วรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ มี พัฒนาการ อย่างไร

วรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ มี พัฒนาการ อย่างไร

ภูมิปัญญาไทยด้านวรรณกรรม

      วรรณกรรมในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นการสะท้อนพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรม สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูวรรณกรรมอย่างต่อเนื่องจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งถือเป็นยุคทองของวรรณกรรม ผลงานวรรณกรรมที่โดดเด่น คือ บทละครเรื่องรามเกียรติ์ สามก๊ก อิเหนา สังข์ทองกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน พระอภัยมณี รูปแบบวรรณกรรมส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา คำสอน วิถีชีวิตของชุมชน

          วรรณกรรมเป็นภูมิปัญญาที่ทำให้เกิดผลดีแก่สังคมและวัฒนธรรม ทำให้ผู้อ่านมีความเพลิดเพลินช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้คนไทยมีความอ่อนโยนและนำคุณธรรมหรือข้อคิดที่ได้จากวรรณกรรม                      

ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เศรษฐกิจคนไทยโดยส่วนรวมอยู่ในสภาพที่พออยู่กันได้ แม้ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 1 และ 2 จะเก็บภาษีได้ไม่พอกับการจ่ายเบี้ยหวัดเงินปีแก่ขุนนางข้าราชการก็ตาม แต่ทางราชการก็ได้นำเงินกำไรจากการค้าสำเภากับต่างประเทศมาใช้จ่ายเพิ่มเติมซึ่งพอแก้ไขปัญหาในแต่ละปีได้

ในสมัยรัชกาลที่ 3 รายจ่ายของประเทศเพิ่มมากขึ้น จึงต้องหาวิธีเพิ่มรายได้แก่ประเทศทั้งในด้านการค้าสำเภากับต่างประเทศ และการใช้วิธีประมูลผูกขาดการเก็บภาษีอากรจนต้องเพิ่มภาษีใหม่ถึง 38 ชนิด จึงทำให้ประเทศมีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย

สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีลักษณะดังต่อไปนี้

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของไทยได้แก่ ข้าว อ้อย และพริกไทย

  • ข้าวเป็นสินค้าที่จัดอยู่ในลำดับที่ 5 ของสินค้าที่ส่งออกมากตามลำดับ อันได้แก่ น้ำตาล ฝ้าย ไม้หอมและดีบุก ข้าวถือได้ว่าเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่ส่งเป็นสินค้าออกของไทย แต่ปริมาณการส่งออกไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสภาวะตามธรรมชาติภายในประเทศและความต้องการของตลาดต่างประเทศ
  •  น้ำตาล เรื่องการผลิตน้ำตาลจากอ้อยนั้น ไทยสามารถผลิตน้ำตาลจากอ้อยได้ ตั้งแต่ต้นสมัยรัชกาลที่ 2 แล้ว แต่ต่อมาชาวจีนได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ปลูกอ้อยทำน้ำตาลได้ จึงได้มีการส่งสินค้าประเภทนี้ออกไปจำหน่ายนอกประเทศ อุตสาหกรรมประเภทนี้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
  • พริกไทย มีการส่งออกพริกไทยไปยังประเทศจีนประมาณปีละ 60,000 หาบ ซึ่งในขณะนั้นพริกไทยเป็นที่ต้องการของพ่อค้าต่างชาติมาก
  • 2. ทรัพยากรธรรมชาติ

    ทรัพยากรธรรมชาติ ที่ทำรายได้ให้กับแผ่นดินในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ ไม้ แร่ธาตุและสินค้าประเภทเหล็ก ซึ่งสรุปได้ดังนี้

  • ไม้สัก มีมากบริเวณเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน ในสมัยรัชกาลที่ 3 พ่อค้าชาวจีน ซึ่งเป็นผู้ประมูลผูกขาดจากป่าไม้จากเจ้าเมืองฝ่ายเหนือ นอกจากคนจีนแล้ว ทางราชการก็เป็นผู้ดำเนินการโค่นไม้สักเอง เพื่อนำไปใช้ในราชการต่อเรือและส่งไปขายที่เมืองจีนและอินเดีย
  • ไม้ฝาง ใช้ทำสีย้อมผ้า และไม้กฤษณาซึ่งเป็นไม้หอม เป็นที่ต้องการของชาวตะวันตกกลายเป็นสินค้าออกที่สำคัญอย่างหนึ่ง
  • ดีบุก เป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์และกระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะที่ภูเก็ตได้กลายเป็นแหล่งผลิตดีบุกมากที่สุด แร่ดีบุกเป็นสินค้าผูกขาดที่ต้องนำมาขายให้กับพระคลังสินค้าเท่านั้น โดยเจ้าเมืองจะเป็นผู้ซื้อดีบุกจากราษฏร แล้วนำไปขายต่อให้พ่อค้าต่างชาติอีกต่อหนึ่ง
  • ในปลายสมัยรัชกาลที่ 3 แร่ดีบุกเริ่มเป็นที่ต้องการของตลาดในยุโรป เพราะการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้ค้นพบว่าการเอาดีบุกไปเคลือบเหล็กจะทำให้เหล็กไม่เกิดสนิม จึงทำให้ตลาดโลกต้องการมาก ดังนั้นการขุดแร่ดีบุกตามหัวเมืองชายทะเล หัวเมืองมลายู และหัวเมืองปักษ์ใต้จึงเพิ่มปริมาณมากขึ้น

    นอกจากดีบุกแล้ว ยังมีเหล็ก ทองแดง ตะกั่ว ทองคำซึ่งมีอยู่ทั่วไป แร่ดิบส่วนใหญ่ได้รับการถลุงขั้นแรกที่บริเวณแหล่งแร่ ต่อจากนั้นจะถูกขนส่งมายังกรุงเทพ ซึ่งมีโรงงานผลิตเครื่องครัวและเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ สินค้าประเภทเหล็กจึงเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญและมีค่าที่สุดอย่างหนึ่งของไทย

    3. การจัดเก็บภาษีอากร

    ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1-2 การจัดเก็บภาษีอากรยังคงมีลักษณะเหมือนกับสมัยอยุธยา ภาษีอากรที่เรียกเก็บในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้แก่ อากรสุรา อากรบ่อนเบี้ย อากรขนอนตลาด อากรค่าน้ำเก็บตามเครื่องมือ อากรสมพัตสร (อากรพืชล้มลุก) อากรค่านา อากรสวน และส่วย ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 2 ประเภทของภาษีอากรประกอบด้วย จังกอบ อากร ส่วย ฤชา

    ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการแก้ไขการเก็บภาษีใหม่ เพื่อให้มีรายได้เพิ่มพูนมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้เพราะในสมัยนี้มีศึกสงครามกับข้าศึกภายนอกมาก ดังนั้นรัชกาลที่ 3 จึงได้ทรงตั้งภาษีอากรใหม่ถึง 38 ชนิด เช่น อากรบ่อนเบี้ยจีน อากรหวย ภาษีเบ็ดเสร็จลงสำเภา ภาษีพริกไทย ภาษีไม้ฝาง ภาษีไม้แดง ภาษีเกลือ ภาษีน้ำมันมะพร้าว ภาษีน้ำมันต่างๆ ภาษีต้นยาง ภาษีใบจาก เป็นต้น

    ีการเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้นหลายชนิด เพื่อให้การเก็บภาษีได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงได้ใช้วิธีการผูกขาดการเก็บภาษีอากร ซึ่งเป็นวิธีการเก็บภาษีในลักษณะที่มีผู้เสนอรับทำภาษีสิ่งของบางอย่าง ดังนั้นผู้ใดสามารถประมูลได้ (ผู้ที่สัญญาจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนต่อรัฐสูง) ก็เป็นผู้ได้รับสิทธิผูกขาดจัดเก็บภาษีสิ่งของนั้นๆ ผู้ประมูลได้เรียกว่า “เจ้าภาษีนายอากร” โดยรัฐบาลจะมอบอำนาจสิทธิขาดในการจัดเก็บอากรให้ไปดำเนินการเอง และเมื่อถึงกำหนดเวลาจะต้องนำเงินภาษีอากรที่ได้มาส่งให้ครบตามที่ประมูลไป

    4. สภาพการค้าขาย

    การค้าภายในประเทศ การค้าขายยังจัดอยู่ในขอบเขตจำกัด เพราะเศรษฐกิจส่วนใหญ่เป็นแบบเลี้ยงตนเอง บรรดาพืชผลต่างๆ ซึ่งผลิตได้ส่วนมากจะใช้บริโภคในครัวเรือน ส่วนที่เหลือจากการบริโภคและอุปโภคแล้ว จึงจะนำมาแลกเปลี่ยนกันภายในตลาดท้องถิ่นนั้นๆ

  • การค้าขายภายในประเทศส่วนใหญ่มักจะดำเนินไปตามริมแม่น้ำลำคลอง ระบบเงินตรายังใช้เบี้ยเป็นสื่อในการซื้อขาย แต่ระบบเงินตรายังไม่ได้มาตรฐานทั่วไป คนส่วนมากนิยมการแลกเปลี่ยนกันในรูปสินค้ามากกว่า
  • การค้าภายในประเทศเริ่มขยายตัว เพิ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยที่ชาวจีนได้เข้ามามีบทบาททางการค้ามากขึ้น ชาวจีนจะเป็นคนกลางนำสินค้าจากท้องที่หนึ่งไปขายยังอีกท้องที่หนึ่งซึ่งอยู่ ห่างไกล

    ในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายหลังที่รัฐบาลได้ทำการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น รัฐบาลจะผูกขาดการค้าทั้งภายในและต่างประเทศแต่เพียงผู้เดียว ราษฏรต้องขายผลผลิตให้กับพระคลังสินค้า โดยรัฐจะเป็นผู้ควบคุมปริมาณและราคาสินค้าได้ โดยเฉพาะสินค้าที่มีราคาและเป็นที่ต้องการของพ่อค้าต่างชาติ ราษฏรต้องนำไปขายให้กับพระคลังสินค้าเท่านั้น จะขายให้ผู้ใดโดยตรงมิได้

  • การค้ากับต่างประเทศ ระบบการผูกขาดการค้าโดยพระคลังสินค้า ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การค้าขายกับต่างประเทศดำเนินไปตามวิธีการผูกขาดการค้าโดยพระคลังสินค้า เสนาบดีกรมท่าจะมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการค้ากับต่างประเทศเหมือนสมัยอยุธยา
  • พระคลังสินค้าจะดำเนินนโยบายการค้าในรูปแบบการค้าผูกขาดของหลวง โดยพระคลังสินค้าจะออกประกาศบังคับว่า สินค้าบางอย่างให้ราษฏรนำมาขายให้กับพระคลังสินค้าเท่านั้น เมื่อเรือสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาเทียบท่า ทางเจ้าหน้าที่ของไทยจะไปตรวจเลือกซื้อสิ่งของที่ต้องการก่อน เมื่อรัฐบาลได้สิ่งของที่ต้องการเพียงพอแล้ว จึงยอมให้จำหน่ายแก่คนทั่วไป แต่ถ้าเป็นสินค้าประเภทอาวุธยุทธภัณฑ์ ซึ่งเป็นของจำเป็นต้องใช้ในราชการ เมื่อมีพ่อค้านำเข้ามา ไทยจะบังคับซื้อจากพ่อค้าในราคาต่ำกว่าปกติ

