วิธีการแก้ปัญหาเกี่ยวกับขยะ

สาเหตุของปัญหามลพิษจากกองขยะ มาจาก 4 สาเหตุหลัก คือ (ก) วิธีการในการกำจัดขยะที่ยังไม่ถูกวิธีและถูกสุขอนามัยเป็นไปตามมาตรฐาน (ข) เนื้อหากฎหมายที่ล้าหลังและไม่มีการแก้ไขให้รองรับกับการแก้ปัญหาขยะมูลฝอยในปัจจุบัน (ค) นโยบายที่ไม่ชัดเจนหรือมุ่งเน้นการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมมากเกินไป (ง) งบประมาณในการกำจัดขยะมูลฝอยไม่เพียงพอ


1. วิธีการในการกำจัดขยะที่ยังไม่ถูกวิธีและถูกสุขอนามัยเป็นไปตามมาตรฐาน

โดยทั่วไปภาครัฐและภาคเอกชนมีวิธีการในการกำจัดขยะหลายวิธี อาทิ การฝังกลบ การใช้เตาเผาที่มีระบบบำบัดอากาศ การใช้เตาเผาเพื่อผลิตพลังงาน การทำปุ๋ยหมัก การกำจัดแบบเชิงกลและชีวภาพ (MBT) และเชื้อเพลิงขยะมูลฝอย (RDF) แต่โดยส่วนมากการกำจัดขยะมักเป็นการนำไปเทกอง ฝังกลบหรือเผากลางแจ้ง ส่งผลให้รัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่สามารถควบคุมและจัดการขยะอย่างถูกต้อง กลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ปัญหาขยะมูลฝอยไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด

วิธีการแก้ปัญหาเกี่ยวกับขยะ

ภาพจาก thailand-construction.com


นอกจากปัญหาขยะมูลฝอยแล้วประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาขยะพิษจำนวนมหาศาลที่เกิดจากโรงงานในภาคอุตสาหกรรม หรือกากอุตสาหกรรม ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักจะไม่ค่อยนำข้อมูลการกำจัดขยะของโรงงานที่ก่อมลพิษมาเปิดเผย เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ซึ่งตามหลักแล้วขยะพิษจะถูกกำจัดโดยโรงงานรับกำจัดขยะพิษที่ได้รับใบอนุญาตและมาตรฐานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) แต่วงจรการกำจัดขยะพิษที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมกลับไปไม่ถึงโรงงานที่สามารถรับกำจัดได้อย่างถูกต้อง ส่วนใหญ่รั่วไหลไปกำจัดผิดวิธี ทำให้การแก้ไขปัญหาขยะที่ไม่ถูกต้องส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นจุดทิ้งขยะ โรงไฟฟ้า/โรงงานกำจัดขยะ เตาเผาขยะ ที่ตั้งอยู่ในแหล่งชุมชน กลายเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อมของชุมชน เช่น ขยะส่งกลิ่นเหม็น เกิดการปนเปื้อนของขยะสารเคมี สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม ซึ่งขยะกว่าร้อยละ 90  (คิดเป็น 24.61 ล้านตัน)  ถูกนำไปกำจัดด้วยการฝังกลบ แสดงให้เห็นว่ากระบวนการกำจัดขยะในบ้านเรานั้นยังไม่สามารถส่งเสริมระบบการกำจัดขยะอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  

วิธีการแก้ปัญหาเกี่ยวกับขยะ

ที่มา: รายงานประจำปี 2563 การจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ในปี 2562 ประเทศไทยมีสถานที่กำจัดขยะ 2,691 แห่ง แต่พบว่าสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยแบบถูกต้องมีเพียง 409 แห่ง (คิดเป็นร้อยละ 15.19) สถานที่ที่กำจัดขยะที่ไม่ถูกต้อง 2,257 แห่ง (คิดเป็นร้อยละ 83.87) สถานีขนถ่ายมูลฝอยอีก 25 แห่ง (คิดเป็นร้อยละ 0.92) สถานที่กำจัดขยะแยกเป็น สถานที่ที่รัฐดำเนินการ 2,327 แห่ง และสถานที่ที่เอกชนดำเนินการ 364 แห่ง โดยในปี 2563 ปริมาณขยะชุมชนในประเทศไทยมีทั้งหมด 27.35 ล้านตัน มีขยะที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เพียง 11.93 ล้านตัน ในขณะที่ปริมาณขยะที่กำจัดถูกต้องมีเพียง 11.19 ล้านตันและขยะที่กำจัดไม่ถูกต้องมี 4.23 ล้านตัน 

แม้ว่าปริมาณขยะมีแนวโน้มลดลงในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 แต่สัดส่วนของขยะที่กำจัดไม่ถูกต้องกลับเพิ่มขึ้น โดยในปี 2561 ปริมาณขยะมูลฝอยที่กำจัดไม่ถูกต้องมีประมาณร้อยละ 26 ต่อมาในปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 31 ในส่วนของขยะที่นำกลับมาใช้ใหม่นั้นก็ลดลงจากร้อยละ 44 ในปี 2562 เหลือร้อยละ 33 ในปี 2563 นอกจากนี้การกำจัดขยะที่ไม่ถูกต้องส่งผลให้เกิดมลพิษทั้งในดิน มลพิษทางน้ำ และมลพิษทางอากาศ ที่ส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนในหลายพื้นที่

