มีหางมีปากมีตากินปลาเป็นอาหาร

๑.ความหมายของปริศนาคำทาย

                ปริศนาคำทาย หมายถึง ปัญหาหรือคำถามซึ่งผู้ถามอาจจะถามตรง ๆ หรือถามทางอ้อมก็ตาม คำถามอาจจะใช้ถ้อยคำธรรมดาเป็นภาษาร้อยแก้ว หรือจะมีสัมผัสแบบภาษาร้อยกรองก็ได้ ภาษาที่ใช้นั้นเป็นภาษาสั้น ๆ ง่าย ๆ กระชับความ แต่ยากแก่การตีความในตัวปริศนาอยู่บ้าง ส่วนคำตอบ  มักจะเป็นสิ่งที่พบเห็นในชีวิตประจำวันในสมัยนั้น ๆ และในบางคำถามมักจะมีเค้าหรือแนวทางสำหรับคำตอบ ซึ่งผู้ตอบจะต้องใช้ความสังเกต ความคิดและไหวพริบในการคิดหาคำตอบ

๒. ที่มาของปริศนาคำทาย

        ปริศนาคำทาย ถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นประเภทหนึ่ง เกิดจากความต้องการลองภูมิปัญญากัน จึงมีการทายปริศนา ในสมัยก่อนนิยมเล่นกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มักจะเล่นกันในยามว่างจากการทำงาน  ปริศนาคำทายจะมีลักษณะแตกต่างกันเล็กน้อยตามท้องถิ่น เช่นคำขึ้นต้นคำถาม

            ภาคกลาง  -  อะไรเอ่ย

            ภาคเหนือ  -อิหยังเอ๊าะ

            ภาคใต้       -ไอไหร๊

            ภาคอีสาน  - อิหยัง

๓. ลักษณะของปริศนาคำทาย

๓.๑  นิยมใช้คำคล้องจองกันโดยไม่กำหนดจำนวนคำในแต่ละวรรค เป็นข้อความสั้น ๆ กะทัดรัดหรืออาจผูกเป็นปริศนากลอน ซึ่งบ่งบอกถึงความเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนทำให้จำได้ง่าย

๓.๒ เนื้อหานั้นมักจะนำมาจากสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวเรา เช่น ของใช้ คน สัตว์ ผัก พืช เวลา สถานที่ เครื่องใช้ ปรากฏการณ์ธรรมชาติ เชาว์ปัญญา ฯลฯ ซึ่งผู้ผูกปริศนาจะต้องเป็นคนช่างสังเกต แล้วนำเอาสิ่งที่สังเกตเห็นมาผูกปริศนาให้ผู้อื่นใช้ปัญญาเพื่อแก้หรือทาย

๓.๓  จำนวนข้อความคำถามจะมีความสั้นยาวไม่เท่ากัน คือ อาจจะมีเพียงตอนเดียว สองตอน สามตอน หรือมากกว่านี้ แต่ข้อความทุกตอนจะเป็นการบอกคำตอบอยู่ในตัวเป็นนัยๆ ซึ่งเมื่อนำคำตอบมารวมกันจะเป็นลักษณะของสิ่งที่ทายนั่นเอง

๓.๔  ไม่นิยมถามตรง ๆ แต่จะใช้สิ่งเปรียบเทียบ

๓.๕  มีการท้าทายให้ผู้ไขปริศนาพยายามคิด

๔. วิธีการเล่นปริศนาคำทาย

           บรรดาสมาชิกในครอบครัวหรืออาจจะมีเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงมาร่วมด้วยก็ได้ จะนั่งล้อมวงกันหรือนั่งตามสบาย ผู้ทายจะผลัดกันทายแล้วแต่ใครจะคิดปัญหาได้ ถ้ามีผู้ตอบถูกผู้ตอบมีสิทธิลงโทษผู้ทายตามแต่จะตกลงกัน และเช่นเดียวกันหากผู้ตอบตอบผิด ผู้ทายก็มีสิทธิลงโทษผู้ตอบ เมื่อปฏิบัติตามกฎ ก็เริ่มต้นทายปริศนาใหม่ต่อไป

๕.ประโยชน์ของการเล่นปริศนาคำทาย
            ๑.การเล่นปริศนาคำทายนั้นมีประโยชน์หลายประการ ดังนี้

การเล่นปริศนาคำทายช่วยในการฝึกไหวพริบ เชาวน์ปัญญา ผู้ที่เล่นปริศนาคำทายจะได้ฝึกคิดแก้ปมปริศนา ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ปริศนาคำทายเกิดจากกรอบวิธีคิดที่สร้างสรรค์ แหวกขนบ การจะคลี่คลายปมปริศนาได้ต้องคิดอย่างรอบด้านและคิดแบบนอกกรอบ ผู้ที่จะเข้าใจและหาทางไขปริศนาได้นั้น ต้องมองโจทย์อย่างถี่ถ้วน และคิดอย่างรอบคอบ

            ๒.การเล่นปริศนาคำทายให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่ผู้เล่น ผู้ร่วมทายปริศนาจะได้เห็นการใช้กลวิธีต่างๆ ในการลวงให้หลงคิดไปในทางที่ไม่ถูกต้อง การค้นพบดังกล่าว ทำให้เกิดความขบขัน ทั้งนี้เพราะผู้ทายได้เรียนรู้ว่า ตนถูกลวงให้คิดไปในแนวทางที่เบี่ยงเบนออกไป และได้เห็นความไม่เข้ากัน ระหว่างแนวทางที่ปริศนาลวงให้หลงเข้าใจผิด กับแนวทางที่ใช้สำหรับไขปริศนา

