา ณ พุทธมณฑล ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อครั้งฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ

กัมพูชา (Cambodia) หรือเขมรมีชื่อทางการว่า ราชอาณาจักรกัมพูชา (Kingdom of Cambodia) ปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ  มีเมืองหลวงชื่อพนมเปญ และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด เคยตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสเกือบร้อยปี ได้รับเอกราชอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ กัมพูชามีประชากรประมาณ ๑๔,๐๗๑,๐๐๐ คน (พ.ศ.๒๕๔๘) ประชากร ๙๓% นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ส่วนอีก ๗% นับถือภูตผีและอื่นๆ

กัมพูชาเป็นประเทศที่มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติมายาวนานกว่า ๒,๐๐๐ ปี หลักฐานหลายแหล่งยืนยันตรงกันว่า พระพุทธศาสนาตั้งอยู่ในดินแดนแห่งนี้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๓ เช่น หลักฐานจากศิลาจารึกที่ค้นพบ ณ เมืองโวกัญ อันเป็นศิลาจารึกที่เก่าแก่ ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในอดีตกัมพูชาคือดินแดนส่วนหนึ่งของสุวรรณภูมิ อันเป็นถิ่นที่พระโสณเถระและพระอุตตรเถระเดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนา ตั้งแต่บัดนั้นพระพุทธศาสนาในกัมพูชาจึงค่อยๆ เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งถึงยุคประวัติศาสตร์กัมพูชา๔ ยุค คือ ยุคฟูนัน เจนละ พระนคร และยุคปัจจุบัน ดังต่อไปนี้

ยุคฟูนัน (พ.ศ.๖๐๐-๑๑๐๐) คำว่า ฟูนัน (Funan) เป็นคำที่เรียกตามหลักฐานที่ปรากฏในจดหมายเหตุของจีน ซึ่งเพี้ยนมาจากภาษาเขมรว่า พนม หรือ วฺนม ในภาษาสันสกฤต ซึ่งแปลว่า ภูเขา ในอดีตชาวฟูนันเคยนับถือลัทธิโลกธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ และผีสางนางไม้ แต่เมื่อพระพุทธศาสนาเข้าสู่สุวรรณภูมิแล้วชาวฟูนันจึงหันมานับถือพระพุทธศาสนา จนกระทั่ง พ.ศ.๕๔๓ พราหมณ์ชาวอินเดียชื่อเกาณฑินยะรบชนะเผ่าฟูนันและได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระราชาปกครองพระนคร ในราชสำนักจะนับถือศาสนาพราหมณ์นิกายไศวะ ซึ่งเป็นศาสนาดั้งเดิมของพระราชาเกาณฑินยะ แต่ประชาชนทั่วไปบ้างก็นับถือศาสนาพุทธบ้างก็นับถือศาสนาพราหมณ์

ในรัชสมัยของพระเจ้าศรีมาระ พระองค์ทรงนับถือพระพุทธศาสนาและทรงประกาศยกย่องให้เป็นศาสนาประจำชาติ มีศิลาจารึกเก่าแก่อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ บันทึกไว้ว่า พระองค์ทรงสั่งให้พระราชาผู้เสวยราชย์ต่อไปในอนาคตนับถือและสนับสนุนพระพุทธศาสนาด้วย ในยุคต่อมาพงศาวดารจีนบันทึกไว้ว่า พระราชายุคต่อมาก็ได้นับถือพระพุทธศาสนาตามคำสั่งของพระเจ้าศรีมาระ  นอกจากนี้ยังกล่าวถึงพระนาคเสนภิกษุชาวอินเดียซึ่งเดินทางไปอาณาจักรฟูนันและเดินทางต่อไปเมืองจีนในปี พ.ศ.๑๐๒๗ ในครั้งนั้นพระนาคเสนกล่าวถวายพระพรต่อพระเจ้ากรุงจีนว่า "ในประเทศฟูนันบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองมาก ประชาชนนับถือศาสนาพราหมณ์ก็มี พระพุทธศาสนาก็มี พระพุทธศาสนานั้นรุ่งเรืองมาก มีพระภิกษุสงฆ์จำนวนมากและฝึกปฏิบัติตามวินัยอย่างเคร่งครัด"

หลังจากนั้นไม่นานคือในปี พ.ศ.๑๐๔๖ กษัตริย์ฟูนันส่งราชทูตและพระภิกษุไปกรุงจีนอีก คือ พระสังฆปาละ และพระมันโตโล โดยพระพระสังฆปาละเป็นผู้รู้ภาษาศาสตร์หลายภาษา และทรงพระไตรปิฎก มีจริยวัตรงดงาม กิตติศัพท์เลื่องลือไปถึงพระเจ้ากรุงจีนคือ จักรพรรดิบู่ตี่แห่งราชวงศ์เหลียง จึงนิมนต์ท่านไปสอนธรรมะและแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาจีน ท่านแปล พระไตรปิฎกอยู่นานถึง ๑๖ ปี  ชื่อทั้งสองท่านยังปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกจีนมาจนถึงปัจจุบัน

ต่อมาปี พ.ศ.๑๐๕๗ พระเจ้าอนุรุทธวรมันเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ทรงประกาศถวายพระองค์เป็นอุบาสก ทรงมีพระเกศธาตุเส้นหนึ่งไว้เป็นที่สักการบูชา พระเจ้าอนุรุทธวรมันเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายที่ปรากฏนามในยุคฟูนัน ในปี พ.ศ.๑๑๗๐ อาณาจักรเจนละยกทัพมาตีและรวมฟูนันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเจนละ

ยุคเจนละ (พ.ศ.๑๑๐๐ - ๑๓๔๔) เจนละ เป็นคำจีนที่เรียกเมืองกัมพูชาที่อยู่ทางภาคเหนือของนครฟูนัน คำนี้เพี้ยนมาจากภาษาเขมรว่า เจือน-เลอ หมายถึง ชั้นบน ที่สูง หรือทางเหนือ พระเจ้าวรมันเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์แรกประมาณปี พ.ศ.๑๐๙๓ กษัตริย์ในยุคต้นนี้ยังคงนับถือศาสนาฮินดูนิกายไศวะเป็นหลัก  ต่อมาในรัชกาลของพระเจ้าอีศานวรมัน  ที่ ๑ (พ.ศ.๑๑๕๙ - ๑๑๖๙) พงศาวดารจีนยุคราชวงศ์สุย บันทึกไว้ว่า "ในรัชกาลของพระองค์นี้ (พระเจ้าอีศานวรมันที่ ๑) มีภิกษุ ภิกษุณี หลายรูป..."

ในรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๑ (พ.ศ.๑๒๐๐ - ๑๒๒๔) มีหลักฐานจากบันทึกของ หลวงจีนอี้จิงที่เดินทางไปอินเดียและผ่านดินแดนแถบนี้ระบุว่า สมัยนั้นพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก มีวัดทั่วไปทุกแห่ง ประชาชนทั่วไปนิยมบวชในพระพุทธศาสนา แม้พวกเจ้านายก็นิยมบวชเช่นเดียวกัน ในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ พระพุทธศาสนามหายานได้เข้ามาเผยแผ่ในเอเชียอาคเนย์แล้ว และกัมพูชาก็ได้รับเอาพระพุทธศาสนามหายานไว้เช่นกัน แต่ก็ไม่มีอิทธิพลมากเหมือนเถรวาท หลังรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันได้ไม่นานอาณาจักรเจนละก็สิ้นสุดลง

ยุคพระนคร (พ.ศ.๑๓๔๕ - ๑๙๗๕) ยุคพระนครหมายถึง ยุคนครวัดและนครธม เป็นยุคที่อารยธรรมเขมรเจริญรุ่งเรืองมากที่สุด เป็นมหาอาณาจักรใหญ่มีศิลปะและสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นกว่ายุคใดๆ โดยเฉพาะปราสาทนครวัด (Angkor Wat) และนครธม (Angkor Thom) ยุคนี้เริ่มนับตั้งแต่รัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ (พ.ศ.๑๓๔๕ - ๑๔๒๐) จนถึงรัชกาลของพระเจ้าพญายาต (พ.ศ.๑๙๗๕) ซึ่งทรงสละพระนครไปสร้างเมืองหลวงใหม่ที่พนมเปญอันเป็นเมืองหลวงของกัมพูชาในปัจจุบัน

หลังจากที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ครองราชย์ในปี พ.ศ.๑๓๔๕ แล้ว ทรงย้ายพระนครจากเจนละมาตั้งที่พนมเหนทรบรรพตหรือเขาพนมคูเลนในปัจจุบัน พระองค์ทรงนับถือศาสนาพราหมณ์ แต่พระพุทธศาสนาก็ยังเป็นที่เป็นที่เคารพนับถือกันอยู่ในหมู่ประชาชน หลังจากยุคของพระองค์แล้วกษัตริย์แต่ละพระองค์ก็นับถือพราหมณ์บ้างนับถือพระพุทธศาสนาบ้างสลับกันไป  แต่ทั้งสองศาสนาก็อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข

ครั้นมาถึงรัชกาลของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ทรงขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.๑๕๔๕ - ๑๕๙๓ พระองค์เป็นปฐมกษัตริย์ที่ยกพระพุทธศาสนามหายานเป็นศาสนาของรัฐอย่างเป็นทางการ  พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ครองราชย์ในช่วงปี พ.ศ.๑๖๕๖ - ๑๖๙๓ ทรงนับถือศาสนาพราหมณ์และสร้างปราสาทนครวัดขึ้นเพื่อบูชาพระวิษณุ ต่อมาในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ได้เปลี่ยนให้เป็นวัดในศาสนาพุทธ

