วรรณคดีในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

สมัยรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๒๕ - ปัจจุบัน)

ตั้งแต่การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็น ราชธานีไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๒) เป็นเวลา ๒๑๗ ปี กวีไทยได้สร้างสรรค์วรรณคดีที่สมควรรักษาเป็นมรดกไทย ไว้จำนวนมาก ในที่นี้จะหยิบยกเฉพาะที่สำคัญๆ มากล่าวไว้ คือ บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ บทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ลิลิตตะเลงพ่าย สามก๊ก พระราชพิธีสิบสองเดือน และนิทานคำกลอน เรื่อง พระอภัยมณี ดังนี้

วรรณคดีในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

เรื่องรามเกียรติ์ในการแสดงโขน และในจิตรกรรมฝาผนัง   บทบะครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ ๑

เป็นบทละครที่มีเนื้อหาสมบูรณ์ครบถ้วน ประกอบด้วยเรื่องน่ารู้ และเรื่องแทรกที่สนุกสนาน ทั้งยังนำมาปรับปรุงเป็นบท สำหรับการเล่นละครได้อย่างดี ละครไทยแท้ๆ แต่เดิมมักจะเป็นละคร รำที่มีท่ารำบอกถึงเรื่องราวตามบทร้อง ดังนั้น ท่า รำและบทร้องจึงมีความหมายสอดคล้องต้องกัน ทั้งยังเข้ากับทำนองเพลงต่างๆที่ให้ไว้ด้วย เช่น เพลงช้า กราวนอก เสมอ โอด เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๒๕ - ๒๓๕๒) ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง รามเกียรติ์ขึ้นเพื่อใช้ในพิธีสมโภชพระนครใหม่ คือ กรุงรัตนโกสินทร์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๒๘ - ๒๓๒๙ เนื้อเรื่องประกอบด้วยเรื่องราวน่ารู้ต่างๆ เริ่มด้วยหิรัญยักษ์ม้วนแผ่นดิน และกำเนิดตัว ละครสำคัญๆ ทั้งฝ่ายยักษ์ ลิง และมนุษย์ แล้วจึงดำเนินเรื่องการสู้รบ ระหว่างพระรามกับทศกัณฐ์ ซึ่งต้องสู้รบกันหลายครั้ง กว่าจะได้ชัยชนะเด็ดขาด ประกอบด้วยเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นและเรื่องแทรกที่ สนุกสนานบันเทิง เสริมด้วยอารมณ์ขัน ทำให้ เรื่องราวมีสีสันเหมาะสมกับการแสดงละคร ทั้งยัง ให้คติธรรมที่ว่า ธรรมย่อมชนะอธรรม และ ยกย่องความซื่อสัตย์ ความกตัญญู บทละคร เรื่องนี้ได้รับความนิยมจากคนไทยทุกยุคทุกสมัย

ตัวอย่าง จากบทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอนกุมภกรรณลับหอกโมกขศักดิ์ บอกชื่อเพลง โอด ดังนี้

ฯ๒คำฯ โอด

     เมื่อนั้น                              ทศเศียรสุริยวงศ์รังสรรค์
เห็นน้องท้าวเจ็บปวดจาบัลย์      กุมภัณฑ์ตระหนกตกใจ
จึ่งมีพระราชบัญชา                   เจ้าผู้ฤทธาแผ่นดินไหว
ออกไปรณรงค์ด้วยพวกภัย         เหตุใดจึ่งเป็นดั่งนี้ฯ

วรรณคดีในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ลิเก

วรรณคดีในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

หนังตะลุง

บทละคร

ใช้เป็นบทประกอบการแสดงละคร ประกอบด้วยบทสนทนา ที่ดำเนินไปตามท้องเรื่อง และรูปแบบของการแสดงไทย มีละครหลายชนิด ทั้งละครร้อง ละครรำ ละครใน ละครนอก โขน หนังตะลุง ลิเก ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕ ยังไม่มีละครพูด ดังนั้น จึงยังไม่แบ่งเนื้อเรื่องเป็นฉาก ไม่มีการกล่าวถึงฉากและการจัดฉากให้เห็นจริง เดิมละครไทยจะแสดงเฉพาะบางตอนเท่านั้น ไม่ได้แสดงตลอดทั้งเรื่อง เช่น เรื่องรามเกียรติ์ ตอนสีดาหาย ตอนหนุมานจองถนน เรื่องอิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง ตอนอิเหนาเผาเมือง ตอน อิเหนาตามบุษบา เป็นต้น จนกระทั่งไทย ได้แบบอย่างจากตะวันตก จึงมีการปรับปรุง ละครไทยขึ้นใหม่หลายรูปแบบ และเรียกชื่อ ต่างๆกัน เช่น ละครพันทาง ละครดึกดำบรรพ์ ละครร้องล้วนๆ ละครสังคีต ละครพูด