ในปี 2564 กรุงเทพมหานครมีปริมาณขยะมูลฝอยมากที่สุดราว 12,200 ตัน/วัน  และจากข้อมูลสถานการณ์ขยะมูลฝอยของประเทศ โดยกรมควบคุมมลพิษ พ.ศ. 2564 จังหวัดที่มีปริมาณขยะมูลฝอยน้อยที่สุด คือ สิงห์บุรี มีปริมาณขยะ 154 ตัน/วัน (แต่ยังมีการจัดการขยะที่ไม่ถูกต้องสูงถึง 79 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 52.29) จังหวัดที่มีปริมาณขยะมูลฝอยรองลงมาคือสมุทรสงคราม มีปริมาณขยะ 178 ตัน/วัน (มีขยะที่ถูกกำจัดไม่ถูกต้อง 43 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 24.15) และจังหวัดตราดมีขยะ 202 ตัน/วัน (ปริมาณขยะที่กำจัดไม่ถูกต้องสูงถึง 77 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 38.11)

ขณะที่จังหวัดที่มีขยะมูลฝอยตกค้างสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช คิดเป็นจำนวน 1,248,000 ตัน รองลงมาคือ สมุทรปราการ 1,200,000 ตัน ชลบุรี 774,618 ตัน สุราษฎร์ธานี 587,825 ตัน พระนครศรีอยุธยา 398,683 ตัน สระบุรี 334,000 ตัน  มุกดาหาร 270,000 ตัน และลพบุรี 240,897 ตัน ตามลำดับ 


2. เนื้อหากฎหมายที่ล้าหลังและไม่มีการแก้ไขให้รองรับการแก้ปัญหาขยะมูลฝอย

กฎหมายที่เป็นเรื่องของการรวบรวม เก็บและขนส่งขยะ ประกอบด้วย (ก) พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ 2535 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 3 พ.ศ 2560 (ข) พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ 2535 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ 2560 (ค) พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ 2535 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ 2561 (ง) พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2562

  • พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ 2535 กำหนดให้การกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยเป็นอำนาจหน้าที่ของราชการส่วนท้องถิ่น ให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการออกข้อกำหนดของท้องถิ่นในการรักษาความสะอาดและการจัดระเบียบในการเก็บ ขนและกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยและต่อมาพระราชบัญญัติการสาธารณสุขฉบับที่ 3 พ.ศ 2560 กำหนดให้มีคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัดและคณะกรรมการสาธารณสุขกรุงเทพมหานครทำหน้าที่ขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายในระดับพื้นที่ โดยคำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษและบทบัญญัติเกี่ยวกับการเปรียบเทียบให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากขึ้น
  • พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ 2535 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ 2560 มีสาระสำคัญที่กำหนดให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจในการเก็บ ขนและกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการคัดแยก เก็บผลและกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยและกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการให้บริการ รวมทั้งกำหนดให้มีอำนาจนำสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยที่จัดเก็บได้ไปใช้ประโยชน์หรือหาประโยชน์ได้
  • พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฉบับที่ 2 พ.ศ 2561 กำหนดให้การดำเนินการใดของรัฐ หรือโครงการใดที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย คุณภาพชีวิตหรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชนและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อนเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามกฎหมาย
  • พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2562 เป็นกฎหมายที่ใช้ในการควบคุมและกำกับดูแลการตั้งและประกอบกิจการโรงงานเพื่อประโยชน์ในทางเศษฐกิจและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง ความปลอดภัยของประเทศ หรือของสาธารณชน การป้องกันความเสียหายและป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดแก่ประชาชนหรือสิ่งแวดล้อม  โดยในมาตรา 8 (5) ระบุว่าให้ กำหนดมาตรฐานและวิธีการควบคุมการปล่อยของเสียมลพิษหรือสิ่งใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฏกระทรวง หรือประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามกฏกระทรวงที่ออกตาม มาตรา 8  (5) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท 


แม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาขยะหลายฉบับ ทั้งกฎหมายที่กำหนดภารกิจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การรวบรวม เก็บ และขนส่งขยะ การกำจัดขยะ รวมทั้งการหาประโยชน์จากขยะ เช่น การประกอบกิจการพลังงานไฟฟ้า การส่งเสริมการลงทุน  การมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การศึกษาผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่การจัดการปัญหาขยะในภาพรวมยังขาดการบูรณาการและการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ  โดยเฉพาะภาคประชาชนซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาขยะจากต้นทาง ที่สามารถทำการคัดแยกก่อนจะนำมาทิ้ง รวมทั้งยังไม่มีการกำหนดเป้าหมายในการลดปริมาณขยะจากการบริโภค การใช้ภาชนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการจัดการขยะให้ทั่วถึงและชัดเจน 