นครวัด ตั้งอยู่ที่เมืองเสียมราฐหรือเสียมเรียบ จัดเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกมีขนาดใหญ่มากถึง ๒๐๐,๐๐๐ ตารางเมตร มีกำแพงด้านนอกยาวด้านละ ๑.๕ กิโลเมตร ใช้หินทั้งหมด ๖๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ใช้ช้างกว่า ๔๐,๐๐๐ เชือกและแรงงานคนนับ ๑๐๐,๐๐๐ คน ในการขนหินและชักลากหิน นครวัดมีเสา ๑,๘๐๐ ต้น หนักต้นละกว่า ๑๐ ตัน เวลาในการสร้างร่วม ๑๐๐ ปี ใช้ช่างแกะสลัก ๕,๐๐๐ คน และใช้เวลาถึง ๔๐ ปีในการแกะสลัก

พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ครองราชย์ในปี พ.ศ.๑๗๒๔ พระองค์มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์กัมพูชา ทรงสร้างนครธมขึ้นเป็นราชธานี ทรงเจริญจริยวัตรตามพระเจ้าอโศกมหาราชและพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ทรงสร้างปราสาทและพระพุทธรูป ๗๙๘ องค์ เพื่อประดิษฐานทั่วราชอาณาจักร

ทรงสถาปนาปราสาทตาพรหมหรือวัดบุรีราชมหาวิหารเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ มีพระมหาเถระเป็นศาตราจารย์ใหญ่อยู่ ๑๘ องค์ และอาจารย์รองลงมาถึง ๒,๗๔๐ องค์ มีอุบาสกช่วยงาน ๒,๒๓๒ คน อุบาสิกา ๖๑๕ คน ราษฎรผู้มาจำศีลหรือมาศึกษาธรรมระยะสั้นและระยะยาว ๑๒,๖๔๐ คน และกลุ่มอื่นๆ อีก ๖๖,๖๒๕ คน รวมทั้งหมดเป็น ๗๙,๒๖๕ คน ซึ่งนับรวมชาวพม่าและจำปาที่มาพักศึกษาในที่นี้ด้วย ภายในวัดมีบ้านพัก(กุฏิ)ที่สร้างด้วยหินจำนวน ๕๖๖ แห่ง สร้างด้วยอิฐ ๒๘๘ แห่ง มีพระภิกษุจำนวน ๔๓๙ รูป มารับภัตตาหารทุกวันในพระราชวัง

         

นอกจากนี้พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงให้พระราชกุมารคือพระตามลินทะไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่ลังกา และผนวชที่วัดมหาวิหารแห่งเกาะลังกา ซึ่งขณะนั้นพระพุทธศาสนาเถรวาทในศรีลังกากำลังเจริญรุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางของการศึกษาสงฆ์ ต่อมาเมื่อพระกุมารกลับมากัมพูชาแล้ว ทรงทำให้นิกายเถรวาทเจริญรุ่งเรืองเป็นศาสนาประจำชาติของกัมพูชามากระทั่งปัจจุบัน  ส่วนพระพุทธศาสนามหายานและศาสนาพราหมณ์ค่อยๆซบเซาลงไปตั้งแต่บัดนั้น

ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ อาณาจักรกัมพูชาอ่อนแอลงมาก ขณะเดียวกันช่วงนั้นอาณาจักรอยุธยาของไทยซึ่งสถาปนาในปี พ.ศ.๑๘๙๔ มีความเข้มแข็งขึ้น ได้เข้าโจมตีเมืองพระนครของกัมพูชาและยึดได้สำเร็จในปี พ.ศ.๑๘๙๕ ต่อมาปี พ.ศ.๑๙๗๔ ได้เข้ามาปล้นทำลายอีกครั้ง  พระเจ้าพญายาตจึงสละพระนครในปี พ.ศ.๑๙๗๕ แล้วเสด็จไปประทับที่พนมเปญ  ยุคพระนครที่เจริญรุ่งเรืองมากว่า ๖๐๐ ปี (พ.ศ.๑๓๔๕ - ๑๙๗๕) จึงสิ้นสุดลง

ยุคปัจจุบัน (พ.ศ.๑๙๗๕ - ปัจจุบัน) เมื่อยุคพระนครสิ้นลงแล้ว กัมพูชาได้เมืองหลวงใหม่ อยู่ใกล้ทะเลสาบให้ชื่อว่า กรุงละแวก ยุคนี้พระพุทธศาสนายังคงรุ่งเรืองอยู่ ประชาชนมีความ เคารพศรัทธาต่อพระสงฆ์  แม้จะมีมิชชันนารีต่างชาติมาเผยแผ่แต่ก็ไม่ได้ผล เช่น ในปี พ.ศ. ๒๑๐๙ ชาวโปรตุเกสชื่อ กาสปาร์ ดากรูซ เดินทางมากรุงละแวกแต่ต้องเดินทางกลับเพราะไม่อาจเปลี่ยนศาสนาชาวพื้นเมืองได้ เนื่องจากประชาชนมีความจงรักภักดีต่อพระสงฆ์อย่างสุดหัวใจ

กาสปาร์ ดากรูซ บอกว่า พระสงฆ์ประกอบขึ้นด้วยคนที่มีความสามารถในกัมพูชา กว่า ๑ ใน ๓ หรือตามที่เขาประมาณก็นับจำนวนแสนรูป พระภิกษุเหล่านี้ได้รับความเคารพอย่างสูงจากประชาชนราวกับเป็นเทพเจ้าเป็นๆ ผู้ที่อ่อนอาวุโสกว่าในหมู่ภิกษุด้วยกัน ก็บูชา ผู้อาวุโสกว่า เสมือนเทพเจ้า ไม่มีใครคัดค้านพระในเรื่องใดๆ บางครั้งขณะที่ข้าพเจ้ากำลังนั่งเทศน์อยู่ ทันทีที่พระเหล่านั้นเดินผ่านมา (ชาวบ้าน) ก็พูดเปรยขึ้นว่า "นั่นก็ดีอยู่หรอก แต่ของเราดีกว่า" แล้วพวกเขาก็เดินหนีไปหมดทิ้งข้าพเจ้าไว้แต่ลำพัง

ในปี พ.ศ.๒๔๑๐ กัมพูชาตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ได้รับเอกราชในปี พ.ศ.๒๔๙๖ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้านโรดมสีหนุ ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๙๘ พระองค์ทรงสละราชสมบัติถวายแด่พระราชบิดาคือ พระเจ้าสุรามฤต ส่วนพระองค์เองก้าวลงสู่วิถีชีวิตนักการเมือง ทรงตั้งพรรคสังคมราษฎร์นิยมขึ้น และมีชัยชนะในการเลือกตั้ง ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา

พระเจ้านโรดมสีหนุทรงนำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้กับการเมืองโดยให้ชื่อว่า ทฤษฎีพุทธสังคมนิยม (Buddhist Socialism) เพื่อต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ที่เริ่มขยายเข้ามาในกัมพูชา  แต่ด้วยแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกาและความขัดแย้งจากภายใน จึงทำให้เกิดการรัฐประหารขึ้นโดยนายพลลอน นอล ในปี พ.ศ.๒๕๑๓ สงครามกลางเมืองจึงปะทุขึ้นตั้งแต่บัดนั้น ชาวกัมพูชาต้องสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตไปนับล้านคน กว่าสงครามนี้จะยุติลงในปี พ.ศ.๒๕๓๔

พระพุทธศาสนาในช่วงรัฐบาลของนายพลลอน นอล ยังได้รับการสนับสนุนอยู่เช่นเดิม รัฐบาลประกาศว่า พระพุทธศาสนายังเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ขอให้คณะสงฆ์ช่วยต่อต้านคอมมิวนิสต์คือกลุ่มเขมรแดง  มีการโฆษณาว่า  ถ้าคอมมิวนิสต์เข้ามาจะไม่มีศาสนา พระพุทธ-ศาสนาและพระสงฆ์จะหมดไปจากประเทศกัมพูชา

นายพลลอน นอลปกครองประเทศอยู่เพียง ๕ ปี ก็ถูกปฏิวัติอีกครั้งในปี พ.ศ.๒๕๑๘     โดยกลุ่มเขมรแดง ซึ่งมีนายพล พต (Pol Pot) เป็นผู้นำ เขมรแดงนำระบอบคอมมิวนิสต์มา   ปกครองประเทศ ประกาศนโยบายบริหาร ๘ ประการ เช่น ให้พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ลาสิกขาทั้งหมด แล้วไปทำนาแทน ประหารชีวิตผู้นำรัฐบาลเดิมทั้งหมด

มหันตภัยคุกคามพระพุทธศาสนา สถานการณ์พระพุทธศาสนายุคนี้ตกต่ำที่สุด พระสังฆราชถูกนำไปสังหาร ประชาชนและภิกษุสามเณรถูกฆ่าประมาณ ๒,๐๐๐,๐๐๐ คน พระที่เหลือถูกเขมรแดงสั่งให้ทำงาน  ถ้าไม่ทำงานจะไม่มีข้าวฉัน  บ้างก็ถูกบังคับให้ลาสิกขา  วัดถูกปิดหรือรื้อทิ้ง บ้างก็ถูกทำเป็นฟาร์มไก่หรือเล้าหมู คอมมิวนิสต์ถือว่าศาสนาคือยาฝิ่นของประชาชน ภิกษุไม่ทำอะไรจึงทำให้สังคมเป็นอัมพาต ห้ามตักบาตรทำบุญ ผู้อยู่ในเหตุการณ์สมัยนั้น กล่าวว่า "ยุคนั้น ไม่มีวัด ไม่มีพระสงฆ์ ไม่มีประชาชนไปสวดมนต์ ไม่มีการบูชาพระรัตนตรัย"

เมื่อผ่านยุคสงครามกลางเมืองมาแล้ว องค์การสหประชาชาติได้เข้ามาช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น ให้เงินช่วยเหลือ ๓,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อจัดการเลือกตั้งในปี พ.ศ.๒๕๓๖ และได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น ราชอาณาจักรกัมพูชา (Kingdom of Cambodia) สถานการณ์พระพุทธศาสนาจึงค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ แม้การเมืองจะไม่ค่อยนิ่งคือยังมีการปฏิวัติอยู่บ้างใน ปี พ.ศ.๒๕๔๐ แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อพระพุทธศาสนามากนักเหมือนช่วงสงครามกลางเมือง

