ระบบเศรษฐกิจแบบต่างๆ

ระบบเศรษฐกิจ (Economic Systems) ประกอบด้วย กลุ่ม หรือ หน่วยเศรษฐกิจ คือ ครัวเรือน ธุรกิจ หรือ บริษัท และ องค์กรรัฐบาล โดยหน่วยเศรษฐกิจต่าง ๆ มีความสัมพันธ์กัน เราเรียกว่า การหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ การรวมตัวของหน่วยเศรษฐกิจจะกลายเป็นสถาบันเศรษฐกิจหรือเราเรียกว่า ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ระบบ คือ

1.ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือเสรีนิยม (Capitalism or Free Enterprise Economic System) 

เป็นระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมานาน เป็นที่นิยมหลายประเทศ ส่วนมากอยู่ในประเทศทางยุโรปตะวันตก และ อเมริกา ในระบบนี้ทุกคนสามารถมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและมีเสรีภาพ เป็นระบบที่มีเสรีภาพในทางเศรษฐกิจ โดยที่ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างอิสระในการตัดสินใจทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเงิน ไม่ว่าจะเป็นการผลิต แปรรูป และจำหน่าย หรือการให้บริการต่างๆ ระบบนี้กลไกของราคาจะมีบทบาทมากที่สุด และรัฐบาลเข้ามาแทรกแซงน้อยที่สุด
ระบบเศรษฐกิจแบบต่างๆ
Capitalism or Free Enterprise Economic System
กลไกราคาและระบบการแข่งขันเป็นเครื่องช่วยในการตัดสินใจในการผลิต (Production) แปรรูป (Processing) และจำหน่าย (Distribution) โดยที่ทุกคนต่างก็มุ่งหวังที่จะได้สิ่งของต่างๆ ที่ตนต้องการโดยได้รับผลตอบแทนมากที่สุด สำหรับผู้ผลิตและให้ได้รับความพึงพอใจมากที่สุดสำหรับผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม กิจการบางอย่างต้องขออนุญาตจากรัฐบาลในการขอกรรมสิทธิ์ เช่น การขอสัมปทานป่าไม้หรือเหมืองแร่ เป็นต้น
ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ในทางปฏิบัติมักมีปัญหาในเรื่องประสิทธิภาพ ความเสมอภาค ความไม่มีเสถียรภาพ ปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

2.ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (Socialism or Socialistic Economic System) 

ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม เป็นระบบที่กิจกรรมขนาดใหญ่รัฐจะเข้าไปควบคุม ดำเนินการทั้งหมด ส่วนกิจการขนาดเล็กยังอนุญาตให้เอกชนเข้าดำเนินการได้
รัฐบาลมีกรรมสิทธิ์หรือเป็นเจ้าของ และ เข้าดำเนินการในบางส่วนหรือทั้งหมดของทุน (ปัจจัยการผลิต) ที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจ โดยมิได้มีการแจกแจงความแตกต่างระหว่างวิธีการต่างๆ ที่รัฐบาลจะใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งการควบคุมทรัพย์สินเหล่านั้น หรือมีการกล่าวถึงความรุนแรงของอำนาจที่รัฐจะใช้กับผู้ผลิตหรือผู้บริโภค ดังนั้น ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมจึงรวมไปถึงแบบที่รู้จักกันทั่วไปว่า แบบคอมมิวนิสต์ (Communism)
ระบบเศรษฐกิจแบบต่างๆ
Socialism or Socialistic Economic System
ลักษณะสำคัญของระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมแบบประชาธิปไตยก็คือ มีจุดมุ่งหมาย
ที่จะได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือเข้าดำเนินการในอุตสาหกรรมสำคัญและอุตสาหกรรมพื้นฐานทั้งหมด เช่น สิ่งสาธารณูปโภค อันได้แก่ การขนส่ง การคมนาคม การไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ ตลอดจนอุตสหกรรมขนาดใหญ่บางอย่าง โดยที่รัฐบาลจะไม่เข้าดำเนินการในอุตสาหกรรมทุกประเภท หรือ ควบคุมวิถีทางการผลิตของอุตสาหกรรมเหล่านั้น นั่นคือการเกษตรกรรม การค้าปลีกและค้าส่งการบริการและการผลิตขนาดเล็ก ยังคงปล่อยให้เอกชนทำจนกว่าจะถึงเวลาที่รัฐบาลจำเป็นต้องเข้าดำเนินการในธุรกิจเหล่านั้น

3.ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ (Communism) 

ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ (Communism) เป็นระบบที่รัฐบาลเข้ามาดำเนินกิจกรรมทั้งหมด ตั้งแต่การตัดสินใจสั่งการดำเนินงานทั้งหมด ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป และจำหน่าย โดยที่เอกชนไม่มีอำนาจในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้
ลักษณะสำคัญของระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ (Communism)
ปัจจัยการผลิตทุกชนิดเป็นของรัฐบาล ดังนั้นอุตสาหกรรมทุกชนิดรวมทั้งการเกษตร การค้าปลีกและการค้าส่ง ตลอดจนการบริการอยู่ในการควบคุมของรัฐบาล เอกชนไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเหล่านั้น ความเห็นของผู้ที่เชื่อถือระบบเศรษฐกิจแบบนี้ก็คือ รัฐบาลควรหาทางครอบครองหรือได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตด้วยวิธี เวนคืนหรือบังคับซื้อ (Expropriation) มากกว่าด้วยวิธีการตามกระบวนการทางกฎหมายเอกชนไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและปัจจัยการผลิตซึ่งเป็นของรัฐ เสรีภาพในการเลือกบริโภคของประชาชนถูกจำกัดมาก เนื่องจากต้องซื้อสินค้าและบริการจากสิ่งที่รัฐเป็นผู้ผลิตเท่านั้น ซึ่งสิ่งของเหล่านั้นอาจไม่ถูกใจหรือไม่ใช่สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ระบบเศรษฐกิจแนวนี้อ้างก็คือ การพยายามจัดการเพื่อสวัสดิการของประชาชนของประเทศ
ระบบเศรษฐกิจแบบต่างๆ
Communism
ในระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมแนวคอมมิวนิสต์นี้ ผู้บริหารส่วนกลาง (Central Authority) เป็นผู้วางแผนทั้งหมดในเรื่องการผลิต เป็นผู้ตัดสินเรื่องชนิดของสินค้าที่จะผลิตและเป็นผู้บงการว่าจะจัดสรรสินค้าที่ผลิตแล้วไปให้ใครบ้าง โดยอาจอาศัยระบบราคาหรือ ระบบการปันส่วน  การจัดการเกี่ยวกับวัตถุดิบ แรงงาน และปัจจัยการผลิตชนิดอื่นๆ ก็เป็นหน้าที่ของส่วนกลางดังกล่าว ซึ่งรวมทั้งการวางแผนเพื่อขยายกิจการบางอย่างในอนาคตด้วย

4.ระบบเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed Economic System) 

ระบบเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed Economic System) เป็นการนำเอาส่วนดีของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือเสรีนิยม มารวมกับระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม คือ ทุกคนมีอิสระที่จะผลิต แปรรูป และจัดจำหน่าย หรือการให้บริการต่างๆ ตลอดจนการกระจายรายได้ไปยังประชาชนมีมากขึ้น เป็นผลดีทำให้เศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก
ระบบเศรษฐกิจแบบต่างๆ
Mixed Economic System
เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะส่วนหนึ่งเป็นแบบเสรีนิยมและอีกส่วนหนึ่งเป็นแบบสังคมนิยม ในส่วนที่เป็นแบบเสรีนิยม หมายความว่า เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินบางอย่าง เช่น ทุนทรัพย์ที่จำเป็นเพื่อใช้ในการเพาะปลูก อันได้แก่ เครื่องมือกล ที่ดิน และปัจจัยการผลิตอื่นๆ นอกจากนี้ธุรกิจบางอย่างที่เอกชนเป็นผู้ประกอบการก็มีลักษณะแบบเสรีนิยม คือ มีการแข่งขันเสรีมีการโฆษณาและดำเนินการเพื่อค้าขายสินค้าเหล่านั้น การผลิตสินค้าและบริการตลอดจนการนำเอาสินค้าเข้ามาขายนั้นได้มีการคิดคำถึงถึงรสนิยม ความชอบ และความพึงพอใจของผู้บริโภค หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ผู้บริโภคมีเสรีภาพในการเลือกกระทำการบางอย่าง ไม่ถึงกับต้องถูกตัดริดรอนสิทธิและเสรีภาพในทุกๆ กรณี โดยทั่วๆ ไปกลไกการทำงานของระบบได้อาศัยระบบตลาดหรือราคา เช่น ผู้ที่ให้หรือเสนอราคาสูงย่อมได้สินค้านั้น ในทำนองเดียวกันระบบการว่าจ้างก็คงใช้ระบบราคาเป็นสิ่งช่วยในการตัดสิน
ระบบเศรษฐกิจแบบต่างๆ
Mixed Economic System
ในส่วนที่เป็นแบบสังคมนิยมนั้น หมายความว่า รัฐบาลได้เข้ามาควบคุมหรือเข้ามาดำเนินการในธุรกิจบางอย่างที่มีส่วนสัมพันธ์ หรือมีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เช่น กิจการสาธารณูปโภคหรืออุตสาหกรรมหลัก และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องมีการลงทุนจำนวนมาก ซึ่งกิจการเหล่านี้รัฐบาลจำเป็นต้องเข้าดำเนินการเอง เพราะอาจหาเอกชนลงทุนเองได้ยาก เนื่องจากเป็นกิจการที่ต้องเสี่ยงกับการขาดทุนหรือไม่คุ้มกับการลงทุน แต่กิจการเหล่านี้จำเป็นต้องมี เพราะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา การขนส่งและคมนาคม เหตุที่รัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกิจเอกชนอาจต้องการขจัดปัญหาในเรื่องการผูกขาดหรือการเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นถ้าปล่อยให้ธุรกิจเอกชนทำการแข่งขัน จนกระทั่งเหลือผู้ที่มีทุนทรัพย์มากที่สามารถบีบคั้นให้คู่แข่งขันต้องการไปจากการดำเนินธุรกิจนั้น

ระบบเศรษฐกิจ (Economic Systems)

ที่มาบทความนี้