และแม้ว่าในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2562 จะกำหนดมาตรฐานและวิธีการควบคุมการปล่อยของเสียมลพิษหรือสิ่งใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน  อาทิ การปล่อยน้ำเสีย สารเคมี กากอุตสาหกรรม ของโรงงานอุตสาหกรรม แต่ยังไม่สามารถป้องกันการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมของโรงงานบางแห่งได้ เนื่องจากโทษตามกฎหมายนั้นต่ำเกินไป แสดงให้เห็นปัญหาทั้งในเชิงโครงสร้างและการบริหารจัดการ ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมาย 

นอกจากนี้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฉบับที่ 2 พ.ศ 2561 กำหนดให้รัฐและหน่วยงานทำการศึกษาโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม แต่กฎหมายฉบับนี้ยังไม่ได้กำหนดให้บริษัทที่เป็นผู้ก่อมลพิษ (ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติก การปล่อยกากอุตสาหกรรม ขยะที่เป็นสารเคมี) ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการกำจัดขยะ ทั้งขยะที่เป็นอันตรายและที่ไม่เป็นอันตราย รวมทั้งการกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรม ทำการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากขยะที่ผลิตขึ้นมาในแต่ละปี เนื่องจากที่ผ่านมาการกำจัดขยะและการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมกฎหมายมักกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐและเอกชนเป็นผู้จัดทำ ซึ่งเป็นการผลักภาระมาให้ประชาชนผู้เสียภาษีที่จะต้องจ่ายภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อให้รัฐ/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปกำจัดขยะ ในขณะที่บริษัทผู้ผลิตในฐานะผู้ก่อมลพิษกลับไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบในการกำจัดขยะและของเสีย หรือมีส่วนรับผิดชอบในการจ่ายค่าธรรมเนียมในสัดส่วนที่เหมาะสมกับปริมาณขยะที่ผลิตขึ้น ทำให้การแก้ปัญหาขยะยังไม่สามารถแก้ไปที่ต้นตอที่แท้จริงได้ 

นอกจากนี้การกำหนดเป้าหมายปริมาณขยะที่มีการนำไปรีไซเคิลหรือใช้ซ้ำ เป้าหมายการกำจัดขยะที่ถูกวิธี และเป้าหมายการนำขยะไปใช้หรือแสวงหาประโยชน์ในแต่ละปี เช่น ปริมาณขยะที่สามารถนำไปผลิตไฟฟ้า ยังจำเป็นต้องพัฒนาและกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน โดยที่รัฐต้องหันมาสนับสนุนการลงทุนในด้านการจัดการขยะ หรือส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจที่เก็บขยะมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมทั้งการแปลงขยะเป็นรายได้จากธุรกิจกำจัดขยะ เปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยกฎหมายควรเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญและนำเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาลงทุนในธุรกิจกำจัดขยะมากขึ้น ซึ่งสามารถช่วยสร้างการจ้างงาน พัฒนาเศรษฐกิจ ลดปัญหาขยะมูลฝอยและผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนได้

การปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยมีข้อดีคือ (ก) มีกลไก/มาตรการรองรับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากขยะจำนวนมากที่ผลิตในภาคอุตสาหกรรม (ข) เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกให้กับผู้ผลิตเพื่อให้บริษัทต่างๆหันมาผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายในธรรมชาติมากขึ้น (ค) ช่วยลดภาระงบประมาณด้านการกำจัดขยะที่มาจากภาษีประชาชน (ง) กำหนดให้บริษัทผู้ผลิตขยะทั้งหมดมีส่วนรับผิดชอบในการนำขยะไปรีไซเคิลและกำจัดอย่างถูกวิธี รวมทั้งเสียค่าธรรมเนียมด้านการกำจัดขยะ (จ) อาจเป็นแนวทางที่ช่วยลดปริมาณขยะแบบใช้ครั้งเดียวให้น้อยลง และ (ฉ) เป็นช่องทางในการเพิ่มรายได้ให้รัฐด้วยการเก็บภาษีจากขยะบรรจุภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

3. นโยบายที่มุ่งเน้นการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมมากเกินไป

วิธีการแก้ปัญหาเกี่ยวกับขยะ

ภาพจาก unsplash.com


ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม และจากคำแถลงนโยบายรัฐบาลด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะ 20 ปี พ.ศ 2560-2579 รวมทั้งแผนยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ 2560-2564 ฉบับทบทวน แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมของรัฐ ที่มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรม (Super cluster) หลายด้าน ทั้งอุตสาหกรรมเก่า (First S-Curve) และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) อาทิ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมการแพทย์ ฯลฯ โดยภาครัฐมีแผนในการพัฒนาคลัสเตอร์เป้าหมายแยกตามประเภทอุตสาหกรรมต่างๆ นโยบายส่งเสริม SME ผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดย่อม การส่งเสริมการตลาด ยกระดับมาตรฐานการผลิต สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และการพัฒนาเทคโนโลยี 

นโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมส่งผลให้มีการจัดตั้งโรงงานจำนวนมากกระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ มีการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมป้อนเข้าสู่ตลาด การทำตลาด/การค้าออนไลน์ และส่งเสริมการบริโภค การท่องเที่ยว และการส่งออกเพื่อหารายได้เข้าประเทศ การพัฒนาอุตสาหกรรมจึงมีส่วนสำคัญในการก่อให้เกิดขยะจากโรงงานและขยะจากการบริโภคจำนวนมหาศาล อย่างไรก็ตามในส่วนของมาตรการจัดการขยะในภาคอุตสาหกรรมกลับไม่ได้รับความสำคัญจากรัฐ ทั้งกระบวนการในการจัดการ การคัดแยกขยะ การส่งเสริมความรู้ให้กับประชาชน การบังคับใช้กฎหมายในการลดการใช้ถุง แก้วน้ำและบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก การจัดหาแหล่งกำจัดขยะที่เหมาะสมและปลอดภัย การจัดสรรงบประมาณเพื่อกำจัดขยะ การส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจกำจัดขยะ และงบประมาณด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม

4. งบประมาณในการกำจัดขยะมูลฝอย

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ให้ข้อมูลเกี่ยวกับงบประมาณด้านการจัดการขยะว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะถึงปีละ 13,000 ล้านบาท ส่วนกรุงเทพมหานครมีค่าจัดการขยะปีละ 7,000 ล้าน รวมกันแล้วค่าใช้จ่ายด้านการกำจัดขยะมีสูงถึงปีละ 20,000 ล้านบาท แต่อปท.จัดเก็บรายได้จากขยะเพียง 2,300 ล้านบาท/ปี และกรุงเทพฯจัดเก็บได้เพียง 500 ล้านบาท/ปี ดังนั้นทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกรุงเทพมหานครขาดทุนรวมกันราว 17,200 ล้านบาท

ค่าเก็บขยะจากห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อถูกเกินไป

วิธีการแก้ปัญหาเกี่ยวกับขยะ

ภาพจาก Thairat.co.th

ในประเด็นเรื่องงบประมาณด้านการจัดการขยะของกรุงเทพมหานคร ที่เก็บค่าขยะได้เพียง 500 ล้านบาท/ปี แต่มีค่าจัดการขยะถึง 7000 ล้านบาท/ปี เนื่องจากร้านสะดวกซื้อจ่ายค่าจัดการขยะเพียง 120 บาท/เดือนเท่านั้น ขณะที่นายทุนห้างสรรพสินค้าจ่ายค่ากำจัดขยะไม่กี่หมื่นบาทต่อเดือน ทำให้กรุงเทพมหานครมีงบประมาณไม่เพียงพอในการปรับปรุงเที่ยววิ่งรถขยะให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน รวมทั้งทำให้มีภาระงบประมาณในการกำจัดขยะสูงกว่ารายได้จากการจัดเก็บ นอกจากนี้งบประมาณในการจัดการกับของเสียอันตรายของกรมควบคุมมลพิษในปี 2564 มีเพียง 14.73 ล้านบาทลดลงจากปี 2557 ที่ได้รับ 65.6 ล้านบาท 

ข้อมูลข้างต้นจึงแสดงให้เห็นว่างบประมาณด้านการบริหารจัดการขยะที่ไม่เพียงพอ นำมาสู่ประสิทธิภาพของการจัดการและกำจัดขยะมูลฝอย แม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่และหน่วยงานต่างๆคอยให้บริการจัดเก็บขยะ แต่ด้วยปริมาณขยะจำนวนมากทำให้มีขยะบางส่วนไม่ได้นำเข้าสู่กระบวนการกำจัด หรือการนำไปรีไซเคิล ทำให้ขยะตกค้างตามท่อระบายน้ำ ขยะบางส่วนไหลลงไปในแม่น้ำลำคลอง และซุกซ่อนอยู่บริเวณถนน ที่พักอาศัยและแหล่งชุมชน ซึ่งปัญหาขยะตกค้างนอกจากจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษแล้ว ยังเป็นสาเหตุของปัญหาการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพราะเวลาฝนตกขยะที่ไปอุดตันตามท่อเป็นสาเหตุให้ไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน จึงเกิดปัญหาน้ำท่วมขังตามถนน หรือในบางครั้งส่งก็ผลต่อปัญหาการจราจร เป็นต้น

ในต่างประเทศรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อแก้ปัญหาขยะ ทั้งการกำหนดเป้าหมายการลดปริมาณขยะในครัวเรือน/ห้างสรรพสินค้า/ร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ การส่งเสริมการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง การส่งเสริมการรีไซเคิล และพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน  ซึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาขยะมูลฝอยอย่างยั่งยืนคือการกำหนดเป้าหมายและแผนดำเนินงานของภาครัฐอย่างชัดเจน การบังคับใช้กฎหมาย และการให้ประชาชน/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการจัดการขยะ เพราะกระบวนการกำจัดขยะที่ถูกต้องจะส่งผลดีในเชิงเศรษฐกิจ ช่วยส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมดีขึ้นได้

ภาครัฐจัดการปัญหาขยะอย่างไรบ้าง?

