หน่วยการเรียนรู้ที่ 6 วันสําคัญทางพระพุทธศาสนาและศาสนพิธี

สาระสำคัญ/ความคิดรวมยอด

การเข้าร่วมกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนา ทำให้เกิดการพัฒนาตนเองทั้งกาย วาจา ใจ และเป็นการสืบทอดการปฏิบัติบัติที่ดีงามในสังคม

ตัวชี้วัด/จุดประสงค์การเรียนรู้

1. อธิบายสาระสำคัญของวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาได้

2. วิเคราะห์แนวทางการปฏิบัติตนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาได้ถูกต้อง

3. อภิปรายถึงประโยชน์ของการเข้าร่วมกิจกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และการศึกษาเกี่ยวกับวันสำคัญทางศาสนาได้อย่างมีเหตุผล

วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

วันมาฆบูชา คือ วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 พระศาสดาประชุมพระสาวก ณ พระวิหารเวฬุวัน ได้มีสันติบาตประกอบด้วย
องค์ 4 คือ

1. เป็นวันอุโบสถขึ้น 15 ค่ำ
2. ภิกษุ 1,250 รูปมาประชุมกันโดยไม่มีใครนัดหมาย
3. ภิกษุทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา
4. ภิกษุทั้งหมดเป็นผู้ได้รับการบวชแบบเอหิภิกขุ

หลักธรรมที่พระองค์ได้ทรงแสดง
คือ

โอวาทปาฏิโมกขโดยแสดงในที่ประชุมสงฆ์ที่กรุงพันธุมดีราชธานี ดังนี้

1. ความอดทน คือ ความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง
2. พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า นิพพาน เป็นบรมธรรม คือ ธรรม เป็นหลักธรรมสูงสุด สามารถเข้าถึงความหลุดพ้น เป็นอิสระได้
3. การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว (ทำความดี ละเว้นความชั่วทำจิตให้แจ่มใสบริสุทธิ์)นี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
4. การไม่กล่าวร้ายผู้อื่น การไม่เบียดเบียนผู้อื่น ความสำรวมในปาฏิโมกข์ (เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม เช่น ศีล 5 ปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต) ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร การอยู่ในเสนาสนะที่สงัด การประกอบความเพียรนี้คือ คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

วันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปริพพาน หลักธรรมเนื่องในวันวิสาขบูชา มีดังนี้

1. การรำลึกถึงพุทธคุณ หรือความกตัญญ จุดมุ่งหมายของการประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา ก็เพื่อรำลึกถึงพุทธคุณ คือ พระวิสุทธิคุณ
พระปัญญาคุณ และพระกรุณาคุณ ของพระพุทธเจ้าที่มีต่อมวลมนุษย์และสรรพสัตว์

2. หลักอริยสัจ 4 อริยสัจ 4 คือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ คือ ทุกข์ (ความทุกข์,ปัญหา) สมุทัย (เหตุเกิดแห่งทุกข์,ปัญหา) นิโรธ (หนทางดับทุกข์,ปัญหา) และมรรค (ทางหรือวิธีการแก้ทุกข์,ปัญหา)

3. หลักความไม่ประมาท คือ การมีสติทั้งขณะที่ทำ ขณะพูดและขณะคิด

วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 แต่ถ้าเป็นปีที่มีอธิกมาส จะต้องกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หลัง ก่อนวันเข้าพรรษา 1 วัน ความสำคัญของวันนี้ มี 3 ประการ คือ

1) เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร
2) เป็นวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นในโลกเป็นครั้งแรก
3) เป็นวันที่มีพระรัตนตรัยครบถ้วนสมบูรณ์

หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติ
เนื้อหาของพระธรรมเทศนาที่แสดงในวันนี้เกี่ยวกับการทำตนให้สุดโต่ง 2 ประการ ที่ไม่ควรประพฤติปฏิบัติคือ

1. อัตตกิลมถานุโยค
คือ การทำตนให้ลำบากเปล่า คือ ความพยายามเพื่อบรรลุผลที่มุ่งหมายด้วยวิธีทรมานตนเองให้ได้รับความลำบากต่าง ๆ

2. กามสุขัลลิกานุโยค คือ การทำตนให้พัวพันหมกมุ่นอยู่ในกามสุข โดยหลักการปฏิบัติที่สุดโต่งทั้ง 2 ประการนี้ พระพุทธเจ้าจึงให้มนุษย์ปฏิบัติตนอยู่ในทางสายกลางที่เรียกว่า “มัชฌิมปฏิปทา” หมายถึง ข้อปฏิบัติที่ทำให้บรรลุนิพพานไม่ตึง หรือไม่หย่อนจนเกินไป ประกอบด้วยมรรคองค์ 8 ได้แก่

1. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
2. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ
3. สัมมาวาจา การเจรจาชอบ
4. สัมมากัมมันตะ การทำงานชอบ
5. สัมมาอาชีวะ การประกอบอาชีพชอบ
6. สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ
7. สัมมาสติ ระลึกชอบ
8. สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ

วันอัฏฐมีบูชา หมายถึง การบูชาในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งเป็นวันถวายพระเพลิงพระสรีระของพระพุทธเจ้า ถัดจากวันวิสาขบูชา 8 วัน วันอัฏฐมีบูชา ถือว่าเป็นวันบูชาพระสรีระของพุทธเจ้าหลังจากพระเพลิงไหม้แล้ว พระสรีระในที่นี้ หมายถึง พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งหลังจากพระเพลิงไหม้พระสรีระของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็มีการสักการะ เคารพ นบนอบบูชาพระสรีระของพระผู้มีพระภาคด้วยอาการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี ระเบียบดอกไม้และของหอมตลอด 7 วันฉะนั้น จึงถือว่าวันอัฏฐมีบูชาเป็นระลึกถึงวันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ทำให้พุทธศาสนิกชนได้ตั้งอยู่ในความไม่ ประมาทและเข้าใจหลักของไตรลักษณ์ คือ ลักษณะทั่วไปของสิ่งทั้งปวง ถือเป็นสามัญลักษณะ ประกอบ

1. อนิจจตา หมายถึง ความไม่เที่ยงไม่คงที่ ไม่อยู่ในภาพเดิมตลอดไป ภาวะที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมสลายไป กล่าวคือ ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่มีสิ่งใดที่จะคงอยู่สภาพเดิมได้ตลอดชั่วนิรันดร์ ดุจดั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงแม้จะเป็นผู้บรรลุพระสัมโพธิญาณหลุดพ้นแล้วก็ยังหนีไม่พ้นหลักของอนิจจตา มีภาวะการเกิด การเจ็บป่วย การแก่ และการตายในที่สุด เพียงแต่ว่าพระพุทธองค์ต่อแต่นี้ไปจะหลุดพ้น เป็นนิพพาน สู่บรมสุขสูงสุด โดยไม่เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอีกแล้ว

2. ทุกขตา หมายถึง ความทุกข์ เป็นภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและการสลายตัว ภาวะที่กดดัน ฝืนและขัดแย้งอยู่ในตัวเพราะปัจจัยปรุงแต่งให้มีสภาพเป็นอย่างนั้นเปลี่ยนแปลงไป จะทำให้คงอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้นาน ภาวะเช่นนี้ พระพุทธองค์ทรงค้นพบหนทางพ้นทุกข์ ที่เรียกว่าอริยมรรค 8 ดังนั้น หากพุทธศาสนิกชนสามารถประพฤติปฏิบัติตามหลักอริยมรรค 8 ก็สามารถล่วงพ้นจากความทุกข์ได้ หรือสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประวันได้

