ประวัติผู้ว่ากทม คนปัจจุบัน

หลังจากที่ เอ้ – สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เปิดตัวลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่า กทม. ในฐานะตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้กระแสการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ยิ่งชัดเจนขึ้นว่าจะมีแน่ มาแน่ มาสิ มาเห๊อะรอมา 5 ปีแล้ว

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา หลายคนน่าจะลืมกันไปบ้างแล้วว่า เราเคยมีการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. กันเหมือนกันนะ เพราะคณะรัฐประหารปี 2557 เป็นผู้ประกาศปลด คุณชายหมู – ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และแต่งตั้ง พล.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ให้มารับตำแหน่งผู้ว่า กทม. ตั้งแต่ปี 2559 จนมาถึงปัจจุบัน

มั่นใจว่าหลายคนคงครั่นเนื้อครั่นตัวอยากเข้าคูหาเต็มที่ วันนี้ The MATTER จึงอยากชวนผู้อ่านวอร์มๆ ด้วยการเปิดข้อมูลผู้ว่า กทม. ในอดีต – ปัจจุบันทั้ง 16 คนว่า เป็นใคร มาจากไหนกันบ้าง เคยทำอาชีพอะไร พร้อมด้วยเกร็ดเล็กน้อยต่างๆ ว่าใครครอบครองตำแหน่งนานที่สุด ใครอายุน้อยที่สุด ตลอดจนผู้ว่า กทม. เรานี่มีการเลือกตั้งมากี่ครั้ง และแต่งตั้งมากี่ครั้งแล้ว

ประวัติผู้ว่ากทม คนปัจจุบัน

ย้อนอดีตที่มาผู้ว่า กทม. 

ลำดับแรกอยากชวนย้อนความหลังกันนิดนึง ตำแหน่งผู้ว่า กทม. นั้นเริ่มขึ้นในปี 2516 โดยในช่วงแรกผู้ที่เข้ามารับตำแหน่งผู้ว่า กทม. นั้นได้รับการแต่งตั้งมาทั้งหมด ก่อนที่ในปี 2518 จะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2518 กำหนดให้มีการเลือกตั้ง กทม. เกิดขึ้น และคนที่ได้รับเลือกตั้งคนแรกก็คือ ธรรมนูญ เทียนเงิน นักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์

แต่โอละหนอ ความระส่ำระส่ายทางการเมืองในบ้านเรา ทำให้ผู้ว่า กทม. ที่มาจากการเลือกตั้งคนแรกไม่สามารถอยู่ได้จนครบวาระ เพราะการรัฐประหารในปี 2519 ทำให้ธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีในขณนั้นปลดธรรมนูญออกจากตำแหน่ง และให้กลับมาใช้ระบบการแต่งตั้งอีกครั้ง ซึ่งครานี้ระบบการแต่งตั้งก็ทำหน้าที่เลือกผู้ว่า กทม. ให้คนกรุงเทพฯ ไปอีกถึง 4 คนด้วยกัน หรือคิดเป็นระยะเวลา 8 ปีที่ผู้ว่า กทม. สมัยนี้มาจากการแต่งตั้ง 

ต่อมาในปี 2528 พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ถึงได้กลายเป็นมาเป็นผู้ว่าที่มาจากการเลือกตั้งคนที่สองของกรุงเทพฯ และได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง 2 สมัย ทำให้เขาอยู่ในตำแหน่งตั้งแต่ 14 พ.ย. 2558 – 22 ม.ค. 2535 หรือคิดเป็นเวลากว่า 6 ปี

หลังจากนั้น การเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ก็ดูคล้ายเป็นธรรมเนียมที่คนกรุงเทพฯ คุ้นเคย เพราะเมื่อทุกครั้งที่ครบวาระ 4 ปี จะมีการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. อย่างสม่ำเสมอ ไล่เรียงภายหลัง พล.ต.จำลอง ก็ได้แก่ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา, พิจิตต รัตตกุล, สมัคร สุนทรเวช, อภิรักษ์ โกษะโยธิน และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ซึ่งได้รับชัยชนะในสนามเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ไปสองสมัยเช่นเดียวกับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง

แต่อย่างที่เรารู้กันว่า ตั้งแต่ปี 2557 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ามากุมบังเหียนการเมืองของประเทศ สิทธิ เสรีภาพ และความคิดของประชาชนก็ถูกกดทับอย่างรุนแรง จนในปี 2559 คสช. ได้ประกาศปลด มรว.สุขุมพันธุ์ และตั้ง พล.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ขึ้นมาเป็นผู้ว่า กทม. เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะว่าไปก็เป็นระยะเวลามากกว่า 5 ปีแล้ว หรือพูดง่ายๆ ครบกำหนดไปปีกว่าๆ แล้ว

ดังนั้น สรุปได้ว่าตั้งแต่กรุงเทพฯ มีผู้ว่า กทม. คนแรกในปี 2516 ผ่านมา 48 ปี ชาวกรุงเทพฯ มีผู้ว่าที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 9 ครั้ง และแต่งตั้ง 9 ครั้ง หรือเท่ากันพอดีเลย

ทำเนียบผู้ว่า กทม. 