นอกจากบทละครเรื่องรามเกียรติ์ ฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ แล้ว ยังมีบทละคร ที่เป็นวรรณคดีมรดกที่มีคุณค่าอีกมาก เช่น บทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

วรรณคดีในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย บทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ ๒

เป็นบทละครที่มีคุณค่าสมควรรักษาไว้เป็นมรดกไทย ประกอบด้วยศิลปะในการแต่งที่ประณีต บทละครมีขนาดกะทัดรัด รักษาขนบ ในการชมเมืองที่ได้แบบอย่างจากเรื่องรามเกียรติ์ และเน้น องค์ห้าของละครดีจนกลายเป็นแบบแผนของการแต่งบทละคร ในสมัยหลัง สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงยกย่องว่า บทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนี้ เป็นบทละครที่ครบ องค์ห้าของละครดีคือ

๑. ตัวละครงาม (หมายถึง เครื่องแต่งตัว หรือรูปร่าง)
๒. รำงาม
๓. ร้องเพราะ
๔. พิณพาทย์เพราะ
๕. กลอนเพราะ

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ครองราชย์ปี พ.ศ ๒๓๕๒ - ๒๓๖๗) เป็นพระมหากษัตริย์ ที่ทรงคุณความดี ทั้งในด้านการปกครอง การสาธารณสุข และศิลปวัฒนธรรมหลายด้าน เช่น ด้านสถาปัตยกรรม ดนตรี วรรณคดี และการละคร

เนื้อเรื่องของบทละครเรื่องอิเหนา มาจากพงศาวดารชวา กล่าวถึงกษัตริย์วงศ์เทวัญสี่องค์ ซึ่งเป็นพี่น้องกัน และครองนคร ๔ นคร คือ กุเรปัน ดาหา กาหลัง และสิงหัดส่าหรี อิเหนา แห่งเมืองกุเรปันได้หมั้นหมายกับบุษบาราชธิดา เมืองดาหา ต่อมาได้พบกับจินตะหราก็หลงรัก เมื่อถูกบังคับให้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับบุษบา จึงลอบหนีออกจากเมือง ไปหาจินตะหรา จนกระทั่ง เมื่ออิเหนาไปช่วยท้าวดาหารบกับท้าวกะหมังกุหนิง และได้พบบุษบาก็หลงรัก จึงทำอุบายเผาเมือง ดาหา แล้วลักพาบุษบาไป ท้าวอสัญแดหวา โกธรแค้นในการกระทำอันมิชอบของอิเหนา จึงบันดาลให้ลมหอบบุษบา ไปตกที่แคว้นปะมอตัน อิเหนาต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมายระหว่างตามหา บุษบา จนกระทั่งได้เข้าพิธีอภิเษกสมรส เรื่องจึง จบลงด้วยความสุข

คุณค่าพิเศษของบทละครเรื่องอิเหนา ซึ่งเป็นวรรณคดีมรดกนี้คือ ความบันเทิงอย่างสมบูรณ์ ที่ได้จากบทละครร้อยกรองประเภทละครรำ ทุกองค์ประกอบของบทละคร เช่น ท่ารำ และทำนอง เพลงมีความสัมพันธ์กันอย่างกลมกลืน บทชม โฉมก็สัมพันธ์กับการทรงเครื่อง ทุกอย่างสามารถ กำหนดได้บนเวทีละครอย่างสมเหตุสมผล ก่อให้ เกิดประเพณีการละคร โดยเฉพาะละครใน การ ดำเนินเรื่อง การแต่งบทร้อง ความยาวของบท เข้ากับลีลาท่ารำ นับเป็นศิลปะการแสดงที่ประณีต งดงามยิ่งของละครไทย

