จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เอกสาร

จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เอกสาร

การเริ่มต้นอาชีพ “พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์” ให้ราบรื่นนั้น สิ่งหนึ่งที่มือใหม่ไม่ควรมองข้ามคือการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับร้านค้าออนไลน์ของคุณ ด้วยการ “จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” นอกจากจะเป็นการแสดงสถานะการมีตัวตนของร้านอย่างถูกกฎหมายแล้ว ยังส่งผลให้ลูกค้ามีความมั่นใจและเชื่อใจทุกครั้งที่เข้ามาสั่งซื้อของจากทางร้านอีกด้วย

หากใครที่กำลังจะเปิด “ร้านค้าออนไลน์” ในเร็วๆ นี้ POST Family จะมาบอกเล่าขั้นตอน “จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” รวมถึงข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยทำให้คุณค้าขายได้อย่างราบรื่น และมั่นใจได้ว่าลูกค้าจะมีความเชื่อถือในร้านของคุณมากขึ้น

ทำไม? ต้อง “จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์”

ใครที่คิดจะเริ่ม “ขายออนไลน์” เป็นครั้งแรก นอกจากเตรียมตัวเรื่องงบลงทุน มองหาสินค้าที่อยากขาย ช่องทางการขาย และระบบขนส่งที่สะดวกรวดเร็วแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม ก็คือการ “จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์”

ข้อมูลจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์นั้น ก็เพื่อให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือ จากการมีสถานะตัวตนทางกฎหมาย และเพื่อเป็นประโยชน์ในการทำธุรกรรมกับหน่วยงานต่างๆ อีกทั้งยังจะช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค

โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าอาศัยอำนาจตามกฎหมายทะเบียนพาณิชย์ กำหนดให้ผู้ขายสินค้าหรือบริการทางอินเทอร์เน็ต ทั้งเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์หรือ Social Media ต้องจดทะเบียนพาณิชย์การประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้ประกอบการแสดงตนอย่างเปิดเผยต่อทางราชการ

ประโยชน์ของการ “จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์”

นอกจากเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว เจ้าของธุรกิจ “ขายออนไลน์” หลายคน ก็อาจจะอยากรู้เพิ่มเติมว่า นอกจากการจดทะเบียนฯ จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ธุรกิจแล้ว ยังมีประโยชน์อื่นๆ ที่จะได้รับอีกหรือไม่? คำตอบคือ มี! และถือเป็นข้อดีของการจดทะเบียนฯ ด้วย ได้แก่

1. หลังจดทะเบียนฯ เจ้าของธุรกิจจะมีสิทธิ์ในการเข้ารับการอบรม ตามหลักสูตรที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำหนด ถือเป็นโอกาสในการพัฒนาความรู้ด้านธุรกิจ การบริหารร้านค้า เรียนรู้เทคนิคการตลาดแบบไม่มีค่าใช้จ่าย

2. ช่วยสร้างเครดิตให้กับ “ร้านค้าออนไลน์” ในสายตาของสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการขอสินเชื่อเงินกู้ ยื่นขอกู้เงินทุนหมุนเวียน หรือแม้แต่การขอสินเชื่อเรื่องอื่นๆ ก็สามารถใช้ทะเบียนร้านค้าพาณิชย์เป็นหลักฐานประกอบการยื่นเอกสารทางการเงินได้เช่นกัน

3. ช่วยให้หน่วยงานภาครัฐเก็บข้อมูลสถิติร้านค้าออนไลน์ได้ง่ายขึ้น รัฐจะได้สามารถดำเนินการตามนโยบายทางเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน, การช่วยเหลือผู้ประกอบการ, การสนับสนุนธุรกิจออนไลน์, การลงทุนต่างประเทศ ฯลฯ

