ชนชาติแรกแถบเอเชีย

ในวันที่ 8 สิงหาคม 2510 อาเซียน ได้ถือกำเนิดมาในฐานะองค์กรความร่วมมือภายในภูมิภาค โดยมีประเทศผู้ก่อตั้งห้าประเทศ ที่มุ่งหวังที่จะใช้อาเซียนเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในขณะนั้นมีประมาณ 260 ล้านคน

ความพยายามในระดับภูมิภาคก่อนอาเซียน

อย่างไรก็ตามดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น สมาคมอาเซียนไม่ได้เป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศองค์กรแรกที่มีขึ้นในภูมิภาคนี้ แต่องค์กรระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้าสมาคมอาเซียนมีปัญหามากมายหลายประการจนต้องปิดตัวลงในระยะเวลาอันสั้น โดยมีสาเหตุมาจากทั้งเรื่องการกระทบกระทั่งระหว่างกันในเรื่องดินแดน ตลอดจนปัญหาการแทรกแซงของประเทศมหาอำนาจ

ประการหนึ่ง คือ การที่อาเซียนสามารถทำให้ความขัดแย้งระหว่างประเทศต่าง ๆ อันเป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากยุคอาณานิคม และการสู้รบภายในภูมิภาคสิ้นสุดลง และนอกจากการลดความขัดแย้งแล้ว อาเซียนยังสามารถพัฒนาความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ระหว่างประเทศสมาชิกให้ก้าวไกล ลึกซึ้ง และขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ และในเวลาเดียวกัน สมาชิกภาพของอาเซียนก็ครอบคลุมมากขึ้น ประเทศสมาชิกมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น จนในปัจจุบันอาเซียนมีสมาชิกครบทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสามารถเข้าสู่การเป็น “ประชาคมอาเซียน” ได้ ในระยะเวลาไม่ถึง 50 ปี

มรดกแห่งยุคอาณานิคม

ตามที่ทราบกันดีว่ายกเว้นประเทศไทยแล้ว บรรดาประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคมอาเซียนอื่น ๆ ล้วนแล้วแต่เคยตกเป็นดินแดนอาณานิคมของกลุ่มประเทศตะวันตก และต่อมานับตั้งแต่ปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เข้าร่วมกระบวนการเรียกร้องเอกราช (Decolonization Process) ให้แก่ตนเอง

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกยึดครองโดยญี่ปุ่น แต่ในที่สุดแล้วเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง และขับไล่ญี่ปุ่นออกไปแล้ว ประเทศเจ้าอาณานิคมตะวันตก ก็พยายามกลับเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการเรียกร้องสิทธิเหนือดินแดนที่ตนเคยยึดครอง และเรียกร้องค่าชดเชยต่าง ๆ มากมาย จากความเสียหายที่อ้างว่าฝ่ายตนได้รับในช่วงสงครามโลก

ในการยึดครองของญี่ปุ่นนั้น มีวัตถุประสงค์หลักสองประการ คือ ประการแรก ขับไล่ประเทศตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษ และฝรั่งเศสออกไปจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้หมดสิ้น และประการที่สอง คือ เพื่อสร้างแนวป้องกันญี่ปุ่นจากการโจมตีโดยกองเรือของฝ่ายพันธมิตร โดยเฉพาะจากกองทัพเรือสหรัฐฯ และนี่คือเหตุผลว่าเหตุใดญี่ปุ่น จึงยึดครองพม่า ฟิลิปปินส์ มาลายา และสิงคโปร์ อย่างเต็มรูปแบบ แต่ผ่อนปรนมากกว่าในอินโดจีนและไทย และหากจะมีประการที่สามก็ คือ ญี่ปุ่นต้องการทรัพยากรและเงินทุนจากประเทศต่าง ๆ ที่ตนยึดครอง เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการทำสงคราม การขับไล่ประเทศอาณานิคมตะวันตกออกไปนั้นเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายทวีปเอเชีย เพื่อคนเอเชีย (Asia for Asians) และนโยบาย เขตความมั่งคั่งร่วมกันในส่วนใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออก (Greater East Asia Co-Prosperity Sphere) ของญี่ปุ่น โดยในการยึดครองนั้น ญี่ปุ่นมีหลักการสำคัญ 5 ประการ คือ

