รู้สึกไม่ โอ เค กับ สังคมที่ ทํา งาน

ยิ่งโตขึ้นเท่าไรสังคมของเราก็จะยิ่งกว้างขึ้น ทำให้ต้องพบปะผู้คนมากหน้าหลายตา แต่จะมีสักกี่คนที่เป็นมิตรแท้กับเราจริง ๆ บางคนหน้าตาท่าทางดูดี แต่พอรู้จักได้สักพักกลายเป็นพวกปากหวานก้นเปรี้ยวซะงั้น บางคนมาแบบใส ๆ แบ๊ว ๆ แต่ที่ไหนได้ร้ายยิ่งกว่านางร้ายในละครซะอีก เหมือนคำที่โบราณว่าไว้ “รู้หน้าไม่รู้ใจ” ดังนั้น เราต้องรู้จักสังเกตไว้แต่เนิ่น ๆ ว่าคนไหนเป็นมิตรแท้ คนไหนเป็นศัตรูในคราบมิตร ด้วยวิธีง่าย ๆ ดังนี้

Show

เพื่อนที่เอาแต่พูดคำหวาน

เพื่อนบางคนเข้าตำรา ปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอ ต่อหน้าเราก็พูดจาหวานไพเราะเสนาะหูจนเราหลงคารมไว้ใจ พอลับหลังกลับเอาเราไปนินทาว่าร้าย หรือเอาความลับของเราไปขยายต่อโดยไม่ได้รับอนุญาต ถ้าเป็นมิตรแท้จะพูดเหมือนกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง รวมทั้งช่วยเก็บความลับของเราด้วย

เพื่อนที่คอยเยินยอเราตลอดเวลา

เราทุกคนล้วนชอบคำชื่นชมจากคนอื่นทั้งนั้น แต่ถ้าเพื่อนเอาแต่เยินยอเราทุกเรื่องแม้แต่เรื่องที่เราทำผิดพลาด อาจจะทำให้เราหลงไปกับคำเยินยอของเขาจนไม่รู้ว่าสิ่งไหนผิดสิ่งไหนถูก สิ่งไหนดีสิ่งไหนไม่ดี ซึ่งจริง ๆ แล้วเขาอาจจะมีจุดประสงค์ร้ายต่อเรา ต้องการทำให้เราดูแย่ในสายตาคนอื่น หรือหวังประโยชน์อะไรจากตัวเรา ถ้าเป็นมิตรแท้ควรตักเตือนในเรื่องที่เราทำผิดพลาดด้วยความจริงใจ

เพื่อนที่คอยกดเราให้ต่ำ

เพื่อนประเภทนี้มักจะตั้งใจพูดเกทับ ชอบยกเรื่องที่เหนือกว่ามาข่มเราเป็นประจำ เช่น ชอบอวดแฟน อวดเสื้อผ้าแบรนด์เนม อวดเงินเดือน เขาจะทำเหมือนพูดเล่าให้ฟังเฉย ๆ ไม่ได้คิดอะไร พร้อมตบท้ายปลอบใจไม่ให้เราคิดมากที่ด้อยกว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาฟินแต่กลับทำให้เรารู้สึกแย่ หมดกำลังใจ ถ้าเป็นมิตรแท้จะไม่ยกตนข่มท่านแบบนี้เด็ดขาด

เพื่อนที่เอาแต่นินทาคนอื่นให้เราฟัง

เพื่อนบางคนว่างเป็นไม่ได้ชอบเอาคนอื่นมานินทาลับหลังอยู่เสมอทั้ง ๆ ที่เรื่องเหล่านั้นไม่เกี่ยวกับเราเลยแม้แต่น้อย แค่เพราะความสนุกปาก ลองคิดดูนะ ถ้าเขานินทาคนอื่นได้ เขาก็นินทาเราได้เช่นกัน