ตัวอย่าง คำประพันธ์ ที่แสดงให้เห็นลักษณะอาการของตัวละคร เมื่อเสียใจ หรือผิดหวัง

ฯ๑๐คำฯ
     ร่ายเมื่อนั้น                       โฉมยงองค์ระเด่นจินตะหรา
ค้อนให้ไม่แลดูสารา                กัลยาคั่งแค้นแน่นใจ
แล้วว่าอนิจจาความรัก             พึ่งประจักษ์ดั่งสายน้ำไหล
ตั้งแต่จะเชี่ยวเป็นเกลียวไป      ที่ไหนเลยจะไหลคืนมา
สตรีใดในพิภพจบแดน             ไม่มีใครได้แค้นเหมือนอกข้า
ด้วยใฝ่รักให้เกินพักตรา           จะมีแต่เวทนาเป็นเนืองนิตย์
โอ้ว่าน่าเสียดายตัวนัก               เพราะเชื่อลิ้นหลงรักจึงช้ำจิต
จะออกชื่อฦาชั่วไปทั่วทิศ          เมื่อพลั้งคิดผิดแล้วจะโทษใคร
เสียแรงหวังฝังฝากชีวี              พระจะมีเมตตาก็หาไม่

วรรณคดีในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน

เสภาเป็นบทกลอนชนิดหนึ่ง ใช้ขับ เพื่อความบันเทิง ได้รับความนิยมในหมู่นักเลงกลอนตั้งแต่สมัยอยุธยา และกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง ในสมัยรัชกาลที่ ๒ และ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้แต่งเสภามักจะเลือกหานิทานนิยายเรื่องเล่าที่ตน เคยรู้จัก มาแต่งเป็นเรื่องราวต่อเนื่องกัน บทเสภา เรื่องขุนช้างขุนแผนจึงมีผู้แต่งหลายคน ใครพอใจ จะขับเสภาตอนในก็แต่งขึ้นเองเฉพาะตอนที่ตนขับ ดังนั้น บางตอนจึงมีผู้แต่งหลายคน แต่ละคนจะมี สำนวนเฉพาะตน และมีรายละเอียดแตกต่างกัน เมื่อมีการรวบรวมบทเสภาเป็นเรื่องเดียว จึงต้อง มีการตรวจสอบชำระ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นประธานชำระ เรื่องขุนช้างขุนแผน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ และได้ทรงวินิจฉัยเกี่ยวกับผู้แต่งด้วย ปรากฏว่า มีผู้แต่งหลายคน เช่น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สุนทรภู่ ครูแจ้ง และยังไม่ทราบนามผู้แต่ง บทเก่าอีกหลายตอน

บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นบทร้อยกรอง ที่มีความยาวมาก แต่งเป็นบทกลอน ซึ่งมีแบบแผนฉันทลักษณ์เหมือนกลอนสุภาพ แต่เมื่อขึ้นต้นตอนใหม่ หรือกล่าวถึงบุคคลใหม่ จะใช้คำขึ้นต้นว่า "ครานั้น" เช่น

ครานั้นจึงโฉมเจ้าเณรแก้ว
เย็นแล้วจะไปเทศน์ก็ผลัดผ้า
ห่มดองครองแนบกับกายา
แล้วไปวันทาท่านขรัวมี

บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน บางตอนกล่าวถึงพระมหากษัตริย์บ้าง แต่มิได้ต้องการแสดงเรื่องราวของพระมหากษัตริย์ นับได้ว่า เป็นเรื่องราวของคนไทยแท้ๆ โดยมิได้ดัดแปลงจากวรรณกรรมของชาติอื่น ตัวละครในเรื่องมีชีวิต จิตใจราวกับคนจริงๆ ที่มีชีวิตอย่างคนธรรมดา ซึ่งมีทั้งทุกข์และสุข ความสมหวัง และความ ผิดหวัง แก่นสำคัญของเรื่องกล่าวถึงรักสามเส้า ของขุนแผน ขุนช้าง และนางพิมหรือนางวันทอง การดำเนินเรื่องเริ่มต้นตั้งแต่ชีวิตวัยเด็กของตัว ละครเอกทั้งสาม ความสมหวังในรักของขุนแผน หรือพลายแก้วกับนางพิม แล้วกลายเป็นการ พลัดพรากจากกัน ไปสู่ความสมหวังในรักของ ขุนช้างที่มีต่อนางพิม เกิดการแย่งชิงความรักกัน ระหว่างขุนช้างกับขุนแผน การดำเนินเรื่องจะมี การแทรกเรื่องย่อยที่สนุกสนานตื่นเต้นสลับกับ ความเศร้ารันทด ขณะเดียวกัน ผู้อ่านผู้ฟังเสภา เรื่องนี้จะได้รับสารประโยชน์เกี่ยวกับค่านิยมของคนไทย ในด้านไสยศาสตร์ และโหราศาสตร์ ประเพณีต่างๆ ลักษณะของชีวิตความเป็นอยู่ สำนวนภาษา คำคมที่จับใจ และสุภาษิต การใช้ภาษาในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นตัวอย่างที่คนไทยยึดถือ และจดจำได้อย่างขึ้นใจ

วรรณคดีในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม ลิลิตตะเลงพ่าย

เป็นวรรณคดีไทยที่แต่งด้วยถ้อยคำไพเราะ และสามารถถ่ายทอดอารมณ์ได้อย่างลึกซึ้งอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะกวีได้ตอบสนองรสนิยมของคนไทย ที่มีจิตใจละเอียดอ่อน ชอบวรรณศิลป์ ชอบใช้ถ้อยคำที่คล้องจอง คมคาย และชวนคิด ลิลิตตะเลงพ่าย เป็นหนังสือ ที่มีศิลปะการใช้ภาษา ที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการแต่ง เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงกอบกู้ชาติ ความดีเด่นของลิลิตตะเลงพ่ายคือ การเล่นคำ และการใช้โวหารอุปมาอุปไมย เพื่อให้เกิด ภาพพจน์ จินตนาการ และสะเทือนอารมณ์ กวีได้สอดแทรกความรู้ต่างๆมากมาย เช่น การจัดกระบวนทัพของไทยสมัยอยุธยา และยุทธศาสตร์ แต่ไม่เคร่งครัดในด้านภูมิศาสตร์ นอกจากนี้ กวียังได้นำชื่อนกและชื่อต้นไม้มาใช้ในบทครวญ ถึงนางตามแบบอย่างลิลิตยวนพ่าย

สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมสมเด็จ พระปรมานุชิตชิโนรส (พ.ศ. ๒๓๓๓ - ๒๓๙๖) ผู้ทรงพระนิพนธ์ลิลิตตะเลงพ่าย มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าวาสุกรี ทรงเป็นโอรสใน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงอุปสมบท เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๔ และทรงครองเพศสมณะจนสิ้น พระชนม์ พระองค์ทรงเป็นนักปราชญ์ที่แท้จริง แม้จะทรงมีพระภารกิจด้านศาสนาอยู่มาก แต่ก็ ทรงศึกษาหนังสือทั้งด้านศาสนา นิติศาสตร์ โหราศาสตร์ ประวัติศาสตร์ จึงทรงพระนิพนธ์ หนังสือได้มากมาย ทางด้านวรรณคดี ทรงมีฝีมือ เป็นเลิศในการแต่ง โคลง ฉันท์ และลิลิต

เนื้อเรื่องของลิลิตตะเลงพ่าย ได้เค้าเรื่องมาจากพงศาวดารสมัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช กล่าวถึงการเสด็จเสวยราชสมบัติ สืบต่อจากพระราชบิดา และมีพระราชประสงค์ ที่จะเสด็จไปตีเขมร เพื่อเป็นการแก้แค้นเขมร ที่ยกทัพมาตีชายแดนไทย ต่อจากนั้น เนื้อเรื่องกล่าวถึง พระเจ้าหงสาวดีโปรดให้พระมหาอุปราชากรีฑาทัพ มาตีไทย เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงทราบข่าว ศึกก็ยกทัพเสด็จออกไปทำศึกนอกพระนคร ระหว่างที่ทัพพม่าปะทะกับทัพหน้าของไทย ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวร และของสมเด็จพระเอกาทศรถตกมัน วิ่งเข้าไปท่ามกลางข้าศึก ตามลำพัง สมเด็จพระนเรศวรทรงระงับความตกพระทัย และตรัสท้าพระมหาอุปราชากระทำ สงครามยุทธหัตถี สมเด็จพระนเรศวรและ สมเด็จพระเอกาทศรถทรงได้รับชัยชนะ เมื่อเลิก ทัพกลับพระนคร สมเด็จพระนเรศวรทรงปูน บำเหน็จรางวัลแก่ทหารผู้มีความชอบ และลงโทษ ประหารทหารที่ติดตามพระองค์ไม่ทัน ทั้งนี้เป็น ไปตามกฎมณเฑียรบาล แต่สมเด็จพระวันรัต วัดป่าแก้วได้กราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้ แก่ทหารเหล่านั้น สมเด็จพระนเรศวรทรงยินยอม และโปรดให้ไปทำสงครามแก้ตัว หลังจากนั้น ทรงดำเนินพระราชกรณียกิจต่อ ด้วยการทำนุบำรุง หัวเมืองเหนือ และรับทูตจากเมืองเชียงใหม่ที่มา ขอเป็นเมืองขึ้น

