ยุคสมัยในข้อใดที่มนุษย์

        ประวัติศาสตร์เป็นการศึกษาเหตุการณ์และพฤติกรรมของมนุษย์ในอดีต ซึ่งเกิดในช่วงเวลาและยุคสมัยต่างกัน ฉะนั้นเพื่อความสะดวกในการศึกษาเรื่องราวของมนุษย์ในอดีต นักประวัติศาสตร์ได้แบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ออกเป็น 2 สมัย โดยอาศัยหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นเกณฑ์ ได้แก่ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (Prehistorical Period) เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์ยังไม่รู้จักใช้ตัวหนังสือในการเล่าเรื่องราว และสมัยประวัติศาสตร์ (Historical Period) เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์ใช้ตัวหนังสือในการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆในสังคม

        ในปัจจุบันองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้กำหนดอายุยุคสมัยเพิ่มขึ้นมาอีก 1 สมัย เรียกว่า สมัยกึ่งก่อนประวัติศาสตร์ (Protohistorical Period) ซึ่งเป็นยุคสมัยที่มนุษย์ในสังคมนั้นยังไม่รู้จักใช้ตัวอักษรบันทึกเรื่องราวของตนเองแต่มีผู้คนจากสังคมอื่นซึ่งได้เดินทางผ่าน และได้บันทึกเรื่องราวถึงผู้คนเหล่านั้นไว้

สมัยก่อนประวัติศาสตร์

        สมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือ ช่วงเวลาที่มนุษย์ยังไม่รู้จักใช้ตัวหนังสือ จึงยังไม่มีเอกสารใดๆที่จดบันทึกเรื่องราวให้มนุษย์ยุคหลังได้ทราบ การศึกษาเรื่องราวในสมัยก่อนประวัติศาสตร์จึงต้องอาศัยการสันนิษฐานและการตีความจากหลักฐานทางโบราณคดีและหลักฐานทางสภาพแวดล้อม สมัยก่อนประวัติศาสตร์สามารถแบ่งเป็น 2 ยุค   ได้แก่ ยุคหินและยุคโลหะ

ยุคหิน (Stone Age)

ยุคหินแบ่งออกเป็นยุคย่อย 3 ยุค คือ ยุคหินเก่า ยุคหินกลาง และยุคใหม่

    1. ยุคหินเก่า (Paleolithic Period หรือ Old Stone Age) ประมาณ 2,500,000-10,500 ปีมาแล้ว มนุษย์ในยุคนี้เริ่มทำเครื่องมือเครื่องใช้ด้วยหินอย่างง่ายก่อน เมื่อเวลาผ่านไปก็สามารถดัดแปลงให้เหมาะสมกับการใช้งานเครื่องมือหิน มนุษย์ใช้วัสดุจำพวกหินไฟ ซึ่งในยุคสมัยนี้สามารถแบ่งเครื่องมือยุคหินเก่าออกเป็น 3 ช่วง คือ

    ยุคหินเก่าตอนต้น ประมาณ 2,500,000 – 180,000ปีมาแล้ว เครื่องมือเครื่องใช้ทำด้วยหินมีลักษณะเป็นขวานกระเทาะแบบกำปั้น

    ยุคหินเก่าตอนกลาง ประมาณ 180,000 – 49,000 ปีมาแล้ว เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยหินมีลักษณะแหลมคม มีด้ามยาวขึ้น และมีประโยชน์ในการใช้สอยมากขึ้น        

    ยุคหินเก่าตอนปลาย ประมาณ 49,000 – 10,500 ปีมาแล้ว เครื่องมือเครื่องใช้มีความหลากหลายกว่ายุคก่อน ได้แก่ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากหินและกระดูกสัตว์โดยการแกะสลัก เช่น เข็มเย็บผ้า ฉมวก หัวลูกศร และทำเครื่องประทับด้วยเปลือกหอยและกระดูกสัตว์