ผู้ว่า กทม. ทั้ง 16 คน จากทั้งหมด 18 สมัย เป็นใคร มาจากไหนกันบ้าง อยากชวนมาดูกันด้านล่างนี้

  • ชำนาญ ยุวบูรณ์ 1 ม.ค. 2516 – 22 ต.ค. 2516 รวมระยะเวลา 294 วัน อดีตอธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่า กทม. จากการแต่งตั้ง ในตอนนั้นเขามีอายุ 59 ปี
  • อรรถ วิสูตรโยธาภิบาล 1 พ.ย. 2516 – 4 มิ.ย. 2517 รวมระยะเวลา 215 วัน อดีตอธิบดีกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่า กทม. จากการแต่งตั้ง ในตอนนั้นเขามีอายุ 58 ปี
  • ศิริ สันติบุตร 5 มิ.ย 2517 – 13 มี.ค 2518 รวมระยะเวลา 281 วัน เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่า กทม. จากการแต่งตั้ง
  • สาย หุตะเจริญ 29 พ.ค. 2518 – 9 ส.ค. 2518 รวมระยะเวลา 281 วัน อดีตข้าราชการกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่า กทม. จากการแต่งตั้ง
  • ธรรมนูญ เทียนเงิน 10 ส.ค. 2518 – 29 เม.ย. 2520 รวมระยะเวลา 1 ปี 262 วัน อดีต ส.ส.ชลบุรี และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่า กทม. จากการเลือกตั้งเป็นคนแรก ในตอนนั้นเขามีอายุ 62 ปี
  • ชลอ ธรรมศิริ 29 เม.ย. 2520 – 14 พ.ค. 2522 รวมระยะเวลา 2 ปี 15 วัน อดีตอธิการบดีโรงเรียนนายอำเภอ, อธิการบดีวิทยาลัยการปกครอง, ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และอีกหลายตำแหน่ง เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่า กทม. จากการแต่งตั้งอีกครั้ง ในตอนนั้นเขามีอายุ 50 ปี
  • เชาวน์วัศ สุดลาภา 4 ก.ค. 2522 – 16 เม.ย. 2524 รวมระยะเวลา 1 ปี 286 วัน อดีตนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดหลายแห่ง รวมถึงเป็นผู้ว่า กทม. คนแรกที่ควบตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่า กทม. จากการแต่งตั้ง ในตอนนั้นเขามีอายุ 46 ปี
  • พล.ร.อ.เทียม มกรานนท์ 28 เม.ย. 2524 – 1 พ.ย. 2527 รวมระยะเวลา 3 ปี 187 วัน อดีตข้าราชการทหารเรือ เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่า กทม. จากการแต่งตั้ง
  • อาษา เมฆสวรรค์ 6 พ.ย. 2527 – 13 พ.ย. 2528 รวมระยะเวลา 1 ปี 7 วัน เริ่มชีวิตราชการด้วยตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนย้ายมาเป็นนักปกครอง สังกัดกระทรวงมหาดไทย เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่า กทม. จากการแต่งตั้ง ในตอนนั้นเขามีอายุ 60 ปี
  • พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ได้รับเลือกตั้งเป็นผุ้ว่า กทม. สองสมัย โดยรวมระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 6 ปี 15 วัน เขาเป็นคนแรกนับจากการเว้นวรรคการเลือกตั้งมาเป็นเวลากว่า 8 ปี เขาเป็นอดีตนายทหารกลุ่มยังเติร์ก ที่ผันตัวมาทำงานการเมืองอย่างเต็มตัว
    • ดำรงตำแหน่งสมัยแรก 14 พ.ย. 2528 – 14 พ.ย. 2532 ในครั้งนี้เขาลงสมัครในฐานะตัวแทนกลุ่มรวมพลัง ตอนนั้นเขามีอายุ 50 ปี
    • ดำรงตำแหน่งสมัยที่สอง 7 ม.ค. 2533 – 22 ม.ค. 2535 ในครั้งนี้เขาลงสมัครในฐานะตัวแทนพรรคพลังธรรม ตอนนั้นเขามีอายุ 55 ปี
  • ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา 19 เม.ย. 2535 – 18 เม.ย. 2539 รวมระยะเวลา 4 ปีพอดี เริ่มชีวิตราชการด้วยตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนย้ายมาเป็นนักปกครอง สังกัดกระทรวงมหาดไทย เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่า กทม. จากการเลือกตั้ง ในตอนนั้นเขามีอายุ 60 ปี
