น้ํามูกไหลเป็นน้ําใสๆ ไม่หยุด

น้ำมูก คือ เมือกที่ผลิตจากต่อมสร้างน้ำมูกในเยื่อบุจมูก มีหน้าที่ช่วยคงความชุ่มชื้นให้กับโพรงจมูกและไซนัส ทั้งยังช่วยดักจับและป้องกันไม่ให้เชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอม เช่น ฝุ่นละออง แบคทีเรีย ไวรัส เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจผ่านทางโพรงจมูกได้ หากภายในจมูกแห้งอาจทำให้ร่างกายเสี่ยงติดเชื้อได้มากขึ้น ร่างกายสามารถผลิตน้ำมูกได้วันละประมาณ 2 ลิตร และน้ำมูกที่ไหลออกมาส่วนใหญ่มักมีลักษณะเป็น น้ำมูกใส ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากไข้หวัด หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ อย่างไรก็ตาม การทราบสาเหตุที่ทำให้มีน้ำมูกใส อาจช่วยให้สามารถหาวิธีลดน้ำมูก และบรรเทาอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นพร้อมกันได้อย่างตรงจุดยิ่งขึ้น

น้ำมูกใส เกิดจากอะไร

น้ำมูกที่สีใส มักประกอบด้วยน้ำ แอนติบอดี โปรตีน และเกลือ ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหวัด เพราะเมื่อไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทางโพรงจมูก อาจกระตุ้นให้เยื่อบุจมูกอักเสบ จนมีน้ำมูกใส ๆ ไหลออกมา แต่น้ำมูกใสก็อาจเป็นสัญญาณของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ได้เช่นกัน เนื่องจากเมื่อสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น ละอองเกสร เข้าสู่โพรงจมูก อาจไปกระตุ้นให้มีการหลั่งสารเคมีที่ชื่อว่า ฮิสตามีน (Histamine) ซึ่งจะไปกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้ เช่น มีผื่นคัน เยื่อตาอักเสบ เยื่อบุจมูกอักเสบ จาม คัดจมูก รวมถึงกระตุ้นให้ต่อมสร้างน้ำมูกผลิตน้ำมูกใส ๆ ออกมาด้วย

น้ำมูกใส อาจเกิดจากภาวะหรือปัจจัยเหล่านี้ได้เช่นกัน

  • อยู่ในสภาพอากาศแห้ง
  • สูบบุหรี่
  • ดื่มน้ำน้อยเกินไป
  • ดื่มเครื่องดื่มที่อาจทำให้ร่างกายขาดน้ำ เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ใช้ยาบางชนิด เช่น ยาต้านการอักเสบอย่างแอสไพริน ยาลดความดัน ยาขยายหลอดเลือด ยารักษาอาการทางจิต ยากดภูมิคุ้มกัน ยาหดหลอดเลือดชนิดพ่นจมูก ยาต้านไทรอยด์ ยารักษาต้อหิน ฮอร์โมนทดแทน

วิธีบรรเทาอาการน้ำมูกไหล

โดยปกติแล้ว ร่างกายจะผลิตน้ำมูกวันละประมาณ 2 ลิต และส่วนใหญ่น้ำมูกใสจะไหลลงคอ หรือถูกกลืนลงกระเพาะอาหาร แต่ในบางครั้ง ก็อาจมีน้ำมูกใสไหลออกมามากเกินไป จนต้องคอยเช็ด หรือสั่งน้ำมูกออก เพื่อไม่ให้เลอะ หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม วิธีเหล่านี้ อาจช่วยลดน้ำมูก หรือบรรเทาอาการน้ำมูกไหลได้

  • การใช้ยา

    • ยาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยา เช่น ยาไกวเฟนิซิน (Guaifenesin) ซึ่งช่วยลดเสมหะหรือน้ำมูก บรรเทาอาการคัดจมูก และทำให้หายใจคล่องขึ้น ยาฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine) ซึ่งเป็นยาหดหลอดเลือด ช่วยให้น้ำมูกลดลง และบรรเทาอาการคัดจมูก
    • ยาที่คุณหมอสั่งจ่าย เช่น ยาขับเสมหะหรือละลายเสมหะ ในรูปแบบน้ำเกลือความเข้มข้นสูง (Hypertonic saline) หรือยาพ่นจมูก และหากมีน้ำมูกเนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรีย คุณหมออาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะ ที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย
  • การดูแลตัวเอง

    • ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เพื่อช่วยระบายน้ำมูก ทำให้โพรงจมูกสะอาดขึ้น และอาจช่วยป้องกันเชื้อโรคได้
    • เพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศ เพื่อไม่ให้โพรงจมูกแห้งเกินไป ทั้งยังอาจช่วยลดน้ำมูกได้ด้วย
    • ดื่มน้ำเปล่าให้มาก ๆ โดยอาจเลือกดื่มน้ำอุ่น และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ เครื่องดื่มแอกอฮอล์
    • หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ สารเคมี น้ำหอม หรือมลภาวะ เพราะอาจทำให้เยื่อเมือกในจมูกระคายเคือง และกระตุ้นให้ต่อมสร้างน้ำมูกผลิตน้ำมูกมากเกินไปได้
    • เลิกบุหรี่ โดยเฉพาะหากป่วยเป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลต่อปอด เช่น โรคหอบ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

แม้น้ำมูกใสอาจไม่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อร่างกาย และสามารถจัดการได้ด้วยยาหรือวิธีดูแลตัวเองที่เหมาะสม แต่หากมีน้ำมูก มีเสมหะ หรือมีภาวะดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบคุณหมอทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงกว่าได้

  • มีน้ำมูกหรือเสมหะในปริมาณมากติดต่อกันนานกว่า 4 สัปดาห์
  • น้ำมูกหรือเสมหะหนาขึ้น มีปริมาณมากขึ้น หรือเปลี่ยนสี
  • มีไข้
  • เจ็บหน้าอก
  • หายใจลำบาก
  • หายใจมีเสียงหวีด
  • ไอเป็นเลือด

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

อาการของโรคภูมิแพ้  ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 มีสิ่งที่คล้ายกันคือ ลักษณะอาการ เพราะเป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ มีตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง การทำความรู้จักอาการของโรคทั้งหมดจะช่วยให้แยกอาการแตกต่างของโรคออกจากกันได้ เพื่อลดความวิตกกังวลและเฝ้าระวังโรคแบบตระหนักรู้และไม่ตื่นตระหนกเกินไป

โรคภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกายที่ไวต่อสารก่อภูมิแพ้มากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการผิดปกติกับอวัยวะที่สัมผัสสารก่อภูมิแพ้นั้น ๆ ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้แต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกันและความรุนแรงไม่เท่ากัน เพราะชนิดของสารก่อภูมิแพ้ที่ได้รับและการตอบสนองของร่างกายแต่ละบุคคลต่างกัน

อาการของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จะเกิดตามอวัยวะที่มีการอักเสบจากการกระตุ้นของสารก่อภูมิแพ้ ได้แก่ ผื่นคัน คันจมูก จาม มีน้ำมูก คัดจมูก ไปจนถึงไอ หอบ แน่นหน้าอก หายใจไม่คล่อง เป็นต้น ในคนที่เป็นภูมิแพ้อยู่แล้ว หากถามว่าเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าปกติหรือไม่ต้องบอกว่าไม่ได้มีความเสี่ยงมากกว่าปกติ แต่หากดูแลป้องกันตัวเองไม่ดีพอก็มีโอกาสติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้

อาการของโรคภูมิแพ้ ประกอบด้วย

  • จาม
  • น้ำตาไหล
  • คันตา
  • คัน/คัดจมูก
  • อาจมีน้ำมูกไหล
  • เกิดผื่นแพ้ต่าง ๆ ได้

การรักษาควรดูแลตัวเอง หลีกเลี่ยงจากสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ใช้ยาตามแพทย์สั่ง อาจล้างจมูก พ่นยาจมูก เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกำเริบได้ แต่หากเป็นภูมิแพ้และสงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19 ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อปรึกษาความเสี่ยง


