การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างไร?

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหมายถึงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและรูปแบบของสภาพอากาศในระยะยาว การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ แต่ตั้งแต่ปี 1800 การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์โดยส่วนใหญ่ สาเหตุหลักมาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล (เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ) ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก

การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีลักษณะเหมือนผ้าห่มคลุมโลกไว้ ความร้อนจากดวงอาทิตย์จึงไม่ระบายออกและทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น

ก๊าซเรือนกระจกที่เป็นตัวการของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนก๊าซเหล่านี้เกิดจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อขับเคลื่อนรถยนต์หรือการเผาถ่านหินเพื่อทำความร้อนในอาคาร เป็นต้น การเตรียมที่ดินและแผ้วถางป่าก็ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เช่นกันส่วนหลุมฝังกลบขยะนั้นเป็นแหล่งก๊าซมีเทนขนาดใหญ่ ภาคพลังงาน อุตสาหกรรม การขนส่ง อาคารการเกษตร และการใช้ที่ดินก็เป็นตัวการหลักส่วนหนึ่งในการปล่อยก๊าซ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างไร?

ภาพ: © UN

ก๊าซเรือนกระจกมีระดับความเข้มข้นสูงสุดในรอบ 2 ล้านปี

การปล่อยก๊าซยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้อุณหภูมิของโลกตอนนี้ร้อนกว่าช่วงปลายยุค 1800 ถึง 1.1 องศาเซลเซียส ทศวรรษที่ผ่านมา (ปี 2011-2020) เป็นช่วงที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้

หลายคนอาจคิดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหมายถึงอุณหภูมิที่สูงขึ้น แต่อุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของผลกระทบที่ตามมาเท่านั้น เนื่องจากทุกสรรพสิ่งบนโลกนั้นเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ การเปลี่ยนแปลงในด้านใดด้านหนึ่งจึงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านอื่น ๆ ทั้งหมดด้วย

ผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เห็นได้ตอนนี้ ได้แก่ ภัยแล้งรุนแรง การขาดแคลนน้ำ ไฟไหม้รุนแรง ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น น้ำท่วม น้ำแข็งขั้วโลกละลาย วาตภัยขนาดใหญ่ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และอื่น ๆ

ผู้คนได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในหลายรูปแบบ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถส่งผลต่อสุขภาพ การเพาะปลูก ที่อยู่อาศัย ความปลอดภัยและการทำงาน คนบางกลุ่มมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบด้านสภาพอากาศมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ อยู่แล้วเช่น ผู้ที่อาศัยในประเทศเกาะขนาดเล็กและประเทศกำลังพัฒนา ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและการรุกล้ำของน้ำเค็มได้กลายเป็นปัญหาร้ายแรงมากจนผู้คนต้องย้ายที่อยู่กันทั้งชุมชน ส่วนภัยแล้งที่ยาวนานก็ทำให้เสี่ยงต่อการขาดแคลนอาหาร คาดการณ์ว่าในอนาคต "ผู้ลี้ภัยทางภูมิอากาศ" จะมีจำนวนมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างไร?

ภาพ: © UN

อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นแต่ละองศามีความสำคัญ

รายงานขององค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2018 ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์และผู้ตรวจสอบรัฐบาลหลายพันคนเห็นพ้องกันว่าการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส จะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านสภาพอากาศที่เลวร้ายที่สุดและรักษาสภาพอากาศที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตเอาไว้ได้ อย่างไรก็ตาม แผนว่าด้วยสภาพอากาศระดับชาติฉบับปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าภาวะโลกร้อนมีแนวโน้มที่จะแตะ 2.7องศาเซลเซียสในปลายศตวรรษนี้

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้นในทุกส่วนของโลกและส่งผลกระทบต่อทุกคน แต่บางประเทศนั้นสร้างก๊าซเหล่านี้มากกว่าประเทศอื่น ๆ กล่าวคือ ประเทศที่ปล่อยก๊าซน้อยที่สุด 100 ประเทศมีส่วนในการปล่อยก๊าซร้อยละ 3 ของปริมาณการปล่อยก๊าซทั้งหมด ในขณะที่ประเทศที่ปล่อยก๊าซมากที่สุด 10 ประเทศมีส่วนทำให้เกิดก๊าซถึงร้อยละ 68 แน่นอนว่าการจัดการปัญหาสภาพอากาศเป็นเรื่องของทุกคนแต่ประชากรและประเทศที่ก่อปัญหามากกว่าก็ต้องแสดงความรับผิดชอบมากกว่าด้วยการเริ่มลงมือก่อน

เราเผชิญกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็รู้วิธีแก้ไขหลายทางแล้ว

การแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศหลายวิธีสามารถให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการปรับปรุงคุณภาพชีวิตและปกป้องสภาพแวดล้อม นอกจากนี้ เรายังมีกรอบการทำงานและข้อตกลงระดับนานาชาติเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการ เช่น เป้าหมายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความตกลงปารีส การดำเนินการแบ่งออกเป็น 3 ประเภทกว้าง ๆ ได้แก่ ลดการปล่อยก๊าซ ปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบด้านสภาพอากาศ และจัดหางบประมาณสำหรับการปรับเปลี่ยนที่จำเป็น

การเปลี่ยนแหล่งพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม ก็ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่เราต้องลงมือเดี๋ยวนี้ แม้ว่าหลายประเทศจะหันมาร่วมมือกันและมุ่งมั่นเพื่อเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 แต่เราต้องลดการปล่อยก๊าซลงครึ่งหนึ่งให้ได้ภายในปี 2030 เพื่อไม่ให้ภาวะโลกร้อนสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส การผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลก็ต้องลดลงประมาณร้อยละ 6 ต่อปี ระหว่างปี 2020-2030

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างไร?