วันธรรมสวนะ คือ วันกำหนดประชุมฟังธรรมที่เรียกเป็นคำสามัญทั่วไปว่า ”วันพระ” เป็นประเพณีนิยมพุทธบริษัท ที่ได้ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแล้วครั้งพุทธกาล โดยถือว่าการฟังธรรมตามกาลที่กำหนดไว้เป็นประจำ ย่อมก่อให้เกิดสติปัญญาและสิริมงคลแก่ผู้ฟัง ดังบาลีว่า
กาเลน ธมมสสวนํ เอตมมงคลมุตตมํ แปลว่า การฟังธรรมตามกาล เป็นมงคลอันสูงสุด วันกำหนดฟังธรรมนี้สำหรับประเทศไทยกำหนดไว้ 4 วัน ในเดือนหนึ่ง ๆ คือขึ้น/ แรม 8 ค่ำวันขึ้น/ แรม 15 ค่ำ หรือวันแรม 14 ค่ำ

ระเบียบพิธี

1. ในวันธรรมสวนะตอนเข้าประมาณ 09.00 นาฬิกา พระภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา ประชุมพร้อมกันในสภาพที่กำหนดแสดงธรรม จะเป็นวิหาร อุโบสถ ศาลาการเปรียญ วิหารคด หรือศาสนสถานแห่งหนึ่งแห่งใดก็ได้ จัดให้นั่งกันตามที่เป็นสัดส่วนเรียบร้อย มีพระพุทธรูปและที่บูชาประดิษฐานอยู่เบื้องหน้า จัดให้มีอาสนะสำหรับเป็นที่นั่งของพระภิกษุสามเณรเป็นสัดส่วน
2. เมื่อพร้อมกันแล้ว ภิกษุสามเณรเริ่มทำวัตรเช้า ตามแบบนิยมทั่ว ๆ ไป
3. เมื่อภิกษุสามเณรทำวัตรเช้าเสร็จแล้ว อุบาสกอุบาสิกาเริ่มทำวัตรเช้า
4. เมื่อเสร็จพิธีทำวัตรแล้ว หัวหน้าอุบาสก หรืออุบาสิกาประกาศอุโบสถ พระธรรมกถึกขึ้นธรรมาสน์
5. เมื่อจบประกาศอุโบสถแล้ว อุบาสกอุบาสิกาทั้งหมด คุกเข่าประนมมือ กล่าวคำอาราธนาอุโบสถศีลพร้อมกัน พระธรรมกถึกให้ศีล 8 เป็นอุโบสถศีลเต็มที่ แต่ถ้าผู้ใดมีอุตสาหะจะรักษาเพียงศีล 5 ก็ได้
6. ต่อจากรับศีลแล้ว พระธรรมกถึกแสดงธรรม ระหว่างแสดงธรรมพึงประนมมือรับฟังด้วยความตั้งใจจนจบ
7. เมื่อเทศน์จบแล้ว หัวหน้านำกล่าวสาธุการ เป็นอันเสร็จพิธีประชุมฟังธรรมตอนเข้า จะกลับบ้านหรือจะอยู่ฟังธรรมในตอนบ่ายก็แล้วแต่อัธยาศัย

วันเข้าพรรษา คือ การที่พระภิกษุผูกใจว่าจะอยู่ประจำเสนาสนะวัดใดวันหนึ่ง ตลอดเวลา 3 เดือนในฤดูฝนไม่ไปค้างแรมให้ล่วงราตรีในที่แห่งอื่นระหว่างที่ผูกใจนั้น เป็นพิธีกรรมสำหรับภิกษุโดยตรง ซึ่งมีวินัยนิยมบรมพุทธานุญาตไว้ให้ปฏิบัติทุกรูป จะเว้นเสียมิได้ไม่ว่าในกรณีใด ๆ มีเรื่องราวปรากฎ อยู่ในวัสสูปนายิกขันธกะ พระวินัยปิฎกใจความย่อ ๆ ว่า สมัยเมื่อผ่านปฐมโพธิกาลไปแล้วมีกุลบุตรเข้ามาบวชเป็นภิกษุมากขึ้น พระพุทธเจ้ายังมิได้ทรงบัญญัติให้ภิกษุจำพรรษา ถึงฤดูฝนมีน้ำขังเต็มพื้นที่ไร่นาทั่วไป ชาวบ้านอาศัยพื้นที่เหล่านั้นประกอบอาชีพทางกสิกรรมพวกพ่อค้าเป็นต้นที่มิใช่ชาวกสิกรต่างพักผ่อนหยุดสัญจรกันในฤดูนี้เพราะนอกจากไม่สะดวกแล้วยังเป็นอันตรายแก่พืชผลของชาวไร่ชาวนา แต่ภิกษุในสมัยนั้นบางจำพวกหาพักการจาริกไม่บ้างพากันย่ำเหยียบหญ้าระบัดและสัตว์เล็กตายเป็นอันมาก ชาวบ้านพากันติเตียน พระพุทธเจ้าทรงทราบจึงบัญญัติให้ภิกษุสำพรรษาในฤดูฝนตลอด 3 เดือน นับแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ไปจนถึงวันเพ็ญเดือน 11 เหลือเวลา 1 เดือน ท้ายฤดูฝนคือแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงเพ็ญเดือน 12 ซึ่งเป็นเวลานำลดและพืชผลเริ่มสุกแล้วไว้เป็นจีวรกาล คือ เวลาแสวงหาจีวรผลัดเปลี่ยนของภิกษุ

         ต่อมาทรงบัญญัติซ้ำเติมในเรื่องการจำพรรษานี้อีกให้ภิกษุทุกรูปถือเสนาสนะจะเป็นถ้ำ คูหา หรือกุฏิอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ที่มีมุง ที่บังแดดฝนครบถ้วน ห้ามจำพรรษาในที่กลางแจ้ง ในโพรงไม้ ในหลุมที่ขุดหรือในกุฏิดินซึ่งมีลักษณะเหมือนตุ่มอาจเป็นอันตรายพังลงมาทับเพราะน้ำฝนได้ โดยพระพุทธบัญญัติดังกล่าวนี้จึงถือเป็นประเพณีนิยมปฏิบัติสืบ ๆ กันมาจนถึงปัจจุบันนี้