        ลักษณะสังคมในยุคหินเก่าเป็นสังคมล่าสัตว์ เนื่องจากมนุษย์ในยุคนี้ดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์และหาพืชผักผลไม้จากป่าเป็นอาหาร เร่ร่อนอพยพตามฝูงสัตว์ และแสวงหาแหล่งที่อยู่ที่อุดมสมบูรณ์ไปเรื่อยๆ และพบว่าในช่วงปลายยุคหินเก่ามนุษย์มีความสามารถทางด้านศิลปะ ซึ่งพบภาพวาดตามผนังถ้ำที่ใช้ฝุ่นสีต่างๆ ได้แก่   สีดำ น้ำตาล ส้ม แดงอ่อน และเหลือง ภาพที่วาดส่วนใหญ่เป็นภาพสัตว์ป่า เช่น วัวกระทิง ม้าป่า กวางแดง และกวางเรนเดียร์ ภาพวาดที่มีชื่อเสียงของมนุษย์ยุคหินเก่าอยู่ที่ถ้ำลาสโก ประเทศฝรั่งเศส

    สภาพสังคมที่มีลักษณะของการอยู่รวมกันเป็นครอบครัว เป็นกลุ่มย่อยๆ เพื่อการดำรงชีวิตมีการจัดระเบียบของกลุ่มทั้งด้านความร่วมมือและการแบ่งหน้าที่กัน ผู้ชายออกล่าสัตว์ ผู้หญิงดูแลเด็กและหาผลไม้ ลักษณะทางสังคมก่อให้เกิดสิ่งสำคัญ คือ เครื่องมือและภาษาพูด ซึ่งนำไปสู่การถ่ายทอดและพัฒนาความรู้ของมนุษย์

    2.ยุคหินกลาง (Mesolithic Period หรือ Middle Stone Age)

ประมาณ 10,500 – 10,000 ปีมาแล้ว มนุษย์ในช่วงนี้เริ่มทำเครื่องจักรสาน เช่น ตะกร้าสาน ทำรถลาก เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยหินในยุคนี้มีความประณีตมากขึ้น ตลอดจนรู้จักนำสุนัขมาเลี้ยงสัตว์เลี้ยง

        ในยุคหินกลาง มนุษย์รู้จักเลี้ยงสัตว์และเริ่มมีการเพาะปลูก แต่อาชีพหลักของมนุษย์ในยุคนี้ยังคงเป็นการล่าสัตว์ และยังเร่ร่อนไปตามแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ โดยมักตั้งหลักแหล่งอยู่ตามแหล่งน้ำชายฝั่งทะเล และบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบอาชีพประมง ล่าสัตว์

    3.ยุคหินใหม่ (Neolithic Period หรือ New Stone Age)ประมาณ 10,000 – 4,000 ปีมาแล้ว มนุษย์ในยุคนี้อาศัยอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน ดำรงชีวิตด้วยการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์การเพาะปลูกได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของมนุษย์จากสังคมล่าสัตว์มาเป็นสังคมเกษตรกรรม ที่ตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง มีการสร้างที่พักอาศัยถาวรเป็นกระท่อมดินเหนียว และตั้งหลักแหล่งตามบริเวณลุ่มน้ำ

        ยุคหินใหม่เป็นยุคเกษตรกรรม พืชเพาะปลูกที่สำคัญในยุคนี้ คือ ข้าว พืชอื่น เช่น ถั่ว ฟัก บวบ ส่วนสัตว์เลี้ยง ได้แก่ สุนัข แพะ แกะ และยังคงล่าสัตว์ เช่น กวาง กระต่าย เต่า ตะพาบ รวมทั้งยังคงทำการประมง 

        มนุษย์ในยุคหินใหม่ยังคงมีความเชื่อและประกอบพิธีกรรมในรูปแบบต่างๆ เพื่อบูชาสิ่งเหนือธรรมชาติ โดยเฉพาะการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้พืชที่เพาะปลูกเจริญงอกงาม มีฝนตกตามฤดูกาล

