การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ คือ

         การส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion)

ความหมายของคำว่า "การส่งเสริมสุขภาพ"  (HEALTH PROMOTION)

CEA Winslow (1920) ได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง การจัดชุมชนเพื่อการให้การศึกษาแก่เอกบุคคลในเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพส่วนบุคคล และการพัฒนาเครื่องมือต่างๆ ในสังคม เพื่อให้บุคคลทุกคนมีมาตรฐานการดำเนินชีวิตที่เหมาะสมที่จะคงไว้ซึ่งการมีสุขภาพดีหรือเพื่อการปรับปรุงสุขภาพให้ดีขึ้น

Kreater M Devore (1980) ได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง กระบวนการสนับสนุนสุขภาพในการเพิ่มศักยภาพของบุคคล ครอบครัว ชุมชน เอกชน รัฐ และสาธารณชนที่จะทำให้เกิดการปฎิบัติตัวในการเพิ่มสุขอนามัยให้เป็นปกติวิสัยของสังคม

Cartills Saigado (1984) ได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง กิจกรรมทางสิ่งแวดล้อม สังคม การเมือง การศึกษา เศรษฐกิจ นันทนาการ และอื่นๆ ที่ประกอบขึ้นเพื่อยังผลให้เงื่อนไขชีวิตที่เอื้อต่อสุขภาพ และป้องกันการเกิดโรคในบุคคลและกลุ่มบุคคล

องค์การอนามัยโลก (1986) ได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง กระบวนการที่ประชาชนสามารถเพิ่มความสามารถในการควบคุมและปรับปรุงสุขภาพให้บรรลุถึงความสมบูรณ์ จิตใจ สังคม กลุ่มชุมชน และบุคคลต้องเข้าใจรู้ปัญหาความอยากได้ ความต้องการ และการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของสังคมและธรรมชาติ

เพนเดอร์ (Pender 1987 : 4,57) กล่าวว่า การส่งเสริมสุขภาพประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่มีผลโดยตรงต่อการเพิ่มระดับความสมบูรณ์ และการบรรลุเป้าหมายในชีวิตของบุคคล ครอบครัว ชุมชน และสังคม นอกจากนี้ เพนเดอร์ได้อธิบายถึงองค์ประกอบที่สำคัญของวิถีชีวิตที่ส่งเสริมสุขภาพ ได้แก่ การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค ทั้งสององค์ประกอบนี้มีพื้นฐานในการจูงใจและจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน

M O"Donnell (1991) ได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง ผลรวมของการสนับสนุนทางด้านการศึกษา และการสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดผลทางกระทำ/ปฎิบัติ และสถานการณ์ของการดำรงชีวิตที่จะก่อให้เกิดสภาวะสุขภาพที่สมบูรณ์

Green และ Kreuter (1991) ได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง ผลรวมของการสนับสนุนทางด้านการศึกษา(Educational supports) และการสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental supports) เพื่อให้เกิดผลทางการกระทำ/ปฎิบัติ (action) และสภาพการณ์ (conditions) ของการดำรงชีวิตที่จะก่อให้เกิดสภาวะสุขภาพที่สมบูรณ์ การกระทำ/ปฎิบัตินั้นอาจเป็นของบุคคล ชุมชน ผู้กำหนดนโยบาย นายจ้าง ครู/กลุ่มบุคคลอื่นๆซึ่งกระทำ/ปฎิบัติเหล่านั้นมีอิทธิพลต่อสุขภาพของบุคคล ชุมชนและสังคมส่วนรวม

ความสัมพันธ์ระหว่างการส่งเสริมสุขภาพกับสุขศึกษา และสาธารณสุข

          มีนักวิชาการ/กลุ่มบุคคลบางกลุ่ม ที่ยังเข้าใจว่าการส่งเสริมสุขภาพนั้นเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสุขภาพ (health- directed behevior) ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะช่วยลดปัญหาสุขภาพ เช่น การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โรคต่างๆ ตลอดทั้งปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ที่จริงแล้วการส่งเสริมสุขภาพนั้นจะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมต่างๆ หลายอย่างที่สัมพันธ์กับสุขภาพ (health- related behevior) ของบุคคล ครอบครัว ชุมชน และหน่วยงาน/องค์กรที่บุคคลนั้นทำงานอยู่หรือเกี่ยวข้องพฤติกรรมสัมพันธ์กับสุขภาพนี้ จะเกี่ยวข้องกับรูปแบบและสภาพการณ์ของการดำรงชีวิต (condition of living) ได้แก่ สภาพการณ์ด้านที่อยู่อาศัย การรับประทานอาหาร การเล่น การออกกำลังกาย การทำงาน ปัญหาในการเดินทาง ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งรูปแบบของการดำเนินชีวิต (Lifestyle) ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับวันจะเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพที่เป็นสาเหตุของการตายในปัจจุบันและในอนาคต จะเห็นว่าพฤติกรรมเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสุขภาพและหน่วยงานที่ให้บริการด้านสุขภาพ

ความหมายของการส่งเสริมสุขภาพ

             ตามแนวคิดของ Green และ Kreuter การส่งเสริมสุขภาพ หมายถึง ผลรวมของการสนับสนุนทางด้านการศึกษา และการสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental supports) เพื่อให้เกิดผลทางการกระทำ/ปฎิบัติ (action) และสภาพการณ์ (conditions) ของการดำรงชีวิตที่จะก่อให้เกิดสภาวะสุขภาพที่สมบูรณ์ การกระทำ/ปฎิบัตินั้นอาจเป็นของบุคคล ชุมชน ผู้กำหนดนโยบาย นายจ้าง ครูหรือกลุ่มบุคคลอื่นๆ ซึ่งกระทำ/ปฎิบัติเหล่านั้นมีอิทธิพลต่อสุขภาพของบุคคล ชุมชนและสังคมส่วนรวม (Green and Kreuter, 1991:4)

ความสัมพันธ์ระหว่างสุขศึกษาและการส่งเสริมสุขภาพ

             จากคำจำกัดความของคำว่า "การส่งเสริมสุขภาพ" ของ Green และ Kreuter ได้เสนอไปแล้ว จะเห็นว่า สุขศึกษาเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จำเป็นจะต้องมีในงานการส่งเสริมสุขภาพ การสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม อันได้แก่ หน่วยงาน/องค์กร (organization) เศรษฐกิจ หรือการสนับสนุนอื่นๆ เป็นสิ่งที่อาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นว่า จำเป็นจะต้องมีเพื่อสนับสนุนงานสุขศึกษาหรือไม่

             จากปาฐกถาของ Dr.Ilono Kichbush, Regional Officer for Health Promotion ของ WHO, European Office ซึ่งกล่าวในการประชุมของ Canadian Public Health Association ในปี ค.ศ.1986 ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า

             "... แนวคิดเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพเป็นสิ่งที่เกิดมาจากงานด้านสุขศึกษามาก่อนซึ่งมีเหตุผลหลายอย่างที่แสดงให้เห็นชัดเจน ในที่นี้จะกล่าวเพียง 2 เหตุผล คือ หนึ่ง : นักสุขศึกษาได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีการดำเนินงานสุขศึกษา โดยใช้วิธีการด้านบวก กล่าวคือ การปลูกฝังเพิ่มพูนให้ประชาชนได้มีศักยภาพเกี่ยวกับสุขภาพมากกว่าที่จะเน้นการป้องกันโรค สอง : เป็นที่ประจักษ์กันดีแล้วว่า สุขศึกษาจะสามารถพัฒนาศักยภาพของประชาชนอย่างสมบูรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อได้รับการสนับสนุนจากองค์ประกอบอื่นๆ (เช่น ด้านกฎหมาย สิ่งแวดล้อม ระเบียบ ข้อกำหนดต่างๆ ฯลฯ) ซึ่งกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การทำให้ทางเลือกเพื่อการมีสุขภาพที่ดีขึ้นเป็นทางเลือกที่ไม่ยุ่งยาก..." (to make healthier choices the easier choices)