            ๓. การเล่นปริศนาคำทายมีส่วนในการให้ความรู้ เพราะเนื้อหาของปริศนาคำทายบางส่วน โดยเฉพาะเนื้อหาของปริศนาผะหมีนั้น นอกจากจะเน้นความสนุกสนานแล้ว ยังมีส่วนในการถ่ายทอดความรู้บางอย่างให้แก่ผู้เล่นทายด้วย ดังเช่นตัวอย่างปริศนานี้ในการเล่นทายปริศนานี้ นอกจากมีความสนุกสนานแล้ว ผู้ทายยังได้รับความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ด้วย กล่าวคือ ได้เรียนรู้คำศัพท์ว่า "ตานกเอี้ยง" และ "ตานกแก้ว" ที่หมายถึง ปุ่มกระดูกบริเวณเหนือข้อมือ ซึ่งคำศัพท์ดังกล่าว อาจไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ในกลุ่มเยาวชน
            ๔. การเล่นปริศนาคำทายมีส่วนช่วยอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปะการประพันธ์ของไทย สำหรับปริศนาร้อยกรอง สร้างโดยใช้คำประพันธ์ไทยประเภทต่างๆ เมื่อเยาวชนร่วมกิจกรรมเล่นทายปริศนาร้อยกรอง ก็จะได้เห็นการประยุกต์ใช้คำประพันธ์ไทยในลักษณะที่สร้างสรรค์

 ช่วยให้เยาวชนเห็นคุณค่า และเกิดความคุ้นเคยกับคำประพันธ์ไทยรูปแบบต่างๆ จึงกล่าวได้ว่ากิจกรรมการทายปริศนาร้อยกรอง มีส่วนช่วยจรรโลงศิลปวัฒนธรรมด้านการประพันธ์ของไทย

๖.การจัดหมวดหมู่ปริศนาคำทาย
            ปริศนาคำทายสามารถจัดหมวดหมู่ด้วยเกณฑ์ต่างๆ อาทิ การแบ่งโดยใช้พื้นที่ทางภูมิศาสตร์เป็นเกณฑ์ เช่น แบ่งปริศนาของไทยออกเป็น ปริศนาคำทายภาคกลาง ปริศนาคำทายภาคเหนือ ปริศนาคำทายภาคอีสาน และปริศนาคำทายภาคใต้ นอกจากนี้ ยังมีเกณฑ์ที่นิยมใช้ในการจัดหมวดหมู่ปริศนาคำทายอีก ๒ อย่าง คือ เนื้อหา และรูปแบบ
            การจัดหมวดหมู่ตามเนื้อหา
            เนื้อหาของปริศนาคำทายสามารถใช้เป็นเกณฑ์ในการจัดประเภทปริศนาคำทายได้ เนื้อหาของปริศนาคำทายก็คือ สิ่งที่ปริศนากล่าวถึง ดังที่ปรากฏอยู่ในคำเฉลย เนื้อหาปริศนาคำทายของไทยมีหลากหลาย อาทิ เนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น พืช สัตว์ และปรากฏการณ์ธรรมชาติ เนื้อหาเกี่ยวกับมนุษย์ เช่น ร่างกายมนุษย์ เครื่องมือเครื่องใช้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ปริศนาคำทายภาคกลาง

อะไรเอ่ย สามขาเดินมาหลังคามุงสำลี

คนแก่ถือไม้เท้า

ใครเอ่ยแต่เด็กกล้า รบแรง พ่อออกนามว่าแขง เศิกไซร้ เป็นขุนจึ่งจัดแจงจาฤกประวัติของตนไว้ คู่ด้าวแดนตน

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

อะไรเอ๋ย ปากปากเดียวมีตารอบตัว

สัปปะรด

เมื่อเด็กนุ่งผ้า เมื่อชราเปลือยกาย

ไม้ไผ่

อะไรเอ่ยเรือนสองเสา หญ้าคาสองตับ นอนไม่หลับลุกขึ้นร้องเพลง

ไก่

อะไรเอ่ยวิ่งโทง ๆ มีธงข้างหลัง

สุนัข

อะไรเอ๋ย มีปากไม่มีฟัน กินข้าวทุกวันได้มากกว่าคน

หม้อข้าว

อะไรเอ่ย มีหาง มีปาก มีตา กินปลาเป็นอาหาร

แห

มาจากอังกฤษ ไม่มีชีวิต แต่พูดได้

วิทยุ

ต้นอะไรมี2 ก

กก

ปิดข้างหน้าเห็นนม ปิดข้างหลังเห็นขน

ขนม

นกกระยางก้าวขามีกี่ตัว

1ตัว

อะไรอยู่หน้าโรงเรียน

สระโอ

หมายเหตุ

เว็ปไซ์นี้จัดทำขึ้นเพื่อประกอบการศึกษาเท่านั้น 

อ้างอิง

http://saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=34&chap=3&page=t34-3-infodetail01.html

http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=34&chap=3&page=t34-3-infodetail08.html

https://docs.google.com/document/d/1cCe-_3CtBnDSVMHoXqp2fjdVTWZVfifaVR6zqstBK9c/edit

http://www.thaifolk.com/doc/riddle.htm

http://www.st.ac.th/bhatips/riddle.htm