เป้าหมายของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาเป็นเป้าหมายของการก่อตั้งสมาคมอาเซียน ความร่วมมือดังกล่าวดูจะเป็นวัตถุประสงค์หลักของปฏิญญากรุงเทพ เมื่อปี 2510 เสียด้วยซ้ำไป ดังนั้น นับตั้งแต่การก่อตั้งสมาคมอาเซียน ประเทศสมาชิกต่าง ๆ จึงใช้ความพยายามเรื่อยมา ในการผลักดันให้สมาคมอาเซียนบรรลุถึงเป้าประสงค์ดั้งเดิมของตนในเรื่องนี้

กำเนิดเขตการค้าเสีรีอาเซียน

ในช่วงต้น ๆ ของอาเซียนนั้น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาก้าวหน้าไปด้วยความยากลำบากและเชื่องช้า เหตุผลสำคัญประการหนึ่งคือ ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาค ในยุคทศวรรษที่ 1970 ถึง 1990 (2513-2533) ซึ่งมีความรุนแรงและเป็นอุปสรรคเป็นอย่างมากต่อการอุทิศทรัพยากร งบประมาณ และเวลาของอาเซียนเพื่อการดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ในปี 2512 หรือเพียง 2 ปี ภายหลังการก่อตั้งอาเซียนที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอาเซียนได้ขอให้สหประชาชาติจัดทำรายงาน เสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งรายงานดังกล่าว ภายใต้การนำของ ศาสตราจารย์ G. Kansu แห่งตุรกี และศาสตราจารย์ EAG Robinson แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University) ได้เสร็จสิ้นในปี 2515 และต่อมาได้กลายมาเป็นพื้นฐาน สำหรับต้นแบบความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียน ดังปรากฏในเอกสารปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือในอาเซียน ปี 2519 (1976 Declaration of ASEAN Concord) อันเป็นผลจากการประชุมสุดยอดครั้งที่ 1 ของอาเซียน ที่บาหลี ในเดือนกุมภาพันธ์ 2519

รายงานของศาสตราจารย์ G. Kansu และศาสตราจารย์ EAG Robinson ได้เสนอแนะให้ประเทศสมาชิกอาเซียน เริ่มการร่วมมือกันในระบบการค้าเสรี (trade liberalization) ด้วยการเจรจาลดหย่อนอัตราศุลกากรระหว่างกัน ในสินค้าประเภทต่างๆ ตามที่จะตกลงกัน รวมทั้งให้มีความร่วมมือในโครงการอุตสาหกรรมในลักษณะที่เกื้อหนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกและให้มีความร่วมมือด้านการเงินระหว่างกัน ซึ่งต่อมาที่ประชุมสุดยอดครั้งที่ 1 ของอาเซียน ได้ขยายความข้อเสนอแนะดังกล่าวนี้ เป็นการส่งเสริมความร่วมมือในด้านสินค้าเกษตร อาหาร และพลังงาน ความร่วมมือทางอุตสาหกรรม ความร่วมมือด้านการค้า และการจัดทำความตกลงพิเศษทางการค้า (Preferential Trading Arrangements – PTAs) โดยเฉพาะในด้านสินค้าโภคภัณฑ์ขั้นพื้นฐาน และพลังงาน และที่สำคัญคือ ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน ได้ตกลงใจให้มีการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นการประชุมเป็นประจำทุกปี

ผลจากการประชุมสุดยอดสมาคมอาเซียน ครั้งที่ 1 นี้ ทำให้เกิดกลไกความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาคขึ้น 5 กลไกหลัก ในปีต่อมา คือ ความตกลงว่าด้วยสิทธิพิเศษทางการค้าอาเซียน (ASEAN Preferential Trading Agreement – APTA) ปี 2520 โครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (ASEAN Industrial Projects – AIPs) ปี 2523 โครงการแบ่งผลิตทางอุตสาหกรรมอาเซียน (ASEAN Industrial Complementation – AIC) ปี 2524 โครงการร่วมลงทุนด้านอุตสาหกรรมของอาเซียน (ASEAN Industrial Joint Ventures – AIJVs) ในปี 2526 และโครงการแบ่งการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ (Brand-to-Brand Complementation – BBC) ในปี 2532 ซึ่งกลไกทั้ง 5 นี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ด้วยขาดความตั้งใจจริงจากประเทศสมาชิก เนื่องจากแต่ละประเทศสมาชิกมองว่า ประโยชน์ที่ตนได้รับนั้น ค่อนข้างจำกัด