              ถึงแม้ที่จะมีการสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม ด้านนโยบายสังคม องค์กร นโยบาย ด้านเศรษฐกิจ กฎหมาย ข้อบังคับ และมาตรการอื่นๆ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชน ครอบครัว และสังคมมีสภาวะสุขภาพที่ดีหากไม่มีกิจกรรมด้านสุขศึกษาร่วมด้วย ก็คงจะไม่ประสบผลสำเร็จ การสุขศึกษาจะช่วยให้บุคคลเกิดความตระหนัก เกิดความสนใจ พร้อมทั้งกระตุ้นให้บุคคลมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ มีความรู้สึกว่าตนเองมีความผูกพันและเป็นหน้าที่ที่จะพัฒนาสังคมร่วมกัน ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า ถ้าไม่มีงานสุขศึกษา งานด้านการส่งเสริมสุขภาพจะเป็นเพียงสิ่งที่ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงได้ก็จริงแต่การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากแนวทางของประชาธิปไตย งานสุขศึกษาจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของสังคมบรรลุผลได้ ขณะเดียวกันแต่ถ้าหากปราศจากการสนับสนุนด้านนโยบายที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมดังกล่าว งานสุขศึกษาก็จะไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะช่วยประชาชนให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายด้านสุขภาพได้ ถึงแม้ว่าความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเอกัตบุคคลจะประสบผลสำเร็จก็ตาม

               อาจจะกล่าวโดยสรุปได้ว่า การสุขศึกษามีเป้าหมายเพื่อจะให้ประชาชนเปลี่ยนแปลงการปฎิบัติโดยตัวประชาชนเอง ด้วยความสมัครใจ (Voluntary actions) ในฐานะที่เป็นพลเมืองคนหนึ่งที่จะต้องดูแลสุขภาพของตนเอง และของบุคคลอื่น รวมทั้งของสังคมส่วนรวมด้วย การส่งเสริมสุขภาพนั้นจะต้องรวมเอาการสุขศึกษาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งด้วยเสมอ และมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและด้านการเมือง อันจะช่วยให้เกิดสิ่งสนับสนุนที่จำเป็นขององค์กร เศรษฐกิจและสิ่งสนับสนุนอื่นๆ สิ่งสนับสนุนเหล่านี้จะช่วยให้การปฎิบัติของแต่ละบุคคลนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี และการมีคุณภาพชีวิตที่ดี (Green & Kreuter, 1991:14)

แนวคิดและความเป็นมาของการพัฒนางานด้านการส่งเสริมสุขภาพ

              ในช่วงศตวรรษที่ 19 อาจจะเรียกได้ว่า เป็นช่วงการพัฒนาทางด้านวิทยาการระบาด ซึ่งจะมุ่งเน้นการประยุกต์ความรู้วิชาการด้านวิทยาการระบาดของโรคกับงานสาธารณสุข แต่การลดลงของอัตราการเกิดโรค และอัตราการตายของประชากรในช่วงศตวรรษที่ 19 ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ทางด้านวิถีการดำเนินชีวิต (lifestyles) ของประชาชนโดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกาเหนือ (Green & Kreuter, 1991:5) การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นผลจากการมีกฎหมาย poor laws และการปฎิรูปสังคมเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย อาหาร สภาวะการทำงาน รวมทั้งการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพผ่านทางเอกสารสิ่งพิมพ์ หน่วยงานเอกชน และกิจกรรมอื่นๆ ของสังคม

ยุคสมัยที่นำมาสู่นโยบายด้านการส่งเสริมสุขภาพ

ยุคที่ 1 ยุคของการพัฒนาทรัพยากร (The Era of Resource Development)

             ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นยุคของการพัฒนาทรัพยากรในแถบยุโรป และญี่ปุ่น สำหรับในประเทศสหรัฐอเมริกา ผลผลิตที่สำคัญ คือ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ สิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ (medicine facilities) และการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข มีการออกพระราชบัญญัติกำลังคนทางสุขภาพ มีการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์

ยุคที่ 2 ยุคของการกระจายทรัพยากร (The Era of Redistribution)

              ปี ค.ศ.1960 เป็นต้นมา ประเทศสหรัฐอเมริกาเข้าสู่ยุคการปรับปรุงการกระจายทรัพยากรและการสร้างสถานีอนามัยใกล้บ้าน (neighberhood health centers) มีการจัดให้บริการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุ (Medicare) และโครงการรักษาผู้มีรายได้น้อย (Medicaid)

              ในยุคนี้ ได้เน้นการเพิ่มขึ้นของการใช้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนไปรับบริการเร็วขึ้นกว่าเดิม และได้รับบริการตรวจสุขภาพมากขึ้น

               ในช่วงปี ค.ศ.1960 ได้บรรลุวัตถุประสงค์ด้านกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ประชาชนที่ยากจน ได้ใช้บริการทางการแพทย์มากขึ้น ถึงแม้ว่าช่องว่างระหว่าง "คนรวย" และ "คนจน" จะถูกลดให้แคบลงอย่างมีนัยสำคัญในด้านการใช้บริการทางการแพทย์/สาธารณสุขก็ตาม แต่ตัวชี้วัดทางด้านการเจ็บป่วยและการตาย ยังคงชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างเศรษฐสังคม และสีผิว ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่า โครงการที่ดำเนินการไปนั้นประสบผลสำเร็จจริงหรือไม่

ยุคที่ 3 ยุคของการจำกัดวงเงิน ค่าใช้จ่าย (The Era of Cost - Containment)

               ในปี ค.ศ.1970 เป็นต้นมา ในประเทศสหรัฐอเมริการ โครงการบริการรักษาพยาบาลประสบปัญหาค่าใข้จ่ายในการบริการทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงต้องพิจารณาลดค่าใช้จ่ายและเปิดโอกาสให้งานด้านสุขศึกษาและสาธารณสุข นโยบายด้านการป้องกันโรค และส่งเสริมสุขภาพได้ถูกนำมาใช้ใหม่

               ยุคนี้ ได้พยายามที่จะลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการบริการรักษาพยาบาล (Medical Care) ได้ตั้งคณะกรรมการสุขศึกษาขึ้น (President"s Committee on Health Education) มีการจัดการศึกษาให้กับชุมชนในการดูแลตนเอง และการใช้บริการสาธารณสุขอย่างเหมาะสม (จุดมุ่งหมายเพื่อลดการใช้บริการสุขภาพ/สาธารณสุข) และการพัฒนาโครงการสุขศึกษาในโรงเรียน สถานประกอบการโรงงานและชุมชน

บทบาทของการให้ข้อมูลและบทบาทของ "สุขศึกษา" ได้ถูกเน้นและให้ความสำคัญอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อก่อนนี้

              ดังนั้นควรจะได้มีความพยายามที่จะช่วยให้บุคคลและชุมชนได้มีบทบาทในการวางแผนโครงการสุขภาพ/สาธารณสุข รวมทั้งการให้บริการสุขภาพด้วย ในการที่จะต้องรับผิดชอบบทบาทดังกล่าว ประชาชนจะต้องได้รับการแนะแนว การสนับสนุน ส่งเสริมจากบุคลากรสาธารณสุขให้สามารถเข้าใจ/วินิจฉัยปัญหาของชุมชน และสามารถวางแผนและดำเนินการแก้ปัญหาเหล่านั้นได้

แนวคิดหลักในการวางแผนโครงการส่งเสริมสุขภาพ

              จากการทบทวนทฤษฎีแนวคิดเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ พบว่ามีแนวคิดหนึ่งที่มักจะถูกอ้างอิงเสมอในการอธิบายความหมาย และการวางแผนงานด้วยการส่งเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะตำรา/งานวิจัยของประเทศสหรัฐอเมริกา คือ PRECEDE - PROCEED MODEL ของ Lawrence W.Green และ Marshall W. Kreuter (Green and Kreuter ,1991)

             แบบจำลอง (Model) นี้ ประกอบด้วยส่วนประกอบ 2 ส่วน คือ 
             ส่วนที่ 1 เป็นระยะของการวินิจฉัยปัญหา (Diagnostic Phase) เรียกว่า PRECEDE ( Predisposing, Reinforcing, Enabling, Constructs in Educational, EnvironmentalDiagnosis and Evaluation )
            
ส่วนที่ 2 เป็นระยะเวลาของการพัฒนาแผน ซึ่งจะต้องทำส่วนที่ 1 ให้เสร็จก่อน จึงจะวางแผน และนำไปสู่การดำเนินงานและประเมินผล ส่วนนี้เรียก PROCEED ( PolicyRegalatory and Organization Constructions in Educational and Environment Development )

           PRECEDE - PROCEED MODEL เพื่อการวางแผนและประเมินผลโครงการส่งเสริมสุขภาพ แบ่งเป็นขั้นตอน โดยเริ่มต้นจากเป้าหมายสุดท้ายที่อยากให้เกิดขึ้น (out puts) ซึ่งตาม Model คือ คุณภาพชีวิต/การมีสุขภาพที่ดี ซึ่งจะกล่าวถึงขั้นต่างๆ โดยสรุปดังนี้