ตัวอย่างโวหารแสดงความโกรธจากลิลิตตะเลงพ่าย ตอนที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงปรารภเรื่องที่จะไปปราบเขมร เนื่องจากเขมร มักจะยกทัพมาตีไทยระหว่างที่ไทยมีศึกกับพม่า ทรงรู้สึกโกรธและเจ็บช้ำพระทัย ทำให้คิดอะไรก็ หมดความรื่นรมย์ จึงต้องยกทัพไปปราบให้หาย แค้น ดังนี้

"...คลุ้มกมลแค้นคั่ง ดังหนามเหน็บเจ็บช้ำ ย้ำ ยอกทรวงดวงแด แลบชื่นอื่นชม..."

"...ครานี้กูสองตน ผ่านสกลแผ่นหล้า ควรไป ร้ารอนเข็น เห็นมือไทยที่แกล้ว แผ้วภพให้เป็น เผื่อน เกลื่อนภพให้เป็นพง..."

วรรณคดีในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ตัวเอกในสามก๊ก : โจโฉ : ภาพหุ่นกระบอกทั้งหมดเป็นของ นายจักรพันธุ์ โปษยกฤต

วรรณคดีในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ซุ่นกวน

วรรณคดีในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ตัวนางในสามก๊ก ภาพหุ่นกระบอกทั้งหมดเป็นของ นายจักรพันธุ์ โปษยกฤต

สามก๊ก

หนังสือเรื่องสามก๊กได้รับยกย่องให้เป็น ยอดแห่งวรรณกรรมประเภทร้อยแก้วของไทย

กล่าวกันว่า เรื่องสามก๊กแต่เดิมเป็นเรื่องเล่าสู่กันฟังในประเทศจีน ครั้นถึงสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. ๑๑๖๑ - ๑๔๔๙) พวกงิ้วได้นำเรื่องสามก๊ก มาแสดง ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ต่อมา ในสมัยราชวงศ์หยวน (พ.ศ. ๑๘๒๐ - ๑๙๐๐ ตรงกับสมัยสุโขทัย) และสมัยราชวงศ์ไต้เหม็ง (พ.ศ. ๑๙๑๑ - ๒๑๘๖) ได้มีการแต่งหนังสือ โดยใช้เรื่องพงศาวดารเป็นหลัก นักเขียนผู้หนึ่งชื่อ ล่อกวนตง ชาวเมืองฮั่งจิ๋ว ได้นำเรื่องสามก๊กมาเขียนใหม่ เรียกว่า "สามก๊กจี่" มีความยาว ๑๒๐ ตอน ต่อมานักปราชญ์อีก ๒ ท่าน คือ เม่าจงกัง กับกิมเสี่ยถ่าง ได้ช่วยกันแต่งคำอธิบายเพิ่มเติม และพิมพ์เรื่องสามก๊กขึ้น เรื่องสามก๊กจึง แพร่หลายอย่างรวดเร็วภายในประเทศจีน ต่อมา ได้มีการแปลเป็นภาษาต่างๆรวมทั้งภาษาไทย ซึ่ง เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้เป็นผู้อำนวยการการแปล เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๕

การแปลหนังสือสามก๊ก ใช้วิธีแปลสองชั้น ชั้นแรกผู้รู้ภาษาจีนอย่างดี แต่รู้ภาษาไทยเพียงปานกลางได้อย่างต้นฉบับภาษาจีน แล้วถ่ายทอดเป็นภาษาไทย ชั้นที่สอง ผู้รู้ภาษาไทยอย่างดี ได้นำฉบับที่ถ่ายทอดเป็นภาษาไทยแล้ว มาเขียนเป็นความเรียง ใช้ภาษาไทยแบบที่คนไทยใช้กันจริงๆ ยกเว้นเฉพาะชื่อที่เป็นภาษาจีน ดังนั้น ภาษาแปล ที่ใช้ในหนังสือสามก๊กจึงเป็นภาษาไทยที่สมบูรณ์ จนเป็นแบบอย่างของการบรรยายและพรรณนา ที่ให้ภาพที่เด่นชัดแก่ผู้อ่าน และให้ความประทับใจ จนมีผู้นำไปใช้ตาม เช่น สำนวนที่ว่า "ว่าแล้ว ก็ให้จัดโต๊ะสุราอาหารออกมาเลี้ยงกัน" เป็นต้น

