วัดจุกเฌอ ฉะเชิงเทรา ประวัติ

หลวงพ่อช้าง วัดจุกเฌอ

เกจิหนุ่มลุ่มน้ำบางปะกง

พระดีมีวิชาผู้คงแก่เรียน

5ขวบสวดชินบัญชรได้

หลากหลายสายวิชาเกจิดัง

เปิดบันทึกตำนานพระเกจิเพชรน้ำงามแห่งลุ่มแม่น้ำบางปะกงอีกรูปหนึ่งในยุคนี้ "หลวงพ่อช้างเตชปญฺโญ"เจ้าอาวาสวัดจุกเฌอ เจ้าคณะตำบลบางไผ่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เกจิอาจารย์ในรุ่นปัจจุบันนี้ที่มีความน่าศรัทธาเลื่อมใสมาก ด้วยมีศีลาจารวัตรที่งดงาม มีเมตตาต่อทุกคนที่ไปกราบไหว้ ที่สำคัญท่านไม่สะสม ใครไปทำบุญกับท่านแล้วท่านก็จะนำไปสร้างถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนา

ท่านมีนามเดิมว่า "รณชัย ปัณฑะโชติ" ชื่อเล่น ช้างเกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม 2515 เวลา08.55 นาที ที่บ้านเลขที่41หมู่2 ต.คลองจุกกระเฌอ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา โยมบิดาชื่อ สมศักดิ์ปัณฑะโชติ (ฮวดใช้ แซ่อึ้ง) โยมมารดาชื่อ"ทองสุก พันธรักษ์"

ชีวิตในวัยเด็กได้ช่วยกิจการทางบ้าน และมีิจิตใจฝักใฝ่ในพระพุทธศาสนา ชอบติดตามย่าหนูไปทำบุญที่วัดเสมอ จิตใจชอบความสงบ สวดชินบัญชรได้ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ย่าหนูเป็นหลานของ “ ก๋งเฮง ” ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน เหตุที่มีจิตใจชอบความสงบและสนใจปฏิบัติธรรมตั้งแต่เด็กๆ คงเป็นเพราะว่าบิดา-มารดามีแต่ลูกผู้หญิง อยากได้ลูกชายสักคนจึงไปจุดธูปขอลูกชายจากหลวงพ่อโสธร กลับมาฝันว่ามีพระพุทธทองคำลอยมา เข้ามาอยู่ในท้อง จึงบอกสามีว่าคงได้ลูกชายแน่

ตอนแพ้ท้องอยากกินแต่ดิน อารมณ์ดี ชอบกินแต่ผลไม้ กินของหวาน ท้อง 10 เดือนกว่า คลอดหมอตำแย หลังจากแม่ไปสอยหมากกลับมาจึงเจ็บท้อง ตอนกลางคืนพ่อเห็นลูกไฟพุ่งขึ้นในหมู่ไม้ใกล้หัวร่องปลายสวน รุ่งเช้าคลอด 08.00 น. จึงคลอดลูกชายออกมาหนัก 2 โลแปดขีด วันเสาร์เดือนสิงหาคม ตัวโตกว่าเด็กทั่วไป จึงได้ชื่อว่า “ ช้าง ” สมัยเด็กๆ เล่นตะเกียง คลานไฟลวกทั้งตัว แต่ก็รอดมาได้ มีจิตใจเมตตามาตั้งแต่เด็กๆ เห็นคนขอทานไม่ได้เกิดสงสารจนร้องให้ กลับจากโรงเรียนเอาเงินที่เหลือแตกเป็นเศษเหรียญเดินแจกคนจนหมด ไม่เคยนึกอยากได้อะไร ไม่ดื้อ สมัยเด็กเห็นพระพุทธรูปก็ชอบเอาดินมาปั้น พระพุทธรูปองค์แรก เมื่อ อายุ 6 ขวบชอบนั่งสมาธิเป็นประจำ