ขั้นที่ 1 การวินิจฉัยสังคม (Social Diagnosis)

            เป็นการวินิจฉัยปัญหาทางสังคม ในกลุ่มประชากรเป้าหมาย ซึ่งสามารถจะทำได้โดยการศึกษาความต้องการ และความคาดหวังส่วนบุคคล การศึกษาปัญหาของสังคมที่เกิดขึ้น ซึ่งตัวชี้วัดของปัญหาสังคมอาจจะมีหลายตัวชี้วัด

ขั้นที่ 2 การวินิจฉัยทางวิทยาการระบาด (Epidemiological Diagnosis)

            ขั้นนี้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาถึงเป้าหมายทางสุขภาพเฉพาะอย่าง ซึ่งจะมีผลต่อเป้าหมายหรือปัญหาทางสังคม ข้อมูลที่จะใช้ในการวินิจฉัยขั้นนี้ ได้แก่ สถิติชีพ ข้อมูลทางการแพทย์และวิทยาการระบาด ผู้วางแผนจะใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อเรียงลำดับความสำคัญของปัญหา ตัวอย่างของตัวชี้วัดที่สำคัญและลักษณะของตัวชี้วัด (Dimensions)

ขั้นที่ 3 การวินิจฉัยด้านพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม  (Behavioral and Environment Diagnosis)

           ประกอบด้วยการกำหนดองค์ประกอบทางด้านสิ่งแวดล้อม และองค์ประกอบด้านพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ (Environment และ health - related Behavioral factors) ที่สัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพที่เลือกในขั้นที่ 2

ขั้นที่ 4 การวินิจฉัยด้านการศึกษาและองค์กร (Education and Organization Diagnosis)

           จากความรู้พื้นฐานด้านพฤติกรรมศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่ามีองค์ประกอบมากมายที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งในแบบจำลองนี้ได้แบ่งกลุ่มขององค์ประกอบเหล่านี้ออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ดังในแผนภูมิที่ 3 คือ ปัจจัยนำ (Predisposing factors) ปัจจัยเสริม (Reinforcing factors) และปัจจัยเอื้อ (Enabling factors) ในกลุ่มปัจจัยนำจะประกอบด้วยความรู้ ทัศนคติ ความเชื่อ ค่านิยม และการรับรู้ของบุคคลหรือประชาชน ทักษะในการปฎิบัติพฤติกรรมก็ถือว่าเป็นปัจจัยเอื้อ ดังนั้นปัจจัยเอื้อนี้ กล่าวโดยสรุปก็คือ องค์ประกอบทั้งหมดที่ช่วยให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง หรือสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง องค์ประกอบสุดท้ายคือ ปัจจัยเสริม หมายถึง รางวัลที่บุคคลได้รับ หรือข้อมูลป้อนกลับที่มาสู่บุคคลจากบุคคลอื่น หลังจากบุคคลได้ปฎิบัติพฤติกรรมหนึ่งๆ แล้ว ซึ่งอาจจะช่วยสนับสนุน หรือขัดขวางการปฎิบัติพฤติกรรมนั้นต่อไป

ปัจจัยนำ

  • ความรู้
  • ความเชื่อ
  • ค่านิยม
  • ทัศนคติ
  • ความรู้สึกมั่นใจ

ปัจจัยเอื้อ

  • ทรัพยากรทางสุขภาพ
  • การเข้าถึงทรัพยากรสุขภาพ  
  • กฎหมาย ข้อบังคับ การให้ความสำคัญและความตั้งใจจริงของชุมชน/รัฐ 
  • ทักษะที่สัมพันธ์กับสุขภาพ

ปัจจัยเสริม

  • ครอบครัว
  • เพื่อน 
  • ครู
  • นายจ้าง
  • บุคลากรการแพทย์/สาธารณสุข
  • ผู้นำชุมชน
  • ผู้มีอำนาจตัดสินใจ

        แผนภูมิที่ 3 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อพฤติกรรมสุขภาพ

        การวิเคราะห์องค์ประกอบดังกล่าวทั้ง 4 ขั้นนี้ จะช่วยให้ผู้วางแผนได้จัดลำดับความสำคัญขององค์ประกอบต่างๆ และนำไปสู่การพิจารณาเลือกกิจกรรมที่เหมาะสม (intervention) การตัดสินใจเลือกกิจกรรมนี้จะขึ้นอยู่กับลำดับความสำคัญขององค์ประกอบและทรัพยากรที่มีอยู่ และที่จะทำให้เกิดขึ้นได้

ขั้นที่ 5 การวินิจฉัยด้านการบริหารและนโยบาย (Administrative and Policy Diagnosis)

        ขั้นที่ 5 นี้เกี่ยวข้องกับการประเมินความสามารถและทรัพยากรขององค์การและด้านการบริหาร เพื่อนำไปสู่การสร้างแผนงานและดำเนินงานตามแผนงาน

        การดำเนินงาน และการประเมินผล จะถูกกำหนดใน Model อยู่ในขั้นที่ 6,7,8 และ 9 ตามลำดับ ในขั้นที่ 7,8,9 นั้น เกี่ยวข้องกับการประเมินผลระดับต่างๆ ตามความจำเป็นและความเหมาะสม ซึ่งที่จริงแล้ว การประเมินผลนั้นเป็นกิจกรรมที่สอดแทรก และต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการวางแผนของ Model

PRECEDE - PROCEED MODEL นี้ สร้างขึ้นโดยมีข้อสรุปพื้นฐานที่สำคัญ 2 ประการ คือ

1) สุขภาพและพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการมีสุขภาพไม่ดี เกิดขึ้นเนื่องจากสาเหตุหลายสาเหตุ

2) เนื่องจากสุขภาพและพฤติกรรมเสี่ยงมีสาเหตุจากหลายสาเหตุ ดังนั้นสิ่งที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม และเปลี่ยนแปลงสังคม จำเป็นจะต้องใช้หลายๆ วิธีการ วิธีการต่างๆ เกิดขึ้นจากการผสมผสาน

การประชุมระหว่างประเทศ/ภูมิภาค เกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ

          การประชุมระหว่างประเทศเป็นกิจกรรมหนึ่งในหลายๆ กิจกรรมของการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งมีผลต่อความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับแนวคิดและการดำเนินงานด้านส่งเสริมสุขภาพในหลายๆ ประเทศ ทำให้แนวคิดนี้ขยายไปสู่ประเทศต่างๆ ทั่วไป สำหรับการประชุมครั้งสำคัญที่นับเป็นจุดแรกเริ่มของการส่งเสริมสุขภาพในประเทศต่างๆ รวมทั้งเป็นที่มาของOTTAWA CHARTER FOR HEALTH PROMOTION ได้แก่ การประชุมที่เมืองออตตาวา ประเทศแคนาดา เป็นการประชุมระหว่างประเทศเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 17-21 พฤศจิกายน ค.ศ.1986 โดยมีชื่อการประชุมว่า " The first International Conference on Health promotion" และที่ประชุมได้ออกกฎบัตร (charter) ในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุสุขภาพดีถ้วนหน้า ในปี พ.ศ.2543 การประชุมครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวในวงการสาธารณสุขทั่วโลก Ottawa Charter for Health promotion ที่กำหนดขึ้น นับว่าได้จุดแนวคิดและที่มาของนโยบายด้านการส่งเสริมสุขภาพของหลายประเทศ

กฎบัตรนี้ได้กำหนดกลยุทธและการดำเนินการเพื่อการส่งเสริมสุขภาพไว้ดังนี้ (ดังแผนภูมิที่ 4 กฎบัตรออตตาวาเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ)

กฏบัตร นี้มีกลยุทธที่สำคัญในการส่งเสริมสุขภาพ คือ

         1. Advocate เป็นการให้ข้อมูลข่าวสารแก่สาธารณชนเพื่อสร้างกระแสทางสังคม และสร้างแรงกดดันให้แก่ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจได้กำหนดนโยบายในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ

        2. Enable เป็นการดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี โดยกำหนดให้มีสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพ ประชาชนได้รับข้อมูลอย่างทั่วถึง มีทักษะในการดำเนินชีวิต และมีโอกาสที่จะเลือกทางเลือกที่มีคุณภาพเพื่อสุขภาพ ทั้งนี้ประชาชนจะต้องสามารถควบคุมสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้

        3. Medicate เป็นสื่อกลางในการประสานงานระหว่างกลุ่ม/ หน่วยงานต่างๆ ในสังคมทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข และหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสื่อมวลชน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการมีสุขภาพที่ดีของประชาชน

