Foreign Business License คือ

ปัจจุบันตลาดธุรกิจบริการมีมากมายหลากหลายประเภท ใช้ความสามารถของผู้ประกอบการเป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องมีอาคารสถานประกอบการใหญ่โต ก็สามารถประกอบการเป็นธุรกิจร้อยล้านพันล้านได้ ซึ่งเราจะเห็นได้ทั่วไปในย่านถนนธุรกิจแถวสาทร สีลม ตามตึกสูง ๆ ย่านนั้นมีสำนักงานประกอบธุรกิจบริการมากมาย เช่น สำนักงานกฎหมายและบัญชี สำนักงานบริการด้านวิศวกรรมและเทคนิค สำนักงานบริการติดตั้ง บำรุงรักษา และซ่อมแซมเครื่องจักร เครื่องกล เครื่องมือต่าง ๆ เป็นต้น

พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เป็นกฎหมายที่เล็งเห็นความสำคัญของธุรกิจบริการที่นับวันจะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของชาติ จึงบรรจุธุรกิจบริการไว้ในบัญชีท้ายกฎหมายที่คนต่างด้าวต้องขออนุญาตประกอบการ เมื่อได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวแล้ว จึงจะสามารถประกอบการได้ โดยธุรกิจบริการมีอยู่ในหลายบัญชีท้ายกฎหมาย ซึ่งมีทั้งหมด 3 บัญชี ประกอบด้วย บัญชีหนึ่ง บัญชีสอง และบัญชีสาม ธุรกิจบริการในบัญชีสอง หมวดหนึ่ง (2) ได้แก่ การขนส่งทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศในประเทศ รวมถึงกิจการการบินในประเทศ ขณะที่บัญชีสาม ครอบคลุมธุรกิจบริการ ประกอบด้วย (6) การทำกิจการบริการทางบัญชี (7) การทำกิจการบริการทางกฎหมาย (8) การทำกิจการบริการทางสถาปัตยกรรม (9) การทำการบริการทางวิศวกรรม (10) การก่อสร้าง ยกเว้น ….. (11) การทำกิจการนายหน้าหรือตัวแทน ยกเว้น ….. (12) การขายทอดตลาด ยกเว้น ….. (16) การทำกิจการโฆษณา (17) การทำกิจการโรงแรม เว้นแต่บริการจัดการโรงแรม (18) การนำเที่ยว (19) การขายอาหารหรือเครื่องดื่ม และ (21) การทำธุรกิจบริการอื่น ยกเว้นธุรกิจบริการที่กำหนดในกฎกระทรวง

ด้วยบัญชีสาม (21) จะครอบคลุมธุรกิจบริการที่เหลือทั้งหมด ยกเว้นธุรกิจบริการที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งถึงปัจจุบันยังไม่มีกฎกระทรวงกำหนดธุรกิจบริการที่ไม่ต้องขออนุญาต ดังนั้นธุรกิจบริการของคนต่างด้าวจึงถูกควบคุมทั้งหมด

คนต่างด้าวคือใคร กฎหมายธุรกิจของคนต่างด้าวเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในประเทศไทย แล้วอย่างไรคือคนต่างด้าว มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 บัญญัติคนต่างด้าวแยกเป็น 2 ประเภท คือ บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล โดยเป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติไทย และเป็นนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย รวมถึงนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยด้วย

สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย ครอบคลุมทั้งนิติบุคคลซึ่งมีหุ้นอันเป็นทุนหรือลงทุนโดยบุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทยตั้งแต่ครึ่งหนึ่งของทุนทั้งหมดในนิติบุคคลนั้น และห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนซึ่งหุ้นส่วนผู้จัดการหรือผู้จัดการเป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติไทย

คนต่างด้าวยังรวมถึงนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยซึ่งมีหุ้นอันเป็นทุนหรือลงทุนมีมูลค่าตั้งแต่ครึ่งหนึ่งของทุนทั้งหมดในนิติบุคคลนั้นถือโดยบุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติไทย นิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศ หรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยดังกล่าวข้างต้นด้วย

การประกอบธุรกิจตามบัญชีสามของคนต่างด้าวต้องขออนุญาตใคร คนต่างด้าวตามคุณสมบัติข้างต้นที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจในประเทศไทย จึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งบัญญัติประเภทธุรกิจตามบัญชีท้ายกฎหมายแยกเป็นบัญชีหนึ่ง บัญชีสอง และบัญชีสาม ซึ่งมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 บัญญัติห้ามคนต่างด้าวประกอบธุรกิจตามบัญชีหนึ่ง ขณะที่ธุรกิจตามบัญชีสองและบัญชีสามก็ห้ามคนต่างด้าวประกอบการ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์โดยการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีสำหรับบัญชีสอง และเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวสำหรับบัญชีสาม

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้พยายามที่จะออกกฎกระทรวงกำหนดธุรกิจบริการที่ไม่ต้องขอใบอนุญาต หรือหนังสือรับรองในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีกฎกระทรวงนี้ออกมาบังคับใช้ โดยร่างกฎกระทรวงล่าสุดอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 46 และบัญชีสาม (21) ครอบคลุม 20 ประเภทของธุรกิจบริการที่ยกเว้นไม่อยู่ในบัญชีสาม (21) ท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ประกอบด้วย

(1) การธนาคารพาณิชย์
(2) การทำกิจการให้กู้ยืมเงิน
(3) การประกันชีวิตและการประกันวินาศภัย
(4) การทำกิจการโรงรับจำนำ
(5) การทำกิจการคลังสินค้า
(6) การทำกิจการโรงเรียน
(7) การทำกิจการโรงมหรสพ
(8) การค้าหลักทรัพย์
(9) การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์
(10)การเป็นที่ปรึกษาการลงทุน
(11)การจัดการกองทุนรวม
(12)การจัดการกองทุนส่วนบุคคล
(13)การเป็นผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(14)การยืมและให้ยืมหลักทรัพย์
(15)การให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์
(16)การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ และการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์
(17)การเป็นตัวแทนเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการจำหน่ายหลักทรัพย์ และการเป็นตัวแทนสนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของกองทุนเปิด
(18)การเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์
(19)การเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม
(20)การเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

ธุรกิจบริการข้างต้นไม่ควรจะอยู่ในบัญชีสาม (21) ที่ต้องขออนุญาต เนื่องจากมีกฎหมายเฉพาะที่กำกับและควบคุมการประกอบธุรกิจนั้น ๆ อย่างเข้มแข็งรัดกุมอยู่แล้ว การขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจึงอาจไม่จำเป็น แต่ด้วยบทบัญญัติของบัญชีสาม (21) ท้ายกฎหมายธุรกิจของคนต่างด้าว ทำให้ธุรกิจบริการของคนต่างด้าวทั้งหมดถูกควบคุม แต่เมื่อร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ยังไม่มีผลบังคับใช้ ปัจจุบันธุรกิจบริการทั้ง 20 ประเภทข้างต้นจึงยังต้องขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

อย่างไรก็ตาม กรณีคนต่างด้าวที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจบริการในประเทศไทย หากได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแล้ว ไม่ต้องยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (Foreign Business License) แต่ยื่นขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (Foreign Business Certificate) ซึ่งอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะออกหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวให้กิจการบีโอไอทุกกรณี แตกต่างกับกรณีการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวสำหรับกิจการที่ไม่ได้เป็นกิจการบีโอไอ (ผู้ได้รับการส่งเสริม หมายถึง ผู้ได้รับบัตรส่งเสริม) ซึ่งคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวอาจอนุญาต หรือไม่อนุญาตก็ได้

ธุรกิจบริการทุกประเภทจึงยังคงอยู่ในความคุ้มครองภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ถึงปัจจุบัน กฎกระทรวงที่ถูกร่างมาตั้งแต่ปี 2543 จนพัฒนาการมาเป็นร่างกฎกระทรวงปัจจุบันที่ครอบคลุม 20 ประเภทกิจการจะมีวี่แววได้ออกมาใช้บังคับในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นปีที่ 6 แล้วนี้ หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป

วันเพ็ญ หรูจิตตวิวัฒน์
เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการลงทุน ระดับ 7 ว
กองบริหารงานสิทธิและประโยชน์ 5 (กิจการบริการและสาธารณูปโภค)
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
[e-mail: [email protected]]

ขอใบอนุญาตประกอบกิจการที่ไหน

1. ในกรณีสถานที่ตั้งอยู่ที่ กรุงเทพมหานคร ยื่นขอรับใบอนุญาตได้ที่สำนักงานเขตที่ร้านอาหารหรือสถานที่ขายอาหารตั้งอยู่ 2. ในกรณีต่างจังหวัด ยื่นขอใบอนุญาตได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลที่ร้านอาหารหรือสถานที่ขายอาหารตั้งอยู่

FBL ขอที่ไหน

สำนักงานผู้แทน และสำนักงานสาขา การขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (FBL)

ธุรกิจที่ห้ามให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจด้วยเหตุผลพิเศษ คือธุรกิจใด

(1) บัญชีหนึ่งเป็นธุรกิจที่ห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจด้วยเหตุผลพิเศษ (1) การทํากิจการหนังสือพิมพ์ การทํากิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงหรือสถานีวิทยุโทรทัศน์ (2) การทํานา ทําไร่ หรือทําสวน (3) การเลี้ยงสัตว์ (4) การทําป่าไม้และการแปรรูปไม้จากป่าธรรมชาติ (5) การทําการประมงเฉพาะการจับสัตว์นํ้าในน่านนํ้าไทยและในเขต ...