ถ้าสังคมไทยไม่มีกฎหมาย

หลักการ

ไฟล์แนบขนาดไฟล์
รายงานศึกษา จะอยู่กันอย่างไร ถ้าไม่มีกฎหมายความมั่นคง.pdf 487.34 KB

จากที่ไอลอว์ ได้เสนอให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงของรัฐ ได้แก่ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 (กฎอัยการศึก) พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคง) เพราะมองว่ากฎหมายดังกล่าวเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจเกินสมควรในลักษณะที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้

จึงมีคำถามตามมาว่า หากปราศจากกฎหมายเหล่านี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงขึ้น เจ้าหน้าที่รัฐจะจัดการแก้ไขปัญหาได้อย่างไร ต่อปัญหานี้จึงต้องพิจารณาอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมายอื่นที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันว่ามีอยู่อย่างไรบ้าง

โดยในที่นี้จะพิจารณาเฉพาะกฎหมายที่อาจนำมาให้เกี่ยวกับการจัดการการชุมนุมครั้งใหญ่ๆ เท่านั้น 

อำนาจในการประกาศให้การชุมนุมเป็นความผิด

            รัฐธรรมนูญมาตรา มาตรา63 คุ้มครองการชุมนุมสาธารณะที่สงบปราศจากอาวุธว่าเป็นสิทธิของประชาชน จึงไม่มีกฎหมายใดที่จะให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจสั่งห้ามการชุมนุมได้ แต่หากเป็นการชุมนุมบนถนนสาธารณะ ก็เป็นความผิดอยู่แล้วฐานปิดกั้นทางหลวง ตามมาตรา 39 พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535

            การชุมนุมสาธารณะแทบทุกครั้งจะเข้าลักษณะเป็นความผิดฐาน มั่วสุมกันก่อความวุ่นวาย ตามกฎหมายอาญามาตรา215 รวมถึงการชุมนุมส่วนใหญ่ก็จะมีการกระทำที่เป็นความผิดฐาน หมิ่นประมาท ยุยงให้ประชาชนละเมิดกฎหมาย ทำให้เสียทรัพย์ ความผิดต่อเสรีภาพ ขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ฯลฯ แผงอยู่ในการชุมนุมนั้นอันจะเป็นเหตุให้เข้าข่ายการชุมนุมที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว

กฎหมายที่ให้อำนาจการบริหารงานอย่างคล่องตัว

               พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534มาตรา ๑๑ (๓) กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่ง และพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 6 ก็กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาตำรวจเช่นกัน ทำให้เห็นว่ากฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันให้อำนาจสูงสุดที่อาจจะจำเป็นอยู่ที่นายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว และเป็นอำนาจออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติอย่างไรก็ได้ ลงโทษทางวินัย รวมถึงการกลับคำสั่งของเจ้าหน้าที่ที่สั่งไปแล้วก็ได้

            นอกจากนี้หากยังต้องการอำนาจเพิ่มเติมกว่านี้เพื่อสั่งการเรื่องใดอีก ในสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงก็สามารถ อาศัยช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 ออกเป็นพระราชกำหนดฉบับใหม่ เพื่อให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีหรือบุคคลอื่นใดได้

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจค้น และจับกุมตัวบุคคล

                ถึงแม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะยึดหลักการว่า การจะค้นสถานที่ส่วนบุคคล หรือการจับกุมตัวบุคคลต้องมีหมายค้นจากศาล แต่ก็ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้มากมายเช่นเดียวกัน อย่างเช่นในเรื่องการจับกุมตัวบุคคล มาตรา 78 ก็กำหนดไว้ว่าถ้าหากเป็นกรณีเห็นการกระทำควาผิดซึ่งหน้า หรือแทบจะไม่มีข้อสงสัยเลย กรณีพบบุคคลต้องสงสัยโดยมีอาวุธหรือเครื่องมือ กรณีจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอหมายศาลได้ทัน เหล่านี้ก็สามารถจับได้อยู่แล้วโดยไม่ต้องขอหมายศาลก่อน

             ในเรื่องการค้นสถานที่ส่วนบุคคล มาตรา 92ก็มีข้อยกเว้นเช่น เห็นความผิดกำลังเกิดขึ้นอยู่ข้างใน เมื่อมีพฤติการณ์ที่แสดงว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นข้างใน เมื่อบุคคลที่กระทำความผิดวิ่งหนีเข้าไปข้างใน เมื่อจะจับตัวเจ้าของบ้านนั้น เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าข้างในมีสิ่งของที่ต้องการ แต่หากต้องรอหมายค้นจากศาลสิ่งของนั้นอาจถูกทำลายหรือโยกย้ายไปก่อน เหล่านี้เจ้าหน้าที่ก็สามารถค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น และยังมีทางปฏิบัติที่ยอมรับกันว่า หากเจ้าของบ้านยินยอมก็สามารถเข้าไปค้นได้เลยเช่นกัน

              นอกจากนี้ หากกรณีจะต้องขอหมายศาลจริงๆ แต่ต้องเป็นกรณีเร่งด่วน มาตรา 59 ก็กำหนดให้สามารถขอหมายศาลทางโทรศัพท์ โทรสาร หรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิคส์อื่นได้ในเวลาอันรวดเร็วอยู่แล้ว

