เรียงความ เรื่อง 3 จังหวัด ชายแดน ภาคใต้

ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกี่ยวข้องเนื่องกับมิติทางวัฒนธรรม ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขด้วยสันติวิธี อันเป็นทางออกทางการเมืองหลัก มิใช่การทหาร ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายภูมิปัญญาทางการเมือง การปกครองที่แหลมคมยิ่งในปัจจุบัน จำเป็นต้องใช้สติและเหตุผลโดยปราศจากอคติในการวิเคราะห์สถานการณ์อย่างรอบคอบและรอบด้าน เพื่อที่จะเข้าใจปัญหาได้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ในอันที่จะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการกำหนดยุทธศาสตร์ เป้าหมาย และแนวทางแก้ไขเชิงนโยบายที่นำไปปฏิบัติแล้วเกิดประสิทธิผล ทำให้ความรุนแรงลดระดับลงจนสถานการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติได้ในที่สุด

* ใครขัดแย้งกับใคร?

ปัญหาใจกลางของความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัฐไทย กับ กลุ่มขบวนการต่อสู้ที่ปาตานี (ปาตานี คือ ดินแดนที่ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และอีก 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ เทพา จะนะ สะบ้าย้อย และนาทวีในปัจจุบัน ทั้งนี้ มีการสันนิษฐานในหมู่นักวิชาการประวัติศาสตร์บางส่วนว่าอาจจะครอบคลุมบริเวณพื้นที่มากกว่านี้ อ้างอิงจากภาคผนวกของรายงานผลการศึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร 2552)

ที่มีกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต (BRN Co-ordinate) เป็นกลุ่มหลัก ซึ่งใช้ความรุนแรงก่อความไม่สงบในพื้นที่โดยอ้างถึงอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน เนื่องจากรู้สึกไม่พอใจต่อการยึดครองปาตานีของรัฐสยามในอดีต ตลอดจนมีความคับข้องใจต่อนโยบายและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนที่ทำให้รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม อันเป็นการรับรู้สะสมมาตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน โดยมีประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้ได้รับผลกระทบท่ามกลางบรรยากาศของความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างรัฐกับประชาชน รวมทั้งประชาชนกับประชาชนด้วยกันเอง

จากการที่ได้พูดคุยกับแกนนำทางความคิดของกลุ่มขบวนการกลุ่มก็ทำให้ได้รับรู้ว่า "ภายในกลุ่มขบวนการเองก็มีความเห็นที่แตกต่างกันทั้งในแง่าของเป้าหมายและวิธีการ" กล่าวคือ มีทั้งอุดมการณ์ที่จะแบ่งแยกดินแดนและความต้องการที่จะให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างเต็มรูปแบบ และมีทั้งที่มุ่งใช้ความรุนแรงและที่ต้องการจะใช้สันติวิธีผ่านการพูดคุยกับฝ่ายรัฐ โดยต้องการที่จะให้รัฐบาลจัดตั้งองค์กรหรือสถาบัน เฉพาะซึ่งได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเร่งรัดให้เกิดหน่วยงานที่รับผิดชอบการพูดคุยสันติดภาพ (Peace Talk) ในการหาทางออกร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความโปร่งใสและจริงใจ

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าแท้จริงแล้ว หากมีการทำความเข้าใจระหว่างกันกับกลุ่มขบวนการ ทางออกที่เป็นไปได้นั้นอาจจะไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน หากแต่เป็นการอยู่ร่วมกันบนผืนแผ่นดินไทย ภายใต้สภาพแวดล้อม ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของชาวมลายูปาตานี

กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเชื่อมโยงกันกับกลุ่มขบวนการต่อสู้ที่ปาตานีในเชิงความรู้สึก คือ กลุ่มต่อต้านอำนาจรัฐ ซึ่งต้องการตอบโต้การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน ที่ทางกลุ่มรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม ญาติพี่น้องบางส่วนของผู้ที่ถูกซ้อมทรมาน ถูกจับผิดตัวจนเกิดความเจ็บแค้นที่ฝังลึก หรือ การถูกเลือปฏิบัติหรือถูกรังแกอันเนื่องมาจากอคติลึกๆ ทางชาติพันธุ์ที่รัฐไม่ยอมรับตัวตนความเป็นมลายูปาตานี กลุ่มนี้จึงต้องการให้รัฐใช้อำนาจอย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ

