ความ แตก ต่าง ระหว่าง สม ถ กรรมฐาน กับวิปัสสนา กรรมฐาน

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิปัสสนา หมายถึง การรู้แจ้ง สภาพธรรมที่รู้แจ้ง คือ ปัญญา แต่เมื่อเป็นวิปัสสนาภาวนา คือ การเจริญอบรมปัญญาให้มีมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญญาที่เป็นหนทางสามารถละกิเลสได้จริง แต่ค่อยๆ ละไปเป็นลำดับ วิปัสสนาภาวนา เป็นหนทางที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดงกับเหล่าสาวกให้ดำเนินตาม ซึ่งเรียกหลายชื่อ เช่น สติปัฏฐาน ๔ อริยมรรค เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการเจริญวิปัสสนาภาวนา ที่เป็นการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ซึ่งจะต้องอาศัยปัญญาขั้นพื้นฐาน คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นสำคัญ ครับ ปัญญา ขั้นวิปัสสนาก็สามารถเกิดขึ้นได้ วิปัสสนาจึงไม่ใช่การนั่ง แต่คือการรู้ความจริงในขณะนี้ แม้ไม่นั่งก็รู้ได้ครับ

- คำว่า ภาวนา หมายถึง การอบรมเจริญ การยังกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ภาวนาจึงไม่ใช่เป็นการไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ไม่ใช่การท่องบ่น ไม่ใช่เป็นการต้องการที่จะกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยความไม่รู้ ด้วยความไม่เข้าใจ แต่เป็นการอบรมเจริญกุศลให้มีขึ้น ให้เจริญยิ่งขึ้น

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก็ต้องเข้าใจไปทีละคำ คำว่า กรรมฐาน หรือ กัมมัฏฐาน ก็มีคำสองคำรวมกัน คือ คำว่า "กัมม" ซึ่งหมายถึง การกระทำ รวมกับ "ฐาน" คือ ที่ตั้ง เมื่อแปลแล้วก็คือ ที่ตั้งแห่งการกระทำ แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงว่า มีที่ตั้งที่จะให้กุศลธรรมเจริญขึ้น ทั้งในเรื่องของความสงบของจิต ทั้งในเรื่องของความเห็นแจ้งสภาพธรรม ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น "กัมมัฏฐาน" จึงเป็นพระธรรมคำสอน ที่เป็นไปเพื่อความสงบ ระงับกิเลส และเป็นไปเพื่อการเห็นธรรมตามความเป็นจริง

เพราะมีกรรมฐาน ๒ อย่าง คือ สมถกรรมฐาน เป็นไปเพื่อสงบระงับกิเลส เพียงข่มกิเลสไว้เท่านั้น ไม่สามารถดับกิเลสได้อย่างเด็ดขาด กับ วิปัสสนากรรมฐาน เป็นไปเพื่อการอบรมเจริญปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท (ละได้อย่างเด็ดขาดไม่เกิดขึ้นอีก) ในเรื่องของ สมถกรรมฐาน กับวิปัสสนากรรมฐาน ก็จะต้องฟัง ต้องศึกษาให้ละเอียด ทรงมุ่งหมายถึงอะไรเป็นสำคัญ ทั้งหมดทั้งปวงนั้นเป็นเรื่องของความเข้าใจถูก เห็นถูก ทั้งหมดเลย ถ้าหากไม่มี ความเข้าใจ ก็จะไปทำอะไรด้วยความไม่เข้าใจ หรือว่า ด้วยความเป็นตัวตนซึ่งผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

ดังนั้น วิปัสสนาภาวนา และ วิปัสสนากรรมฐาน มีนัยเดียวกัน ความหมายเหมือนกันครับ คือ ปัญญาที่รู้ความจริงในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เราครับ

อนุโมทนา

เทฺว  เม   ภิกฺขเว  วิชฺชาภาคิยา  
** ดูก่อนภิกษุทั้งหลายวิชชามี ๒ อย่าง

กตเม  เทฺว  
** ๒ อย่าง  อะไรบ้าง

สมโถ  จ  ๑  วิปัสฺสนา จ  ๑  
** สมถะ  ความสงบระงับ ๑  วิปัสสนา  ความเห็นแจ้ง ๑

สมโถ  ภาวิโต  กิมตฺถมนุโภติ  
** สมถะเป็นขึ้นแล้วต้องการอะไร

จิตฺตํ  ภาวิยติ
** ต้องการทำจิตให้เป็นขึ้น

จิตฺตํ  ภาวิตํ  กิมตฺถมนุโภติ  
** จิตเป็นขึ้นแล้วต้องการอะไร

โย  ราโค  โส  ปหียติ
** ความกำหนัดยินดีที่อยู่แก่ใจ  หมดไป

วิปัสฺสนา  ภาวิตา  กิมตฺถมนุโภติ  
** วิปัสสนาแปลว่าความเห็นแจ้ง  เป็นขึ้นแล้วต้องการอะไร

ปญฺญา  ภาวิยติ
** ต้องการทำปัญญาให้เป็นขึ้น

ปัญฺญา  ภาวิตา  กิมตฺถมนุโภติ  
** ปัญญาเป็นขึ้นแล้วต้องการอะไร

ยา  อวิชฺชา  สา  ปหียติ
** ความไม่รู้จริงมีอยู่แก่ใจ  ความไม่รู้จริงอันนั้นหมดไป

///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

                   ****  ความแตกต่างระหว่าง  สมถะ  และ  วิปัสสนา  ****

๑. โดยสภาวธรรม

สมถะ        : มีสมาธิเกิดขึ้น  คือ  จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว

วิปัสสนา    : ทำให้เกิดปัญญา  รู้รูปนามว่า  ไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  เป็นอนัตตา

๒. โดยอารมณ์

สมถะ       : มีนิมิตบัญญัติเป็น  อารมณ์กรรมฐาน  เช่น  ปฐวีกสิณ  เป็นต้น

วิปัสสนา   : มีรูปนามเป็นอารมณ์  เพราะรูปนามมีความเกิดดับซึ่งเป็นความจริงตามธรรมชาติ

๓. โดยหน้าที่

สมถะ        : มีหน้าที่ในการกำจัดนิวรณ์ ๕  ทำให้จิตมีความสงบ  ไม่ฟุ้งซ่าน  เป็นต้น

วิปัสสนา    : มีหน้าที่ในการกำจัด  อวิชชา  ทำให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งสภาวธรรมตามความเป็นจริง

๔. โดยอาการที่ละกิเลส

สมถะ        : ละกิเลสโดยอาการที่ข่มไว้  เป็น  วิขัมภนปหาน

วิปัสสนา    : ละกิเลสโดยอาการขัดเกลาเป็นขณะๆ  เป็น  ตทังคปหาน

๕. ชนิดของกิเลสที่ถูกละ

สมถะ        : ละกิเลสชนิดกลาง  คือ  ปริยุฏฐานกิเลส

วิปัสสนา    : ละกิเลสอย่างละเอียด  คือ  อนุสัยกิเลส

๖. โดยอานิสงค์

สมถะ        : ทำให้อยู่สุขด้วยการข่มกิเลสไว้  และให้ไปเกิดในพรหมโลก

วิปัสสนา    : ทำให้เข้าถึงความพ้นทุกข์  คือ  พระนิพาน  และเข้าถึงความไม่เกิดเป็นที่สุด