ระเบียบพิธี

การเข้าพรรษาเป็นวัตรปฏิบัติของภิกษุสามเณร ซึ่งมีระเบียบพิธีปฏิบัติดังนี้

1. ถึงวันเข้าพรรษา คือ วันแรมค่ำหนึ่ง เดือน 8 ถ้าเป็นปีมีอธิกมาสก็ตกวันแรมค่ำหนึ่ง เดือน 8 หลัง พระภิกษุ สามเณรทั้งหมดภายในวัดเตรียมดอกไม้ธูปเทียนใส่พานหรือภาชนะที่สมควรเพื่อใช้สักการะปูชนียวัตถุต่าง ๆ ในวัด และใช้ทำสามีจิกรรมกันตามธรรมเนียมให้พร้อมก่อน และในวันนี้หรือวันก่อนวันนี้หนึ่งหรือสองวันทายกทายิกามักนำเครื่องสักการะมากถวายภิกษุสามเณรที่ตนนับถือ เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน ผ้าอาบน้ำฝน เป็นต้น และมักจะนิยมหล่อเทียนขนาดใหญ่กุให้จุดอยู่ได้ทั้งวันทั้งคืนตลอด 3 เดือน ถวายสงฆ์เพื่อจุดเป็นพุทธบูชาเริ่มตั้งแต่วันเข้าพรรษา2. ถึงกำหนดเวลา ส่วนใหญ่จะเป็นตอนเย็น พระภิกษุสามเณรลงพร้อมกันในโรงอุโบสถ จัดให้นั่งตามลำดับอาวุโสก่อนหลัง หันหน้าไปทางพระพุทธรูป เริ่มทำวัตรเย็น แสดงพระธรรมเทศนาหรืออ่านประกาศเรื่องวัสสูปนายิกา ทำสามีจิกรรม คือ ขอขมาโทษต่อกัน อธิษฐานพรรษา เสร็จแล้วสักการบูชาปูชนียสถานภายในวัด3. การประกาศวัสสูปนายิกานั้น ก็เพื่อบอกให้รู้เรื่องเข้าพรรษา บอกเขตของวัดนั้น ๆ ที่จะต้องรักษาพรรษา บอกเรื่องการถือเสนาสนะ และประกาศให้รู้ว่า จะให้ถืออย่างไร ปฏิบัติอย่างไร และหากมีกติกาอื่นใดอีกในเรื่องจำพรรษาร่วมกันก็ให้บอกได้ในประกาศนี้4. การทำสามีจิกรรม ขอขมาโทษต่อกัน เป็นหน้าที่ของภิกษุสามเณรทุกรูปในวัดนั้น ๆ จะต้องทำตามวินัยนิยม ซึ่งมีระเบียบพิธีดังนี้

     1) ผู้รับขอขมาโทษ นั่งพับเพียบหันหน้ามาทางผู้ขอขมา เมื่อผู้ขอขมากราบเริ่มประนมมือรับ
     2) ผู้ขอขมาโทษคุกเข่ากราบพร้อมกัน 3 ครั้ง เฉพาะรูปที่เป็นพระสังฆเถระและเจ้าอาวาส
     3) กราบแล้ว ยกพานเครื่องสักการะขึ้นประคองแค่อกน้อมกายลงเล็กน้อย กล่าวคำขอขมา
     4) เมื่อผู้รับขอขมากล่าวคำอภัยโทษแล้ว ผู้ขอทั้งหมดรับคำให้อภัยพร้อมกัน ด้วยอาการยกพานเครื่องสักการะขึ้นใน
ท่าจบนิดหน่อย
     5) เสร็จจากรูปหนึ่งแล้วทำกับอีกรูปหนึ่ง โดยวิธีดังกล่าวต่อเนื่องกันไปจนถึงสามเณรรูปสุดท้ายเป็นอันเสร็จพิธี

5. การอธิษฐานเข้าพรรษา มีระเบียบปฏิบัติสืบกันมา คือ ให้ภิกษุสามเณรทั้งหมดคุกเข่าขึ้นพร้อมกัน หันหน้าทางพระพุทธรูป
ประธาน กราบพระพุทธรูป 3 ครั้งแล้ว พระสังฆเถระผู้เป็นประธานหรือเจ้าอาวาสนำประนมมือว่า นโม พร้อมกัน 3 จบ ต่อจากนั้นนำเปล่ง
คำอธิษฐานพรรษาพร้อมกัน 3 จบ ว่า“อิมสฺมึ อาวาเส อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ” (หรือ อุเปมะ) เสร็จแล้วกราบพระอีก 3 ครั้ง นั่งราบพับเพียบตามเดิม6. การสักการะบูชาปูชนียวัตถุสถานภายในวัด หากมิได้สักการบูชาปูชนียวัตถุสถานก่อนเข้าโรงอุโบสถ เมื่อออกจากโรงอุโบสถแล้ว พึงถือเครื่องสักการะร่วมกันไปสักการะปูชนียสถานอื่น ๆ ในบริเวณวัดเท่าที่มี เช่น พระเจดีย์ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นต้น เสร็จแล้วถ้าต้องการทำสามีจิกรรมกันตามกุฎีต่อ ก็พึงทำในระยะนี้ กลับถึงกุฎีของตนแล้ว ถ้าจะอุตสาหะอธิษฐานพรรษาซ้ำจำกัดเฉพาะเขตกุฎีของตนอีกก็ทำได้ 

วันออกพรรษา ตรงกันวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันครบ 3 เดือน หลังจากที่พระภิกษุอธิษฐานตั้งใจจำพรรษาไม่จาริกไปตามสถานที่ต่าง ๆ ในวันเข้าพรรษา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันมหาปวารณา ที่เรียกเช่นนี้เป็นเพราะเป็นวันที่ภิกษุสงฆ์ที่อยู่ร่วมกัน ๓ เดือนตลอดพรรษา ได้ปวารณาตนต่อกัน คือ เปิดโอกาสให้ภิกษุอื่นเตือนเกี่ยวกับความประพฤติเสื่อมเสียใด ๆ ไม่ว่าจะโดยการได้เห็นได้ยินมาด้วยตนเองหรือโดยการระแวงสงสัยก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่ภิกษุผู้อยู่ร่วมกันนาน ๆ ย่อมจะเห็นข้อบกพร่องของกันและกันจึงควรมีการว่ากล่าวตักเตือนกันขึ้น เพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ความสามัคคีขึ้นในภายหมู่สงฆ์ ก่อนที่แต่ละรูปจะจาริกไปยังสถานที่ต่าง ๆ ต่อไป

ระเบียบพิธี
ปวารณากรรม หรือการออกพรรษา มีระเบียบพิธีที่ภิกษุจะต้องปฏิบัติ ดังนี้

1. ในวันเพ็ญเดือน 11 นั้น ต้องทำบุพกรณ์และบุพกิจเหมือนการทำสังฆอุโบสถ เว้นแต่ในส่วนบุพกิจไม่นำปาริสุทธิ เปลี่ยนเป็นนำปวารณาของภิกษุไข้มา เมื่อถึงกำหนดเวลาที่พระสงฆ์เคยลงทำอุโบสถกรรมสวดพระปาติโมกข์ตามปกติ ตีระฆังสัญญาณให้ภิกษุทั้งวัดลงประชุมพร้อมกันในโรงอุโบสถ นั่งบนอาสน์สงฆ์ตามลำดับพรรษาแก่อ่อนจากขวามาซ้ายเรียงแถว ๆ ไป หันหน้าเข้าหาพระพุทธรูปประธาน กล่าวคำบูชา
พระรัตนตรัย

2. เจ้าอาวาสหรือพระสังฆเถระผู้ฉลาดในสังฆกรรม ขึ้นนั่งเตียงปาติโมกข์ ประกาศชี้แจงเรื่องทำปวารณากรรมให้เข้าใจทั้วกันก่อนแล้วเริ่มบอกบุพกรณ์บุพกิจของปวารณากรรม เสร็จแล้วตั้งญัตติปวารณากรรม ต่อนั้นพระสงฆ์พึงปวารณากัน ตามแบบโดยลำดับอาวุโส ถ้ามีจำนวนภิกษุจำพรรษามากเป็นร้อยๆ รูป จะให้ผู้มีพรรษาเท่ากันปวารณาพร้อมกันก็ได้ ทั้งนี้ต้องบอกแจ้งในญัตติว่าจะใช้เอกวาจิกาสมานวัสสิกาปวารณาก่อน

3. ระเบียบปวารณาที่นิยมกัน ให้พระสงฆ์ทั้งหมดนั่งพับเพียบเรียงแถวไม่ละหัตถบาสตามลำดับอาวุโส ทุกรูปหันเข้าหาพระพุทธรูปประธาน ผู้แก่อาวุโสปวารณาก่อน ถึงลำดับตนแล้วพึงคุกเข่าว่าคำปวารณา จบแล้วนั่งราบพับเพียบตามเดิม โดยนัยนี้จนได้ปวารณาทั่วกันครบทุกรูป