วิธีการแก้ปัญหาเกี่ยวกับขยะ

ภาพจาก prodigy.co.th


สำหรับแนวทางการจัดการขยะของภาครัฐเพื่อแก้ปัญหานั้น คณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินจัดทำ Road Map การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ 2561-2573 โดยกำหนดให้มีการยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 4 ชนิดภายในปี 2565 ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกและหลอดพลาสติก รวมทั้งการนำพลาสติกกลับมารีไซเคิลเพื่อส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) โดยได้ทดลองโครงการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ ทั้งระดับกระทรวง กรมและระดับจังหวัด ซึ่งในปี 2565 กำหนดเป้าหมายการดำเนินงาน คือ การลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ส่งกำจัดร้อยละ 30 ได้แก่ จำนวนถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง 36 ไมครอน และจำนวนแก้วพลาสติกบางกว่า 100 ไมครอน ใช้ครั้งเดียวเป็นศูนย์  (กล่าวคือไม่มีการใช้ถุงพลาสติกและแก้วพลาสติก 100 เปอร์เซ็นต์) และไม่มีการใช้โฟมบรรจุอาหารในหน่วยงาน โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอร่างแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกระยะที่ 1 พ.ศ 2563-2565 ภายใต้ Road Map การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ 2561 – 2573 และยังมีเป้าหมายการนำพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์และเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2565 ได้แก่ ถุงพลาสติกชั้นเดียว ขวดพลาสติก ฝาขวด แก้วพลาสติก กล่องอาหาร ช้อน ส้อมและมีดที่ทำจากพลาสติก 

ดังนั้นหากดูจากข้อมูลการกำจัดขยะ และเป้าหมายของรัฐบาลจะพบว่าการให้ยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 4 ชนิดภายในปี 2565 ในหน่วยงานภาครัฐ  6 เดือนแรก ยังไม่สามารถบรรลุได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ นอกจากนี้การลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ส่งกำจัดร้อยละ 30 ได้แก่ จำนวนถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบางและจำนวนแก้วพลาสติกใช้ครั้งเดียวเป็นศูนย์ และไม่มีการใช้โฟมบรรจุอาหารในหน่วยงาน อาจเกิดขึ้นตามแผนได้ยากหากยังมีการอนุญาตให้ผู้ประกอบการในหน่วยงานใช้ภาชนะที่ทำจากพลาสติก หรือไม่มีมาตรการทางกฎหมายในการจำกัดปริมาณการใช้ เช่น ปริมาณพลาสติกที่ใช้ได้ต่อวัน การเสนอให้มีบรรจุภัณฑ์ทดแทนพลาสติกที่สั่งห้าม บทลงโทษในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ การเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียว  รวมทั้งงบประมาณสำหรับจัดหาพลาสติกที่ย่อยสลายได้ (composable)

การยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวตาม Road Map การจัดการขยะพลาสติกของรัฐบาลจึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย และชวนให้คิดต่อว่ารัฐบาลจะสามารถลดหรือยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวได้อย่างไร และมีวิธีการในการประเมินผลอย่างไร และหากภาครัฐไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ตามที่ประกาศไว้จะมีมาตรการรองรับอย่างไร 

ดังนั้นเพื่อให้รัฐมีมาตรการที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาขยะThink Forward Center จึงแบ่งข้อเสนอออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ (1) การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย (2) การจัดสรรงบประมาณด้านการบริหารจัดการและการกำจัดขยะ และกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น(3) การส่งเสริมผู้ประกอบการ การลงทุน การหารายได้จากภาษีและค่าธรรมเนียม ดังนี้

1. การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย

  • ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายพรบ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และ พรบ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เพื่อให้มีมาตรการในการกำจัดขยะมูลฝอยที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน 
  • ส่งเสริมพระราชบัญญัติการจัดการขยะมูลฝอยเพื่อเป็นกฎหมายบังคับใช้ในด้านการจัดการขยะโดยเฉพาะ และกฎหมายกำหนดบทลงโทษในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามว่าด้วยการกำจัดขยะที่ถูกต้อง หรือการลักลอบปล่อยของเสีย มลพิษ และสารเคมี ของภาครัฐและภาคเอกชน
  • ส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายด้วยการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการขยะ และให้มีการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเกี่ยวกับการคัดแยกขยะในครัวเรือนก่อนส่งมอบขยะให้กับท้องถิ่น (รายละเอียดอยู่ในข้อเสนอที่ 3) 
    • กำหนดมาตรการให้บริษัทผู้ผลิต (ภาคเอกชนในฐานะผู้ก่อมลพิษ) นำขยะที่ตนเองผลิตไปรีไซเคิลหรือมีส่วนรับผิดชอบในการกำจัด หรือการใช้หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) ให้ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะของรัฐและประชาชน ดังนี้
      • แก้ไขกฎหมายให้บริษัทต้องมีการเปิดเผยข้อมูลจำนวนขยะที่ผลิตสู่สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการจัดการ ตรวจสอบและประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
      • กำหนดให้บริษัทผู้ผลิต ทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากจากขยะพลาสติก ขยะอันตรายและไม่อันตราย ตามปริมาณที่ผลิตในแต่ละปี และให้รายงานข้อมูลและผลดำเนินงานการจัดการ/กำจัดขยะสู่สาธารณะ โดยให้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ดูแลและตรวจสอบการดำเนินงาน เพื่อแสดงข้อมูลว่า แต่ละบริษัททำการผลิตขยะบรรจุภัณฑ์ ทั้งภาชนะบรรจุประเภท ถุงพลาสติก ขวดน้ำ แก้วน้ำ แพกเกจบรรจุสินค้า หลอดดูด กระดาษ เศษโลหะ ฯลฯ คิดเป็นจำนวนกี่ตันต่อปี และขยะที่ผลิตออกมาถูกนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ใช้ซ้ำ หรือกำจัดอย่างถูกต้องคิดเป็นปริมาณเท่าไหร่ มีขยะที่รั่วไหลออกไปจากกระบวนการกำจัดปริมาณเท่าไหร่ และให้รายงานด้วยว่าวิธีการกำจัดขยะใช้วิธีการใด เพื่อให้เป็นไปตามหลัก EPR 
      • รัฐจะต้องกำหนดให้มีหลักปฏิบัติด้านการจัดการขยะให้บริษัทผู้ผลิตสินค้าปฏิบัติตาม เช่น ขยะที่สามารถนำมารีไซเคิล/ใช้ซ้ำได้ (ขวดพลาสติก กระป๋องอะลูมิเนียม ขวดแก้ว ฯลฯ) ต้องนำกลับไปรีไซเคิล/ใช้ซ้ำไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของขยะที่ผลิตทั้งหมด และบริษัทต้องนำขยะไปกำจัดอย่างถูกวิธีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของปริมาณขยะที่ผลิต เพื่อลดการผลิตขยะใหม่
      • การกำหนดให้มีการใช้ระบบเรียกคืนบรรจุภัณฑ์ ด้วยการตั้งจุดรับคืนบรรจุภัณฑ์ (Drop-off point)ตามห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ราชการ และบริษัทเอกชน (ซึ่งผู้นำขยะมาคืนจะได้รับเงินมัดจำคืน) เพื่อให้บริษัทสามารถนำบรรจุภัณฑ์ที่รับคืนกลับไปใช้ซ้ำโดยไม่จำเป็นต้องผลิตบรรจุภัณฑ์ใหม่ 
      • ในกรณีที่ไม่สามารถทำตามมาตรการนี้ได้ ควรกำหนดให้นำข้อมูลขยะที่รั่วไหลจากการจัดการมาแสดงเพื่อนำไปใช้ในการคิดค่าบริการกำจัดขยะในภายหลัง รวมทั้งนำข้อมูลไปคำนวณเพื่อเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก 
  • แก้ไขกฎหมายให้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ต้องเปิดเผยข้อมูลการกำจัดขยะของโรงงานที่ก่อขยะพิษ เพื่อเปิดให้มีการร่วมตรวจสอบ รวมถึงปรับปรุงมาตรฐานกระบวนการจัดการขยะและแยกบทบาทระหว่างการส่งเสริมอุตสาหกรรมกับการทำหน้าที่ตรวจสอบมลพิษโรงงาน
  • ควรส่งเสริมให้มีกระบวนการในการเสนอกฎหมายเพื่อเป็นช่องทางบริหารจัดการและแก้ปัญหาขยะ โดยให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัทหรือโรงงานที่ลักลอบทิ้งขยะ/กากอุตสาหกรรม หรือสามารถนำประเด็นปัญหาไปร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 


2. จัดสรรงบประมาณในการพัฒนากลไกการลด/คัดแยก/กำจัดขยะ และกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น

  • รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณในการสร้างแรงจูงใจในการลดปริมาณขยะในครัวเรือนและชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนากลไกการคัดแยก/กำจัดขยะ 4,000 ล้านบาท/ปี เพื่อนำไปเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดการขยะสำหรับองค์กรปกครองส่วนทอ้งถิ่น 7,850 แห่ง อาทิ 
  • การพัฒนาจุดคัดแยกขยะประจำชุมชน 1-2 จุด
  • การจัดสรรรถบรรทุกขยะแยกสี ตามชนิดของขยะ หมู่บ้านละ 2 คัน และประชาชนสามารถนำขยะมาทิ้งที่รถแทนการทิ้งตามถังขยะ (เพื่อเป็นการคัดแยกขยะจากต้นทาง)
  • ควรมีการกำหนดวันในการทิ้งขยะและประกาศให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศสัปดาห์ละ 2 วัน เช่น ทุกวันจันทร์และวันพฤหัส
  • ส่งเสริมแรงจูงใจในการลดปริมาณขยะด้วยการคำนวณเงินต่อน้ำหนักขยะที่ลดลง เช่น 3 บาท/กก. สำหรับขยะทุกประเภท
  • พัฒนาแพลตฟอร์มด้านการรีไซเคิล (Recycle) หรือการใช้ซ้ำ (Reuse) เพื่อสร้างรายได้ให้ท้องถิ่นด้วยการนำขยะมาแปลงให้เป็นวัสถุที่ใช้ประโยชน์ เช่น วัสดุคอนกรีตทำผนังบ้าน อาคาร หรือลาดถนน หรือนำไปผลิตเป็นพลังงานเชื้อเพลิง พลังงานชีวมวล จากเศษวัชพืช เช่น ตอซัง ฟางข้าว กากอ้อยเหลือทิ้ง ฯลฯ การทำปุ๋ยอินทรีย์จากเศษอาหารและวัชพืชย่อยสลายได้
  • การหาประโยชน์จากการนำขยะมูลฝอยชุมชนไปผ่านกระบวนการแปรรูปเพื่อให้ได้เป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF: Refuse Derived Fuel) สำหรับนำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า หรือการรีไซเคิล นำไปใช้เป็นพลังงานทดแทนและการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน
  • ชุมชนควรเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะ โดยมีอาสาสมัครชุมชน (อสม.) เป็นคนกลางในการดำเนินงาน สร้างองค์ความรู้ และมีบทบาทในการจัดการขยะในชุมชน
  • ส่งเสริมการสื่อสารด้านการจัดการขยะ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีบทบาทในการสื่อสารเพื่อส่งเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะให้ประชาชน เช่น การคัดแยกขยะ บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำมารีไซเคิลหรือใช้ซ้ำได้ 
  • การพัฒนาจุดบริการ One Stop Service ในการรับซื้อ/คัดแยกขยะ ในแต่ละชุมชน


