วิวัฒนาการของกล้องถ่ายภาพเกิดขึ้นได้อย่างไร

กว่าที่กล้องดิจิตอลจะมาเป็นอย่างทุกวันนี้ ผ่านมาแล้วหลายยุคหลายสมัย ในวันนี้ผมจะมาเล่าวิวัฒนาการของกล้อง DSLR

กล้อง Minolta Dynax 500si

สมัยแรก

สมัยแรกที่ผมเล่นกล้อง ยังเป็นกล้องที่ใช้ฟิล์มเป็นตัวรับภาพ พอถ่ายภาพเสร็จ ยังต้องใช้มือเลื่อนฟิล์มอยู่เลย คือถ่ายไปรูปนึงแล้วฟิล์มมันไม่เลื่อนนะครับ ต้องเอามือเลื่อนฟิล์ม (ง้างที่ก้านขึ้นฟิล์ม) เพื่อให้ฟิล์มเลื่อนไปยังฟิล์มเปล่าถัดไป

สำหรับน้อง ๆ ที่สงสัยว่าฟิล์มคืออะไร ฟิล์มในสมัยก่อนก็เปรียบเสมือนเซนเซอร์กล้องในปัจจุบัน เป็นพลาสติกที่เคลือบสารเคมีไวแสงเอาไว้นะครับ ถูกแสงไม่ได้ หากถูกแสงก็จะเปลี่ยนสภาพทันที ดังนั้น เมื่อเรากดชัตเตอร์รูปหนึ่งเพื่อให้แสงผ่านเลนส์เข้ามากระทบฟิล์มแล้ว เราก็ต้องหมุนฟิล์มเข้าไปเก็บในหลอดฟิล์ม จากนั้นก็ดึงฟิล์มใหม่ที่ยังไม่ถูกแสงออกมา (ทั้งหมดเกิดขึ้นภายในกล้องนะครับ) เพื่อเตรียมรับแสงจากการกดชัตเตอร์ของเราในครั้งต่อไป

กล้องที่บรรจุฟิล์มหลังกล้องสมัยก่อน

โดยปกติฟิล์มม้วนหนึ่ง สมัยก่อนราคาประมาณ 75 บาท (ลองเทียบเป็นค่าเงินสมัยก่อนนะครับ ตอนนั้นก๋วยเตี๋ยวข้างถนน ชามละ 3 บาท) ถ่ายได้ประมาณ 36 รูป โดยฟิล์มที่แลบออกมาตอนเราบรรจุเข้าไปในกล้อง จะเสียไป เพราะถูกแสงแบบเต็ม ๆ พอใส่เข้าไปในกล้องแล้ว เราก็ต้องเลื่อนฟิล์มและยิงชัตเตอร์ทิ้งไป 2–3 ครั้ง ให้ฟิล์มใหม่ที่ยังไม่ถูกแสงที่อยู่ในหลอด ถูกดึงออกมาในบริเวณกลางกล้อง ซึ่งเป็นตำแหน่งรับแสงจากการกดเปิด/ปิดม่านชัตเตอร์ เมื่อดำเนินการถึงขั้นตอนนี้ ก็พร้อมที่จะถ่ายภาพแล้วครับ (ถ่ายได้ทีละ 1 ภาพ) เมื่อถ่ายภาพเสร็จแล้วทุกครั้ง ก็ต้องใช้นิ้วโป้งหมุนชัตเตอร์ โดยการง้างที่ “ก้านขึ้นฟิล์ม” ไปให้สุด (ถ้าทำไม่สุด เดี๋ยวภาพซ้อนกัน ทำให้ภาพเสียอีก) เพื่อเตรียมถ่ายต่อในภาพต่อไป ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนครบ 36 ภาพ (ฟิล์มหมด) จากนั้นก็ต้องกรอฟิล์มกลับ (ใช้มือหมุน) เพื่อดึงฟิล์มที่ถ่ายแล้วทั้งม้วนให้กลับเข้ามาในหลอดฟิล์ม

