หลักเกณฑ์การฟ้องคดี เช่าซื้อ รถยนต์

ไฟแนนซ์รถยนต์กับคดียักยอก

ปัจจุบัน มีการดำเนินคดีอาญา ในข้อหายักยอกทรัพย์ กับผู้เช่าซื้อรถยนต์ กันเป็นจำนวนมาก

ทางสำนักงาน ฯ จึงขอสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ประเด็น : ยักยอกรถยนต์ที่เช่าซื้อ แล้วนำไปจำนำหรือขาย มีความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 7727/2544

   จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจากบริษัท อ. โดยชำระเงินในวันทำสัญญาบางส่วน ที่เหลือผ่อนชำระเดือนละงวดรวม 36 งวด มีชาวบ้านที่จำเลยจ้างมาเป็นผู้ค้ำประกัน หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อและรับรถไปแล้ว จำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อและไม่ติดต่อกับผู้เสียหายอีกเลย บริษัท อ. จึงบอกเลิกสัญญา แต่จำเลยไม่ส่งมอบรถคืนเมื่อสอบถามจำเลย จำเลยแจ้งว่าขายไปแล้ว แต่ไม่ยอมบอกว่าขายให้แก่ผู้ใด ดังนี้ การที่จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อและชำระเงินล่วงหน้าก็เพื่อให้ได้รถยนต์ไปไว้ในครอบครอง มิได้มีเจตนาจะชำระราคาอีก พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของบริษัท อ. ที่อยู่ในครอบครองของจำเลยไปโดยทุจริตเป็นความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นเพียงการกระทำผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่

ประเด็น : ผู้เช่าซื้อ หรือผู้ครอบครองทรัพย์ ถือว่าเป็นผู้เสียหาย ย่อมมีอำนาจร้องทุกข์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5097/2531

   ผู้ครอบครองทรัพย์ แม้มิใช่เป็นเจ้าของ ก็เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ได้ ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7832/2556

   จำเลยกับพวกร่วมกันยักยอกรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อ ขณะอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อ เมื่อในขณะกระทำความผิดผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์ที่เช่าซื้อดังกล่าว การกระทำของจำเลยกับพวกย่อมทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหายโดยตรง แม้ผู้เสียหายที่ 2 จะไปแจ้งความร้องทุกข์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายที่ 1 แต่ก็ถือว่าได้ร้องทุกข์ในฐานะที่ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้เสียหายด้วยเช่นกัน ผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ และย่อมมีอำนาจในการถอนคำร้องทุกข์ เมื่อความผิดฐานยักยอกทรัพย์เป็นความผิดต่อส่วนตัวและคดียังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อปรากฏว่าก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกา ผู้เสียหายที่ 2 ถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

ประเด็น : อายุความ ต้องแจ้งความร้องทุกข์ หรือฟ้องคดี ภายใน 3 เดือนนับแต่รู้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 386/2551

   แม้ผู้เช่าซื้อยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้อ แต่ผู้เช่าซื้อก็มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์และมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยแก่ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องคืน เมื่อจำเลยทั้งสองยักยอกชิ้นส่วนอุปกรณ์ของรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไปจากผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อย่อมได้รับความเสียหายจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองได้เช่นเดียวกับผู้ให้เช่าซื้อ คดีนี้เป็นกรณีความผิดอันยอมความได้ เมื่อผู้เช่าซื้อมิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ป.อ. มาตรา 96

ประเด็น : ผู้ตามยึดรถ ข่มขู่จะยึดรถ และเรียกค่าติดตามทวงถาม โดยไม่มีหนังสือมอบอำนาจจากไฟแนนซ์ มีความผิดฐานใด

ตอบมีความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ อ้างอิง ฎ. 5146/2557

ประเด็น : ผู้เช่าซื้อ นำรถไปจำนำเต๊นท์ แล้วหลุด หากไม่คืนรถแก่ไฟแนนซ์ มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ไหม

ตอบ มี

ประเด็น : ผู้ค้ำประกัน ถูกฟ้องคดียักยอกทรัพย์ ได้ด้วยไหม

ตอบ ไม่ได้ แต่ถ้าถูกพนักงานทวงหนี้ข่มขู่ แนะนำให้สอบถามชื่อ และบันทึกเสียงไว้ด้วย ถือว่าผิด พ.ร.บ.ทวงหนี้ 2558 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี

ประเด็น : ผู้เสียหายร้องทุกข์ในคดียักยอก เมื่ออัยการฟ้องจำเลยแล้ว ผู้เสียหายจะสามารถเรียกค่าขาดประโยชน์ ค่าเดินทางไปแจ้งความ ค่าติดตามรถ และค่าซ่อมรถ โดยอ้าง มาตรา 44/1 ได้ไหม

ตอบ ไม่ได้ เพราะมิใช่ค่าเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้อง ต้องไปฟ้องคดีแพ่งต่างหาก อ้างอิง ฎ. 4265/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

   ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง

มาตรา 96 ภายใต้บังคับ มาตรา 95 ในกรณีความผิดอันยอมความ ได้ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 39 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ดังต่อไปนี้

   (1) โดยความตายของผู้กระทำผิด

   (2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย

   (3) เมื่อคดีเลิกกันตามมาตรา 37

   (4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง

   (5) เมื่อมีกฎหมายออกใช้ภายหลังการกระทำผิดยกเลิกความผิดเช่นนั้น

   (6) เมื่อคดีขาดอายุความ

   (7) เมื่อมีกฎหมายยกเว้นโทษ

เรียบเรียงและเขียนโดย ทนายธนู กุลอ่อน