ประชากรในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หรือลดลง และส่งผลอย่างไร

อัตราเจริญพันธุ์ลดลงทั่วโลก นักวิจัยคาด 23 ประเทศรวมไทย ประชากรจะหายไปครึ่งหนึ่งในปี 2100

  • เจมส์ กัลลาเฮอร์
  • ผู้สื่อข่าวสุขภาพและวิทยาศาสตร์ บีบีซี นิวส์

15 กรกฎาคม 2020

ประชากรในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หรือลดลง และส่งผลอย่างไร

ที่มาของภาพ, Getty Images

นักวิจัยด้านประชากรเตือนให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรับมือกับอัตราเจริญพันธุ์ที่ลดต่ำลงจนน่าตกใจ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ทุกประเทศทั่วโลกมีประชากรลดลงเมื่อสิ้นศตวรรษที่ 21 โดยมีอย่างน้อย 23 ประเทศที่ประชากรจะลดลงถึงครึ่ง ซึ่งมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย

สิ่งที่จะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับประชากรลดลง ก็คือจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ

อัตราการเจริญพันธุ์หรือค่าเฉลี่ยการมีบุตรของผู้หญิงหนึ่งคนกำลังลดลง เมื่ออัตราการเจริญพันธุ์ของประเทศตกลงต่ำกว่าประมาณ 2.1 จำนวนประชากรจะเริ่มหดตัวลง

ในปี 1950 ในช่วงชีวิตหนึ่งของผู้หญิงมีลูกเฉลี่ย 4.7 คน สถาบันเมตริกส์สุขภาพและการประเมินผล มหาวิทยาลัยวอชิงตัน รายงานว่า อัตราเจริญพันธุ์ทั่วโลกลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 2.4 คนเมื่อปี 2017 รายงานชิ้นล่าสุดที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 14 ก.ค. คาดว่าอัตราเจริญพันธุ์จะตกลงเรื่อยจนเหลือแค่ 1.7 คน ในปี 2100

  • หญิงไทยติด 10 อันดับโลกแม่มีลูกน้อย ขณะที่แม่ทั่วโลกมีบุตรลดลง
  • สังคมสูงอายุ : คนสูงวัยในครอบครัวข้ามรุ่น อยู่อย่างไรเมื่อไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ
  • เมื่อโลกมีผู้สูงวัยมากกว่าเด็ก ชีวิตเราเปลี่ยนไปอย่างไร

จากการคำนวณนี้ นักวิจัยคาดว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นไปถึง 9.7 พันล้านคนในราวปี 2064 หรืออีก 44 ปีข้างหน้า จากนั้นจะลดลงเหลือ 8.8 พันล้านคนเมื่อสิ้นศตวรรษที่ 21

"การที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกมีประชากรลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นนี้นับว่าเป็นเรื่องค่อนข้างใหญ่ทีเดียว" ศาสตราจารย์คริสโตเฟอร์ เมอร์เรย์ ผู้ทำวิจัยกล่าวกับบีบีซี

"ผมคิดว่าเป็นเรื่องยากมากที่เราจะคิดถึงปัญหานี้ได้อย่างครอบคลุมหรือตระหนักอย่างแท้จริงว่าสถานการณ์นี้เป็นเรื่องใหญ่แค่ไหน เราต้องยกเครื่องสังคมทั้งหมดเพื่อรับมือกับเรื่องนี้"

ทำไมอัตราเจริญพันธุ์ถึงลดต่ำลง

อัตราเจริญพันธุ์ที่ตกลงนี้ไม่เกี่ยวกับจำนวนตัวอสุจิหรือเรื่องอื่น ๆ ที่คนมักนึกถึงเมื่อพูดเรื่องการเจริญพันธุ์ แต่เป็นผลมาจากการศึกษาและการทำงานของผู้หญิง รวมถึงการเข้าถึงยาคุมกำเนิด ที่ทำให้ผู้หญิงมีลูกน้อยลง

อัตราเจริญพันธุ์ที่ต่ำลงนี้ ในด้านหนึ่งก็นับว่าเป็นความสำเร็จของการคุมกำเนิด

ประเทศไหนได้รับผลกระทบมากสุด

คาดว่าอัตราเจริญพันธุ์ที่ต่ำลงจะทำให้ 23 ประเทศมีประชากรลดลงถึงครึ่งหนึ่งในปี 2100 ในจำนวนนี้มี สเปน โปรตุเกส ไทย เกาหลีใต้ อิตาลี และญี่ปุ่น

มีการคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรของญี่ปุ่นจะลดลงจาก 128 ล้านคนในปี 2017 เหลือเพียงไม่ถึง 53 ล้านคนในช่วงปลายศตวรรษนี้

อิตาลีก็จะมีประชากรลดฮวบลงไม่แพ้ญี่ปุ่น โดยคาดว่าจะลดจาก 61 ล้านคน เหลือ 28 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกัน

"ตัวเลขนี้ทำให้ผมถึงกับอ้าปากค้าง" ศ.เมอร์เรย์กล่าว

มาดูประเทศที่มีประชากรมากอย่างจีนและอินเดียกันบ้าง

จีนซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก คาดว่าจะมีประชากรเพิ่มเป็น 1.4 พันล้านคนในอีก 4 ปีข้างหน้า ก่อนจะลดลงเกือบครึ่งเหลือ 732 ล้านคนในปี 2100 ส่งผลให้อินเดียก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีประชากรมากสุดในโลกแทน

"ประชากรของ 23 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ไทย สเปนและยูเครน จะลดลงราว 50% หรือมากกว่านั้น แม้การลดลงของประชากรจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างอายุประชากรมักจะส่งผลทางลบในด้านอื่น ๆ" งานวิจัยระบุ

ทำไมเรื่องนี้ถึงเป็นปัญหา

หลายคนอาจคิดว่าการที่ประชากรลดลงจะส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อม เพราะเมื่อคนน้อยลง การปล่อยคาร์บอน การเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่การเกษตรก็จะลดลงด้วย

"ประชากรลดลงอาจดีต่อสิ่งแวดล้อมก็จริง แต่สิ่งที่น่าห่วงก็คือการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนอายุประชากร คือมีคนชรามากกว่าคนหนุ่มสาว ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านอื่น ๆ ตามมาอีกหลายอย่าง" ศ.เมอร์เรย์ให้ความเห็น

ในประเด็นเกี่ยวกับอายุประชากรนี้ งานวิจัยคาดว่า

  • จำนวนประชากรโลกที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี จะลดจาก 681 ล้านคนในปี 2017 เหลือ 401 ล้านคนในปี 2100
  • จำนวนประชากรโลกที่มีอายุมากกว่า 80 ปี จะเพิ่มจาก 141 ล้านคนในปี 2017 เป็น 866 ล้านคนในปี 2100

คำถามก็คือหากโลกเต็มไปด้วยผู้สูงวัย แล้วใครจะทำงานเพื่อจ่ายภาษี ใครจะแบกรับค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย ใครจะดูแลคนชรา แล้วคนจะหยุดทำงานเมื่อเข้าสู่วัยชราได้หรือไม่

"เราต้องเตรียมรับมือกับปัญหานี้ไว้แต่เนิ่น ๆ" ศ.เมอร์เรย์กล่าว

ที่มาของภาพ, Getty Images

รับมืออย่างไรดี

หลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักรหาวิธีเพิ่มจำนวนประชากรและชดเชยอัตราเจริญพันธุ์ที่ต่ำงด้วยการเปิดรับคนต่างชาติเข้ามาอยู่ในประเทศ แต่เมื่อถึงจุดที่ทุกประเทศต่างก็มีประชากรลดลง วิธีการนี้ก็จะใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป

ก่อนหน้านี้ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รายงานว่าสิ้นเดือนกันยายน 2560 อัตราเจริญพันธุ์ของผู้หญิงไทยอยู่ที่ 1.46 คือ ผู้หญิงไทย 1 คน ให้กำเนิดบุตรเฉลี่ย 1.46 คน และคาดการณ์ว่าประชากรไทยจะลดลงเหลือ 69 ล้านคนในปี 2593 และเหลือ 47 ล้านคนในปี 2643

"จากเดิมที่แต่ละประเทศเลือกที่จะเปิดหรือไม่เปิดรับผู้อพยพ ในอนาคตเราจะได้เห็นการแย่งกันรับดึงดูดคนต่างชาติให้เข้ามาในประเทศ เพราะประชากรมีไม่พอ" ศ.เมอร์เรย์คาด

นอกจากนี้ ยังมีวิธีการอื่น ๆ ที่หลายประเทศใช้ เช่น ออกนโยบายสนับสนุนให้พ่อและแม่ลางานเพื่อเลี้ยงลูก จัดสวัสดิการเลี้ยงดูเด็กฟรี ให้เงินอุดหนุน หรือให้สิทธิจ้างงานเพิ่ม แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปว่าวิธีการไหนจะดีที่สุด