ผู้นำ มีความสำคัญ อย่างไร ต่อการจัดการความรู้

ผู้นำและการจัดการความรู้

โดย อาจารย์ ดร.อารยา ประเสริฐชัย

      จากวิกฤตอุทกภัยในปี 2554 นอกจากความเสียหายอย่างใหญ่โตมโหฬารที่ประชาชนต่างได้รับผลกระทบโดยถ้วนหน้า อีกสิ่งหนึ่งก็คือ “ความในใจ” ที่เหล่าบรรดาผู้ได้รับผลกระทบทั้งหลายดาหน้ากันออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในปริมณฑลรอบๆ กรุงเทพมหานคร ที่แสดงออกถึงวุฒิภาวะผู้นำและฝีมือในการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด จนถูกวิจารณ์กันแบบไม่เคยมีมาก่อนแม้กระทั่งนักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์ ดาราและนักเขียนชื่อดัง ยังอดวิจารณ์ดังๆ ผ่านสื่อ สรุปใจความได้ว่า “น้ำท่วมไม่กลัว กลัวผู้นำโง่” รวมทั้งกรณีล่าสุด ก็คือ กรณีจัดการกับปัญหาน้ำท่วมใหญ่ที่ "เอาไม่อยู่" และปล่อยให้ประชาชนช่วยเหลือตนเองตามยถากรรม เป็นประเด็นที่ผู้เขียนสงสัยและต้องกับมาทำความเข้าใจในแง่การจัดการความรู้ว่า “ปัญญา การเรียนรู้ และภาวะผู้นำ มีความสำคัญอย่างไร”

      ภาวะผู้นำเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงสำเร็จ หลายคนบอกว่า การนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนั้น ควรจะต้องเริ่มต้นด้วยวิสัยทัศน์ที่ชัดและจูงใจก่อนเป็นอันดับแรก เพราะนั่นคือ การกำหนดทิศทาง เป็นการวางเป้าหมายสำหรับอนาคต รวมทั้งการสร้างศรัทธาก็เป็นองค์ประกอบสำคัญ เพราะแม้วิสัยทัศน์จะดีซักเพียงใด แต่หากคนทั่วไปไม่ยอมรับหรือศรัทธาในตัวผู้นำแล้ว วิสัยทัศน์ที่วางไว้นั้นก็จะไร้ความหมาย ในทางตรงกันข้าม ถึงแม้วิสัยทัศน์หรือเป้าหมายที่กำหนดไว้อาจจะไม่ดึงดูดใจ แต่ถ้าหากคนมีความเชื่อหรือศรัทธาในตัวผู้นำแล้ว การเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ก็มีโอกาสที่จะสำเร็จได้มากทีเดียว

      ความศรัทธามาจากไหน และสามารถพัฒนาขึ้นมาได้อย่างไร หากจะกล่าวโดยรวมแล้ว “ศรัทธา” เป็นเรื่องของความชอบ “ความเชื่อ” เป็นเรื่องของการยอมรับ เป็นเรื่องของใจ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีเหตุมีผลเสมอไป การที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะเป็นที่ยอมรับนับถือของคนทั่วไป บุคคลนั้นก็คงต้องมีอะไรที่เหนือหรือโดดเด่นอยู่บ้าง เช่น โดดเด่นในเรื่องคุณวุฒิ วัยวุฒิ ประสบการณ์ หรือความรู้ความสามารถ ซึ่งคนทั่วไปก็จะให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้แตกต่างกันไป (ประพนธ์ ผาสุกยืด, 2544)

      ตามหลักไตรสิกขาทางพุทธศาสนามีการอธิบายปัญญาว่า จะต้องมาจากศีลและสมาธิ กล่าวคือ ถ้าไม่มีสมาธิก็ไม่เกิดปัญญา และถ้าไม่มีศีลก็จะไม่มีสมาธิ บางตำราก็บอกว่า ปัญญา ต้องพัฒนามาจากสติ สติกับปัญญามักจะอยู่คู่กันเสมอ ส่วนปัญญากับความรู้นั้น จะพบว่าไม่ใช่สิ่งเดียวกันเหมือนอย่างที่หลายคนเข้าใจ คนที่มีความรู้สูงนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาเสมอไป เช่น คนจบปริญญาเอกดำรงตำแหน่งสูงส่งทางการเมืองระดับรัฐมนตรี  พอแสดงความคิดเห็นออกมาทีไร กลับได้ยินเสียงร้องยี้จากประชาชนทุกครั้งไป เป็นต้น ความรู้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสมอง ในขณะที่ปัญญานั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจิตใจ คนที่มากด้วยความรู้แต่จิตใจไม่ดี จึงเป็นผู้ที่ไม่มีปัญญาไปโดยปริยาย

