เงินเฟ้อกับอัตราแลกเปลี่ยน

บลูกเบิร์กรายงานว่า เมื่อ 15:15 น. ของ 28 ก.ย. ค่าเงินบาทอยู่ที่ 38.2950 บาทด่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนจากเมื่อวาน 0.8% ตำ่สุดในรอบ 16 ปี และตกลงจากสิ้นปีที่แล้วไปกว่า 12%

การอ่อนตัวต่อเนื่องของเงินบาทไทย เป็นผลพวงจากธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ หรือเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ถึงระดับสูงสุดในรอบเกือบ 15 ปี เพื่อหวังสู้ค่าเงินเฟ้อที่ยังเพิ่มขึ้น

เมื่อ 21 ก.ย. เฟดเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75% ทำให้ดอกเบี้ยเพิ่มเป็น 3-3.25% ซึ่งทางเฟดยอมรับว่า การขึ้นดอกเบี้ยนี้ จะทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้พุ่งสูงขึ้น และจะสูงอยู่เช่นนี้เป็นระยะเวลาหนึ่ง

เจโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ กล่าวว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อลดอุปสงค์ และควบคุมให้ราคาสินค้าลดลง เป็นการหลีกเลี่ยงความเสียหายต่อเศรษฐกิจในระยะยาว ทั้งนี้ เขาก็ยอมรับว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบ

“เราต้องก้าวผ่านเงินเฟ้อไปให้ได้” เขากล่าวและว่า “ผมหวังว่ายาแรงจะไม่เจ็บปวด แต่มันไม่เป็นเช่นนั้น”

สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ คล้ายคลึงกับสหรัฐฯ เพราะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อพยายามแก้ปัญหาเงินเฟ้อ

นักวิเคราะห์เริ่มกังวลว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงในหลายประเทศทั่วโลก อาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวครั้งใหญ่ได้

การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 5 ติดต่อกันแล้ว และพุ่งถึง 3% อย่างรวดเร็ว จากเดิมที่อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมแทบจะเป็นศูนย์ ถือเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงที่สุดนับแต่ต้นปี 2008

นักวิเคราะห์และบรรดานักการเมืองคาดการณ์แล้วว่า เฟดอาจดันอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปถึง 4.4% ภายในสิ้นปีนี้ และจะยังเพิ่มสูงในปี 2023

“สิ่งที่น่าตกใจคือความเร็ว” ไบรอัน โคลตัน หัวหน้านักเศรษฐกิจ บริษัท ฟิทช์เรทติงส์ กล่าว

“เฟดต้องขยับตัวเร็ว...ซึ่งจะกระทบบริษัทและครัวเรือนอย่างแน่นอน”

คำบรรยายภาพ,

เจโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด

เบน เมย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจมหภาค ของออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ ระบุว่า เศรษฐกิจโลกตอนนี้ แม้จะยังไม่เข้าสู่ภาวะชะลอตัว หลังตัวเลขเศรษฐกิจช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2022 ยังทรงตัวดีอยู่ แต่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2023 จะอ่อนตัวลงหนักสุดในรอบ 10 ปี ไม่นับปี 2020 ที่เกิดการระบาดใหญ่ของโควิด

“สิ่งที่เห็นได้ชัด คือ หากต้องเลือกระหว่างการปล่อยให้เงินเฟ้อยังสูงอยู่เป็นเวลานาน...กับการผลักเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะชะลอตัว บรรดาผู้นำอำนวยการธนาคารกลาง ดูจะเลือกผลักเศรษฐกิจสู่ภาวะชะลอตัว เพื่อให้เงินเฟ้อกลับไปอยู่ระดับเป้าหมายให้ได้” เขากล่าว

ยังห่างไกล "วิกฤตต้มยำกุ้ง" รอบใหม่

ในวาระครบรอบ 25 ปี ของวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย หรือ "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกรายงานวิเคราะห์เปรียบเทียบกับสถานการณ์ในปีนี้ที่เงินบาทในปีนี้มีทิศทางอ่อนค่าสอดคล้องกับหลายสกุลเงินในเอเชีย มีสาเหตุจากผลกระทบจากปัจจัยของเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ

“เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว จะพบว่า สถานการณ์ในปัจจุบันมีความแตกต่างจากปี 2540 เพราะในปี 2540 เงินบาทที่อ่อนค่าเป็นผลมาจากการปรับอ่อนค่าหลังมีการลอยตัวค่าเงินเพื่อสะท้อนปัจจัยพื้นฐานที่อ่อนแอของไทยในเวลานั้น นอกจากนี้หากดูในเรื่องความผันผวนของค่าเงิน จะพบว่า ค่าความผันผวนของเงินบาทในปี 2565 ก็ยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับภาพรวมของสกุลเงินเอเชียอื่น ๆ ซึ่งสะท้อนว่า ธปท. ยังคงช่วยดูแลความเคลื่อนไหวและลดความผันผวนของค่าเงินบาทท่ามกลางปัจจัยไม่แน่นอนรอบด้าน”

สิ่งหนึ่งที่รายงานฉบับนี้อธิบายให้เห็นว่า ประเทศไทยได้เรียกรู้จากบทเรียนครั้งนั้น ที่นำมาสู่จุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ คือ การให้ความสำคัญกับทุนสำรองระหว่างประเทศมากขึ้น

เมื่อพิจารณาทุนสำรองระหว่างประเทศในเดือน มิ.ย. มีอยู่ราว 2.51 แสนล้านบาทถือว่าแข็งแกร่ง ขณะที่สัดส่วนหนี้ต่างประเทศก็ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 38.2% ต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2564 นอกจากนี้ทางการได้เข้ามาดูแลการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นระยะผ่านมาตรการ อาทิ การกำหนดเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan to Value - LTV) ซึ่งภาพเหล่านี้สะท้อนการเรียนรู้บทเรียนจากอดีตและการวางแนวทางเพื่อไม่ให้ไทยซ้ำรอยเดิม

การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดทำให้เงินบาทไทยมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเรื่อย ๆ และอาจเข้าใกล้แดน 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ยิ่งทำให้ความหวังที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาราชการนายกรัฐมนตรี ต้องการให้เงินบาทอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ยิ่งห่างไกลออกไปทุกที

วานนี้ (21 ก.ย.) พล.อ. ประวิตร เปิดเผยว่าได้ สั่งการกระทรวงการคลังหารือกับ ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ปัญหาค่าเงินบาทอ่อน โดยยอมรับว่าในการประชุมคณะรัฐมตรี (ครม.) ตนเองกล่าวถึงค่าเงินบาทว่าควรจะอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

“ผมบอก ผมบอกว่าควรจะ” คงค่าเงินบาทอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นคำกล่าวที่เหมือนส่งสัญญาณให้ล็อกค่าเงินบาท

ด้าน อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับเมื่อวานนี้ (21 ก.ย.) ว่า เงินบาทอ่อนค่าเร็วเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่คงไม่ดำเนินการถึงกับคุมค่าเงินบาท ตามคำกล่าวของ พล.อ. ประวิตร เพราะต้องดูปัจจัยการขึ้นของเงินบาทก่อน

“ประเด็นที่จะคุยกับ ธปท. นั้น เราก็ต้องถามว่ามีปัจจัยอะไรมากระทบบ้าง จะมีการกำหนดแนวทางไหม ดูแลอย่างไร จริง ๆ แล้วค่าเงิน ธปท.ดูแลอยู่แล้ว เราจะไปกำหนดในเรื่องพวกนี้ไม่ได้ เพียงแต่บอกว่าเรามีความเป็นห่วง การที่อ่อนเร็วเกินหรือไม่ จะกระทบอะไร เพราะในด้านซับพลายไซต์ เราก็ดูแลเต็มที่”

“เราอ่อนเร็ว คนอื่นเขาแข็งเร็วหรือเปล่า...อันนี้ต้องดูหลาย ๆ ปัจจัย” ส่วนความวิตกต่อดอกเบี้ยสหรัฐฯ นั้น

ความเห็นของ พล.อ.ประวิตร เรียกเสียงวิจารณ์จากนักเศรษฐศาสตร์ภาคเอกชนว่า ไม่เหมาะสม ฝืนกลไกตลาด และอาจทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศร่อยหรออย่างรวดเร็ว หากใช้ไปเพื่อการปกป้องค่าเงิน ดังที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยทำ จนนำไปสู่การลอยตัวเงินบาท เมื่อ 2 ก.ค. 2540

ล่าสุด วันนี้ (22 ก.ย.) พล.อ.ประวิตร​ ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้พยายามแทรกแซงค่าเงินบาท โดยตอบว่า “ไม่มี ไม่เกี่ยว”

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นกับบีบีซีไทยว่า การบริหารนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของรัฐบาล เป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติในการดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท รัฐบาลเพียงมีหน้าที่กำกับ ประสานงานกันในการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ เสถียรภาพการเงิน ดูแลเงินเฟ้อและค่าเงินให้อยู่ระดับที่เหมาะสม