        สภาพชีวิตมนุษย์ในยุคหินใหม่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่จากที่สูงมาอยู่ที่ราบใกล้แหล่งน้ำ โดยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นหมู่บ้านบนเนิน และดำรงชีวิตตามลักษณะเศรษฐกิจใหม่ ได้แก่ เกษตรกรรม การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ รู้จักการทำเครื่องปั้นดินเผา การทำเครื่องจักรสาน การทอผ้า และพบว่ามีผลผลิตมากกว่าที่จะบริโภค ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและการค้าขาย

        เนื่องจากมีการตั้งถิ่นฐานถาวร จึงทำให้มีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น สังคมยุคหินใหม่จึงมีความซับซ้อน มีการจัดสถานะทางสังคม มีการแบ่งงานกันทำ มีการทำงานเฉพาะด้าน และมีการติดต่อแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างชุมชน    

        เครื่องมือเครื่องใช้ยุคหินใหม่มีการประดิษฐ์อย่างประณีต โดยทำจากวัสดุพวกหิน กระดูกและเขาสัตว์ เครื่องมือที่สำคัญในยุคนี้ คือ ขวานหินด้ามไม้ และเคียวหินเหล็กไฟด้ามไม้ นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือเครื่องใช้อื่นๆ สำหรับใช้ปั่นฝ้าย ทอผ้า ทำเครื่องปั้นดินเผา ฯลฯ

ยุคโลหะ (Metal Age)

        โลหะชนิดแรกที่มนุษย์รู้จักนำมาหลอมเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ คือ ทองแดง ปรากฏหลักฐานในบริเวณลุ่มน้ำไทกริสและยูเฟรติส แสดงว่ามนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณนั้นรู้จักนำทองแดงมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ก่อนที่จะรู้วิธีทำสำริด ยุคโลหะแบ่งออกเป็น 3 ยุคย่อย คือ ยุคทองแดง ยุคสำริด และยุคเหล็ก

1. ยุคทองแดง (Chalcolithic Age) มนุษย์ยุคนี้ได้มีการนำทองแดงมาทำอาวุธ สิ่งของเครื่องใช้และเครื่องประดับแต่ก็ยังคงมีเครื่องมือหินขัดใช้อยู่

2. ยุคสำริด (Bronza Age) ยุคสำริดเริ่มต้นในภูภาคต่างๆ ของโลกเมื่อประมาณ 4,000 – 2,700 ปีมาแล้ว

3. ยุคเหล็ก (Iron Man) ช่วงเวลานี้เริ่มต้นจากพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีการผลิตโลหะของมนุษย์ที่สามารถหลอมโลหะประเภทเหล็กขึ้นมาทำเครื่องมือเครื่องใช้ได้ เมื่อประมาณปี 2,700 – 2,000 ปีมาแล้ว

        สำริดเป็นโลหะผสมระหว่างทองแดงกับดีบุก กรรมวิธีการทำสำริดค่อนข้างยุ่งยาก ตั้งแต่การหาแหล่งแร่ การเตรียม การถลุงแร่ และการผสมแร่ในเบ้าหลอม จากนั้นจึงเป็นการขึ้นรูปทำเครื่องมือเครื่องใช้ด้วยการตีหรือการหล่อในแม่พิมพ์หินทรายหรือแม่พิมพ์ดินเผา

        เครื่องมือเครื่องใช้ในยุคสำริดที่พบตามแหล่งต่างๆ ในภูมิภาคต่างๆ ของโลกนอกจากทำด้วยสำริดแล้ว ยังพบเครื่องมือเครื่องใช้ทำจากดินเผา หิน และแร่ ในบางแหล่งมีการใช้สำริดต่อเนื่องมาจนถึงยุคเหล็ก เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากสำริดมีขวาน หอก ภาชนะ กำไล ตุ้มหู ลูกปัด ฯลฯ

