ค่าออกแบบตกแต่ง ภายใน ตรม. ละ

ค่าออกแบบตกแต่ง ภายใน ตรม. ละ

Show

หลังจากที่เราซื้อบ้านหรือว่าซื้อคอนโดกันมาแล้ว การตกแต่งภายในบ้านหรือคอนโดให้น่าอยู่ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องทำเป็นอันดับต่อมา ครั้นจะจ้าง Designer มาช่วยออกแบบก็เกิดคำถามในใจว่า Interior Designer คิดค่าแบบกันยังไง? Interior Designer ทำหน้าที่อะไรบ้าง? เพื่อจะตอบคำถามนั้น เราเลยชวนเพื่อนที่เป็น Interior Designer มาพูดคุยเกี่ยวกับขั้นตอนการทำงานกัน…ว่าหน้าที่ของดีไซน์เนอร์คืออะไรกันแน่ แต่ละขั้นตอนเป็นอย่างไรบ้าง? ใช้เวลาในการออกแบบนานไหม? แล้ว…ถ้าเราอยากตกแต่งภายในบ้านหรือว่าคอนโดเราสามารถคำนวนงบประมาณคร่าวๆ ได้หรือไม่? มาหาคำตอบกันค่ะ

ค่าออกแบบคิดยังไง?

ก่อนที่จะไปคุยกับดีไซน์เนอร์ เราขอตอบคำถามเรื่องค่าออกแบบในภาพรวมกันก่อนนะคะ  เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องการตัดราคากันในวงการนักออกแบบ เราจึงขอไม่ระบุว่าแต่ละเจ้าคิดเรทราคากันเท่าไหร่ค่ะ

คำตอบของคำถามนี้คือ ค่าออกแบบจะมีวิธีคิดหลายแบบ หลายราคาเลย ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของงานออกแบบ ว่ามีดีเทลการออกแบบมาก-น้อยขนาดไหน, ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของดีไซน์เนอร์ในแต่ละคน เช่น ดีไซน์เนอร์ที่เพิ่งเรียนจบใหม่ ก็อาจจะมีวิธีการคิดค่าบริการต่ำกว่าดีไซน์เนอร์ที่มีผลงานและประสบการณ์มามาก โดยหลักการคิดค่าแบบจะมีอยู่ 2-3 วิธีคือ

  1. ประเมินจากมูลค่าการก่อสร้าง เช่น ค่าก่อสร้างต่อตร.ม. อาจจะอยู่ที่ 15,000 – 30,000 บาท/ตร.ม. (ขึ้นอยู่กับดีเทล, วัสดุ, ความยากง่ายในแต่ละพื้นที่) ซึ่งตัวเลขนี้เมื่อนำมาคูณกับปริมาณพื้นที่ก่อสร้างแล้ว ก็จะกลายเป็นมูลค่างานก่อสร้างค่ะ ซึ่งดีไซน์เนอร์จะเอาตัวเลขนี้มาคิดเป็นค่าแบบ แต่ละเจ้าก็อาจจะมีสัดส่วนแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 10%
  2. ประเมินจากเรทค่าออกแบบต่อตร.ม. เช่น พื้นที่ที่ออกแบบมี 100 ตร.ม. ดีไซน์เนอร์ก็จะมีเรทราคาค่าออกแบบต่อตร.ม.ในใจที่นำเอาไปคูณกับขนาดพื้นที่ออกมาเป็นค่าบริการงานออกแบบ ซึ่งเรทราคาของดีไซน์เนอร์แต่ละคนก็จะไม่เท่ากัน และ ราคาต่อตร.ม.ในแต่ละฟังก์ชันการใช้งานบางครั้งก็แตกต่างกันอีกเช่นกันค่ะ ซึ่งราคาค่าออกแบบต่อตร.ม.ก็มีตั้งแต่ 1,xxx – 3,xxx บาท/ตร.ม. (ซึ่งเรทที่ต่ำกว่านี้ก็อาจจะมีเช่นกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในการทำงานของดีไซน์เนอร์ด้วยนะคะ)
  3. ประเมินจากขั้นต่ำของค่าออกแบบ หลักการนี้เราต้องขอเล่าก่อนว่าในการทำงานโปรเจคหนึ่งนั้น ถ้าเป็นงานออกแบบ Full Scale มักจะกินเวลา 3-4 เดือนเป็นอย่างต่ำ ซึ่งตัวดีไซน์เนอร์จะมีค่าใช้จ่ายแบบที่เป็น Fix cost อยู่เช่น เวลาที่ต้องคุยกับลูกค้า ค่าเดินทางไปไซต์งานต่างๆ  ที่ไม่ว่าจะเป็นงานพื้นที่เล็กหรือว่าพื้นที่ใหญ่ก็จะต้องลงทุนกับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปเท่าๆ กัน ดังนั้นดีไซน์เนอร์แต่ละเจ้าก็มักจะกำหนดค่าบริการการออกแบบขั้นต่ำในใจเอาไว้ เพื่อให้ครอบคลุมกับค่าแรงที่ต้องเสียไปในส่วนนี้นั่นเองค่ะ ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่เราอยากให้ดีไซน์เนอร์ช่วยออกแบบพื้นที่ 30 ตร.ม. ก็เป็นไปได้ว่าค่าแบบอาจจะอยู่ที่ 100,000 บาท ซึ่งเป็นค่าบริการขั้นต่ำของดีไซน์เนอร์คนนั้น ถ้าเราโอเคกับราคานี้ ก็ตกลงเซ็นสัญญาเพื่อเริ่มงานได้เลย แต่ถ้าไม่ไหว ก็ลองหาเจ้าอื่นที่คิดค่าออกแบบขั้นต่ำที่น้อยกว่านี้ก็ได้ค่ะ ทั้งนี้ค่าออกแบบขั้นต่ำก็ขึ้นอยู่กับดีไซน์เนอร์แต่ละคนเลยนะคะ มีตั้งแต่หลักหมื่นไปจนหลักแสนค่ะ