ประเทศพม่ามีชื่อเป็นทางการว่า สหภาพพม่า (Union of Myanmar) มีเมืองหลวงชื่อเนปีดอ เมืองใหญ่สุดคือ ย่างกุ้ง  ปกครองด้วยรัฐบาลทหาร มีประชากรประมาณ  ๕๐,๕๑๙,๐๐๐  คน (พ.ศ. ๒๕๔๘) นับถือศาสนาพุทธ ๙๐% นับถือศาสนาคริสต์ ๔%  ศาสนาอิสลาม ๓% ศาสนาฮินดู ๐.๗% นับถือผีไสยศาสตร์ ๒.๓%

ประวัติศาสตร์ของพม่านั้นมีความยาวนานและซับซ้อน มีคนหลายเผ่าพันธุ์เคยอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ เช่น เผ่ากัปปะลี มอญ พยู ไทยใหญ่ พม่า เป็นต้น ชาวพม่าได้อพยพมาราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ โดยมาจากบริเวณพรมแดนระหว่างจีนและทิเบต เข้าสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี และได้กลายเป็นชนเผ่าส่วนใหญ่ที่ปกครองประเทศในเวลาต่อมา

มนุษย์ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในพม่าราว ๑๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว ชนชาติแรกคือเผ่ากัปปะลีหรือนิกริโต แต่เผ่าแรกที่สร้างอารยธรรมขึ้นเป็นเอกลักษณ์ของตนได้คือมอญ ชาวมอญอพยพเข้ามาราว ๒,๔๐๐ ปีก่อนพุทธกาล ได้สถาปนาอาณาจักรสุวรรณภูมิขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๒  มีเมืองหลวงชื่อ "สะเทิม" ส่วนชนเผ่าเดิมคือกัปปะลีก็เคลื่อนย้ายไปอยู่ตามเกาะบะลู ซึ่งเป็นเใหญ่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับเมืองเมาะลำไย ชนเผ่านี้ มีหน้าตาน่ากลัว ผมหยิก ผิวดำ  มีนิสัยกระด้าง จึงถูกมองว่าเป็นพวกยักษ์ และคำว่า บะลู ก็แปลว่า ยักษ์

ศิลาจารึกเจดีย์ชเวดากองบันทึกไว้ว่า พระพุทธศาสนาเข้าสู่พม่าตั้งแต่สมัยพุทธกาล กล่าวคือพ่อค้าชาวมอญชื่อ ตปุสสะ และภัลลิกะ ได้รับพระเกศธาตุจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประดิษฐาน ณ เจดีย์ชเวดากอง ส่วนในอรรถกถาบันทึกไว้ว่า พ่อค้าตปุสสะ และภัลลิกะ เดินทางจากอุกกลชนบท ไปยังมัชฌิมประเทศด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่ม ระหว่างทางได้ถวายสัตตุผงและสัตตุก้อนแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนกลับพระศาสดาทรงประทานเส้นพระเกศธาตุ ๘ เส้น ชนทั้งสองได้นำไปสู่นครของตนแล้วบรรจุพระเกศธาตุไว้ที่ประตูอสิตัญชนนคร แต่ทั้งนี้ยังไม่พบหลักฐานว่า อุกกลชนบทและอสิตัญชนนคร อยู่ในพม่าหรือไม่

พงศาวดารมอญบันทึกไว้ว่า เมื่อปี ๒๕๐ ก่อนคริสต์ศักราช (พ.ศ.๒๙๓) พระโสณเถระและพระอุตตรเถระเดินทางมาประกาศพระศาสนา ณ ดินแดนสะเทิมแห่งอาณาจักรสุวรรณภูมิแล้วสวดพระปริตรเพื่อขับไล่เหล่ายักษ์น้ำหรือผีเสื้อสมุทรมิให้มาเป็นอันตรายแก่ชาวมอญ จึงสันนิษฐานได้ว่าพวกยักษ์ในตำนานมอญนั้นน่าจะหมายถึงชนเผ่ากัปปะลีนั่นเอง ในอรรถกถาก็กล่าวไว้ว่า เมื่อพระโสณเถระและพระอุตตรเถระไปถึงสุวรรณภูมิ นางรากษสหรือยักษ์ตนหนึ่งพร้อมด้วยบริวารขึ้นมาจากสมุทร มนุษย์เห็นนางรากษสตนนั้นแล้วก็กลัวร้องเสียงดัง พระเถระนิรมิตอัตภาพให้มากกว่าพวกรากษสแล้วขับให้หนีไป

ชาวพยูเข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนประเทศพม่าตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๔ และได้สถาปนานครรัฐขึ้นหลายแห่ง เช่น ศรีเกษตร (Sri Ksetra) เป็นต้น ในช่วงเวลาดังกล่าว ดินแดน พม่าเป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางการค้าระหว่างจีนและอินเดีย จากเอกสารของจีนพบว่า มีเมืองอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของชาวพยู ๑๘ เมือง ชาวพยูนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทเด็กๆ ได้รับการศึกษาที่วัดตั้งแต่อายุ ๗ ขวบจนถึง ๒๐ ปี

พระพุทธศาสนาเถรวาทเจริญรุ่งเรืองในพม่าในราวพุทธศตวรรษที่ ๖ ต่อมามีพระสงฆ์  ฝ่ายมหายานซึ่งเป็นศิษย์ของพระวสุพันธุได้นำลัทธิตันตระไปเผยแผ่ จนพระพุทธศาสนาทั้งสองนิกายเจริญรุ่งเรืองเป็นเวลาหลายร้อยปี และรุ่งเรืองมากในพุทธศตวรรษที่ ๑๑

ชาวพม่าเป็นชนเผ่าอพยพมาจากทางตอนเหนือทีละน้อย ได้ขยายอำนาจลงมาทางใต้เข้ารุกรานพวกมอญ มอญจึงต้องถอยไปสร้างเมืองหลวงใหม่ที่หงสาวดี ในปี พ.ศ.๑๓๖๘ พม่าได้ตั้งอาณาจักรขึ้น มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองพุกาม(Pagan) ในปี พ.ศ.๑๓๙๒ ซึ่งเป็นช่วงที่อาณาจักรพยูเสื่อมสลายแล้ว อาณาจักรพุกามแต่แรกนั้นมิได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กระทั่งในรัชสมัยของพระเจ้าอโนรธา (พ.ศ.๑๕๘๗ - ๑๖๒๐) พระองค์สามารถรวบรวมแผ่นดินพม่าให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสำเร็จ

ในปี พ.ศ.๑๖๐๐ พระเจ้าอโนรธายกทัพตีเมืองสะเทิมของมอญ นำเอาพระไตรปิฎกและประเพณีพระพุทธศาสนามา ทรงทำให้นิกายเถรวาทแพร่หลายด้วยความช่วยเหลือจากพระภิกษุมอญชื่อ ชินอรหันต์ ทรงสร้างเจดีย์ที่สำคัญหลายแห่งโดยเฉพาะมหาเจดีย์ชเวดากอง โดยสร้างเสริมเจดีย์องค์เดิม ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบต่อมายาวนานว่า พระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์จะต้องทรงทำนุบำรุงพระเจดีย์ ในสมัยพระนางฉิ่นซอปู้ทรงพระราชทานทองคำเท่าน้ำหนักพระองค์เองคือ ๔๐ กิโลกรัม เพื่อนำไปตีแผ่หุ้มพระเจดีย์ สมัยพระเจ้าธรรมเซดีก็ทรงบริจาคทองคำหนักเป็นสี่เท่าของน้ำหนักพระองค์เอง ในสมัยพระเจ้ามินดงทรงส่งฉัตรฝังเพชรอันใหม่มาถวายเป็นพุทธบูชา ตั้งแต่นั้นมาจึงเป็นธรรมเนียมมาถึงปัจจุบันที่กษัตริย์ทุกพระองค์จะต้องพระราชทานทองคำเท่าน้ำหนักพระองค์เองไปตีเป็นแผ่นหุ้มองค์พระมหาเจดีย์

เจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon Pagoda) เป็นภาษาพม่า ชเว แปลว่า ทอง ดากอง แปลว่า เมืองตะเกิง ซึ่งเป็นชื่อเดิมของเมืองย่างกุ้ง เจดีย์ชเวดากอง จึงแปลว่า พระเจดีย์ทองเมือง   ตะเกิง ซึ่งเป็นมหาเจดีย์ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่บริเวณเนินเขาเชียงกุตระ เมืองย่างกุ้ง ตำนานกล่าวว่าสร้างเมื่อ ๒,๕๐๐ ปีที่แล้วโดยพ่อค้าทั้งสอง แต่นักโบราณคดีเชื่อกันว่าสร้างระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๖ ถึง ๑๐ แรกเริ่มสร้างมีความสูงเพียง ๒๗ ฟุต แต่ด้วยแรงศรัทธาของชาวพม่าได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์สิน เงินทอง แล้วก่อสร้างเสริมองค์พระเจดีย์ให้สูงใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบันมีความสูงถึง ๓๒๖ ฟุต กว้าง ๑,๓๕๕ ฟุต ทองคำที่โอบหุ้มเจดีย์ ชเวดากองอยู่ มีน้ำหนักถึง ๑,๑๐๐ กิโลกรัม ช่างพม่าจะใช้ทองคำแท้ๆ นำมาตีเป็นแผ่นเรียงปิดองค์เจดีย์ไว้ บนยอดของพระเจดีย์ มีเพชรอยู่ ๕,๔๔๘ เม็ด โดยเฉพาะยอดสุดมีเพชรเม็ดใหญ่ อยู่ ๗๒ กระรัต และทับทิม ๒,๓๑๗ เม็ด

