บท แนะ นํา ตัว เอง เข้า มหา ลัย

อัปเดตเมื่อ 19 มี.ค.

"...

การศึกษาในระดับปริญญาตรีนับว่าเป็นประตูสำคัญที่จะทำให้เราก้าวไปสู่อาชีพที่เราใฝ่ฝัน และการสัมภาษณ์ก็เป็นก้าวที่สำคัญ

..."

สวัสดีครับทุก ๆ คน วันนี้ผมอยากจะแบ่งปันคำถามสำหรับเพื่อใช้เตรียมตัวสัมภาษณ์เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีครับ

ก่อนอื่นเลยต้องขอบอกก่อนว่าการสัมภาษณ์เป็นขั้นตอนหนึ่งเพื่อคัดเลือกพวกเราเพื่อเข้าศึกษาต่อ ซึ่งเป็นขั้นตอนหลังจากมีการสอบวัดผลทางความรู้แล้ว หรืออาจจะใช้โควต้าก็ตาม ฉะนั้นแล้วการสัมภาษณ์จึงมุ่งเน้นเพื่อวัดบุคลิกภาพ แนวความคิด หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นทักษะทางอารมณ์และทางสังคมของเรานั่นเองครับ

ผมได้รวมรวมคำถามจากเว็บไซต์ต่าง ๆ รวมถึงประสบการณ์ส่วนตัวของผมเอง และน่าประหลาดใจอย่างยิ่งว่าในหลาย ๆ เว็บไซต์ มีคำถามในลักษณะที่คล้ายกันมาก จนเรียกว่าเป็นสูตรการสัมภาษณ์ได้เลยทีเดียว ... จะมีอะไรบ้างนั้น ไปเริ่มกันเลยครับ

1. ไหนลองแนะนำตัวเองหน่อยซิ?

คำถามนี้เป็นคำถามสุดยอดแห่งความคลาสสิคที่ผมมั่นใจว่าทุกคนต้องเจอแน่นอนครับ 100% ตั้งแต่ตอนเราเริ่มเข้าสัมภาษณ์ กรรมการสอบสัมภาษณ์จะเริ่มต้นด้วยการถามคำถามนี้นี่แหละครับ ....

คำถามนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้คณะกรรมการสอบสัมภาษณ์ได้รู้จักตัวเราในแบบที่กระชับว่าเรามาจากที่ไหน เรียนด้านไหนมา (หรืออาจจะพูดถึงชื่นชอบอะไร มีนิสัยส่วนตัวและการเข้าสังคมอย่างไรด้วยก็ได้ แล้วแต่สถานการณ์ครับ) ... ให้เราตอบแนะนำตัวเองแบบสั้น ๆ กระชับ โดยส่วนตัวแล้ว ผมแนะนำว่าให้ใช้เวลาแนะนำตัวประมาณไม่เกิน 1 นาทีครับ

2. เธอเคยเข้าร่วมหรือทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง?

คำถามนี้เป็นคำถามเพื่อดูว่าเรามีการเข้าสังคมหรือช่วยเหลือสังคมยังไงบ้าง ชื่นชอบการทำกิจกรรมประเภทไหน เพราะในหลาย ๆ อาชีพจำเป็นต้องใช้ทักษะทางสังคมเยอะมาก เราจำเป็นต้องติดต่อประสานงาน ทำงานร่วมกันกับคนอื่น ฉะนั้นแล้วทักษะทางสังคมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากครับในการทำงาน และก็ช่วยทำให้คณะกรรมการเห็นว่าเรามีคุณสมบัติเหมาะสมมากน้อยแค่ไหนที่จะเข้ามาเรียนในคณะนี้

3. บอกข้อดี/ข้อเสียของตัวเองหน่อยสิ?

