หลักธรรมความไม่ประมาท 4 ประการ

บทความเกี่ยวกับ ความประมาท 5 ประการนี้ ตัดตอนมาจากบทความ “มรณานุสติภาวนา” เขียนโดย ท่าน ว.วชิรเมธี 

ท่านว.วชิรเมธี กล่าวว่า

พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราหมั่นระลึกถึงความตาย ไม่ใช่เพื่อจะให้กลัวตายแต่เพื่อที่จะให้เรารู้จักที่จะดำรงชีวิตอยู่ในปัจจุบันขณะอย่างดีที่สุด

หัวใจของการดำรงชีวิตอยู่อย่างดีที่สุดก็คือ การดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท

ไม่ประมาทในอะไรเล่า…

1. ไม่ประมาทในชีวิต          ว่าจะยืนยาว

2. ไม่ประมาทในวัย            ว่ายังหนุ่มสาว

3. ไม่ประมาทในสุขภาพ    ว่ายังแข็งแรง

4. ไม่ประมาทเวลา             ว่ายังมีอีกมาก

5. ไม่ประมาทในธรรม        ว่าเอาไว้ก่อนวันหลังค่อยสนใจ

ใครก็ตามประมาทในเหตุทั้ง 5 ประการนี้ มักต้องมานั่งเสียใจทุกครั้ง เมื่อบุคคลอันเป็นที่รักต้องมาพลัดพรากจากไป หรือหากตัวเองจะต้องตายขึ้นมาบ้าง ก็มักจะบ่นเพ้อด้วยความเสียดายว่า “รู้อย่างนี้ทำดีไปตั้งนานแล้ว” ดังนั้น หากเราไม่อยากเสียใจ ไม่อยากพลาดวันเวลาสำคัญของชีวิตก็ควรหมั่นเจริญมรณัสสติอยู่เสมอ เพราะเมื่อเราใช้ชีวิตดังหนึ่งความตายกำลังกวักมือเรียกอยู่ข้างหน้าทุกขณะจิต เราจะตระหนักรู้ว่าชีวิตมีค่าแค่ไหน มารดร บิดา สามี ภรรยา ลูกแก้ว เมียขวัญสำคัญเพียงไรสุขภาพเป็นสิ่งจำเป็นเพียงไร และทรัพย์สินศฤงคารอำนาจราชศักดิ์เป็นเพียงสิ่งสมมุติมายาเพียงชั่วคราวอย่างไร

ความตายจะเป็นดั่งระฆังแห่งสติที่เตือนให้เรากลับมาดำรงอยู่กับความจริงและอยู่กับสิ่งที่เป็นแก่นสาร ทิ้งสิ่งที่เป็นเปลือกหรือหัวโขนของชีวิตอย่างรู้เท่าทัน

เมื่ออยู่เบื้องหน้าของความตาย อะไร ๆในโลกก็กระจิริดไปเสียทั้งหมด

เราระลึกถึงความตายเพื่อเข้าใกล้ชีวิตที่มีแก่นสารที่สุด ดำรงอยู่อย่างคนที่ตื่นตัวและตื่นรู้ที่สุด ฉะนั้น การระลึกถึงความตายแล้วเศร้าหมอง หดหู่ จึงไม่ใช่มรณานุสติที่ถูกต้อง

ที่ถูกคือ พอระลึกถึงว่าตนจะต้องตายในวันหนึ่ง จิตจะตื่นขึ้นมาตระหนักรู้ถึงสัจธรรม แล้วเร่งรีบกระทำแต่กรรมดี ใช้ชีวิตนี้อย่างคุ้มค่าที่สุด นี่ต่างหากคือสัมมาทิฏฐิ (ความเข้าใจที่ถูกต้อง) และสัมมาปฏิบัติ (พฤติกรรมที่ถูกต้อง) อันเป็นผลโดยตรงจากการเจริญมรณานุสติ

อวสฺสํ มยา มริตพฺพํ – วันหนึ่งเราจะต้องตาย

ชีวิตํ อนิจฺจํ – ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง

มรณํ เม ชีวิตํ – ความตายของเราเป็นของเที่ยง

ตระหนักรู้สัจธรรมอย่างนี้แล้ว พึงดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท ความชั่วต้องรีบหนี ความดีต้องรีบทำ เพราะหากทำความดีช้าไป ผิว์ความตายมาพราก ก็จะมีแต่ความเศร้าและความเสียใจติดค้างไปตราบนานเท่านาน

แต่สำหรับบุคคลผู้ตื่นอยู่ หมั่นเจริญมรณานุสติอยู่เนือง ๆ ดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท ครั้นความตายมาถึงเข้า ย่อมไม่วิโยคตกใจ พร้อมเผชิญต่อความตายดังหนึ่งคนงานยืนรอเวลาเลิกงานด้วยใจยินดีปรีดา มาถึงเมื่อไรก็พร้อมไปเมื่อนั้น

 ที่มา: นิตยสาร Secret


บทความน่าสนใจ

สวดมนต์ ทำไมและสวดอย่างไรไม่เป็น “มนต์คาถา” ท่านว.วชิรเมธี มีคำตอบ

หากเจออย่างนั้น ให้คิดอย่างนี้ ! ข้อคิดสู่ชีวิตเป็นสุข จาก ท่านว.วชิรเมธี

เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้แว้ง “กัด” พ่อแม่ บทความดีๆ จาก ท่าน ว.วชิรเมธี