ธนาคารกลางมีมาตรการหรือเครื่องมือในการดูแลเสถียรภาพค่าเงินหลายเครื่องมือแต่ต้องไม่ใช้เครื่องมือในลักษณะฝืนกลไกตลาด เพราะจะเกิดผลเสียหาย มากกว่า ผลดี

"ไม่ควรสั่งการ เพราะทำให้ธนาคารขาดความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของการดำเนินนโยบายการเงินลดลง อย่างไรก็ตาม ฝ่ายการเมือง (ผ่านกระทรวงการคลัง) สามารถประสาน หรือ กำกับได้ ตามระบบของการดำเนินนโยบายการเงินแบบใช้เงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย Inflation Targeting Monetary Policy"

"แบงก์ชาติต้องไปแถลงเป้าหมายเงินเฟ้อต่อรัฐสภา และต้องหารือเรื่องการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อกับกระทรวงการคลัง นั่นก็คือ การกำกับทิศทางของนโยบายการเงิน ส่วนการดำเนินการตามเป้าหมาย ต้องให้อิสระแบงก์ชาติ โดยฝ่ายการเมืองไม่ควรแทรกแซง ต้องให้แบงก์ชาติมีอิสระในการดำเนินการ แต่ความเป็นอิสระนี้ต้องยึดโยงกับความรับผิดชอบสาธารณะ"

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

ขณะที่ รศ.ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อธิบายบีบีซีไทยว่า สถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 แตกต่างจากปัญหาทางเศรษฐกิจการเงินขณะนี้

ช่วงเวลาก่อนไทยเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว "เราได้ตรึงค่าเงินบาทภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ให้แข็งค่าเกินปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมาก" เพราะไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมหาศาลต่อเนื่องหลายปี จึงเป็นเป้าของการโจมตีค่าเงินและเก็งกำไรค่าเงิน

"แล้วแบงก์ชาติก็ตัดสินใจผิดพลาดทางนโยบาย เอาทุนสำรองไปปกป้องค่าเงินบาท แทนที่จะปล่อยลอยตัว ทำให้สูญเสียทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวน ซ้ำเติมวิกฤติเศรษฐกิจที่ใกล้ปะทุเต็มที่แล้ว"

ในที่สุดก็ต้องลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่ 2 ก.ค. 2540 เงินบาทก็ไหลลงอย่างหนักไปแตะระดับ 56 บาทต่อดอลลาร์ช่วงต้นปี 2541 ส่วนสถานการณ์เงินบาทอ่อนปัจจุบัน เป็นผลจากปัจจัยภายนอกมากกว่า ปัจจัยภายในของไทยเองเป็นปัจจัยรอง คือ เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟด สหรัฐฯ มีเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีกว่าไทยมาก"

"ปัจจัยภายในของไทยเอง เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าศักยภาพมาก การสูญเสียรายได้จำนานมากจากภาคท่องเที่ยวต่างชาติทำให้ไทยขาดดุลบัญเดินสะพัด ขาดดุลการค้าจากการนำเข้าพลังงานแพง แต่คาด ดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดจะทยอยเกินดุลเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีและปีหน้า" รศ.ดร. อนุสรณ์ อธิบาย

น่ากังวลแค่ไหน เมื่อบาทอ่อนสุดในรอบ 16 ปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ออกบทวิเคราะห์เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา ได้อธิบายถึง ภาพรวมการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทนับตั้งแต่ต้นปี 2565 ยังคงเป็นทิศทางที่สอดคล้อง และเกาะกลุ่มไปกับทิศทางค่าเงินหยวน และสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค โดยเงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ 10% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์เป็นอันดับ 5 ในเอเชีย ตามหลังเงินเยนของญี่ปุ่น เงินวอนของเกาหลีใต้ เงินเปโซของฟิลิปปินส์ และเงินดอลลาร์ไต้หวันตามลำดับ

“การอ่อนค่าของทุกสกุลเงินในเอเชียที่กระจายเป็นวงกว้าง สะท้อนว่า ชนวนสำคัญมาจากเรื่องของเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่แข็งค่าอย่างมากตามจังหวะการคุมเข้มนโยบายการเงินแบบแข็งกร้าวของเฟด”

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมของเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตโควิด ก็มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวขึ้น

ส่วนประเด็นค่าเงินบาทที่อ่อนลง สำนักวิจัยแห่งนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า มีความแตกต่างไปจากสถานการณ์ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงเวลานั้นเศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาเรื้อรังจากความไม่สมดุลหลายด้านพร้อมกัน และต้องใช้เวลานานกว่าที่จะคลี่คลายลง