อ่านกันมาถึงตรงนี้… ทุกคนน่าจะพอเข้าใจวิธีการคิดค่าแบบคร่าวๆ กันไปแล้ว ต่อมาเราจะพาไปพูดคุยกับ Interior Designer กัน ว่าเนื้องานของดีไซน์เนอร์มีอะไรบ้าง


ผลงานออกแบบ โดย plotstudio.bkk

Interior Designer คนแรกที่เราได้ไปพูดคุยกันคือคุณแพร์ จาก Plotstudio.bkk ค่ะ คุณแพร์เป็นเพื่อนที่มหาลัยของเราเอง เรียนจบภาควิชาสถาปัตยกรรมภายในมาโดยตรง พอจบมาก็ทำงานเป็น Interior designer ทันที ประสบการณ์การทำงาน 10 ปีค่ะ โดยงานส่วนใหญ่ของคุณแพร์ที่เราเห็นก็จะเป็นการออกแบบภายในของบ้านพักอาศัยเป็นส่วนมาก เราเลยอยากชวนคุณแพร์มาพูดคุยกันค่ะ 

Q : ขั้นตอนการทำงานของ Interior designer เป็นอย่างไรบ้าง?

คุณแพร์เล่าให้ฟังว่า ในขั้นตอนแรก จะเริ่มจากการพูดคุยความต้องการกับทางลูกค้าก่อน ว่าลูกค้ามีลักษณะการใช้งานประมาณไหน สไตล์ที่ชอบเป็นอย่างไร ซึ่งในเบื้องต้นลูกค้าอาจจะมีภาพ Reference มาให้ดู ก็จะช่วยให้ดีไซน์เนอร์เห็นภาพตรงกันกับลูกค้า ภาพ Reference นี้ถือว่ามีประโยชน์มากกว่าการพูดคุยกันด้วยปากเปล่า ซึ่งหลังจากขั้นตอนนี้ ทางคุณแพร์ก็จะประเมินราคาค่าออกแบบจากปริมาณงาน รูปแบบ สไตล์ที่ลูกค้าต้องการ แล้วจึงทำใบเสนอราคาส่งกลับไปให้ทางลูกค้าค่ะ

Image 1/2

ผลงานออกแบบ โดย plotstudio.bkk

ผลงานออกแบบ โดย plotstudio.bkk

Q : แม้พื้นที่มีขนาดเท่ากัน ค่าแบบก็อาจจะแตกต่างกันได้?

สำหรับคุณแพร์แม้พื้นที่ที่จะต้องออกแบบมีขนาดเท่ากัน แต่การคิดราคาค่าแบบก็อาจจะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสไตล์ที่ลูกค้าต้องการ เช่น บางสไตล์ที่ลูกค้าชอบก็อาจจะมีดีเทลไม่มาก รายละเอียดน้อย การคิดค่าแบบก็อาจจะไม่เท่ากับสไตล์ที่ต้องลงดีเทลเยอะ หรือว่าต้องมี Built-in มาก เป็นต้นค่ะ 

Q : หลักการคิดค่าออกแบบเป็นอย่างไรบ้าง?

วิธีคิดค่าออกแบบสำหรับคุณแพร์นั้น จะมีอยู่ 2 แบบ

  • แบบแรกคิดค่าแบบต่อตร.ม.ของพื้นที่ออกแบบ
  • คิดค่าแบบแบบเหมา กรณีนี้จะเกิดขึ้นในงานที่มีสเกลหรือขนาดพื้นที่เล็กมาก โดยทั่วไป Designer มักจะมีค่าออกแบบขั้นต่ำสำหรับเริ่มงานด้วยค่ะ

Image 1/3

(Perspective) ผลงานออกแบบ โดย plotstudio.bkk

(Perspective) ผลงานออกแบบ โดย plotstudio.bkk

Q :  หลังจากเสนอราคาค่าแบบแล้ว จะมีการเซ็นสัญญาเพื่อเริ่มทำงานกันไหมคะ?

ในใบเสนอราคานั้น ทางฝั่งดีไซน์เนอร์จะระบุเนื้องานที่ทำเอาไว้ ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การจัดทำภาพ Perspective กี่ภาพ ไปจนถึงการทำแบบก่อสร้างเพื่อส่งให้ทางผู้รับเหมาคิดราคาและดำเนินงานต่อ ถ้าหากลูกค้าตกลงกับข้อตกลงในใบเสนอราคา จะมีการทำสัญญาก่อนเริ่มงาน โดยจะมีการแบ่งจ่ายค่าออกแบบตามงวดงานเอาไว้คร่าวๆ 3-4 งวด ดังนี้