        ในกฎบัตรนี้ยังได้เสนอแนะว่า การดำเนินการเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ (Health promotion Action) ควรจะต้องมีกิจกรรมที่สำคัญ คือ

         1. สร้างนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อสุขภาพ (Build Healthy Public Policy)

             การส่งเสริมสุขภาพ มิใช่เป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานทางการแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้น ดังนั้นการมีนโยบายในระดับกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น จึงไม่เพียงพอจำเป็นจะต้องมีนโย-บายสาธารณะที่ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน จะต้องขานรับและมีการปฎิบัติอย่างเป็นจริง

              นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ จะเกี่ยวข้องกับ กฎหมาย มาตรการทางเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง การเก็บภาษี รวมทั้งการจัดตั้งองค์กรที่แน่ชัดเพื่อรับผิดชอบ

          2. การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ (Create Supportive Environment)

             การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพนี้ จะมีความหมายใน 2 นัยยะ คือ ในนัยยะแรก หมายถึง การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับโลก ทั้งนี้เนื่องจากสมดุลย์ของธรรมชาติย่อมมีผลโดยตรงต่อการมีสุขภาพดีของมวลมนุษย์ ส่วนในอีกนัยยะหนึ่งคือการจัดสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของการดำเนินชีวิต การทำงาน และการใช้เวลาว่าง โดยการสร้างสังคมที่มีสุขภาพดี (Healthy society), การสร้างเมืองที่มีสุขภาพดี (Healthy city), การจัดที่ทำงานที่เอื้อต่อสุขภาพ (Healthy workplace) และการทำให้เป็นโรงเรียนเพื่อสุขภาพ (Healthy school) เป็นต้น

          3. การเพิ่มความสามารถของชุมชน (Strengthen Community Action)

             หัวใจสำคัญของกระบวนการเพิ่มความสามารถของชุมชน คือ การสร้างพลัง-อำนาจให้กับชุมชน ให้ชุมชนสามารถควบคุมการปฎิบัติงานและเป้าหมายของชุมชนเองได้ ซึ่งหมายถึงว่าชุมชนจะต้องได้รับข้อมูลข่าวสาร โอกาสในการเรียนรู้เกี่ยวกับสุขภาพ และการสนับสนุนทางด้านการเงินอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง

         4. การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล (Develop Personal Skills)

            การส่งเสริมสุขภาพ ควรช่วยให้บุคคลและสังคมเกิดการพัฒนา มีความรู้และทักษะในการดำรงชีวิต (life skills) ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับประชาชนที่จะควบคุมสุขภาพของตนเองและควบคุมสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ

         5. การปรับระบบบริการสาธารณสุข (Reorient Health Services)

            ระบบการบริการสาธารณสุขในปัจจุบัน ควรมีการปรับระบบให้มีกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพให้มากขึ้น มีการสื่อสารกับหน่วยงานภายนอกให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เช่น หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม ด้านการเมือง และเศรษฐกิจ นอกเหนือจากการให้บริการด้านการรักษาพยาบาลเท่านั้น นอกจากนั้นยังต้องให้ความสนใจเกี่ยวกับการวิจัยเพื่อปรับเปลี่ยนระบบและการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้มีแนวคิดเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ

มิติทั้ง 4 ของงานส่งเสริมสุขภาพ (4 Dimention of Health Promotion)

          ในการดำเนินโครงการส่งเสริมสุขภาพสามารถดำเนินการโดยเริ่มต้นจากมิติใดมิติหนึ่งดังแผนภูมิที่ 5 กล่าวคือ

1. มิติของการพัฒนาสุขภาพ (Health enhancemance) แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

    1.1 แบ่งตามปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา ความอ้วน การไม่ออกกำลังกาย การมีพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัย การไม่ตรวจสุขภาพร่างกายเพื่อค้นหาโรคในระยะเริ่มแรก

    1.2 แบ่งตามการเกิดโรค ได้แก่ ปัญหาโรคหัวใจ ปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาทันตสา-ธารณสุข และปัญหาโรคที่เกิดจากเพศสัมพันธ์

2. มิติของกลุ่มเป้าหมาย (Population groups) ได้แก่ กลุ่มเด็ก กลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้ชาย กลุ่มผู้หญิง กลุ่มคนพิการ และกลุ่มผู้สูงอายุ

3. มิติของพื้นที่เป้าหมาย (Key settings) การดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพอาจเริ่มต้นจากครอบครัว โรงเรียน สถานที่ทำงาน ชุมชน เขตเมือง หรือ การให้การสนับสนุน (Sponsorship) การกีฬาและศิลปวัฒนธรรมต่างๆ

4. มิติของกลยุทธในการส่งเสริมสุขภาพ (Strategies) ได้แก่ การจัดกิจกรรมสุขศึกษา การให้ข้อมูลข่าวสารแก่สาธารณชน, การตลาดเชิงสังคม (Society marketing), การสร้างกระแสสังคมเพื่อให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจกำหนดนโยบาย (Advocate), การรวมตัวกันเป็นองค์กรเพื่อเคลื่อนไหวทางสังคม และการสร้างเครือข่าย (Coalition Building & Networking), การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง (Community development), การมีสถานบริการที่มีกิจกรรมการป้องกันโรค (Prevention Health Service), มีการพัฒนานโยบายสาธารณะ (Public Policy Development), การออกกฎหมายและกฎ-ระเบียบต่างๆ (Legislation & Regulation), การใช้นโยบายการเงินการคลัง (Fiscal Policy) เช่น การเพิ่มภาษีบุหรี่ การนำเงินส่วนหนึ่งจากภาษีบุหรี่เพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนส่งเสริมสุขภาพ เป็นต้น

            สำหรับการประชุมระหว่างประเทศครั้งที่ 2 เรื่องการส่งเสริมสุขภาพ ได้จัดให้มีขึ้นที่เมือง Adelaide, outh Aistralia ระหว่างวันที่ 5-9 เมษายน ค.ศ.1988 เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากการประชุมที่ OTTAWA การประชุมครั้งนี้ได้เน้นเฉพาะเรื่องการสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จะต้องกระทำหนึ่งใน 5 กิจกรรม ที่ได้จากการประชุมครั้งที่ 1 โดยที่ประชุมพิจารณาว่า นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพนั้นควรมีลักษณะที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าให้ความสำคัญต่อสุขภาพ และความเสมอภาคในนโยบายด้านต่างๆ และสามารถจะประเมินได้ว่ามีผลสืบเนื่องต่อสุขภาพ เป้าหมายหลักของการสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพนี้ ก็เพื่อจะพัฒนาให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนให้ประชาชนสามารถที่จะมีความเป็นอยู่ที่นำสู่สุขภาพดีได้ นโยบายดังกล่าวจะช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกเพื่อการมีสุขภาพที่ดี หรือประชาชนเลือกทางเลือกต่างๆ ได้ง่ายขึ้นและทำให้สิ่งแวดล้อมทางสังคมและกายภาพให้ผลดีต่อการส่งเสริมสุขภาพของประชาชน ในการที่จะได้มาซึ่งนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพนี้ หน่วยงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เช่น เกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ และการศึกษา จะต้องให้ความสำคัญต่อสุขภาพ ว่าเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นในการกำหนดนโยบายของหน่วยงานของตน

             คณะที่ประชุมได้เสนอแนะว่า รัฐบาลของประเทศต่างๆ ควรจะได้กำหนดเป้าหมายทางสุขภาพของประเทศที่ชัดเจน โดยเน้นการส่งเสริมสุขภาพ และนโยบายที่กำหนดจะต้องมีความชัดเจน สามารถนำไปปฎิบัติจริงได้ และเกิดขึ้นได้ และจะต้องให้หน่วยงานองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งชุมชนได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านการส่งเสริมสุขภาพ ที่ประชุมได้เสนอแนะสิ่งสำคัญ 4 อย่าง ที่ควรจะมีในนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพดังนี้ 1) การสนับสนุนสุขภาพในกลุ่มสตรี 2) อาหารและโภชนาการ 3) บุหรี่และสุรา และ 4) การสร้างสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนสุขภาพ นอกจากนี้ที่ประชุมได้เสนอแนะว่า หน่วยงานทั้งระดับท้องถิ่น, ระดับประเทศ และระหว่างประเทศ ควรจะได้มีการสร้างหน่วยงานที่จะเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสาร ที่จะสนับสนุน/ส่งเสริมให้เกิดการปฎิบัติที่เหมาะสม เพื่อการ