เนื้อเรื่องของสามก๊ก กล่าวถึงการทำสงครามชิงชัยกัน ระหว่างโจโฉ เล่าปี่ และซุ่นกวน เริ่มเรื่องตั้งแต่กษัตริย์ราชวงศ์ฮั่นอ่อนแอ อำนาจ จึงตกอยู่กับขุนนางกังฉิน ทำให้เกิดความระส่ำระสายแตกแยก ต่างรบพุ่ง เพื่อแย่งชิงอำนาจกัน จนเหลือ ๓ ก๊กใหญ่ คือ วุยก๊ก จ๊กก๊ก และ ง่อก๊ก ต่างมีอาณาเขตเป็นอิสระ ภายหลังก๊กทั้ง สามเสื่อมอำนาจลง มีผู้ตั้งราชวงศ์ใหม่ แผ่นดิน จีนจึงกลับรวมกันเป็นอาณาจักรเดียว

อันที่จริงการแบ่งแยกอาณาเขต และการแย่งชิงอำนาจกันในจีน เกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งใดน่าพิศวงเหมือนครั้งสามก๊ก เพราะแต่ละก๊กใช้ อุบายต่างๆ เพื่อเอาชนะกัน ทั้งอุบายทางการเมือง การปกครอง และกลยุทธ์ ขณะเดียวกันก็ให้ บทเรียนคติธรรมในการดำเนินชีวิต และการทำงาน ตัวละครสำคัญในเรื่อง มีบทบาท และพฤติกรรม ที่เหมือนจริง ซึ่งมีทั้งดีและเลวปะปนกัน

การแปลเรื่องสามก๊กเป็นจุดเริ่มต้นของการแปลเรื่องจีนอื่นๆ ในสมัยต่อมา เช่น เรื่อง ไซ่ฮั่น ซ้องกั๋ง เป็นต้น

วรรณคดีในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ประเพณีลอยกระทง จากจิตรกรรมฝาผนังวัดราชประดิษฐาราม กรุงเทพฯ พระราชพิธีสิบสองเดือน

หนังสือเรื่องนี้ ได้รับการยกย่องจากวรณคดีสโมสร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ว่าเป็นยอดของความเรียงอธิบาย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ ลงพิมพ์ในนิตยสารวชิรญาณ รายสัปดาห์ก่อน แล้วจึงรวมพิมพ์เป็นเล่มภายหลัง

เนื้อเรื่องกล่าวถึงพระราชพิธีต่างๆ ที่กระทำ ในแต่ละเดือนตลอดทั้งปี ทรงอธิบายตำราเดิม ของพระราชพิธี การแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือเลิก พิธี เพื่อให้ผู้อ่านได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ พระราชพิธีตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปี ยกเว้น พิธี เดือน ๑๑ ที่มิได้รวมไว้ ทรงศึกษาค้นคว้าข้อมูล ทั้งจากตำรา และจากคำบอกเล่าของบุคคล เช่น พระมหาราชครู พราหมณ์ผู้ทำพิธี และจากการสังเกตเหตุการณ์ ที่ทรงคุ้นเคย นับได้ว่า หนังสือเล่มนี้มีคุณค่าทางด้านสังคมศาสตร์ ทรงใช้ภาษา ที่เข้าใจง่าย และเขียนอธิบายตามลำดับจากง่าย ไปสู่ยาก จากอดีตมาสู่ปัจจุบัน เหมาะสมกับการ เป็นคำอธิบายชี้แจงให้เกิดความรู้ความเข้าใจ

ตัวอย่าง

พระราชพิธีลอยพระประทีป

"การลอยพระประทีปลอยกระทงนี้ เป็นนักขัตฤกษ์ ที่รื่นเริงทั่วไปของชนทั้งปวงทั่วไป ไม่เฉพาะแต่การหลวง แต่จะนับว่าเป็นพระราชพิธี อย่างใดก็ไม่ได้ ด้วยไม่ได้มีพิธีสงฆ์ พิธีพราหมณ์ อันใดเกี่ยวข้องเนื่องในการลอยพระประทีปนั้น เว้นไว้แต่จะเข้าใจว่า ตรงกับคำว่าลอยโคมลงน้ำ เช่นกล่าวมาแล้ว แต่ควรนับว่าเป็นราชประเพณี ซึ่งมีมาในแผ่นดินสยามแต่โบราณ..."

วรรณคดีในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

รูปปั้นพระอภัยมณี ที่ อ.แกลง จ.ระยอง

วรรณคดีในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

รูปปั้นนางเงือก ตัวละครในเรื่อง พระอภัยมณี ที่ อ.แกลง จ.ระยอง

นิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี

นิทานคำกลอนได้รับความนิยมมาเป็นเวลานาน ตั้งแต่สมัยอยุธยา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เรื่องจักรๆ วงศ์ๆ หรือนิทานประโลมโลก คำว่า "จักร" และ "วงศ์" เป็นคำประกอบชื่อตัวเอกของเรื่อง เช่น จักรแก้ว ลักษณวงศ์ สุวรรณวงศ์ ซึ่งมีความหมายแสดงถึง ความมีค่า หรือของสูง ตรงกับรสนิยมของคนไทย แต่ก่อนนิทานคำ กลอนแต่งด้วยกาพย์และกลอนสวดคละกัน เริ่ม นิยมแต่งเป็นคำกลอน ในสมัยรัชกาลที่ ๓ มา จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ดังจะเห็นได้จาก นิทานคำกลอนเรื่อง พระอภัยมณี

เนื้อเรื่องของนิทานคำกลอนเรื่อง พระอภัยมณี กล่าวถึงเรื่องราวชีวิต และการผจญภัยที่สนุกสนาน ตื่นเต้น มีทั้งสุขและทุกข์ของตัวเอก คือ พระอภัยมณี ซึ่งมีลักษณะที่แปลกใหม่ แตกต่างไปจากตัวเอกในเรื่องอื่นๆ ที่คนไทยเคย ได้ยินได้ฟัง เช่น พระอภัยมณีเดินทางเข้าป่า เพื่อศึกษาหาความรู้เยี่ยงกษัตริย์ในสมัยนั้น แต่ มิได้เรียนวิชาศิลปศาสตร์ กลับเรียนวิชาเป่าปี ซึ่งสามารถสะกดคนฟังให้หลับได้ ศรีสุวรรณซึ่ง เป็นพระอนุชาของพระอภัยมณีก็เลือกเรียนวิชา กระบี่กระบอง การผจญภัยที่ตื่นเต้นของพระ- อภัยมณี เริ่มด้วยพระอภัยมณีถูกนางผีเสื้อสมุทร ลักพาไปอยู่กินกับนางในถ้ำใต้น้ำ จนกระทั่งนาง ได้ให้กำเนิดบุตรชายชื่อ สินสมุทร ซึ่งมีฤทธิ์และ ความสามารถเหนือมนุษย์ธรรมดา สามารถพา เนื้อเรื่องของนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัย- มณีกล่าวถึงเรื่องราวชีวิตและการผจญภัยที่ สนุกสนาน ตื่นเต้น มีทั้งสุขและทุกข์ของตัวเอก คือ พระอภัยมณี ซึ่งมีลักษณะที่แปลกใหม่ แตกต่างไปจากตัวเอกในเรื่องอื่นๆ ที่คนไทยเคย ได้ยินได้ฟัง เช่น พระอภัยมณีเดินทางเข้าป่า เพื่อศึกษาหาความรู้เยี่ยงกษัตริย์ในสมัยนั้น แต่ มิได้เรียนวิชาศิลปศาสตร์ กลับเรียนวิชาเป่าปี ซึ่งสามารถสะกดคนฟังให้หลับได้ ศรีสุวรรณซึ่ง เป็นพระอนุชาของพระอภัยมณีก็เลือกเรียนวิชา กระบี่กระบอง การผจญภัยที่ตื่นเต้นของพระ- อภัยมณี เริ่มด้วยพระอภัยมณีถูกนางผีเสื้อสมุทร ลักพาไปอยู่กินกับนางในถ้ำใต้น้ำ จนกระทั่งนาง ได้ให้กำเนิดบุตรชายชื่อ สินสมุทร ซึ่งมีฤทธิ์และความสามารถเหนือมนุษย์ธรรมดา สามารถพาพระอภัยมณี หนีนางผีเสื้อสมุทรไปสู่อิสรภาพได้ ขณะว่ายน้ำหนี ได้มีครอบครัวเงือก ช่วยพาไปยังเกาะแก้วพิสดาร พระอภัยมณีได้เงือกสาวเป็นชายา และมีบุตรชายชื่อ สุดสาคร การผจญภัยของพระอภัยมณีครั้งต่อไป เป็นการสู้รบกับอุศเรน คู่หมั้นของนางสุวรรณมาลี พอได้รับชัยชนะ ก็เดินทางไปยังเมืองผลึก และอภิเษกสมรสกับนางสุวรรณมาลี นางละเวงขึ้นครองเมืองลังกา และคิดทำศึกกับเมืองผลึก นางใช้ไสยศาสตร์เป็นอาวุธ ทำให้พระอภัยมณีคลุ้มคลั่ง และถูกนางละเวงหลอกไป จนถึงเมืองลังกา ต่อมา พระอภัยมณีเบื่อหน่ายการใช้ชีวิตทางโลก จึงออกบวชเป็นฤาษี นางสุวรรณมาลีกับนางละเวงก็ออกบวชเป็นชี ส่วนสินสมุทรได้ครองเมืองผลึก และสุดสาครได้ครองเมืองลังกา เรื่องก็จบลงด้วยความสุข ตามแบบฉบับของวรรณกรรมนิทาน