        ในยุคนี้ความเป็นอยู่ของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปมากทั้งด้านการเมืองและสังคม ชุมชนเกษตรกรรมขยายตัวจนกลายเป็นชุมชนเมือง จึงมีการจัดแบ่งความสัมพันธ์ตามความสามารถ เช่น กลุ่มอาชีพ มีการจัดระเบียบสังคมเป็นกลุ่มชนชั้นต่างๆ ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการผลิต อันนำไปสู่ความมั่นคงปลอดภัยกว่าเดิม และมีความสะดวกสบายมากขึ้น นำไปสู่พัฒนาการทางสังคมสู่ความเป็นรัฐในเวลาต่อมา

        แหล่งอารยธรรมที่สำคัญๆของโลกล้วนมีพัฒนาการทางสังคมจากช่วงเวลายุคหินใหม่และยุคสำริด เช่น แหล่งอารยธรรมเมโสโปเตเมียในภูมิภาคเอเชียตะวันตก แหล่งอารยธรรมลุ่มน้ำไนล์ในอียิปต์ แหล่งอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุในอินเดีย แหล่งอารยธรรมลุ่มน้ำหวางเหอในจีน

        ประมาณ 2,700-2,000 ปีมาแล้ว ช่วงเวลานี้เริ่มต้นจากพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีการผลิตโลหะของมนุษย์ที่สามารถหลอมโลหะประเภทเหล็กขึ้นมาทำเครื่องมือเครื่องใช้ได้ เหล็กมีความแข็งแกร่งคงทนกว่าสำริดมาก การผลิตเหล็กต้องใช้อุณหภูมิสูงและมีกรรมวิธียุ่งยาก

        สังคมที่สามารถพัฒนาการผลิตเหล็กจะสามารถพัฒนาสู่ความเป็นรัฐ เพราะการผลิตเหล็กทำให้สังคมสามารถผลิตอาวุธได้ง่ายและแข็งแกร่งขึ้น จนสามารถขยายกองทัพได้ และมีเครื่องมือที่เหมาะสมต่อการทำการเกษตรที่มีความคงทนกว่า

        แหล่งอารยธรรมแห่งแรกที่สามารถผลิตเหล็กได้ คือ แหล่งอารยธรรมเมโสโปเตเมีย เมื่อประมาณ 3,200 ปีมาแล้ว

        ยุคเหล็กมีความแตกต่างจากยุคสำริดหลายประการ คือ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเหล็กทำให้เกิดการเพิ่มผลผลิต การผลิตเหล็กทำให้กองทัพมีอาวุธที่แข็งแกร่งนำไปสู่พัฒนาการทางสังคมจนกลายเป็นรัฐที่มีกำลังทหารที่เข้มแข็ง เข้ายึดครองสังคมอื่นๆ ขยายเป็นอาณาจักรในเวลาต่อมา

สมัยประวัติศาสตร์

        สมัยประวัติศาสตร์เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์ในสังคมนั้นรู้จักการเขียน มีตัวอักษรสำหรับใช้จดบันทึก ทำให้ชนรุ่นหลังสามารถเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ของมนุษย์ในอดีตได้ ทั้งนี้แต่ละสังคมจะเริ่มต้นสมัยประวัติศาสตร์ไม่พร้อมกัน

        การศึกษาประวัติศาสตร์สากลมีความแตกต่างกันระหว่างการศึกษาประวัติศาสตร์ตะวันออกกับประวัติศาสตร์ตะวันตก โดยประวัติศาสตร์ตะวันออกแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ตามช่วงเวลาของแต่ละราชวงศ์หรือศูนย์กลางอำนาจเป็นเกณฑ์ เช่น ประวัติศาสตร์จีน ใช้เกณฑ์ช่วงเวลาของแต่ละราชวงศ์ในการแบ่งยุคสมัย ขณะที่ประวัติศาสตร์ตะวันตกใช้เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นเกณฑ์ในการแบ่งยุคสมัย