เพื่อนที่ชอบทำหน้าแบ๊วไม่รู้เรื่องตลอดเวลา

ในชีวิตไม่ว่าที่โรงเรียนหรือที่ทำงานเราคงต้องเจอเพื่อนประเภทหน้าใส ๆ แบ๊ว ๆ ไม่รู้เรื่องตลอดเวลา เช่น เวลาทำงานผิดพลาด เขาจะทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ หรือถ้าอยู่ทีมเดียวกันแล้วทำงานพลาดเขาจะบอกว่าตัวเองไม่ได้ตั้งใจ พร้อมทำหน้าตาอินโนเซ้นท์ เจ้านายก็มักจะเอ็นดูไม่เอาเรื่องเอาราว ปล่อยให้เรารับไปเต็ม ๆ ถ้าเป็นมิตรแท้จะร่วมกันรับผิดชอบโดยไม่อิดออด

เพื่อนที่หายตัวทุกทีเวลามีปัญหา

เคยกันไหมพอมีปัญหาเกิดขึ้นกับตัวเองทีไร เพื่อนหายตัวได้ยังกับนินจาเต่า แต่พอเขามีปัญหามักมาขอความช่วยเหลือกับเรา มีเรื่องทุกข์ใจก็มาระบายให้เราฟัง ถ้าเป็นมิตรแท้จะคอยอยู่เคียงข้างและให้กำลังใจเราเสมอ

เพื่อนที่ชอบมีข้ออ้างตลอดเวลา

เวลาต้องแบ่งทำงาน หรือต้องทำโอที เพื่อนประเภทนี้มักจะสรรหาสารพัดข้ออ้างมาเสมอ เช่น ปวดหัว, ตัวร้อน, มีธุระด่วนที่บ้าน ฯลฯ ปัดความรับผิดชอบด้วยการทิ้งงานให้เราทำ แต่พองานเสร็จกลับรีบมาเอาหน้าตลอด ถ้าเป็นมิตรแท้จะไม่เอาเปรียบเราแบบนี้

เพื่อนที่แทงข้างหลังทะลุถึงหัวใจ

เพื่อนประเภทนี้ดูยากมาก บางทีเรารู้ตัวอีกทีอาจโดนแทงข้างหลังทะลุถึงหัวใจจนแผลเหวอะหวะไปแล้วก็ได้ เช่น เจอกันต่อหน้าปกติมาก แต่ไป ๆ มา ๆ แฟนเรากลายเป็นแฟนเขาซะงั้น มีงงกันไปเป็นแถบ ๆ หรือบางคนที่เรารู้สึกว่าเขาดีกับเรามาตลอดแต่กลับเอาเราไปพูดใส่ร้ายให้คนอื่นไม่ชอบหรือหมั่นไส้เรา เป็นต้น ถ้าเป็นมิตรแท้จะจริงใจไม่อิจฉาริษยา หรืออยากได้ของของเรา

ในโลกแห่งความจริงเรามีโอกาสที่จะเจอเพื่อนรักเพื่อนร้ายได้ตลอดเวลา ดังนั้น เราต้องหาวิธีป้องกันตัวเอง รู้เขารู้เรา คอยสังเกตพฤติกรรมของเขาทั้งต่อหน้าและลับหลัง ถ้าเจอคนประเภทนี้เราก็ไม่ควรนำตัวเองเข้าไปสุงสิง แต่ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงคนที่เป็นศัตรูในคราบมิตรได้ เราควรรับมือกับปัญหาด้วยสติ ไม่ปล่อยให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล ไม่เต้นไปตามเกมของเขา ให้เลือกใช้วิธีนิ่งสยบความเคลื่อนไหว ในกรณีกลับกันถ้าเราเจอมิตรแท้แล้วก็ควรถนอมมิตรภาพนั้นไว้ให้ยืนยาว

เคยไหมที่รู้สึกว่างานที่ทำอยู่ไม่ค่อยคืบหน้า หรือ ไม่ค่อยมีความสุขกับงานที่ทำ

สาเหตุของปัญหาเหล่านี้อาจไม่ได้เกิดจากความยากของงานที่เราได้ แต่เป็นเพราะ “เพื่อนร่วมงาน” 