4. เมื่อปวารณาเสร็จแล้วใหญ่จะมีสวดมนต์ต่อท้าย

5. ภิกษุทุกรูปเมื่อปวารณาแล้วในวันปวารณานั้นจำต้องรักษาราตรีอยู่

วันเทโวโรหณะ แปลว่า วันเป็นที่ลงจากเทวโลก หมายถึง วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลกมาสู่มนุษยโลก หลังจากที่ได้แสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระมารดา และเสด็จจำพรรษา ณ ดาวดึงส์พิภพครบไตรมาสแล้ว โดยมีรายละเอียดดังนี้

          ในช่วง 5–4 ปีหลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และแสดงธรรมเทศนาโปรดเวไนยสัตว์ต่าง ๆ แล้วปรากฏว่าลาภสักการะของพวกเดียรถีย์ได้เสื่อมลงตามลำดับ ทั้งนี้เพราะประชาชนได้หันมานับถือพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก ทำให้พวกเดียรถีย์เดือนร้อนต่างพากันคิดแสวงหาวิธีที่จะดึงให้ประชาชนกลับ มาเลื่อมใสตนโดยใส่ร้ายพระพุทธเจ้าและเหล่าสาวกต่าง ๆ นานา แต่ก็ไม่อาจจะทำอะไรได้ ยิ่งไปกว่านั้น ผลร้ายกลับตกมาสู่พวกของตนด้วยซ้ำ ในที่สุดจึงได้อาศัยข้อบัญญัติที่พระพุทธเจ้าห้ามเฉพาะพระสาวกแสดงปาฏิหาริย์ เที่ยวประกาศข่าวท้าพระพุทธเจ้าแสดงปาฏิหาริย์แข่งกัน โดยลืมนึกไปว่าพระพุทธเจ้าบัญญัติห้ามเฉพาะสาวกเท่านั้นไม่รวมถึงตัวพระองค์ เมื่อความทราบถึงพระพระพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงคิดถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นหากพระองค์ไม่แสดงปาฏิหาริย์ จึงทรงประกาศว่าในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8พระองค์จะแสดงปาฏิหาริย์ที่ต้นมะม่วงพวกเดียรถีย์ได้ฟังดังนั้นจึงหาวิธีแกล้งพระพุทธเจ้าโดยช่วยกันทำลายต้นมะม่วงในเมืองนั้นทั้งหมด แล้วก็ช่วยกันสร้างมณฑปของตนเพื่อแสดงปาฏิหาริย์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตอนเช้าปรากฏว่าเกิดฝนตกและพายุพัดมณฑปของพวกเดียรถีย์พังจนหมดสิ้นส่วน
พระพุทธองค์ได้เสด็จไปสู่ที่แสดงปาฏิหาริย์ที่ทรงกำหนดไว้ ในระหว่างทางทรงรับผลมะม่วงสุกจากนายคัณฑะซึ่งเป็นคนเฝ้าพระราชอุทยานของพระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงให้พระอานนท์นำมะม่วงมาทำน้ำปานะถวาย จากนั้น จึงให้นายคัณฑะนำเมล็ดมะม่วงปลูก ณ ที่นั่น แล้วใช้น้ำล้างพระหัตถ์รด ปรากฏว่า ต้นมะม่วงได้งอกขึ้นและใหญ่โตอย่างรวดเร็ว ด้วยปาฏิหาริย์ของพระพุทธองค์จากนั้น พระองค์จึงทรงแสดงปาฏิหาริย์ที่ต้นมะม่วงนั้นหลายประการ เมื่อทรงแสดงเสร็จ วันรุ่งขึ้นจึงเสด็จไปจำพรรษายังดาวดึงส์เทวโลก ตามธรรมเนียมของพระพุทธเจ้าในอดีตทั้งหลาย แสดงพระอภิธรรมโปรดพระมารดาตลอด 3 เดือนเมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นมหาปวารณา พระองค์จึงเสด็จลงจากดาวดึงศ์เทวโลกสู่ภพของมนุษย์ที่ประตูเมืองสังกัสสนครโดยมีขบวนเทพยดาและประชาชนตามส่งเสด็จและรับเสด็จอย่างสมพระเกียรติและในวันนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงเนรมิตให้เทวดามนุษย์และสัตว์นรกมองเห็นซึ่งกันและกัน ตลอดทั้ง 3 โลก (สวรรค์ มนุษย์และนรก) การลงโทษในเมืองนรกยุติชั่วคราวในวันนี้ ดังนั้น วันนี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันพระเจ้าเปิดโลกบางตำนานกล่าวว่าวันนั้นได้มีมหาชนมาเฝ้าถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระพุทธเจ้าเป็นอันมากเนื่องจากไม่ได้พบพระพุทธเจ้าถึง 3 เดือน เมื่อประชาชนมาก การถวายอาหารโดยใกล้ชิดจึงเป็นไปโดยไม่สะดวก คนที่เข้าไม่ถึงนำข้าวสาลีข้าวสุกที่นำมาปั้นเป็นก้อนๆ แล้วโยนใส่บาตรพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นประเพณีที่นิยมทำข้าวต้มลูกโยนใส่บาตรพระในวันนี้ การทำบุญตักบาตรในวันนี้จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ตักบาตรเทโว (เทโว ย่อมาจากคำว่า เทโวโรหณะนั่นเอง)

ระเบียบพิธี

1. ก่อนถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นกำหนดวันทำบุญตักบาตร ทางวัดที่จะจัดให้มีงานทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ จะต้องเตรียม
     1) รถทรงพระพุทธรูป หรือคานหามพระพุทธรูป เพื่อชักหรือหามนำหน้าพระสงฆ์ในการรับบาตร มีที่ตั้งบาตรสำหรับบิณฑบาตตรงหน้าพระพุทธรูปด้วย จัดตกแต่งรถหรือคานหามประดับด้วยฉัตร ธง ให้สวยงาม ถ้าไม่สามารถจัดทรงหรือคานหามจะใช้อุบาสกเป็นผู้เชิญพระพุทธรูปก็ได้ และมีผู้ถือบาตรตามสำหรับรับบิณฑบาต
      2) พระพุทธรูปยืน 1 องค์ สำหรับเชิญขึ้นประดิษฐานบนรถทรงหรือคานหาม
      3) เตรียมสถานที่ให้ทายกทายิกาตั้งเครื่องใส่บาตร
      4) แจ้งกำหนดการต่าง ๆ ให้ทายกทายิกาทราบล่วงหน้า

2. สำหรับทายกทายิกาเมื่อทราบกำหนดจากทางวัดแล้วจะต้องตระเตรียมและดำเนินการดังนี้
      1) เตรียมภัตตาหารสำหรับใส่บาตร
      2) ถึงกำหนดนัดในวันนั้น ก็นำเครื่องใส่บาตรทั้งหมดไปตั้งใส่ที่วัดตามที่วัดจัดเตรียมให้ รอจนขบวนพระมาถึงตรงหน้าตนจึงใส่บาตร ให้ใส่ตั้งแต่พระพุทธรูปในรถหรือคานหามที่นำหน้าพระสงฆ์ไปเป็นลำดับ จนหมดพระสงฆ์รับ หรือหมดของเตรียมมา
     3) เมื่อใส่บาตรแล้ว เป็นอันเสร็จพิธี