ทุกคนมีทั้งข้อดีและข้อเสียครับ คำถามนี้นอกจากจะทำให้คณะกรรมการได้ทราบถึงข้อดีและข้อเสียของเราแล้วนั้น ยังช่วยทำให้เราได้ตระหนักถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเองด้วย ทำให้เราสามารถปรับปรุงและพัฒนาตัวเองให้ดียึ่งขึ้นได้ครับ

โดยปกตินั้นคณะกรรมการจะให้เราตอบข้อดีและข้อเสียของตัวเราอย่างละหนึ่งเรื่องครับ ผมเชื่อว่าพวกเราคงไม่มีปัญหาเรื่องการบอกข้อดีของตัวเอง แต่เราคงไม่อยากบอกข้อเสียของตัวเองใช่ไหมหล่ะครับ... ผมมีเทคนิคครับ ทำให้ข้อเสียเป็นข้อดีของเราด้วยในตัวมันเองครับ ...ยังไงหล่ะ? ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีข้อเสียเรื่องการตื่นนอนสายหรือการมาเรียนสาย เราสามารถตอบว่า "ผม/หนู มีปัญหาเรื่องการตื่นสายหรือมาสาย เพราะว่าต้องอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบจนดึกเพราะอยากจะสอบเข้าให้ได้คณะ/สาขานี้จริง ๆ บวกกับต้องช่วยงานทางบ้านเพราะอยากจะช่วยแบ่งเบาภาระของคุณพ่อคุณแม่ครับ/ค่ะ" เห็นไหมครับว่าเราสามารถเปลี่ยนข้อเสียเรื่องการไม่มีความรับผิดชอบเรื่องเวลา ให้กลายมาเป็นกำลังบอกว่าเรามีความขยัน มุ่งมัน และกตัญญูได้แบบหล่อ ๆ สวย ๆ เลยทีเดียว

4. เธอมีความสามารถพิเศษอะไรไหม?

ความสามารถพิเศษมีได้ในหลากหลายรูปแบบครับ ไม่ว่าจะเป็นเล่นดนตรี วาดรูป ร้องเพลง เล่นกีฬา เล่นเกม มายากล คิดเลขเร็ว คณิตศาสตร์ วิทยาศาตร์ จิตวิทยา ปรัชญา ภาษา การคิด การพูด การเขียน การถ่ายรูป การทำอาหาร การใช้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ งานฝีมือ และอื่น ๆ อีกมากมายครับ คำถามนี้นอกจากจะทำให้คณะกรรมการเห็นความสามารถพิเศษและความสนใจของเราแล้ว ยังช่วยให้เราเข้าใจจุดดีจุดเด่นของตัวเราเองมากยิ่งขึ้นด้วยครับ

5. ทำไมถึงเลือกเรียนคณะ/สาขานี้?

คำถามนี้ก็จัดว่าเป็นอีกหนึ่งคำถามสุดคลาสสิคที่คณะกรรมการจะถามเราอย่างแน่นอน 100% ครับ จุดประสงค์ของคำถามนี้ก็เพื่อดูว่าเรามีเป้าหมายหรือแรงจูงใจอะไรในการเข้ามาเรียนที่นี่ เราสามารถตอบเหตุผลของเราได้เลยครับ ไม่ว่าจะเป็นเรามีความสามารถทางด้านนี้ มีความรักความสนใจทางด้านนี้ อยากจะสานต่อกิจการทางบ้านเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้รับแรงบันดาลใจจาก แต่ถ้าเราไม่มั่นใจกับเหตุผลที่แท้จริงของตัวเองมากนัก เช่น คะแนนของเราไม่สูงมากพอที่จะเข้าคณะที่เราอยากเข้า แบบนี้เราก็ไม่ควรตอบไปจริงไหมครับ หรือแม้กระทั่งทางบ้านอยากให้เราเรียนคณะนี้ เราก็ไม่ควรตอบไปอีกเช่นกัน ฉะนั้นแล้วผมแนะนำว่าพยายามหาความชื่นชอบ หรือ inspiration ให้ได้จริง ๆ ครับ

6. ทำไมถึงเลือกวิทยาลัย/มหาวิทยาลัยนี้?