การศึกษาจาก Officevibe (2017) พบว่า 70% ของพนักงานให้ความเห็นว่า เพื่อนที่ทำงานสำคัญต่อความสุขระหว่างทำงาน นอกจากนี้ การวิจัยด้านจิตวิทยาจำนวนมากได้อธิบายว่า ทำไมเราถึงเข้ากับบางคนได้ง่ายกว่าคนอื่น เหตุผลคือ มนุษย์เข้าสังคมด้วยการใช้ “คุณค่า” ของเราและ “ความเชื่อที่ฝังใจ” เกี่ยวกับวิธีที่ผู้คนควรปฏิบัติตัว มีปฏิสัมพันธ์และสื่อสารด้วย 

นั่นจึงทำให้เรามีอคติที่คอยชี้นำการคิดหรือการรู้สึกต่อทุกสิ่ง และอคตินี้เองได้ส่งผลให้เราเลือกผู้ที่เราอยากเข้าหา ในด้านการทำงาน เรามักรู้สึกว่ามีบางคนที่ทำงานด้วยยาก หรือดูน่ารำคาญในสายตาเรา แต่ในเวลาเดียวกัน เราก็มีความต้องการในใจลึกๆ ที่จะเป็นคนที่คนอื่นชื่นชอบและเคารพ 

แน่นอนว่า เราไม่สามารถเลือกคู่หูทำงานได้ตามใจชอบได้เสมอไป แล้วเราควรจะทำอย่างไร ถ้าต้องทำงานกับคนที่เราไม่ชอบ?

ลองเรียนรู้ 7 วิธีจัดการอคติในใจผ่านบทความนี้กันเถอะ

1. ลองมองดูตัวเราก่อน

เคยรู้สึกไม่ชอบใครสักคนโดยไม่มีเหตุผลไหม จากนั้นเราถึงจะเริ่มหาหลักฐานที่ทำให้เราไม่ชอบเขา นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “การคิดเอนเอียงเพื่อเข้าข้างตัวเอง” (Confirmation/ Myside Bias) ความคิดนี้เกิดจากที่สมองของเรา ชอบหาวิธีควบคุมข้อเท็จจริงให้อยู่ใต้สิ่งที่เราคิดเองเพื่อให้เรารู้สึกปลอดภัย และสมองเรายังสามารถเก็บภาพจำจากตอนที่เขาทำให้เราไม่เชื่อใจ หรือทำให้เราเสียใจ ซึ่งการจะลบภาพจำนั้นเป็นเรื่องยากอีกด้วย

เมื่อเราไม่ชอบใคร ใจเรานี่แหละที่จะไม่มีความสุข และพลอยเสียเวลาในการพัฒนางานไปด้วย ดังนั้น ถ้าเราอยากให้คนที่เราไม่ชอบดูน่ารำคาญน้อยลง หรือเรารู้สึกเครียดน้อยลงเวลาต้องเจอพวกเขา คงต้องลองดูตัวเองแล้วถามว่า “เราเต็มใจทำงานนี้ไหม” ถ้าเราตอบว่า ไม่เต็มใจ ลองคิดถึงส่วนที่เราจะอยากทำในงานนี้ดู อาจจะเป็นโอกาสในการโชว์ฝีมือหรืออื่นๆ แทนที่เราจะจมอยู่กับอารมณ์บูดทำให้การทำงานดูน่าขัดไปเสียทุกอย่าง นี่คงช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้นเยอะ

2. ประพฤติตัวแบบมีวุฒิภาวะ

ได้เวลาที่เราจะเช็กความฉลาดทางอารมณ์ และการเลือกใส่ใจสถานการณ์นั้นๆ เช่น เวลาบางคนทำตัวหยาบคายกับเรา เราสามารถเลือกที่จะคิดว่า “พวกเขาไม่ชอบเรา” หรือจะ “เอาตัวเองออกจากสถานการณ์นั้นแล้วคิดซะว่า พวกเขาอาจจะเพิ่งเจอสิ่งแย่ๆ มา” แต่เราไม่ควรยอมให้พฤติกรรมแบบเด็กๆ มาควบคุมตัวเรา 