ภาพ: © UN

การปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบด้านสภาพอากาศทั้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จะช่วยปกป้องชีวิตผู้คน บ้านเรือน ธุรกิจ วิถีชีวิต โครงสร้างพื้นฐาน และระบบนิเวศทางธรรมชาติ นี่คือสิ่งจำเป็นไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ใดก็ตาม แต่ประชากรที่มีความเสี่ยงที่สุดและมีทรัพยากรน้อยที่สุดต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอันดับแรกเพื่อรับมือกับภัยด้านสภาพอากาศ การลงทุนในด้านนี้จะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ามาก เช่น ระบบเตือนภัยพิบัติล่วงหน้าจะช่วยรักษาชีวิตและทรัพย์สิน และสร้างประโยชน์อื่น ๆ มากกว่าต้นทุนเริ่มต้นถึง 10 เท่า

รับผิดชอบต่อการกระทำของเราตอนนี้ ดีกว่าปล่อยให้เกิดหายนะในอนาคต

จริงอยู่ที่การดำเนินการด้านสภาพอากาศต้องใช้เงินทุนจำนวนมากจากรัฐบาลและธุรกิจต่าง ๆ แต่การไม่ทำอะไรเลยจะส่งผลเสียที่แพงกว่าหลายเท่า ก้าวที่สำคัญคือประเทศอุตสาหกรรมต้องทำตามพันธสัญญาที่จะมอบทุน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปีแก่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อช่วยในการปรับตัวสู่การสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างไร?

ภาพ: © UN

ก๊าซเรือนกระจกที่ห่มคลุมโลกจะกักเก็บความร้อนจากดวงอาทิตย์ไว้ ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันอุณหภูมิโลกกำลังเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

การผลิตพลังงาน

กระบวนการผลิตไฟฟ้าและความร้อนด้วยการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ จะก่อมลพิษปริมาณมาก ไฟฟ้าส่วนใหญ่ยังคงผลิตด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล และมีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่ผลิตด้วยพลังงานลม แสงอาทิตย์ และทรัพยากรหมุนเวียน

การผลิตสินค้า

ภาคอุตสาหกรรมและภาคการผลิตล้วนปล่อยมลพิษ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อสร้างพลังงานสำหรับผลิตสินค้า เช่น ซีเมนต์ เหล็ก เหล็กกล้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก เสื้อผ้า และอื่นๆ นอกจากนี้การทำเหมืองแร่และกระบวนการทางอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็ปล่อยก๊าซออกมาด้วยเช่นกัน

การตัดไม้ทำลายป่า

การถางป่าเพื่อทำที่นาหรือทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ ล้วนสร้างมลพิษ เพราะต้นไม้ที่ถูกตัดจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่กักเก็บไว้ออกมา การทำลายป่าไม้ซึ่งเป็นเครื่องดูดซับมลพิษหลักจึงทำให้ธรรมชาติไม่อาจทำหน้าที่ปกป้องชั้นบรรยากาศได้อีกต่อไป

การขนส่ง

รถยนต์ รถบรรทุก เรือ และเครื่องบินส่วนใหญ่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล ดังนั้นการขนส่งจึงนับเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยานพาหนะบนท้องถนนปล่อยมลพิษมากที่สุด ตามมาด้วยเรือและเครื่องบินที่มีการปล่อยมลพิษเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การผลิตอาหาร

การผลิตอาหารต้องใช้พลังงานมาขับเคลื่อนเครื่องจักรทางการเกษตรหรือเรือประมง ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ปุ๋ยที่ใช้ในการเพาะปลูกสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ การทำปศุสัตว์ก็ก่อให้เกิดก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกอันตราย ส่วนบรรจุภัณฑ์อาหารและการจัดส่งก็ก่อมลพิษเช่นกัน

การใช้พลังงานของอาคารบ้านเรือน

อาคารบ้านเรือนทั่วโลกบริโภคไฟฟ้ามากกว่าครึ่งของไฟฟ้าทั้งหมด ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติคือเชื้อเพลิงในการทำความร้อนและความเย็นอย่างต่อเนื่อง อันนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมหาศาล

การบริโภคเกินจำเป็น

บ้านของคุณ การใช้พลังงาน การเดินทาง สิ่งที่คุณรับประทาน ขยะที่คุณทิ้ง ทั้งหมดล้วนก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกด้วยกันทั้งสิ้น เช่นเดียวกับการใช้สินค้าต่างๆ อย่างเสื้อผ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และพลาสติก

