กฎหมาย คุ้มครองผู้ ค้ำประกัน

กฎหมาย คุ้มครองผู้ ค้ำประกัน

ผู้เขียนโดย วิโรจน์ พูนสุวรรณ คอลัมน์กฎหมายธุรกิจ

ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดโดยสิ้นเชิง

มีคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อปีก่อน ออกมาวางบรรทัดฐานว่า การที่บริษัทผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ กำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นบุคคลธรรมดาลงนามในสัญญายินยอมเป็นลูกหนี้ร่วม กับผู้เช่าซื้อสัญญาดังกล่าวถือเป็นโมฆะทั้งฉบับ ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิด ต่อบริษัทผู้ให้เช่าซื้อแต่อย่างใดทั้งสิ้นเพราะสัญญามีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนเนื่องจากฝ่าฝืนกฎหมายค้ำประกันใหม่ที่ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ค้ำประกันเข้าร่วมรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้หลัก

บริษัทเลี่ยงไปทำสัญญาใหม่

ศาลฎีกาคำนึงถึงสถานะของบริษัทผู้ให้เช่าซื้อซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อ ย่อมทราบดีว่ามีการแก้ไขกฎหมายค้ำประกัน โดยห้ามมิให้ทำสัญญาที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เพื่อคุ้มครองผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นผู้บริโภค ไม่ให้ถูกผู้ประกอบธุรกิจเอาเปรียบ แต่แทนที่จะจัดทำสัญญาค้ำประกันให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย บริษัทผู้ให้เช่าซื้อกลับหาช่องทางหลีกเลี่ยงกฎหมาย โดยอาศัยอำนาจต่อรองที่เหนือกว่า และมีความสันทัดจัดเจนในข้อกฎหมายมากกว่า จัดให้ผู้ค้ำประกัน ทำสัญญายินยอมเป็นลูกหนี้ร่วม แทนการทำสัญญาค้ำประกัน

สัญญาใหม่หนีไม่พ้นสัญญาค้ำประกัน

แม้บริษัทผู้ให้เช่าซื้อจะเลี่ยงไปทำสัญญาใหม่ที่ไม่ใช่สัญญาค้ำประกันแล้ว ศาลฎีกาก็ตีความว่าสัญญาใหม่เป็นสัญญาค้ำประกันอยู่ดี เพราะผู้ค้ำประกันไม่ได้ประโยชน์ใด ๆ จากสัญญาการลงนามของผู้ค้ำประกันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของบริษัทผู้ให้เช่าซื้อ และตัวผู้เช่าซื้อโดยแท้เป็นการเข้าผูกพันเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้จึงเป็นสัญญาค้ำประกันสัญญายินยอมเป็นลูกหนี้ร่วมมีข้อความว่าผู้ค้ำประกันตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตกลงล่วงหน้ายินยอมให้มีการผ่อนเวลาชำระหนี้แก่ผู้เช่าซื้อ ตกลงยินยอมรับผิดเต็มจำนวน แม้บริษัทผู้ให้เช่าซื้อปลดหนี้หรือลดหนี้ให้แก่ผู้เช่าซื้อแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะเจาะจงในกฎหมายค้ำประกันทั้งสิ้นแต่บริษัทผู้ให้เช่าซื้อกลับทำสัญญาโดยกำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดและรับภาระมากกว่าที่กฎหมายบัญญัติ

ประเพณีการประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์

ในการตีความว่า สัญญายินยอมเป็นลูกหนี้ร่วม เป็นสัญญาค้ำประกันนั้น คำพิพากษาฎีกาฉบับดังกล่าวยังระบุถึงประเพณีการประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์ ว่าธรรมดาต้องมีสัญญาค้ำประกันประกอบกันไปกับสัญญาเช่าซื้อเพื่อให้มั่นใจว่าเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน การที่บริษัทผู้ให้เช่าซื้อ หลีกเลี่ยงมาทำสัญญายินยอมเป็นลูกหนี้ร่วมแทนโดยฝ่าฝืนกฎหมายค้ำประกัน จึงถือได้ว่าบริษัทผู้ให้เช่าซื้อประกอบธุรกิจโดยไม่คำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคอีกโสตหนึ่งด้วย

สัญญาไม่มีส่วนใดสมบูรณ์ที่จะแยกออกจากโมฆะได้

ศาลฏีกา ยังวิเคราะห์ไปถึงข้อสัญญาอื่น ๆ ของสัญญายินยอมเป็นลูกหนี้ร่วม แล้ววินิจฉัยว่า ไม่มีข้อสัญญาใด ๆ ที่มีความสมบูรณ์ตามกฎหมาย พอที่จะยังคงอยู่ให้บังคับตามสัญญาแยกออกจากความเป็นโมฆะของสัญญาได้ จึงลงความเห็นว่าสัญญาเป็นโมฆะทั้งฉบับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่บัญญัติว่าการใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้ง โดยกฎหมาย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ บริษัทผู้ให้เช่าซื้อซึ่งเป็นโจทก์ย่อมไม่มีความชอบธรรม ที่จะอ้างสิทธิใด ๆ จากสัญญายินยอมเป็นลูกหนี้ร่วม บริษัทผู้ให้เช่าซื้อจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ผู้ค้ำประกัน ให้รับผิดตามสัญญาผู้ค้ำประกัน จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับผู้เช่าซื้อ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8425/2563)

วิโรจน์ พูนสุวรรณ เป็นที่ปรึกษากฎหมาย ติดต่อได้ที่

กฎหมาย คุ้มครองผู้ ค้ำประกัน

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่

กฎหมาย คุ้มครองผู้ ค้ำประกัน