สิ่งที่ควรทำคือแสดงพฤติกรรมที่ช่วยให้เราดูมีวุฒิภาวะมากขึ้น อย่างการค่อยๆ ถอยตัวเองจากบทสนทนาที่ไม่สร้างสรรค์ได้อย่างสุภาพหรือเลือกจะเผชิญหน้ากับใครบางคนอย่างให้เกียรติแบบตัวต่อตัว เพื่อพูดคุยปัญหาก่อนจะกลายเป็นเรื่องใหญ่โต 

เช่น ถ้าเพื่อนร่วมงานของเรามีนิสัยที่ชอบสั่งและเปลี่ยนใจไปมา เราอาจหาวิธีเผชิญหน้ากับพวกเขาแล้วอธิบายไปว่า เราทำตามแผนงานไปแล้ว และการเปลี่ยนแผนจะส่งผลกระทบต่อหลายๆ ฝ่าย ลองมาประเมินสถานการณ์ผลดี-ผลเสียในการเปลี่ยนแผน และขอเสียงโหวตจากทุกฝ่ายจะดีกว่า นี่จะช่วยให้เราสามารถรับมือกับเพื่อนร่วมงานที่ชอบสั่งเปลี่ยนงานแบบฉับพลันได้ในระยะยาว

3. ให้เกียรติสิ่งที่เพื่อนร่วมงานเสนอในที่ประชุม

ทุกคนมีจุดแข็งและทักษะที่เป็นประโยชน์ของตัวเอง ลองหาสิ่งที่เราสามารถชื่นชมเพื่อนร่วมงานคนนั้น บางทีพวกเขาอาจจะเก่งด้านการคิดที่รอบด้าน หรือสามารถจดจำรายละเอียดปลีกย่อยได้อย่างน่ามหัศจรรย์ ไม่ก็พวกเขาอาจจะถนัดสร้างเสียงหัวเราะในยามที่ห้องประชุมเครียดเกินไป

ที่สำคัญคือการไม่ด้อยค่าเกียรติและความคิดของคนอื่น แม้เขาจะคิดไม่เหมือนเราเลยก็ตาม ให้เรามีความเห็นอกเห็นใจและเปิดใจรับไอเดียผู้อื่นอยู่เสมอ จดจำไว้ว่า “ความแตกต่าง คือ กุญแจสำคัญในการแก้ปัญหายากๆ ได้อย่างสร้างสรรค์”

4. อย่าจมอยู่กับสิ่งที่เป็นด้านลบ

อย่ามัวแต่สาปแช่งให้คนอื่นมาประชุมสายหรือทำงานผิดพลาด แต่ให้ลอง

คิดว่า “เราจะแสดงออกกับสิ่งที่พวกเขาทำผิดพลาดอย่างไร” ลองคิดถึงสิ่งที่กระตุ้นอารมณ์เรา แล้วจดลงกระดาษว่า “เราจะตอบสนองยังไงและทำไมเราถึงทำตัวแบบนั้นออกไป” 

เมื่อเรารู้ว่าอะไรที่ทำให้เราโมโห เราจะสามารถตัดสินใจได้ว่า “เราควรปล่อยผ่านไป” หรือ “หยิบมาพูดคุยสนทนาแบบไตร่ตรองมาดีแล้ว” โดยการพูดถึงผลกระทบที่เราต้องเจอจากการกระทำนั้นของเขา ผ่านการพูดคุยแบบตัวต่อตัว หรือ Brainstorm กับเพื่อนร่วมงานคนนั้นว่า เราจะทำงานคู่ให้ดีที่สุดได้อย่างไร ก็จะช่วยเปลี่ยนแปลงความคิดของทั้งสองฝั่งให้เข้าใจกันมากขึ้นได้

5. ลองสานสัมพันธ์กับคนอื่น

การมองหาแง่มุมดีๆ ในตัวของคนที่เราไม่ชอบอาจเป็นเรื่องยาก และหากเป็นไปได้เราก็คงไม่อยากพูดคุยหรืออยู่ใกล้ชิดเขาเท่าไร แต่อย่างไรก็ต้องทำงานร่วมกัน ในเมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราก็น่าจะลองสานสัมพันธ์กับคนคนนั้นดู โดยอาจเริ่มด้วยบทสนทนาในเรื่องที่เราทั้งสองคนสนใจร่วมกันและเป็นเรื่องแง่บวก 