  • งวดที่ 1 : 20% เริ่มต้นเก็บเมื่อเซ็นสัญญาเพื่อเริ่มทำแบบ โดยเนื้องานในช่วงนี้จะเป็นการออกแบบ Function , Detail การใช้งานเป็นหลัก โดยจะเป็นการพูดคุยจากแบบ 2 มิติ หรือว่าคุยกันผ่าน Plan เป็นหลัก รวมถึงดีไซน์เนอร์จะเสนอภาพ Reference เป็น Mood&Tone ในแต่ละส่วน โดยอาจจะเสนอเป็น option หลาย style มาให้ทางลูกค้าเลือก เพื่อให้ภาพรวมหรือ Direction ในการออกแบบระหว่างดีไซน์เนอร์และลูกค้าตรงกันก่อนเริ่มงานขั้นต่อไป
  • งวดที่ 2 : 35-40% จะเก็บหลังจาก การพูดคุย ออกแบบภาพรวมทั้งหมดเสร็จเรียบร้อย โดยจะมีการเสนองานผ่านภาพ Perspective ที่แสดงให้ลูกค้าเห็นถึงรายละเอียดการใช้งาน Mood&Tone รวมถึงวัสดุที่จะใช้จริงภายในห้อง ภาพรวมในการออกแบบภายใน ในแต่ละส่วนของพื้นที่ใช้งาน ในส่วนของวัสดุจะมีการนำตัวอย่างจริงมาให้ลูกค้าดูก่อนที่จะ spec ลงในแบบ หลังจากเสร็จขั้นตอนนี้ลูกค้าจะเห็นภาพรวมของพื้นที่ทั้งหมดที่ใกล้เคียงกับงานที่จะออกมาจริงหลังก่อสร้างเสร็จ
  • งวดที่ 3 : 30-35% จะเก็บหลังจากแบบก่อสร้างเสร็จ ซึ่งแบบชุดนี้จะถูกส่งต่อไปให้ทางผู้รับเหมาประเมินราคาค่าต่อสร้างต่ออีกทีค่ะ
  • งวดที่ 4 : 10% ค่าแบบงวดสุดท้ายนั้นจะเก็บหลังจากงานก่อสร้างเสร็จสิ้น เพื่อเป็นหลักประกันให้กับลูกค้าว่าดีไซน์เนอร์จะคอยช่วยดูแลหน้างานให้ตรงตามแบบ

** ทั้งนี้วิธีคิดงวดงานต่างๆ ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทอีกทีนะคะ

Image 1/2

ผลงานออกแบบ โดย plotstudio.bkk

ผลงานออกแบบ โดย plotstudio.bkk

Q : แปลว่าหน้าที่ของดีไซน์เนอร์ส่วนใหญ่จะจบที่การออกแบบ ไม่เกี่ยวกับการก่อสร้างใช่ไหมคะ?

ในมุมของคุณแพร์ หน้าที่ของ Interior Designer คือการออกแบบตกแต่งภายในให้เหมาะตรงกับความต้องการของลูกค้า ทั้งในแง่ฟังก์ชัน และ ความสวยงาม ส่วนขั้นตอนการก่อสร้างหรือว่าคัดเลือกผู้รับเหมานั้น คุณแพร์จะให้อิสระ แล้วแต่ลูกค้าในการเลือกผู้รับเหมา แต่ถ้าลูกค้าไม่มีผู้รับเหมาในใจ ทางคุณแพร์ก็สามารถแนะนำผู้รับเหมาที่เคยร่วมงานกันให้ได้

โดยหน้าที่ของ Interior Designer นั้น จะเสร็จสิ้นเกือบ 100% เมื่อทำแบบเสร็จและส่งมอบแบบก่อสร้างให้กับลูกค้า แต่ก็อาจจะเผื่องวดสุดท้ายอีกประมาณ 10% ผื่อการดูแลในขั้นตอนการก่อสร้าง เช่น การทำงานร่วมกันกับผู้รับเหมาและเจ้าของในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้าง หรือการปรับเปลี่ยนวัสดุหรือแบบที่เกิดขึ้นหน้างานจากขั้นตอนการก่อสร้างอีกที

Q : จำเป็นไหม ที่ Interior Designer ต้องดูแลระหว่างขั้นตอนการก่อสร้างคะ?

การช่วยดูแลหน้างานระหว่างที่ก่อสร้างนั้นขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างลูกค้ากับดีไซน์เนอร์ตั้งแต่ต้น ว่า Scope งานรวมถึงขั้นตอนนี้ด้วยไหม? ในกรณีของคุณแพร์มักจะช่วยดูจนจบงาน(สร้างเสร็จ) โดยจะอยู่ให้คำแนะนำทางเจ้าของและผู้รับเหมาในระหว่างการก่อสร้าง และอาจจะเข้าไปช่วยเช็กที่หน้างานประมาณเดือนละ 2 ครั้ง ดูว่าหน้างานสร้างตรงกับที่ออกแบบไว้หรือไม่ และเผื่อแก้ปัญหาหน้างานต่างๆ เช่น วัสดุที่ไม่ตรงกับแบบที่ออกแบบไว้ เป็นต้น

Image 1/2

ผลงานออกแบบ โดย plotstudio.bkk

ผลงานออกแบบ โดย plotstudio.bkk

Q : ระยะเวลาการทำงาน ในส่วนของการออกแบบใช้เวลานานไหม?