             สร้างนโยบายสาธารณะทางสุขภาพ และพัฒนาเครือข่ายระหว่างบุคลากรที่ทำงานด้านการวิจัย, การฝึกอบรมบุคลากร, และผู้บริหารโครงการ เพื่อการร่วมมือในการวิเคราะห์นโยบายและนำเอานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพไปดำเนินการ

             การประชุมระหว่างประเทศเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ ครั้งที่ 3 ได้จัดให้มีขึ้นที่เมือง Sunsvall ประเทศสวีเดน ระหว่างวันที่ 9-15 มิถุนายน ค.ศ.1991 ที่ประชุมได้ให้ความหมายของคำว่า สิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพ (Supportive Environments) ว่า หมายถึง สิ่งแวดล้อมทั้งทางด้านกายภาพและสังคม เป็นสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ที่บุคคลอาศัยอยู่ ชุมชน/ท้องถิ่น บ้านเรือน ที่ๆบุคคลทำงานและเล่น ซึ่งจะมองทั้งในแง่การมีทรัพยากรจำเป็นในการดำรงชีวิต และโอกาสเพื่อการมีพลัง-อำนาจ (empowerment) ด้วย ดังนั้นการปฎิบัติเพื่อให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนนี้ จะมีหลายประการ ได้แก่ ทางด้านกายภาพ, สังคม, จิตใจ (spiritual), เศรษฐกิจ และการเมือง การปฎิบัติจะต้องให้มีความสัมพันธ์และประสานกันในทุกระดับตั้งแต่ ท้องถิ่น ภูมิภาค ประเทศ และโลก เพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุประสงค์ร่วมกัน

ที่ประชุมได้เสนอแนะกิจกรรมการปฎิบัติด้านต่างๆ ที่สำคัญ 4 ด้าน ดังนี้

         1. ด้านสังคม ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบรรทัดฐานทางสังคม วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และกระบวนการทางสังคมที่มีผลต่อสุขภาพ ในสังคมบางสังคม ความสัมพันธ์ในสังคมแบบดั้งเดิมได้เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีผลเสียต่อสุขภาพ เช่น การเปลี่ยนค่านิยมบางอย่าง การมีการแบ่งแยกชนชั้นทางสังคม เป็นต้น

         2. ด้านการเมือง เป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องรับประกันได้ว่า การตัดสินใจแบบมีส่วนร่วมอย่างประชาธิปไตย จะต้องเกิดขึ้น รวมทั้งการกระจายอำนาจความรับผิดชอบ และการกระจายทรัพยากรจะต้องเหมาะสมและเป็นประชาธิปไตย นอกจากนี้จะต้องส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ เป็นต้น

        3. ด้านเศรษฐกิจ เกี่ยวข้องกับการกระจายทรัพยากรเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ด้าน "สุขภาพดีถ้วนหน้า" และการพัฒนาแบบยั่งยืน รวมทั้งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ

        4. การให้ความสำคัญของการใช้ทักษะและความรู้ของสตรี ในทุกๆ หน่วยงานและทุกระดับ รวมทั้งการกำหนดนโยบายและเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดโครงการพื้นฐาน เพื่อการมีสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพ หน้าที่รับผิดชอบของผู้หญิงควรจะได้ให้ผู้ชายได้มีส่วนรับผิดชอบ และรับผิดชอบร่วมกันระหว่างเพศหญิงและเพศชาย การพัฒนาชุมชนโดยเน้นการพัฒนาสตรี จะต้องได้รับการสนับสนุน

         ที่ประชุมได้ระบุกลยุทธสำคัญในการดำเนินงานสาธารณสุขเพื่อส่งเสริมให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนสุขภาพในระดับชุมชน 4 กลยุทธ ดังนี้

         1. เพิ่มการสนับสนุน โดยให้ชุมชนได้ดำเนินการเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้มีการจัดกลุ่มในชุมชนโดยกลุ่มสตรี

        2. เพิ่มความสามารถให้กับชุมชน และบุคคล ให้สามารถควบคุมสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของชุมชนและของบุคคลได้เอง โดยใช้วิธีทางการศึกษาและการสร้างพลัง-อำนาจ (empowerment)

        3. สร้างพันธมิตรทางสุขภาพ (Alliances for health) และสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพ เพื่อเพิ่มความร่วมมือระหว่างองค์กรด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมด้านการรณรงค์และการใช้กลยุทธต่างๆ

        4. เป็นสื่อกลาง (Mediating) ระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคม (ที่อาจจะไม่ได้สนใจในเรื่องเดียวกัน) เพื่อเพิ่มสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพในสังคม

            ที่ประชุมได้เน้นความสำคัญของการสร้างพลัง-อำนาจให้กับประชาชน การมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งทั้งสององค์ประกอบที่สำคัญในการดำเนินงานด้านการส่งเสริมสุขภาพที่เน้นประชาธิปไตย และจะเป็นแรงผลักดันให้บุคคลสามารถช่วยตนเองและพัฒนาตนเองได้ และการศึกษาของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญพื้นฐาน และเป็นกุญแจสำคัญที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งจำเป็นจะต้องเกิดขึ้นเพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพถ้วนหน้า

การส่งเสริมสุขภาพในประเทศสหรัฐอเมริกา

            ในระยะเวลาช่วง ตั้งแต่ ค.ศ.1974 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน คำว่า "การส่งเสริมสุขภาพ" (Health Promotion) ได้ถูกนำมาใช้ และเน้นในการจัดกิจกรรมด้านการแพทย์/สาธารณสุขมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งองค์การอนามัยโลก ก็ได้ใช้คำนี้เป็นต้นมาตั้งแต่เริ่มแนวคิดทางด้านการสาธารณสุขมูลฐาน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อ "การมีสุขภาพดีถ้วนหน้าในปี 2000" ในการประชุมใหญ่ที่เมืองอัลมา อตา ประเทศรัสเซีย เมื่อปี ค.ศ.1977

            ในปี ค.ศ.1975 รัฐบาลของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมายสาธารณะ (Public-Law 94-371) The Health information and Health โดยระบุให้มีการสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ ขณะเดียวกันก็มีการออกพระราชบัญญัติสารสนเทศทางสุขภาพและการส่งเสริมสุขภาพ (Office of Health information and Health Promotion) ที่ Center for Disease Control ที่รัฐแอตแลนตา ในปี ค.ศ.1975 อย่างไรก็ตามในช่วงของการออกกฎหมายนั้นก็ยังไม่มีการให้ความหมายที่ชัดเจนของคำว่า

             "การส่งเสริมสุขภาพ" (Health Promotion) จนกระทั่งถึงปี ค.ศ.1979 จึงได้มีการให้คำจำกัดความของคำว่า "การส่งเสริมสุขภาพ" (Health Promotion) ในรายงานการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค ซึ่งในยุคนี้อาจจะเรียกว่า ยุคของการส่งเสริมสุขภาพ (Era of Health Promotion) ซึ่งถือว่าเป็นการปฎิวัติทางการสาธารณสุขครั้งที่สองก็ได้

แนวคิดและความเป็นมาของ "การส่งเสริมสุขภาพ" ของประเทศสหรัฐอเมริกา เขียนอธิบายโดยอ้างในแผนภูมิที่ 1 หน้า 3 ที่กล่าวมาแล้ว

            โดยนักวิชาการบางกลุ่มเข้าใจว่า "การส่งเสริมสุขภาพ" นั้นเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสุขภาพ health directed behavior ซึ่งที่จริงแล้ว การส่งเสริมสุขภาพนั้นจะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมหลายๆ อย่างที่สัมพันธ์กับสุขภาพ health related behavior ของบุคคล ชุมชน ครอบครัว ซึ่งพฤติกรรมสัมพันธ์กับสุขภาพจะเกี่ยวข้องกับรูปแบบและสภาพของการดำรงชีวิต condition of living รวมทั้งรูปแบบการดำเนินชีวิต lifestyle