เช่น ชื่นชมในความสำเร็จของโปรเจกต์ที่ผ่านมา ระหว่างพูดคุยให้พยายามหานิสัยหรือแง่มุมดีๆ ของเขา ซึ่งจะทำให้เราไม่จมอยู่กับพฤติกรรมภายนอกที่เราไม่ชอบ เช่น เหตุการณ์ที่เขาเคยพูดขัดหรือพูดแทรกเราในที่ประชุม โดยวิธีนี้ยังสร้างความสัมพันธ์ที่ให้เกียรติและเพิ่มความสันติมากขึ้น เมื่อเราทำตามวิธีนี้สำเร็จ เราจะพบว่า เราทุกคนล้วนทำผิดพลาดกันได้

6. มีกลยุทธ์ที่ดี

เมื่อคิดถึงปลายทางที่จะไปให้ถึง บางทีเราอาจต้องเปลี่ยนวิธีทำงานกับคน หรือทุ่มเทเวลามากขึ้นเพื่อช่วยเพื่อนร่วมงานให้มีทักษะในการทำงาน รวมไปถึงช่วยให้พวกเขาเข้ากับคนอื่นๆ ในบริษัทได้ หรือให้ Feedback ที่ดีและมีความหมายต่อผู้รับ แม้เขาจะเป็นคนที่เราไม่ชอบก็ตาม

และจำไว้ว่า “ความสำเร็จของเขา = ความสำเร็จของเรา” เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เป้าหมายขององค์กร และเราต้องทำเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์นั้น ดังนั้น เราควรจะรู้หน้าที่ของตัวเองและผู้อื่น เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน และเห็นภาพที่ชัดเจนว่า อะไรคือความสำเร็จที่มองหา

7. เลือกสู้เพื่อสิ่งที่สำคัญ

ทุกข้อที่ผ่านมานั้นบอกให้เราเริ่มแก้ไขที่ตัวเอง หรือปรับมุมของตัวเองก่อน แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องยาก เหมือนเรากำลังต่อสู้กับความโกรธหรือเกลียดในใจของเราเอง แต่เชื่อเถอะว่า เมื่อเราประเมินความคุ้มค่าจากผลประโยชน์ที่ได้รับ บางการต่อสู้ก็คุ้มค่าให้เราสู้อย่างแน่นอน

ทว่าในบางครั้ง ถ้าเรากำลังถูก ‘เล่นงาน’ หรือปฏิบัติไม่ดีต่อไปเรื่อยๆ  เราก็ควรรักษาสิทธิ์ของตัวเอง และแก้ไขให้ถูกต้อง ด้วยวิธีที่สร้างสรรค์ เช่น ถ้าถูกกลั่นแกล้ง คุณก็ไม่จำเป็นต้องยอม

แต่ถ้าพิจารณาโดยไร้อคติและพบว่ามันเป็นเหตุสุดวิสัย หรือเป็นเรื่องเล็กน้อยมากๆ ก็ไม่จำเป็นต้องเก็บมาใส่ใจ อย่างการที่เพื่อนร่วมงานเผลอทำเราโกรธโดยไม่ได้เจตนา หรือนำเสนอมุมมองที่แตกต่างจากเรา เป็นต้น

สุดท้ายแล้ว สิ่งที่จำเป็นที่สุดในการทำงานกับคนที่ไม่ชอบ ก็คือการมีความเห็นอกเห็นใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา และมองให้รอบด้าน เพื่อให้ทำงานได้อย่างราบรื่นที่สุด

เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง:
– ไม่อยากทำงาน แต่ก็ต้องทำ! ลอง 10 วิธีที่จะทำให้คุณมี “ความสุขในการทำงาน” มากขึ้น
– 5 องค์ประกอบการมี “Social Intelligence” ทักษะในโลกที่หลากหลาย เมื่อการเข้าใจผู้อื่นทำให้เราเป็นที่รักและประสบความสำเร็จ

อ้างอิง
https://bit.ly/3dvuoPa
https://cnb.cx/31GPW8w

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskill

ติดตามข่าวสารอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/category/news/