ในกรณีที่เป็นบ้านหรือคอนโดขั้นตอนการออกแบบจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทางเจ้าของบ้านหรือเจ้าของห้องด้วย คุณแพร์เล่าให้ฟังว่า ระหว่างออกแบบนั้น หลังจากที่ส่งแบบให้ลูกค้าดูแล้ว ระยะเวลาที่รอฟีดแบคจากลูกค้าก็เป็นเรื่องที่ดีไซน์เนอร์ควบคุมไม่ได้ ในบางครั้งที่เป็นการออกแบบบ้าน ความต้องการของเจ้าของบ้านอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไประหว่างออกแบบ ซึ่งทางดีไซน์เนอร์ส่วนใหญ่มักจะกำหนดไว้คร่าวๆ ว่าสามารถปรับแบบได้ไม่เกิน 2-3 ครั้ง แต่ละครั้งก็มีระยะเวลาในการทำงานอยู่ค่ะ

Q : ลูกค้าสามารถกำหนดงบประมาณในการตกแต่งภายในได้คร่าวๆไหม?

สำหรับใครที่อยากคำนวนงบประมาณตกแต่งภายในคร่าวๆ ก็สามารถลองเอาตร..ที่เราต้องการก่อสร้าง x 15,000 บาท ไปก่อนก็ได้ เป็นงบประมาณขั้นต่ำที่เป็นไปได้ในการก่อสร้าง ซึ่งในการออกแบบและก่อสร้างจริง ราคานี้ก็อาจจะไม่ตายตัว ปรับเปลี่ยนไปตามวัสดุและเฟอร์นิเจอร์ที่เลือกอีกที เช่น บางโครงการวัสดุที่ปูพื้นตามมาตรฐานใช้เป็นกระเบื้องลายหิน แต่ลูกค้าต้องการใช้เป็นหินจริง งบประมาณก็จะใช้เพิ่มขึ้นตามวัสดุที่ลูกค้าเลือกค่ะ

Image 1/4

ผลงานออกแบบ โดย plotstudio.bkk

ผลงานออกแบบ โดย plotstudio.bkk

Q : สุดท้ายนี้ คุณแพร์อยากฝากอะไรบ้างไหมคะ?

ในมุมมองของคนทั่วไปอาจจะคิดว่า การจ้าง Interior Designer เป็นสิ่งที่สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น ส่วนตัวในฐานะที่เป็น Interior Designer คิดว่าถ้าลูกค้ามีงบประมาณเพียงพอ ก็อยากให้ลงทุนกับการจ้าง Interior Designer เนื่องจากถ้าใครเคยทำบ้าน จะพบว่ารายละเอียดและขั้นตอนในการสร้างบ้านหลังนึงมีมากจริงๆ และถ้าหากผิดพลาดไปทุกอย่างเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมถึงอาจจะต้องทนอยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบ หรือไม่ตรงกับการใช้งานของตัวเอง หรือถ้าเกิดเหตุการณ์ว่าช่างก่อสร้างทำพลาดและไม่สามารถแก้ไขได้ การมีคนที่มีประสบการณ์คอยแนะนำ เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นและทำให้การก่อสร้างออกมาตรงตามความต้องการของเราเป็นสิ่งที่คุ้มค่านะคะ อีกทั้งขั้นตอนการออกแบบ ตั้งแต่การพูดคุยกับดีไซน์เนอร์จะช่วยให้ลูกค้าได้เข้าใจกับการใช้งานของตัวเองมากขึ้น และจะทำให้ลูกค้าได้สิ่งที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด เมื่อออกแบบเสร็จสิ้นแล้วลูกค้าจะเห็นภาพรวมทั้งหมดของสิ่งที่ต้องการก่อนก่อสร้างจริง ซึ่งจะช่วยลดความผิดพลาดในขั้นตอนการก่อสร้างไปได้อีกระดับนึงค่ะ

ติดตาม Plotstudio.bkk กันต่อได้ที่

MO residence © DOF Sky|Ground

ดีไซน์เนอร์คนต่อมาที่เราได้พูดคุยด้วย คือ คุณเพียว จาก Pure Architect co.,ltd. ค่ะ ซึ่งตัวออฟฟิศของคุณเพียวจะรับออกแบบงานสถาปัตยกรรมเป็นหลัก ทั้งรูปแบบ Residential และ Commercial & Offices โดยในส่วนที่เป็นที่อยู่อาศัยหรือ Residential นั้นก็จะมีทั้งสร้างเพื่ออยู่เอง หรือ สร้างเพื่อขายต่อ มีทั้งโครงการใหม่และงาน Renovate เลยค่ะ โดยคุณเพียวเล่าให้เราฟังว่า กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ที่เจอก็มักจะต้องการดีไซน์เนอร์ที่สามารถจบงานทั้งการออกแบบภายนอก(สถาปัตยกรรม) และ ออกแบบภายในได้ภายในตัว ทำให้ทางออฟฟิศของคุณเพียวดูแลทั้ง Architecture design และ Interior design ด้วย

Q : ดีไซน์เนอร์มีหน้าที่อะไรบ้างคะ ?

สำหรับคุณเพียวดีไซน์เนอร์ที่ดีจะให้ความสำคัญอยู่ 2 เรื่องคือ

  1. ช่วยดูแลสุนทรียภาพ เป็นสายตาแทนลูกค้า ควบคุมภาพรวมในการออกแบบให้ดูสวยงาม
    ลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาหาดีไซน์เนอร์ มักจะมีไอเดียที่กระจัดกระจาย ดังนั้น ดีไซน์เนอร์ก็จะมาช่วยดูแล ปรับส่วนที่เกิน เติมสิ่งที่ขาด สร้างสรรค์งานให้กลมกล่อมน่าสนใจ เหมาะสมกับงบประมาณที่ลูกค้ามี เหมือนกับพ่อครัวที่ปรุงอาหาร จากวัตถุดิบต่างๆ ออกมาให้อร่อยนั่นเอง
  2. ช่วยแก้ปัญหา ตั้งแต่การออกแบบฟังก์ชันการใช้งาน การลงรายละเอียดต่างๆ การเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม รวมไปถึงให้คำปรึกษาระหว่างการก่อสร้าง