        การแบ่งยุคสมัยในประวัติศาสตร์ตะวันออก

ในการแบ่งยุคสมัยในประวัติศาสตร์อารยธรรมตะวันออกจัดแบ่งไปตามภูมิภาคต่างๆ เนื่องจากประวัติศาสตร์อารยธรรมของแต่ละภูมิภาคจะมีลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งแต่ละภูมิภาคมีการจัดหลักเกณฑ์การแบ่งยุคสมัยต่อไปนี้

การแบ่งยุคสมัยในประวัติศาสตร์ตะวันออก

    1.การแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์จีน แนวความคิดในการจัดแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์จีนใช้พัฒนาการทางอารยธรรมและช่วงเวลาที่ราชวงศ์ต่างๆ มีอำนาจในการปกครอง เป็นหลักเกณฑ์ในการจัดแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์จีน ซึ่งสามารถแบ่งยุคสมัยออกได้เป็นประวัติศาสตร์จีนสมัยโบราณ (1570 ปีก่อนคริสต์ศักราช – ค.ศ. 220) ประวัติศาสตร์จีนสมัยกลาง(ค.ศ. 220 - 1368) ประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่(ค.ศ.1368 -1911) และประวัติศาสตร์จีนสมัยปัจจุบัน (ค.ศ. 1911-ปัจจุบัน)

    2.การแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์อินเดีย การแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์อินเดียใช้หลักเกณฑ์พัฒนาการของอารยธรรมอินเดียและเหตุการณ์สำคัญเป็นหลักเกณฑ์สำคัญ ดังนั้น ประวัติศาสตร์อินเดียจึงแบ่งยุคสมัยออกเป็นสมัยโบราณ สมัยกลาง และสมัยใหม่ โดยแต่ละยุคสมัยจะมีการแบ่งเป็นยุคสมัยย่อยตามช่วงเวลาของแต่ละราชวงศ์หรือชนกลุ่มต่างๆที่มีอิทธิพลเหนืออินเดียในขณะนั้น ช่วงเวลาการวางพื้นฐานของอารยธรรมอินเดียเริ่มตั้งแต่สมัยอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุของพวกดราวิเดียนเมื่อ 2,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช จนกระทั่งอารยธรรมแห่งนี้ล่มสลายลงเมื่อ 1,500  ปีก่อนคริสต์ศักราช เมื่อชาวอารยันอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานและก่อตั้งอาณาจักรหลายอาณาจักรในภาคเหนือของอินเดีย ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาของการเริ่มสร้างสรรค์อารยธรรมอินเดียที่แท้จริง มีการคิดค้นและก่อตั้งศาสนาต่างๆ ช่วงเวลาดังกล่าวเรียกว่า สมัยพระเวท(1,500-900 ปีก่อนคริสต์ศักราช )

การแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์จีน

        ช่วงเวลาของการเริ่มต้นรากฐานของอารยธรรมจีนเริ่มตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีการสร้างสรรค์วัฒนธรรมหยางเชา (Yangshao Culture) วัฒนธรรมหลงซาน (Longshan Culture) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมเครื่องปั้นดินเผาและโลหะสำริด

    1)ประวัติศาสตร์จีนสมัยโบราณ เริ่มในสมัยราชวงศ์ซาง (Shang Dynasty ประมาณ 1570 – 1045 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นช่วงเวลาที่จีนก่อตัวเป็นรัฐและมีการวางรากฐานด้านการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ในสมัยนี้มีการใช้ตัวอักษรจีนโบราณเขียนลงบนกระดองเต่าหลังจากนั้นเป็นช่วงสมัยราชวงศ์โจว (Chou Dynasty ประมาณ 1045 – 256 ปีก่อนคริสต์ศักราช) สมัยนี้นักประวัติศาสตร์แบ่งออกเป็นสมัยย่อย ได้แก่ สมัยราชวงศ์โจวตะวันตก และราชวงศ์โจวตะวังออก เมื่อราชวงศ์โจวตะวันออกเสื่อมลง เกิดสงครามระหว่างเจ้าผู้ครองรัฐต่างๆ ในที่สุด รัฐฉินได้รวบรวมประเทศก่อตั้งราชวงศ์ฉิน (Qin Dynasty 221-206 ปีก่อนคริสต์ศักราช) และสมัยราชวงศ์ฮั่น (Han Dynasty 202ปีก่อนคริสต์ศักราช – ค.ศ.220) เป็นสมัยที่มีการรวมศูนย์อำนาจอย่างชัดเจนเป็นจักรวรรดิ โดยระบอบดังกล่าวใช้อยู่ในประเทศจีนนานกว่า2000ปี