ศาสนพิธี

การถวายภัตตาหาร สิ่งของที่ควรถวายและสิ่งของต้องห้ามสำหรับพระภิกษุ

สิ่งของที่ควรถวายพระภิกษุ1. ข้าวและอาหารที่จะนำมาถวาย นิยมเป็นข้าวปากหม้อและกับข้าวปากหม้อ คือ เป็นสิ่งที่ปรุงเสร็จใหม่ ๆ ยังไม่ได้ตักออกไปเพื่อบริโภคหรือใช้อย่างอื่น ส่วนกับข้าวที่ปรุง หากเป็นเนื้อสัตว์ไม่ควรฆ่า เพื่อถวายพระโดยเฉพาะ
2. สิ่งของที่นำมาถวายพระทุกอย่างควรเป็นสิ่งของที่ได้มาหรือใช้ทรัพย์ที่บริสุทธิ์ จัดซื้อมารวมทั้งเจตนาที่จะถวายก็ต้องบริสุทธิ์ด้วย
3. ปกติสิ่งของที่จะนำมาถวาย ก็มี ข้าว กับข้าว และของหวาน แต่ในบางกรณีอาจถวายดอกไม้ ธูปเทียน ผ้าที่สมควรแก่สมณะหรือสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ อันสมควรแก่สมณบริโภค

สิ่งของต้องห้ามสำหรับพระภิกษุ

1. ภัตตาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ จะต้องไม่เป็นเนื้อสัตว์ที่ฆ่าเพื่อถวายพระโดยเฉพาะ
2. เนื้อสัตว์จะต้องไม่เป็นเนื้อสัตว์ 10 ชนิด ที่ห้ามพระภิกษุฉัน ได้แก่ เนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อสุนัข เนื้องู เนื้อราชสีห์ เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือเหลือง เนื้อหมี เนื้อเสือดาว
3. ไม่ควรถามพระภิกษุว่าชอบอาหารชนิดใด ชอบอาหารที่ถวายหรือไม่ เพราะเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง

การถวายสังฆทาน

เครื่องสังฆทาน         การถวายทาน คือ การถวายวัตถุที่ควรให้เป็นทาน ในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่าวัตถุที่ควรให้เป็นทานนี้ว่า “ทานวัตถุ” จำแนกได้เป็น 10 ประการ คือ
1. ภัตตาหาร
2. น้ำรวมทั้งเครื่องดื่มอันควรแก่สมณบริโภค
3. ผ้า เครื่องนุ่งห่ม
4. ยานพาหนะ สงเคราะห์ปัจจัยค่าโดยสารเข้าด้วย
5. มาลัย และดอกไม้เครื่องบูชาพระ
6. ของหอม หมายถึงธูปเทียนบูชาพระ
7. เครื่องลูบไล้ หมายถึงเครื่องสุขภัณฑ์สำหรับชำระร่างกายให้สะอาด มรสบู่ เป็นต้น
8. ที่นอนอันควรแก่สมณะ
9. ที่อยู่อาศัย มีกุฎีเสนาสนะและเครื่องสำหรับเสนาสนะ เช่น เตียง ตู้ โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น
10. เครื่องตามประทีปมีเทียนจุดใช้แสง ตะเกียง น้ำมันตะเกียง และไฟฟ้า เป็นต้น

           ทั้ง 10 ประการนี้ ควรถวายเป็นทานแด่ภิกษุสามเณรเพื่อใช้สอยหรือบูชาพระตามสมควรสังฆทาน นั้น หมายถึง ทานที่อุทิศแก่สงฆ์ มิได้เจาะจงแก่บุคคล โดยนิยมที่เข้าใจทั่วไปในเรื่องการถวายสังฆทานนี้ ก็คือการจัดภัตตาหารถวายพระภิกษุสงฆ์ไม่เกี่ยวกับการถวายวัตถุทางอย่างอื่น ๆ การจัดภัตตาหารถวายสงฆ์อย่างนี้ เรียกว่า ถวายสังฆทาน

            เครื่องสังฆทาน ก็คือ ทานวัตถุที่จะถวายเป็นสังฆทานมีภัตตาหารเป็นที่ตั้ง นอกนั้นจะมีของเป็นบริวารอื่น ๆ ได้แก่ น้ำรวมทั้งเครื่องดื่มอันควรแก่สมรบริโภค ผ้า เครื่องนุ่งห่ม ดอกไม้ ธูปเทียน สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก คิลานเภสัช ได้แก่ ยารักษาโรคต่าง ๆ รวมทั้งปัจจัยซึ่งอาจทำใบปวารณาถวายก็ได้

การถวายผ้าอาบน้ำฝน

การถวายผ้าอาบน้ำฝน            ผ้าอาบน้ำฝน หรือที่เรียกว่า ผ้าวัสสิกสาฎก คือ ผ้าสำหรับใช้นุ่งในเวลาอาบน้ำฝน หรืออาบน้ำทั่วไป เรียกกันว่าผ้าอาบน้ำฝนและเรียกกันสั้น ๆ ว่า “ผ้าอาบ” แต่เดิมพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์ทรงไว้แต่ผ้า ๓ผืน ที่เรียกว่า ไตรจีวร คือ สังฆาฏิ ผ้าคลุมชั้นนอก อุตตาสงค์ ผ้าห่ม (จีวร) แลอันตรวาสก ผ้านุ่ง (สบง) เท่านั้น ยังหาได้ทรงอนุญาตให้ใช้ผ้าอาบน้ำฝนไม่ เมื่อเวลาฝนตกภิกษุบางรูปปราถนาจะอาบน้ำฝนไม่มีผ้าอื่นจะผลัดนุ่งอาบก็เปลือยกายอาบน้ำฝน ครั้งหนึ่ง นางวิสาขามหาอุบาสิกาใช้นางทาสีไปยังอาราม นางทาสีเห็นภิกษุเปลือยกายอาบน้ำฝนก็เข้าใจว่าเป็นพวกอาชีวก (ชีเปลือย) จึงกลับมาบอกนางวิสาขาว่า ไม่มีภิกษุในอารามเลย มีแต่อาชีวกนอกพระศาสนานางวิสาขาจึงได้ทูลขอพร
ต่อพระพุทธเจ้าเพื่อจะถวายผ้าสำหรับผลัดอาบน้ำฝนแก่ภิกษุทั้งหลายพระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายรับผ้าอาบน้ำฝนได้แต่นั้นมา
ผ้าอาบน้ำฝนนี้ ต้องทำให้ถูกต้องพระวินัยบัญญัติ โดยประมารที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตไว้ คือ เป็นผ้าผืนยาว 6 คืบพระสุคต กว้าง 2 คืบครึ่ง คิดโดยประมาณของช่างไม้ปัจจุบัน ยาวรวม 4 ศอกกับ 3 กระเบียด กว้างราว 1 ศอก 1 คืบ กับ 4 นิ้ว 1 กระเบียดเศษ ถ้าทำให้ยาวหรือกว้างเกินประมาณนี้ไป ภิกษุใช้สอยต้องอาบัติ ต้องตัดส่วนที่กว้างหรือยาวเกินประมาณนั้นออกเสียจึงแสดงอาบัติได้อีกประการหนึ่ง ทรงบัญญัติเขตกาลที่จะแสวงหา เขตกาลที่จะทำเขตกาลที่จะนุ่งห่ม และเขตกาลอธิษฐานใช้สอยไว้ว่า