    บรรดาสินค้าต่างๆ ที่มีราคาทั้งหลาย เช่น ฝาง ดีบุก ลูกกระวาน ตะกั่ว รง นอแรด งาช้าง พริกไทย กฤษณา เป็นต้น รัฐจะขึ้นบัญชีเป็นสินค้าของหลวง ผู้ใดมีไว้ในครอบครองจะต้องนำมาถวายพระเจ้าแผ่นดินตามราคาที่กำหนดไว้ ส่วนสินค้าต้องห้ามที่ชาวต่างประเทศนำเข้ามาจะถูกบังคับให้ขายกับพระคลังสินค้า ได้แก่ ปืน และดินปืน สินค้าชนิดอื่นๆ ถ้ารัฐบาลต้องการซื้อก็มีสิทธิซื้อก่อนผู้อื่น

    สภาพการค้ากับต่างประเทศ ในตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 2 การค้าขายกับต่างประเทศเริ่มขยายตัวมากขึ้น เพราะพ่อค้าชาวตะวันตกเริ่มเข้ามาค้าขายกับไทย ในระยะนี้มีเรือสินค้าของไทยและต่างชาติผ่านไปมาค้าขายมากถึง 241 ลำ

    ต่อมาในปลาย พ.ศ.2368 อังกฤษได้ส่ง เฮนรี่ เบอร์นี่ เข้ามาติดต่อทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้าขายกับไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 ไทยจึงได้ทำสัญญากับอังกฤษ ใน พ.ศ.2369 ในสัญญาฉบับนี้มีข้อความระบุว่า “พวกพ่อค้าต้องเสียภาษีการค้าขายตามประเพณีของสถานที่ แล้วจึงจะได้รับอนุญาตให้ซื้อและขายโดยไม่ได้รับการแทรกแซงจากผู้อื่น” บรรดาพ่อค้าต้องปฏิบัติตามกฏหมายไทย ห้ามนำข้าวเปลือก ข้าวสารออกนอกราชอาณาจักร ปืนและกระสุนที่นำเข้ามา จะต้องไม่ขายให้ผู้อื่นนอกจากรัฐบาล ถ้ารัฐบาลไม่ต้องการสินค้าเหล่านี้ พ่อค้าจะต้องนำกลับออกไป ส่วนสินค้าอื่นอนุญาตให้ซื้อขายได้

    ทางด้านการส่งสินค้าออกไปขายยัง ต่างประเทศนั้น จำนวนสินค้าที่สงออกมีหลายชนิด แต่ที่สำคัญได้แก่ น้ำตาล พริกไทย ข้าว และดีบุก ในสมัยรัชกาลที่ 3 หลังจากการทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้ากับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาแล้ว พ่อค้าต่างประเทศเริ่มเข้ามาค้าขายในกรุงเทพมากขึ้น ทำให้สินค้าออกของไทยเป็นที่ต้องการของพ่อค้าชาวต่างประเทศเป็นอย่างมาก

    ทางด้านการสั่งสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาใช้ในพระราชอาณาจักรนั้น ส่วนมากเป็นผ้าไหมจากจีน ผ้าเนื้อธรรมดาจากอินเดียและแถบมะละกา เครื่องลายคราม ชา ไหมดิบ ไหมสำเร็จรูป ฝ้ายชนิดต่างๆ ฝิ่นดิบ ทองแท่งและเงินแท่ง นอกจากนี้ยังเป็นประเภทอาวุธปืน เครื่องแก้ว และสินค้าประเภทฟุ่มเฟือยอีกหลายรายการ

    กล่าวโดยสรุป สภาพเศรษฐกิจของไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เริ่มขยายตัวและเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 2 จนกระทั่งมาถึงรัชกาลที่ 3 เพราะระบบการค้าแบบผูกขาดโดยพระคลังสินค้า และการเข้ามาติดต่อค้าขายของชาวตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายหลังจากการทำสนธิสัญญาเบอร์นี่ระหว่างไทยกับอังกฤษ และติดตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา สำหรับการค้าขายกับจีนนั้น ยังคงดำเนินไปตามปกติ และยังคงเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายไทยเป็นอย่างมากด้วย

    พัฒนาการด้านสังคมสมัยรัตนโกสินทร์

     (1)  ลักษณะของสังคมไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

                   สังคมไทยในสมัยนี้ยังคงเป็นไปตามแบบแผนของสมัยอยุธยา  ซึ่งอาจแบ่งเป็น 2 ระดับ  คือ

                   -  ระดับชนชั้นปกครอง  ได้แก่  พระมหากษัตริย์  เชื้อพระวงศ์  ขุนนาง  และข้าราชการระดับต่าง ๆ

                   -  ระดับชนชั้นที่ถูกปกครอง  ได้แก่  ไพร่  และทาส

                   สภาพสังคมสมัยนี้ยังเป็นไปตามศักดินาอยู่  โดยที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจสูงสุด  ตามความเชื่อว่ากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพตามแนวคิดของศาสนาพราหมณ์  มีการซื้อขายทาส  แต่มีนายเป็นจำนวนมากที่เลี้ยงดูทาสเหมือนญาติ  ส่วนประชาชนทั่วไปมีการโยกย้ายถิ่นที่อยู่ไม่ค่อยแน่นอน  เพราะเป็นสภาพหลังศึกสงคราม  อีกทั้งมีคนต่างด้าวส่วนใหญ่เป็นชาวจีนเข้ามาพักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

                   รัชกาลที่ 1  ทรงแก้ปัญหาความสับสนของบ้านเมืองดังกล่าวให้อยู่ในความสงบ  เป็นระเบียบเรียบร้อย  โดยการนำกฎหมายในสมัยอยุธยามารวบรวมสอบใหม่ให้ถูกต้อง  เรียกชื่อใหม่ว่า  กฎหมายตราสามดวง  ซึ่งประทับตราด้วยราชสีห์  คชสีห์  และบัวแก้ว  ใช้เป็นหลักในการปกครองมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4

         (2)  ลักษณะสังคมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ยุคปรับปรุงประเทศ

                   ในสมัยรัชกาลที่ 4  อังกฤษได้ส่งทูตมาเจรจาทำสัญญากับไทย  คือ  เซอร์ จอห์น เบาว์ริง  เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2398  เรียกว่า  สนธิสัญญาเบาว์ริง  ซึ่งทำให้ฝ่ายไทยต้องเสียเปรียบฝ่ายอังกฤษอยู่หลายประการ  จึงมีผลให้ไทยต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณี  ชีวิตความเป็นอยู่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว

                   สมัยรัชกาลที่ 5  ทรงปฏิรูปสังคมให้ทันสมัยตามแบบตะวันตก  สืบทอดนโยบาบการปรับปรุงและปฏิรูปตามสมัยรัชกาลที่ 4  ที่ได้ทรงวางรากบานไว้ในสมัยรัชกาลที่ 4  ที่ได้ทรงวางรากฐานไว้ในสมัยรัชกาลที่ 5  มีการปฏิรูปหลายด้าน  ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด  ดังนี้

                   1)  การเลิกทาสและการเลิกระบบไพร่  โดยทรงจัดการอย่างค่อยเป็นค่อยไป

                   2)  การเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม  ให้เป็นที่ยอมรับของสังคมตะวันตก  เช่น  การให้ปฏิทินตามแบบยุโรป (ใช้วันจันทร์ - อาทิตย์  แทนวันข้างขึ้น  ข้างแรม  ใช้เดือนมกราคม - ธันวาคม  แทนเดือนอ้าย - เดือนสิบสอง)  การแต่งกายตามวัฒนธรรมตะวันตก  และยกเลิกการคลานเวลาเข้าเฝ้า  เป็นต้น

                   3)  ปฏิรูปการศึกษา  การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศ  รัชกาลที่ 5  ทรงตระหนักในความข้อนี้  จึงทรงมุ่งพัฒนาการศึกษาของไทย  สรุปได้ดังนี้

                        (1)  ตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นในวัง  พ.ศ. 2414

                        (2)  ตั้งโรงเรียนนายทหารมหาดเล็กที่พระตำหนักสวนกุหลาบ

                        (3)  ตั้งโรงเรียนสำหรับราษฏรขึ้นครั้งแรกที่วัดมหรรพาราม พ.ศ. 2427

                        (4)  ขยายการศึกษาออกสู่หัวเมืองอย่างจริงจังใน พ.ศ. 2441  โดยใช้วัดเป็นสถานศึกษา  และมีพระสงฆ์เป็นครูผู้สอน

                        การปฏิรูปการศึกษานี้สืบเนื่องมาถึงรัชกาลที่ 6  เช่น  มีการประกาศพระราชบัญญัติประถมศึกษาปี พ.ศ. 2464  ซึ่งเป็นการบังคับให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษา

    พัฒนาการด้านศิลปวัฒนธรรมสมัยรัตนโกสินทร์

    ศิลปวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่สะท้อนความเจริญของบ้านเมือง  ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ผู้นำทุกยุคทุกสัยให้ความสำคัญ  ส่งเสริม  และสนับสนุน  ศิลปวัฒนธรรมสมัยรัตนโกสินทร์แบ่งได้เป็นประเภทใหญ่ ๆ 4 ประเภท  คือ  สถาปัตยกรรม  ประติมากรรม  จิตรกรรม  และวรรณกรรม

                   สถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ได้รั้บแบบอย่างมาจากสมัยอยุธยาตอนปลาย  เช่น  วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)  มีลักษณะคล้ายคลึงกับวัดพระศรีสรรเพชญในสมัยอยุธยา  สมัยรัชกาลที่ 1  มีการสร้างและบูรณะวัดเป็นจำนวนมาก

                   สมัยรัชกาลที่ 3  ทรงมีพระราชนิยมแบบจีน  เกิดสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างไทยกับจีน  เช่น  วัดยานนาวา  เป็นต้น  เมื่อมาถึงสมัยรัชากาลที่ 4  ไทยได้รับอิทธิพลจากตะวันตก  สถาปัตยกรรมจึงมีรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก  เช่น