    2) ประวัติศาสตร์จีนสมัยกลาง เป็นช่วงเวลาของการปรับตัวของอารยธรรมจีนในการรับอิทธิพลต่างชาติเข้ามาผสมผสานกับอารยธรรมจีน ที่สำคัญ คือ พระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์จีนสมัยกลางเริ่มต้นสมัยด้วยความวุ่นวายจากการล่มสลายของราชวงศ์ฮั่น เรียกว่า สมัยแตกแยกการเมือง (ค.ศ. 220 - 589) เป็นช่วงเวลาที่ชาวต่างชาติเข้ามายึดครองดินแดนจีน และมีการแบ่งแยกดินแดนก่อนที่จะรวมประเทศได้ในสมัยราชวงศ์สุย (Sui Dynasty ค.ศ. 581-618) และสมัยราชวงศ์ถัง (Tang Dynasty ค.ศ. 618 - 907) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศจีนมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด แต่เมื่อสมัยราชวงศ์ถังสิ้นสุดลงก็เกิดความแตกแยกอีกครั้งในสมัยที่เรียกว่า ห้าราชวงศ์กับสิบรัฐ (ค.ศ. 907 - 979)

    3)ประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ เริ่มต้นยุคสมัยใน ค.ศ. 1368 เมื่อชาวจีนได้ขับไล่พวกมองโกลออกไปแล้วสถาปนาราชวงศ์หมิง (Ming Dynasty ค.ศ. 1368-1644) ขึ้นปกครองจีนหลังจากนั้นราชวงศ์ชิง (Qing Dynasty ค.ศ. 1644-1911) ของพวกแมนจูโค่นล้มราชวงศ์หมิงสมัยนี้จีนได้รับยกย่องว่าประสบความสำเร็จเกือบทุกด้าน นักวิชาการบางท่านถือว่าประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่เริ่มต้นเมื่อครั้งราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1644) ในช่วงปลายสมัยราชวงศ์ชิงเป็นช่วงเวลาที่ประเทศจีนถูกคุกคามจากชาติตะวันตก และจีนแพ้อังกฤษในสงครามฝิ่น (ค.ศ. 1839-1842) ราชวงศ์ชิงสิ้นสุดใน พ.ศ.1911

    4)ประวัติศาสตร์จีนสมัยปัจจุบัน เริ่มต้นในค.ศ. 1911 เมื่อจีนปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบสาธารณรัฐ (ค.ศ. 1911-1949) โดย ดร.ซุน ยัตเซน (Sun Yat-sen ค.ศ. 1866-1925) ต่อมาพรรคคอมมิวนิสต์ได้ปฏิวัติและได้ปกครองจีน จึงเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ ค.ศ.1949 จนถึงปัจจุบัน

การแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์อินเดีย

    1)ประวัติศาสตร์อินเดียสมัยโบราณ เริ่มต้นในสมัยมหากาพย์ (Epic Age 900-6— ปีก่อนคริสต์ศักราช) ซึ่งมีการใช้ตัวอักษรอินเดียโบราณในการบันทึกเรื่องราว ต่อมาอินเดียมีการรวมตัวกันครั้งแรกในสมัยราชวงศ์มคธ (Kingdom of Magadha 600-322 ปีก่อนคริสต์ศักราช) และมีการร่วมตัวกันอย่างแท้จริงในสมัยราชวงศ์เมารยะ (Maurya Dynasty 322-184 ปีก่อนคริสต์ศักราช ) ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่อินเดียเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังดินแดนต่างๆ ต่อมาเมื่อจักรวรรดิเมารยะล่มสลาย อินเดียก็เข้าสู่สมัยแห่งความแตกแยกและการรุกรานจากภายนอกทั้งจากพวกกรีกและพวกกุษาณะช่วงเวลาดังกล่าวนี้เป็นสมัยของการผสมผสานทางวัฒนธรรมก่อนที่จะมีการร่วมเป็นจักรวรรดิได้อีกครั้งใน ค.ศ. 320 โดยราชวงศ์คุปตะ (Kupta Dynasty ค.ศ. 320-535) สมัยนี้พระพุทธศาสนาเสื่อมความนิยมลงในขณะที่ศาสนาพราหมณ์ฮินดูเจริญรุ่งเรืองขึ้น

     2)ประวัติศาสตร์อินเดียสมัยกลาง การสิ้นสุดของสมัยคุปตะใน ค.ศ. 535 ถือเป็นการสิ้นสุดของสมัยโบราณ อินเดียได้ย่างเข้าสู่สมัยกลาง (ค.ศ. 535-1526) ซึ่งสมัยนี้เป็นช่วงเวลาของความวุ่นวายทางการเมืองและการรุกรานจากต่างชาติ โดยเฉพาะชาวมุสลิม สมัยกลางสามารถแบ่งได้เป็นสมัยความแตกแยกทางการเมือง (ค.ศ. 535-1200) และสมัยสุลต่านแห่งเดลี (ค.ศ. 1200-1526)

    3)ประวัติศาสตร์อินเดียสมัยใหม่ เมื่ออาณาจักรสุลต่านแห่งเดลีล่มสลายลงใน ค.ศ. 1526 พวกมุคัลได้ตั้งราชวงศ์มุคัลถือเป็นการเริ่มต้นสมัยใหม่ของประวัติศาสตร์อินเดีย ช่วงเวลานี้เรียกว่า สมัยจักรวรรดิมุคัล (Mughal Empire ค.ศ. 1526-1858) จนกระทั่งอังกฤษเข้าปกครองอินเดียโดยตรงใน ค.ศ. 1858 แบะปกครองต่อมาจนถึง ค.ศ. 1947 อินเดียจึงได้รับเอกราชจากอังกฤษ อินเดียจึงเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์สมัยปัจจุบัน

        ประวัติศาสตร์อินเดียสมัยใหม่เป็นช่วงเวลาที่วัฒนธรรมต่างชาติอันได้แก่ วัฒนธรรมเปอร์เซีย และวัฒนธรรมทางตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลในสังคมอินเดีย ขณะเดียวกันชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูได้ยึดมั่นในศาสนาของตนเองขึ้นพร้อมกับเกิดความแตกแยกในสังคมอินเดียจนกระทั่งปัจจุบัน ประวัติศาสตร์อินเดียสมัยใหม่สามารถแบ่งได้เป็นสมัยราชวงศ์มุคัล และสมัยอังกฤษปกครองอินเดีย (ค.ศ.1858-1947)

    4)ประวัติศาสตร์อินเดียปัจจุบัน คือภายหลังได้รับเอกราชและการถูกแบ่งแยกออกเป็นประเทศต่างๆ ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ อย่างไรก็ตาม การแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์โดยใช้หลักเกณฑ์พัฒนาของอารยธรรมอินเดีย สามารถรวมสมัยสุลต่านแห่งเดลีเข้ากับสมัยราชวงศ์มุคัลซึ่งเป็นสมัยที่วัฒนธรรมมุสลิมเข้าไปมีอิทธิพลในอารยธรรมอินเดียโดยเรียกรวมว่า สมัยมุสลิม (ค.ศ. 1200-1858)