อย่างไรก็ดี ทั้ง 5 กลไก ล้วนมีความสำคัญในการให้บทเรียน และประสบการณ์แก่ประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน โดยเฉพาะในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความตกลงว่าด้วยสิทธิพิเศษทางการค้าอาเซียน (ASEAN Preferential Trading Agreement – APTA) นั้น นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญของประเทศสมาชิกอาเซียน ในการนำไปสู่การเจรจาลดหย่อนศุลกากรนำเข้า ระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งปรากฏผลในรูปของ เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area – AFTA) และการเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างสมาคมอาเซียน กับประเทศ และกลุ่มประเทศต่าง ๆ ในเวลาต่อมา

สิ่งที่ประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียนเรียนรู้จากความผิดพลาดของ APTA ในขณะนั้น คือ การลดอัตราศุลกากรนั้น เป็นการลดตามรายการสินค้า (list of products) แทนที่จะเป็นการลดอัตราศุลกากร สำหรับสินค้าประเภทเดียวกัน (types of products) ทุกรายการ ทำให้สินค้าหลายประเภทไม่ได้รับประโยชน์จากการลดอัตราศุลกากร นอกจากนี้ การลดอัตราศุลกากรให้กับสินค้าส่วนใหญ่ เป็นการลดระหว่างกันเพียงร้อยละ 10 ซึ่งถือว่าน้อยมาก แทนที่จะเป็นร้อยละ 30-50 ตามที่ประเทศต่าง ๆ ต้องการ และที่สำคัญคือ แต่ละประเทศละเลยที่จะขจัดมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (non-tariff barriers) ซี่งแสดงให้เห็นถึงความไม่จริงจังที่จะเปิดตลาดให้กัน และร่วมมือระหว่างกันอย่างจริงจัง

ความร่วมมืออย่างเชื่องช้านี้ ดำเนินมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจภายในหลายประเทศในภูมิภาค ในช่วงทศวรรษที่ 1980 เมื่อฟิลิปปินส์มีปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ ระหว่างปี 2527-2530 มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำอย่างรุนแรง ในราวปี 2528-2529 ซึ่งพลอยกระทบประเทศอื่นๆ ภายในภูมิภาคไปด้วย จนทำให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าภายในกรอบของสมาคมอาเซียน ต้องหยุดชะงักลงเป็นการชั่วคราว

สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมของอาเซียน

ย้อนกลับไปในช่วงต้นนั้น คู่ขนานไปกับการจัดทำรายงานของศาสตราจารย์ G. Kansu และศาสตราจารย์ EAG Robinson คือการจัดตั้ง สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมของอาเซียน ASEAN Chamber of Commerce and Industry – ASEAN-CCI) ในปี 2515 โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่างหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมในประเทศสมาชิก ทั้ง 5 ประเทศของสมาคมอาเซียน ในขณะนั้น เพื่อร่วมให้การสนับสนุนวัตถุของอาเซียนในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกัน จนนำไปสู่การเป็นประชาคมทางเศรษฐกิจและการค้าในที่สุด

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน กลับฟื้นคืนชีพ อีกครั้งหนึ่ง ในปี 2535 เมื่อ ผู้นำรัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียน ได้ประกาศจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area – AFTA) เพื่อส่งความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน และให้เกิดการค้าเสรี (free trade) ภายในภูมิภาค อย่างแท้จริง เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาคในที่สุด

ความสำคัญของ AFTA นั้น มีด้วยกันหลายประการ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ เป็นครั้งแรกที่เน้นถึงความสำคัญของความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาค โดยมีตารางเวลาที่ชัดเจน ในการดำเนินงานตามแผนความร่วมมือ และการใช้แนวความคิด จำกัดประเภทของสินค้าที่ยังไม่ต้องการเปิดเสรี (negative list) ในการกำหนดสินค้าที่เข้าร่วมในแผนงาน กล่าวคือ ประเทศสมาชิกอาเซียน มีมติร่วมกันว่า สินค้าประเภทใดก็ตาม ที่ไม่อยู่ใน negative list ให้ถือว่า สินค้าประเภทนั้น ๆ ในทุกประเทศสมาชิก อยู่ในข่ายที่จะต้องลดหย่อนอัตราศุลกากร ตามตารางเวลาที่แผนงานของ AFTA กำหนด

