เศรษฐกิจพอเพียงเหมาะสมกับคนไทยอย่างไร

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นกรอบแนวคิด ซึ่งมุ่งให้ทุกคนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ รวมถึงการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น จนเกิดความยั่งยืน คำว่า พอเพียง คือ การดำเนินชีวิตแบบทางสายกลาง โดยตั้งอยู่บนหลักสำคัญสามประการ คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี    
 

 

ความพอประมาณ

คือ การดำรงชีวิตให้เหมาะสม ซึ่งเราควรจะมีความพอประมาณทั้งการหารายได้ และพอประมาณในการใช้จ่าย ความพอประมาณในการหารายได้ คือ ทำงานหารายได้ด้วยช่องทางสุจริต ทำงานให้เต็มความสามารถ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ส่วนความพอประมาณในการใช้จ่าย หมายถึง การใช้จ่ายให้เหมาะกับฐานะความเป็นอยู่ ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรือใช้จ่ายเกินตัว และในขณะเดียวกัน ก็ใช้จ่ายในการดูแลตนเอง และครอบครัวอย่างเหมาะสม ไม่อยู่อย่างลำบาก และฝืดเคืองจนเกินไป

ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจ หรือการดำรงชีวิตประจำวัน เราจำเป็นต้องมีการตัดสินใจตลอดเวลา ซึ่งการตัดสินใจที่ดี ควรตั้งอยู่บนการไตร่ตรองถึงเหตุ รวมทั้งคำนึงถึงผลที่อาจตามมาจากการตัดสินใจอย่างรอบคอบ ไม่ใช่ตัดสินใจตามอารมณ์ หรือจากสิ่งที่คนอื่นบอกมาโดยปราศจากการวิเคราะห์

คือ การเตรียมตัวให้พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลง ในโลกที่ไม่มีอะไรแน่นอน ทั้งสภาพลม ฟ้า อากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำเกษตร การเปลี่ยนแปลงในบริษัทคู่ค้า การเลิกจ้างพนักงานในบริษัทใหญ่ หรือแม้แต่ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศที่มีผลต่อการลงทุน เราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะดำรงอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาตนเอง และตั้งอยู่ในความไม่ประมาทอยู่เสมอ เช่น เตรียมแผนสำรองสำหรับแต่ละสถานการณ์ การมีรายได้หลายทางเพื่อลดความเสี่ยงในวันที่ถูกเลิกจ้าง หรือการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน

โดยการดำรงชีวิตตามหลักการทั้งสามข้อนั้น จำเป็นต้องมีความรู้และคุณธรรมประกอบด้วย ความรู้ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันที่เหมาะสม เช่น ความรู้ในการประกอบวิชาชีพช่วยให้ธุรกิจและการงานเจริญก้าวหน้า หรือความรู้ในการลงทุนช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้นักลงทุน ทั้งนี้ ความรู้และประสบการณ์ จะช่วยทำให้เราตัดสินใจได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล ถึงแม้ว่า พื้นฐานความคิดและประสบการณ์ที่แตกต่างกันอาจทำให้เหตุผลของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน แต่หากทุกคนยึดมั่นอยู่ในหลักคุณธรรม ก็จะทำให้การอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นไปอย่างสงบสุข

อย่างที่กล่าวมาข้างต้น การพึ่งพาตัวเองได้เป็นเพียงส่วนเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเมื่อทุกคนสามารถดูแลตัวเอง และครอบครัวได้แล้ว ขั้นต่อไปอาจทำการพัฒนาธุรกิจ โดยมีการรวมกลุ่มกันในวิชาชีพเดียวกัน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในการรวมกลุ่มกันนั้น ไม่จำกัดเฉพาะการรวมกลุ่มของชาวบ้าน เกษตรกร ในรูปของสหกรณ์ การทำงานในเมืองก็สามารถมีการรวมกลุ่มกันได้ เช่น การแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ในการทำธุรกิจของกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน การแลกเปลี่ยนแนวคิดการลงทุน เพื่อเป็นการต่อยอดความรู้ รวมไปจนถึงการแบ่งปันความช่วยเหลือส่งกลับคืนสู่สังคม ไปสู่กลุ่มที่ยังต้องการความช่วยเหลืออยู่ เช่น กิจกรรมจิตอาสา เพื่อสร้างสังคมที่เข้มแข็งและอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