ก. ตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน7๗ ถึงวันเพ็ญเดือน 8 รวมเวลา 2 ปักษ์เป็นเวลา 1 เดือนในปลายฤดูร้อน นี้เป็นเขตกาลแสวงหา
ข. ตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำเดือน 8 ถึงวันเพ็ญ เป็นเวลากึ่งเดือนท้ายฤดูร้อน เป็นเขตกาลทำนุ่งห่ม
ค. ตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 8 ไปจนสิ้นฤดูฝน คือ เพ็ญเดือน 12 รวมเวลา 4 เดือน นี้เป็นเขตกาลอธิษฐานใช้สอย ถ้ายังไม่ถึงเขตกาลที่ทรงอนุญาตไว้นี้ ภิกษุแสวงหาได้มา หรือทำนุ่งห่ม หรืออธิษฐานใช้สอยท่านปรับอาบัติโดยความมุ่งหมายและเหตุผลดังกล่าวนี้ เมื่อถึงกาลที่ภิกษุจะต้องแสวงหาผ้าอาบน้ำฝน คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 7 เป็นต้นไปจนถึงวันเพ็ญเดือน 8 ทายกจึงมักถือโอกาสบำเพ็ญกุศลโดยจัดหาผ้าอาบน้ำฝนเข้ากันหลาย ๆ คน จนครบจำนวนภิกษุสามเณรในวัดนั้น ๆแล้วนำไปถวายในที่ประชุมสงฆ์ กำหนดถวายระหว่างข้างขึ้นเดือน 8 ตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำไป แต่ในปัจจุบันโดยมากกำหนดวันถวายเป็นหมู่ ณ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 คือ ก่อนวันเข้าพรรษา 1 วัน เพื่อพระสงฆ์รับแล้วใช้ได้ทันที่ไม่ต้องรอเพราะอยู่ในเขตกาลทำและใช้ จะกำหนดวันใดแล้วแต่ฝ่ายทายกนัดหมายและตกลงกับทางวัด ในการถวายมีระเบียบปฏิบัติ ดังนี้

1. ในวันกำหนดถวายผ้าสัสสิกสาฎก ภิกษุสามเณร และอุบาสกอุบาสิกาควรประชุมพร้อมกันในโรงอุโบสถ หรือในศาลาการเปรียญแห่งใดแห่งหนึ่งแล้วแต่เหมาะสม ก่อนถวายเจ้าอาวาสหรือภิกษุผู้สามารถรูปหนึ่งพึงแสดงธรรมอนุโมทนาวัสสิกสาฎกทานของทายก 1 กัณฑ์ ถ้าวันถวายกำหนดในวันธรรมสวนะประจำ เทศน์กัณฑ์วันธรรมวสนะนี้ควรต่อท้ายอนุโมทนาวัสสิกสาฎกทานด้วยเลย

2. เมื่อแสดงธรรมจบแล้ว หัวหน้าทายกนำกราบพระและว่า นโม พร้อมกัน 3 จบก่อน ต่อนั้นนำถวายผ้าวัสสิกสาฎก ซึ่งตั้งไว้ ณเบื้องหน้าต่อหน้าพระสงฆ์ให้ว่านำเป็นคำๆ ทั้งคำบาลีและคำแปล

คำบาลี อิมานิ มยํ ภนฺเต, วสฺสิกสาฎกานี, สปริวารานิ, ภิกฺขุสงฺฆสฺส, โอโณชยาม, สาธุ โน ภนฺเต,
ภิกฺขุสงฺโฆ, อิมานิ, วสฺสิกสาฎกานิ, สปริวารานิ, ปฏิคฺคณฺหาตุ, อมฺหากํ, ทีฆรตฺตํ หิตาย, สุขาย.

คำแปล ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ผ้าอาบน้ำฝน กับทั้งบริวารเหล่านี้แด่พระพระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ผ้าอาบน้ำฝน กับทั้งบริวารเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ
ถ้าไม่มีเครื่องบริวารถวายพ่วงด้วย ก็ตัดคำบาลีว่า “สปริวารานิ” และ คำแปลว่า”กับทั้งบริวาร” ออกเสียทุกแห่ง


3. ในระหว่างทายกกล่าวคำถวายพระสงฆ์ทั้งหมดควรประนมมือพอจบคำถวายแล้ว พระสงฆ์รับ “สาธุ” พร้อมกัน แล้วเจ้าอาวาสหรือภิกษุจีวรภาชนะ (เจ้าอธิการแจกจีวร) ของวัดนั้นออกรับผ้าแทนสงฆ์ หรือจะทำสลากติดผ้าและไทยธรรมที่มีประกอบสำรับหนึ่งให้พระสงฆ์จับอีกสำรับหนึ่ง โดยลงเลขตรงกัน รูปใดจับได้เลขอะไร เป็นของใคร ก็ให้เจ้าของไทยธรรมเลขนั้นนำมาประเคนรูปนั้นเป็นรายตัว ดังนี้ก็ได้

4. ประเคนเสร็จแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนา

5. ระหว่างพระว่า ยถา ทายกทั้งหมดพึงกรวดน้ำ แล้วประนมมือรับพรไปจนจบเป็นอันเสร็จพิธี

การกรวดน้ำ

        การกรวดน้ำ หมายถึง การตั้งใจแผ่ส่วนบุญหรือส่วนกุศลที่ได้ทำไปให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปหรือผู้ใดผู้หนึ่ง โดยการรินน้ำใส่ภาชนะเพื่อเป็นเครื่องบ่งถึงเจตนาอุทิศนั้นกิริยาหลั่งน้ำใส่ภาชนะนิยมทำในหลายกรณี คือ

1. ให้วัตถุสิ่งของที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้
2. ให้สิ่งของที่ใหญ่โตซึ่งไม่สามารถหยิบยกให้ได้
3. ใช้ประกาศการตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว เช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราชประกาศอิสรภาพ
4. ใช้อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่ง

การกรวดน้ำที่นิยมโดยทั่วไปมี 2 วิธีคือ

1. การกรวดน้ำโดยใช้น้ำหลั่งลงในภาชนะที่รองรับ หากที่หลั่งมีปากเล็ก เวลากรวดน้ำให้ค่อย ๆ รินใส่ที่รองโดยมิให้ขาดสาย เมื่อกรวดเสร็จให้นำไปเทไว้ที่โคนไม้หรือที่กลางแจ้ง ห้ามเทใส่ถังขยะหรือสถานที่สกปรก

2. การกรวดน้ำโดยไม่ต้องใช้น้ำ ใช้ในกรณีที่ไม่ได้จัดเตรียมน้ำสำหรับกรวดหรือหาน้ำกรวดไม่ได้ ผู้กรวดพึงตั้งใจอุทิศส่วนกุศลที่ตนได้ทำให้แก่ผู้ที่ต้องการอุทิศไปให้

การกรวดน้ำ สามารถทำได้ทุกเมื่อหลังการบำเพ็ญบุญกุศล ทั้งงานมงคลและงานอวมงคล ส่วนขั้นตอนการกรวดน้ำเริ่มจากที่พระสงฆ์กล่าวอนุโมทนาว่า ยถา วาริวหา…ให้เริ่มเทน้ำกรวดพร้อมกับตั้งในอุทิศส่วนบุญกุศลไปให้แก่ผู้ที่ต้องการให้รับ โดยอาจระบุชื่อ นามสกุล ด้วยก็ได้ หรืออาจจะอุทิศโดยไม่เจาะจงผู้ใดผู้หนึ่งก็ได้เมื่อพระสงฆ์สวดบทว่า สพพีติโย…ให้เทน้ำที่เหลือลงในภาชนะรองรับให้หมดแล้วตั้งใจรับพรที่พระสงฆ์สวดให้จนกว่าจะจบ แล้ว
นำน้ำไปเทในที่ดังกล่าวแล้ว และในขณะกรวดน้ำและรับพรไม่ควรลุกขึ้นไปทำกิจอย่างอื่น หรือทำกิจอื่นใดควรตั้งใจฟังสวดจนจบ

