อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล 2565

ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล 2565

          รัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เป็นระยะเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชี จากอัตรา 30% เหลือ 23% และ 20% ตามลำดับ ดังนี้

  สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2555 เพียงหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงเหลือ 23% ของกำไรสุทธิ

  สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไปอีกสองรอบระยะเวลาบัญชี ให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงเหลือ 20% ของกำไรสุทธิ

           ส่วนสาเหตุที่กำหนดให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวเป็นการชั่วคราวเพียง 3 รอบระยะเวลาบัญชี ก็สืบเนื่องมาจากการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าว โดยทั่วไปต้องตราเป็นพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลรัษฎากรเป็นการถาวร แต่เนื่องจากกระบวนการในการแก้ไขกฎหมายโดยวิธีการดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลายาวนานมาก ในเบื้องต้นจึงใช้มาตรการตรากฎหมายระดับรอง คือ พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรไว้ก่อน สำหรับการแก้ไขการลดอัตราเป็นการถาวรก็จะได้ดำเนินการต่อไป

          ในคราวเดียวกันนี้ได้ปรับปรุงการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท ที่เดิมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาทแรก และจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 15% ของกำไรสุทธิในส่วนที่เกิน 150,000 บาทแต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท สำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท ให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 25% และสำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่เกินกว่า 3 ล้านบาท ให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 30%

          โดยได้มีการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าว ให้สอดคล้องกับการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลข้างต้น กล่าวคือ สำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท ยังคงยกเว้นและลดอัตราเหมือนเช่นเดิม แต่สำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่เกินกว่า 1 ล้านบาทนั้น ลงเหลือ 23% สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2555 เพียงหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี และลดลงเหลือ 20% สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไปอีกสองรอบระยะเวลาบัญชี

          รวมทั้งปรับปรุงการลดอัตราภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิของบริษัทที่นำหลักทรัพย์มาจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและจูงใจการลงทุนในด้านต่าง ๆ ให้กับนักลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนจากต่างประเทศ อันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนให้มีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่สอดคล้องกันไปด้วย ซึ่งมั่นใจว่าจะดึงดูดการลงทุนได้มาก

          เป็นอันว่า แนวนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ได้หาเสียงไว้ก่อนรับการเลือกตั้ง ได้ถูกนำมาเป็นนโยบายของรัฐบาล และทยอยนำมาประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรม ดังเช่น กรณีการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% ของกำไรสุทธิ เป็น 23% แถมรัฐบาลยังใจดีลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงเหลือ 20% ในปีต่อไปอีก นับได้ว่าใจถึงอย่างมาก

          อย่างไรก็ตามการลดอัตราภาษี เงินได้นิติบุคคลดังกล่าวไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมายของกรมสรรพากร กระทรวงการคลังแต่ประการใด เป็นที่รู้กันดีโดยทั่วไปว่า อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในบ้านเรานั้นสูงกว่าอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของเพื่อนบ้าน ทั้ง เวียด นาม มาเลเซีย และสิงคโปร์

 เวียดนาม และมาเลเซีย จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 25% ของกำไรสุทธิ ส่วนสิงคโปร์ จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 17% ของกำไรสุทธิ เท่านั้น

          นอกจากนี้ ทั้งสามประเทศยังจัดเก็บภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิเพียงระดับเดียว คือภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่านั้น ไม่เรียกเก็บภาษีเงินได้จากการจ่ายเงินปันผลซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยของเราที่จัดเก็บภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิเป็นสอง ระดับคือ

          ระดับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งปกติที่ผ่านมารวมทั้งในปี 2554 จัดเก็บในอัตรา 30% ของกำไรสุทธิ คงเหลือกำไรสะสมที่จะนำไปจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนอีก 70% เมื่อมีการจ่ายเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรก็จะจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน โดยให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย อีก 10% ของเงินปันผลหรือเงินแบ่งของกำไร

          หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นนำกำไรสะสมที่เหลือจากการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลมาจ่ายทั้งหมด ก็จะได้จำนวนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายรวมทั้งสิ้นเป็น 7% ของกำไรสุทธิ และเมื่อรวมกับจำนวนภาษีเงินได้นิติบุคคลอัตรา 30% ก็จะได้เป็นอัตราภาษีเงินได้ที่เรียกเก็บจากกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้นเป็น 37% ของกำไรสุทธิ

          นั่นเองเป็นเหตุผลว่า ทำไมอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดจึงเป็นอัตรา 37% ของเงินได้สุทธิ ทำไมไม่เป็นอัตราอื่น เช่น 40% เพราะอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นอัตราก้าวหน้าตามจำนวนเงินได้สุทธิที่เพิ่มขึ้น อันเป็นหลักการจัดเก็บภาษีเงินได้ตามความสามารถในการเสียภาษีเงินได้ โดยเริ่มจาก 5% เป็น 10% เพิ่มเป็น 20% และ 30% ตามลำดับ หากเป็นเลขอนุกรมก็ควรเป็นอัตรา 40%

          การกำหนดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้เช่นนั้นก็เป็นเพราะประเทศไทยเราผูกอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้กับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อก่อให้เกิดความเป็นธรรมในการเลือกประกอบธุรกิจ ไม่ว่าคุณจะประกอบกิจการในรูปแบบบุคคลธรรมดาคนเดียวเป็นเจ้าของ คุณก็ต้องเสียภาษีเงินได้สูงสุดที่อัตรา 37% และแม้คุณเลือกประกอบธุรกิจในรูปบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลคุณก็ต้องเสียภาษีเงินได้สูงสุดที่อัตรา 37% เท่ากัน อันเป็นลักษณะของภาษีอากรที่ดีตามหลักความเป็นกลางทางเศรษฐกิจ


ที่มา : www.pattanakit.net