3. การส่งเสริมผู้ประกอบการ การลงทุนและการหารายได้จากภาษี และค่าธรรมเนียม

  • เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีสูงเข้ามาลงทุนในธุรกิจกำจัดขยะมากขึ้น
  • ส่งเสริมมาตรการทางภาษี เช่น การเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากบริษัทผู้ผลิต โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก เช่น ขวดน้ำ ถุงขนม ถุงพลาสติก แก้วน้ำ หลอดดูด ฯลฯ 
  • การลดปริมาณขยะในครัวเรือน สร้างแรงจูงใจโดยการลดภาษีให้กับร้านขายสินค้าประเภท Refill และส่งเสริมให้ประชาชนหันมาบริโภคสินค้าที่มาจากร้านรีไซเคิล หรือร้านค้าที่ใช้ฉลากลดคาร์บอน แทนการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียว
  • ยกเลิกภาษีสำหรับบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายตามธรรมชาติได้โดยไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ/สารตกค้างในธรรมชาติ
  • เพิ่มอัตราค่าจัดเก็บขยะ ในพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองฉบับที่ 2 พ.ศ 2560 จากเดิมที่มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย 150 บาท/เดือน (ในปริมาณไม่เกิน 120 กิโลกรัม) เป็น 250 บาท/เดือน และค่าธรรมเนียมการกำจัดขยะมูลฝอยจาก 200 บาท/เดือน (ในปริมาณไม่เกิน 120 กิโลกรัม) เป็น 350 บาท/เดือน กับห้างสรรสินค้า และให้เพิ่มค่าจัดเก็บกิโลกรัมละ 30 บาท ในกรณีที่เกินจากที่กำหนดเพื่อลดปริมาณขยะ
  • ให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการหารายได้การเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับขยะมูลฝอย  และเพิ่มอัตราค่าจัดเก็บขยะจากร้านสะดวกซื้อ/ห้างสรรพสินค้า/โรงแรม/ร้านอาหาร ให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะในแต่ละปี ทั้งในส่วนของกรุงเทพมหานครและ อปท. 
  • รัฐต้องเก็บภาษีจากบริษัทผู้ผลิตขยะในฐานะผู้ก่อมลพิษ เพื่อนำมาใช้ในการกำจัดขยะ และสมทบเงินที่จัดเก็บจากภาษีบางส่วนเข้าไปในกองทุนสิ่งแวดล้อม 

ตัวอย่างปัญหาโรงไฟฟ้าขยะอ่อนนุช

วิธีการแก้ปัญหาเกี่ยวกับขยะ

ภาพจาก Voice.co.th


โรงไฟฟ้าขยะอ่อนนุชหรือศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เป็นโรงไฟฟ้าที่บริหารจัดการโดย บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (วิสาหกิจกรุงเทพมหานคร) เพื่อเป็นโครงการต้นแบบและนำร่องการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชนแบบบูรณาการ ด้วยเทคโนโลยีเชิงกลและชีวภาพ (MBT) ในพื้นที่ 20 ไร่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดมูลฝอยชุมชนด้วยการผลิตพลังงานไฟฟ้าและลดพื้นที่ฝังกลบ

อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่มีการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน (ระยะเวลา 2 ปี 4 เดือน) โรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้ได้ทำให้ชุมชนและบริเวณโดยรอบในรัศมี 5 กิโลเมตร ได้รับผลกระทบจากปัญหากลิ่นขยะมูลฝอยจากกระบวนการหมักของขยะชุมชน 800 ตัน/วัน มาเตรียมเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF: Refuse Derived Fuel) สำหรับผลิตไฟฟ้า โดยชาวบ้านในพื้นที่และผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหากลิ่นขยะ (อย่างน้อย 35 หมู่บ้าน) ได้ร้องเรียนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไข  ทำให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีคำสั่งพักใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าของบริษัท กรุงเทพธนาคม เนื่องจากบริษัทไม่ปฏิบัติตาม Code of Practice : CoP ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีการขนส่งขยะเข้ามาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 