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นคุณค่าของดีไซน์เนอร์ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ในการทำงาน เช่น ในการเลือกใช้วัสดุ เจ้าของบ้านก็อาจจะได้ฟังจากเซลล์ที่ขายสินค้านั้นๆ ก็จะเห็นแต่ข้อดีของวัสดุที่ตัวเองเจอ ดังนั้นในฐานะดีไซน์เนอร์ก็จะเป็นเหมือนบุคคลที่ 3 ที่มาช่วยให้คำแนะนำ หรือเป็นคนที่สามารถตัดสินใจได้ดีกว่าเจ้าของบ้านนั่นเอง

Image 1/8

MO residence © DOF Sky|Ground

MO residence © DOF Sky|Ground

Q : ขั้นตอนการทำงานกับดีไซน์เนอร์ เริ่มต้นจากอะไรคะ?

ในช่วงแรกจะเป็นการพูดคุยข้อมูลคร่าวๆ กับลูกค้าก่อนว่างานที่จะให้ทำประมาณไหน? เช่น เป็นบ้านสร้างใหม่ หรือว่ารีโนเวทโครงการเก่า มีข้อจำกัดอะไรบ้าง? ลูกค้าอยากได้ Mood&Tone ของงานให้ออกมาสไตล์ไหน? โดยลูกค้าอาจจะส่งรูปพื้นที่ที่ให้ออกแบบมาให้ดู พร้อมกับระยะคร่าวๆ รวมไปถึงงบประมาณที่ตั้งเอาไว้ เพื่อให้ดีไซน์เนอร์สามารถประเมินค่าออกแบบได้

Q : ในการคิดค่าออกแบบคุณเพียวมีหลักการในการประเมินอย่างไรบ้าง?

ในการคิดค่าออกแบบจะขึ้นอยู่กับลูกค้าแต่ละคน ซึ่งทางออฟฟิศก็มีการคิดค่าออกแบบทั้ง

  1. คิดจากปริมาณตร.ม.ที่ออกแบบ เช่น พื้นที่ที่ให้ออกแบบ 1,000 ตร.ม. ก็จะแบ่งคิดทีละฟังก์ชัน  โดยในแต่ละฟังก์ชันก็จะมีเรทราคาการออกแบบต่อตร.ม.ที่แตกต่างกัน เช่น โถงทางเข้า ค่าออกแบบต่อตร.ม. ก็จะไม่เท่ากับห้องนอน หลังจากนั้นก็จะคำนวณรวมกลับมาเป็นค่าออกแบบที่เสนอกลับไปที่ลูกค้า
  2. คิดเป็น % จากมูลค่าการก่อสร้าง เช่น บ้าน 100 ตร.ม.ที่มีงบประมาณ 5 ล้าน กับ 100 ตร.ม. ที่มีงบประมาณ 50 ล้าน ดีเทลในการออกแบบก็ย่อมมีความแตกต่างกัน ความคาดหวังของลูกค้าที่มีงบประมาณเยอะก็อาจจะถึงขึ้นต้องการความ Unique ในทุกจุดภายในบ้าน ซึ่งดีไซน์เนอร์ก็อาจจะต้องช่วยเลือก ช่วยดู ช่วยสั่งผลิตออกมา เป็นเหมือนกับการสร้างงาน Craft ชิ้นหนึ่งเช่นกัน ดังนั้น ในการประเมินค่าแบบก็จะดูควบคู่กันไปทั้งงบประมาณและเนื้องานที่ต้องทำด้วยครับ

Image 1/11

CRAFTEL ผลงานการออกแบบโดย Pure Architect co.,ltd.

CRAFTEL ผลงานการออกแบบโดย Pure Architect co.,ltd.

Q : ในการเซ็นสัญญากันจะมีการเก็บค่าออกแบบกี่งวด ยังไงบ้างคะ?

หลังจากตกลงเรื่องค่าออกแบบเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการเซ็นสัญญาเพื่อเริ่มทำงาน โดยทางออฟฟิศของคุณเพียวจะมีการแบ่งงวดงานเอาไว้ราวๆ 3-4 งวด

  • งวดที่ 1 : 30% สำหรับการเริ่มต้นทำงาน
  • งวดที่ 2 : 30-40% หลังจากจบ Part design
  • งวดที่ 3 : 30% หลังจากจบแบบก่อสร้าง
  • งวดที่ 4 : 10% หลังจากการก่อสร้างเสร็จสิ้น

** ในส่วนของงวดสุดท้ายนั้น ขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างดีไซน์เนอร์และเจ้าของบ้านเป็นหลัก ว่าเจ้าของต้องการให้มีในส่วนนี้ไหม ซึ่งราคาค่าบริการการออกแบบก็จะมีความแตกต่างอยู่เช่นกันค่ะ

Q : ระยะเวลาที่ใช้ในการออกแบบ นานไหมคะ?

