รัฐบาลใช้มาตรการทางการคลังในการแก้ปัญหาเงินเฟ้ออย่างไร

นายกฯ ชี้แจงรัฐบาลแก้ไขวิกฤตราคาพลังงานสูงเงินเฟ้อ ยืนยันดูแลทุกด้านเศรษฐกิจสาธารณสุขตามแนวทางสายกลางอย่างเต็มความสามารถ

นายกฯ ชี้แจงรัฐบาลแก้ไขวิกฤตราคาพลังงานสูงเงินเฟ้อ ยืนยันดูแลทุกด้านเศรษฐกิจสาธารณสุขตามแนวทางสายกลางอย่างเต็มความสามารถ

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (21 กรกฎาคม 2565) เวลา 19.00 น. ณ ห้องประชุมพระสุริยัน ชั้น 2 อาคารรัฐสภา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมการพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยได้ชี้แจงต่อเรื่องวิกฤตด้านพลังงานสูง ของแพง น้ำมันแพง เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นจริงกับไทย และเกิดกับทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งเกิดจากผลกระทบของโรคโควิด-19 สงคราม ผลพวงจากนโยบายการเงิน-การคลังของประเทศใหญ่ๆ ที่ใช้ในการแก้ปัญหาโควิด-19 โดยเฉพาะนโยบาย Zero Covid Policy ในบางประเทศ ก่อให้เกิดการผันผวนทางเศษฐกิจทั่วโลก ทั้งอัตราค่าเงิน เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย เกิดปัญหาขึ้นกับทุกประเทศ เป็นไปตามหลักการเศรษฐศาสตร์

อัตราเงินเฟ้อโลกพุ่งสูงมากในช่วงโควิด เกิดกับทุกประเทศแม้กระทั่งประเทศมหาอำนาจก็ได้รับผลกระทบ หากดูราคาน้ำมันดิบ ช่วงโควิด ราคาน้ำมันต่ำลงมากในช่วงที่ไม่มีการเดินทาง เมื่อเปิดประเทศมีการเดินทางและปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ ทำให้ราคาน้ำมันดิบแพงขึ้น 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งไทยต้องนำเข้ามากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ และได้มาจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งก็ไม่มากนัก สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอุบัติภัยครั้งใหญ่ของโลก เป็นคลื่นที่พัดพาความเสียหายเหล่านี้มายังประเทศไทย แม้ในบางพื้นที่จะดีขึ้น แต่ก็ยังฝากความเสียหายกับเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลกอย่างมหาศาล ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ เรียกประชุมหลายครั้ง และประชุมหารือใน

จำนวนคนเสียชีวิตจากโควิดทั่วโลกยังคงมีจำนวนสูง มีการปิดเมือง ปิดประเทศและการเดินทาง ทำให้ธุรกิจเสียหาย และกว่าจะตั้งหลักใหม่ต้องใช้เวลาพอสมควร หลายประเทศเลือกใช้นโยบายเศรษฐกิจนำหน้าสาธารณสุข ส่งผลให้จำนวนคนตายเยอะกว่าค่าเฉลี่ยโลก บางประเทศเป็นผู้ผลิตวัคซีนและยา เมื่อเกิดการผันผวนทางเศรษฐกิจ มีเกิดภาวะเงินเฟ้อและหนี้สาธารณะสูง เสถียรภาพทางเศรษฐกิจเสียหาย ทำให้เกิดเงินเฟ้อมหาศาล หลายประเทศต้องขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังจัดการดูแลสิ่งเหล่านี้อยู่

  ขณะที่บางประเทศ ใช้สาธารณสุขนำหน้าเศรษฐกิจ ผลคืออัตราคนตายน้อยลง และเศรษฐกิจผันผวนน้อยกว่า อย่างไรก็ดี ไทยใช้ทางสายกลาง สร้างความสมดุลระหว่างสุขภาพและปากท้อง ยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ ใช้มาตรการควบคุมเท่าที่จำเป็น ขอยืนยันว่า ไม่ได้ใช้เพื่อควบคุมการชุมนุม เพียงต้องการควบคุมสถานการณ์โควิด ไม่ต้องการให้มีการเสียชีวิต จึงต้องรักษาทางสายกลางให้ได้ ไม่ให้เกิดความเครียดจากโควิด เศรษฐกิจ และความขัดแย้ง สังคมไทยต้องไม่เครียดเกินไป กิจกรรมที่มีความเสี่ยงมากต้องควบคุม