1. การได้มาซึ่งยุทธบริภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการป้องกันประเทศญี่ปุ่น

2. การรื้อฟื้นกฎหมาย และความเป็นระเบียบภายในสังคม

3. การให้กองกำลังญี่ปุ่น ที่ยึดครองในแต่ละพื้นที่ สามารถเลี้ยงตนเองได้

4. ให้ความเคารพต่อวัฒนธรรมประเพณีตลอดจนองค์กรต่าง ๆ ของดินแดนนั้น ๆ

5. จะไม่เร่งตัดสินใจเรื่องการให้อำนาจอธิปไตย แก่ดินแดนต่าง ๆ ดังกล่าว

จากหลักการ ทั้ง 5 ประการข้างต้น ทำให้วิธีการยึดครองของญี่ปุ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงสงครามโลก นั้น ส่วนใหญ่แล้วญี่ปุ่นจะไม่ยึดครองอย่างเต็มรูปแบบ เพราะต้องใช้กองกำลังมากเกินไป แต่จะให้สิทธิแก่เจ้าของประเทศในระดับหนึ่งในการปกครองตนเอง โดยเฉพาะในการบริหารราชการวันต่อวันภายหลังจากที่กองทัพญี่ปุ่นได้ขับไล่กองกำลังของประเทศอาณานิคมตะวันตกออกไปแล้ว

การที่ประเทศอาณานิคมตะวันตกพ่ายแพ้แก่กองกำลังของญี่ปุ่นอย่างราบคาบและในหลายโอกาสที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า กองกำลังของประเทศเหล่านั้น มีเจตนาที่จะหนีเอาตัวรอดมากกว่า ช่วยเหลือคนท้องถิ่นในการปกป้องดินแดนของตนจากการรุกรานของญี่ปุ่น ทำให้ความรู้สึกชาตินิยม และความต้องการที่จะต่อสู้เพื่อเอกราช ของคนในประเทศต่าง ๆ เหล่านั้น เข้มแข็งมากขึ้นทุกขณะ  ซึ่งเป็นสาเหตุหลัก ที่ทำให้ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดกระบวนการเรียกร้องเอกราช ขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งต่อมาส่งผลให้มีประเทศเกิดใหม่ขึ้นหลายประเทศ

สงครามเย็นกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  

ในระดับโลกสงครามเย็นเกิดขึ้นเกือบจะทันที ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลง โดยเฉพาะในการแย่งชิงเขตอิทธิพลในยุโรประหว่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต โดยสหรัฐฯ ได้ประกาศนโยบายที่ชัดเจน ในการต่อต้านการขยายอิทธิพลของสหภาพโซเวียต โดยผ่านคำประกาศที่เรียกว่า ลัทธิทรูแมน (Truman Doctrine) เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2490 แต่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สงครามเย็นเริ่มเข้มข้นขึ้นประมาณปี 2492 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน สามารถยึดครองประเทศจีนได้ทั้งหมด ด้วยความช่วยเหลือของสหภาพโซเวียต

การที่สหภาพโซเวียตและจีนเป็นพันธมิตรกันในเอเชียและในคาบสมุทรแปซิฟิก ทำให้สหรัฐฯ มีความคิดว่าตนต้องหาแนวร่วมในการสกัดกั้นอิทธิพลของจีนและสหภาพโซเวียตในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะในปี 2497 เมื่อกองกำลังฝรั่งเศส พ่ายแพ้กองกำลังของเวียดมินห์ (Viet Minh) อย่างราบคาบ ในการสู้รบที่สมรภูมิเดียน เบียน ฟู (Dien Bien Phu) และถอนตัวออกไปจากคาบสมุทรอินโดจีนในที่สุด ในเวลาเดียวกัน อิทธิพลของคอมมิวนิสต์จีน ก็เริ่มที่จะแพร่ขยายไปในลาว และกัมพูชา และกลายเป็นหอกข้างแคร่ของรัฐบาลลาว และกัมพูชา ในขณะนั้น

ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯ จึงไม่ลังเลที่จะเข้ามามีบทบาทในเอเชียตะวันออกมากขึ้น โดยเริ่มจากการลงนามในสนธิสัญญาการป้องกันร่วมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Collective Defense Treaty) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่ากติกามะนิลา (Manila Pact) เมื่อเดือนกันยายน 2497 หรือเพียงประมาณ 4 เดือน ภายหลังการพ่ายแพ้ของกองกำลังฝรั่งเศสที่สมรภูมิ เดียน เบียน ฟู ซึ่งต่อมาสนธิสัญญาดังกล่าวได้กลายมาเป็นรากฐานสำหรับการจัดตั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สปอ. หรือ SEATO) ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2498 ร่วมกับพันธมิตรทั้งภายในและภายนอกภูมิภาครวบ 8 ประเทศ คือ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และไทย

สงครามอินโดจีนครั้งที่ 2 (2504-2518)

ในช่วงก่อนที่ห้าประเทศสมาชิกของสมาคมอาเซียนจะมารวมตัวกัน เพื่อประกาศปฏิญญาอาเซียน อันเป็นเอกสารต้นกำเนิดของอาเซียน นั้น ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสมรภูมิของสงครามเย็นมาก่อน โดยมีศูนย์กลางของความขัดแย้งอยู่ที่สงครามอินโดจีนครั้งที่ 2 (2504-2518)

ในช่วงระยะเวลาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นช่วงระยะเวลาที่สหรัฐฯ ดำเนินนโยบายความมั่นคงที่เรียกว่า “นโยบายการปิดล้อม” (Containment Policy) คือการปิดล้อมไม่ให้ลัทธิคอมมิวนิสต์แพร่ขยายลุกลามออกไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของโลกได้ ยุทธศาสตร์ของนโยบายนี้คือ การใช้กำลังตอบโต้กดดันสหภาพโซเวียต และจีน ในทุก ๆ ด้าน เสมือนการปิดล้อม

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แรงผลักดันสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ มีความมุ่งมั่นที่จะปิดล้อมการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในทุกด้านคือ ทฤษฎีโดมิโน (Domino Theory) ซึ่งนักวิชาการและนักการทูต นักการทหารของสหรัฐฯ ในยุคนั้นเชื่อว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นมีสูงมาก ซึ่งดังที่กล่าวมาแล้วแนวความคิดหลักของทฤษฎีนี้ก็ คือ หากไม่ปิดล้อมการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างแข็งขัน รวดเร็ว และเบ็ดเสร็จ ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคจะทยอยถูกโค่นล้ม หรือถูกกลืนโดยลัทธิคอมมิวนิสต์ในที่สุด

ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯ จึงรีบเข้ามาแทนที่ฝรั่งเศสในการสู้รบในอินโดจีนอย่างรวดเร็ว กล่าวคือ จากเดิมที่เริ่มการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ เข้าไปช่วยเหลือกองกำลังของฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี 2493 เมื่อฝรั่งเศสถอนตัวออกไป ในปี 2497 สหรัฐฯ รีบส่ง “คณะที่ปรึกษาทางทหาร” (Military Advisors) ในจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เข้าไปช่วยฝึกอบรมให้กับกองทัพเวียดนามใต้ ในทันที่

ในปี 2498 และเมื่อการถอนตัวของกองกำลังฝรั่งเศสเสร็จสมบูรณ์ ในปีต่อมา สหรัฐฯ ก็ได้เข้าให้การสนับสนุนกองทัพเวียดนามใต้ อย่างเต็มที่ นับตั้งแต่นั้นมา และภายในปี 2506 สหรัฐฯ มี “คณะที่ปรึกษาทางทหาร” ในเวียดนาม มากถึง 21,000 คน และในปี 2511 ซึ่งเป็นจุดพลิกผันสู่ชัยชนะของเวียดนามเหนือ สหรัฐฯ มีคณะที่ปรึกษาทางทหาร และกองกำลังรบในเวียดนามมากถึง 537,000 คน

