ประจำเดือนมาไม่ปกติเป็นอย่างไง

ประจำเดือน คือเยื่อบุของโพรงมดลูกที่หลุดออกมาทุกรอบเดือนของผู้หญิง ในปกติผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์จะมีรอบเดือนทุกๆ 21-35 วัน และแต่ละรอบจะยาวนานราว 2-7 วัน หากประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือมีความผิดปกติอะไรบ้างอย่าง อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ได้

เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด เป็นอย่างไร?

อาการเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด สามารถแบ่งผู้ป่วยได้ออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ยังไม่ควรจะมีประจำเดือน เช่น เด็ก หรือวัยรุ่นผู้หญิงที่ยังไม่มีประจำเดือน กับ กลุ่มผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ในสองกลุ่มนี้ถ้ามีเลือดออกทางช่องคลอด ถือว่ามีความผิดปกติ

สำหรับกลุ่มผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ เลือดประจำเดือนที่ผิดปกติ อาจพบได้ ดังนี้

  1. เลือดประจำเดือนมีปริมาณมากกว่าปกติ ทั้งในแง่ของปริมาณ และระยะเวลาที่มีประจำเดือน
  2. มีเลือดออกมานอกรอบประจำเดือน

สาเหตุของเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด

  1. รังไข่ทำงานผิดปกติ
  2. ใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด หรือฮอร์โมนผู้หญิงทดแทนในวัยหมดประจำเดือน
  3. ภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์
  4. โรคติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ เช่น โรคเนื้องอกในมดลูกที่สามารถพบได้บ่อย รวมถึงมะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกที่พบได้บ่อยในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

เลือดออกผิดปกติในช่องคลอดอย่างไร ควรมาพบแพทย์

  1. ผู้หญิงที่ไม่มีประจำเดือน (ยังไม่มี หรือหมดแล้ว) แต่มีเลือดออกทางช่องคลอด เช่น ในเด็ก หรือผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
  2. ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ มีประจำเดือนปกติ แต่มีเลือดออกนอกรอบประจำเดือนด้วย หรือมีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
  3. มีประจำเดือนในปริมาณที่มากขึ้น หรือมีระยะเวลาของประจำเดือนนานขึ้น สังเกตได้จากการที่ใช้ผ้าอนามัยมากกว่า 4 แผ่นชุ่มๆ ต่อวัน หรือมีประจำเดือนในแต่ละรอบมากกว่า 7 วัน ซึ่งทำให้มีอาการเหนื่อย เพลีย หลังมีประจำเดือนจากภาวะโลหิตจางได้

การตรวจวินิจฉัยโรค เมื่อมีเลือดออกผิดปกติในช่องคลอด

แพทย์จะทำการซักประวัติถึงอาการที่เป็นอยู่เพื่อหาสาเหตุอย่างคร่าวๆ จากนั้นในบางรายที่มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ แพทย์อาจขอตรวจภายใน และอาจจะต้องมีการตรวจเซลล์ของปากมดลูกที่เรียกว่า Pap smear เพื่อตรวจคัดกรองภาวะมะเร็งปากมดลูก (แนะนำให้ตรวจทุกๆ 2-3 ปี ในกลุ่มที่ไม่มีความเสี่ยง แต่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ติดเชื้อ HIV แพทย์จะแนะนำให้ตรวจทุกปี)ในบางกรณี แพทย์อาจขอตรวจเยื่อบุโพรงมดลูก โดยการขูดมดลูก หรือเอาเซลล์ของมดลูกมาตรวจ ในกรณีที่แพทย์อาจสงสัยว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นเนื้องอกหรือไม่ แพทย์อาจขอตรวจอัลตร้าซาวนด์ หรือที่เรียกว่าการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง และในกรณีที่จะตรวจระดับฮอร์โมน แพทย์อาจขอเจาะเลือดตรวจ ซึ่งนอกจากจะตรวจระดับฮอร์โมนแล้ว ยังสามารถตรวจภาวะโลหิตจางได้ด้วย