นอกจากเจดีย์ชเวดากองแล้ว ในอาณาจักรพุกามมีการสร้างเจดีย์อีกมากมาย เพราะชาวพุกามเชื่อว่า การสร้างเจดีย์จะได้อานิสงส์สูงสุด ตลอดที่ราบริมฝั่งอิรวดีพื้นที่กว้างไกลสุดสายตา ล้วนประดับประดาไปด้วยเจดีย์มากมาย กล่าวกันว่ามีถึง ๔,๐๐๐ องค์ทีเดียว เมืองพุกามจึงได้ชื่อว่า ทะเลเจดีย์  ด้วยเหตุนี้พุกามจึงได้รับยกย่องให้เป็นมรดกโลก (World Heritage) จาก UNESCO แต่ทุกวันนี้เหลือเจดีย์อยู่เพียง ๒,๐๐๐ กว่าองค์เท่านั้น ส่วนมากเป็นเจดีย์ร้าง   แต่ด้วยแรงศรัทธาและความเกรงกลัวบาปที่ฝังลึกในจิตใจของชาวพม่า เจดีย์จึงยังยืนหยัดอยู่ได้โดยไม่ถูกทำลาย พระพุทธรูปยังคงประดิษฐานงดงามอยู่ทุกซุ้มเจดีย์ แม้แต่อุณาโลมเพชร ทับทิม หรือมรกต ก็ยังไม่มีชาวพม่าคนใดกล้าลักขโมย

หลังจากสมัยพระเจ้าอโนรธาแล้ว พระพุทธศาสนาก็ได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์เรื่อยมา จนกระทั่งสมัยพระเจ้านรปฏิสิทธุทรงส่งสมณทูตไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่ลังกา ในปี พ.ศ.๑๗๓๓ โดยมีพระอุตราชีวะเป็นประธาน ครั้งนั้นมีเด็กชาวมอญคนหนึ่งชื่อ ฉะบัฏ ได้บวชเป็นสามเณรติดตามไปยังลังกาด้วย และได้อุปสมบทในลัทธิลังกาวงศ์ ภายหลังเดินทางกลับพม่าพร้อมกับพระภิกษุอีก ๔ รูป ได้ตั้งนิกายใหม่ในพม่าคือนิกายสิงหล พระภิกษุนิกายนี้ ไม่ยอมรับว่า พระนิกายเดิมคือ มะระแหม่ง ได้รับการอุปสมบทอย่างถูกต้อง จึงเกิดการขัดแย้งกันเป็นเวลานานถึง ๓ ศตวรรษและในที่สุดนิกายสิงหลก็เป็นฝ่ายชนะ

อาณาจักรพุกามเจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับ จนกระทั่งรัชสมัยของพระเจ้านรสีหปติ ในปี พ.ศ.๑๗๙๙ - ๑๘๓๐ กองทัพมองโกลบุกเข้าตีพุกามจนแตก ผลของสงครามทำให้พุกามอ่อนแอลงมาก มะกะโทจึงประกาศเอกราชปลดแอกอาณาจักรมอญ หลังจากเป็นเมืองขึ้นของพุกามตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๖๐๐ และสถาปนาราชวงค์ชานขึ้น มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเมาะตะมะ

เมาะตะมะเป็นเมืองหลวงของมอญจนถึงปี พ.ศ.๑๙๑๒ จึงย้ายไปยังหงสาวดี ในสมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์ (พ.ศ.๒๐๑๕ - ๒๐๓๕) อาณาจักรมอญเจริญสูงสุด ทรงรวมสงฆ์ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งแต่เดิมแตกแยกเป็น ๖ คณะ ทรงให้คณาจารย์ ๖ สำนักมาประชุมกัน ทรงขอร้องให้ไปอุปสมบทใหม่ในลังกาเพื่อให้เกิดความเสมอภาค คณะสงฆ์ก็เห็นชอบด้วยจึงเดินทางไปอุปสมบทใหม่ที่ลังกา โดยมีพระคณาจารย์ ๒๒ รูป พระอนุจรอีก ๒๒ รูป

เมื่อกลับมาสู่เมืองหงสาวดีแล้วพระเจ้าธรรมเจดีย์ก็ประกาศราชโองการให้พระสงฆ์ทั่วแผ่นดินสึกให้หมด แล้วบวชใหม่กับคณะสงฆ์ที่บวชจากลังกา  โดยเรียกคณะใหม่ว่า คณะกัลยาณี ในครั้งนั้นมีพระบวชในคณะกัลยาณีถึง ๑๕,๖๖๖ รูป คณะสงฆ์เมืองหงสาวดีจึงเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง  แต่หลังจากพระองค์สวรรคตแล้วสงฆ์ก็แตกแยกกันอีก

ในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ นี้ (พ.ศ.๒๐๐๑ - ๒๑๐๐) ชนชาติโปรตุเกสเข้ามาติดต่อกับประเทศพม่า มีชาวโปรตุเกสคนหนึ่งได้ช่วยพระเจ้ายะไข่ปราบกบฏ จนมีความดีความชอบได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองสีเรียม จึงถือโอกาสเผยแพร่ลัทธิโรมันคาทอลิก และเบียดเบียนพระพุทธศาสนา เช่น ริบทรัพย์สมบัติของวัด  ห้ามประชาชนใส่บาตร  พระสงฆ์ต้องลี้ภัยไปกรุง  อังวะเพื่อร้องทุกข์ ในที่สุดพม่ากับมอญได้ร่วมมือกันกำจัดพวกโปรตุเกส จับตรึงไม้กางเขนตายหลายคน

หลังยุคพระเจ้าธรรมเจดีย์แล้ว ในปี พ.ศ.๒๐๙๔ หงสาวดีก็เสียแก่พระเจ้าตะเบงชเวตี้ กษัตริย์พม่า อาณาจักรพม่ารุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยบุเรงนอง ทรงขยายอาณาจักรออกไปกว้างขวางจนได้ชื่อว่าผู้ชนะสิบทิศ มีประเทศราชทั่วสุวรรณภูมิ คือ อังวะ แปร เชียงใหม่ อยุธยา ยะไข่ ล้านช้าง และหัวเมืองไทยใหญ่ทั้งปวง ทรงครองราชย์อยู่ได้ ๓๐ ปี สวรรคตเมื่อปี พ.ศ.๒๑๒๔

เมื่อพระเจ้าบุเรงนองสวรรคตแล้ว พระโอรสขึ้นเสวยราชย์แทน แต่ไม่มีอำนาจเหมือนพระบิดา เมืองขึ้นต่างๆ จึงประกาศตัวเป็นอิสรภาพรวมทั้งไทยด้วย พวกมอญได้นิมนต์ พระภิกษุชาวกะเหรี่ยงรูปหนึ่งชื่อว่า พระสะล่า เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญทางเวทมนตร์คาถา เชิญให้สึกออกมาคิดแผนการไล่พม่าจนสำเร็จ และได้ทำพิธีราชาภิเษกเป็นกษัตริย์ครองนครหงสาวดีในปี พ.ศ. ๒๒๘๓ มีพระนามว่า พระเจ้าสทิงทอพุทธเกติ ทรงแผ่อิทธิพลตีเมืองตองอูและเมืองแปรได้สำเร็จ แต่เรืองอำนาจอยู่เพียง ๗ ปีเท่านั้น ในปี พ.ศ.๒๓๐๐ ก็ได้สูญสิ้นอำนาจให้แก่พม่าอีก และตั้งแต่นั้นมอญก็ไม่มีโอกาสกอบกู้เอกราชอีกเลยตราบกระทั่งปัจจุบัน

ในพุทธศตวรรษที่ ๒๔ อังกฤษทำสงครามกับพม่าและได้ชัยชนะ จากนั้นพยายามตักตวงทรัพยากรต่างๆ โดยที่กษัตริย์พม่าไม่อาจจะแก้ปัญหาได้ พระเจ้ามินดงจึงก่อการปฏิวัติยึดอำนาจจากพระเจ้าปะกันในปี พ.ศ.๒๓๙๖ ในสมัยพระองค์มีการสังคายนาพระไตรปิฎกนิกายเถรวาทครั้งที่ ๕ ขึ้น ณ เมืองมัณฑะเลย์ในปี พ.ศ.๒๔๑๔ ได้จารึกพระไตรปิฎกลงในหินอ่อน ๗๒๙ แผ่น โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะสงฆ์หลายชาติ คือ ศรีลังกา ไทย กัมพูชา และลาว

ต่อมาพระเจ้าธีบอว์พระโอรสของพระเจ้ามินดงขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๒๔๒๑ พระองค์ถูกอังกฤษเนรเทศไปอยู่อินเดีย ในช่วงนี้ศาสนาคริสต์ได้โจมตีพระพุทธศาสนา พระสงฆ์แสดงธรรมต่อต้านอังกฤษและเดินขบวนอย่างเปิดเผย พระบางรูปถูกจับไปขังคุกก็มี

พม่าได้รับอิสรภาพจากอังกฤษเมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๒ พระพุทธศาสนาจึงได้รับการฟื้นฟูอีกครั้ง มีการสังคายนาครั้งที่ ๖ ขึ้นที่กรุงย่างกุ้ง เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๗ และเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๙ การทำสังคายนานี้ทำขึ้นในโอกาสฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ เพื่อพิมพ์พระไตรปิฎก อรรถกถา และคำแปลเป็นภาษาพม่า โดยเชิญพุทธศาสนิกชนจากหลายประเทศเข้าร่วมพิธี เช่น พม่า ศรีลังกา ไทย ลาว และกัมพูชา

ประเทศลาวมีชื่อเป็นทางการว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Lao Peoples Democratic Republic) ปัจจุบันปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ มีเมืองหลวงชื่อเวียงจันทน์และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด มีประชากรประมาณ ๕,๙๒๔,๐๐๐ คน (พ.ศ. ๒๕๔๘) ๖๐% นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท ๔๐% นับถือภูตผี (Animism) และอื่นๆ ดินแดนลาวมีมนุษย์เข้ามาอาศัยอยู่เป็นเวลาช้านานแล้ว  แต่ประวัติศาสตร์ที่ชัดเจนเพิ่งปรากฏขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ในนามของอาณาจักรล้านช้าง สถาปนาขึ้นโดยพระยาฟ้างุ้ม เมื่อปีพุทธศักราช ๑๘๙๖

พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่อาณาจักรล้านช้างโดยพระนางแก้วยอดฟ้า พระมเหสีของพระยาฟ้างุ้ม ทรงทูลขอให้พระราชาส่งทูตไปนิมนต์พระสงฆ์นิกายเถรวาทจากกัมพูชาเข้ามาเผยแผ่ในล้านช้าง ครั้งนั้นพระมหาปาสามานเจ้าเป็นหัวหน้าคณะเดินทางมาประกาศพระศาสนา ตามคำนิมนต์ของพระยาฟ้างุ้ม

พระมหาปาสามานเถระและคณะเดินทางออกจากกัมพูชาในปี พ.ศ.๑๙๐๒ ได้นำพระพุทธรูปปางห้ามญาติชื่อ พระบาง และพระไตรปิฎกมาถวายแก่พระเจ้าฟ้างุ้มด้วย เมื่อคณะสงฆ์เดินทางมาถึงเวียงจันทน์  เจ้าเมืองจันทน์ได้นิมนต์พักสมโภชน์พระบางอยู่ ๓ คืน ๓ วัน แล้วเดินทางต่อไปยังเวียงคำ ประชาชนได้มาสมโภชน์พระบางกัน ๓ คืน ๓ วันเช่นกัน ครั้นจะเดินทางต่อไปกลับปรากฏเหตุอัศจรรย์คือไม่สามารถยกพระพุทธรูปไปได้ จึงเสี่ยงทายว่าเทวดาอารักษ์คงปรารถนาจะให้พระบางอยู่ที่เวียงคำ คณะสงฆ์จึงเดินทางไปยังเมืองเชียงทองโดยไม่ได้นำพระพุทธรูปไปด้วย ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าฟ้างุ้มกับพระมเหสี และเผยแผ่พระพุทธศาสนา จนเจริญรุ่งเรือง

สมัยพระเจ้าวิชุลราชาธิปัต (พ.ศ.๒๐๔๔ - ๒๐๖๓) พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่พระพุทธศาสนา เช่นกัน ทรงสร้างวัดบรมมหาราชวังเวียงทอง วัดวิชุลราช และอัญเชิญพระบางจากเวียงคำมาประดิษฐานที่วัดนี้ ในรัชสมัยพระเจ้าโพธิสารราช (พ.ศ.๒๐๖๓ - ๒๐๙๐) ทรงสร้าง   วัดสุวรรณเทวโลก และมีพระราชโองการให้พลเมืองเลิกนับถือผีสางเทวดา ให้รื้อศาลหลวง     ศาลเจ้าต่างๆ แล้วให้ประชาชนหันมานับถือพระพุทธศาสนาแทน

หลังจากพระเจ้าโพธิสารราชสวรรคตแล้ว พระโอรสต่างแย่งชิงราชสมบัติกัน อาณาจักรล้านช้างจึงแตกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้ พระเจ้าไชยเชษโฐแห่งล้านนาจึงยกทัพมาตีกรุงล้านช้างและยึดได้ทั้งสองอาณาจักร แล้วเสด็จขึ้นครองราชย์โดยสถาปนา กรุงศรีสัตนาคณหุต เป็นเมืองหลวง และทรงเปลี่ยนพระนามเป็น พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช

พระพุทธศาสนาในยุคของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชมีความเจริญสูงสุด ทรงสร้างวัดสำคัญมากมาย เฉพาะในกำแพงเมืองมีวัดอยู่ประมาณ ๑๒๐ วัด ทรงสร้างวัดพระแก้วขึ้นเพื่อประดิษฐานพระแก้วมรกตซึ่งอัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่ ยุคนี้ราชอาณาจักรไทยก็มีความสัมพันธ์กับลาวอย่างแน่นแฟ้นเพราะได้ร่วมมือกันต่อสู้กับพม่า มีการสร้างเจดีย์พระธาตุศรีสองรัก ขึ้นในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความเป็นพี่เป็นน้องกัน

พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงย้ายเมืองหลวงจากเชียงคำมาอยู่ที่เวียงจันทน์ ทรงประดิษฐานพระแก้วมรกตและพระพุทธสิหิงค์ไว้ที่เวียงจันทน์ ส่วนพระบางประดิษฐานไว้ที่เมืองเชียงทอง จึงได้ชื่อว่าหลวงพระบางมาจนถึงบัดนี้ ทรงสร้างพระธาตุหลวงขึ้น นับเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นยอดเยี่ยมของลาวในปี พ.ศ.๒๑๐๙ ทรงสร้างพระธาตุอื่นๆ และพระพุทธรูปอีกมากมาย เช่น พระเจ้าองค์ตื้อ ที่เวียงจันทน์ ที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย พระเสริม พระสุก พระใส พระอินทร์แปลง พระองค์แสน ทรงสร้างพุทธสถานที่หนองคายหลายแห่ง เช่น วัดพระธาตุ พระธาตุบังพวน วัดศรีเมือง พระประธานในโบสถ์ที่วัดนี้มีนามว่า พระไชยเชษฐา

หลังจากพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชสวรรคตแล้ว  ในปี พ.ศ. ๒๑๑๗-๒๑๑๘ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกทัพมาตีลาวและได้รับชัยชนะ ทรงนำโอรสของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชไปเป็นประกัน ต่อมาปี พ.ศ.๒๑๓๔ พระเถระเจ้าอาวาสวัดต่างๆ ได้ประชุมกันและลงมติให้ส่งทูตไปเชิญเจ้าชายหน่อแก้วโกเมน ซึ่งเป็นตัวประกันอยู่ในพม่ามาครองราชย์ ในเวลานั้นพระเจ้าบุเรงนองสวรรคตแล้ว พม่าจึงอ่อนแอลง  เจ้าหน่อแก้วโกเมนขึ้นครองราชย์สมบัติในปี พ.ศ.๒๑๓๕ มีพระนามว่า พระเจ้าสุริยวงศา และประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับพม่าอีกต่อไป

หลังจากสิ้นรัชกาลของพระเจ้าสุริยวงศาแล้ว ในปี พ.ศ.๒๒๓๕ ลาวแตกเป็น ๒ อาณาจักร คือ หลวงพระบางกับเวียงจันทน์ ในที่สุดพระเจ้าตากสินมหาราชก็ได้ยกทัพมาตีเวียงจันทน์และยึดได้สำเร็จในปี พ.ศ.๒๓๒๑ ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตไปยังอาณาจักรไทยด้วย ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๓๖ อาณาจักรลาวก็ตกเป็นเมืองขึ้นฝรั่งเศส ถูกครอบครองอยู่ ๔๕ ปี ได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๒

พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานของวัฒนธรรมประเพณี ความคิด ความเชื่อของประชาชนลาว ประเพณีทำบุญธาตุหลวง เป็นประเพณีประจำชาติที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ  นอกจากนี้ยังมีศิลปกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนามากมาย พระพุทธศาสนายังมีบทบาทในการสงเคราะห์ประชาชนในด้านต่างๆ เช่น พระสงฆ์เป็นที่พึ่งของชุมชนในด้านให้คำปรึกษา สงเคราะห์ปัจจัยสี่แก่ประชาชน วัดได้เป็นศูนย์กลางการพบปะของชาวบ้าน เป็นต้น ในปัจจุบันลาวอยู่ในภาวะสงบ พระพุทธศาสนาก็ได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐเป็นอย่างดี มีการก่อตั้งสถาบันการศึกษาสงฆ์ขึ้น เช่น วิทยาลัยสงฆ์ประจำกรุงเวียงจันทน์ เป็นต้น

เวียดนาม (Vietnam) แปลว่า อาณาจักรฝ่ายทักษิณ มีชื่อทางการว่า สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (Socialist Republic of Vietnam) มีเมืองหลวงชื่อฮานอย เมืองใหญ่ที่สุดคือโฮจิมินห์ซิตี้  เวียดนามมีประชากรประมาณ ๘๔,๒๓๘,๐๐๐ คน (พ.ศ.๒๕๔๘) โดย ๕๐% นับถือพระพุทธศาสนามหายาน และอีก ๕๐% นับถือศาสนาขงจื๊อและคริสต์ศาสนา

เวียดนามในอดีตแบ่งเป็น ๓ อาณาเขต คือ ตังเกี๋ย (Tong king) ได้แก่ แถบลุ่มแม่น้ำแดง อานัม (Annam) ได้แก่ แผ่นดินส่วนแคบยาวตามชายฝั่งทะเล อยู่ตอนกลางระหว่างตังเกี๋ยกับโคชินจีน และโคชินจีน (Cochin China) ได้แก่ แผ่นดินส่วนล่างทั้งหมด อาณาจักรอานัมมีอายุเกือบ ๓ พันปี แต่ไม่มีหลักฐานชัดเจน จนกระทั่งปี พ.ศ.๔๓๓ ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของจีนและถูกปกครองอยู่นานกว่า ๑,๐๐๐ ปี จึงทำให้ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากจีนมาก ในระยะนี้เองเวียดนามมีชื่อว่า อานัม

พระพุทธศาสนาเข้าสู่อาณาจักรอานัมประมาณพุทธศตวรรษที่ ๗ ซึ่งอยู่ระหว่างที่อานัมยังตกเป็นเมืองขึ้นของจีน สันนิษฐานว่าท่านเมียวโป (Meou-Po) ได้นำนิกายมหายานจากจีนเข้ามาเผยแผ่ และยังสันนิษฐานว่า  พระชาวอินเดีย ๓ รูป คือ พระมหาชีวก พระกัลยาณรุจิ และพระถังเซงโฮย เดินทางมาเผยแผ่ในยุคนี้ด้วยแต่ไม่เจริญรุ่งเรืองเท่าที่ควร เพราะกษัตริย์จีน นับถือศาสนาขงจื๊อ ทรงไม่พอพระทัยที่มีคนนับถือพระพุทธศาสนา