อัตราการตายของไทยอยู่ระดับต่ำมาก อยู่ในลำดับ 127 ของโลก อันดับที่ 6 ของอาเซียน แต่นายกรัฐมนตรียังคงไม่พอใจ รัฐบาลทำทุกวิถีทางเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งการกู้เงิน เพื่อจัดหาวัคซีน รักษาประชาชน ช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ 1.5 ล้านล้านบาท ใช้เงินกว่า 854,000 ล้านบาท แก้ไขปัญหาและช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบกว่า 45 ล้านราย ยืนยันว่า รัฐบาลนำเงินช่วยเหลือตรงกลุ่มเป้าหมาย ผ่านโครงการเราชนะ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ม.33 ช่วยเหลือค่าน้ำ-ค่าไฟ คนละครึ่ง รักษาการจ้างงาน SMEs

การดำเนินการที่ผ่านมาเป็นผลดีพอสมควร ได้รับการร่วมมือจากนโยบายเปิดประเทศได้อย่างดี หลายประเทศชื่นชมไทย หารือความร่วมมือกับไทยเพื่อดูแลและแก้ไขปัญหาโควิด และมีการจัดตั้งศูนย์โรคระบาดใหม่ที่ไทย จึงขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ทำให้ประเทศไทยมีชื่อเสียง องค์กรระหว่างประเทศชื่นชมไทยว่า ดูแลโควิดได้ดีที่สุด เป็นต้นแบบความสำเร็จอันดับ 3 ของโลก

นอกจากนี้ เรื่องสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP หลายประเทศมีนโยบายต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะ ไทยก็เช่นกัน และมีการกำหนดเป็นไปตามหลักการสากล โดยไทยรักษาหนี้สาธารณะได้อย่างดี ซึ่งจากข้อมูลของ IMF  ไทยมีหนี้สาธารณะเป็นเพียงสีส้มอ่อน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับหลายๆประเทศ ไทยมีหนี้สาธารณะไม่มาก ทั้งนี้ ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และวิกฤตพลังงาน ซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อ ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอ่อนค่าลง รัฐบาลมีความพยายามในการแก้ไขปัญหามาตลอด เร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนประชาชน เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของไทยไว้ให้ได้ ดูแล ลดค่าครองชีพ ลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ ลดผลกระทบภาระเงินเฟ้อ เพื่อให้ประชาชนได้มีเวลาปรับตัวด้วยมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น การช่วยเหลือซื้อก๊าซหุงต้ม ค่าน้ำมันให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซต์รับจ้าง ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้า ก๊าซ NGV รักษาราคาน้ำมันดีเซล เป็นต้น รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ประกอบการตรึงราคาสินค้าให้ได้มากที่สุด ขายสินค้าราคาถูกผ่านร้านธงฟ้า ตลอดจนได้เสริมสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจ และแรงงานในระบบประกันสังคม ด้วยการลดเงินสมทบประกันสังคม ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ทุกมาตราเป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2565 โดยคิดเป็นมูลค่าประมาณ 34,540 ล้านบาท และได้ต่อมาตรการดูแลกลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่อง จนถึงเดือนกันยายน 2565

รัฐบาลทำงานอย่างเต็มที่มาโดยตลอด และสามารถประคับประคองประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ มาได้ และแม้ปัจจุบันจะเผชิญหน้ากับแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อที่อาจจะสูงที่สุดในรอบ 13 ปี แต่ยังรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง และยังคงรักษาอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินของประเทศไว้ได้ในระดับที่ดีเหมือนก่อนเจอวิกฤต ต่อจากนี้ วิกฤตเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะแย่ลง หลายประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ๆ กำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ recession ในขณะที่เกิดภาวะเงินเฟ้อสูง ถึงสูงมาก รัฐบาล และธนาคารกลางทั่วโลก ต้องใช้นโยบายเศรษฐกิจตึงตัว รวมถึงการดึงเงินกลับเข้าประเทศ (Quantitative Tightening) และออกมาตรการต่าง ๆ ขึ้นดอกเบี้ย ขึ้นภาษี เพื่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ที่มีการกู้เงินในช่วงวิกฤตโควิด และกำลังเผชิญกับดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จะทำให้รัฐบาลมีเงินเหลือใช้จ่ายประจำ และลงทุนน้อยลง ก็จะเป็นสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก

นายกรัฐมนตรีตระหนักดีว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก รวมถึงพลังงานและอาหารจะมีผลกระทบกับไทย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงต้องเตรียมตัวรับมือวิกฤตพลังงานในระยะต่อไป โดยจัดทำแผนความมั่นคงทางพลังงาน ให้กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือ และบรรเทาผลกระทบด้านราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น แก่ประชาชน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบาง รวมถึงให้กระทรวงการต่างประเทศ ใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนเป็นกลไกรับมือต่อปัญหาวิกฤตพลังงานร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังถือว่ามีเสถียรภาพ และมีความสามารถในการสู้กับวิกฤตได้ดี ถึงแม้ว่าเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงาน และพึ่งพานักท่องเที่ยว ราคาน้ำมันของไทยกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ณ วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 จะพบว่า ราคาน้ำมันของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ดีเซล 34.94 บาท/ลิตร และเบนซิน 38.75 บาท/ลิตร หากเรียงลำดับจากแพงสุดไปต่ำสุด น้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซินเราอยู่ในอันดับที่ 8 จากทั้งหมด 10 ประเทศ จะมีเพียงมาเลเซียและบรูไนที่สามารถขายน้ำมันได้ถูก เนื่องจากสามารถผลิตน้ำมันได้เองภายในประเทศ

เงินเฟ้อไทย ณ เดือน มิถุนายน 2565 ปรับขึ้นเป็น 7.66 %  แต่ถ้าเทียบกันแล้วสถานการณ์ของเรายังดีกว่าหลายๆ ประเทศ อย่างสหรัฐฯ อังกฤษ ยุโรป ก็สูง 8-9% อินเดียสูงถึง 15.9% โดยจากการสำรวจของแม็คคินซีย์ โกลบอล เซอร์เวย์ (McKinsey Global Survey) ในเดือนมิถุนายน 2565 เกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจพบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยเป็นอันดับที่ 103 จาก 185 ประเทศทั่วโลก เห็นได้ชัดว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบด้านเงินเฟ้อระดับปานกลางเท่านั้น เมื่อเทียบกับทั่วโลก

ทุกวันนี้ หลายคนมุ่งเน้นข้อมูลในเชิงลบของประเทศไทย ผมอยากจะมาเล่าถึง “จุดแข็ง” ของเศรษฐกิจไทย ให้พี่น้องประชาชน และท่าน ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ มีความมั่นใจว่า “เราพร้อมรับมือกับทุกวิกฤต” เพียงแต่เราต้องร่วมมือและสามัคคีกัน ที่สำคัญเรามีหลายๆ อย่าง ที่บางประเทศไม่มี เช่น เรามีหนี้ต่อ GDP ในระดับต่ำ และไม่มีหนี้เงินตราต่างประเทศ หรือมีน้อยมาก เรามีอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือทางการเงินการคลังที่ดี แม้ผ่านวิกฤตสองปีที่ผ่านมา โดยสถาบันจัดอันดับก็ยังคงระดับความน่าเชื่อถือไว้ มีระบบธนาคารที่แข็งแรง มีสภาพคล่องในประเทศที่ดี มีเงินสำรองระหว่างประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 12 ของโลก ถือว่าเรามีเงินสำรองอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับหลายประเทศ ผลิตอาหารและมีอาหารเพียงพอ มีค่าครองชีพที่ต่ำ มีที่ดินราคาถูก ค่าที่อยู่อาศัยที่ถูกที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในเวลาที่เหลือกว่า 250 วันของรัฐบาล ผมและรัฐบาลจะทำทุกวิถีทาง เพื่อจะนำพาประเทศ และประชาชน ให้ออกจากวิกฤตที่หนักและยาวนาน ลดความเสียหายให้น้อยที่สุด และเตรียมตัวประเทศและประชาชนให้พร้อมกับการฟื้นตัวที่ยั่งยืน