             ซึ่งจากแนวคิดดังกล่าวจะตรงกับความหมายของการส่งเสริมสุขภาพของ Green และ Kreuter ที่มุ่งเน้นการให้การสนับสนุนทางด้านการศึกษาและสิ่งแวดล้อม เพื่อก่อให้เกิดการปฏิบัติของบุคคล ชุมชน ซึ่งรูปแบบกระบวนการซึ่งจะนำมาเพื่อดำเนินการหรือปฎิบัติต้องอาศัยขั้นตอนในการวางแผนและประเมินผล ซึ่งจะมีส่วนประกอบ 2 ส่วน ตามรูปแบบ PROCEDE - PROCEED MODEL (ตามแผนภูมิที่ 1 หน้า 3) เป็นหลักในการดำเนินงานและในการดำเนินงานเพื่อกำหนดนโยบายต่างๆเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและด้านสุขศึกษาของอเมริกา รัฐบาลกลางได้มีการกำหนดขึ้นพร้อมๆกับที่ WHO และUNICEF ได้จัดการประชุมที่ Alma-Ata ที่รัสเซีย ในปี 1977 ซึ่งจะมุ่งเน้นการดำเนินงานในด้านสาธารณสุขมูลฐาน ที่เน้นการมีส่วนร่วมของบุคคลและชุมชนเป็นหลัก ซึ่งก็จะเป็นความพยายามในการที่จะให้บุคคล ชุมชน ได้เข้ามามีบทบาทในการวางแผนและดำเนินการแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง

การส่งเสริมสุขภาพในประเทศแคนาดา

          งานด้านการส่งเสริมสุขภาพของประเทศแคนาดา อาจจะกล่าวได้ว่าได้เริ่มต้นตั้งแต่การมีรายงาน "A New Perspective on the Health of Canadians" ในปี ค.ศ.1974 โดยรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุขและสังคมสงเคราะห์ ซึ่งมักจะถูกอ้างถึงในชื่อของ Lalonde Report อาจจะกล่าวได้ว่าแคนาดาเป็นประเทศที่เป็นผู้นำของโลกทางด้านนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการนำนโยบายไปสู่การปฎิบัติ (Pederson ; O"Neil; and Rootman,1994) Lalonde Report นี้เป้นจุดเริ่มต้นของแนวคิดด้านการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งได้เน้นให้มองเห็นว่า สุขภาพนั้นไม่ได้หมายความแต่การไม่มีโรค หรือไม่ทุพพลภาพ และไม่ใช่เป็นผลจากการให้บริการทางการแพทย์/สาธารณสุข (health care) เท่านั้น แต่จะเป็นผลมาจากส่วนประกอบหลายๆ อย่าง เช่น วิถีการดำรงชีวิต สิ่งแวดล้อม รวมทั้งบริการสุขภาพด้วย รายงานของ Lalonde นี้ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงแนวคิด (concept) เกี่ยวกับ "สุข-ภาพ" ซึ่งในระยะที่แล้วมาบุคลากรสาธารณสุขของแคนาดาส่วนใหญ่จะมีแนวคิดว่าา "สุขภาพ" คือ "การไม่มีโรค-ไม่เจ็บป่วย" แนวคิดนี้ได้เปลี่ยนมาเป็นแนวคิดที่กว้างกว่า ซึ่งเป็นผลจากการเผยแพร่ขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับ Health For All และ Ottawa Charter รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ หนึ่งในปัจจัยนั้น ได้แก่ Lalonde Report

           แนวคิดนี้ได้เน้นว่า สุขภาพของบุคคลและครอบครัว เป็นผลจากองค์ประกอบที่สำคัญ 4 องค์ประกอบ ดังในแผนภูมิที่ 6 คือ องค์ประกอบทางชีววิทยา พฤติกรรมส่วนบุคคล องค์ประกอบด้านจิตวิทยา-สังคม และองค์ประกอบด้านกายภาพ และพบว่าแนวคิดนี้มีผลต่อการปฎิบัติงานของบุคลากรสาธารณสุขในแคนาดาอย่างมาก (Pederson, O"Neil และ Rootman, 1994: 62)

           นอกจากนั้นพบว่ามีเอกสารวิชาการหลายอย่างที่ช่วย และมีผลในการเปลี่ยนแนวความคิดเกี่ยวกับ "สุขภาพ" ของบุคลากรที่ทำงานด้านการสาธารณสุข เช่น Achieving Health For All : A Framework for Health Promotion (เขียนโดย Jake Epp.. Minister of National Health and Welfare, 1984) Towards and Expanded Health Field Concept and Research Issues in a New Era of Health Promotion. (Raeburn & Rootman, 1989) ดังในแผนภูมิที่ 7 และบทความของ Labonte เกี่ยวกับแนวคิดใหม่ของคำว่า "สุขภาพ" (Labonte, 1993) Pederson, O"Neil และ Rootman, 1994: 64 ดังในแผนภูมิที่ 8

          แนวคิดของ Labonte เกี่ยวกับ "สุขภาพ" ค่อนข้างจะเป็นแนวคิดใหม่ ยังไม่ได้รับการวิจารณ์มากนักถึงแม้ในประเทศแคนาดาเอง แต่ก็เป็นแนวคิดที่ควรจะให้ความสนใจและพิจารณาเพื่อการสร้างสรรค์ด้านสุขภาพในปัจจุบัน Labonte เสนอแนะว่า "สุขภาพ" เป็นองค์ประกอบ (Domain) ที่มีความคาบเกี่ยวในหลายระดับกับองค์ประกอบอีกสององค์ประกอบ คือ ความไม่สบาย (illness) และโรค (disease) ในส่วนของสุขภาพ/ความสมบูรณ์ (Health/wellness) เป็นส่วนที่บุคคลรู้สึกว่าตนเองมีสุขภาพดี ส่วน F เป็นส่วนที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหรือเป็นโรคที่แฝงอยู่ ในส่วน D จะแทนสภาวะการที่บุคคลได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคใดโรคหนึ่ง และบุคคลนั้นก็มีความรู้สึกว่าตนเองเจ็บป่วยด้วย ส่วน E เป็นส่วนที่บุคคลรู้สึกว่าตนเจ็บป่วย อันเป็นผลจากการได้รับการวินิจฉัย ส่วน G จะเป็นสภาวะของบุคคลที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค แต่มีความรู้สึกว่าตนเองมีสุขภาพดี ในส่วน C เป็นสภาวการณ์ที่บุคคลมีความรู้สึกว่าตนเองอยู่ในสภาวะที่ก้ำกึ่งกัน คือ มีทั้งสุขภาพดี และ ไม่สบายด้วย

การส่งเสริมสุขภาพในประเทศออสเตรเลีย

         ประเทศออสเตรเลียถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานด้านการส่งเสริมสุขภาพ ในเอกสาร Pathways to Better Health ซึ่งเป็นเอกสารที่เผยแพร่โดยหน่วยงานกลยุทธด้านสุขภาพของชาติ (National Health Strrategy) ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า การส่งเสริมสุขภาพ ว่า......หมายถึง "กิจกรรมทุกอย่างซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ชีวิตมีความปลอดภัยและข่วยให้เอกัต-บุคคลได้เลือกวิธีการเพื่อการมีสุขภาพดีได้ง่ายขึ้น ปฎิบัติในสิ่งที่จะคงไว้ซึ่งการมีสุขภาพดี และเพื่อให้มีสุขภาพด้านอื่นๆ ดีขึ้น" และในเอกสารนี้ได้อ้างถึงคำจำกัดความขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งกล่าวไว้ว่า "การส่งเสริมสุขภาพ เป็นกระบวนการที่จะช่วยให้บุคคลและชุมชน เพิ่มขีดความสามารถในการควบคุมสิ่งกำหนดต่างๆ ที่จะมีผลต่อสุขภาพ ซึ่งจะมีผลในการปรับปรุงสุขภาพ บุคคลจะต้องตระหนักถึงความจำเป็นพื้นฐานในการเปลี่ยนแปลงวิถีทางและสภาพการดำรงชีวิต เพื่อการส่งเสริมสุขภาพ การส่งเสริมสุขภาพจะเปรียบเสมือนกลยุทธที่เชื่อมระหว่างบุคคลและสิ่งแวดล้อม การรวมกันของทางเลือกส่วนบุคคลกับความรับผิดชอบของสังคมต่อสุขภาพ ในอันที่จะก่อให้เกิดการมีสุขภาพดีในอนาคต"

              การส่งเสริมสุขสุขภาพในประเทศออสเตรเลีย ได้จัดให้มีขึ้นทั้งในโรงเรียน โรงงาน หรือสถานประกอบการ ในสื่อ/อุปกรณ์การสื่อสาร การสร้างนโยบายสาธารณะ ตลอดจนการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรและการตัดสินใจทางการเมือง การส่งเสริมสุขภาพอาจจะเกิดขึ้นโดยมีบุคลากรด้านการแพทย์/สาธารณสุขเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่มีก็ได้

              กิจกรรมของงานด้านการส่งเสริมสุขภาพในประเทศออสเตรเลียได้เกิดขึ้น ก็เนื่องมาจากปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือ ภาวะผู้นำของรัฐบาลประเทศออสเตรเลียที่ได้ให้ความสำคัญแก่สุขภาพ ได้ให้ข้อมูลที่จำเป็น และในบางกรณีได้กระตุ้นให้หน่วยงานเอกชนได้มีส่วนร่วมสนับสนุนอย่างเต็มที่