                   -  พระราชวังสราญรมย์  ที่กรุงเทพ ฯ  สร้างสมัยรัชกาลที่ 4

                   -  พระที่นั่งอนันตสมาคม  ที่กรุงเทพ ฯ  สร้างสมัยรัชกาลที่ 5

                   -  พระราชวังสนามจันทร์  ที่จังหวัดนครปฐม  สร้างสมัยรัชกาลที่ 6

                   งานประติมากรรมของไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น  มักเป็นพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ไม่นิยมปั้นรูปมนุษย์แบบสมจริง   จนกระทั่งได้รับอิทธิพลมาจากอารยธรรมตะวันตก  จึงเริ่มมีประติมากรรมรูปมนุษย์ตามแบบของจริงมากขึ้น  ส่วนใหญ่เป็นรูปปั้นของกษัตริย์  และบุคคลสำคัญ  เช่น  อนุสาวรีย์ต่าง ๆ เป็นต้น

                   ศิลปินด้านประติมากรรมที่สำคัญ  คือ  ศาสตราจารย์ศิลป์  พีระศรี  ชาวอิตาเลียน  ซึ่งเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศิปากร

                   จิตรกรรม  คือ  ศิลปะการวาดภาพ  ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมักเป็นจิตรกรรมที่เกี่ยวกับพุทธประวัติ  ชาดก  หรือภาพในวรรณคดีเรื่อง  รามเกียรติ์  เป็นต้น  ซึ่งส่วนใหญ่เขียนเป็นจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์

                   สำหรับจิตรกรรมของชาวบ้านทั่วไปมักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติและชาดกเช่นกัน  แต่มักสอดคแทรกเรื่องราวของวิถีชีวิตลงไปด้วย  ซึ่งสามารถพบจิตรกรรมประเภทนี้ได้ทั่วไป

                   สมัยรัชกาลที่ 3  มีการรับอิทธิพลของศิลปะจีนอย่างมาก  ส่วนสมัยรัชกาลที่ 4  ได้รับอิทธิพลของตะวันตก  ซึ่งจะเป็นภาพที่สมจริงคือ  มี 3 มิติ  ศิลปินที่สำคัญในสมัยนี้  คือ  ขรัว  อินโข่ง  ส่วนศิลปินที่มีความสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5  คือ  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ซึ่งอิทธิพลของตะวันตกยังส่งผลต่อจิตรกรรมไทยจนถึงปัจจุบัน

                   วรรณกรรมจำนวนมากในสมัยอยุธยาสูญหายและกลายเป็นเถ้าถ่านในตอนที่เสียกรุงครั้งที่ 2  เมื่อถึงสมัยธนบุรี  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงฟื้นฟูวงการวรรณกรรม  ดังปรากฏหลักฐานว่าพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ถึง 4 ตอน  เมื่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์  การฟื้นฟูวรรณกรรมยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง  ดังปรากฏวรรณกรรมที่สำคัญและกวีที่โดดเด่น  ดังต่อไปนี้

                   สมัยรัชกาลที่ 1  ทรงโปรดให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตร่วมกันแต่งบทละครเรื่องรามเกียรติ์  กวีที่สำคัญในสมัยนี้  เช่น  เจ้าพระยาพระคลัง (หน)  แต่งเรื่องสามก๊ก  ราชาธิราช  และกากีคำกลอน  เป็นต้น

                   สมัยรัชกาลที่ 2  สมัยนี้เป็นยุคทองของวรรณกรรมยุคหนึ่งของไทย  เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ทรงเป็นกวีที่มีอัจฉริยภาพ  ผลงานพระราชนิพนธ์  เช่น  บทละครเรื่องอิเหนา  บทละครนอกเรื่อง  สังข์ทอง  ไกรทอง  คาวี  ไชยเชษฐ์  มณีพิชัย  และกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน  นอกจากนี้ยังมีกวีที่สำคัญ  เช่น  สุนทรภู่  ซึ่งแต่งเรื่องพระอภัยมณี  นิราศภูเขาทอง  และกาพย์พระไชยสุริยา  เป็นต้น

                   สมัยรัชกาลที่ 3  กวีที่สำคัญ  คือ  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระปรมานุชิตชิโนรส  งานพระราชนิพนธ์สำคัญ  เช่น  ลิลิตตะเลงพ่าย  ร่ายยาวมหาชาติ  กฤษณาสอนน้องคำฉันท์  และปฐมสมโพธิกถา  เป็นต้น  และพระมหามนตรี  (ทรัพย์)  ผู้แต่งเรื่อง  ระเด่นลันได

                   สมัยรัชกาลที่ 4  กวีสำคัญ  อาทิ  หม่อมราโชทัย  ผู้แต่งานิราศลอนดอนและหม่อมเจ้าอิศรญาณ  ผู้แต่งอิศรญาณภาษิต  เป็นต้น

                   สมัยรัชกาลที่ 6  เป็นอีกสมัยที่รุ่งเรืองทางวรรณกรรม  เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกวีที่มีความสามารถยิ่ง  กวีที่สำคัญ  เช่น  พระราชวงศ์เธอ  กรมหมื่นพิทยาลงกรณ  นายชิต  บุรทัต  เป็นต้น  ในสมัยนี้  งานเขียนแบบตะวันตกได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

                   ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7  จนถึงปัจจุบัน  วรรณกรรมของไทยมีความหลากหลายมากขึ้น  เป็นการผสมผสานระหว่างจารีตแบบไทยและตะวันตก  แต่ก็มีนักเขียนบางท่านที่ยังยึดตามแบบทางวรรณกรรมของไทยอยู่  นักเขียนร่วมสมัย  เช่น

                   -  อังคาร       กัลยาณพงศ์       (กวีนิพนธ์)

                   -  สุลักษณ์     ศิวรักษ์            (บทความ)

                   -  กฤษณา     อโศกสิน           (นวนิยาย)

                   -  คำพูน        บุญทวี             (นวนิยาย)

                   -  นิมิตร        ภูมิถาวร            (นวนิยาย)

    พัฒนาการทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมัยรัตนโกสินทร์

    สำหรับลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์สามารถแบ่งออกได้เป็นช่วงๆดังนี้

    1.               ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ( พ.ศ. 2325 – 2394 )

    การดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยระหว่าง พ.ศ. 2325 – 2394 จะมุ่งเน้นไปที่การรักษาความมั่นคงของอาณาจักร และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยแบ่งเป็น

    1)        ลักษณะความสัมพันธ์กับรัฐที่อยู่ใกล้เคียงในทวีปเอเชีย  มีทั้งการขยายอิทธิพลเข้าไปครอบครองเพื่อเป็นพันธมิตร การทำสงคราม และแบบรัฐบรรณาการ

    1.1)              ความสัมพันธ์กับล้านนา  ในสมัยรัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 3 เป็นพันธมิตรที่ดีต่อกัน เช่น รัชกาลที่ 1 ทรงส่งกองทัพไปช่วยล้านนาขับไล่พม่า ทั้งยังทรงสถาปนาพระยากาวิละที่รบชนะพม่าให้เป็นพระเจ้าเชียงใหม่ โดยปกครองดูแลหัวเมืองเหนือทั้งหมด เป็นต้น

    1.2)              ความสัมพันธ์กับพม่า  อยู่ในลักษณะทำสงครามสู้รบกัน โดยไทยทำสงครามกับพม่ารวมทั้งสิ้น 10 ครั้ง สงครามครั้งที่มีความสำคัญที่สุด คือ สงครามเก้าทัพใน พ.ศ. 2328 แต่เมื่อพม่าเผชิญหน้ากับการคุกคามของลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก คือ อังกฤษ ในเวลาต่อมาก็ไม่ได้ยกทัพมาสู้รบกับไทยอีก

    1.3)              ความสัมพันธ์กับหัวเมืองมอญ  สมัยรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 ความสัมพันธ์จะอยู่ในลักษณะการผูกไมตรีและอุปถัมภ์พวกมอญ เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้ทรงส่งกำลังไปช่วยพระยาทวายรบกับพม่าที่เข้ามายึดครอง หลังจากปิดล้อมเมืองอยู่ได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก็โปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพกลับ และพาครอบครัวชาวมอญมายังกรุงเทพฯ ด้วย หรือรัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญไปตั้งชุมชนอยู่ที่เมืองนนทบุรี ปทุมธานี และเมืองนครเขื่อนขันธุ์ (พระประแดง) ผลดีจากความสัมพันธ์ดังกล่าว นอกจากจะได้ผู้คนเพิ่มขึ้นและความจงรักภักดีแล้ว ไทยยังได้รับอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมบางประการจากชาวมอญด้วย อย่างไรก็ดี ในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อเมืองมะริด ทวาย ตะนาวศรี ตกเป็นของอังกฤษ ไทยก็ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับหัวเมืองมอญอีก

    1.4)              ความสัมพันธ์กับเขมร  อยู่ในลักษณะการทำสงครามเพื่อขยายอำนาจเข้าครอบครอง เพราะไทยต้องการให้เขมรเป็นรัฐกันชนระหว่างไทยกับญวน โดยในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้ทรงแต่งตั้งกษัตริย์ปกครองเขมร แต่ในสมัยรัชกาลที่ 2 เขมรได้เอาใจออกห่างไทยโดยหันไปฝักใฝ่กับญวนแทน จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ส่งกองทัพไปขับไล่ญวนออกจากเขมร แล้วให้ตีลงไปจนถึงไซ่ง่อน ในที่สุดไทยกับญวนก็ได้ร่วมกันแก้ไขข้อพิพาทร่วมกันโดยให้เขมรส่งบรรณาการแก่ไทยและญวนอย่างเท่าเทียมกัน ปัญหาระหว่างไทยกับญวนเรื่องเขมรจึงยุติลง

    1.5)              ความสัมพันธ์กับล้านช้าง (ลาว) มีทั้งการขยายอิทธิพลเข้าไปครอบครอง การผูกมิตรไมตรี และบางครั้งก็ทำสงครามต่อกัน โดยในสมัยรัชกาลที่ 1 ล้านช้างเกิดความแตกแยกภายใน ทำให้ไทยขยายอิทธิพลเข้าไปได้ง่ายขึ้นผสมผสานกับการผูกมิตรไมตรีเพื่อให้เกิดความจงรักภักดี ครั้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ได้คิดกบฏ ทางไทยจึงได้ยกกองทัพไปปราบ ลาวจึงตกเป็นประเทศราชของไทยเรื่อยมา จนกระทั่งต้องเสียให้แก่ฝรั่งเศสไปในภายหลังต่อมา

    1.6)              ความสัมพันธ์กับญวน  ส่วนใหญ่จะเป็นการทำสงครามต่อกันเพื่อแย่งชิงเขมร โดยที่ไม่มีฝ่ายใดชนะเด็ดขาด ภายหลังเมื่อญวนเกิดข้อพิพาทกับฝรั่งเศส จึงได้เปิดเจรจากับไทย ทำให้ยุติสงครามระหว่างกันได้ และหลังจากญวนได้ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสแล้วความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญวนก็ได้ยุติลงอย่างเป็นทางการ