  • พิจิตต รัตตกุล 3 มิ.ย. 2539 – 22 ก.ค. 2543 รวมระยะเวลา 4 ปี 49 วัน พิจิตตเป็นลูกชายของ พิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นนักการเมืองสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ โดยเขาเคยลงสมัครผู้ว่า กทม. ในนามพรรคประชาธิปัตย์มาแล้วในปี 2535 แต่พ่ายแพ้ให้แก่ ร.อ.กฤษฎา ทำให้ในปี 2539 เขาตัดสินใจลงสมัครในฐานะตัวแทนจากกลุ่มมดงาน ซึ่งภายหลังกลายมาเป็นพรรคถิ่นไทย เขาเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่า กทม. จากการเลือกตั้ง ในตอนนั้นเขามีอายุ 50 ปี ทั้งนี้ หลังจากสิ้นวาระการดำรงตำแหน่งเขายังลงสมัครผู้ว่า กทม. อีกครั้งในปี 2547 แต่ไม่ได้รับเลือก และลงสมัครตำแหน่ง ส.ว.กรุงเทพฯ ในปี 2550 แต่ไม่ได้รับเลือกเช่นกัน
  • สมัคร สุนทรเวช 23 ก.ค. 2543 – 28 ส.ค. 2547 รวมระยะเวลา 4 ปี 36 วัน ก่อนจะมาเป็นนักการเมืองเต็มตัว สมัครเคยทำงานเกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าในบริษัทเอกชนมาก่อน และเมื่อมาเป็นนักการเมืองแล้วเขาเคยอยู่ทั้งพรรคประชาธิปัตย์, พรรคประชากรไทย ก่อนจะลงสมัครผู้ว่า กทม. ในฐานะตัวแทนพรรคประชากรไทยและได้รับเลือกตั้ง ในตอนนั้นเขามีอายุ 65 ปี
  • อภิรักษ์ โกษะโยธิน 29 ส.ค. 2547 – 19 พ.ย. 2551 รวมระยะเวลา 4 ปี 45 วัน อภิรักษ์เป็นนักธุรกิจมาก่อน ก่อนผันตัวมาลงสมัครผู้ว่า กทม. ในฐานะตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกตั้ง ในตอนนั้นเขามีอายุ 43 ปี ซึ่งนับว่าเป็นผู้ว่า กทม. ที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ อภิรักษ์เคยถูก คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) กล่าวหากรณีซื้อรถและเรือดับเพลิง ทำให้เขาหยุดปฏิบัติหน้าที่ระยะเวลาหนึ่ง ก่อนแถลงลาออกเมื่อ ปปช. มีมติชี้มูลว่าอภิรักษ์มีความผิดจริง อย่างไรก็ตาม ในปี 2556 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ยกฟ้องอภิรักษ์ในกรณีดังกล่าว
  • ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตต์ ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่า กทม. สองสมัยเช่นเดียวกับ พล.ต.จำลอง รวมระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 6 ปี 202 วัน โดยเขาเคยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคนำไทย ก่อนลาออกมาเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์
    • ดำรงตำแหน่งสมัยแรก 11 ม.ค. 2552 – 9 ม.ค. 2556 ในครั้งนี้เขาลงสมัครในฐานะตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ ตอนนั้นเขามีอายุ 56 ปี ทั้งนี้ ในวาระดำรงตำแหน่งผู้ว่า กทม. สมัยแรกเขาได้รับการตั้งฉายาว่า “หม่อมเอ๋อ” จากการบริหารงานที่ล่าช้าและไม่โปร่งใส
    • ดำรงตำแหน่งสมัยที่สอง 29 มี.ค. 2556 – 18 ต.ค. 2559 ในครั้งนี้เขาลงสมัครในฐานะตัวแทนพรรคพลังธรรม ตอนนั้นเขามีอายุ 60 ปี ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งสมัยที่สองเป็นช่วงเดียวกับที่สถานการณ์การเมืองไทยกำลังขัดแย้งรุนแรง ทำให้มีการใช้วาทกรรม เช่น “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” จนทำให้ มรว.สุขุมพันธุ์ ได้รับเลือกอีกครั้ง ถึงแม้จะถูกวิจารณ์การทำงานตลอดมาในคราทำงานสมัยแรก
  • พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง 18 ต.ค. 2559 – ปัจจุบัน หรือนับเป็นระยะเวลา 5 ปี 59 วันแล้ว (ถึงวันที่ 16 ธ.ค. 2564) “บิ๊กวิน” เป็นอดีตนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่เคยเป็นทั้งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล, ผช.ผบ.ตร. และรอง ผบ.ตร. ก่อนเขาจะผันตัวมาเป็นรองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร และได้รับเลือกจาก คสช. หรือผู้ทำรัฐประหารปี 2557 เจ้าของวาทกรรม “ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา” ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่า กทม. มาถึงปัจจุบัน โดยขณะนั้นเขามีอายุ 65 ปี และนับเป็นผู้ว่าที่มาจากการเแต่งตั้งในรอบกว่า 20 ปี

เกร็ดน่ารู้ผู้ว่า กทม. 