การแบ่งยุคสมัยในประวัติศาสตร์ตะวันตก

นักประวัติศาสตร์ตะวันตกแบ่งยุคสมัยของประวัติศาสตร์ตะวันตกเป็น 4 ยุคสมัย ได้แก่

    1.ประวัติศาสตร์สมัยโบราณ (3,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ค.ศ. 476) รากฐานของอารยธรรมตะวันตกเริ่มต้นในลุ่มแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรทีส อารยธรรมสมัยนี้ได้แก่ อารยธรรมเมโสโปเตเมีย อารยธรรมอียิปต์โบราณ อารายธรรมกรีก และอารยธรรมโรมันสมัยโบราณในประวัติศาสตร์ตะวันตก เริ่มต้นเมื่อ 3,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อารยธรรมเมโสโปเตเมียและอารยธรรมอินเดียซึ่งเป็นอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดในโลกจนถึง ค.ศ. 476 เมื่อจักรวรรดิโรมันตะวันตกล่มสลาย ถือเป็นการสิ้นสุดสมัยโบราณ

    2.ประวัติศาสตร์สมัยกลาง (ค.ศ. 476-ค.ศ. 1453) ช่วงเวลา สมัยกลาง เป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงทางอารยธรรมตะวันตกจากอารยธรรมโรมันไปสู่อารยธรรมคริสต์ศาสนาเป็นสมัยที่ตะวันตกได้รับอิทธิพลอย่างมากจากศริสต์ศาสนา ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและศิลปวัฒนธรรม นอกจากนี้สังคมสมัยกลางยังมีลักษณะเป็นสังคมในระบบฟิวดัล (Feudalism) ที่ขุนนางแคว้นต่างๆ มีอำนาจครอบครองพื้นที่ โดยประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะเป็นข้าติดที่ดิน (Serf) และดำรงชีวิตอยู่ในเขตแมเนอร์ (manor) ของขุนนาง ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของสังคมสมัยกลาง

    3.ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ (ค.ศ. 1453-1945) เป็นสมัยของความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวิทยาการของอารยธรรมตะวันตก ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม อารยธรรมสมัยใหม่เป็นรากฐานที่สำคัญของอารยธรรมตะวันตกในปัจจุบัน และช่วงเวลานี้ชาวยุโรปได้แผ่อิทธิพลไปยังดินแดนอื่นๆ ประวัติศาสตร์สมัยใหม่เป็นช่วงที่มีการสำรวจเส้นทางเดินเรือทะเล เพื่อการค้ากับโลกตะวันออกและการเผยแผ่คริสต์ศาสนา เริ่มตั้งแต่สมันฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance คริสต์ศตวรรษที่ 15-17) ซึ่งเป็นช่วงสมัยที่ความเจริญทางวิทยาการต่างๆ เจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว เข้าไปสู่ยุคสมัยแห่งการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ (Age of Scientific Revolution คริสต์ศตวรรษที่ 16-18) ยุคภูมิธรรมหรือยุคแห่งการรู้แจ้ง  (Age of Enlightenment คริสต์ศตวรรษที่ 17-18) สมัยประชาธิปไตย (Age of Democracy คริสต์ศตวรรษที่ 17-19) สมัยชาตินิยม (Nationalism ค.ศ. 1789-1918) สมัยจักรวรรดินิยมใหม่ (New Imperialism ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19-สงครามโลกครั้งที่ 2) และสมัยสงครามโลก (World War ค.ศ. 1914-1945) การแผ่ขยายอำนาจของยุโรปในสมัยใหม่ทำให้เกิดความขัดแย้งก่อให้เกิดสงคราโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 ประวัติศาสตร์สมัยใหม่สิ้นสุดลงเมื่อ ค.ศ. 1945 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง

    4.ประวัติศาสตร์สมัยปัจจุบัน (ค.ศ.1945-ปัจจุบัน)สมัยปัจจุบันเป็นช่วงสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีผลกระทบรุนแรงทั่งโลก และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครองต่อสังคมโลกในปัจจุบัน