รูป พระ มหา กษัตริย์ สมัยสุโขทัย

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉบับเสริมการเรียนรู้ เล่ม 3 ได้กล่าวถึง "ลำดับ พระมหากษัตริย์ไทย" ไว้ ซึ่งผมใคร่ขอนำมาถ่ายทอดเพื่อความรอบรู้แก่ท่านผู้อ่านด้วย ดังต่อไปนี้

อาณาจักรสุโขทัย เกิดแต่เมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สิ้นพระชนม์ปีพุทธศักราช 1762 ดินแดนต่างๆ พากันตั้งตนเป็นอิสระ รัฐสุโขทัยอันมีเมืองสำคัญ คือ ศรีสัชนาลัย-สุโขทัย ได้รวบรวมกำลังก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัยขึ้น ในตอนปลายศตวรรษที่ 18

อาณาจักรสุโขทัย ใกล้กับแม่น้ำน่าน ก่อตั้งเมื่อปีพุทธศักราช 1792 หลังพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สิ้นพระชนม์แล้ว นานถึง 30 ปี มีพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง รวม 9 พระองค์ คือ

1. พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พระนามเดิม คือ พ่อขุนบางกลางหาว ได้รวมกำลังกับพ่อขุนผาเมือง ขับไล่ออกไปจากเมืองสุโขทัย จากนั้นพ่อขุนผาเมืองได้ให้ พ่อขุนบางกลางหาว ขึ้นครองเมืองสุโขทัยทรงพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง

เป็นข้อน่าสังเกตว่าระยะแรกของสมัยสุโขทัยนั้น ฐานะของพระมหากษัตริย์เรียกว่า "พ่อขุน" รูปแบบการปกครองเชื่อได้ชัดเจนว่าเป็นการปกครองแบบพ่อปกครองลูก และต่อมาในระยะหลังฐานะของพระมหากษัตริย์เรียกว่า "พระยา" ซึ่งเริ่มแต่รัชสมัยของ พระยาเลอไทย-พระมหากษัตริย์ ลำดับที่ 4 ของราชวงศ์พระร่วง

2. พ่อขุนบานเมือง เป็นพระโอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และพระนางเสือง เป็นพระเชษฐาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

3. พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งอาณาจักรสุโขทัย เป็นพระโอรสพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และพระนางเสือง เสด็จขึ้นครองราชย์ในปีพุทธศักราช 1822

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงเป็นนักรบที่เข้มแข็ง อาณาจักรสุโขทัยแผ่ไพศาลออกไปอย่างกว้างขวางทรงเลือกพญามังรายแห่งเมืองเชียงรายเป็นพันธมิตร พร้อมด้วยพญางำเมืองแห่งเมืองพะเยา และในกาลครั้งนั้นทั้งสามพระองค์ได้รวมกำลังกันต่อสู้กับการขยายอำนาจของ จักรพรรดิกุบไลข่านจากประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีนเกิดขึ้นในรัชกาลนี้ โดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงส่งคณะทูตไปเฝ้าพระเจ้าหงวนสีโจ๊ว (กุบไลข่าน) จักรพรรดิมองโกลแห่งราชวงศ์หงวน (หยวน) เป็นครั้งแรกในปี 1835 พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ยังทรงนำพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์ จากเมืองนครศรีธรรมราช มาเผยแผ่ที่กรุงสุโขทัย

ผมขอแทรกความบางตอนจากหนังสือ "นครศรีธรรมราชในอดีต" ซึ่งจังหวัดนครศรีธรรมราชจัดพิมพ์ในโอกาสกรุงเทพ ฯ 200 ปีพุทธศักราช 2525 ดังนี้ด้วยครับ

มีข้อความในศิลาจารึกหลักที่ 1 แห่งกรุงสุโขทัย ปรากฏดังนี้

"สังฆราชปราชญ์เรียนจบปิฎกไตรหลวกกว่าปู่ครูในเมืองนี้ ทุกคนลุกแต่เมืองศรีธรรมราชมา"

ข้อความนี้ ยืนยันว่านครศรีธรรมราชเกิดก่อนสุโขทัย มีความรุ่งเรืองทางวิชาการถึงระดับนักปราชญ์มีความฉลาดกว่าบรรดาชนชั้นปู่ครูของกรุงสุโขทัย

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ยังทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้นในปีพุทธศักราช 1826 โปรดให้จารึกตัวอักษรบนศิลาจารึกหลักที่ 1 และทรงเป็นพระมหากษัตริย์ทรงเอาพระทัยใส่ในทุกข์สุขของราษฎรตามการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ทรงส่งเสริมให้มีการค้าเสรี โดยไม่เก็บภาษีค่าผ่านด่าน ความรุ่งเรืองของกรุงสุโขทัยในรัชกาลนี้ย่อมเห็นได้จากคำที่กล่าวว่า

"ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว"

รัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชสิ้นสุดลงใน ปี 1841

4. พระยาเลอไทย เป็นพระโอรสของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อาณาจักรสุโขทัยเริ่มเสื่อมอำนาจลงในรัชกาลนี้ หลายหัวเมืองต่างพากันตั้งตนเป็นอิสระ ทรงครองราชย์ได้ 25 ปี