อีกนึงคำถามปราบเซียนสุดคลาสสิคที่สามารถชี้ชะตาของเราได้เลยทีเดียวครับ คำถามนี้คล้าย ๆ กับคำถามข้อ 5. แต่ทว่าทำไมต้องเป็นที่วิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยนี้ ในเมื่อวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยที่อื่นก็มีคณะนี้เปิดสอนเหมือนกัน

ถึงแม้ว่าคำถามนี้อาจเป็นคำถามชี้ชะตาของเรา แต่ก็วางใจได้ครับเพราะตัววิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยเองก็ต้องการให้มีนักเรียนเข้ามาเรียนเหมือนกัน ฉะนั้นเราก็ไม่ต้องกังวลมากครับ เว้นเสียแต่ว่ามหาวิทยาลัยที่เราสัมภาษณ์นั้นมีการแข่งขันสูงมาก แบบนี้เราจำเป็นยิ่งต้องตอบให้ดี เมื่อเป็นแบบนี้ สิ่งที่เราต้องทำก่อนก็คือเช็คข้อมูลมาก่อนว่ามหาวิทยาลัยนี้มีจุดเด่นอะไรบ้าง หรือมีรุ่นพี่ที่เราเคารพนับถือจบมาจากที่นี่รึเปล่า เช่น คนที่เป็นไอดอลของเราจบมาจากที่นี่ พ่อแม่ญาติพี่น้องของเราจบมาจากที่นี่ ตัววิทยาลัย/มหาลัยมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมต่อการเรียน มีอาจารย์เก่ง ๆ มีชื่อเสียงสอนอยู่ที่นี่ หรือมหาลัยมีชื่อเสียงทางด้านที่เราสนใจโดดเด่น เป็นต้นครับ

7. รู้ไหมว่าคณะ/สาขานี้เรียนเกี่ยวกับอะไร?

เช่นเคยครับ คำถามนี้ก็เป็นอีกหนึ่งคำถามคลาสสิคที่พวกเราต้องเจอแบบ 100% เป็นคำถามเช็คความรู้ความเข้าใจพื้นฐานครับว่าคณะที่เรากำลังเข้ามาเรียนนั้นต้องเรียนเรื่องอะไรบ้างหรือมีขอบข่ายในการเรียนประมาณไหน แต่เอ๊... เรายังไม่เคยเรียนแล้วเราจะไปรู้ได้ยังไงหล่ะว่าต้องเรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง? เราไม่จำเป็นต้องตอบถูกต้องเป๊ะ ๆ หรอกครับ (ถ้าตอบถูกเป๊ะก็คงไม่ต้องมาเรียนแล้วครับ จริงไหม) แค่คณะกรรมการต้องการเช็คว่าตัวเราได้ศึกษาหาข้อมูลมาก่อน หรือมีความฝักใฝ่ที่จะเรียนในคณะนี้มากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเองครับ

8. เธอมั่นใจว่าจะเรียนในคณะ/สาขานี้ไหวหรอ? มันยากนะ...

คำถามนี้เป็นคำถามวัดใจครับ และก็เป็นคำถามที่กระตุ้นให้ตัวเรามีความกระตือรือล้นที่จะฝ่าฟันอุปสรรคด้วยเช่นกัน แล้วเราควรจะตอบยังไงดีหล่ะ...?

เริ่มต้นเราต้องรู้ตัวเองก่อนว่าเรามีความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้องแน่นขนาดไหน (แต่แน่นอนครับว่าเรามีความรู้พื้นฐานเพียงพอ เราจึงได้เข้าสัมภาษณ์ครับ) แต่ก็ไม่ใช่ว่าเรามั่นใจว่าเราเก่งแล้วตอบไปว่า "ผม/หนู เรียนได้สบาย ๆ อยู่แล้วครับ/ค่ะ" หรือเราไม่มั่นใจเลยแล้วตอบไปว่า "ผม/หนู ไม่มั่นใจเลย ครับ/ค่ะ ว่าจะเรียนไหว" เราไม่ควรประมาทหรือดูถูกศักยภาพของตัวเราเองครับ ถึงแม้เรามั่นใจเราก็ควรตอบว่า "ผม/หนู มีความมั่นใจมากครับ/ค่ะ เพราะผม/หนู มั่นใจในพื้นฐานความรู้ของตัวเอง แต่ผม/หนูจะหาความรู้ใหม่ ๆ ตลอดเวลาครับ/ค่ะ และผม/หนูเชื่อว่าคณะนี้จะช่วยทำให้ผม/หนูได้เรียนสิ่งใหม่ ๆ ครับ/ค่ะ " หรือถ้าเราไม่มั่นใจในความรู้พื้นฐานของเรา เราสามารถตอบไปได้ว่า "ถึงแม้ว่าผม/หนู จะไม่ได้เก่งมากนัก แต่ผม/หนูเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเองว่าผม/หนูสามารถพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นได้ และผม/หนูเชื่อว่าคณะนี้จะช่วยพัฒนาทักษะทั้งด้านความรู้และความคิดให้เก่งขึ้นได้ครับ/ค่ะ" เห็นไหมครับว่าเราสามารถพลิกจุดด้อยของเรา แล้วตอบแบบหล่อ ๆ สวย ๆ ได้อีกเหมือนกัน

9. ถ้าเธอเข้าเรียนที่นี่ เธอจะพักที่ไหนหล่ะ?