หัวใจแห่งการรับใช้เพื่อนมนุษย์ บทความธรรมะดี ๆ โดย ท่าน ว.วชิรเมธี

ไหว้พระ ไม่ ถูกพระ แต่ ถูกไสย บทความธรรมะดีๆ จาก ท่าน ว.วชิรเมธี

วันนี้ วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เป็น “วันวิสาขบูชา” วันสำคัญอย่างยิ่งวันหนึ่งของ พระพุทธศาสนา เป็นวันที่สมเด็จพระบรมศาสดา พระพุทธเจ้า ทรงประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ในวันเดียวกันอย่างน่าอัศจรรย์ ทรงประสูติ วันศุกร์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ทรงตรัสรู้ วันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา เสด็จดับขันธปรินิพพาน วันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง

การประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน เป็นคติธรรมหลักของ ไตรลักษณ์ หรือ อนิจจลักษณะ เป็นธรรมดาของโลก 3 ประการ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทุกสรรพสิ่งในโลกล้วนตกอยู่ในสภาพ 3 ประการนี้ ไม่เว้นแม้แต่ พระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระบรมศาสดาของโลก

พระท่านจึงได้นำคติธรรม ไตรลักษณ์ นี้มาเป็น หลักธรรมปฏิบัติ ในวันวิสาขบูชา คือ ความกตัญญู อริยสัจ 4 และ ความไม่ประมาท

ความกตัญญู ถือเป็นหลักธรรมสำคัญอย่างยิ่งในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้า ทรงตรัสว่า “ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี” โดยเฉพาะ ความกตัญญูต่อบิดามารดา หลังจากที่ เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงตรัสรู้เป็น พระพุทธเจ้า แล้ว ก็ได้เสด็จขึ้นไปโปรด พระนางสิริมหามายา พระมารดาที่สิ้นพระชนม์หลังคลอดพระองค์ได้เพียง 7 วัน บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และยังเสด็จไปโปรด พระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดาถึงพระราชวังที่ประทับ เมื่อพระราชบิดาประชวรหนักใกล้สวรรคต พระพุทธองค์ ก็ยังเสด็จไปโปรดจนพระราชบิดาบรรลุสำเร็จเป็นพระอรหันต์และนิพพานในพระราชวังในวันนั้นเอง

อริยสัจ 4 เป็น หลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ซึ่งเป็นหลักธรรมในการแก้ไขปัญหาชีวิต ประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดังนี้

1.ทุกข์ เป็นความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ เป็นสภาวะที่บีบคั้นทนได้ยาก เช่น การเกิด แก่ เจ็บ ตาย การพลัดพลาดจากสิ่งอันเป็นที่รัก การปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่สมหวัง ทุกข์ ก็คือ อุปทานขันธ์ หรือ ขันธ์ 5 อันประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

2.สมุทัย เหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ ได้แก่ ตัณหา 3 คือ กามตัณหา ความทะยานอยากในกาม ภวตัณหา ความทะยานอยากในภพ อยากเป็นโน่นเป็นนี่ วิภวตัณหา ความไม่อยากเป็นโน่นเป็นนี่

3.นิโรธ คือ การดับทุกข์ หรือ หนทางแห่งการดับทุกข์ ด้วยการ ดับสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ซึ่งก็คือ ตัณหา 3 อย่างในสมุทัยนั่นเอง

4.มรรค เป็นแนวทางการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การดับทุกข์ มีองค์ประกอบ 8 ประการ หรือ มรรค 8 คือ 1.มีความเห็นชอบ 2.มีดำริชอบ หรือคิดชอบ 3.มีสัมมาวาจา การเจรจาชอบ 4.ทำการงานชอบ 5.สัมมาอาชีวะทำมาหากินด้วยอาชีพอันชอบธรรม 6.มีความพยายามชอบ 7.มีความระลึกชอบ 8.มีความตั้งใจชอบ มรรค 8 นี้จะเรียกว่า “ทางสายกลาง” ก็ได้ คือไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่งจนสุดโต่งเกินไป

ความไม่ประมาท เป็น ปัจฉิมโอวาท ของ พระพุทธเจ้า ถือเป็นสุดยอดคำสอนที่ชาวพุทธทุกคนพึงนำไปปฏิบัติ คือ “การมีสติอยู่ทุกเมื่อ” หรือ “ความไม่ประมาทในกาลทุกเมื่อ” เพื่อไม่ให้มีความทุกข์ร้อนใจ อันเกิดจากอำนาจกิเลสเข้าครอบงำ พระพุทธองค์ ทรงตรัสไว้ว่า “พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตนและท่านให้ถึงพร้อมด้วย “ความไม่ประมาท” เถิด”

หลักธรรม 3 อย่างที่ผมนำมาเล่าสู่กันอ่านนี้ ความกตัญญูอริยสัจ 4 และ ความไม่ประมาท ล้วนเป็นหลักธรรมที่คนธรรมดาเราท่านสามารถปฏิบัติได้ โดยไม่ต้องใช้ความรู้ลึกซึ้งอะไรมาก แค่ใช้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ก็สามารถปฏิบัติได้แล้ว

คนเราเมื่อ จิตตกอยู่ในสมุทัยตัณหา มรรคแปดก็ดับสิ้น ลืมปัจฉิมโอวาท สติก็หายไป ความประมาทก็เข้าครอบงำ แล้วความวิบัติก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจงฝึกให้จิตมีสติอยู่เสมอ แล้วความประมาทก็จะไม่เกิดขึ้น ความสุขทั้งหลายก็จะเกิดขึ้นเอง.