ขั้นตอนต่อไปก็คือการนำฟิล์มไปล้าง และอัดภาพที่ร้าน โดยสมัยก่อน คิดราคาล้างฟิล์มเนกาทีฟ ม้วนละ 20 บาท และอัดภาพประมาณภาพละ 3–4 บาท (เท่าสมัยนี้เลย แต่ค่าเงินสมัยก่อนมากกว่าสมัยนี้ 10 เท่านะครับ) ดังนั้นสรุปว่าการถ่ายภาพ 1 ม้วนซึ่งได้ภาพประมาณ 36 ภาพ จะต้องเสียเงินประมาณ 200 กว่าบาท (บวกลบนิดหน่อย แล้วแต่ยี่ห้อฟิล์ม และยี่ห้อภาพที่อัด)

สมัยที่สอง

สมัยต่อมา กล้องค่อย ๆ พัฒนาโดยบรรจุมอเตอร์หมุนฟิล์มให้โดยอัตโนมัติ ตั้งแต่ขั้นตอนการใส่ฟิล์ม เพียงเราเปิดฝาหลังของกล้องออกมา แล้วเอาฟิล์มหย่อนลงไป แล้วก็ปิดฝาหลัง กล้องจะกรอฟิล์มส่วนที่โดนแสง (เสีย) ไปข้างหน้าให้โดยอัตโนมัติเลย ด้วยระบบมอเตอร์

Canon EOS 30 (ใช้ฟิล์ม)

เราก็เพียงกดชัตเตอร์อย่างเดียว สำหรับการถ่ายภาพละภาพ หลังจากที่กดชัตเตอร์ทุกครั้ง ฟิล์มก็จะถูกมอเตอร์เลื่อนไปเองจนพอดิบพอดี เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการถ่ายภาพถัดไปให้โดยอัตโนมัติ ดังนั้นในสมัยก่อน เมื่อมีเสียงกดชัตเตอร์แล้ว จะมีเสียงกรอฟิล์มตามมา เพลินดี (5 5 5) ท้ายที่สุด พอถ่ายหมดม้วนปั๊ป กล้องจะรู้เองเลย แล้วกรอฟิล์มทั้งม้วนย้อนกลับ โดยค่อย ๆ หมุนดึงฟิล์มกลับเข้ามาบรรจุในหลอดฟิล์มตามเดิม เพื่อให้เรานำออกไปล้างและอัดภาพที่ร้าน ช่วงเวลานี้ บางทีนานเป็นนาทีเลยนะครับ เพราะฟิล์มยาวมาก

ในยุคนี้ ราคาฟิล์ม และราคาล้าง-อัดภาพ ก็ยังเท่าเดิม ไม่ได้เพิ่มขึ้นจากสมัยแรก ๆ แต่อย่างใด แต่คนถ่ายรูปเร็วขึ้น เพราะสะดวกขึ้น ไม่เมื่อยมืออย่างสมัยแรก ๆ

สมัยกล้องดิจิตอลยุคแรก ๆ

กล้องดิจิตอล Canon PowerShot 350

ต่อมาก็พัฒนาถึงระบบกล้องดิจิตอล โดยแรก ๆ กล้องมีความละเอียดต่ำมาก แต่พวกเราก็ตื่นเต้นกันสุด ๆ กล้องดิจิตอลตัวแรกที่ผมซื้อมา คือ Canon PowerShot 350 ราคา 2 หมื่นกว่าบาท มีความละเอียดแค่ 640*480 เท่านั้น ระดับ VGA นั่นแหละครับ ส่วนการ์ดบรรจุภาพ คือเป็น CF การ์ดความจุ 1MB แถมมาให้ แต่มีโปรโมชั่นพิเศษ คือสามารถมีสิทธิ์ซื้อการ์ดเพิ่ม 4MB ได้ในราคา 8,000 บาท (4 เมกะไบต์ถูกต้องแล้วครับ ไม่ได้พิมพ์ผิด) คือเท่านี้ก็หรูแล้วในสมัยนั้น