โดยทั่วไป งานออกแบบจะใช้ระยะเวลาอยู่ที่ราวๆ 3-4 เดือน แต่ถ้าเป็นโปรเจคที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาหน่อย มีดีเทลการออกแบบที่เยอะ ก็อาจจะใช้เวลาออกแบบที่นานมากขึ้น แต่ก็ไม่เกิน 6 เดือนครับ

คุณเพียวเล่าให้ฟังว่า ในการออกแบบนั้น เบื้องต้นจะเป็นการพูดคุยเรื่อง Mood&Tone ในการออกแบบ มีการใช้ Plan ช่วยในการพูดคุยเกี่ยวกับฟังก์ชันการใช้งาน ระยะของพื้นที่การใช้งานต่างๆ โดยอาจจะมีการขึ้น Model 3 มิติ ให้ลูกค้าดู หรือ VR walk through ควบคู่ไปกับภาพ Perspective เพื่อแสดงให้เจ้าของบ้านเห็นถึง Space ต่างๆ ภายในบ้านว่าสวยไหม? ฟังก์ชันการใช้งานตอบโจทย์รึเปล่า? แต่ละส่วนจะเลือกใช้วัสดุอะไรยังไง? จนเป็นที่พึงพอใจ แล้วจึงไปสู่ขั้นตอนการเขียนแบบก่อสร้าง ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือนถึง 1 เดือนครึ่ง หลังจากนั้นถึงเป็นขั้นตอนการเลือกผู้รับเหมา และ ขั้นตอนการก่อสร้างตามมา

ในส่วนของการเลือกผู้รับเหมานั้น ลูกค้าบางรายอาจจะไม่มีผู้รับเหมาที่รู้จัก หรือไม่รู้จะหาผู้รับเหมายังไง ในกรณีนี้ทางบริษัทก็สามารถแนะนำผู้รับเหมาที่เหมาะกับงานที่ออกแบบไปเสนอลูกค้าได้ 2-3 ราย เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกด้วยตัวเองต่อ

Image 1/15

BAAN 54 ผลงานการออกแบบโดย Pure Architect co.,ltd.

BAAN 54 ผลงานการออกแบบโดย Pure Architect co.,ltd.

Q : สุดท้ายนี้ คุณเพียวอยากฝากอะไรบ้างไหม?

ในยุคนี้ถือว่าเป็นยุคของข้อมูลข่าวสารที่ทุกคนสามารถเปิด Pinterest หาแรงบันดาลใจกันได้ ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่ทุกงานหรือว่าทุกคนที่ต้องการดีไซน์เนอร์ให้มาช่วยออกแบบ สำคัญที่ตัวเจ้าของจะต้องรู้ว่าตัวเองว่าต้องการอะไร ให้คุณค่ากับการออกแบบมากขนาดไหน สิ่งที่ต้องการเหมาะกับการที่จะต้องให้ดีไซน์เนอร์มาช่วยหรือไม่

ในบางครั้ง ถ้าเจ้าของมีความต้องการชัดเจน ขนาดงานไม่ใหญ่มาก มี Reference ที่ชัด สิ่งที่ต้องการอาจจะเป็นเพียงภาพ Perspective จากดีไซน์เนอร์ก็เพียงพอกับความต้องการแล้ว อาจจะไม่จำเป็นถึงขนาดทำแบบก่อสร้าง ถ้ารู้ว่าเราต้องการเพียงเท่านี้ ก็สามารถตกลงกับดีไซน์เนอร์ตั้งแต่เริ่มต้นพูดคุย Scope งานและค่าใช้จ่าย เพื่อให้เหมาะสมกับสิ่งที่ต้องการได้เลย แต่ถ้าให้คุณค่าและความสำคัญในการออกแบบ บริการจากดีไซน์เนอร์ก็ถือว่าตอบโจทย์ครับ

ติดตาม Pure Architect co.,ltd. กันต่อได้ที่

ผลงานออกแบบ โดย Pasoot Interior

ดีไซน์เนอร์คนสุดท้ายที่เราได้พูดคุยด้วย ก็คือ คุณเอิร์ธ พสุธ จาก Pasoot Interior ค่ะ คุณเอิร์ธเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของเราอีกคนที่คณะสถาปัตย์ จบภาควิชาสถาปัตย์หลักมา แต่ตั้งใจมาทำงานออกแบบภายในเป็นอาชีพเต็มตัว เรามาดูมุมมองในการออกแบบและวิธีการทำงานของคุณเอิร์ธกันผ่านบทสัมภาษณ์นี้กันค่ะ

Q :  Pasoot Interior ออกแบบงานประเภทไหนบ้าง?

สำหรับ Pasoot Interior นั้น งานออกแบบที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ออกแบบภายในบ้านพักอาศัยขนาดใหญ่ สเกล 500-2,000 ตร.ม. และอีกส่วนจะเป็นการออกแบบงานในเชิง Commercial ที่เน้น Concept โดดเด่น มี Branding ที่ชัดเจน ในส่วนของบ้านพักอาศัย ตัวออฟฟิศของคุณเอิร์ธจะถนัดงานที่มี Detail ในการออกแบบเยอะ เนื่องมาจากวิธีการทำงานที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบให้เหมาะสมกับเจ้าของบ้านมากที่สุด

Image 1/5

ผลงานออกแบบ โดย Pasoot Interior

ผลงานออกแบบ โดย Pasoot Interior

Q : งานออกแบบที่เหมาะสมกับเจ้าของบ้านเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ในช่วงเริ่มต้นของการทำงาน คุณเอิร์ธจะเริ่มต้นจากการพูดคุยกับเจ้าของบ้านก่อน โดยจะให้ความสำคัญและให้เวลากับขั้นตอนนี้มาก เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่าเจ้าของบ้านเป็นคนอย่างไร ทั้งรสนิยม ความชอบ นิสัย รวมไปถึงวิถีการใช้ชีวิต เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาเป็นโจทย์ในการออกแบบให้เหมาะสมกับเจ้าของบ้าน ยิ่งรู้ข้อมูลเยอะเท่าไหร่ งานออกแบบที่ได้ก็จะเข้ากับเจ้าของบ้านมากเท่านั้น

ผลงานออกแบบ โดย Pasoot Interior

Q : ขั้นตอนการทำงานออกแบบ มีอะไรบ้าง?