5. พระยางั่วนำถุม เป็นพระโอรส พ่อขุนบานเมือง ครองราชย์ต่อมาอีก 24 ปี

7. พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย หรือ ลือไทย) เป็นพระโอรสของพระยาเลอไทย ทรงนำธรรมะในพระพุทธศาสนามาปกครองแผ่นดิน จึงมีพระนามว่า พระมหาธรรมราชา

ทรงสนพระทัยศึกษาพระธรรมคำสอน และทรงออกผนวชระหว่างครองราชย์ที่วัดป่ามะม่วงในกรุงสุโขทัย ทรงสร้างวัดขึ้นหลายวัด และสร้างพระพุทธรูปสำคัญหลายองค์ รวมทั้งทรงพระนิพนธ์วรรณคดี"ไตรภูมิพระร่วง" อันถือได้ว่าเป็นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญ

ทรงได้รับการยกย่องเป็น "ปราชญ์และธรรมราชา"

ระหว่างการทรงครองราชย์ปี 1890 ถึงปี 1911 ในรัชกาลนี้ ได้มีการก่อตั้งอาณาจักรใหม่ของคนไทย คือ อยุธยา เมื่อ ปีพุทธศักราช 1893

7. พระมหาธรรมราชาที่ 2 เป็นพระโอรสของพระมหาธรรมราชาที่ 1 และพระศรีจุฬาลักษณ์ ได้ถูกอยุธยาเข้าโจมตีเมืองต่างๆ ของสุโขทัยหลายครั้ง จนในที่สุดก็ต้องยอมอ่อนน้อมต่อกรุงศรีอยุธยา เมื่อ ปี 1921

พระมหาธรรมราชาที่ 2 ทรงครองราชย์ระหว่างปีพุทธศักราช 1911 ถึง 1942

8. พระมหาธรรมราชาที่ 3 (ไสยลือไทย) เป็นพระนัดดาของพระมหาธรรมราชาที่ 1 ทรงพยายามฟื้นอำนาจกรุงสุโขทัย
แต่ไม่ประสบผล เนื่องจากความเข้มแข็งทางอำนาจของกรุงศรีอยุธยาได้เพิ่มพูนขึ้นเป็นอันมาก ทรงครองราชย์จนถึงปี 1962

9. พระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) ทรงครองราชย์ระหว่างปีพุทธศักราช 1962 ถึงปี 1981 รวมเวลาได้ 19 ปี ทรงเป็นพระโอรสของพระมหาธรรมราชาที่ 3

ได้เกิดการแย่งชิงอำนาจกันเองระหว่างพระโอรสของพระมหาธรรมราชาที่ 3 คือ บรมปาล กับ พระยาราม ในปี 1962 ซึ่งสมเด็จพระนครินทราธิราช กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาได้ทรงแต่งตั้งให้บรมปาลเป็นพระมหาธรรมราชาที่ 4 เป็นกษัตริย์ครองเมืองพิษณุโลก ส่วนพระยารามพระอนุชา ให้ไปครองเมืองสุโขทัย

และเมื่อพระมหาธรรมราชาที่ 4 สวรรคตลงในปีพุทธศักราช 1981 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงแต่งตั้ง พระราเมศวร พระโอรสเกิดจากพระราชเทวี พระธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ 3 ขึ้นปกครองเมืองพิษณุโลก

พระยายุธิษเฐียร พระโอรสของพระยาราม ได้ปกครองเมืองสุโขทัยต่อจากพระบิดา ต่อมาภายหลังได้หันไปฝักใฝ่กับ
พระเจ้าติโลกราช แห่งอาณาจักรล้านนา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จึงทรงส่งกองทัพไปตีเอาเมืองสุโขทัยกลับคืนมาได้ เมื่อ ปีพุทธศักราช 2005

และในปีถัดมา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จึงได้เสด็จขึ้นไปปกครองเมืองพิษณุโลก

เป็นการถือได้ว่า อาณาจักรสุโขทัยได้รวมเข้ากับอาณาจักรอยุธยาอย่างสมบูรณ์ ในปีพุทธศักราช 2006

รวมระยะเวลาอาณาจักรสุโขทัย-ปฐมอาณาจักรไทย-ได้ 214 ปี ก่อนจะรวมเข้ากับอาณาจักรอยุธยาในปีพุทธศักราช 2006

และอาณาจักรอยุธยานั้นรุ่งเรืองมานานถึง 417 ปี มีพระมหากษัตริย์ไทยรวมทั้งสิ้น 33 พระองค์ ใน 5 ราชวงศ์ ตามลำดับ คือ

ราชวงศ์อู่ทอง (3 รัชกาล-พระราเมศวร 2 ครั้ง) ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (13 รัชกาล) ราชวงศ์สุโขทัย (7 รัชกาล) ราชวงศ์ปราสาททอง (4 รัชกาล) และราชวงศ์บ้านพลูหลวง (6 รัชกาล)

โดยพระมหากษัตริย์องค์สุดท้าย คือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ หรือ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ ครองราชย์ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2301 จนถึง 2310 สิ้นสุดอาณาจักรอยุธยา ขึ้นต้นสมัยรัตนโกสินทร์ พระบรมราชวงศ์จักรี ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2325 มี กรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี

มีพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชวงศ์จักรี ทรงปกครองบ้านเมืองสืบต่อมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน รวม 9 พระองค์