แม้การเจรจาสันติภาพที่กรุงปารีสเพื่อยุติสงครามระหว่าง สหรัฐฯ และเวียดนามใต้ฝ่ายหนึ่งกับเวียดนามเหนือ และรัฐบาลปฏิวัติชั่วคราว (Provisional Revolutionary Government) อีกฝ่ายหนึ่ง จะเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2511 แต่การเจรจาดังกล่าว ก็ได้ยืดเยื้อเรื่อยมา สลับกับการสู้รบอย่างรุนแรง จนในที่สุด ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถบรรลุข้อตกลงได้ ในปี 2516 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการที่กระแสต่อต้านสงครามเวียดนาม โดยประชาชนสหรัฐฯ สูงถึงขีดสุด รัฐบาลสหรัฐฯ ถอนกองกำลังออกจากเวียดนามเกือบทั้งหมด ขณะเดียวกัน รัฐสภาสหรัฐฯ ก็ได้แก้ไขกฎหมายจำกัดอำนาจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ให้สั่งการปฏิบัติการทางทหารใด ๆ ในเวียดนาม ลาว และกัมพูชา จนกว่าจะได้รับการยินยอมจากรัฐสภาเป็นการล่วงหน้า ทำให้ในที่สุดสหรัฐฯ ต้องลดบทบาทของตนในเวียดนามลงไปเรื่อย ๆ และถอนตัวออกไปจากเวียดนามโดยสมบูรณ์ ในเดือนเมษายน 2518 เมื่อกองกำลังเวียดนามเหนือ ได้เข้ายึดครองนครไซง่อน ในขณะนั้น ได้เป็นผลสำเร็จ

องค์การสนธิสัญญาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Treaty Organization-SEATO)

ภายหลังจากการพ่ายแพ้อย่างราบคาบของกองกำลังฝรั่งเศสในเวียดนามในปี 2497 และฝรั่งเศสต้องถอนตัวออกจากเวียดนามในที่สุด นักวิชาการ และนักยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ เห็นพ้องกันว่า สภาวะสูญญากาศดังกล่าว จะเป็นการเปิดโอกาสให้ลัทธิคอมมิวนิสต์แพร่ขยายเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้อย่างง่ายดาย ดังนั้น ในปีเดียวกัน สหรัฐฯ จึงได้ริเริ่มชักชวนให้มิตรประเทศ ร่วมลงนามในกติกามะนิลา (Manila Pact) และจัดตั้งองค์การสนธิสัญญาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast-Asia Treaty Organization-SEATO) ขึ้นมา ดังที่กล่าวมาแล้ว

หลักการของกติกามะนิลา (Manila Pact) ซึ่งต่อมาเป็นพื้นฐานขององค์การสนธิสัญญาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) คือ ประเทศที่ร่วมลงนามจะถือว่า การคุกคามใด ๆ ด้วยการใช้กำลังอาวุธต่ออาณาบริเวณของความตกลงนี้  เป็นการรุกรานต่อทุกประเทศในความตกลง หรือต่อรัฐใด ๆ หรือต่อเขตแดนใดของแต่ละประเทศที่ประเทศที่เป็นภาคีในความตกลงเห็นเป็นฉันทามติว่า เป็นภัยอันตรายต่อสันติภาพและความปลอดภัยของตนเองและของประเทศนั้น ๆ ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ขึ้น ประเทศในความตกลงนี้จะทำการปรึกษาหารือกันในการเผชิญกับอันตรายร่วมกัน

โดยหลักการเบื้องต้นแล้ว ดูเหมือนว่า SEATO จะเป็นสนธิสัญญาพันธมิตรด้านความมั่นคง ที่เหมือนกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO ของยุโรป แต่ในเนื้อแท้แล้ว SEATO มีความแตกต่างจาก NATO ค่อนข้างมาก เพราะในขณะที่ NATO มีกองกำลังทหารประจำ แต่ SEATO ไม่มี พันธกิจของ SEATO ภายหลังจากากรถูกคุกคามก็คือ การปรึกษาหารือกัน ด้วยเหตุนี้ผลที่เกิดขึ้นจริง ๆ ของ SEATO จึงเป็นผลด้านการเมือง ไม่ใช่ผลทางด้านการทหาร เป็นองค์กรที่อำนวยการให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในกรอบพหุภาคี

ในปี ค.ศ. 1961-1962 ได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในประเทศลาว โดยคอมมิวนิสต์ประเทศลาวใช้กองกำลังโจมตีรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรลาว (ซึ่งในขณะนั้นถือว่าวางตัวเป็นกลาง) เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า SEATO ไม่อาจมีประสิทธิภาพ  ได้เนื่องจากการปฏิบัติการใด ๆ ของ SEATO ตามสนธิสัญญาได้ระบุไว้ว่า จะต้องได้รับเสียงเอกฉันท์จากสมาชิกทั้ง 8 ประเทศเท่านั้น