ในขั้นตอนแรกจะเป็นการนัดเจอพูดคุยกัน ไปดูสถานที่จริงกันก่อน เพื่อให้ทั้งตัวดีไซน์เนอร์เองและลูกค้าได้เห็นหน้าค่าตากันว่าสามารถทำงานเข้ากันได้ไหม ก่อนที่จะตกลงเซ็นสัญญาทำงานร่วมกัน ทั้งนี้เนื่องมาจากในการออกแบบบ้านหลังหนึ่งนั้น ตั้งแต่เริ่มต้นออกแบบจนก่อสร้างเสร็จบางครั้งอาจกินเวลาไปถึง 2-3 ปีได้ ดีไซน์เนอร์เองจะต้องทำงานกับเจ้าของบ้านอย่างละเอียด แม้จะมีการกำหนดจำนวนครั้งที่ส่งงานหรือว่าจำนวนครั้งที่เข้าไปตรวจเช็คหน้างานตามที่ระบุไว้ในสัญญา แต่ด้วยตัวโปรเจคบ้านที่เจ้าของบ้านมักจะมีความละเอียดอ่อนสูง ทำให้ดีไซน์เนอร์มักจะต้องพบปะกับเจ้าของบ้านบ่อยครั้งมากกว่านั้น ความเข้ากันได้ระหว่างดีไซน์เนอร์และเจ้าของบ้านจึงสำคัญ เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ก็จึงเซ็นสัญญาการออกแบบเพื่อเริ่มทำงาน

เนื้องานที่ออฟฟิศ Pasoot Interior ทำถือว่าเป็น Full Scope Design ตั้งแต่ออกแบบ ไปจนถึงการเลือกงานศิลปะ หรือ Prop ที่มาตกแต่งภายในบ้าน ต้องให้คำปรึกษากับเจ้าของบ้าน และต้องทำงานร่วมกับทีมอื่นๆ อีก เช่น สถาปนิกที่ออกแบบบ้าน ผู้รับเหมา เพื่อให้งานออกมาไม่มีปัญหา การประสานงานหรือการทำงานร่วมกับทีมอื่นๆ ก็ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น บางครั้งการออกแบบภายในย่อมต้องสัมพันธ์กับงานออกแบบภายนอก เช่น การจัดวางหน้าต่าง ขนาดช่องแสง หรือแม้กระทั่งงานระบบต่างๆ ถ้าสามารถทำงานควบคู่พร้อมกันไปได้ ปัญหาที่ต้องแก้ไขระหว่างขั้นตอนก่อสร้างก็จะน้อยลง เป็นประโยชน์ต่อเจ้าของบ้านครับ

Image 1/3

ผลงานออกแบบ โดย Pasoot Interior

ผลงานออกแบบ โดย Pasoot Interior

Q : ในสัญญาการออกแบบ มีการแบ่งงวดงานไว้กี่งวด และ ใช้เวลาในการทำงานเท่าไหร่คะ?

ที่ Pasoot Interior จะแบ่งงวดงานไว้ค่อนข้างละเอียด ราวๆ 6-7 งวด

  • งวดที่ 1 : 10% เมื่อเซ็นสัญญาเริ่มทำงาน
  • งวดที่ 2 : 10-15% ช่วง Preliminary design เป็นขั้นตอนการทำความเข้าใจเจ้าของบ้าน เห็น Mood&Tone ให้เจ้าของบ้านรับรู้ว่าดีไซน์เนอร์จะเสนอ Space แบบไหนให้
  • งวดที่ 3 : 15% ช่วง Design Develop 1 เป็นการลงรายละเอียดที่ขมวดมาจากสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจากเจ้าของบ้าน ว่าชอบไม่ชอบอะไร เสนอเป็นทางเลือกให้กับเจ้าของบ้าน
  • งวดที่ 4 : 15% ช่วง Design Develop 2 จะเป็นการลงรายละเอียดมากขึ้น จากสิ่งที่เจ้าของบ้านเลือก
  • งวดที่ 5 : 20-25% ช่วง Design Develop 3 ช่วงพัฒนาแบบขั้นสุดท้าย ลงรายละเอียดจนถึงระดับ Material เพื่อจบขั้นตอนการออกแบบแล้วจึงไปสู่การเขียนแบบเพื่อก่อสร้าง
  • งวดที่ 6 : 30% หลังจากจบแบบก่อสร้าง
  • งวดที่ 7 : 10% เมื่อการก่อสร้างเสร็จสิ้น

ส่วนเรื่องระยะเวลาในการทำงานออกแบบ ตั้งแต่เริ่มงานจะใช้เวลาเพื่อพัฒนาแบบประมาณ 3-4 เดือน และมีระยะเวลาที่ทำแบบก่อสร้างอีกประมาณ 1-2 เดือน โดยรวมแล้วจะกินเวลาขั้นต่ำราวๆ 4-5 เดือนครับ

Q : คุณเอิร์ธมีหลักการคิดค่าแบบอย่างไรบ้างคะ?

