กฎหมายแรงงาน ต่างด้าว ฉบับใหม่ 2565

มติเห็นชอบแรงงานต่างด้าวตาม MOU ที่จ้างงานครบ 4 ปี ในปี 2565 อยู่และทำงานในไทยต่อได้ไม่ต้องกลับประเทศ

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 1/2565 ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันท์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน

  • โครเอเชีย คว้าที่สาม เฉือนโมร็อกโก สมศักดิ์ศรี ฟุตบอลโลก2022
  • พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี
  • “ประธานใหญ่โตโยต้าญี่ปุ่น” มาทำอะไรในเมืองไทยเกือบ 2 สัปดาห์? 

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 1/2565 มีมติเห็นชอบการดำเนินการเพื่อให้แรงงานตาม MOU ที่วาระการจ้างงานครบกำหนด 4 ปี ในปี 2565 สามารถอยู่และทำงานได้ต่อไป โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศ

ทั้งนี้จะต้องรอความยินยอมจากประเทศต้นทาง เนื่องจาก MOU นั้นเป็นสนธิสัญญา รูปแบบหนึ่ง ซึ่งในเบื้องต้นผู้แทนทั้ง 3 ประเทศ (เมียนมา กัมพูชา ลาว) เข้าใจสภาพสถานการณ์และไม่ขัดข้อง โดยจะมีหนังสือแจ้งให้ทราบผ่านช่องทางการทูตโดยเร็วที่สุด

คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตาม MOU ที่วาระการจ้างงานครบกำหนด 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 106,580 คน เป็นแรงงานสัญชาติกัมพูชา 26,840 คน ลาว 25,504 คน และเมียนมา 54,236 คน ซึ่งหลังจากนี้จะมีการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีความเข้าใจ และเห็นใจนายจ้างและสถานประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าวในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การดำเนินการตามขั้นตอนที่เคยปฏิบัติต้องเพิ่มความระมัดระวัง และเพิ่มขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของสาธารณสุข ทั้งฝั่งประเทศต้นทางและประเทศไทย ทำให้การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวภายในประเทศเกิดความไม่ราบรื่น และอาจส่งผลให้นายจ้าง/สถานประกอบการขาดแคลนแรงงานในการขับเคลื่อนกิจการ

อย่างไรก็ดีมาตรการเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็น เพราะความปลอดภัยด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนภายในประเทศเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ต่างให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก” ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าว

ขั้นตอนขอใบอนุญาต

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามบันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MOU) จะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานเป็นระยะเวลา 2 ปี และสามารถต่ออายุได้อีก 2 ปี รวมแล้วเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 4 ปี ในภาวะปกติเมื่อครบกำหนดแล้วแรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้จะต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง หากต้องการกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยอีกครั้งจะต้องดำเนินการนำเข้าแรงงานตาม MOU

แต่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อขั้นตอนเดิมไม่สามารถดำเนินการได้ จึงมีการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงแรงงาน มหาดไทย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงการต่างประเทศ และสาธารณสุข ซึ่งมีการเห็นชอบในหลักการการดำเนินการเพื่อให้แรงงานตาม MOU ที่วาระการจ้างงานครบกำหนด 4 ปี ในปี 2565 สามารถอยู่และทำงานได้ต่อไป โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศ

“ทันทีที่ประเทศต้นทางตอบรับ เราก็พร้อมที่เสนอต่อ ครม. และเมื่อมีการอนุมัติ กระทรวงมหาดไทยจะออกประกาศอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อการทำงานอีก 6 เดือน นับจากวันที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดลง เพื่อให้แรงงานต่างด้าวดำเนินการตามขั้นตอนจนได้ใบอนุญาตทำงานและสามารถอยู่ในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย”

Advertisement

ขั้นตอนขอใบอนุญาตทำงานและสามารถอยู่ในประเทศไทยมีดังนี้

1. ตรวจสุขภาพ เพื่อนำใบรับรองแพทย์ไปยื่นขออนุญาตทำงาน

2. ขออนุญาตทำงานต่อนายทะเบียน โดยกรมการจัดหางาน จะออกใบอนุญาตทำงานให้ตามระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี

3. ขอรับการตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว โดยพนักงานเจ้าหน้าที่จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปเพื่อทำงาน ไม่เกิน 2 ปี นับจากวันที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุด

4. จัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย

มติ ครม. ช่วยนายจ้าง-แรงงานข้ามชาติ

ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานมีมาตรการดูแลแรงงาน 3 สัญชาติ (เมียนมา กัมพูชา ลาว) ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยการดำเนินการปรับเปลี่ยนระเบียบ นโยบาย หรือมาตรการต่าง ๆ เพื่อสอดรับกับสถานการณ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนนายจ้าง/สถานประกอบการที่ขาดแคลนแรงงาน พร้อมกับควบคุมป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยเสนอ ครม. เพื่อความเห็นชอบ ดังนี้

1.มติ ครม. เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ โดยให้นายจ้างที่จ้างแรงงานข้ามชาติที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ยื่นบัญชีรายชื่อแจ้งความต้องการจ้างคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทำให้แรงงาน 3 สัญชาติ กว่า 4 แสนรายได้รับอนุญาตทำงาน

2.มติ ครม. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่แล้ว หรือเคยได้รับอนุญาตทำงาน แต่ไม่สามารถดำเนินการขอใบอนุญาตทำงานตามขั้นตอนปกติเนื่องจากมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อการทำงานได้ต่อไปถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 หรือ 2 ปี นับแต่วันที่การอนุญาตเดิมสิ้นสุด รวมทั้งขยายเวลาการหานายจ้างจาก 30 วัน เป็น 60 วัน ซึ่งทำให้แรงงานต่างด้าวได้รับอนุญาตทำงานกว่า 1 แสนคน ช่วยแก้ปัญหาให้นายจ้างที่ขาดแคลนแรงงาน และลดภาระค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก

3.มติ ครม. เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 เห็นชอบให้กระทรวงแรงงานดำเนินการตรวจสถานที่ก่อสร้าง สถานประกอบการ โรงงาน และสถานที่ทำงาน เพื่อให้คำแนะนำการปฏิบัติตนตามมาตรการทางสาธารณสุขแก่นายจ้างและแรงงานต่างด้าว เป็นระยะเวลา 30 วัน เก็บตกแรงงาน 3 สัญชาติ ที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

โดยจะบันทึกข้อมูลนายจ้างและแรงงานต่างด้าว กำหนดวันนัดหมายให้นายจ้างมาดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนแรงงานต่างด้าว ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 เพื่อเข้าสู่ระบบการจ้างงานตามกฎหมายประเทศไทย และได้รับการดูแลตามสิทธิที่พึงมี

นายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานต่างด้าวสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1–10 สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694