โรคไข้หวัด

ไข้หวัดเป็นโรคติดเชื้อที่พบได้บ่อย เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายสายพันธุ์ มักพบในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง ความรุนแรงของโรคไม่มาก และสามารถหายเองได้ภายในไม่กี่วัน สามารถติดต่อผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ โดยการหายใจเอาเชื้อที่กระจายจากการไอ จาม หรือมือที่เปื้อนเชื้อโรคสัมผัสจมูกหรือตา

อาการของโรคหวัด ได้แก่

  • คัดจมูก
  • น้ำมูกไหลลักษณะใส
  • ไอมีเสหะ
  • จาม
  • เจ็บคอ
  • เสียงแหบ
  • อาจมีไข้ต่ำ ๆ ปวดศีรษะเล็กน้อย

ในผู้ใหญ่อาการจะน้อยมากอาจมีแค่คัดจมูกและน้ำมูกไหล (ยกเว้นผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคทางการหายใจ) อาการของโรคมักเป็นไม่เกิน 2 – 5 วัน แต่อาจมีน้ำมูกไหลนาน 10 – 14 วัน กล่าวคือ ติดต่อโดยการหายใจเอาละอองน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยที่ไอ หรือ จาม และการสัมผัสมือ หรือการใช้สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ร่วมกับผู้ป่วย


โรคไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) แบ่งเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบกันมานานแล้ว อาการมักจะไม่รุนแรง และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่พบปะปนกับสายพันธุ์ต่าง ๆ ทั่วไป

อาการสำคัญของไข้หวัดใหญ่ คือ

  • มีไข้สูงติดกันหลายวัน
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • ไอแห้ง ๆ
  • จาม
  • เจ็บคอ
  • บางครั้งมีน้ำมูก

***อาการจะคล้ายกับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างมาก แต่ที่แตกต่างคือมักจะไม่มีอาการทางเดินหายใจส่วนล่าง คือ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก เมื่ออาการมีความคล้ายคลึงกัน ในระยะเริ่มต้นของอาการป่วยลักษณะนี้ เวลาที่ไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการส่งตรวจเชื้อไข้หวัดใหญ่ก่อนอันดับแรก เพื่อตัดประเด็นความคล้ายคลึงกันของอาการออกไป


โรคโควิด-19

การติดเชื้อโควิด-19 บางคนอาจมีอาการรุนแรงไม่มาก มีลักษณะเหมือนไข้หวัดทั่วไป ขณะที่บางคนมีอาการรุนแรงมาก ทำให้เกิดปอดอักเสบได้

อาการของผู้ป่วยโรคโควิด-19 จะเริ่มจาก

  • ไข้
  • รู้สึกเมื่อยล้า
  • ไอแห้ง ๆ
  • หายใจได้ลำบาก
  • บางครั้งอาจมีอาการเจ็บคอ

ทั้งนี้โรคนี้สามารถหายได้เอง รูปแบบการรักษาเป็นไปตามอาการที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล การทำความเข้าใจเกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้จะช่วยให้ดูแลสุขภาพ สุขอนามัย และสามารถป้องกันตนเองได้อย่างถูกวิธี


เนื่องจากไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือภูมิแพ้ เป็นโรคที่เคยเกิดขึ้นแล้ว และร่างกายของคนเรามีภูมิคุ้มกันในระดับหนึ่ง
แต่โควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่ร่างกายของมนุษย์ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ทำให้เวลาที่เชื้อเข้าไปในร่างกาย ในระบบทางเดินหายใจ เชื้อโรคจะลามเข้าไปสู่ปอด ส่งผลให้เกิดอาการปอดบวม ปอดอักเสบ ได้มากกว่าไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือโรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะในคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ สุขภาพไม่แข็งแรง มีโรคประจำตัว เป็นต้น

การป้องกันโรคที่ดีที่สุดของทั้งภูมิแพ้  ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 คือ ล้างมือบ่อย ๆ ไม่เอามือไปสัมผัสหน้าตา หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีคนแออัดในช่วงที่มีการระบาด เว้นระยะห่าง (Social Distancing) ใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ในผู้สูงอายุละเด็กควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้ห่างไกลโรค