โดยจากข้อมูลที่ยกมาข้างต้นทั้งหมด ถ้าเราลองประมวลออกมาจะพบว่า

  • ผู้ว่า กทม. ที่ผ่านมาทุกคนมีเพศสภาพเป็นผู้ชายทั้ง 100%
  • ได้รับการแต่งตั้งมาทั้งหมด 9 ครั้ง เท่ากับการเลือกตั้ง 9 ครั้ง
  • โดยพรรคที่ครองหัวใจคน กทม. มากที่สุดคือ ประชาธิปัตย์ซึ่งเอาชนะการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ไปได้ทั้งหมด 4 ครั้ง ตามมาด้วย พรรคพลังธรรม 2 ครั้ง พรรคประชากรไทย 1 ครั้ง และอื่นๆ อาทิ ผู้สมัครอิสระ หรือจากกลุ่มการเมืองที่ไม่ใช่พรรค 2 ครั้ง
  • ถ้าเราลองแยกตามอาชีพจะพบว่า
    • อาชีพข้าราชการกลายมาเป็นผู้ว่า กทม. มากที่สุดถึง 7 คน คิดเป็น 43.75% (ชำนาญ, อรรถ, ศิริ, สาย, ชลอ, อาษา และเชาวน์วัซ)
    • ตามมาด้วยนักการเมือง 5 คน คิดเป็น 31.25% (ธรรมนูญ, สมัคร, อภิรักษ์, ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และพิจิตต)
    • อดีตข้าราชการทหาร 2 คน คิดเป็น 12.5% (พล.ร.อ.เทียม และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง)
    • อดีตข้าราชการตำรวจ 1 คน คิดเป็น 6.25% (พล.ต.อ.อัศวิน)
    • และนักวิชาการ 1 คน คิดเป็น 6.25% (ร.อ.กฤษฎา)
  • สำหรับเรื่องของอายุ ตรงนี้ The MATTER ต้องขออภัยที่ไม่สามารถหาข้อมูลของ พล.ร.อ.เทียม, ศิริ และ สายได้ จึงไม่ขอนำทั้งสามคนมาประกอบการคิดคำนวณ เราพบว่า
    • อายุเฉลี่ยตอนรับตำแหน่งของผู้ว่า กทม. อยู่ที่ 55.93 ปี
    • อายุน้อยที่สุดคือ อภิรักษ์ โกษะโยธิน 43 ปี จากพรรคประชาธิปัตย์
    • อายุมากที่สุดคือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง 65 ปี จากการแต่งตั้งของ คสช.
  • สำหรับผู้ที่ครองตำแหน่งนานผู้ว่า กทม. นานที่สุด ได้แก่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ระยะเวลา 2 สมัย รวม 6 ปี 202 วัน

เชื่อว่าชาว กทม. หลายคนคงตื่นเต้นที่รู้ว่าผู้ว่า กทม. กำลังจะกลับมาเลือกตั้งอีกครั้งหลัง พล.อ.อัศวินถูกแต่งตั้งมาแบบงงๆ กว่า 5 ปีแล้ว ซึ่งรายชื่อผู้สมัครที่ลงแข่งในครั้งนี้ เท่าที่เปิดตัวแล้วก็มีทั้ง พี่เอ้, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระและเจ้าของฉายา “รัฐมนตรีที่แกร่งที่สุดในปฐพี” และรสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. และนักเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิผู้บริโภค และเชื่อว่าเมื่อเริ่มต้นปี 2565 จะมีผู้สมัครอีกหลายคนที่ทยอยเปิดตัวเพิ่มมากขึ้น และน่าจะทำให้สนามเลือกตั้ง กทม. ที่ร้างไปนานกว่า 5 ปีครึกครื้นขึ้นอีกเยอะ

แต่ที่สุดแล้วยังต้องแล้วแต่ท่านนายกฯ ว่าจะเคาะวันเลือกตั้งผู้ว่า กทม. เมื่อไหร่ เพราะกระแสข่าวล่าสุดมาว่าจะเป็นช่วงกลางปี 2565 แต่จะเลื่อนออกมาเร็วขึ้นหรือไกลกว่าเดิมก็เป็นไปได้ทั้งนั้น เพราะอย่างที่รู้ๆ กันว่านายกฯ เราเป็นคนแม่นเรื่องเวลา บอกขอเวลาอีกไม่นาน ตอนนี้ก็ล่วงไป 7 ปีแล้ว

Illustrator By Sutanya Phattanasitubon

You might also like

Share this article