ต่อมาปี พ.ศ.๑๔๘๒ ชาวเวียดนามกอบกู้เอกราชได้สำเร็จ พระพุทธศาสนาได้รับการฟื้นฟูอย่างจริงจัง ครั้งนั้นพระภิกษุชาวอินเดียชื่อ วินีตรุจิ เดินทางมาศึกษาพระพุทธศาสนานิกายเซนในจีน แล้วเดินทางต่อเพื่อมาเผยแผ่ในเวียดนาม ต่อมาในปี พ.ศ.๑๕๑๑ - ๑๕๒๒ รัฐบาลจัดตั้งองค์การปกครองคณะสงฆ์ขึ้น โดยรวมเอานักบวชเต๋ากับพระสงฆ์เข้าในระบบฐานันดรศักดิ์เดียวกัน พระจักรพรรดิทรงสถาปนาพระภิกษุง่อฉั่นหลู เป็นประมุขสงฆ์และแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาของพระองค์ด้วย

         

พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในสมัยราชวงศ์ไล เพราะเป็นศาสนาเดียวที่ได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์ รัชสมัยพระเจ้าไลไทต๋อง (พ.ศ.๑๕๗๑ - ๑๕๘๘) โปรดให้สร้างวิหาร ๙๕ แห่ง รัชสมัยพระเจ้าไลทันต๋อง (พ.ศ.๑๕๙๗ - ๑๖๑๕) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเอาใจใส่ กิจการบ้านเมืองและทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยเจริญรอยตามพระเจ้าอโศกมหาราช

เวียดนามตกเป็นเมืองขึ้นของจีนอีกครั้งในปี พ.ศ.๑๙๕๗ - ๑๙๗๔ จึงทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมไปมาก เพราะกษัตริย์ราชวงศ์หมิงของจีนส่งเสริมแต่ลัทธิขงจื๊อและเต๋า จีนได้ทำลายวัดเก็บเอาทรัพย์สินและคัมภีร์พุทธศาสนาไปหมด หลังจากได้รับเอกราชแล้วสถานการณ์พระพุทธศาสนายังไม่ดีขึ้น  เพราะกษัตริย์ราชวงศ์ใหม่ก็ไม่ส่งเสริมพระพุทธศาสนา

ต่อมาปี พ.ศ.๒๐๑๔ พระเจ้าเลทันต๋องรวบรวมอาณาจักรจัมปาเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่ง ของเวียดนามได้สำเร็จ แต่หลังจากนั้นไม่นานคือในปี พ.ศ.๒๐๗๖ เวียดนามได้แตกแยกเป็น ๒ อาณาจักร คือ ฝ่ายเหนือ ได้แก่ ตังเกี๋ยของตระกูลตรินห์ (Trinh) และฝ่ายใต้ ได้แก่ อานัมของราชวงศ์เหงียน (Nguyen) ทั้ง ๒ อาณาจักรทำสงครามกันมาเป็นเวลา ๒๗๐ ปี ในช่วงนี้ต่างฝ่ายต่างทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา มีการสร้างวัดและปฏิสังขรณ์วัดวาอารามมากมาย

ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ชาวตะวันตกหลายประเทศ เช่น โปรตุเกส ฮอลันดา ฝรั่งเศส สเปน และอังกฤษ เดินทางเข้ามาค้าขายและเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในเวียดนาม เผยแพร่ คำสอนอยู่ได้ ๒๐๐ ปี จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๓๗๐ - ๒๔๐๑ ชาวเวียดนามปราบปรามพวกคริสต์อย่าง เด็ดขาด นักสอนศาสนาถูกฆ่าตายจำนวนมาก และยังฆ่าชาวคริสต์ญวนอีกนับ ๑๐๐,๐๐๐ คนด้วยเหตุการณ์นี้ทำให้เวียดนามกับอังกฤษขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ในที่สุด ปี พ.ศ.๒๔๐๒ อังกฤษก็เข้ายึดเวียดนามเป็นเมืองขึ้น

หลังพ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษแล้ว ในปี พ.ศ.๒๔๒๖ เวียดนามก็ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสอีก สมัยนี้พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมลงมาก เพราะถูกเบียดเบียนจากพวกฝรั่งเศส มีการห้ามสร้างวัดเว้นแต่ได้รับอนุญาต จำกัดสิทธิพระสงฆ์ในการรับไทยธรรม   และจำกัดจำนวนพระภิกษุด้วย ชาวพุทธถูกกีดกันจากตำแหน่งบริหารระดับสูงในหน่วยงานราชการ ส่วนผู้ที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์และโอนสัญชาติเป็นฝรั่งเศสจะได้รับสิทธิพิเศษ  ยุคนี้พระพุทธศาสนาจึงมีท่าทีว่าจะสูญสิ้นไปจากเวียดนาม

ในท่ามกลางความทุกข์ยากอันเกิดจากการตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสนี้เอง ได้มีบุคคลผู้หนึ่งถือกำเนิดขึ้นที่เวียดนามตอนกลางในปี พ.ศ.๒๔๖๙ ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางของชาวตะวันตกในนาม ติช นัท ฮันห์ ผู้อุทิศชีวิตต่อต้านสงครามเพื่อสันติภาพจนได้รับการเสนอชื่อโดยดร.มาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์ ให้เข้ารับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในปี พ.ศ.๒๕๑๐

ท่านติช นัท ฮันห์ ออกบวชเมื่ออายุได้ ๑๖ ปี ในช่วงสงครามเวียดนาม (พ.ศ.๒๕๐๓ - ๒๕๑๘) ท่านออกจากวัดเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยและรณรงค์ต่อต้านสงคราม ในปี พ.ศ.๒๕๐๙ ท่านเดินทางไปสหรัฐอเมริกาตามคำเชิญของสมาพันธ์เพื่อการสมานไมตรี ในครั้งนั้นท่านได้กล่าวถึงความเจ็บปวดของชาวเวียดนามอันเกิดจากผลของสงคราม การเคลื่อนไหวของท่านทำให้รัฐบาลเวียดนามประกาศขู่ว่าจะจับกุม ด้วยเหตุนี้ท่านติช นัท ฮันห์ จึงไม่อาจจะกลับบ้านเกิดได้ตั้งแต่บัดนั้น ต่อมาไปปักหลักอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส สร้างสถานที่ปฏิบัติธรรมคือ หมู่บ้านพลัมขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๒๕ และพำนักอยู่ที่นั่นตราบกระทั่งปัจจุบัน

หลังจากที่พระพุทธศาสนาได้รับผลกระทบจากการยึดครองของฝรั่งเศส จนมีท่าทีว่าจะสูญสิ้นไป ในปี พ.ศ.๒๔๗๔ ก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่ มีการจัดตั้งสมาคมพระพุทธศาสนาศึกษา ขึ้นหลายแห่งที่เมืองไซง่อน เมืองเว้ (อานัม) และเมืองฮานอย โดยมุ่งเน้นด้านการศึกษาและสังคมสงเคราะห์ มีการปฏิรูปพระวินัยของสงฆ์และส่งเสริมให้พระภิกษุศึกษาพระพุทธศาสนาแบบใหม่ ได้จัดพิมพ์วารสารและแปลคัมภีร์ต่างๆ ทั้งฝ่ายมหายานและเถรวาท การฟื้นฟูพระพุทธศาสนาครั้งนั้นประสบความสำเร็จมาก สามารถเปลี่ยนความคิดของปัญญาชนผู้ผิดหวังจากวัตถุนิยมตะวันตก ให้หันมาสนับสนุนพระพุทธศาสนาได้มากมาย

ในปัจจุบันชาวเวียดนามนับถือพระพุทธศาสนา ลัทธิเต๋า และขงจื๊อ เป็นการนับถือแบบผสมผสาน มีการเปิดสอนพระพุทธศาสนาขึ้น ณ มหาวิทยาลัยวันฮันห์ จัดตั้งขึ้นโดยสหพุทธจักรเวียดนาม ปัจจุบันเปิดสอน ๔ คณะ คือ คณะพุทธศาสตร์และบูรพาวิทยา คณะอักษรศาสตร์และมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และคณะภาษาศาสตร์ โดยคณะพุทธศาสตร์ และบูรพาวิทยา มี ๙ ภาควิชา คือ ภาควิชาพุทธปรัชญา วรรณคดีพระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาทั่วไป พระพุทธศาสนาในเวียดนาม ปรัชญาตะวันออก ปรัชญาอินเดีย ปรัชญาจีน และปรัชญาตะวันตก

อินโดนีเซีย (Indonesia) มีชื่อเป็นทางการว่า สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Republic of Indonesia) เป็นประเทศหมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีเมืองหลวงชื่อ จาการ์ตา และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด มีประชากรประมาณ ๒๒๒,๗๘๑,๐๐๐ คน (พ.ศ.๒๕๔๘) นับถือศาสนาอิสลาม ๘๗% ศาสนาคริสต์ ๙.๕% ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ๑.๘% ศาสนาพุทธ ๑.๓% ประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีมุสลิมมากที่สุดในโลกคือประมาณ ๑๙๓,๘๑๙,๔๗๐ คน ชาวมุสลิมเหล่านี้มีความเคร่งครัดต่อศาสนามาก ในวันฮารีรายอ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๙ ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมประกอบศาสนกิจที่มัสยิดหลายล้านคน

แม้ในปัจจุบันอินโดนีเซียจะเป็นประเทศมุสลิม แต่ในอดีตพระพุทธศาสนามหายานเคยเจริญมาก่อน มีอนุสรณ์สถานสำคัญที่บ่งบอกถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา คือ โบโรบุดุร์ (Borobudur) หรือบรมพุทโธ ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นสิ่งมหัศจรรย์แห่งหนึ่งของโลก ตั้งอยู่ในที่ราบเกตุ (Kedu) ภาคกลางของเกาะชวา มีรูปทรงคล้ายกับพุทธวิหารที่พุทธคยา แต่กดให้แบนลง ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสูง ๔๒ เมตร มีขนาดรวม ๑๒๓ ตารางเมตร  ภายหลังถูกฟ้าผ่าและภูเขาไฟระเบิดจึงทำให้ความสูงลดลงเหลือเพียง ๓๑.๕ เมตร หินที่ใช้ก่อสร้างและสลัก เป็นหินที่ได้จากลาวาภูเขาไฟประมาณ ๕๕,๐๐๐ ตารางเมตร