อุณหภูมิที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นจะทำให้สภาพอากาศและสมดุลทางธรรมชาติแปรปรวน ซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งหมดบนโลก

อุณหภูมิสูงขึ้น

เมื่อความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้น อุณหภูมิพื้นผิวของโลกก็จะเพิ่มสูงตามไปด้วยเช่นกัน เกือบทุกภูมิภาคบนโลกต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนมากขึ้นในขณะที่วันซึ่งอากาศร้อนก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น ปี 2020 เป็นปีที่อากาศร้อนที่สุดในประวัติการณ์ อุณภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้เกิดโรคและความเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อน และทำให้การทำงานหรือการเดินทางลำบากขึ้น ไฟป่าก็จะเกิดง่ายขึ้นและลุกลามเร็วกว่าเดิม อุณหภูมิในบริเวณขั้วโลกเหนือสูงขึ้นด้วยความเร็วอย่างน้อย 2 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก

พายุรุนแรงขึ้น

การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิส่งผลต่อปริมาณฝน โดยทำให้เกิดพายุที่รุนแรงขึ้นและถี่ขึ้น เกิดน้ำท่วม ดินถล่ม สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนและชุมชน คิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภัยแล้งสาหัสขึ้น

หลายภูมิภาคเริ่มขาดแคลนน้ำ ความแห้งแล้งจะยิ่งทำให้พายุฝุ่นและพายุทรายรุนแรงมากขึ้นจนอาจพัดพาทรายปริมาณหลายพันตันข้ามทวีปได้เลย ทะเลทรายที่ขยายตัวทำให้พื้นที่ในการเพาะปลูกลดลง ผู้คนมากมายไม่มีน้ำดื่มน้ำใช้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต

น้ำทะเลร้อนและสูงขึ้น

มหาสมุทรต้องดูดซับความร้อนส่วนใหญ่อันเกิดจากภาวะโลกร้อน ส่งผลให้น้ำแข็งละลายและระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นภัยต่อชุมชนริมชายฝั่งและบนเกาะต่างๆ นอกจากความร้อน มหาสมุทรยังต้องดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ให้ขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ จนทำให้น้ำทะเลเป็นกรดและเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล

สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยต่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทั้งบนบกและในน้ำ ยิ่งอุณหภูมิสูงขึ้น ภัยธรรมชาติก็ยิ่งรุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะไฟป่า สภาพภูมิอากาศที่สุดขั้ว หรือการแพร่กระจายของแมลงศัตรูพืชและโรคระบาด  สิ่งมีชีวิตบางชนิดอาจย้ายถิ่นอาศัยเพื่อความอยู่รอด ในขณะที่บางชนิดก็ไม่สามารถทำได้ ขณะนี้ โลกกำลังสูญเสียสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่าง ๆในอัตราที่เร็วกว่าช่วงเวลาใด ๆ ที่เคยบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ถึง 1,000 เท่า สิ่งมีชีวิตกว่า 1 ล้านชนิดเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ภายในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า

อาหารขาดแคลน

สภาพอากาศที่แปรปรวนและรุนแรงซ้ำเติมปัญหาความอดอยากและภาวะทุพโภชนาการ ตลอดจนสร้างความเสียหายต่อการประมง การเพาะปลูก และปศุสัตว์ เพราะความร้อนทำให้แหล่งน้ำแห้งและพื้นที่ทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์ลดลง มหาสมุทรที่เป็นกรดมากขึ้นสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลที่ใช้หล่อเลี้ยงผู้คนหลายพันล้านคน การเปลี่ยนแปลงของหิมะและน้ำแข็งในบริเวณขั้วโลกเหนือส่งผลกระทบอย่างหนักต่อปริมาณอาหารที่มาจากการเลี้ยงปศุสัตว์ การล่าสัตว์ และการประมง ความร้อนที่สูงยังทำให้ปริมาณน้ำและทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์หดหาย กระทบต่อปริมาณพืชผลและปศุสัตว์

ปัญหาสุขภาพ

การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บมากขึ้น เช่น โรคมาลาเรีย ส่งผลให้ผู้คนเจ็บป่วยเสียชีวิตจำนวนมากจนระบบสุขภาพไม่อาจรองรับได้ ส่วนในพื้นที่ที่ไม่สามารถเพาะปลูกหรือหาอาหารได้เพียงพอ ผู้คนก็ต้องเผชิญผลเสียต่อสุขภาพในด้านอื่นด้วย เช่น ความอดอยากและภาวะทุพโภชนาการ 

ความยากจนและการพลัดถิ่น

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นตัวกระตุ้นปัจจัยที่นำไปสู่ความยากจน เช่น อุทกภัยที่สร้างความเสียหายแก่ชุมชนแออัดในตัวเมือง บ้านเรือน ตลอดจนชีวิตของผู้คน และความร้อนที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานกลางแจ้ง ภัยพิบัติที่เกิดจากความร้อนทำให้ในแต่ละปีมีผู้คนต้องพลัดถิ่นถึง 23 ล้านคน และอีกนับไม่ถ้วนต้องเผชิญความยากจน