การทอดกฐิน

การทอดกฐิน               กฐิน แปลว่า กรอบไม้หรือสะดึงสำหรับขึงผ้าเย็บจีวรของภิกษุ การทอดกฐิน คือ การนำผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์อย่างต่ำ 5 รูป แล้วให้พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งที่ได้รับมอบหมายจากคณะสงฆ์ทั้งหมดเป็นเอกฉันท์ให้เป็นผู้รับกฐินนั้น การทอดกฐิน นิยมทำกันตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงกลางเดือน 12 ในวัดหนึ่ง ๆ จะทอดกฐินได้เพียง 1 ครั้ง ใน 1 ปี และพุทธศาสนิกชนนิยมทอดกฐินเพราะถือว่าจะได้รับอานิสงส์มากกว่าทานพวกอื่น ๆ ที่สามารถทำได้ทุกเวลาประเพณีทอดกฐินมีมาตั้งแต่พุทธกาล มีเรื่องเล่าว่า ในครั้งพุทธกาลภิกษุชาวปาไถยรัฐ
(ปาวา) ผู้ถือธุดงค์จำนวน 30 รูป เดินทางไกลไปไม่ทันวันเข้าพรรษาโดยเหลือทางอีก 6 โยชน์จะถึงพระนครสาวัตถี จึงตกลงพักจำพรรษาที่เมืองสาเกตตลอดไตรมาส (สามเดือน)ครั้นออกพรรษาแล้วจึงพากันเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ เชตวันมหาวิหาร และในระยะทางที่เดินทางไปนั้น ฝนกำลังตกซุกอยู่ ภิกษุเหล่านี้มีจีวรเก่า เปื้อนโคลนและเปียกชุ่มด้วยน้ำฝน ได้รับความลำบากตรากตรำมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงถือเป็นมูลเหตุ ทรงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุที่จำพรรษาครบ 3 เดือนกรานกฐินได้อานิสงส์กฐิน ภิกษุผู้ได้รับกรานกฐินย่อมได้รับอานิสงส์ 5 ประการ คือ

(1) เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา
(2) ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบ
(3) ฉันคณะโภชน์และปรัมปรโภชน์ได้
(4) ทรงอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา
(5) จีวรอันเกิดขึ้น ณ ที่นั้นจะได้แก่พวกเธอ และได้ขยายเขตอานิสงส์ 5 อีก 4 เดือนนับแต่กรานกฐินแล้ว

ชนิดของกฐิน กฐินแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามระยะเวลาในการจัดเตรียม คือ1. จุลกฐิน คือ กฐินเร่งด่วน อาศัยความเคร่งครัดรีบด่วน การทำจีวรพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทจะละเลยมิได้ ถือเป็นสำคัญทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำให้เสร็จภายในกำหนดวันหนึ่ง ทำฝ้ายปั่น กรอ ทอ ตัดเย็บ ย้อม ทำให้เป็นขันธ์ได้ขนาดตามพระวินัยแล้วทอดถวายให้เสร็จในวันนั้น2. มหากฐิน คือ กฐินที่มีการเตรียมตัวมากเป็นเวลานาน พร้อมทั้งมีการตระเตรียมอื่น ๆ อีกมาก อาศัยปัจจัยไทยธรรมบริวารเครื่องกฐินจำนวนมากไม่รีบด่วนเพื่อจะให้ส่วนหนึ่งเป็นทุนบำรุงวัดเพื่อพัฒนาความเจริญของวัด มีการซ่อมแซมบูรณะของเก่าบ้าง ดังเช่นกฐินสามัคคีในปัจจุบันนี้ นอกจากนี้ ในประเทศไย นิยมเรียกชื่อกฐินตามประเภทวัดที่จะไปทอด คือ 1. กฐินหลวง หมายถึง กฐินที่พระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ที่โปรดเกล้า ฯ นำไปทอดถวายที่พระอารามหลวง
    2. กฐินพระราชทาน หมายถึง กฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้หน่วยราชการ เอกชน องค์กร หรือบุคคลต่าง ๆ
นำไปทอดที่พระอารามหลวง โดยผู้ที่มีความประสงค์จะทอดกฐินที่พระอารามหลวง จะต้องติดต่อที่สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ
3. กฐินสามัคคี หมายถึง กฐินที่หน่วยงาน องค์กร กลุ่มบุคคลหรือบุคคลต่าง ๆ นำไปทอดถวายที่วัดราษฏร์การเตรียมการ
    1. จองกฐิน หมายถึง การแจ้งความประสงค์ทีจะนำผ้ากฐินไปทอดยังวัดที่ต้องการ สำหรับพระอารามหลวงให้แจ้งที่สำนักงาน
พระพุทธศาสนาแห่งชาติ
     2. บอกบุญแก่ญาติพี่น้องเพื่อร่วมทำพิธีในวันเวลาตามที่กำหนด
     3. ตระเตรียมเครื่องกฐินและบริวาร ได้แก่ ผ้าไตรจีวร 3 ไตร สำหรับถวายพระผู้ครองกฐินและคู่สวด แต่ผ้าที่จะเป็นผ้ากฐินจริง ๆ จะใช้เพียง 1 ผืนเท่านั้น ส่วนบริวารกฐิน ได้แก่ จตุปัจจัย ไทยทาน เครื่องใช้ของพระภิกษุ เครื่องนวกรรม เช่น จอบ มีด ขวาน เป็นต้น การถวายกฐินกฐินพระราชทาน ในการถวายกฐินนั้นนิยมถวายในโบสถ์ โดยเฉพาะกฐินพระราชทานจะถวายกันในโบสถ์ และก่อนจะถึงกำหนดเวลา จะนำเครื่องบริวารกฐินไปจัดตั้งไว้ในโบสถ์ก่อน ส่วนผ้าพระกฐินจะยังไม่เข้าไปพอถึงกำหนดเวลาพระสงฆ์แห่งวัดนั้นจะรับกฐิน จะลงโบสถ์พร้อมกันนั่งเป็นระเบียบบนอาสนะที่ซึ่งจัดไว้ เจ้าภาพเจ้าของกฐิน หรือผู้รับพระราชทานผ้าพระกฐินไปทอดพร้อมด้วยผู้ร่วมในงานจะพากันไปยังโบสถ์ เมื่อถึงหน้าโบสถ์เจ้าหน้าที่จะนำผ้ากฐินไปรอส่งให้ประธานผู้ทอดกฐินซึ่งเจ้าภาพหรือผู้รับพระราชทานผ้าพระกฐินนั้นประธานรับผ้าพระกฐินวางบนมือถือประคองนำคณะเดินเข้าสู่โบสถ์แล้วนำผ้าพระกฐินไปวางไว้บนพานทีจัดไว้หน้าพระสงฆ์และหน้าพระประธานในโบสถ์ คณะที่ตามมาเข้านั่งที่ ประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วทราบพระพุทธรูปประธานในโบสถ์ แบบเบญจางคประดิษฐ์ 3 ครั้งแล้วลุกมายกผ้าพระกฐินในพานขึ้น ดึงผ้าห่มพระประธานมอบเจ้าหน้าที่รับไปห่มพระประธานทีหลัง แล้วประนมมือวางผ้าพระกฐินบนมือทั้งสองหันหน้าตรงพระสงฆ์แล้วกล่าวคำถวายผ้าพระกฐินจบแล้ว พระสงฆ์รับสาธุการ ประธานวางผ้าพระกฐินลงบนพานเช่นเดิม แล้วกลับเข้านั่งที่ ถัดจากนี้ไปเป็นพิธีกรานกฐินของพระสงฆ์ กฐินสามัคคี กฐินของประชาชนหรือกฐินสามัคคี ในวัดบางวัดนิยมถวายกันที่ศาลาการเปรียญหรือวิหารสำหรับทำบุญ เจ้าหน้าที่จึงนำผ้ากฐินที่ถวายแล้วไปถวายพระสงฆ์พิธีกรานกฐินในโบสถ์เฉพาะพระสงฆ์อีกทีหนึ่ง
การทำพิธีกฐินัตถารกิจของพระสงฆ์ เริ่มจากการกล่าวคำขอความคิดเห็นที่เรียกกันว่า อปโลกน์และการสวดญัตติทุติยกรรม คือ การยินยอมยกให้ ต่อจากนั้นพระสงฆ์รูปที่ได้รับความยินยอมนำผ้าไตรไปครองเสร็จแล้วขึ้นนั่งยังอาสนะที่เดิม ประชาชนผู้ถวายผ้ากฐินทายกทายิกาและผู้ร่วมบำเพ็ญกุศล ณ ที่นั้นเข้าประเคนสิ่งของอันเป็นบริวารขององค์กฐินตามลำดับจนเสร็จแล้ว พระสงฆ์ทั้งหมดจับพัด ประธานสงฆ์เริ่มสวดนำด้วยคาถาอนุโมทนา ประธานหรือเจ้าภาพผู้ถวายกฐินกรวดน้ำ จนจบบทยถาแล้ว คฤหัสถ์ทั้งหมดนั่งประนมมือรับพรพระจนจบเป็นเสร็จพิธี