    1.7)              ความสัมพันธ์กับหัวเมืองมลายู   มีทั้งการขยายอิทธิพลเข้าไปครอบครอง การผูกมิตรไมตรี และบางครั้งก็ทำสงครามต่อกันโดยในสมัยรัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 3 ได้มีการก่อกบฏหลายครั้งในหัวเมืองมลายู แต่ไทยก็สามารถปราบได้ทุกครั้ง หลังจากนั้นก็ดำเนินนโยบายลดอำนาจการปกครองของสุลต่านแต่ละเมืองให้น้อยลง พร้อมกันนั้นก็ทำนุบำรุงหัวเมืองไทยตอนบน เช่น สงขลา พัทลุง พังงา และตรังให้เข้มแข็ง เพื่อปราบการก่อกบฏของหัวเมืองมลายู

    1.8)              ความสัมพันธ์กับจีน  เป็นไปในลักษณะแบบรัฐบรรณาการ ซึ่งนอกจากไทยจะได้ประโยชน์จากการค้าขายกับจีนแล้ว ยังได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจีนหลายประการด้วย

    2)        ลักษณะความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก ในช่วงแรกจะเป็นเรื่องของการติดต่อค้าขาย ในช่วงหลังจะเป็นด้านการเมือง พร้อมกับการเผยแผ่ศาสนาของคณะมิชชันนารี โดยชาติตะวันตกที่มีบทบาทสำคัญ มีดังนี้

    2.1)   ความสัมพันธ์กับโปรตุเกส  โปรตุเกสเป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่เดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย โดยจะเป็นเรื่องการผูกไมตรีทางการทูตและการติดต่อค้าขาย

    2.2)  ความสัมพันธ์กับอังกฤษ  ในช่วงแรกจะเป็นความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้า แต่ช่วงหลังจะมีความสัมพันธ์ทางการเมืองด้วย  โดยในสมัยรัชกาลที่ 2 อังกฤษได้ส่งจอห์น  ครอว์เฟิร์ด เป็นทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทยเรื่องการค้า แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 อังกฤษได้ส่งร้อยเอกเฮนรี      เบอร์นีย์ เข้ามาทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์กับไทยเมื่อ พ.ศ. 2369 ผลของสนธิสัญญา ทำให้อังกฤษได้รับผลประโยชน์ทางการค้า เพราะไทยยอมเปลี่ยนแปลงระบบจัดเก็บภาษีให้เป็นการเก็บค่าปากเรืออย่างเดียวตามความต้องการของอังกฤษ และในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 3 อังกฤษได้ส่งเซอร์เจมส์ บรูค เข้ามาแก้ไขสนธิสัญญาเบอร์นีย์กับไทย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

    2.3)  ความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา  จะเป็นความสัมพันธ์ทางการค้าและความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรม โดยผ่านคณะมิชชันนารีที่เข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนา ชาวอเมริกันเริ่มเข้ามาค้าขายกับไทยในสมัยรัชกาลที่ 2 และเพิ่มมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ทำให้ไทยได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมด้วย เช่น การจัดทำหนังสือ เอกสาร หนังสือพิมพ์ ความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค การปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ       เป็นต้น

    2.              ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยสมัยปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย ( พ.ศ. 2394 – 2453 )

    นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นช่วงที่ไทยต้องเผชิญกับลัทธิล่าอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก ดังนั้น ไทยจึงต้องอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติมิให้ตกเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก รวมทั้งเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สำหรับลักษณะความสัมพันธ์มีอยู่หลายลักษณะ เช่น การยอมประนีประนอม การผูกมิตรไมตรี การเผชิญหน้าทางการทหาร การยอมเสียสละประโยชน์บางส่วน เป็นต้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้

    1)        ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ 4 อยู่ในลักษณะการยอมประนีประนอมกับชาติยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษกับฝรั่งเศส

    1.1)       ความสัมพันธ์กับอังกฤษ  เมื่ออังกฤษส่งเซอร์จอห์น เบาว์ริง เป็นทูตเข้ามาเจรจาการค้ากับไทยใน พ.ศ. 2398 จนทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ร่วมกัน ที่เรียกว่า “สนธิสัญญาเบาว์ริง” แม้ไทยจะรักษาเอกราชไว้ได้ รวมทั้งเศรษฐกิจมีความเจริญรุ่งเรือง แต่ไทยก็ต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้กับอังกฤษ

    1.2)       ความสัมพันธ์กับฝรั่งเศส  ในสมัยรัชกาลที่ 4 ไทยต้องยอมผ่อนปรนกับฝรั่งเศสเกี่ยวกับเขมร เพื่อป้องกันมิให้ฝรั่งเศสใช้ปัญหาเขมรเป็นข้ออ้างในการเข้ามาโจมตีและยึดครองดินแดนไทย ในที่สุดไทยได้เจรจากับฝรั่งเศส ทำให้ไทยต้องเสียดินแดนเขมรส่วนในให้กับฝรั่งเศส และฝรั่งเศสยอมรับว่าไทยมีกรรมสิทธิ์เหนือเมือง    เสียมราฐและเมืองพระตะบอง

    2)        ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 มีอยู่หลายลักษณะเพื่อรักษาเอกราชของชาติเอาไว้ เช่น การเผชิญหน้าทางการทหาร ดังเช่น การทำสงครามป้องกันอาณาเขตกับฝรั่งเศส จนเกิดกรณี ร.ศ. 112 การใช้วิธีถ่วงดุลอำนาจ ดังเช่นรัชกาลที่ 5 ทรงเจรจากับอังกฤษเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับฝรั่งเศส การผูกมิตรไมตรีกับชาติอื่นๆ ดังเช่น รัสเซีย รวมทั้งการสร้างเกียรติภูมิให้เป็นที่รู้จักและยอมรับจากนานาชาติ ด้วยการที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปถึง 2 ครั้ง เป็นต้น

    3.              ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2

    สงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเกิดขึ้นในทวีปยุโรปเป็นการสู้รบระหว่างฝ่ายมหาอำนาจกลางกับฝ่ายสัมพันธมิตร ช่วงแรกไทยวางตัวเป็นกลางแต่ภายหลังก็ได้เข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร และเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ ไทยได้เรียกร้องกับชาติมหาอำนาจตะวันตกในการขอเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาในเรื่องการศาลและภาษีอาการที่เสียเปรียบ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จด้วยดี

    ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เช่นเดียวกัน ไทยได้ดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลายลักษณะแล้วแต่สถานการณ์บีบบังคับ เช่น การดำเนินนโยบายเป็นกลาง การถ่วงดุลอำนาจ การผูกมิตรไมตรี การเจรจาประนีประนอม การทำสงคราม เป็นต้น โดยระยะแรก ไทยใช้นโยบายวางตัวเป็นกลาง แต่เมื่อญี่ปุ่นเปิดสงครามทางเอเชียบูรพาและขอยกพลขึ้นบกในประเทศไทยเพื่อจะผ่านไปโจมตีมลายู สิงคโปร์ พม่า และจีน ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ รัฐบาลไทยต้องยอมให้ญี่ปุ่นยกกองทัพผ่านประเทศไทยได้ และภายหลังไทยได้เข้าร่วมรบกับญี่ปุ่นด้วยการประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ โดยหวังว่าญี่ปุ่นจะช่วยเหลือให้ไทยได้ดินแดนที่เคยเสียไปในสมัยรัชกาลที่ 5 กลับคืนมา

    จากการตัดสินใจของรัฐบาลไทยในขณะนั้น ได้ทำให้คนไทยที่รักชาติในหลายแห่งซึ่งมิได้เห็นพ้องกับรัฐบาลได้ร่วมกันจัดตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นมา เพื่อปลดปล่อยประเทศไทยให้หลุดพ้นจากการครอบงำของญี่ปุ่น แต่เมื่อญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม รัฐบาลไทยได้พยายามสร้างความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในลักษณะของการประนีประนอมและการเจรจาต่อรองทางการทูต ซึ่งทำให้ประเทศไทยสามารถรักษาเอกราชไว้ได้จนถึงทุกวันนี้

    4.              ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยสมัยสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน

    ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง โลกได้ตกอยู่ในสภาวะสงครามเย็น ซึ่งเป็นสงครามอุดมการณ์ทางการเมืองและการปกครองระหว่างกลุ่มประเทศในโลกเสรีประชาธิปไตยและกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ ซึ่งต่างฝ่ายก็แข่งขันกันขยายอิทธิพลไปยังทวีปต่างๆ ดังนั้นลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยในช่วงนี้ จึงใช้การผูกมิตรไมตรีกับประเทศโลกเสรีต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันก็ต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างเปิดเผย โดยเฉพาะกับสหภาพโซเวียต สาธารณรัฐประชาชนจีน และเวียดนาม ดังเช่น การส่งทหารไทยไปเข้าร่วมรบกับสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรในสงครามเวียดนาม แต่ต่อมาเมื่อสหรัฐอเมริกาหวนกลับไปสร้างความสัมพันธ์อันดีกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ดังนั้น ไทยจึงได้เปลี่ยนแปลงลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเสียใหม่ ด้วยการผูกมิตรไมตรีกับประเทศคอมมิวนิสต์ เช่น การที่ไทยให้การับรองประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนแทนสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) หรือให้การรับรองรัฐบาลคอมมิวนิสต์เขมรแดงของนายเขียว สัมพัน ที่เข้ายึดกรุงพนมเปญใน พ.ศ. 2518 เป็นต้น ขณะเดียวกันก็อาศัยพึ่งพาสหรัฐอเมริกาทั้งทางด้านการทหาร เศรษฐกิจ และวิทยาการเทคโนโลยี

    จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามเย็น ไทยได้มุ่งพัฒนาประเทศด้วยการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาประเทศ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ดังเช่น ไทยได้ร่วมกับสมาชิกกลุ่มอาเซียนทำข้อตกลงเรื่องการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟตา (Asian Free Trade Area – AFTA) เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างกันในกลุ่มเมื่อ พ.ศ. 2535 และใน พ.ศ. 2537 ไทยได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization – WTO) รวมทั้งมีส่วนร่วมในการรักษาสันติภาพในติมอร์ตะวันออกและอิรักในนามขององค์การสหประชาชาติร่วมกับประเทศสมาชิกอื่นๆ ด้วย เป็นต้น

    พัฒนาการด้านความอารยธรรมตะวันออกและตะวันตกที่ีมีผลต่อไทยสมัย

    รัตนโกสินทร์

    1.              อารยธรรมตะวันออกที่มีอิทธิพลต่อไทยสมัยรัตนโกสินทร์

    อารยธรรมตะวันออก ได้แก่ อารยธรรมอินเดียและอารยธรรมจีนได้มีอิทธิพลต่อไทยสมัยรัตนโกสินทร์อย่างมาก โดยสามารถแยกอธิบายได้ ดังนี้