ดร.กรอม (Krom) กล่าวว่า "โบโรบุดุร์" มาจากคำว่า "ปะระ + พุทธ" ดร. สตัทเตอ ไฮม์ (Statterheim) สันนิษฐานว่า "บุดุร" มาจากคำว่า "บุดิว" (Budue) ในภาษามีนังกะบัว (Minangebau) แปล ว่า "เด่น ยื่นออกมา" ฉะนั้น "โบโรบุดุร์" จึงควรแปลว่า "วิหารที่เด่นอยู่บนยอดเขา" จำนงค์ ทองประเสริฐ กล่าวว่า คำว่า "โบโรบุดุร์" น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า   "ปรมะ + พุทธ" ซึ่งหมายถึง "พุทธ (วิหาร) ที่ยิ่งใหญ่"

พระพุทธศาสนาเข้าสู่อินโดนีเซียในตอนต้นศตวรรษที่ ๑ (ค.ศ.๑-๑๐๐ / พ.ศ.๕๔๔ - ๖๔๓) ผ่านเส้นทางสายไหมทางทะเลระหว่างอินเดียและอินโดนีเซีย โดยคณะพ่อค้าชาวพุทธนำเข้ามาเผยแผ่ ตั้งแต่บัดนั้นพระพุทธศาสนาจึงค่อยๆ เจริญขึ้นและเจริญสูงสุดในช่วงราชวงศ์ไสเล็นทรา (Sailendra) ในปี พ.ศ.๑๒๙๓ - ๑๓๙๓ เหล่ากษัตริย์ในราชวงศ์นี้นับถือพระพุทธศาสนา มหายานนิกายวัชรยาน ได้สร้างมหาสถูปบรมพุทโธขึ้นในช่วงปี พ.ศ.๑๓๒๓ - ๑๓๗๖ มหาสถูปนี้ เป็นอนุสรณ์สถานทางพระพุทธศาสนาอันยิ่งใหญ่สิ่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอิทธิพลและเป็นแบบอย่างต่อการก่อสร้างพุทธสถานในยุคต่อมา เช่น นครวัด (Angkor Wat) ในประเทศกัมพูชา เป็นต้น

ต่อมาในช่วงปลายศตวรรษที่ ๑๒ พ่อค้าอาหรับนำศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแผ่และได้ขยายไปทั่วประเทศประมาณศตวรรษที่ ๑๔  ยุคนี้เป็นยุคเสื่อมของพระพุทธศาสนา บรมพุทโธถูกปล่อยปละละเลยให้ถูกห้อมล้อมอยู่กลางป่ารกชัฏ จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๓๕๗ เซอร์ โทมัส แรฟึล (Sir Thomas Raffles) ได้ค้นพบบรมพุทโธอีกครั้งและทำการปฏิสังขรณ์จนอยู่ในสภาพดี ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๑๕ - ๒๕๒๕ รัฐบาลอินโดนีเซียร่วมกับองค์การยูเนสโกได้ปฏิสังขรณ์บรมพุทโธครั้งใหญ่ และจัดให้เป็นหนึ่งในมรดกโลกอีกด้วย

ตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๔ เป็นต้นมาซึ่งเป็นช่วงที่อิสลามเจริญรุ่งเรือง พุทธศาสนิกชนชาวอินโดนีเซียอันน้อยนิดได้พิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนาไว้มิให้สูญสิ้นไป มีชาวพุทธจากประเทศต่างๆเข้าไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาอยู่เป็นระยะๆ ในปี พ.ศ.๒๕๑๒ คณะสงฆ์ไทยจัดส่งพระธรรมทูตเข้าไป ได้ตั้งสำนักงานพระพุทธเมตตาขึ้นที่กรุงจาการ์ตา เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ปัจจุบันอินโดนีเซียมีวัดพระพุทธศาสนาอยู่ประมาณ ๑๕๐ วัด เป็นวัดฝ่ายมหายาน ๑๐๐ วัด วัดนิกายเถรวาท ๕๐ วัด วัดเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในความดูแลของฆราวาส เนื่องจากพระภิกษุมีอยู่น้อย

๔.  พระพุทธศาสนาในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้

เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ หรือตะวันออกกลาง ประกอบด้วยอะนาโตเลีย (Anatolia)  หมายถึง เอเชียไมเนอร์ (Asia Minor) เป็นพื้นที่ส่วนที่เป็นเอเชียของประเทศตุรกี ประเทศที่เป็นเกาะคือ ไซปรัส ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ดินแดนในตะวันออกใกล้ ได้แก่ ประเทศซีเรีย อิสราเอล จอร์แดน เลบานอน และอิรัก ดินแดนในคาบสมุทรอาหรับ ได้แก่ ประเทศซาอุดิอารเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน กาตาร์ โอมาน เยเมน อาจรวมถึงคูเวต อิหร่านและอัฟกานิสถาน ปัจจุบันตะวันออกกลางเป็นถิ่นมุสลิม สำหรับประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ในดินแดนแห่งนี้ จะกล่าวถึงประเทศอัฟกานิสถานเพียงประเทศเดียว เพราะมีหลักฐานเด่นชัดว่าพระพุทธศาสนาเคยรุ่งเรืองมาก่อน

ประเทศอัฟกานิสถาน   มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า   สาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน   (Islamic -

Republic of Afghanistan) มีเมืองหลวงชื่อ คาบูล และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด มีประชากรประมาณ ๓๑,๐๕๖,๙๙๗ คน (พ.ศ.๒๕๔๙) ชาวอัฟกานิสถานในปัจจุบันส่วนมากนับถือศาสนาอิสลามคือ ๙๘% เป็นนิกายสุหนี่ ๘๓.๒% นิกายชีอะห์ ๑๔.๙% นับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ ๑.๔% ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ๐.๔% และศาสนาคริสต์ ๐.๑%

อัฟกานิสถานเป็นที่รู้จักของชาวพุทธไปทั่วโลก เมื่อครั้งที่กลุ่มตาลิบัน (Taliban) ซึ่งเป็นมุสลิมนิกายสุหนี่ ได้ทำลายพระพุทธรูปยืนโบราณสององค์ในเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๔๔ ท่ามกลางการประณามของยูเนสโก และพุทธศาสนิกชนทั่วโลก  พระพุทธรูปองค์ใหญ่สูง ๕๓ เมตร และองค์เล็กกว่าสูง ๓๘ เมตร มีอายุประมาณ ๒,๐๐๐ ปี แกะสลักอยู่บนหน้าผาในเมืองบามิยัน ทางภาคกลางของอัฟกานิสถาน

แม้อัฟกานิสถานในปัจจุบันจะมีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม  แต่ในอดีตที่แห่งนี้เคยเป็นฐานที่มั่นของพระพุทธศาสนามาเป็นเวลานานกว่า ๒,๐๐๐ ปี และยังเป็นเส้นทาง ผ่านของพระพุทธศาสนาจากอินเดียเข้าไปสู่เอเชียกลาง จีน เกาหลี ญี่ปุ่น มองโกเลียอีกด้วย   พระสงฆ์จากเอเชียกลาง จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และมองโกเลีย ใช้เส้นทางนี้ผ่านเข้ามาแสวงบุญในอินเดีย ซึ่งเรียกเส้นทางสายนี้ว่า เส้นทางสายไหม นอกจากนี้อัฟกานิสถานยังเป็นทางผ่านของหลายอารยธรรม เช่น กรีก อิหร่าน เปอร์เซียอีกด้วย

พระพุทธศาสนาเคยเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในอัฟกานิสถาน เพราะโบราณสถานจำนวนมากทั่วประเทศเป็นของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะที่เมืองบามิยัน จาลาลาบาด กันทาหาร์และกาซมี ในสมัยพุทธกาลเรียกดินแดนของอัฟกานิสถานนี้ว่า แคว้นคันธาระ และ กัมโพชะ ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเรียกว่า แคว้นโยนก หรือเยาวนะ ส่วนในสมัยพระถังซัมจั๋งเรียกดินแดนแถบนี้ว่า แคว้นอุทยาน แคว้น

คันธาระ และแคว้นกปิศะ เป็นต้น

พระพุทธศาสนาเข้าไปในอัฟกานิสถานตั้งแต่สมัยพุทธกาล คือเมื่อคราวที่สองพ่อค้า  ชื่อ ตปุสสะ และภัลลิกะ ได้พบพระพุทธองค์และประกาศตนว่าเป็นพุทธมามกะ ก่อนกลับพ่อค้าทั้งสองขอเส้นพระเกศาไปประดิษฐานในพระเจดีย์ที่แคว้นอุทยาน ซึ่งอยู่ในเขตของอัฟกานิสถานในปัจจุบัน นอกจากนี้พระเจ้าปุกกุสาติแห่งนครตักสิลา ก็เป็นพระสหายของพระเจ้าพิมพิสารแห่งนครราชคฤห์ จึงทำให้พระองค์เป็นพุทธมามกะด้วย และเนื่องจากเมืองตักสิลาในอดีต ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศปากีสถาน มีพรมแดนติดกับอัฟกานิสถาน จึงทำให้พระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้าสู่อัฟกานิสถานอีกเส้นทางหนึ่ง

         

พระพุทธศาสนาแถบนี้รุ่งเรืองมากในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช (King Ashoka) ในครั้งนั้น พระมัชฌันติกเถระและคณะได้นำศาสนาพุทธมาเผยแผ่ โดยไปจำพรรษาอยู่ที่เมืองมถุราและเมืองกิปิน (Kipin) ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทแก่ชนพื้นเมือง