              พบว่า มีองค์กรเอกชนมากกว่า 100 แห่ง ในประเทศออสเตรเลีย ที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านการส่งเสริมสุขภาพ องค์กรเอกชนดังกล่าว อาจจะแบ่งได้เป็น 5 ลักษณะ ดังนี้

                   1. องค์กรที่เน้นสุขภาพ และงานวิจัยเฉพาะอย่าง

                   2. มูลนิธิด้านการส่งเสริมสุขภาพ

                   3. องค์กรช่วยเหลือกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาเฉพาะอย่าง (Self - help Organizations)

                     4. องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการให้ชุมชนมีส่วนร่วม และการให้ข้อมูลแก่ชุมชน

                       5. สมาคมวิชาชีพ

        กลยุทธในการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพ

                   ในการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพ มีกลยุทธหรือวิธีการดำเนินงาน 3 วิธีใหญ่ๆ ซึ่งค่อนข้างจะมีความคาบเกี่ยวกัน ได้แก่ กลยุทธด้านการแพทย์ (medical approach) กลยุทธด้านพฤติกรรม (Behavior approach) และกลยุทธด้านสังคม-เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม (social-economic- environment approach) (Labonte,1992) จะเห็นว่ากลยุทธที่ 1 และ 2 เน้นการเปลี่ยนแปลงเอกัต-บุคคลภายใต้สภาวการณ์เฉพาะอย่าง แต่กลยุทธที่ 3 เน้นปัญหาที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางด้านกายภาพและด้านสังคม ซึ่งมุ่งไปที่การปรับปรุงสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ สังคมและเศรษฐกิจของสังคม และสุขภาพของสังคมส่วนรวม

                   ปัจจุบันพบว่าการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพในประเทศออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ ทางประเทศตะวันตก ที่มีประสิทธิภาพนั้นจะเกิดขึ้นในกลุ่มประชากรที่มีเศรษฐฐานะที่สูง ซึ่งสิ่งแวดล้อมในการดำเนินชีวิต และการทำงานมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนให้เกิดทางเลือกด้านสุขภาพที่ถูกต้อง และสามารถเปลี่ยนแปลงแบบแผนการดำเนินชีวิตภายใต้การช่วยเหลือที่มีขีดจำกัด

                    การดำเนินงานการส่งเสริมสุขภาพในประเทศออสเตรเลียในระยะ 20 ปีที่แล้วมา กล่าวได้ว่า ได้เปลี่ยนแปลงแนวทางดำเนินงานจากวิธีการด้านพฤติกรรม และการเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตไปสู่วิธีการการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและสิ่งแวดล้อม (structural and environmental change) ซึ่งวิธีการดำเนินการนี้เป็นการประยุกต์แนวคิดที่ได้จาก Ottawa Charter for Health Promotion (WHO,1986) ซึ่งได้เน้นความสำคัญของการพัฒนาสิ่งต่อไปนี้ คือ

          1. การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล
            1. การสร้างให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุน
              1. การเปลี่ยนแปลงบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ (health-reated services)
                1. การเพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชน
                  1. การสร้างนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อสุขภาพ

                                 ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ นอกเหนือจากหน่วยงานหรือองค์กรด้านสุขภาพ ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญต่อความสำเร็จของงานการส่งเสริมสุขภาพในประเทศออสเตรเลีย มีตัวอย่างของความร่วมมือที่เห็นได้ชัดเจน คือ โครงการปรับปรุงด้านโภชนาการ กล่าวคือ มีหน่วยงานหลายหน่วยงานที่ได้ร่วมมือประสานงานกันเพื่อจะปรับปรุงโภชนาการของประชาชนในประเทศ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ หน่วยงานด้านการผลิต ด้านผู้ขาย องค์กรเอกชน เช่น Australian Nutrition Foundation, National Heart Foundation รวมทั้ง กรมอนามัย และกลุ่มผู้บริโภคที่รวมตัวกันขึ้น กิจกรรมที่ทำได้แก่ กิจกรรมที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านผลิตผลด้านอาหาร การจัดให้มีอาหารที่มีไขมันต่ำ และมีกากใยสูง การควบคุมให้มีผักและผลไม้เพียงพอและมีราคาที่ไม่แพงมากนักในชุมชน นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนัก และมีความรู้เพียงพอเกี่ยวกับอาหารที่จะส่งเสริมให้มีสุขภาพดี และทำให้ประชาชนเกิดความต้องการอาหารที่มีคุณลักษณะที่เหมาะสมในชุมชน รัฐบาลได้สร้างคำแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร (Australian Dietary Guidelines) เพื่อเผยแพร่แก่ประชาชน ในด้านกฎหมายก็ได้มีการกำหนดนโยบายด้านอาหารและโภชนาการของประเทศขึ้น (National Food and Nutrition Policy) โดยความร่วมมือระหว่างกรมอนามัย, หน่วยงานที่ดูและด้านที่อยู่อาศัย (Housing Department) และหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการบริการชุมชน (Community Services)

                                  ตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน/องค์กรต่างๆ ได้แก่ โครงการ Better Cities Program โครงการลดโรคมะเร็งผิวหนัง โดยเน้นการป้องกัน ซึ่งได้มีกิจกรรมการจัดให้มีร่มบังแดด ที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก สระว่ายน้ำ สนามเด็กเล่น นโยบายที่ส่งเสริมให้เด็กนักเรียนสวมหมวกเมื่อเล่นในสนามเด็กเล่น เปลี่ยนเวลาสำหรับการเล่นกีฬา/พลศึกษา เปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับการทำงานของคนงานที่ต้องทำงานในที่แจ้ง จัดให้มีโครงการให้การศึกษาทางสื่อมวลชน เพื่อให้ประชาชนสวมหมวก ใช้แว่นตาป้องกันแสงแดด การสวมเสื้อผ้าเพื่อป้องกันแสงแดด ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้ล้วนมีบทบาทสำคัญในการป้องกันแสงอุลตร้าไวโอเลต

                                  โครงการอื่นๆ ได้แก่ โครงการลดการดื่มสุรา (มีนโยบายการเพิ่มภาษีสุรา) โครงการลดอุบัติเหตุจากการจราจร ในช่วง 30 ปี ที่ผ่านมาได้ใช้กลวิธีต่างๆ ได้แก่ การมีกฎหมายให้ผู้ขับขี่รถยนต์คาดเข็มขัดนิรภัย ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ได้ใช้กลวิธีต่างๆ ได้แก่ การมีกฎหมายให้ผู้ขับขี่รถยนต์คาดเข็มขัดนิรภัย การจัดกิจกรรมสุขศึกษาแก่ชุมชน โครงการสุขศึกษาในโรงเรียน รวมทั้งการรณรงค์โดยใช้สื่อมวลชน ซึ่งพบว่ากิจกรรมเหล่านี้ได้มีส่วนช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ และลดอันตรายจากการเกิดอุบัติเหตุลงได้

                                 ในเดือนมกราคม ปี ค.ศ.1993 พบว่า มีเมืองต่างๆ ในประเทศออสเตรเลียจำนวน 26 เมือง ได้ดำเนินโครงการ Healthy Cities Projects (Whelan,1990; Mowbray,1990; Prior,1990) ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ประสบผลสำเร็จอย่างมาก โดยการร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น โรงงานอุตสาหกรรม โรงเรียน ชมรมในชุมชน และหน่วยงานราชการต่างๆ พบว่า การควบคุมปัญหาจราจร การมีสนามเด็กเล่นที่ปลอดภัย การมีอาหารที่เหมาะสมขายในชุมชน และการมีสิ่งแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะในชุมชน เหล่านี้ล้วนเป็นผลจากโครงการ Healthy Cities ดังกล่าว

                    โครงการส่งเสริมสุขภาพของโรงเรียน (Health Promotion in Schools)

                               แนวความคิดเกี่ยวกับโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion in Schools) เริ่มมีในยุ-โรปตั้งแต่ปี ค.ศ.1980 และได้มีการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากองค์การอนามัยโลก และได้ดำเนินการในประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา และในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งองค์ประกอบสำคัญของโครงการส่งเสริมสุขภาพในโรงเรียน ประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้