วิธีการแก้ปัญหาเกี่ยวกับขยะ

ภาพจาก Matichonweekly.com

โรงไฟฟ้าขยะอ่อนนุชเกิดจากคำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 ซึ่งละเว้นกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และการดำเนินโครงการยังผิดกฎหมายผังเมืองเนื่องจากตั้งอยู่ใกล้แหล่งชุมชนอีกด้วย

ทั้งนี้กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมกำหนดให้การดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ ไม่ต้องจัดทำรายงาน EIA แต่ต้องมีการควบคุมมาตรฐานทางด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เนื่องจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าอาจก่อให้เกิดมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง ทำให้ผู้ขอใบอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะต้องดำเนินตาม CoP: Code of Practice และต้องขอใบอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อย่างไรก็ตามในกรณีของโรงไฟฟ้าขยะอ่อนนุชแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ไม่ได้มีการปฏิบัติตามกฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในชุมชนก่อนเริ่มดำเนินโครงการ

แม้ว่าโรงไฟฟ้าขยะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดขยะมูลฝอยและเป็นการนำขยะไปใช้ให้เกิดประโยชน์ แต่การขาดการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งการละเว้นกระบวนการจัดทำ EIA ส่งผลให้ไม่มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมก่อนเริ่มดำเนินการ และการตั้งโรงไฟฟ้าขยะใกล้แหล่งชุมชน ย่อมส่งผลให้เกิดมลพิษต่อชุมชนในระแวกใกล้เคียง จากกระบวนการขนส่ง คัดแยก และหมักขยะ รวมทั้งกระบวนการเผาขยะที่ก่อให้เกิด “สารไดออกซิน” ซึ่งเป็นสารอันตราย ทำให้ประชาชนที่สูดดมสารพิษมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งหรืออาจส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมได้  ที่สำคัญคือกระบวนการเผาไหม้ขยะอาจทำให้มีการรั่วไหลของสารมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศที่ส่งผลกระทบต่อการเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกและปัญหาโลกร้อนอีกด้วย

ดังนั้นแม้ว่าการดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าขยะอ่อนนุชที่อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทกรุงเทพธนาคม จะมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นโครงการต้นแบบและนำร่องการบริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพขยะมูลฝอยชุมชน แต่การไม่ได้ทำตามขั้นตอนตามกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นประชาชน ทำให้เกิดปัญหาขยะส่งกลิ่มเหม็น และสร้างผลกระทบทางสุขภาพในบริเวณชุมชนใกล้เคียง 

ขยะเยอะทำไงดี

ล้างไฟล์ขยะ.
เปิด Files by Google. ในอุปกรณ์ Android..
แตะ "ล้าง" ที่ด้านซ้ายล่าง.
ในการ์ด "ไฟล์ขยะ" ให้แตะ ยืนยันและเพิ่มพื้นที่ว่าง.
แตะดูไฟล์ขยะ.
เลือกไฟล์บันทึกหรือไฟล์แอปชั่วคราวที่คุณต้องการล้าง.
แตะล้าง.
ในป๊อปอัปการยืนยัน ให้แตะล้าง.

ช่วยลดจำนวนขยะได้อย่างไร

ใช้ถุงผ้า ตระกร้า เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก ใช้ผ้าเช็ดหน้าแทนการใช้กระดาษทิชชู่ ใช้ปิ่นโต หรือกล่องข้าวใส่อาหาร แทนการใส่กล่องโฟม ใช้กระติกน้ำ หรือขวดน้ำแบบพกพา ที่สามารถ Refill ได้ แทนการซื้อน้ำดื่มที่บรรจุในขวดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

ทำยังไงให้ขยะไม่ล้นถัง

ทำไมขยะล้นถัง, , , image - Coggle Diagram.
ซ่อมแซมแก้ไขเครื่องใช้ที่ชำรุดให้นำกลับมาใช้ใหม่แทนการทิ้งเป็นขยะ.
ควรนำวัสดุที่ใช้แล้ว เช่น กระดาษ แก้ว พลาสติก มาแปรรูปกลับมาใช้ได้ใหม่.
หลีกเลี่ยงการใช้โฟมหรือพลาสติก.
นำของที่ใช้แล้วบางชนิดมาดัดแปลงใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์.
ควรแยกขยะตามประเภท เช่น ขยะเปียก ขยะแห้ง ขวดพลาสติก ฯลฯ.

ปัญหาเกี่ยวกับขยะมีอะไรบ้าง

ขยะมูลฝอยก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์หลายประการดังต่อไปนี้ คือ.
เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลง และพาหะของโรค ... .
เป็นบ่อเกิดของโรค ... .
ก่อให้เกิดความรำคาญ ... .
ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ... .
ทำให้เกิดการเสี่ยงต่อสุขภาพ ... .
เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ ... .
ทำให้ขาดความสง่างาม.