ในสมัยพระเจ้ามิลินท์ (King Milinda) หรือพระเจ้าเมนันเดอร์ (Menander) หรือชื่อในภาษากรีกว่า เมนันดรอส (Menandros) ทรงเป็นกษัตริย์เชื้อสายกรีก ครองราชย์ราวปี พ.ศ. ๕๐๐ เศษ อาณาจักรของพระองค์ครอบคลุมพื้นที่อัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดียตอนเหนือ ทิศใต้ของอุซเบกิสถาน และบางส่วนของอิหร่าน ทรงทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองใน    ดินแดนแห่งนี้ และยุคนี้มีพระพุทธปฏิมาแทนองค์พระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก โดยสกุลช่างคันธาระ (Gandhara Style) อันเป็นการผสมผสานของอารยธรรมกรีก โรมัน และแนวคิดพระพุทธศาสนา

ในสมัยพระเจ้ากนิษกมหาราช (King Kanishka : พ.ศ.๖๒๑ - ๖๔๔) อาณาเขตของพระองค์ครอบ คลุมแม่น้ำกาบูลของอัฟกานิสถาน คันธาระ สินธุ์ของปากีสถาน กัศมีร์  (แคชเมียร์) รัฐมัธยมประเทศของอินเดีย รวมถึงสาธารณรัฐในเอเชียกลางบางประเทศ พระองค์ทรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ทรงให้ความอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ ๔ แม้ว่าฝ่ายเถรวาทจะไม่ยอมรับ แต่ก็มีส่วนสำคัญในการรวบรวมพระธรรมวินัยให้เป็นหมวดหมู่ และได้เผยแผ่ไปทั่วเอเชียกลาง อิหร่านบางส่วน จีนและเกาหลี

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของอัฟกานิสถานอย่างเต็มตัวในสมัยพระเจ้ากนิษกมหาราช ทั่วทั้งประเทศมีการสร้างพุทธสถานขึ้นมามากมาย พระสงฆ์ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นและมีหลายรูปจาริกไปเผยแผ่ในเอเชียกลางด้วย ต่อมาที่หุบเขาบามิยัน (Bamiyan) มีการสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่และเล็กขึ้นที่หน้าผาสูงชัน แต่ละองค์ใช้เวลาสร้างไม่น้อยกว่า   ๒๐๐ ปี และมีการขุดเจาะถ้ำขึ้นตามหน้าผามากมายเพื่อเป็นที่พักสงฆ์

เนื่องจากอัฟกานิสถานเป็นจุดศูนย์กลางระหว่างอาหรับกับอินเดีย และเป็นทางผ่านไปสู่จีน จึงถูกรุกรานจากศัตรูอยู่เสมอ เช่น กรีก มองโกล ฮั่นขาว อาหรับ อังกฤษ และโซเวียต เป็นต้น โดยเฉพาะกองทัพมุสลิมอาหรับ ได้ทำลายพุทธสถานอย่างหนัก บังคับผู้คนให้นับถือศาสนาอิสลาม ในปี พ.ศ.๑๒๕๒ กษัตริย์แห่งหุบเขาบามิยันและผู้ปกครองเมืองอื่นๆจึงต้องจำยอมเปลี่ยนศาสนาเพื่อความอยู่รอด เมื่อผู้นำหันไปนับถืออิสลาม จึงทำให้สถานการณ์พระพุทธศาสนายิ่งเสื่อมลงอย่างหนัก  หลังการยึดครองของมุสลิมล่วงไปเพียง ๑๐๐ ปี  อัฟกานิสถานก็กลายเป็นประเทศที่ปราศจากพระสงฆ์โดยสิ้นเชิง สังฆารามมากกว่า ๓,๐๐๐ แห่งตามรายงานของพระถังซัมจั๋งเหลือแต่ซากโบราณสถานเท่านั้น ในปัจจุบันอัฟกานิสถาน  จึงมีชื่อว่า สาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน

๕.  พระพุทธศาสนาในเอเชียกลาง

เอเชียกลางเป็นจุดเชื่อมระหว่างเอเชียและยุโรปเข้าด้วยกัน ประกอบด้วยประเทศต่างๆ ดังนี้คือ คาซัคสถาน (Kazakhstan) อุซเบกิสถาน (Uzbekistan) ทาจิกิสถาน (Tajikistan) เติร์กเมนิสถาน (Turkmenistan) และคีร์กีซสถาน (Kyrgztan) ปัจจุบันเอเชียกลางเป็นถิ่นอิสลาม  แทบไม่มีพุทธศาสนิกชนอยู่เลย  แม้ในอดีตพระพุทธศาสนาจะเคยเจริญรุ่งเรืองในแถบนี้มาก่อน  เพราะประเทศเหล่านี้อยู่บนเส้นทางสายไหม อันเป็นเส้นทางการค้าระหว่างยุโรปและเอเชียและเคยเป็นเส้นทางการเผยแผ่ศาสนาด้วยโดยเฉพาะพระพุทธศาสนา

เอเชียกลางรับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชและเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยพระเจ้ากนิษกมหาราช ประมาณปี พ.ศ.๖๐๐ นอกจากนี้เอเชียกลางยังเป็นแหล่งเผยแผ่พระพุทธศาสนาเข้าไปสู่ประเทศจีนด้วย  พระพุทธศาสนารุ่งเรืองอยู่ในแถบนี้เป็นเวลาพันปี จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ.๑๒๐๐ เป็นต้นไป กองทัพอิสลามเข้าสู่เอเชียกลาง เมื่อตีได้แล้วก็บังคับให้คนแถบนี้เปลี่ยนเป็นมุสลิม

ข้อมูลประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในเอเชียกลางนั้นมีอยู่ค่อนข้างน้อย จึงกล่าวถึงโดยรวม ๆ ไม่แยกเป็นแต่ละประเทศ หลักฐานความเจริญของพระพุทธศาสนาในแถบนี้ถูกค้นพบโดยนักโบราณคดีรัสเซียเมื่อประมาณปี ๒๕๐๐ กว่าๆ เช่น ในปี พ.ศ.๒๕๐๔ กรมโบราณคดีรัสเซียได้ค้นพบเมืองโบราณทางพระพุทธศาสนาหลายแห่ง ณ อุซเบกิสถาน ซึ่งกระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ ทางภาคใต้ติดกับอัฟกานิสถาน เช่น เมืองสมารกันด์ (Smarkand) เมืองบุขารา (Bukhara) เมืองเทอร์เมซ (Termez) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการค้นพบพระพุทธรูปแกะสลัก มีพระอัครสาวกทั้งสองยืนเคียงข้างพระศาสดา ซึ่งบ่งบอกว่าเป็นนิกายเถรวาท และยังค้นพบพระพุทธรูปที่มีพระโพธิสัตว์ยืนเคียงข้าง ซึ่งบ่งบอกว่าเป็นนิกายมหายาน

ในปี พ.ศ.๒๕๐๔ ปีเดียวกันนี้เอง นักโบราณคดีชาวรัสเซียยังค้นพบพระพุทธรูปนอนองค์ใหญ่ มีขนาดความยาว ๑๔ เมตร สูง ๒ เมตรครึ่ง ที่วัดอชินะเทเป (Ajina-tepe) อยู่ข้างเชิงเขาทางทิศใต้ของประเทศทาจิกิสถาน และยังได้พบพระพุทธรูปองค์เล็กอีกหลายร้อยองค์ บางองค์อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ชาวบ้านเรียกภูเขานี้ว่า ภูเขาบ้านแห่งพระพุทธเจ้าพันองค์ (Mountain of one thousand Buddhažs Houses) นักโบราณคดีเชื่อว่าพระพุทธรูปองค์ใหญ่นี้สร้างราวปี พ.ศ.๘๐๐ ในยุคที่กุสาณะปกครองเอเชียกลาง ปัจจุบันได้ตั้งแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์กรุงดูชานเบ (Dushanbe) ประเทศทาจิกิสถาน

นักโบราณคดีชาวรัสเซียยังได้เข้าขุดค้นโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งชื่อว่า เกียอูร กาลา (Giaur Kala) ในปี พ.ศ.๒๕๐๕ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเติร์กเมนิสถาน พบเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ราวเมตรเศษฝังอยู่ใต้ดิน นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์จำนวนมากกระจัดกระจายกันอยู่ทั่วบริเวณที่ขุดโดยรอบ ปัจจุบันพระพุทธรูปได้ถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ และยังพบสถูป ๒ แห่งที่เมืองเมิฟ (Merv) ด้วย

ศาสนาพุทธ  เป็นศาสนาประเภทอเทวนิยม และเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากศาสนาหนึ่งของโลก รองจาก ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และ ศาสนาฮินดูประวัติความเป็นมาของศาสนาพุทธเริ่มตั้งแต่สมัยพุทธกาล ผู้ประกาศศาสนาและเป็นศาสดาของศาสนาพุทธคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้เมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนวิสาขะหรือเดือน ๖ ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ประเทศอินเดีย ๔๕ ปี ก่อนพุทธศักราช ปัจจุบันสถานที่นี้ เรียกว่า พุทธคยา อยู่ห่างจากเมืองคยาประมาณ ๑๑ กิโลเมตร ประวัติความเป็นมาของพุทธศาสนาหลังจากการประกาศศาสนา เริ่มจากการแพร่หลายไปทั่วอินเดีย หลังพุทธปรินิพพาน ๑๐๐ ปี จึงแตกเป็นนิกายย่อย โดยนิกายที่สำคัญคือ เถรวาทและมหายาน

นิกายมหายานได้แพร่หลายไปทั่วเอเชียกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก เมื่อศาสนาพุทธในอินเดียเสื่อมลง พุทธศาสนามหายานในเอเชียกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เสื่อมตามไปด้วย ยังคงเหลือในจีน ทิเบต ญี่ปุ่น เวียดนาม ส่วนนิกายเถรวาทได้เฟื่องฟูขึ้นอีกครั้งในศรีลังกา และแพร่หลายไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พุทธศาสนาได้แพร่หลายไปยังโลกตะวันตกตั้งแต่ครั้งโบราณ แต่ชาวตะวันตกหันมาสนใจพุทธศาสนามากขึ้นในยุคจักรวรรดินิยมและหลังสงครามโลก        ครั้งที่ ๒

ที่มา http://mcucri.igetweb.com/articles/480980/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88-%E0%B9%95-%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A2.html