นอกจากนี้ ธปท. ยังคงติดตามสถานการณ์ของเงินบาทอย่างใกล้ชิด และใช้เครื่องมือที่เหมาะสมอย่างระมัดระวัง เพื่อดูแลเสถียรภาพของค่าเงิน

ในขณะนี้ แบงก์ชาติไม่สามารถให้สัมภาษณ์หรือให้ความเห็นเกี่ยวกับการตัดสินนโยบายการเงินได้เป็นเวลา 7 วันก่อนหน้าวันประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) หรือที่เรียกว่า “silent period” ซึ่งการประชุมครั้งถัดไปจะมีขึ้นในวันที่ 28 ก.ย.

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 10 ส.ค. กนง. ได้มีมติปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 0.50% เป็น 0.75% ต่อปี โดยหวังว่าจะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต โดยประเมินว่าจะไม่กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

ค่าเงินอ่อนค่าส่งผลกระทบต่อการส่งออกและท่องเที่ยวอย่างไร

รศ. ดร. อนุสรณ์ บอกว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทอ่อนค่าจะส่งผลดีต่อภาคส่งออกและท่องเที่ยวอย่างแน่นอน เพราะราคาในรูปของเงินต่างประเทศโดยเฉพาะเงินดอลลาร์ถูกลง แต่ผลบวกจะไม่มาก เพราะเงินสกุลเอเชียที่เป็นคู่แข่งก็อ่อนค่าด้วยเช่นเดียวกัน อย่างเงินเยนก็อ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบ 24 ปี ทะลุระดับ 145 เยนต่อดอลลาร์ เงินหยวนทะลุ 7 หยวนต่อดอลลาร์

เงินทั้งสองสกุลนี้ มี ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Positive Correlation Coefficient) เป็นบวก คือ เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันและมีความสัมพันธ์กันในระดับสูง

และเมื่อเงินหยวนอ่อนค่าลงอย่างมากไปทดสอบแนวต้านทางด้านจิตวิทยา ที่ 7 หยวนต่อดอลลาร์ ย่อมส่งผลให้เงินบาทเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เงินหยวนกับเงินบาทนั้นอยู่ที่ 0.60-0.70 โดยประมาณ ทำให้เงินบาทและเงินหยวนจึงอ่อนค่าไปในทิศทางเดียวกัน

แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะเป็นอย่างไร

อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธปท. บอกว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป น่าจะมีการปรับขึ้น 0.25%-0.50% ปลายเดือนนี้ และ ครั้งต่อไป 0.25% อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะอยู่ที่ระดับ 1.25-1.50% ในช่วงปลายปี

ช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยไทย กับดอกเบี้ยสหรัฐฯ จะถ่างกว้าง 2.50-2.75% ผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรเงินบาทกับพันธบัตรก็จะยิ่งกว้าง เงินทุนระยะสั้นคงไหลออกบ้าง แต่ไม่จำเป็นต้องวิตกกังวล เพราะไม่ได้กระทบอะไรกับคนส่วนใหญ่ เป็นหน้าที่ของนักลงทุนในตลาดการเงินต้องบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนกันเอง ในระยะต่อไป ธนาคารพาณิชย์ก็จะปรับอัตราดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งเงินกู้และเงินฝาก อัตราดอกเบี้ยในตลาดโดยรวมก็เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนการเงินของครัวเรือนและภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยที่อัตราเงินเฟ้อก็อาจชะลอตัวลงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะเงินเฟ้อไทยมีปัจจัยทางด้านอุปทานเป็นตัวขับเคลื่อน ไม่ใช่อุปสงค์ขยายตัวร้อนแรง

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเมื่อ 28 ก.ย. ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็น 1% หลังจากเมื่อ 10 ส.ค. มีมติ 6 ต่อ 1 ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 0.50% เป็น 0.75% ต่อปี

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ กนง. แถลงว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 ต่อปีโดยให้มีผลทันที

เขาแถลงด้วยว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามแรงส่งของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน เป็นสำคัญ ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับสูงจากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แม้แรงกดดันด้านอุปทานจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มคลี่คลาย ในภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อใกล้เคียงกับที่ได้ประเมินไว้ก่อนหน้า คณะกรรมการฯ เห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นโยบายยังเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่เหมาะสม จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ร้อยละ 0.25 ต่อปีในการประชุมครั้งนี้