ถ้าสังคมไทยไม่มีกฎหมาย

กฎหมายที่ให้อำนาจเข้าควบคุมสื่อสารมวลชน

                 สำหรับโทรทัศน์ และวิทยุ มีพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา37 ได้กำหนดไว้แล้วว่า หากสถานีใดมีการออกอากาศเนื้อหาที่มีลักษณะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือทำให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพ ให้คณะกรรมการ มีอำนาจสั่งด้วยวาจาให้ระงับการออกอากาศได้ทันที และตามมาตรา 35หากรัฐต้องการสื่อสารข้อความใดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนรัฐบาลก็สามารถร้องขอไปยังสถานีให้ออกอากาศให้ได้อยู่แล้วเช่นกัน

              สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มาตรา 10 ก็กำหนดไว้ว่า หากมีข้อความที่หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ กระทบต่อความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจสั่งห้ามเผยแพร่ ริบ และทำลายได้

              สำหรับสื่ออินเทอร์เน็ต พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 20ก็ได้ให้อำนาจการปิดกั้นข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิด อันอาจกระทบต่อความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยของประชาชน โดยเจ้าหน้าที่อาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจสั่งระงับการแพร่หลายข้อมูลนั้นได้ โดยจะสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเป็นผู้ระงับก็ได้

อำนาจสั่งห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม

               พระราชบัญญัติจราจรทางบก มาตรา 138 เขียนไว้ชัดเจนว่า ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุเกิดขึ้นทำให้ไม่ปลอดภัย หรือไม่สะดวก เจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการได้ตามที่เห็นสมควร เช่น ห้ามรถหรือคนผ่านทาง ห้ามหยุดรถ ห้ามเลี้ยวรถ ฯลฯ ทั้งนี้ภายในระยะเวลาเท่าที่จำเป็น และมาตรา 139 ก็ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจออกข้อกำหนดมาควบคุมการชุมนุมเท่าที่จำเป็นได้ด้วย

อำนาจการควบคุมตัวบุคคล

                ถึงแม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 กำหนดไว้ว่าหลังจากมีการจับบุคคลใด เจ้าหน้าที่มีอำนาจควบคุมตัวไว้ได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมงนับตั้งแต่ถูกจับ หลังจากนั้นต้องนำตัวผู้ที่ถูกจับไปยังศาล และแสดงพยานหลักฐานต่อศาลว่าบุคคลนั้นกระทำความผิด หลังจากนั้นศาลจะเป็นผู้พิจารณาและสั่งว่าะให้ควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้ต่อได้หรือไม่ เป็นระยะเวลานานเท่าใด โดยในความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงที่มีโทษสูงมากๆ อาจจะสั่งให้ควบคุมตัวนานที่สุดได้ถึง แปดสิบสี่วัน นอกจากนี้แล้ว หากมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ ก็ให้ถือเป็นข้อยกเว้นที่จะควบคุมตัวบุคคลนั้นต่อไปได้ โดยเป็นอำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ผู้จับเอง

             ซึ่งในสถานการณ์ที่มีการชุมนุม สถาบันศาลยังทำงานได้ปกติ ขั้นตอนเหล่านี้ย่อมไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

อำนาจกระทำการในกรณีอื่นๆ ที่จำเป็น

                พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 6(3) (4) กำหนดไว้ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา รักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชน และความมั่นคงของราชอาณาจักร เพราะฉะนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจย่อมมีอำนาจครอบคลุมทุกการกระทำที่อาจจะจำเป็นต้องทำในสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่แล้ว

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้ทหารเข้ามามีบทบาท

                ในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถขอกำหลังเจ้าหน้าที่ทหารมาช่วยปฏิบัติหน้าที่ได้อยู่แล้ว แต่นอกจากนี้พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทวงกลาโหม พ.ศ.2551 มาตรา8กำหนดยังให้กระทวงกลาโหมมีทั้งอำนาจและหน้าที่ที่จะใช้กำลังทหารในการป้องกันภัยคุกคามจากนอกราชอาณาจักร และในการปราบปรามจลาจลด้วย รวมทั้งหากยังไม่มีการจลาจลหรือสงครามเกิดขึ้น ตามกฎหมายดังกล่าวคณะรัฐมนตรีก็อาจมีมติให้มีการปฏิบัติการทางทหารเพื่อความมั่นคงของประเทศได้อยู่แล้ว

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า กฎหมายที่ใช้กันอยู่ในสถานการณ์ปกติมีบทบัญญัติที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าปฏิบัติการต่างๆ เพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศได้แทบจะทุกอย่างอยู่แล้ว หากกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงทั้งสามฉบับถูกยกเลิกไป จึงไม่เป็นอุปสรรคให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้แต่อย่างใด

             เพื่อตอบคำถามว่า หากยกเลิกกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐจะมีอำนาจอย่างไร อาสาสมัครไอลอว์ได้ค้นคว้ารายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้จัดทำเป็นรายงานศึกษาประจำปี ขนาด 17 หน้าพร้อมบทวิเคราะห์อธิบายเปรียบเทียบกฎหมายฉบับต่างๆ โดยละเอียด ที่กล่าวมานี้เป็นการย่อเนื้อหามาจากรายงานฉบับเต็มเท่านั้น ซึ่งรายงานฉบับนี้ได้แนบไว้สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดไว้ศึกษาได้ต่อไป