การตัดสินใจอย่างมุ่งมั่นในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน ในครั้งนี้ ปัจจัยภายนอกมีอิทธิพลอย่างมาก อย่างน้อยที่สุดก็ในแง่ของการผลักดันให้ AFTA เป็นจริงอย่างรวดเร็ว อย่างที่ทราบกัน ในเดือนพฤศจิกายน 2532 กำแพงเบอร์ลิน ถูกโค่นลง และในเดือนเดียวกัน ปีเดียวกัน ประเทศต่าง ๆ รวม 12 ประเทศ ริมมหาสมุทรแปซิฟิก ในขณะนั้น ได้ประกาศจัดตั้ง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation – APEC) ขึ้น เพื่อส่งเสริมความความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกัน และเพื่อทดแทนการเจรจารอบอุรุกวัย (Uruguay Round) ขององค์การ การค้าโลก (World Trade Organization – WTO) ซึ่งก้าวหน้าไปอย่างเชื่องช้า แม้ว่าจะเริ่มต้นการเจรจามาตั้งแต่ปี 2538 ก็ตาม นอกจากนั้น ในปี 2534 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญา Maastricht ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งเงินสกุลยูโร ในอีกสองปีต่อมา และในปี 2535 สหภาพโซเวียตล่มสลาย ซึ่งทำให้ประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันนออก หรือประเทศต่างๆ ที่เคยอยู่ในอาณัติของอดีตสหภาพโซเวียต ทั้งหมด กลายเป็นประเทศในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมในทันที และในปี 2535 เช่นเดียวกัน บังเอิญเป็นปีที่ สหรัฐฯ และแคนาดา รวมทั้งเม็กซิโก ตกลงร่วมกันที่จะขยายอาณาเขตของความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North American Free Trade Agreement – NAFTA) ให้ครอบคลุมถึงประเทศเม็กซิโกด้วย จนมีผลทำให้ในขณะนั้น ประเทศสมาชิก NAFTA มีมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ร่วมกัน เป็นอันดับหนึ่งของโลก ที่ประมาณ 20 ล้าน ล้าน เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 700 ล้าน ล้านบาท  

ไม่นานนักหลังจากการจัดตั้ง AFTA อาเซียนก็เปิดรับสมาชิกเพิ่มเติมภายในภูมิภาค จากเดิมเพียง 6 ประเทศในขณะนั้น คือ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย อาเซียนได้เปิดรับเวียดนาม ในปี 2538 ลาวและเมียนมาร์ ในปี 2540 และกัมพูชา ในปี 2542 ในเวลาเดียวกัน ประเทศสมาชิกอาเซียน ก็ได้พยายามเร่งรัดการมีผลบังคับใช้ของ AFTA อย่างต่อเนื่อง อาทิ การเร่งรัดให้ ทุกประเทศนำสินค้าอย่างน้อยร้อยละ 85 มารวมไว้ในบัญชีลดภาษี (Inclusion List) ภายในปี 2543 และร้อยละ 90 ภายในปี 2544 และลดอัตราภาษีศุลกากรพิเศษที่เท่ากันภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (Common Effective Preferential Tariff – CEPT)  ระหว่างกันให้เหลือเพียง ร้อยละ 0 ถึง 5 ภายในปี 2551 จนในที่สุด สามารถลดอัตราภาษีศุลกากรระหว่างกัน สำหรับสินค้าทุกประเภทให้ได้ภายในปี 2553 โดยเริ่มจากประเทศสมาชิก เริ่มแรกของ AFTA ทั้ง 6 ประเทศก่อน และผ่อนกันไปสำหรับประเทศสมาชิกใหม่

ผลที่เกิดขึ้นจาก AFTA ก็คือ การค้าระหว่างประเทศของประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้ จากการรวบรวมสถิติโดยสำนักเลขาธิการอาเซียน พบว่าการค้าระหว่างประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน เติบโตโดยเฉลี่ยปีละ ร้อยละ 10.5 ระหว่างสิบปีแรก (2536-2556) ของการสถาปนา AFTA โดยมูลค่าการค้า ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว เพิ่มขึ้น 7 เท่า จาก 82,000 ล้าน เหรียญสหรัฐ (2.87 ล้าน ล้านบาท) เป็น 609,000 ล้าน เหรียญสหรัฐ (21.32 ล้าน ล้านบาท) และขณะเดียวกัน อัตราส่วนของการค้าระหว่างประเทศสมาชิก ในมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ก็เพิ่มจากร้อยละ 17 ในปี 2536 เป็นร้อยละ 25 ในปี 2556

นอกเหนือจากการค้าภายในภูมิภาคแล้ว ประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียนตระหนักดีว่า ตัวแปรสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของพวกตนก็คือ การลงทุนจากต่างประเทศ หรือจากภายนอกภูมิภาค (Foreign Direct Investment – FDI) ด้วยเหตุนี้ ในปี 2530 ประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน จึงได้ร่วมลงนามใน ความตกลงรับประกันการลงทุนในอาเซียน (ASEAN Investment Guarantee Agreement – IGA) และต่อมาในปี 2541 ได้ร่วมลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยเขตการลงทุนอาเซียน (Framework Agreement on the ASEAN Investment Area – AIA) ซึ่งต่อมา AIA ได้พัฒนาไปสู่ ความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Investment Agreement – ACIA) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี 2555

ความฝันของประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน ในการเป็น “หนึ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรือ One Southeast Asia ต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชีย โดยเริ่มจากประเทศไทย ในกลางปี 2540 และอีกครั้งหนึ่งในช่วงปี 2551-2552 เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก อันมีสาเหตุจากสภาวะหนี้เสียในสหรัฐฯ โดยเฉพาะในวิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย ในปี 2540 นั้น สมาคมอาเซียนถูกมองว่า เป็นสถาบันที่อ่อนแอ ไร้ประสิทธิภาพ และไม่สามารถต้านทานวิกฤติการณ์ใดๆ ได้

ด้วยเหตุนี้ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 6 ที่กรุงฮานอย ในปี 2541 ประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียนจึงได้ตัดสินใจ ที่จะร่นระยะเวลาการดำเนินงานของ AFTA เพื่อให้ AFTA มีผลบังคับใช้ อย่างเต็มรูปแบบเร็วชึ้น และในเวลาเดียวกัน ได้ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุม จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ หรือที่ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันดีในนาม อาเซียนบวกสาม (ASEAN + 3) ซึ่งต่อมาในปี 2552 ความร่วมมือ อาเซียนบวกสาม ก็ได้ขยายวงไปสู่ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ กลายเป็นอาเซียนบวกหก (ASEAN+6) ตามแนวความคิด ความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างสมบูรณ์แบบในเอเชียตะวันออก (Comprehensive Economic Partnership for East Asia – CEPEA) ซึ่งญี่ปุ่นพยายามผลักดัน

นอกจากนี้ วิกฤติทางเศรษฐกิจ ในช่วงเวลาดังกล่าว ยังทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียน ตระหนักว่า การที่ภูมิภาคจะสามารถรอดพ้นจากวิกฤติทางเศรษฐกิจในอนาคตได้นั้น จำเป็นที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค จะต้องประสานงานกันในด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคและนโยบายการเงินการคลัง ในระดับหนึ่ง ทำให้บทบาทของกระทรวงการคลังของประเทศสมาชิก เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่ช่วงเวลานั้น เป็นต้นมา

สิ่งสำคัญที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ASEAN+3 ริเริ่มขึ้นมา มี 3 ประการหลักด้วยกัน คือ

(1) การสร้างเวทีสำหรับการประชุมหารือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น และทบทวนนโยบายเศรษฐศาสตร์มหภาค และนโยบายทางเงินการคลัง ระหว่างกัน (Economic Review and Policy Dialogue – ASEAN+3 ERPD)

(2) การจัดตั้งกองทุนสำรองเงินตราร่วมกันภายในกลุ่ม ASEAN+3 (Chiangmai Initiative – CMI)

(3) การพัฒนาตลาดตราสารหนี้สกุลเงินเอเชีย (Asia Bond Market Initiative – ABMI) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง CMI นั้น ได้รวมข้อตกลงการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน (ASEAN Swap Arrangement – ASA)  และข้อตกลงแลกเปลี่ยนเงินตราสองฝ่าย (bilateral swap arrangements – BSA) เอาไว้ด้วย ซึ่งเมื่อถึงปี 2552 ที่ประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน ได้ตกลงร่วมกัน ที่จะให้ CMI เปิดรับประเทศจากภายนอกภูมิภาค หรือที่เรียกว่า CMI Multilateralization – CMIM ทำให้ญี่ปุ่น จีน (และฮ่องกง) เกาหลี และประเทศสมาชิกอาเซียน ร่วมกันส่งเงินเข้าร่วมในกองทุน จนในที่สุดทำให้ กองทุนสำรอง CMI มีเงินมากถึง 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2555 ที่ประชุมรัฐมนตรีกระทรวงการคลังสมาคมอาเซียน ได้ตกลงร่วมกันที่จะเพิ่มจำนวนเงินนกองทุนเป็นสองเท่า จนในที่สุด กองทุนสำรอง CMI มีเงินทั้งสิ้น 240,000 ล้าน เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.68 ล้าน ล้านบาท ซึ่งการบริหารจัดการกองทุนดังกล่าว จะมีสำนักงานการวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียน + 3 หรือ ASEAN+3 Macroeconomic Research Office (AMRO) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระภายใต้สมาคมอาเซียน และปัจจุบันมีสถานะเทียบเท่าองค์การระหว่างประเทศ คอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด

สู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

พัฒนาการของความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน และประเทศต่างๆ ในเอเชีย ทำให้ในปี 2546 ที่ประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 9 ที่เมืองบาหลี ประกาศเจตนาที่จะจัดตั้ง ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC) โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้เกิดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ อย่างกลมกลืน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (regional economic integration) ภายในปี 2558 (จากเดิมปี 2563) โดยคำประกาศนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ปฏิญญาบาหลี ฉบับที่ 2 (Bali Accord II) ซึ่งประกาศจัดตั้ง ประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) และประชาคม สังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community) ขึ้นมาพร้อมๆ กัน

ต่อมาในปี2550 ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 13 ที่สิงคโปร์ได้ให้การรับรองต่อเอกสารต้นแบบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ ASEAN Economic Community (AEC) Blueprint ซึ่งก็คือแผนแม่บทที่กำหนดเส้นทางของอาเซียน สู่การเป็นประชาคมทางเศรษฐกิจอย่างสมบูรณ์ในปี 2558

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นั้น มีเสาหลัก 4 ด้าน ด้วยกันคือ

(1) การมีแหล่งการผลิต และตลาดเดียวกัน

(2) การเป็นภูมิภาคทางเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง

(3) การเป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมกัน

(4) การเป็นภูมิภาคที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลกโดยสมบูรณ์ ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน สามารถเติบโตได้อย่างยั้งยืน

ซึ่งปัจจุบัน ความร่วมมือเหล่านี้ได้ก้าวไปสู่ขั้นที่สูงขึ้น เมื่อการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 27 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ในปี 2558 ได้ให้การรับรองแผนแม่บทประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2568 (ASEAN Economic Community Blueprint 2025) ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของเอกสารวิสัยทัศน์ “อาเซียน 2568: ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน” (ASEAN 2025: Forging Ahead Together) โดยแผนแม่บทประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2568  จะเป็นแผนที่มีพื้นฐานจาก แผนแม่บทประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2558 และมีคุณสมบัติที่สำคัญทั้งสิ้น 5 ประการด้วยกัน คือ

1. การเป็นภูมิภาคที่มีระบบเศรษฐกิจที่ประสานกัน และมีความเป็นปึกแผ่น เป็นอย่างสูง (A Highly Integrated and Cohesive Economy)

2. เป็นภูมิภาคอาเซียนที่ มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง มีนวัตกรรมใหม่ตลอดเวลา และมีความเป็นพลวัตร (A Competitive, Innovative and Dynamic ASEAN)

3. มีการเชื่อมโยงที่ใกล้ชิดมากขึ้น และมีความร่วมมือกันในทุกภาคส่วน (Enhanced Connectivity and Sectorial Cooperation)

4. เป็นอาเซียนที่มีความมุมานะ รวมทุกกลุ่มภายในสังคม มุ่งให้ความสำคัญกับคน และยึดถือมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (A Resilient, Inclusive, People-Oriented, and People-Centred ASEAN)

5. เป็นอาเซียนที่ดำเนินงานและมีความสำคัญระดับโลก (A Global ASEAN)

เป้าหมายหลักของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนคืออะไร

AEC หรือ ASEAN Economic Community ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นเป้าหมายการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับ คู่ค้า และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจระดับโลก รวมถึงมีการยกเว้นภาษีสินค้าบางชนิดให้กับประเทศสมาชิก ส่งเสริมให้ภูมิภาคมีความเจริญมั่งคั่ง มั่นคง ประชาชนอยู่ดีกินดี

การก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีเป้าหมายกี่ด้านอะไรบ้าง

เป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน (Single Market and Production Base) ... .
สร้างขีดความสามามารถทางเศรษฐกิจ (High Competitive Economic Region) ... .
สร้างความเท่าเทียมในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Equitable Economic Development) ... .
การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก (Fully Integrated into Global Economy).

ข้อใดคือเป้าหมายของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนที่สำคัญที่สุด

3. ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community หรือASCC) มีเป้าหมายให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง สังคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน ประชากรอาเซียนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีและมีการพัฒนาในทุกด้านเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมอัต ...

ประโยชน์ของการจัดตั้งประชาคมอาเซียนคืออะไร

1. ป้องกันความขัดแย้งและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อช่วยส่งเสริมสันติภาพในภูมิภาค 2. ช่วยให้มีการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน รวมทั้งมีกลไกในการควบคุมการทำงานของภาครัฐให้มีความโปร่งใสยิ่งขึ้น 3 . ช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและร่วมแก้ไขปัญหาต่าง ๆ มากขึ้น