      การที่คนเราจะเข้าใจความหมายที่แท้จริงของชีวิตได้นั้น จะต้องดำรงชีวิตอยู่ด้วยปัญญา  และปัญญาจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากเรามัวแต่ติดอยู่แค่ความรู้ คงจะเป็นที่ประจักษ์กันดีอยู่แล้วว่า ผู้ที่มีความรู้สูงไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาเสมอไป ความรู้นั้นเป็นสิ่งที่สามารถเพิ่มพูนได้จากการอ่านตำรา ส่วนการที่ปัญญาจะเกิดได้นั้น เชื่อว่าจะต้องมาจากความสามารถในการอ่านทั้งจิตใจและอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องเข้าใจความรู้สึกของตนเอง เดิมที ผู้ที่มีความรู้สูงก็คือ ผู้ที่มีปัญญา แต่เมื่อพิจารณาจากผู้ที่มีความรู้สูงจำนวนมาก ก็กลับพบว่า มีมากมาย หลายท่านที่มิได้มีปัญญาตามความรู้ แต่กลับมีการตัดสินใจที่ผิดพลาดมากยิ่งขึ้น

      การจัดการความรู้ คือ เครื่องมือเพื่อใช้ในการบรรลุเป้าหมายอย่างน้อย 3 ประการไปพร้อมๆ กัน ได้แก่ บรรลุเป้าหมายของงาน บรรลุเป้าหมายการพัฒนาคน และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (วิจารณ์ พานิช, 2552)  ประพนธ์ ผาสุกยืด (2544) กล่าวว่า การเรียนรู้เป็นเรื่องของการ "รู้จริง" ซึ่งน่าจะเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของการศึกษา เพราะการเรียนรู้ระดับนี้จะเน้นที่ความเข้าใจเป็นหลัก ไม่ใช่สักแต่ท่องจำ เป็นการเรียนรู้ที่ต้องอาศัยข้อมูล อาศัยการวิเคราะห์ เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องเหตุเรื่องผล เป็นการศึกษาที่อิงการปฏิบัติจริง ทั้งนี้เพื่อจะได้เกิดความกระจ่างชัดในเรื่องต่างๆ เป็นการเรียนรู้อันเกิดจากการกระทำที่เรียกว่า “Learning by doing” เป็นการเรียนรู้ที่ได้มาจากประสบการณ์จริง เป็นการศึกษาที่ได้มาจากการสังเคราะห์สถานการณ์ ทำให้เกิดความเข้าใจในบริบท จนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม การเรียนรู้ในระดับสุดท้าย ถือว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของปัญญาโดยตรง เรียกว่า “เป็นการเรียนรู้ในระดับรู้แจ้ง" อันหมายถึง การเรียนรู้ที่อยู่นอกเหนือขอบเขตของความจำ แต่เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการสร้างความเข้าใจผ่านการกระทำ ผ่านความรู้สึก เป็นเรื่องของสามัญสำนึก และจิตวิญญาณ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตและการมองโลก สรุปได้ว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจิตใจโดยตรง การเรียนรู้ดังกล่าวข้างต้น สอนให้คนคิดเป็นทำเป็น ส่วนการเรียนรู้ในระดับรู้แจ้งจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้คนคิดถูกทำถูก เมื่อผู้นำมีความเข้าใจในเรื่องการเรียนรู้ดังกล่าว เป้าหมายในการบริหารองค์กรเพื่อให้ได้มาซึ่งงานที่ได้ผลและคนมีความสุข ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยไม่ยากนัก หรือสรุปง่ายๆ น้ำอาจไม่ท่วมถล่มทลายแบบนี้ และคนไม่ทุกข์ ถ้าผู้นำเป็นผู้นำ อย่างไรท้ายที่สุด ตนแหละเป็นที่พึ่งแห่งตน ประชาชนคงต้องแสวงหาปัญญาเพื่อตัดสินใจคัดเลือกคนแบบไหนที่จะมาเป็นผู้นำต่อไปในอนาคต

……………………………………………………………………………………………………

เอกสารอ้างอิง

ประพนธ์ ผาสุขยืด. (2544 ). “ภาวะผู้นำ และการเปลี่ยนแปลง”. ค้นคืนจาก http://www.kmi.or.th/kmi-articles/dr-prapon/25-002-leader-and-change.html
ประพนธ์ ผาสุขยืด. (2544). “ความรู้ ปัญญา และการเรียนรู้”. ค้นคืนจาก http://www.kmi.or.th/kmi-articles/dr-prapon/24-001-k-wisdom.html

วิจารณ์ พานิช. (2552). “สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม”. ค้นคืนจาก http://www.kmi.or.th/kmi-articles/prof-vicharn-panich/35-0008-triangle-k.html.