การใช้ความรุนแรงของทั้งสองกลุ่มนี้ อาจจะมีทั้งที่เป็นอิสระจากกันโดยไม่ขึ้นอยู่ในสายบังคับบัญชาของกันและกัน และที่มีความเชื่อมโยงหนุนเสริมกันในลักษณะของแนวร่วมที่ให้การสนับสนุนการก่อความไม่สงบ ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ โดยมีประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นเหยื่อ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้ง ซึ่งแท้จริงแล้ว สิ่งที่ประชาชนเหล่านี้ต้องการมีเพียงความเป็นมนุษย์ปุถุชนที่กินอิ่มนอนหลับ สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเต็มที่ และอยู่ในสังคมไทยได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีเท่านั้น

นอกจากกลุ่มขบวนการต่อสู้ที่ปาตานี และกลุ่มต่อต้านอำนาจรัฐซึ่งก่อให้เกิดสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่แล้ว ยังมีกองกำลังไม่ทราบฝ่ายและกลุ่มบุคคลที่แสวงประโยชน์ จากสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในพื้นที่ด้วย

โดยกองกำลังไม่ทราบฝ่าย นี้คือ กองกำลังที่สร้างความรุนแรงในพื้นที่แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นกองกำลังของรัฐ ของกลุ่มต่อต้านรัฐหรือฝ่ายใด ซึ่งกองกำลังนี้ก็ทำให้เกิดความสับสนในพื้นที่อย่างมาก ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ปลอดภัย และนำมาซึ่งความปวาดระแวงระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกันเองมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กลุ่มบุคคลที่แสดงประโยชน์จากสถานการณ์นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มอิทธิพลที่ดำเนินธุรกิจผิดกฎหมายในพื้นที่ และกลุ่มบุคคลที่หาประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดิน

กลุ่มอิทธิพบที่ดำเนินธุรกิจผิดกฎหมายในพื้นที่ คือ ขบวนการค้ายาเสพติด และกลุ่มลักลอลขนสินค้าหนีภาษี มีส่วนในการก่อเหตุรุนแรงและส่งผลให้ความขัดแย้งขยายตัวด้วย ซึ่งในบางครั้งก็เป็นการร่วมมือกันกับกลุ่มขบวนการต่อสู้ที่ปาตานี บางส่วนในลักษณะที่สมประโยชน์ต่อกัน โดยกลุ่มนี้มีเป้าหมายเฉพาะเพื่อแสวงประโยชน์ทางธุรกิจนอกระบบ ภายใต้เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น

เมื่อกล่าวถึงกลุ่มบุคคลที่แสวงประโยชน์แล้ว ก็ไม่อาจละเลยที่จะกล่าวถึงความรู้สึกของชาวบ้าน ที่ลือกันในพื้นที่ว่ามีกลุ่มบุคคลที่หาประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดิน ในกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคอร์รัปชั่นหรือผลประโยชน์ทับซ้อน ของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน ซึ่งความจริงเป็นอย่างไรในเวลานี้คงยังไม่มีผู้ใดตอบได้ แต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับการรับรู้ของประชาชนว่ามีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้น ทำให้เกิดความรู้สึกว่ารัฐไม่มีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง แต่ต้องการ "เลี้ยงไข้" เพื่อหาประโยชน์จากงบประมาณรัฐที่มีจำนวนมหาศาล ซึ่งจะเห็นได้จากตัวเลขที่ทาง ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ได้สรุปเอาไว้ว่าในรอบ 5 ปีของการแก้ไขปัญหานั้น ภาครัฐใช้งบประมาณไปแล้วประมาณ 109,000 ล้านบาท ซึ่งได้มีการคำนวณต้นทุนในการบริหารจัดการแล้วพบว่า จะต้องใช้งบประมาณถึง 88 ล้านบาทต่อการทำให้เหตุการณ์ลดลง 1 เหตุการณ์

อย่างไรก็ตาม แม้จะถือว่าปัญหากลุ่มบุคคลที่แสวงประโยชน์จากสถานการณ์ความขัดแย้ง ไม่ว่าจะในรูปของธุรกิจผิดกฏหมาย หรือ การหาประโยชน์จากวบประมาณแผ่นดินนี้เป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข แต่ก็มิได้มีความสำคัญในลำดับแรก และที่สำคัญคือ มิได้เกี่ยวข้องกับงานของสันติวิธี กล่าวคือ ไม่ใช่ปัญหาความขัดแย้งที่ต้องได้รับการแก้ไขด้วยสันติวิธี หากแต่เป็นการกระทำผิดกฎหมายในลักษณะความอาญาที่ไม่จำเป็นต้องทำความเข้าใจถึงสาเหตุรากเหง้าของการกระทำ ทางออกในการแก้ไขปัญหาต่อกลุ่มนี้ จึงต้องจัดการตามกฎหมายอย่างเด็ดขายเพียงอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องมีการพูดคุยเพื่อรับฟัง ทำความเข้าใจ หรือหาทางออกร่วมกันแต่อย่างใด