อายุ 7 ขวบ ชอบเล่นเป็นพระเรียกเพื่อนๆ มารับศีล เห็นพระมาบิณฑบาตหน้าบ้าน แม่เอาแอปเปิลมาใส่บาตร 2 ลูก ขอกิน 1 ลูกแม่ไม่ให้ แต่เอาใส่บาตรหมด จึงสงสัยตามไปดูพระมาจากไหน ตามไปดูพระที่วัดนั้น ชอบวัตรปฏิบัติของพระที่วัด จึงเริ่มสนใจการเป็นพระตั้งแต่นั้นมาชอบบวชเณรในช่วงปิดเทอมอยู่เสมอ

พ.ศ.2528 บวชเณรที่วัดแสนตุ้ง จ.ตราด ขณะเรียนมัธยม 2 ในช่วงปิดทอม ได้ปฏิบัติธรรมจนเริ่มเห็นอนิจจังของชีวิต มองเห็นอสุภะมาตั้งแต่เด็ก จนได้นิมิตต่างๆ โดยพิจารณาอารมณ์จนร่างกายเบาสบายได้ปฐมฌาน คือหลุดจากอารมณ์ได้

หลังเรียนจบเทคนิคที่วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทราแล้วไปทำงานที่กบินทร์ โรงงานแหลมฉบังรับเบอร์ ทำได้ 2 ปีเกิดเบื่อหน่ายจึงลาออกเพราะเห็นอนิจจังของชีวิตแล้วออกบวชเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2539 ณ วัดจุกเฌอ โดยมี พระเมธีวรคณาจารย์ (ประยนต์) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาสุทัน ขตยาโท เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระมหามาโนช มหาปุณโณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า “ เตชปญโญ ” หลังจากบวชแล้วได้ตั้งใจศึกษาพระปริยัติธรรม จนสอบได้นักธรรมตรี โท เอก เป็นลำดับทุกปี

หลวงพ่อช้าง หรือพระอาจารย์ช้าง ของชาวจุกเฌอและชาวแปดริ้วรูปนี้ ท่านปิดตัวมานานทำอะไรก็ไม่ค่อยอยากบอกให้ใครๆรู้ เพราะท่านนั้นไม่ชอบความวุ่นวายเดือดร้อน เป็นคนขี้เกรงใจคน เป็นคนมีสติประกอบ ด้วยเมตตา กรุณา ต่อคนทุกชนชั้นไม่เลือกหน้า มีความโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

ในสายตาของคนที่ไม่เคยสนิทคุ้นเคยกับท่านจะเห็นว่าท่านอายุยังน้อย เพราะสัมผัสท่านได้แค่ภายนอก แต่ถ้าใครได้ใกล้ชิดกับท่านก็จะรู้ว่า ความรู้ความสามารถของท่านมันช่างมหัศจรรย์เหลือเกินจริงๆ ทั้งภูมิรู้ ภูมิธรรม หรือในศาสตร์ลึกลับโบราณอันวิเศษมากมาย

ท่านเป็นทั้งหมอยา เพราะอยู่กับธรรมชาติอยู่ป่าอยู่เขาอยู่ถ้ำมาตั้งแต่เด็กๆ เป็นทั้งพระเกจิอาจารย์ ดำเนินรอยตามสุดยอดพระเกจิอาจารย์ดังแต่โบราณจริงๆ ที่มักจะพูดติดปากกันว่าเกจิอาจารย์ที่เก่งจริงๆ ท่านเป็นทั้งหมอยาเพราะต้องเรียนรู้เจนจบหมดทุกด้านไม่ว่าจะฤกษ์ยามโหราศาสตร์ การรักษาโรค พระเวทย์อาคม สมาธิ