                                   * หลักสูตรสุขภาพแบบเบ็ดเสร็จสำหรับนักเรียนทุกคนในโรงเรียน

                                     * การเตรียมครูทั้งก่อนประจำการ และขณะประจำการเกี่ยวกับสุขศึกษา

                                       * เพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชน

                                         * ให้ผู้ปกครองของเด็กนักเรียนมีส่วนร่วมดำเนินการและสนับสนุนอย่างใกล้ชิด

                                           * เน้นการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน

                                             * ให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมมากขึ้นในการตัดสินใจและการกำหนดนโยบาย

                                               * การพัฒนาโรงเรียนให้เป็นองค์กรที่เป็นผู้ดูแลชุมชน

                                                 * ให้มีการบูรณาการสุขภาพในด้านกาย สังคม จิตใจ และสิ่งแวดล้อม

                                                   * สร้างพลังให้แก่นักเรียน (empowering children) ให้สามารถคิดอย่างมีวิจารณญาน และวิเคราะห์ปัญหาด้านสังคมและสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                                        การส่งเสริมสุขภาพใน General Medical Practice

                                                     ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาการแพทย์ทั่วไป (General Medical Practice) ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ภาควิชา Community Medicine และ General Practice ได้จัดประสบการณ์ด้านการแพทย์ทั่วไปให้กับนักเรียนแพทย์มากขึ้น หลักสูตรการฝึกอบรม Family Medicine Program (FMP) ได้เน้นด้านการส่งเสริมสุขภาพอย่างชัดเจน

                                        ในการสอบเพื่อขอรับทุนของแพทย์ได้มีการเพิ่มข้อสอบเกี่ยวกับทักษะความสามารถในการส่งเสริมสุขภาพมากขึ้น เช่น ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพยากรในชุมชนท้องถิ่น ที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในงานด้านสาธารณสุขมูลฐานและการส่งเสริมสุขภาพ

                                        การส่งเสริมสุขภาพในโรงพยาบาล

                                                       การปฎิบัติแบบดั้งเดิมของโรงพยาบาลในงานด้านการส่งเสริมสุขภาพ ได้แก่ การจัดกิจกรรมเกี่ยวกับ : การสุขศึกษาสำหรับผู้ป่วย การจัดโครงการเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และการบริการด้านการเพิ่มภูมิคุ้มกัน และการตรวจหาโรคบางชนิด ให้แก่ประชาชนในชุมชน ปัจจุบันโรงพยาบาลหลายแห่งในประเทศออสเตรเลีย ได้เริ่มมีกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น เป็นต้นว่า ร่วมกิจกรรม "Healthy Lifestyle" สำหรับผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ และชุมชน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ได้จัดโดยประสานงานกับโครงการรณรงค์ด้านการส่งเสริมสุขภาพของรัฐ และบางกิจกรรมก็ดำเนินงานโดยคณะกรรมการเฉพาะกิจ

                                                      ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมงานด้านการส่งเสริมสุขภาพ เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานการจัดตั้งภาควิชาการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งมีบุคลากรและงบประมาณดำเนินงานโดยเฉพาะ

                                        การส่งเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ (Health Promotion in the workplace)

                                                      กล่าวได้ว่าประเทศออสเตรเลีย เป็นผู้นำของโลกที่ดำเนินงานด้านการงดการสูบบุหรี่ในสถานประกอบการ

                                        ปัจจุบันกลยุทธที่ใช้การดำเนินงานการส่งเสริมสุขภาพในสถานประกอบการของประเทศออสเตรเลีย ได้แก่ :

                                          1. การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบและนโยบาย
                                            1. เน้นการจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
                                              1. การจัดการศึกษา และการให้ข้อมูล
                                                1. การตรวจเพื่อค้นหาโรค (health screening)

                                                  VICTORIAIN HEALTH PROMOTION FOUNDATION   ชื่อย่อ "Vichealth"

                                                             เป็นแนวทางในการดำเนินกิจกรรมด้านส่งเสริมสุขภาพที่สำคัญอย่างหนึ่งในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งได้เริ่มเมื่อปี ค.ศ.1987 โดยก่อตั้งเป็นมูลนิธิส่งเสริมสุขภาพขึ้น ซึ่งเป็นสถาบันอิสระดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพโดยใช้เงินจากภาษีบุหรี่ของรัฐ (7%) มาเพื่อดำเนินกิจกรรมของประชาชนในรัฐวิคตอเรีย ซึ่งการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมสุขภาพจะดำเนินการในด้าน Health Food and Exercise, Safe Drinking, Pap smears, Mental Health, Safe sex โดยจัดกิจกรรมให้มีการส่งเสริมสุขภาพร่วมกันในด้านสาธารณสุข การศึกษา กีฬาและศิลปะ องค์กรท้องถิ่น มีการพัฒนาผุ้นำทางการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการส่งเสริมสุขภาพเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี โดยให้ชุมชนรับผิดชอบสุขภาพของตนเอง

                                                             ซึ่งรูปแบบในการดำเนินงานของมูลนิธิจะมีการดำเนินงานโดยมีการวางแผนกลยุทธ Strategic plan มีการดำเนินงานโดยเน้นการสร้างเครือข่าย Net Working การดำเนินกิจกรรมด้านส่ง-เสริมสุขภาพสำหรับกลุ่มเป้าหมายโดยครอบคลุมสถานที่ต่างๆ เช่น โครงการ Healthy School, Health cities, Healthy workplace, Healthy community, Sports, Arts & Culture และโครงการอบรมระยะสั้นต่างๆ

                                                             กล่าวโดยสรุป ประเทศออสเตรเลียเป็นประเทศที่ประสบผลสำเร็จในงานด้านสาธารณสุข, การส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันการเจ็บป่วย (illness prevention programs) การดำเนินงานจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากองค์การต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน องค์กรในชุมชน และบุคคลที่มีความตั้งใจจริงในการดำเนินงาน อย่างไรก็ตามออสเตรเลียก็ยังประสบกับปัญหาและอุปสรรคหลายประการ และยังต้องการปรับปรุงกิจกรรมหลายอย่างที่จะมีผลต่อความสำเร็จของโครงการส่งเสริมสุขภาพ .

                                                               

                                                  สิ่งแวดล้อมที่ส่งผลดีต่อสุขภาพมีอะไรบ้าง

                                                  สิ่งแวดล้อมดี จะต้องมีการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อสุขภาพ สถานที่ต้องไม่ก่อมลพิษต่อสุขภาพของคนทำงาน และชุมชนโดยรอบ ไม่ว่าจะเรื่อง ฝุ่น เสียง สารเคมี น้ำเสีย และขยะและจะต้องดูแลพฤติกรรมสุขภาพของคนในที่ทำงาน ไม่ว่าจะ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และใช้ส้วมให้ถูกต้อง รวมถึงความสะอาดด้วย

                                                  หลักการสร้างเสริมสุขภาพ มีอะไรบ้าง

                                                  1. รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทาสงโภชนาการหลากหลายไม่ซ้ำซาก โดยเฉพาะผักผลไม้ควรมีทุกมื้อ 2. ออกกำลังสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้เบิกบาน จะช่วยคลายความเครียดและป้องกันภาวะเสี่ยงเกิดโรคเกี่ยวกับข้อต่อ กระดูก และโรคหัวใจ รวมทั้งระบบการไหลเวียนของโลหิต 3. ทำสมาธิ เล่นโยคะ หรือการนวดเพื่อสุขภาพเพื่อผ่อนคลายความเครียด

                                                  การสร้างเสริมสุขภาพ หมายถึงข้อใด

                                                  การสร้างเสริมสุขภาพ หมายความว่า บริการหรือกิจกรรมที่ให้โดยตรงแก่บุคคลครอบครัวหรือกลุ่มบุคคล เพื่อสร้างเสริมความตระหนักและขีดความสามารถของบุคคลในการดูแลสุขภาพของตนเอง การป้องกันโรค หมายความว่า บริการหรือกิจกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ให้โดยตรงแก่บุคคล ครอบครัวหรือกลุ่มบุคคล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรค

                                                  การดำเนินงานด้านสุขภาพมีด้านใดบ้าง

                                                  1) การประเมินสุขภาพ โดยเน้นที่พฤติกรรม 2) ให้บริการโปรแกรมทางสุขภาพ เช่น การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ การลดน้ำหนัก การเลิกบุหรี่แอลกอฮอล์หรือสิ่งเสพติดอื่นๆ การจัดการความเครียด ฯลฯ 3) ให้คำปรึกษาหรือสนับสนุนเกี่ยวกับการพัฒนาพฤติกรรมทางสุขภาพ 4) การให้วัคซีนป้องกันโรคตามกลุ่มอายุ