โดยเมื่อร้านค้าออนไลน์ของคุณเข้าไปอยู่ในระบบฐานข้อมูลของภาครัฐแล้ว พ่อค้าแม่ค้าก็ได้ประโยชน์ตรงนี้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่มีการเยียวยาหรือช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าในภาวะวิกฤติการระบาดของโควิด-19 กลุ่มร้านค้าออนไลน์ที่จะได้รับการช่วยเหลือแน่ๆ ก็คือ ร้านค้าที่มีรายชื่ออยู่ในระบบฐานข้อมูลของรัฐนั่นเอง

หากไม่ “จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” มีสิทธิ์ถูกปรับ

ผู้ค้าออนไลน์ทุกคนจะต้องรู้จัก “ประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2553 มาตรา 5” ซึ่งบังคับให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจ ดังต่อไปนี้ ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ได้แก่ กิจการที่มีการซื้อ-ขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

หรือการบริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือบริษัทมหาชนจำกัดทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร)

ดังนั้น การขายสินค้าออนไลน์ จึงนับเป็นพาณิชยกิจที่ต้องจดทะเบียนตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับดังกล่าว

อีกทั้ง ผู้ค้าออนไลน์ต้องรู้จัก “พ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499” เอาไว้ด้วย เนื่องจากเป็นกฎหมายที่กำหนดบทลงโทษไว้ในมาตรา 19 ที่ระบุว่า หาก “ร้านค้าออนไลน์” ไม่จดทะเบียนตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ หรือแสดงรายการเท็จ หรือไม่มาให้นายทะเบียนพาณิชย์สอบสวน ไม่ยอมให้ถ้อยคำ หรือไม่ยอมให้ทะเบียนพาณิชย์หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบนั้น จะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และให้ปรับอีกวันละ 100 บาท จนกว่าจะจดทะเบียนแล้วเสร็จ

ใครบ้างที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์?

1. ผู้ขายสินค้า/บริการ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และ Social Media

2. ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider : ISP)

3. ผู้ให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (WebHosting)

4. ผู้ให้บริการเป็นตัวกลางในการซื้อขายสินค้า/บริการ ผ่านอินเทอร์เน็ต (E-Marketplace) เช่น Lazada Shopee ฯลฯ

โดยต้องขอจดทะเบียนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันเริ่มค้าขาย ผู้ค้าต้องทำเว็บไซต์ที่จะใช้ขายสินค้าให้เรียบร้อย เช่น ลงรูปสินค้า คำบรรยาย ราคา วิธีชำระเงิน และวิธีจัดส่งให้ครบถ้วน

จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เอกสาร

รู้ขั้นตอนการยื่นจดทะเบียนฯ และเช็กจุดให้บริการ

ผู้ขายสินค้าหรือบริการผ่านทางออนไลน์ สามารถเดินทางไปจดทะเบียนพาณิชย์ ณ สำนักงานเขตในกรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตามที่ตั้งของสถานประกอบการหรือตามที่อยู่ของผู้ขาย โดยเอกสารที่จำเป็น ได้แก่ บัตรประชาชนตัวจริง สำเนาบัตรประชาชน รูปหน้าแรกของเว็บไซต์ (Print เป็นเอกสารเตรียมไปด้วย)

ส่วนขั้นตอนการยื่นจดทะเบียน และเอกสารสำคัญที่ใช้จดทะเบียนพาณิชย์เล็กทรอนิกส์  มีดังนี้

จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เอกสาร

วิธีขอเครื่องหมาย “DBD Registered” รับรองธุรกิจออนไลน์

เมื่อพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ผ่านขั้นตอนการยื่นจดทะเบียนฯ เรียบร้อยแล้ว จากนั้นก็สามารถขอใช้เครื่องหมายรับรองผู้ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่าเครื่องหมาย “DBD Registered” ได้เลย โดยเครื่องหมายนี้มีประโยชน์คือ ใช้แสดงความมีตัวตนในการประกอบธุรกิจ e-Commerce โดยแสดงไว้บนหน้าเว็บไซต์ร้านค้าของคุณ และสามารถคลิกตรวจสอบข้อมูลความมีตัวตนมายัง www.trustmarkthai.com ได้

จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เอกสาร

สำหรับช่องทางในการยื่นขออนุญาตใช้เครื่องหมาย “DBD Registered” สามารถแจ้งขอใช้เครื่องหมายฯ ได้ที่ กองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร. 0-2547-5960 หรือ เว็บไซต์ www.trustmarkthai.com หรือ ส่งเอกสารมาที่ e-Mail : [email protected] หรือ โทรสาร 0-2547-5973

NOTE : เครื่องหมายรับรองผู้ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จะมีอายุการใช้งานเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่กรมอนุมัติให้มีกำหนดใช้

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งเครื่องหมายที่ควรรู้ คือ “เครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือ” หรือเรียกว่า “DBD Verified แต่การจะขอเครื่องหมายประเภทนี้ ต้องผ่านเงื่อนไขและคุณสมบัติที่ซับซ้อนมากกว่าประเภทแรก แต่ “พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์” จะเรียนรู้เอาไว้ก็ไม่เสียหาย โดยมีรายละเอียดคร่าวๆ คือ

DBD Verified เป็นเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือ เพื่อยกระดับการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค ที่ต้องการมองหาร้านค้าออนไลน์ที่มีความน่าเชื่อถือสูง แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับ Silver (ดี), ระดับ Gold (ดีมาก) และ ระดับ Platinum (ดีเด่น)

จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เอกสาร

โดยจะออกให้แก่ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่จดทะเบียน และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์กำหนด และมีคุณภาพผ่านเกณฑ์ประเมิน ตามมาตรฐานคุณภาพธุรกิจ e-Commerce ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เช่น

  • เป็นบุคคลธรรมดา/นิติบุคคล ที่ทำธุรกิจร้านค้าออนไลน์และจดทะเบียนพาณิชย์ฯ แล้ว
  • กรณีเป็นนิติบุคคลต้องจัดส่งงบการเงินด้วย
  • ต้องเป็นเจ้าของโดเมนเนม
  • มีระบบการสั่งซื้อ การชำระเงิน และการจัดส่ง
  • ประเภทสินค้าต้องไม่ขัดต่อกฎหมายพาณิชย์
  • สินค้าที่กระทบต่อเด็ก/เยาวชน ต้องมีข้อความเตือน เป็นต้น

NOTE :  เครื่องหมายประเภทนี้ จะมีอายุการใช้งานเป็นเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันอนุญาตและสามารถยื่นขอต่ออายุได้ปีต่อปี สามารถยื่นขอได้ที่เว็บไซต์ www.trustmarkthai.com เช่นกัน

อ่านมาถึงตรงนี้ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์คงมองเห็นประโยชน์ของการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กันแล้ว เอาเป็นว่าใครกำลังจะเปิดร้านออนไลน์ ก็รีบไปจดทะเบียนร้านกันดีกว่า ทั้งนี้ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์มือใหม่ไม่ต้องกังวลเรื่องจดทะเบียนร้านแล้วโดนตรวจสอบการเสียภาษี เพราะจริง ๆ แล้ว การเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมายก็มีข้อดี คือ จะช่วยลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจได้ หากอยากเรียนรู้เรื่องภาษีสำหรับผู้ค้าออนไลน์ให้มากขึ้น เข้ามาดูเพิ่มเติมได้ที่ เรื่องภาษีน่ารู้ สำหรับผู้ค้าออนไลน์

บทความที่เกี่ยวข้อง

  • เพิ่มยอด ‘ขายออนไลน์’ ไปต่างประเทศ ต้องส่งไวถึงลูกค้าทั่วโลกด้วย ‘COURIER POST’
  • ‘พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์’ ต้องรู้! วิธีรับมือเมื่อโดน ‘ก๊อบปี้รูปภาพ’ ไปใช้ใน ‘ONLINE MARKETPLACE’
  • รู้จัก ‘CROWDFUNDING’ แพลตฟอร์มระดมทุน ‘แหล่งขอเงินลงทุนใหม่’ ของคนมีไอเดีย

Post Views: 36,486