เรื่องของที่พักและการเดินทางมาเรียนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตนิสิตนักศึกษาครับ นักเรียนหลาย ๆ คนจะเข้ามาจากต่างจังหวัด บางคนต้องเช่าหอพักอยู่ หรือบางคนอาศัยอยู่ในระแวกใกล้เคียงอยู่แล้ว ก็อาจจะพักอยู่ที่บ้านของตัวเอง แต่ในบางมหาลัยก็บังคับให้นิสิตนักศึกษาใหม่พักอยู่ในหอพักของมหาลัย (หรือที่เรียกสั้น ๆ กันว่า "หอใน") ก็คงจะไม่ได้เจอคำถามนี้ เราสามารถตอบได้เลยครับว่าเราพักที่ไหน พักอยู่คนเดียวหรือแชร์กับเพื่อน และในบางครั้งคณะกรรมการอาจจะแนะนำที่พักที่เขารู้จักให้กับเราด้วย

10. เธอเดินทางมาเรียนยังไง?

คำถามนี้มักจะมาพร้อมกันกับคำถามก่อนหน้านี้ครับ การเดินทางมาเรียนก็นับว่าเป็นเรื่องสำคัญครับยิ่งคนที่พักอยู่ไกล ก็ต้องใช้ทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง บางคนอาจจะมีรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ส่วนตัว หรือมากับเพื่อน บางคนนั่งรถเมย์ รถตู้ รถสองแถว รถแท็กซี่ มอเตอรไซค์รับจ้าง หรือบางคนอาจจะปั่นจักรยานหรือเดินมาเรียน หรือบางมหาลัยมีบริการเรื่องรถประจำทางให้ ฉะนั้นแล้วเราจะเห็นได้ว่าการวางแผนการเดินทางเป็นเรื่องสำคัญครับ

11. ถ้าเธอไม่ผ่านการคัดเลือกที่นี่ เธอจะทำอย่างไรต่อ?

คำถามนี้เป็นหนึ่งในคำถามวัดใจครับ ผมเชื่อว่าพวกเรามีคำตอบสำหรับคำถามข้อนี้อยู่ในใจแล้ว เช่น จะไปสมัครเรียนที่อื่นต่อ หรือจะกลับมาปีหน้าเพื่อสมัครเข้าที่นี่ใหม่ก็ตาม แต่หลาย ๆ คนก็กลัวว่า ถ้าตอบไปว่า "ผม/หนูก็จะเข้าไปเรียนต่อที่อื่นครับ/ค่ะ" จะดูไม่ดี จริงไหมครับ หรือแม้กระทั่งตอบว่า "ผม/หนูต้องเข้าเรียนที่นี่ให้ได้ครับ/ค่ะ ถ้าไม่ผ่านการคัดเลือกก็จะมาสมัครใหม่ปีหน้าครับ/ค่ะ" ก็อาจจะถูกคณะกรรมการถามกลับมาอีกว่าแล้วเวลาที่เหลือจะทำอะไรหล่ะ? ถ้าใครมั่นใจในความหนักแน่นของตัวเองก็สามารถตอบไปได้เลยครับ แต่ถ้าใครไม่มั่นใจว่าควรจะตอบยังไงดี ผมมีคำแนะนำที่จะพลิกสถานการณ์จากลบให้เป็นบวกได้ครับ เราสามารถตอบไปได้ว่า "ต่อให้ผม/หนูไม่ผ่านการคัดเลือกที่นี่จริง ๆ ผม/หนูก็จะยั่งคงมุ่งมั่นที่จะเรียนทางด้านนี้ครับ/ค่ะ เพราะผม/หนูรักและชอบทางด้านนี้จริง ๆ ครับ/ค่ะ" เห็นไหมครับว่าถึงแม้เราจะอาจะไม่ถูกคัดเลือก เราก็ยังสามารถแสดงให้คณะกรรมการเห็นถึงความมุ่งมั่นของเราได้ และคนที่มีความมุ่งมันอย่างเรานี้แหละเป็นคนที่ควรค่าที่เขาจะรับเราเข้าเรียน

12. เธอจะทำอะไรให้วิทยาลัย/มหาลัยของเราบ้าง?