    1)            อารยธรรมอินเดีย  มีอิทธิพลต่อไทยสมัยรัตนโกสินทร์หลายด้าน ที่สำคัญ  มีดังนี้

    1.1)      ด้านศาสนา  พระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากอินเดียและมีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยก็ยังส่งผลมายังไทยสมัยรัตนโกสินทร์ด้วย ดังจะเห็นได้จากพิธีกรรมต่างๆ เช่น การบวงสรวง หรือการสร้างเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เพื่อทำพิธีโล้ชิงช้า (ตรียัมปวาย) ก็กลายเป็นพิธีสำคัญในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเช่นเดียวกับสมัยอยุธยา การสร้างรูปเคารพ เช่น พระพรหมที่โรงแรมเอราวัณ ก็มีผู้ที่นับถือไปกราบไหว้และบนบานกันเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ พระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่ให้การรับรองพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ หรือพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ก็ได้มีความเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ส่วนอิทธิพลทางพระพุทธศาสนา ก็สามารถเห็นได้จากการประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธสาสนาของชาวพุทธทั่วไป เป็นต้น

    1.2)      ด้านการปกครอง  สำหรับคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูและพระพุทธศาสนาในเรื่องสมมติเทพ ทศพิธราชธรรม ก็ยังคงมีอิทธิพลต่อการปกครองของไทยเหมือนกับสมัยก่อน

    1.3)      ด้านกฎหมาย  กฎหมายธรรมศาสตร์ของอินเดียที่ไทยรับผ่านมอญก็ยังคงเป็นเค้าของกฎหมายตราสามดวง ซึ่งเป็นกฎหมายไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

    1.4)      ด้านศิลปวัฒนธรรม  ดังจะเห็นได้จากวัดวาอาราม พระปรางค์ เจดีย์ต่างๆ เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดอรุณราชวราราม ซึ่งสร้างขึ้นอย่างสวยงาม  เป็นต้น

    1.5)      ด้านวรรณกรรม  ในสมัยรัตนโกสินทร์ได้มีการแปลวรรณกรรมอินเดียเป็นภาษาไทย  เช่น  รามเกียรติ์ เวตาล  หรือศกุนตลา  ซึ่งรัชกาลที่ 6 พระราชนิพนธ์ขึ้นก็มีเค้าโครงมาจากวรรณกรรมอินเดีย  เป็นต้น

    1.6)      ด้านภาษา  ได้แก่  ภาษาบาลี  สันสกฤต  ก็มีอิทธิพลต่อภาษาไทยเป็นอย่างมาก

    1.7)      ด้านอาหาร  อาหารอินเดียซึ่งมีส่วนผสมของเครื่องเทศก็ได้รับความนิยมจากคนไทยด้วยเช่นกัน  เช่น แกงกะหรี่ มัสมั่น โรตี ข้าวหมกไก่   เป็นต้น

    2)            อารยธรรมจีน  ได้มีอิทธิพลต่อไทยสมัยรัตนโกสินทร์เช่นเดียวกับอารยธรรมอินเดียที่สำคัญ มีดังนี้

    2.1)  ด้านศิลปวัฒนธรรม  โดยรูปแบบสถาปัตยกรรมจีนก็เป้นที่นิยมนำมาสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น พระที่นั่งเวหาศน์จำรูป ที่พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  เป็นต้น

    2.2)  ด้านวรรณกรรม  มีการแปลวรรณกรรมอิงพงศาวดารจีนราชวงศ์ต่างๆ เป็นภาษาไทย ที่แพร่หลายที่สุด คือ เรื่องสามก๊ก  แปลในสมัยรัชกาลที่ 1 ไซอิ๋ว  แปลในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ สอนในเรื่องความรักชาติ ความเสียสละต่อส่วนรวม การทำความดี ความกตัญญูกตเวที เพื่อให้ผู้อ่านนำไปใช้เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต

    2.3)  ด้านภาษา  ภาษาจีนได้เข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันของคนไทยอย่างมาก เช่น แต้จิ๋ว  ตะเกียบ  ห้าง  ฮ่องเต้  อั้งยี่  โสหุ้ย  ไต้ก๋ง  เรือสามปั้น  เป็นต้น

    2.4)  ด้านอาหาร  เช่น  ก๋วยเตี๋ยว  เต้าหู้  เต้าเจี้ยว  เต้าฮวย  ก็ถือเป็นอาหารคาวที่คนไทยนิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลาย

    2.    อารยธรรมตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อไทยสมัยรัตนโกสินทร์

    ชาติตะวันตกได้เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีอย่างเป็นทางการกับไทยสมัยรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา  ซึ่งทำให้อารยธรรมตะวันตกได้เข้ามามีอิทธิพลต่อไทยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยสรุปได้  ดังนี้

    1)        ด้านศาสนา  โดยมิชชันนารีหรือหมอสอนศาสนาได้เข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนาในไทยทั้งนิกายโปรเตสแตนต์และนิกายคาทอลิก  ทำให้มีผู้เข้ารีตนับถือคริสต์ศาสนาเพิ่มมากขึ้น

    2)        ด้านการปกครอง  รูปแบบการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 เช่น การตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน สภาที่ปรึกษาในพระองค์ การปกครองแบบกระทรวง  หรือแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยที่แพร่หลายในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็ได้รับอิทธิพลมาจากชาติตะวันตก

    3)        ด้านการแพทย์  มิชชันนารีที่เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในระยะแรก บางคนเป็นนายแพทย์หรือหมอรักษาคนไข้ โดยบุคคลสำคัญ เช่น หมอบรัดเลย์  หมอสมิท  ได้ใช้วิธีการรักษาตามการแพทย์แผนใหม่

    4)        ด้านศิลปวัฒนธรรม  ได้แพร่หลายมากขึ้นในไทยภายหลังจากทำสนธิสัญญาเบาว์ริง พ.ศ. 2398 เป็นต้นมา  เช่น การแต่งกายแบบสากลนิยม  การรับประทานอาหารด้วยช้อนส้อม การนับเวลาแบบสากล  การนับวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่  ตลอดจนรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เช่น พระราชวังสราญรมย์ และในสมัยรัชกาลที่ 5 เช่น พระที่นั่งวโรภาสพิมานในพระราชวังบางปะอิน พระที่นั่งอนันตสมาคม  สาลาว่าการกระทรวงกลาโหม  ศาลาว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  เป็นต้น

    5)        ด้านวรรณกรรม   เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แปลวรรณกรรมตะวันตก เรื่อง Uncle’s Tom Cabin เป็นภาษาไทย ชื่อว่า “กระท่อมน้อยของลุงทอม” และในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงแปลวรรณกรรมเรื่อง The Merchant of Venice เป็นภาษาไทยในชื่อ “เวนิสวานิช” เป็นต้น

    6)        ด้านภาษา  ได้รับการเผยแพร่จากบรรดามิชชันนารีที่เข้ามาในไทย  เช่นภาษาอังกฤษ  ภาษาละติ  ภาษาฝรั่งเศส  ซึ่งรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการศึกษาภาษาของชาติตะวันตกจนถึงกับทรงจ้างชาวต่างชาติมาสอนพระราชโอรส พระราชธิดา รวมทั้งทรงส่งพระราชโอรสไปศึกษายังประเทศในทวีปยุโรปหลายพระองค์

    7)        ด้านอาหาร  ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เริ่มรับประทานอาหารตะวันตก โดยเริ่มจากราชสำนักก่อน โดยเฉพาะในงานพระราชทานเลี้ยงคณะทูตตะวันตก ต่อมาจึงแพร่หลายไปยังบ้านพระราชวงศ์ และขุนนางต่างๆ ปัจจุบันอาหารตะวันตก เช่น กาแฟ ขนมปัง ขนมเค้ก ได้เป็นที่นิยมรับประทานกันมาก เพราะสะดวก รวดเร็ว และมีขายอยู่ทั่วไปตามร้านค้าต่างๆ

    กล่าวโดยสรุป  พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นการฟื้นฟูประเทศให้เหมือนเมื่อครั้งบ้านเมืองดี คือ ทำให้บ้านเมืองเหมือนในสมัยอยุธยาทั้งรูปแบบการปกครอง สังคม ศิลปวัฒนธรรม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศอย่างกว้างขวาง  และในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อถูกจักรวรรดินิยมตะวันตกคุกคามจึงได้ทรงปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยในทุกด้าน เพื่อให้ชาติไทยรอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ราษฎรไทยก็มีสิทธิเสรีภาพตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยเช่นเดิม

    เหตุการณ์สําคัญในสมัยรัตนโกสินทร์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้าน

    ต่างๆ

    สมัยรัตนโกสินทร์นับตั้งแต่แรกตั้งใน พ.ศ.  2325 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 200 ปีเศษ มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย  ดังตัวอย่างต่อไปนี้

    1.              สงครามเก้าทัพ พ.ศ. 2328

    สงครามเก้าทัพเป็นสงครามใหญ่ครั้งแรกภายหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ได้เพียง 3 ปี ในสงครามนี้ข้าศึกได้ยกกำลังพลประมาณ 144,000 คน เพื่อพิชิตไทยให้ได้ ถ้าเราพ่ายแพ้ก็ยากที่จะฟื้นตัวขึ้นมาได้อีก  ดังนั้นสงครามครั้งนี้จึงมีความสำคัญมากต่ออนาคตของเมืองไทย

    สงครามเก้าทัพเรียกตามจำนวนกองทัพที่พระเจ้าปะดุง กษัตริย์พม่า จัดแบ่งกำลังทหารเป็น 9 ทัพ เพื่อมาโจมตีไทยโดย ทัพที่ 1 โจมตีทางปักษ์ใต้  ทัพที่ 2  โจมตีเมืองราชบุรีลงไปทางใต้  ทัพที่ 3 โจมตีลำปางและหัวเมืองฝ่ายเหนือลงมา  ทัพที่ 4 ถึง ทัพที่ 8 มุ่งโจมตีกรุงเทพฯ โดยยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ พระเจ้าปะดุงเป็นแม่ทัพคุมทัพที่ 8 ซึ่งเป็นทัพหลวงมีกำลังมากที่สุดถึง 50,000 คน และทัพที่ 9  โจมตีเมืองตาก กำแพงเพชรลงมา  แผนการรบของพระเจ้าปะดุง คือ โจมตีไทยทางเหนือ ทางตะวันตก และทางใต้พร้อมกัน โดยมีเป้าหมายหลักคือ กรุงเทพฯ ให้ทัพที่ 3 และทัพที่ 2 ยกมาบรรจบกับทัพที่ 4 ถึงทัพที่ 8 เพื่อโจมตีกรุงเทพฯ

    เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงทราบข่าวศึก จึงทรงปรึกษาวางแผนการต่อต้านข้าศึกและรวมไพร่พลได้ประมาณ 70,000 คน ซึ่งน้อยกว่ากำลังทหารของพม่ากว่าครึ่งหนึ่ง กำลังไพร่พลของไทยแม้จะน้อยกว่าทหารพม่า แต่ก็มีประสบการณ์และมีความกล้าหาญ เพราะรบชนะมาตลอดในสมัยธนบุรี อีกทั้งมีแม่ทัพที่ทรงพระปรีชาสามารถ คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จพระอนุชาธิราช คือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท

    แผนการรบของไทย คือ ต่อต้านทัพพม่าทางด้านที่สำคัญก่อน โดยจัดทัพเป็น 4 ทัพ โดยให้ทัพที่ 1 ยกไปต่อต้านพม่าทางเหนือที่เมืองนครสวรรค์ ทัพที่ 2 ยกไปต่อต้านพม่าทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ซึ่งเป็นด่านสำคัญ มีสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเป็นแม่ทัพ ทัพที่ 3 ยกไปต่อต้านพม่าที่ราชบุรี ทัพที่ 4 เป็นทัพหนุนคอยช่วยเหลือการศึกด้านที่หนัก มีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นจอมทัพ

    สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เสด็จยกทัพไปทางเมืองกาญจนบุรี ตั้งทัพอยู่ที่ทุ่งลาดหญ้า เชิงเขาบรรทัดสกัดกั้นไม่ให้ทัพพม่ายกลงมาจากภูเขา เพื่อไม่ให้ทัพพม่าลงมาหาเสบียงอาหารได้ นอกจากนี้ยังจัดกำลังไปตัดการลำเลียงเสียงอาหารของพม่า นอกจากนั้นยังลวงพม่าโดยถอนกำลังออกในเวลากลางคืน ครั้นรุ่งเช้าก็ให้ทหารเดินเข้ามา เสมือนว่ามีกำลังเพิ่มเติมเข้ามาเสมอ เมื่อทำให้กองทัพพม่าขาดแคลนเสบียงอาหาร และครั่นคร้ามกองทัพไทยมากแล้ว จึงโจมตีทัพที่ 4 และทัพที่ 5 ของพม่า และได้ชัยชนะโดยง่าย พระเจ้าปะดุงเห็นว่าถ้าสู้รบต่อไปคงไม่ชนะไทยจึงยกทัพกลับ

    สำหรับการโจมตีไทยทางด้านอื่นปรากฏว่าทางด้านเหนือพระยากาวิละ เจ้าเมืองลำปางต่อต้านพม่าไว้ได้ แต่หลายเมืองไม่มีกำลังพอพม่าจึงตีได้หัวเมืองหลายเมืองจนถึงเมืองพิษณุโลก เมื่อเสร็จศึกทางด่านพระเจดีย์สามองค์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงเสด็จยกทัพขึ้นไปช่วยทัพที่ไปต่อต้านพม่าทางภาคเหนือ ทัพไทยสามารถขับไล่ทัพพม่าออกไปได้ รวมทั้งทัพพม่าที่ล้อมเมืองลำปางด้วย

    ส่วนทางปักษ์ใต้ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เสด็จยกทัพลงไปช่วย แต่ก่อนที่จะเสด็จลงไปถึง ทัพพม่าได้โจมตีเมืองถลาง ซึ่งในเวลานั้นเจ้าเมืองถึงแก่กรรมยังไม่มีการตั้งเจ้าเมืองคนใหม่ แต่ชาวเมืองได้รวมกำลังคนต่อสู้ โดยมีคุณหญิงจัน ภรรยาเจ้าเมืองที่ถึงแก่กรรมและนางมุกน้องสาว เป็นหัวหน้า ซึ่งสามารถต่อต้านพม่าไว้ได้ หลังเสร็จศึกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้คุณหญิงจันเป็นท้าวเทพกษัตรีย์ (หรือท้าวเทพสตรี) นางมุกเป็นท้าวศรีสุนทรแต่งตั้งถือเป็นวีรสตรีของไทย นอกจากนี้ ทัพพม่าบางส่วนสามารถตีเมืองนครศรีธรรมราชได้ และยกลงไปตีเมืองสงขลา เจ้าเมืองและกรมการเมืองพัทลุงทราบข่าวจึงหลบหนีเอาตัวรอด แต่พระมหาช่วย ภิกษุที่ชาวเมืองนับถือมากได้ชักชวนชาวเมืองให้ต่อสู้สกัดทัพพม่าไว้ได้ เมื่อกองทัพของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทยกลงไปช่วย ได้สู้รบกับทัพพม่าที่เมืองไชยา ทัพพม่าแตกพ่ายไป สำหรับพระมหาช่วยต่อมาได้ลาสิกขาบทและเข้ารับราชการทรงตั้งให้เป็นพระยาทุกขราษฎร์ กรมการเมืองพัทลุง

    หลังจากพ่ายแพ้ไทยกลับไป พระเจ้าปะดุง ได้รวบรวมกำลังตีไทยในปีถัดมาคือ พ.ศ. 2329 โดยครั้งนี้ได้รวมกำลังเป็นทัพใหญ่ทัพเดียว พร้อมจัดหาเสบียงอาหารให้บริบูรณ์ ยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ แล้วตั้งทัพที่ท่าดินแดง เมืองกาญจนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดห้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเป็นแม่ทัพหน้า พระองค์เป็นแม่ทัพหลวง ทัพทั้งสองไปโจมตีทัพพม่าพร้อมกัน สู้รบกันเพียง 3 วัน ทัพพม่าก็แตกพ่ายไป

    สงครามเก้าทัพและสงครามที่ต่อเนื่อง คือ สงครามท่าดินแดง ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อไทย ดังนี้

    1. เป็นสงครามใหญ่ที่ข้าศึกมีกำลังมากกว่าไทยถึง 2 เท่าเศษ แต่ไทยมีชัยชนะต่อข้าศึกอย่างงดงาม โดยเปลี่ยนยุทธวิธีจากการตั้งรับที่ราชธานี เป็นไปตั้งรับที่เขตชายแดน ชัยชนะในสงครามดังกล่าวทำให้ข้าศึกไม่ได้ยกกองทัพใหญ่มาโจมตีราชธานีของไทยอีกเลย และไทยได้ตอบโต้ไปโจมตีข้าศึกในเวลาต่อมา

    2.  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงแสดงพระราชปณิธานในการปกครองประเทศให้เห็นอย่างชัดเจนว่า

    “ตั้งใจจะอุปถัมภก                               ยอยกพระพุทธศาสนา

    จะป้องกันขอบขัณฑสีมา                   รักษาประชาแลมนตรี”

    หมายถึงจะทรงอุปถัมภกหรือทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ป้องกันบ้านเมือง ทำให้ราษฎร และขุนนางทั้งหลายร่มเย็นเป็นสุข ซึ่งเวลาต่อมาได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่สำคัญ คือ ทรงสังคายนาพระไตรปิฎกให้มีความถูกต้อง ทรงปกป้องและขยายพระราชอาณาเขต ทรงชำระกฎหมายตราสามดวงเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในบ้านเมือง ทรงฟื้นฟูพระราชประเพณีและทรงบำรุงอักษรศาสตร์ จนทำให้ราษฎรทั้งหลายมีขวัญและกำลังใจดีในการประกอบอาชีพ มีชีวิตอย่างปลอดภัย ประเทศมีความมั่นคงและรุ่งเรืองสืบต่อมา

    2.              การทำสนธิสัญญาเบาว์ริง พ.ศ. 2398

    การทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2398 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความสำคัญต่อไทย คือ เป็นการเปิดกว้างประเทศไทย ทำให้ไทยเข้าสู่สังคมนานาชาติ มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ทำให้ไทยเริ่มการปรับปรุงประเทศให้เป็นแบบสากล สนธิสัญญาเบาว์ริงก่อให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจในระยะสั้นๆ แต่ทำให้ไทยถูกจำกัดในเรื่องสิทธิการเก็บภาษีขาเข้า เรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและเรื่องคนในบังคับต่างชาติ

    ในสมัยรัตนโกสินทร์ไทยเริ่มทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีกับชาติตะวันตก คือ อังกฤษในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2369 โดยเป็นสนธิสัญญาที่เท่าเทียมกันไม่มีชาติใดเสียเปรียบต่อกัน ต่อมาใน พ.ศ. 2385 อังกฤษทำสนธิสัญญาหนานจิง (หรือนานกิง)กับจีน อังกฤษได้สิทธิพิเศษในเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต คือคนในบังคับอังกฤษเมื่อทำผิดไม่ต้องขึ้นศาลและถูกลงโทษตามกฎหมายจีน และข้อกำหนดอัตราภาษีขาเข้าที่ต่ำและชัดเจน ซึ่งต่อมากำหนดไว้ที่ร้อยละ 5 อังกฤษจึงต้องการปรับปรุงสนธิสัญญากับไทยให้ทำเหมือนอย่างจีน

    สหรัฐอเมริกาซึ่งได้ทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีกับประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2375 ก็ต้องการปรับปรุงสนธิสัญญากับไทยเหมือนกัน จึงได้ส่งทูตเข้ามาเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญาทางพระราชไม่ตรีในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่พระองค์ไม่ทรงยินยอมเพราะทรงเห็นว่าสนธิสัญญาที่มีอยู่ก็ดีอยู่แล้ว ต่อมาอังกฤษได้ส่งทูตเข้ามาขอแก้ไขสนธิสัญญาอีกแต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่ทรงยินยอมเช่นกัน

    การที่ไทยไม่ยินยอมแก้ไขสนธิสัญญาทำให้ทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษไม่พอใจ จนคิดจะใช้กำลังบีบบังคับไทยเช่นเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาใช้กำลังทางเรือไปบีบบังคับญี่ปุ่นจนสำเร็จมาแล้ว (สหรัฐอเมริกาใช้กำลังทางเรือบังคับญี่ปุ่นให้เปิดประเทศ และทำสนธิสัญญาคานากาวะ (Kanagawa) เมื่อ พ.ศ. 2397)

    เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเมื่อ พ.ศ. 2394 ทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องยินยอมตามข้อเรียกร้องของชาติตะวันตก จึงทรงติดต่อกับเซอร์ จอห์น เบาว์ริง(Sir John Bowring) ข้าหลวงอังกฤษประจำเกาะฮ่องกง ผู้ซึ่งจะเป็นราชทูตมาเจรจาไขสนธิสัญญากับไทยว่ายินดีที่จะแก้ไขสนธิสัญญา แต่ขอเวลาให้งานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสร็จสิ้นก่อน  และขอทราบความต้องการของอังกฤษในการแก้ไขสนธิสัญญา เพื่อไทยจะได้ปรึกษาเป็นการภายในก่อน การแก้ไขสนธิสัญญาก็จะทำได้เร็วขึ้น