จอ LCD ที่ทำให้คนตื่นเต้นมาก ๆ ในสมัยก่อน

วิธีการถ่ายภาพคือ กดชัตเตอร์ปุ๊ป รออึดใจนึง ประมาณ 4–5 วินาทีแล้ว ภาพจึงจะขึ้นบนจอ LCD (5 5 5 มานึกดูแล้วตลกสุด ๆ) ลองสังเกตดูที่จะนะครับ เล็กมาก (แต่ตอนโน้นไม่รู้สึกว่ามันเล็ก) เท่านี้พวกเราก็ตื่นเต้นสุด ๆ แล้ว เพราะก่อนหน้านี้ ถ่ายภาพแล้ว ต้องรอจนฟิล์มหมดม้วน บางที 2 เดือนหมดม้วน แล้วเอาไปล้างอัดภาพอีก 2 วัน กว่าจะได้ดูภาพ บางทีหลายเดือนหลังจากถ่ายเลย

ภาพจากกล้องดิจิตอล สร้างขึ้นจากการที่แสงกระทบเซนเซอร์ แล้วกล้องสร้างเป็นไฟล์ขึ้นมา โดยในสมัยแรก ๆ บรรจุใน CF การ์ด (ปัจจุบันก็ยังใช้อยู่ในกล้องรุ่นใหญ่ ๆ ระดับมืออาชีพ) โดยไฟล์ 1 ไฟล์มีขนาดประมาณ 40–60K (4–6 หมื่นไบต์) ทำให้การ์ดขนาด 4MB ของผม สามารถบรรจุไฟล์ความละเอียดสูงสุดที่กล้องทำได้ในสมัยนั้นได้ประมาณเกือบ 100 รูป ถือว่าเจ๋งมาก ๆ เพราะกล้องฟิล์ม บรรจุได้เพียง 36 ภาพอย่าง

กล้อง Aiptek 1.3 ล้านพิกเซล

และแล้ว กล้องก็พัฒนาเร็วมาก มีการเปิดตัวกล้องยุคใหม่ ๆ มากมาย โดยความละเอียดเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 ล้านพิกเซล แล้วก็อีกตั้งหลายปี กว่าจะพัฒนาเป็น 2 ล้านพิกเซล เคยซื้อกล้องโนเนมความละเอียดสูง ๆ มาตัวนึง ถ่ายออกมา ภาพไม่สวยเลย จากนั้นเลยไม่กล้าแตะกล้องไม่มียี่ห้ออีก เมื่อเวลาผ่านไป เราก็ซื้อกล้องใหม่ตามเทคโนโลยีไปเรื่อย ๆ ก็ตื่นเต้นขึ้นเรื่อย ๆ พอระยะหลัง ๆ เริ่มมาเล่นกล้องยี่ห้อโซนี่ เพราะทำความละเอียดได้มาก และถ่ายภาพออกมาแล้ว ชัดสุด ๆ

สมัยกล้อง DSLR ยุคแรก ๆ

สมัยแรก ๆ มีแต่กล้องเล็ก ๆ ของค่ายต่าง ๆ ผลิตออกมาจำหน่าย เพราะกลุ่มลูกค้า ยังเน้นเป้าหมายสำหรับให้คนถ่ายเล่นเพื่อความบันเทิง เนื่องจากภาพที่ได้ ยังมีคุณภาพไม่ถึงขั้นที่จะนำไปประกอบอาชีพได้ ในสมัยนั้น มีคำกล่าวที่ว่า “กล้องดิจิตอลที่แพงที่สุด ยังมีคุณภาพสู้กล้องฟิล์มที่ห่วยที่สุดและถูกที่สุดไม่ได้” สำหรับกล้องคอมแพคนั้น มีปัญหาที่โฟกัสช้า และควบคุมการปรับค่ากล้องตามที่มืออาชีพต้องการไม่ค่อยได้ ดังนั้นจึงเริ่มมีการผลิตกล้อง Digital Single Lens Reflex หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่ากล้อง DSLR อย่างที่เราคุ้นเคยกันออกมา กล้อง DSLR ในยุคแรก ๆ ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าใดนัก บรรดามืออาชีพต่าง ๆ ก็ยังนิยมใช้กล้องฟิล์มในการถ่ายงานที่เน้นคุณภาพกันอยู่ เพราะ DSLR ยุคแรกมีความละเอียดภาพต่ำ แถมคุณภาพของภาพก็สู้ฟิล์มไม่ค่อยได้ อีกทั้งราคาบอดี้ยังแพงมหาโหด ตัวนึงเกือบแสน (ขนาดกล้องคอมแพคดี ๆ หน่อยเช่นกล้องแคนนอนตระกูล G เช่น G5 ยังหลายหมื่นเลย) จึงยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าใดนัก