ในการประเมินค่าแบบนั้น จะมีวิธีการคิดค่าแบบอยู่ที่ 10% ของค่าก่อสร้าง โดยค่าก่อสร้างก็จะเฉลี่ยอยู่ที่ 20,000-30,000 บาท/ตร.ม. ใครที่ไม่รู้ว่าจะกำหนดงบยังไง ก็สามารถนำราคาต่อตร.ม.นี้ไปคูณกับพื้นที่ที่ต้องการได้ แต่ว่าในการออกแบบนั้นทางออฟฟิศจะมีค่าออกแบบขั้นต่ำในใจอยู่ด้วยเช่นกัน

Image 1/2

ผลงานออกแบบ โดย Pasoot Interior

ผลงานออกแบบ โดย Pasoot Interior

Q : สุดท้ายนี้คุณเอิร์ธ อยากฝากอะไรไหมคะ?

ในการออกแบบที่ดี เรามองว่าไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา งานที่ดีมาจากการทำงานร่วมกันของทั้งสถาปนิก, Interior Designer และ เจ้าของบ้านที่ได้มาใช้เวลาพูดคุยกัน ข้อมูลจากเจ้าของบ้านจึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ที่ทำให้เกิดงานที่เหมาะสมและเข้ากับตัวตนของเจ้าของบ้านมากที่สุด

ส่วนในการทำงานจริงทุกงานนั้นยังไงก็ต้องเจอกับปัญหา จึงไม่อยากให้คิดแต่เพียงว่าทำยังไงเพื่อไม่ให้เจอ เพียงแต่ว่าเราต้องมีการวางแผน มีวิธีการรับมือ หรือเตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาเมื่อมันเกิดขึ้นมากกว่า จุดนี้จึงเป็นอีกสิ่งที่เรามองว่าสำคัญในการทำงานนี้ครับ

ติดตาม Pasoot Interior กันต่อได้ที่

ทิ้งท้าย

มาถึงช่วงสุดท้ายของบทความนี้กันแล้ว หวังว่าทุกคนคงเข้าใจบทบาทของดีไซน์เนอร์และขั้นตอนของการทำงานออกแบบ ผ่านดีไซน์เนอร์ทั้ง 3 คนที่เราได้ไปพูดคุยกันมานะคะ ส่วนตัวแล้วในฐานะที่เราเองก็เรียนจบทางด้านดีไซน์มา เรามองว่าการออกแบบไม่ได้มีคุณค่าเพียงแค่ความสวยงามเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเรื่องของฟังก์ชันการใช้งานอีกด้วย ในพื้นที่ขนาดเท่าๆ กัน คนสองคนย่อมมีความต้องการที่แตกต่างกัน ดีไซน์เนอร์จึงเป็นคนที่นำเอาความรู้ที่เรียน ประสบการณ์ที่มี มาช่วยออกแบบให้เหมาะกับแต่ละคนนั่นเองค่ะ

ถ้าใครชอบบทความนี้ มีคำแนะนำ ติชม หรือว่าอยากรู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องการออกแบบเพิ่มเติม ก็สามารถ Comment ทิ้งเอาไว้ได้นะคะ

ค่าออกแบบตกแต่งภายในคิดยังไง

ในการประเมินค่าแบบนั้น จะมีวิธีการคิดค่าแบบอยู่ที่ 10% ของค่าก่อสร้าง โดยค่าก่อสร้างก็จะเฉลี่ยอยู่ที่ 20,000-30,000 บาท/ตร.ม. ใครที่ไม่รู้ว่าจะกำหนดงบยังไง ก็สามารถนำราคาต่อตร.ม.นี้ไปคูณกับพื้นที่ที่ต้องการได้ แต่ว่าในการออกแบบนั้นทางออฟฟิศจะมีค่าออกแบบขั้นต่ำในใจอยู่ด้วยเช่นกัน

ค่าออกแบบกี่เปอร์เซ็น

บริษัทสถาปนิกเอกชน ทั่วไปแล้วจะอ้างอิงการคิดค่าบริการออกแบบตามมาตรฐานของสมาคมสถาปนิกสยามฯ ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 5-10% ของราคาก่อสร้าง ใช้เวลาออกแบบและเขียนแบบพิมพ์เขียวประมาณ 3-4 เดือน

คิดค่าออกแบบยังไง

สูตรง่ายๆในการคำนวณค่าบริการวิชาชีพของสถาปนิกในการออกแบบบ้านคร่าวๆ คือ งบประมาณค่าก่อสร้าง (ไม่รวมตกแต่ง) x เปอร์เซ็นต์ตามงบประมาณที่กำหนดไว้ในตาราง เช่น ถ้าต้องการก่อสร้างบ้านพักอาศัย 1 หลัง มีงบประมาณ 9 ล้านบาท ดังนั้น ค่าบริการวิชาชีพสถาปนิกจะเท่ากับ 675,000 บาท (9 ล้านบาท ใช้ 7.5 % ในการคำนวณ)

Interior Design เจ้าไหนดี

ชี้เป้า 10 บริษัท อินทีเรียดีไซน์ ที่เหมาะกับการตกแต่งบ้านในสไตล์ Luxury.
1. จ้างอินทีเรีย : I AM Interior Architect Master..
3. จ้างอินทีเรีย : KIRIN design&living..
4. จ้างอินทีเรีย : LUXIN Design..
5. จ้างอินทีเรีย : That's ITH..
6. จ้างอินทีเรีย : DAVIS Design Studio..
7. จ้างอินทีเรีย : 91's int.design..