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ประเทศไทย และสหรัฐอเมริกาจึงได้ทำข้อตกลงความมั่นคงร่วมที่ชื่อ แถลงการณ์ ถนัดรัสก์ (Thanat Rusk Communique) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทย ช่วยให้สหรัฐอเมริกาสามารถส่งกองกำลังทหารเข้ามาช่วยไทยได้ หากถูกรุกรานจากคอมมิวนิสต์ โดยไม่ต้องรอมติเอกฉันท์จากสมาชิกใน SEATO

การประชุมสุดยอดครั้งแรก

หลังจากการถอนกำลังของสหรัฐอเมริกาออกจากเวียดนามในปี 2516 จวบจนชัยชนะของเวียดนามเหนืออันนำไปสู่การรวมตัวของเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ในปี 2518 นั้น ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความรู้สึกเป็นกังวลต่อบทบาทของเวียดนาม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความกลัวในทฤษฎีโดมิโน และอีกส่วนหนึ่งมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า เวียดนามให้การสนับสนุนบทบาทของขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศต่าง ๆ ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บทบาทของเวียดนามหลังปี 2518 จึงดูเป็นภัยคุกคามต่อประเทศประชาธิปไตย และเป็นตัวเร่งทำให้ประเทศสมาชิดสมาชิกของอาเซียนพยายามที่จะยกระดับความร่วมมือระหว่างกันและกันให้มากขึ้น

ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2519 ได้มีการประชุมผู้นำประเทศอาเซียน ซึ่งเป็นการประชุมสุดยอด (ASEAN Summit) ครั้งแรกที่เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ผลก็คือ การสร้างหลักการพื้นฐานที่เข้มแข็งมากขึ้นของประเทศสมาชิกอาเซียน ในลักษณะที่ไม่ได้สร้างศัตรูกับรัฐในอินโดจีนแต่ประการใด

ผลของการประชุมที่บาหลี คือ อาเซียนได้มีความก้าวหน้าในความร่วมมือระหว่างกัน ผ่านทางเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ฉบับแรกได้แก่ สนธิสัญญาแถลงการณ์ร่วมกันของอาเซียน (Bali Concord) ซึ่งในเอกสารฉบับนี้มีแถลงการณ์ทางการเมืองเป็นครั้งแรก  ซึ่งได้ระบุไว้ว่า

1. การพบปะกันระหว่างหัวหน้ารัฐบาลจะเกิดขึ้นเมื่อมีความจำเป็น

2. ลงนามในสนธิสัญญามิตรไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia)

3. แก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในภูมิภาคด้วยสันติวิธีอย่างรวดเร็วที่สุด

4. ปฏิบัติตามและเคารพเขตแห่งสันติภาพ, เสรีภาพ และความเป็นกลาง (Zone of Peace, Freedom and Neutrality) อย่างเร่งด่วน และให้ได้มากที่สุด

5. ปรับปรุงกลไกในอาเซียน เพื่อเพิ่มความร่วมมือทางการเมือง

6. ศึกษาวิธีการพัฒนาความร่วมมือด้านกระบวนการยุติธรรม รวมไปถึงความเป็นไปได้ในการร่างสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนในอาเซียน

7. สร้างความเข้มแข็งของเอกภาพด้านการเมือง โดยการส่งเสริมให้ให้ทัศนะต่าง ๆ มีความผสมผสานกลมกลืนกัน มีความร่วมมือกัน และแสดงออกอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

เอกสารสำคัญฉบับที่สองในการประชุมที่บาหลีคือ สนธิสัญญามิตรไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia) หลักการที่สำคัญในสนธิสัญญานี้คือ การระบุการไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน การตกลงความขัดแย้งในภูมิภาคด้วยสันติวิธี การไม่ใช้กำลัง การข่มขู่ หรือคุกคามต่อกัน และเปิดโอกาสให้ชาติอื่นในภูมิภาคเข้ามาร่วมได้ ซึ่งต่อมาประเทศที่จะเข้าร่วมอาเซียนจะต้องเป็นสมาชิกที่ตกลงตามสนธิสัญญานี้ก่อน แต่ไม่รับรองว่าผู้ที่อยู่ในสนธิสัญญานี้จะได้เป็นสมาชิกของอาเซียน เท่ากับว่า สนธิสัญญาฉบับนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เป็นการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างสมาชิกอาเซียนและประเทศคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั่นเอง