คำถามนี้จะมีโอกาสเจอมากสำหรับการสัมภาษณ์ประเภทให้ทุนการศึกษาแก่ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกครับ หรือแม้แต่จะไม่ใช่ประเภทที่มีทุนการศึกษาให้ก็ตามก็มีโอกาสเจอคำถามนี้ได้ครับแต่อาจจะน้อยหน่อย เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณของผู้ที่ให้ทุนการศึกษากับเราหรือมหาลัยที่ให้โอกาสเราเข้าไปเรียน เราจะทำอะไรบ้างครับ... บางคนอาจจะมีแผนเข้ากลุ่ม สโมสร หรือคณะกรรมการนักศึกษาเพื่อพัฒนามหาลัยอยู่แล้วก็สามารถตอบไปได้เลยครับ หรือแม้กระทั่งมีความตั้งใจที่จะไปเข้าแข่งขันระดับเขต ประเทศ หรือระดับโลกเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับมหาลัยก็สามารถตอบไปได้เลยอีกเช่นเดียวกันครับ แต่ถ้าเราไม่ได้มีความมุ่งมั่นแบบนั้น แค่จะเข้ามาเรียนให้จบ รับปริญญา แล้วไปทำงาน เราควรจะตอบยังไง?

ถ้าเราไม่ได้จะเข้าไปพัฒนาหรือสร้างชื่อเสียงอย่างยิ่งใหญ่แบบนั้น เราสามารถตอบไปได้ว่า "ผม/หนูจะพัฒนาตนเองและนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการทำงาน มีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไปครับ/ค่ะ" ถึงแม้ว่าเราอาจจะไม่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับมหาลัยในตอนที่เรากำลังเรียนอยู่ได้ แต่เราก็สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับมหาลัยทางอ้อมด้วยการทำงานในอนาคตได้ครับ

13. เธอคิดว่าคนที่จะทำงานทางด้าน จะต้องมีคุณสมบัติหรือทักษะอะไรบ้าง?

คำถามนี้คล้าย ๆ กับคำถามข้อ 7. ครับ เพียงแค่เปลี่ยนจากระดับการเรียนไปสู่ระดับการทำงานจริงครับ โดยทั่ว ๆ ไปนั้นทักษะในการทำงานจะประกอบไปด้วยสองส่วนหลัก ๆ ครับ คือทักษะทางวิชาชีพกับทักษะทางการสื่อสาร หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Hard skills กับ Soft skills นั่นเอง โดยทักษะทางวิชาชีพนั้นจะแตกต่างกันไปตามอาชีพนั้น ๆ ส่วนทักษะการสื่อสารนั้นจะมีความใกล้เคียงกันในหลาย ๆ อาชีพ เช่น การทำงานเป็นทีม การรับมือกับแรงกดดัน การมีความเพียร รวมถึงการมีความคิดสร้างสรรค์ครับ

14. เธอเลือกคณะของเราเอาไว้เป็นอันดับสุดท้าย... นี่เธอไม่อยากเข้าเรียนที่คณะของเราเท่าไหร่หนิ?

สำหรับบางระบบอย่างเช่น TCAS นั้นจะมีให้เราเลือกอันดับคณะและมหาลัยที่เราต้องการจะสมัครเข้าเรียน นี่จะเป็นอีกหนึ่งคำถามวัดใจที่เราอาจจะได้เจอ แต่นี่จะเป็นคำถามวัดใจอันสุดท้ายแล้วครับ

ถ้ามหาลัยที่เราสัมภาษณ์ไม่ได้อยู่ในรายชื่อมหาลัยอันดับต้น ๆ ของเรา เราควรจะตอบยังไงดี?