    เซอร์ จอห์น เบาว์ริง เดินทางเข้ามาถึงเมืองไทยในปลายเดือนมีนาคม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้การต้อนรับเป็นอย่างดี และทรงตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจาแก้ไขสนธิสัญญา มีพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงธิราชสนิทเป็นประธาน ทำกันที่พระราชวังเดิม คือ พระราชวังเก่าของพระเจ้าตากสินมหราราช การเจรจาสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และมีการลงนามในสนธิสัญญาในต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2398

    สนธิสัญญาเบาว์ริง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไทย ดังนี้

    1.         เป็นการเริ่มต้นการค้าเสรีในประเทศไทย ซึ่งทำให้ต่างชาติเข้ามาค้าขายเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก จนทำให้ผู้คนภายในประเทศมีฐานะดีขึ้นกว่าเดิม

    2.        ข้าวกลายเป็นสินค้าสำคัญของไทย จนกระทั่งปัจจุบัน

    3.        ไทยเข้าสู่สังคมนานาชาติ มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น วัฒนธรรมไทยมีการปรับตัวให้เหมาะสมมีการรับวัฒนธรรมและวิทยาการของชาติตะวันตกเข้ามามากขึ้น

    อย่างไรก็ดี ผลเสียของสนธิสัญญาเบาว์ริงก็มีเหมือนกัน ดังนี้

    1.        ไทยถูกจำกัดการเก็บภาษีขาเข้าที่อัตราร้อยละ 3

    2.         เรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและคนในบังคับ ทำให้ประเทศตะวันตกชักชวนคนชาติเอเชียไปจดทะเบียนเป็นคนในบังคับ กฎหมายไทยจึงไม่สามารถควบคุมคนเหล่านั้นได้

    ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ได้ทรงพยายามเจรจากับชาติตะวันตกเพื่อขอแก้ไขสนธิสัญญาและประสบผลสำเร็จในบางส่วน พระมหากษัตริย์ในสมัยต่อมาทรงพยายามดำเนินงานต่อ จนประสบผลสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2481 ทำให้ไทยสามารถเพิ่มอัตราภาษีได้และสิทธิสภาพนอกอาณาเขตรวมทั้งปัญหาคนในบังคับจึงสิ้นสุดลง

    3.              วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112

    วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 คือ เหตุการณ์ที่ร้ายแรงจากการที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบที่ปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อ พ.ศ. 2436 ต่อมาได้ประกาศปิดอ่าวไทย และยื่นข้อเรียกร้องจากไทย ทำให้ไทยยอมเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และเสียค่าปรับถึง 3 ล้านฟรังก์ หรือประมาณ 1,605,000 บาท นับเป็นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงมากในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่

    วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 สืบเนื่องจากการขยายอำนาจของชาติตะวันตกในยุคจักรวรรดินิยมโดยฝรั่งเศสหลังจากได้เวียดนามและเขมรส่วนนอกหรือเขมรด้านตะวันออกแล้ว ก็พยายามที่ยึดครองลาว ซึ่งในเวลานั้นเป็นประเทศราชของไทย เพื่อหวังใช้แม่น้ำโขงที่ไหลผ่านลาวเป็นเส้นทางไปสู่จีนซึ่งเป็นตลาดการค้าที่สำคัญ

    วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 เริ่มมีความรุนแรงตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2436 เมื่อฝรั่งเศสส่งกำลังทหารเข้ายึดเมืองเชียงแตง (สตรึงเตร็ง) ทางใต้ของเมืองจำปาศักดิ์ และเมือคำมวน (คำม่วน) ใกล้เมืองนครพนม ซึ่งเป็นของไทย จนมีการสู้รบกัน ระหว่างนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเตรียมการป้องกันประเทศ ทรงเร่งรัดการก่อสร้างป้อมพระจุลจอมเกล้าโดยทรงบริจาคเงิน 10,000 ชั่ง (800,000 บาท ) เป็นค่าใช้จ่ายและซื้ออาวุธสำหรับป้อม เพื่อเป็นการรักษาเอกราชของชาติ ดังที่มีพระราชปณิธานว่า “ถ้าความเป็นเอกราชของกรุงสยามได้สิ้นสุดไปเมื่อใด ชีวิตฉัน (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ก็คงจะสุดสิ้นไปเมื่อนั้น”

    ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2436  รัฐบาลฝรั่งเศสได้ส่งเรือรบ 2 ลำ คือ เรือโกแมต (Comete) และเรือแองกองสตังต์ (Inconstant) โดยมีเรือชองแบปตีสเซ (Jean Baptiste Say หรือ J.B. Say) เป็นเรือนำร่อง เพื่อมาสมทบกับเรือ  ลูแตง (Lutin) ซึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้ว รัฐบาลคัดค้านเรื่องนี้เพราะเป็นการละเมิดสนธิสัญญาระหว่างประเทศทั้งสองที่อนุญาตให้มีเรือรบเข้ามาจอดได้เพียงลำเดียว รัฐบาลฝรั่งเศสได้สั่งระงับ แต่ผู้บังคับการเรือรบทั้งสองอ้างว่าได้รับคำสั่งให้นำเรือรบทั้งสองลำให้เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ ในตอนเย็นวันที่ 13 กรกฎาคม เวลา 18 นาฬิกาเศษ เรือฝรั่งเศสทั้ง 3 ลำ ได้เข้ามาใกล้ป้อมพระจุลจอมเกล้า ปืนที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า ซึ่งเป็นปืนใหญ่สมัยใหม่ได้ยิงเตือนแต่เรือรบฝรั่งเศสไม่ยอมหยุดและยิงตอบโต้ ผลการสู้รบเรือนำร่องของฝรั่งเศสถูกยิงเกยตื้น ทหารเสียชีวิต 3 นาย บาดเจ็บ 3 นาย ทหารไทยเสียชีวิต 3 นาย บาดเจ็บ 41 นาย แต่เรือรบฝรั่งเศสทั้ง 2 ลำ สามารถแล่นขึ้นมาจอดที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสได้ ในวันนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีประกาศว่า “อย่าได้ตื่นตกใจว่าจะมีการรบพุ่ง รัฐบาลได้เตรียมการป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของราษฎรแล้ว อีกทั้งมีการเจรจากับฝรั่งเศส ทั้งที่กรุงปารีสและกรุงเทพฯ ด้วย”

    ทางฝ่ายไทยได้ประท้วงรัฐบาลฝรั่งเศสและเรียกร้องให้ถอนเรือรบออกไป แต่รัฐบาลฝรั่งเศสได้สั่งให้นายออกัสต์ ปาวี (August Pavie) ทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ ยื่นคำขาดต่อไทยว่าไทยต้องสละสิทธิ์ในดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง พร้อมกับรื้อถอนด่านในบริเวณดังกล่าว ลงโทษผู้ที่ต่อสู้กับฝรั่งเศส จ่ายค่าปรับไหมและค่าทำขวัญเป็นเงิน 3 ล้านฟรังก์ และต้องตอบคำขารดภายใน 48 ชั่วโมง

    รัฐบาลไทยพยายามขอความช่วยเหลือจากอังกฤษ แต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน จึงตอบคำขาดในวันที่ 22 กรกฎาคม  พ.ศ. 2436 โดยยินยอมและโต้แย้งบางประเด็น เช่น เงินค่าปรับไหม และค่าทำขวัญน่าจะเกินความเป็นจริง ส่วนที่เกิดไทยควรจะได้คืน

    ฝรั่งเศสไม่พอใจคำตอบของไทย ถือว่าไทยปฏิเสธคำขาด ดังนั้นจึงตัดความสัมพันธ์ทางการทูตในวันที่ 26 กรกฎาคม ฝรั่งเศสได้ถอนเรือรบทั้ง 3 ลำออ และไปยึดเกาะสีชัง ประกาศปิดอ่าวไทยโดยให้เวลา 3 วัน สำหรับเรือต่างๆ ที่จะถอนสมอออกไป ครั้งถึงวันที่ 29 กรกฎาคม ฝรั่งเศสได้ขยายพื้นที่การปิดล้อมเพิ่มขึ้น สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ ดังนั้นไทยจึงแจ้งให้ฝรั่งเศสทราบว่าจะรับคำขาด เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยและชาวต่างประเทศ แต่ฝรั่งเศสยังเรียกร้องเพิ่มเติมว่าจะยึดปากน้ำและจันทบุรีไว้จนกว่าไทยจะถอนกำลังที่อยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงจนหมดสิ้น

    เมื่อไทยยอมรับข้อเรียกร้องเพิ่มเติม การปิดล้อมปากน้ำจึงยุติลงในต้นเดือนสิงหาคม  ฝรั่งเศสได้ถอนกำลังไปยึดเมืองจันทบุรี โดยประจำอยู่ที่แหลมสิงห์ หลังจากนี้เป็นการเจรจาทางการทูตและมีการลงนามในสนธิสัญญาไทย – ฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436  ณ  ที่ทำการราชวัลลภ ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

    1.             ไทยยกดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง รวมทั้งเกาะในแม่น้ำให้ฝรั่งเศส

    2.             ไทยจะไม่สร้างด่าน ค่าย ที่อยู่ของทหารในเขต 25 กิโลเมตร บนฝั่งขวาแม่น้ำโขง

    3.             ฝรั่งเศสจะตั้งกงสุลในที่ใดๆ ก็ได้ เช่น ที่นครราชสีมา  เป็นต้น

    อนึ่งไทยยังต้องจ่ายเงินประกันค่าปรับไหมและค่าทำขวัญตามคำขาดของฝรั่งเศสเป็นเงิน 3 ล้านฟรังก์ (ค่าปรับไหมและค่าทำขวัญ 2 ล้านฟรังก์) ซึ่งรัฐบาลไทยจ่ายเป็นเงินสดและผ่านธนาคารปลายทาง (ธนาคารเมืองไซ่ง่อน) รวมเป็นเงิน 1,605,235 บาท 2 อัฐ

    นอกจากนี้ ยังมีสัญญาเพิ่มเติมว่าผู้ที่ต่อสู้กับทหารฝรั่งเศส ซึ่งหมายถึง พระยอดเมืองขวาง (ยำ  ยอดเพ็ชร) จะต้องถูกนำตัวขึ้นศาล และทนายฝรั่งเศสจะอยู่ที่จันทบุรีจนกว่าไทยจะปฏิบัติตามหนังสือสัญญาได้ครบถ้วน แต่ปรากฏว่าเมื่อไทยปฏิบัติตามหนังสือสัญญาได้ครบถ้วน ฝรั่งเศสก็ยังไม่ถอนกำลังออกจากจันทบุรี จน พ.ศ. 2446 จึงถอนตัวออกแต่ไปยึดเมืองตราดแทน โดยไทยต้องเสียดินแดนเพิ่มเติม คือ มโนไพร จำปาศักดิ์ และหลวงพระบาง ฝรั่งเศสยึดเมืองตราดจนถึง พ.ศ. 2449 จึงถอนตัวออกโดยที่ไทยต้องยกเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณให้เป็นการแลกเปลี่ยน

    ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ได้คุมคามอำนาจอธิปไตยของไทยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ. 2436 จนถึง พ.ศ. 2449 วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

    1.         ทำให้ไทยเสียดินแดนหลายครั้ง รวมทั้งเสียค่าปรับ ค่าทำขวัญแก่ฝรั่งเศส กล่าวกันว่าเงินที่จ่ายเป็นค่าปรับ ค่าทำขวัญแก่ฝรั่งเศสนั้น คือ เงินถุงแดง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้เพื่อไว้ใช้ยามฉุกเฉิน

    2.         ไทยยังคงรักษาเอกราชไว้ได้ และเป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่ไทยใช้นโยบายทางการทูตแบบผ่อนหนักเป็นเบา และยอมเสียส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ไว้

    3.         ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความจำเป็นยิ่งขึ้นที่จะต้องเสด็จประพาสประเทศในทวีปยุโรป เพื่อแสวงหาพันธมิตร ช่วยค้ำประกันเอกราชของไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสทวีปยุโรปครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2440 ซึ่งเป็นผลดีต่อไทยมาก เพราะพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ของรัสเซียได้สนับสนุนการรักษาเอกราชของไทยเป็นอย่างดี นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงศึกษาและทอดพระเนตรความเจริญของประเทศต่างๆ ซึ่งทรงนำมาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาประเทศไทย และยกเลิกธรรมเนียมที่ล้าสมัย

    4.              ไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

    สงครามโลกเกิดขึ้น 2 ครั้ง และไทยก็เกี่ยวข้องทั้ง 2 ครั้ง คือ ในสงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2457 – 2461) ไทยเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในระยะหลังๆ ของสงคราม โดยส่งทหารไปร่วมรบในทวีปยุโรป แต่ยังไม่ทันได้ร่วมรบ สงครามโลกครั้งที่ 1 ก็สงบลง ในสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482 – 2488) มีผลต่อไทยโดยตรงและไทยเกี่ยวข้องตั้งแต่ระยะแรกๆ ของสงครามแม้ว่าไทยจะไม่ใช่สมรภูมิที่สำคัญ แต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ด้านทวีปเอเชียก็มีผลต่อไทยมาก

    สงครามโลกครั้งที่ 2 ด้านทวีปเอเชียมีชื่อเรียกแตกต่างกันหลายชื่อ คือ สงครามแปซิฟิก เพราะเกิดในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก  สงครามมหาเอเชียบูรพา  เพราะญี่ปุ่นมีการตั้งวงไพบูลย์ร่วมมหาเอเชียบูรพา โดยมีการรณรงค์ตามคำขวัญว่า ทวีปเอเชียสำหรับชาวเอเชีย เพื่อขับไล่มหาอำนาจชาติตะวันตอกออกไปจากทวีปเอเชีย

    สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในทวีปยุโรปเมื่อ พ.ศ. 2482 โดยไทยประกาศตนเป็นกลาง แต่ทางด้านทวีปเอเชียสงครามเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2484 จากการที่ญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือของสหรัฐอเมริกาที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ (Pearl Harbour) เกาะฮาวายในมหาสมุทรแปซิฟิก ในวันที่ 7 ธันวาคม (ตามเวลาท้องถิ่นในฮาวาย) และในวันเดียวกันนั้น   (แต่เป็นวันที่ 8 ธันวาคม ตามเวลาท้องถิ่นในไทย) ญี่ปุ่นได้โจมตีดินแดนอีกหลายแห่ง เช่น ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ ไทย ด้วย

    ในกรณีของไทย ญี่ปุ่นส่งทหารเข้ามาโจมตีหลายที่ เช่น ที่บางปู (สมุทรปราการ) นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ซึ่งทหาร ตำรวจ และประชาชนได้สู้รบอย่างกล้าหาญ แต่ในวันนั้นเอง จอมพล ป.  พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้สั่งให้ยุติการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น โดยยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นยกผ่านไปโจมตีพม่าและมลายู (มาเลเซีย) ได้ 3 วันต่อมาญี่ปุ่นได้เสนอไทยทำสัญญาเป็นพันธมิตร ในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484 พร้อมประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ในวันที่ 25 มกราคม  พ.ศ. 2485 อังกฤษกับประเทศเครือจักรภพบางประเทศประกาศสงครามกับไทย แต่สหรัฐอเมริกาไม่ได้ประกาศสงครามตอบ

    การที่รัฐบาลไทยประกาศสงครามต่อฝ่ายสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศสำคัญของฝ่ายพันธมิตร ทำให้คนไทยบางส่วนทั้งในเมืองไทยและในต่างประเทศ ไม่เห็นด้วย จึงได้รวมกำลังจัดตั้งเป็นขบวนการเสรีไทย เพื่อต่อต้านญี่ปุ่น

    ขบวนการเสรีไทย มีทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ในประเทศไทย มีหัวหน้า คือ หลวงประดิษฐ-  มนูธรรม (ปรีดี  พนมยงค์) ในต่างประเทศมีทั้งในสหรัฐอเมริกาหัวหน้า  คือ ม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมช  เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี. ซี. ในอังกฤษมี ม.จ. สุภสวัสดิ์สนิท  สวัสดิวัฒน์  นายป๋วย  อึ้งภากรณ์  เป็นกำลังสำคัญ ผู้ที่รวมในขบวนการเสรีไทยมีทั้งข้าราชการ นักศึกษาในต่างประเทศจำนวนหนึ่ง

    สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในวันที่ 15 สิงหาคม  พ.ศ. 2488  โดยญี่ปุ่นประกาศยอมจำนน หลังจากสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูใส่ญี่ปุ่น 2 ลูก ที่เมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิ ในวันถัดมา คือ วันที่ 16 สิงหาคม  รัฐบาลไทยได้ “ประกาศสันติภาพ” ถือเป็นวันสิ้นสุดสงครามในประเทศไทย

    ประเทศไทยเผชิญกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณ 3 ปีครึ่ง ระหว่างนี้กรุงเทพฯ ถูกโจมตีทางอากาศจากฝ่ายพันธมิตรหลายครั้ง ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เช่น สะพานพระราม 6 โรงไฟฟ้าวัดเลียบ บ้านเรือนของราษฎร ผู้คนชาวกรุงเทพฯ บางส่วนต้องอพยพไปต่างจังหวัดเพื่อความปลอดภัย ภาวะสงครามยังทำให้เกิดความขาดแคลนเครื่องอุปโภค บริโภค เช่น ข้าว เสื้อผ้า ยารักษาโรค อย่างไรก็ดีความเสียหายที่ไทยได้รับถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถือว่ามีน้อยมาก

    สงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ดังนี้

    1.          การดำเนินนโยบายลู่ตามลม ทำให้ประเทศไทยและคนไทย สูญเสียในเรื่องชีวิตและทรัพย์สินน้อย นับเป็นการดำเนินงานทางการทูตที่สำคัญ

    2.         ขบวนการเสรีไทยได้รับการยกย่องว่า “เป็นขบวนการของคนไทยที่มีความรักชาติ” มุ่งกอบกู้อธิปไตยของชาติ ขบวนการเสรีไทยช่วยให้ประเทศไทยไม่ถูกกำหนดว่าเป็นฝ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2

    3.         ทำให้ประเทศไทยมีความผูกพันและดำเนินนโยบายเสรีนิยมคล้อยตามสหรัฐอเมริกา ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากการที่สหรัฐอเมริกาไม่ถือว่าไทยเป็นประเทศคู่สงคราม และสนับสนุนไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้การผูกมิตรไมตรีอย่างแน่นแฟ้นกันในหลายๆ ด้านกับสหรัฐอเมริกา ทำให้วัฒนธรรมอเมริกันหลั่งไหลเข้ามาสู่สังคมไทยและมีอิทธิพลต่อสังคมไทยอย่างยิ่ง

    เมืองไทยสมัยรัตนโกสินทร์ มีพัฒนาการทางด้านต่างๆ มากขึ้น โดยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นการฟื้นฟูประเทศให้เหมือนเมื่อครั้งบ้านเมืองดี  คือ ทำให้บ้านเมืองเหมือนสมัยอยุธยา ทั้งรูปแบบการปกครอง สังคม วัฒนธรรม ต่อมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4  มีการเจริญทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศอย่างกว้างขวาง และเมื่อจักรวรรดินิยมตะวันตกคุกคามก็เริ่มมีการปฏิรูปประเทศให้เป็นแบบสมัยใหม่ในหลายๆ ด้าน ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมืองไทยกลายเป็นพระเทศสมัยใหม่มีอาณาเขตที่ชัดเจนภายใต้การปกครองของส่วนกลาง มีความผูกพันร่วมกันทั้งทางภาษาและประวัติศาสตร์ และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ไทยสามารถรักษาเอกราชไว้ได้เพียงชาติเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พัฒนาการที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งของสมัยรัตนโกสินทร์ คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 จนกระทั่งปัจจุบัน อย่างไรก็ดีสถาบันกษัตริย์ก็ยังเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจของคนไทยเหมือนเช่นเดิม

    วรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นอย่างไร

    วรรณคดีในช่วงนี้ได้รับการผสมผสานระหว่างวรรณคดีรูปแบบเก่าและรูปแบบใหม่ มีการแต่งร้อยแก้วประเภทเรื่องสั้น นวนิยาย บทละครรำ บทละครร้อง และบทละครพูด โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ ๖ ถือเป็นช่วงที่วรรณคดีรุ่งเรืองที่สุด เพราะพระองค์ทรงอุปถัมภ์กวี และทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีเอาไว้มาก

    วรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ที่ได้รับความนิยมมากคืออะไร

    หนังสือเรื่องสามก๊กได้รับยกย่องให้เป็น ยอดแห่งวรรณกรรมประเภทร้อยแก้วของไทย

    พัฒนาการสมัยรัตนโกสินทร์เป็นอย่างไร

    กล่าวโดยสรุป พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นการฟื้นฟูประเทศให้เหมือนเมื่อครั้งบ้านเมืองดี คือ ทำให้บ้านเมืองเหมือนในสมัยอยุธยาทั้งรูปแบบการปกครอง สังคม ศิลปวัฒนธรรม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศอย่างกว้างขวาง และในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อถูกจักรวรรดินิยมตะวันตกคุกคาม ...

    พัฒนาการของวรรณคดีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์แบ่งออกเป็นกี่ระยะ

    ๔. วรรณคดีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แบ่งออกตามพัฒนาการของ วรรณกรรมได้ ๒ ระยะ คือ ๔.๑ วรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เริ่มตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๙๔ โดยเริ่ม ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธ ยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า เจ้าอยู่หัว