การทอดผ้าป่า

        ครั้งพุทธกาลเรียกว่า ผ้าบังสุกุลจีวร คือผ้าเปื้อนฝุ่นที่ไม่มีเจ้าของหวงแหนทิ้งอยู่ตามป่าดงบ้าง ตามป่าดงบ้าง ตามป่าช้าบ้าง ตามถนนหนทางและห้อยอยู่ตามกิ่งไม้บ้าง ที่สุดจนกระทั่งที่เขาอุทิศวางไว้แทบเท้า ประเพณีการทอดผ้าป่ามีมาแต่ครั้งพุทธกาล คือ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสรู้ใหม่ ๆ ยังไม่ได้ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับคฤหบดีจีวร คือจีวรที่ชาวบ้านถวายโดยเฉพาะ ทรงอนุญาตแต่เพียงให้ภิกษุแสวงหาผ้าสุกุล คือผ้าเปื้อนฝุ่นที่ไม่มีเจ้าของเขาทิ้งแล้ว หรือผ้าที่เขาห่อซากศพทิ้งไว้ตามป่าช้า และเศษผ้าที่ทิ้งอยู่ตามถนนหนทาง นำมาซักฟอกตัดเย็บเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งที่ต้องการ แล้วใช้นุ่งห่ม ชนผู้นับถือพระพุทธศาสนาส่วนมากในสมัยนั้นเห็นความลำบากของภิกษุในเรื่องนี้ มีความประสงค์จะบำเพ็ญกุศลไปไม่ขัดต่อพุทธบัญญัติในขณะนั้นจึงได้จัดผ้าที่สมควรแก่สมณบริโภคไปทอดทิ้งไว้ตามที่ต่าง ๆ โดยมากเป็นป่าช้าที่รู้ว่าภิกษุผู้แสวงหาเดินไป เห็นจะเป็นด้วยเหตุนี้จึงเรียกว่า ผ้าป่า ในภาษาไทยเรา

         แต่ครั้งนั้น การทอดผ้าป่าไม่ได้นิยมกาล แล้วแต่ใครศรัทธาจะทำเมื่อไร ก็ทอดเมื่อนั้น เมื่อทรงบัญญัติจีวรกาล คือ การแสวงหาและทำจีวรขึ้นจำกัด 1 เดือน นับแต่ออกพรรษาแล้วและถ้าได้กรานกฐินด้วยขยายออกไปอีก 4 เดือน จนถึงวันเพ็ญเดือน 4 การทอดผ้าป่าจึงนิยมทำกันในระยะนี้ ส่วนมากในฤดูออกพรรษาใหม่ ๆการทอดผ้าป่าที่ทำกันในประเทศไทย มีทำกันหลายอย่าง ได้แก่

          ผ้าป่าหางกฐิน หรือผ้าป่าแถมกฐิน หมายถึง ผ้าป่าที่นำไปถวายวัดพร้อมกับการทอดกฐิน โดยจะถวายหลังจากการทอดกฐินแล้ว
          ผ้าป่าโยง หมายถึง ผ้าป่าที่นำไปทอดตามวัดต่าง ๆ มากกว่า 1 วัดขึ้นไปในคราวเดียวกัน โดยจะนำพุ่มผ้าป่าไปหลาย ๆ พุ่มเมื่อถึงวัดใดก็ถวายวัดนั้น วัดละ 1 กองบ้าง 2 กองบ้าง เรื่อยไปจนกว่าจะหมด

          พิธีทอดผ้าป่านี้จะเป็นแบบไหนก็ตาม ข้อสำคัญมีอยู่ว่าให้อุทิศเป็นผ้าป่าจริง ๆ อย่าถวายแก่ใครโดยเฉพาะ ถ้าทอดลับหลังพระสงฆ์ผู้รับเพียงแต่ตั้งใจขณะทอดว่า ขออุทิศผ้าและเครื่องบริวารเหล่านี้แก่ภิกษุผู้ต้องการผ้าบังสุกุลมาถึงเฉพาะหน้า เท่านี้ ก็ได้ชื่อว่าทอดและถวายผ้าป่าแล้ว แต่ถ้าเป็นการทอดหมู่ต่อหน้าพระสงฆ์ผู้รับ หัวหน้าทายกพึงนำว่าคำอุทิศถวายเป็นคำ ๆ ทั้งคำบาลี และคำแปล สำหรับ
ขั้นตอนปฏิบัติดังนี้

1. เมื่อพระสงฆ์ในวัดและเจ้าภาพพร้อมกัน ณ บริเวณพิธีแล้ว เจ้าภาพจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย กราบ 3 ครั้ง
2. กราบพระสงฆ์ 3 ครั้ง อาราธนาศีล เสร็จแล้วกล่าวคำถวายผ้าป่า ดังนี้

คำถวายผ้าป่าคำบาลอิมานิ มะยัง ภันเต, ปังสุกูลจีวะรานิ, สะปะริวารานิ, ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ, สาธุ โน
ภันเต, ภิกขุสังโฆ, อิมานิ, ปังสุกูลจีวรานิ, สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ.


คำแปล ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ผ้าบังสุกุลจีวร กับทั้งบริวารเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ของพระภิกษุสงฆ์ จงรับ ผ้าบังสุกุลจีวร กับทั้งบริวารเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญฯ

3. พระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุล เรียกว่า ชักผ้าป่าหรือชักผ้าบังสุกุล

4. ถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแก่พระสงฆ์ (ถ้ามี)

5. พระสงฆ์อนุโมทนา ผู้อยู่ในพิธีกรวดน้ำ รับพร เป็นเสร็จพิธี