เราจะใช้โอกาสนี้พลิกเกมอีกครั้งครับ เราสามารถตอบไปได้ว่า "ผม/หนูมีความชื่นชอบและความสนใจในหลาย ๆ เรื่อง รวมทั้งเรื่องนี้ด้วย ผม/หนูจึงได้ไปปรึกษากับทางบ้าน (อาจจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ หรือคนรู้จักก็ได้ครับ) พวกเขาแนะนำให้หนูไปเรียนอีกเรื่องนึงเป็นอันดับต้น ๆ ก่อน" การตอบคำถามแบบนี้จะแสดงให้คณะกรรมการเห็นว่าแท้จริงแล้วเรายังคงมีความสนใจ เพียงแค่ว่าเราฟังคำแนะนำของผู้ใหญ่ที่เขามีประสบการณ์ มีมุมมองมากกว่าเท่านั้นเองครับ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนด้วยทางหนึ่ง

15. เธอมีความคิดเห็นกับเรื่องยังไงบ้าง?

คำถามนี้เป็นคำถามเกี่ยวกับความรู้รอบตัว ความรู้ทางวิชาการหรือวิชาชีพเบื้องต้น หรืออาจเป็นเรื่องแนวคิดส่วนตัว รวมทั้งอาจจะเป็นการเมืองด้วยก็ได้ครับ คำถามนี้มีจุดประสงค์เพื่อเช็คความรู้ทั่วไป รวมทั้งแนวคิดของเราครับ เราสามารถตอบตามที่เรารู้ได้เลยครับ เว้นแต่ถ้าเป็นคำถามที่ส่งผลต่อความรู้สึกอย่างเรื่องความเชื่อ หรือเรื่องการเมือง เราก็ต้องระมัดระวังในการตอบคำถามพวกนี้ครับ พยายามตอบคำถามให้เป็นกลางให้มากที่สุด ไม่เข้าข้างฝั่งใดฝั่งหนึ่งจนเกินไป หรือเคารพความคิดเห็นของทุกฝ่ายก็ได้ครับ

16. มีคำถามอะไรไหม?

คำถามนี้จะมาเป็นคำถามสุดท้ายเสมอก่อนจะจบการสัมภาษณ์ เราสามารถถามคำถามที่เราสงสัยต่อคณะกรรมการได้ครับ รวมถึงอาจจะขอคำแนะนำเพิ่มเติมก็ได้ หรือแม้กระทั่ง "แถวนี้มีร้านอาหารอร่อย ๆ แนะนำบ้างไหมครับ?" ก็สามารถถามได้ แต่ถ้าเราไม่มีข้อสงสัยอะไรก็ตอบไปว่า "ไม่มี" ได้เลยครับ

และทั้งหมดเป็น 16 คำถามสัมภาษณ์ที่พวกเรามีโอกาสเจอตอนสอบสัมภาษณ์ครับ เราคงไม่เจอทุกคำถามเพราะปกติจะมีเวลาสัมภาษณ์อยู่ที่ประมาณไม่เกิน 10 นาที เราอาจจะได้เจอเพียง 5-7 คำถามเท่านั้น นอกเหนือจากนี้บางมหาลัยอาจมีให้ทำแบบทดสอบเชาว์ปัญญาด้วยก็ได้

อย่างไรก็ตาม ผมอยากให้พวกเราตั้งสติและควบคุมอารมณ์ของเราให้ดี อย่าให้การที่เราไม่สามารถตอบคำถามดี ๆ ได้มาทำลายความมั่นใจและการเป็นตัวของตัวเองของเรา เพราะถ้าเรารู้สึกแย่ ณ จุด ๆ หนึ่งแล้ว เราจะรู้สึกแย่ไปตลอดทั้งการสัมภาษณ์เลยครับ แล้วคำถามที่เหลือจะทำให้เราตอบได้ไม่ดีไปด้วย ฉะนั้นแล้วผมจึงอยากแนะนำเรื่องการควบคุมอารมณ์ของตัวเอง รวมทั้งอย่ายึดติดกับคำถามที่เราเตรียมตัวมามากเกินไป เราควรมีความยืดหยุ่นด้วย

สุดท้ายนี้ผมขอให้พวกเราทุกคนโชคดีกับการสอบสัมภาษณ์ แล้วก้าวไปสู่ประตูแห่งอาชีพที่ใฝ่ฝันไว้... โชคดีครับ