จะเห็นได้ว่า แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนความไม่ประมาท ด้วยการใช้ความรู้และคุณธรรม เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตัวเองได้ และเผื่อแผ่ไปถึงสังคม ซึ่งเราสามารถนำหลักการปฏิบัติไปปรับใช้ได้ทั้งในชีวิตการทำงาน และการดำรงชีวิตครับ


"...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกินพอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคง พร้อมพอควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป..." พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ 18 กรกฎาคม 2517

"...คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่ พอมี พอกิน และขอให้ทุกคน มีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทย พออยู่ พอกิน มีความสงบ และทำงานตั้งจิตอธิษฐาน ตั้งปณิธาน ในทางนี้ที่ จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศ อื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้..." พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิตดาลัย วันที่ 4 ธันวาคม 2517

"...ฉะนั้น ถ้าทุกท่านซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีความคิด และมีอิทธิพล มีพลังที่จะทำให้ผู้อื่นซึ่งมีความคิดเหมือนกัน ช่วยกันรักษา ส่วนรวมให้อยู่ดีกินดี พอสมควร ขอย้ำ พอควร พออยู่พอกิน มีความสงบ ไม่ให้คนอื่นมาแย่ง คุณสมบัตินี้จากเราไปได้ ก็จะเป็นของขวัญวันเกิดที่ถาวร ที่จะมีคุณค่าอยู่ตลอดกาล..." พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิตดาลัย วันที่ 4 ธันวาคม 2517

"... ถ้าท่านทั้งหลายช่วยกันคิดช่วยกันทำ แม้จะมีการเถียงกันบ้าง แต่เถียงด้วยรากฐานของเหตุผล และเมตตาซึ่งกันและกัน และสิ่งที่สูงสุด ที่สุดก็คือประโยชน์ร่วมกัน คือ ความพอมีพอกิน พออยู่ ปลอดภัยของประเทศชาติ..." พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิตดาลัย วันที่ 4 ธันวาคม 2517

"...ในการพูดจา ในการกระทำ ในการคิด เราทำในสิ่งที่เรียกว่า สุจริต หมายความว่า ทำในสิ่งที่ไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้อื่น ตรงข้าม บรรเทาความเดือนร้อนต่อผู้อื่น อันนี้ก็เป็นการทำบุญอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งสูงยิ่งขึ้นไปอีก..." พระราชดำรัสในโอกาสที่คณะชาวห้วยขวาง พญาไท เฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล วันที่ 5 ธันวาคม 2521

"...วิถีทางดำเนินของบ้านเมืองและประชาชนโดยทั่วไป มีความเปลี่ยนแปลงมาตลอด เนื่องมาจากความวิปริตผันแปรของวิถีแห่งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และอื่นๆของโลก ยากยิ่งที่เราหลีกเลี่ยงให้พ้นได้ จึงต้องระมัดระวัง ประคับ ประคองตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการเป็นอยู่โดยประหยัด เพื่อที่จะอยู่ให้รอด และก้าวหน้าต่อไปได้โดยสวัสดี...." พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ วันที่ 30 ธันวาคม 2521

"...เศรษฐกิจพอเพียง ความหมายคือทำอะไรให้เหมาะสมกับฐานะของตัวเอง ทำเป็น Self Sufficiency..." พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2544

"...เศรษฐกิจพอเพียงนี้ให้ปฏิบัติเพียงครึ่งเดียวคือ ไม่ต้องทั้งหมด หรือแม้จะเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอ เศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอนั้น ไม่ได้แปลว่า เศษหนึ่งส่วนสี่ของพื้นที่ แต่เศษหนึ่งส่วนสี่ของการกระทำโดยวิธีปฏิบัติ เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ต้องทำทั้งหมด และถ้าทำทั้งหมดก็ทำไม่ได้..." พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2541

“เศรษฐกิจพอเพียง สำคัญว่าต้องรู้จักขั้นตอน ถ้านึกจะทำอะไรให้เร็วเกินไปไม่พอเพียง ถ้าไม่เร็วช้าไป ก็ไม่พอเพียง ต้องให้ รู้จัก ก้าวหน้าโดยไม่ทำให้คนเดือดร้อน..." พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2546