ยุคเฟื่องฟูกล้อง DSLR

ซัก 4–5 ปีที่แล้ว ยุคที่กล้อง DSLR ให้คุณภาพที่น่าพอใจ แถมราคากล้องลดลงอย่างมาก ภาพมีคุณภาพดีมาก ๆ ทุกคนที่ชื่นชอบการถ่ายภาพ ต่างก็ซื้อกล้อง DSLR มาใช้กันอย่างแพร่หลาย รวมทั้งผมด้วย กล้อง DSLR ตัวแรกที่ใช้ คือ Canon EOS 450D เป็นกล้องที่มีเซนเซอร์ระดับ APS-C นับเป็นกล้องที่ถ่ายภาพออกมาแล้ว หวังผลได้ ภาพมีคุณภาพดีกว่ากล้องคอมแพคอย่างเห็นได้ชัด ทำให้พวกเราเพลิดเพลินกับการถ่ายภาพเป็นอย่างมาก

ในยุคนั้น ทุกคนก็ใช้กล้องตัวคูณ หรือ crop factor กันทั้งนั้น จะหาคนใช้กล้องที่มีเซนเซอร์ขนาดเท่าฟิล์ม หรือกล้องฟุลเฟรมได้ยากมาก ราคากล้องฟุลเฟรมนั้น เฉพาะบอดี้ เกินแสนทุกตัว ทำให้มีกลุ่มลูกค้าจำกัด คนที่เล่นกล้องฟุลเฟรมได้ ต้องมีงบเยอะพอสมควร ขนาดผมแค่ลองหาภาพจากอินเทอร์เน็ตดู คืออยากรู้ว่ากล้องฟุลเฟรมถ่ายออกมาแล้วมีคุณภาพดีกว่ากล้อง APS-C อย่างเดียว ยังหาภาพดูจากทั่วโลกไม่ค่อยได้เลย (หาดูยากมาก) พอเจอคนมาลงปั๊ป ต้องรีบเข้าไปดู

สมัยกล้อง DSLR ยุคปัจจุบัน

และแล้วในที่สุด ก็ถึงยุคทองของกล้อง DSLR ในปัจจุบัน ยุคที่กล้องระดับสุดยอดของค่ายต่าง ๆ มีราคาที่ชาวบ้านหาซื้อมาเล่นได้สบาย ๆ ยุคที่กล้องฟุลเฟรมราคาลดลงมาเยอะมาก มีทั้งรุ่นถูก รุ่นแพงให้เลือกตามใจชอบ ทางค่ายแคนนอน และนิคอน รวมทั้งโซนี่ ต่างผลิตกล้องที่มีเซนเซอร์ระดับฟุลเฟรมราคาถูกออกมาจำหน่ายมากมายหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็น D600, D610, EOS 6D เป็นต้น กล้องระดับนี้ถ่ายภาพออกมาได้สุดยอดมาก เพียงแต่ความแข็งแรงทนทานอาจจะไม่เท่ากล้องที่มีรูปร่างบึกบึน และลดความสามารถบางอย่าง (ที่ตากล้องทั่วไปอาจไม่จำเป็นต้องใช้) เพื่อทำให้ราคาลดลงอย่างมาก

กล้องฟลูเฟรม 5D Mark II

เมื่อกล้องพัฒนาเป็นอย่างที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ ในยุคที่กล้องดิจิตอลพัฒนาไปถึงขีดสุด ไม่รู้ภาพจะชัดกว่านี้ยังไงแล้ว ก็หันมาพัฒนาด้านอื่นแทน เช่น บรรจุ GPS, Wifi, เพิ่มฟังก์ชั่นการถ่ายวิดีโอ Full HD หรือสโลว์โมชั่น, ทำหน้าจอสัมผัส หรือใส่ฟังก์ชั่นการแก้ไขภาพเข้าไปในกล้องเลย อะไรอย่างนี้เป็นต้น