การรักษาภาวะเลือดออกผิดปกติในช่องคลอด

ถ้าอาการที่เกิดขึ้นเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของรังไข่ แพทย์อาจพิจารณาให้รับประทานยา เพื่อควบคุมการทำงานของรังไข่ แต่ถ้ามีเนื้องอกในมดลูก หรือมีมะเร็งของระบบสืบพันธุ์ อาจรักษาด้วยการผ่าตัด หรือใช้รังสีรักษา สำหรับผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติในช่องคลอด สามารถเข้ารับคำปรึกษาที่แพทย์แผนกสูตินรีเวช

ประจำเดือนมาไม่ปกติเป็นอย่างไง

ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS - Polycystic Ovary Syndrome) คือ ความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ ทำให้ผู้ป่วยมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน แอนโดรเจน และอินซูลินอยู่ในภาวะที่ไม่สมดุล เกิดถุงน้ำขนาดเล็กจำนวนหลายใบอยู่ในรังไข่ ซึ่งอาจเกิดเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ จึงทำให้รังไข่มีขนาดโตขึ้น และส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ สิวขึ้น ขนดก หรือมีบุตรยาก โดยมักพบในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์เป็นหลัก


ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ เกิดจากอะไร?

ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัดแน่ชัด อาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรม เชื้อชาติ สิ่งแวดล้อม หรือหลายๆ ปัจจัยรวมกัน แต่กลไกผิดปกติที่เกิดขึ้นหลัก จะมีดังนี้

  • มีความผิดปกติที่ทำให้เกิดภาวะตกไข่ไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนไม่ปกติ จนนำมาสู่การมีบุตรยาก
  • มีความผิดปกติของระดับหรือการทำงานของฮอร์โมนเพศชาย ทำให้หน้ามัน สิวขึ้นง่าย ขนดก
  • มีความผิดปกติของการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งเกี่ยวข้องกับขบวนการเผาผลาญน้ำตาล กลูโคสในร่างกาย ทำให้มีความเสียงในการเกิดโรคเบาหวาน

อาการของภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ

ผู้ป่วยภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบมักมีอาการหรือรู้สึกถึงความผิดปกติภายหลังจากมีประจำเดือนครั้งแรก ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลักๆ ดังนี้ย

  • การตกไข่ผิดปกติ ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติและมีบุตรยาก
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น ประจำเดือนไม่มาติดต่อกันนานหลายเดือน ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนมานานและอาจมามากหรือน้อยผิดปกติ
  • มีบุตรยาก เนื่องจากการตั้งครรภ์ต้องอาศัยการตกไข่ ซึ่งผู้ป่วย PCOS บางราย อาจมีภาวะไม่ตกไข่ในบางเดือน หรือบางรายอาจไม่ตกไข่เลย จึงส่งผลให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ยาก
  • ระดับฮอร์โมนเพศชายสูงขึ้น ฮอร์โมนแอนโดรเจนที่สูงขึ้น ส่งผลต่อลักษณะทางกายภายของผู้ป่วย เช่น มีขนขึ้นตามหน้าและส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย มีสิวขึ้นมากผิดปกติ เสียงเปลี่ยน หรือเป็นโรคศีรษะล้านทางพันธุกรรม
  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นผิดปกติ
  • เกิดความรู้สึกหดหู่ จากอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

การรักษาภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ

  • การรักษาให้มีประจำเดือนมาสม่ำเสมอ โดยการให้รับประทานฮอร์โมนโปรเจสตนิ รับประทาน เป็นรอบๆ ต่อเดือน หรือให้รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ซึ่งจะได้รับประโยชน์ในการคุมกำเนิดร่วมด้วย และยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมบางกลุ่ม มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชายร่วมด้วย ทำให้ได้ประโยชน์ในการรักษาสิว หน้ามัน ขนดก ร่วมด้วย
  • ตรวจหาความผิดปกตในการเกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และภาวะไขมันสูง
  • การรักษาสำหรับผู้ที่ต้องการมีบุตร กลุ่มอาการนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้มีบุตรยาก เนื่องจากการตกไข่ไม่สม่ำเสมอ จึงควรได้รับการดูแลโดยแพทย์เฉพาะทางด้านภาวะมีบุตรยาก
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ควบคุมน้ำหนัก ควรหันมาออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกไขมันและแป้ง

Tags : 

ถุงน้ำรังไข่ โรคทางนรีเวช ประจำเดือนมาไม่ปกติ ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ PCOS