ความแปลกใหม่ และความสนุกสนาน ที่ได้รับ ทำให้นิทานคำกลอนเรื่อง พระอภัยมณี เป็นที่ติดใจผู้อ่านผู้ฟังอย่างแพร่หลาย ก่อให้เกิดจินตนาการ ที่น่าตื่นเต้นระทึกใจ เช่น การแก้ ปัญหาเฉพาะหน้า การผูกสำเภายนต์ การสร้าง ตัวละครที่มีลักษณะครึ่งสัตว์ครึ่งมนุษย์ การใช้ เวทมนตร์คาถา เป็นต้น ทำให้นิทานคำกลอนมี หลายรส ขณะเดียวกัน สุนทรภู่ กวีผู้แต่งนิทานคำกลอน ได้แทรกคติชีวิตได้ทุกตอนอย่างเหมาะสม เช่น สอนให้มีความกตัญญูต่อบิดามารดา และสอนให้หยั่งรู้ถึงธรรมชาติจิตใจคน ปรากฏใน ตอนที่สุดสาครถูกผลักตกเหว เพราะหลงเชื่อ ชีเปลือย ซึ่งเป็นคนแปลกหน้า ดังนี้

"...แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์
มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด
ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
มนุษย์นี้ที่รักอยู่สองสถาน
บิดามารดารักมักเป็นผล"คุณค่าเด่นด้านอื่นๆของนิทานคำกลอนเรื่อง พระอภัยมณี คือ ให้ความรู้ และขยายโลกทัศน์ เกี่ยวกับสงคราม ทั้งสงครามที่สู้กันด้วยอาวุธ ยุทโธปกรณ์ และการใช้เสียงปี่ ซึ่งตีความว่าคือ เสียงสื่อสารมวลชน หรือการใช้ข่าวเป็นอาวุธ ทำลายฝ่ายตรงข้าม ดังที่ปรากฏในสมัยสงครามโลก และแม้จะไม่มีสงครามแล้ว ข่าวก็ยังเป็นอาวุธที่ใช้ ทำลายล้างกันได้

วรรณคดีมรดกไทยเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติ เพราะมีคุณประโยชน์มากมาย ทั้งการสร้างสรรค์ภูมิปัญญา ให้ความรู้รอบตัว และความรู้ที่เป็นศาสตร์ ดังนั้น จึงมีผู้นิยมศึกษา วรรณคดีเพื่อเป็นภูมิความรู้ประดับตน

นอกจากนี้ วรรรณคดีไทยยังเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมของคนหลายกลุ่ม หลายยุคสมัย ทำให้คนรุ่นหลังเข้าใจ และเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์วัฒนธรรม ซึ่งบ่งชี้ถึงความเจริญของชนชาติไทย ทั้งทางด้านภาษา และศิลปะ ดังนั้น การรู้จักวรรณคดีไทย ด้วยการอ่านและศึกษา จึงนำคุณประโยชน์มาสู่ตนเอง และประเทศชาติโดยส่วนรวม