ท่านเป็นผู้มีตบะ บุญวาสนาบารมี มาตั้งแต่อายุยังน้อยๆ เป็นผู้แก่กล้าด้วยสมาธิและวิทยาคมซ้ำยังเป็นผู้แตกฉานอักขระเลขยันต์ พิสดารโบรานอย่างมหัศจรรย์มาตั้งแต่อายุ 12 ทั้งของวิเศษ ว่านยาวัสดุอาถรรพณ์นานับประการ ยากจะหาใครที่จะรู้จริงๆอย่างท่าน ท่านจึงได้รับการยกย่องจากหน่วยงานต่างๆมากมาย

นอกจากนี้ ท่านเป็นผู้คงแก่เรียน แสวงหาครูบาอาจารย์ เพื่อศึกษาศิลปเวทวิทยากับพระเกจิคณาจารย์ในกาลก่อนเป็นอันมาก เกือบจะเรียกได้ว่าทุกทิศของเมืองไทย

วิชาความรู้ของหลวงพ่อช้างนั้นมาจากต้นตระกูลที่สืบสานทั้งทางด้าน เวทวิทยาคม หรือ เรื่องหมอยา โหราศาสตร์ ก็ตาม

ล้วนแล้วแต่เป็นความรู้จากตระกูลที่สืบเชื้อสายมาจากหลวงปู่ปาน วัดบางเหี้ย, หลวงปู่เหลือ วัดสาวชะโงก, หลวงปู่ญาณ วัดสัมปทวน

ในยุคที่หลวงพ่อช้างมีโอกาสอยู่เขาสมิง จังหวัดตราดกับก๋งย่า ได้พบปะพระเกจิคณาจารย์ภาคตะวันออกเกือบทุกรูปองค์ในสมัยนั้น ท่านเป็นคนช่างคิด ช่างถาม ช่างค้นคว้าหา เหมือนท่านมีความรู้สะสมมาตั้งแต่อดีตชาติแล้ว ทำให้ท่านมีความรู้แตกฉานเชี่ยวชาญทางด้าน วรรณคดีประวัติศาสตร์ เวทวิทยาคม และฝึกวิปัสสนา กัมมัฏฐาน ชอบนั่งสมาธิสวดมนต์มาตั้งแต่เล็กๆ

พระเกจิคณาจารย์ภาคตะวันออกในยุคนั้นที่ท่านมักไปมาหาสู่และพูดถึงให้ฟังอยู่เสมอก็คือหลวงปู่คง วัดวังสรรพรส,หลวงพ่อลัด วัดหนองกะบอก,หลวงพ่อกล้วย วัดหมูดุด และอีกหลายรูป

ส่วนภาคกลางนั้นที่ท่านพูดถึงอยู่เป็นประจำก็คือ หลวงปู่ดู่ วัดสะแก หลวงปู่ชื้น วัดญาณเสน

หลวงปู่มี วัดมารวิชัย หลวงพ่อเมี้ยน วัดโพธิ์กบเจา หลวงปู่ทิม วัดพระขาว หลวงปู่เชิญ วัดโคกทอง, หลวงปู่หลิว วัดไร่แตงทอง หลวงพ่อพูล วัดไผ่ล้อม หลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ หลวงพ่อพุฒวัดกลางบางพระ หลวงพ่อไสว วัดปรีดาราม,หลวงปู่แย้ม วัดสามง่าม ท่านก็ไปมาหาสู่อยู่ตลอดเป็นต้น

ทางภาคอีสานทางโคราช ที่ท่านยกย่องและกราบไหว้ที่สุดก็คือ หลวงปู่คง วัดตะคร้อ

ทางสุพรรณบุรี ที่ท่านพูดถึงมากที่สุดคือ หลวงปู่ดี วัดพระรูป ดล่าวได้ว่าแทบทุกภาคทั้งเหนือใต้ออกตก ท่านไปเยี่ยมเยียนพระเกจิคณาจารย์ในรุ่นที่ท่านยังทันตั้งแต่อายุน้อยๆเกือบทุกรูปองค์ทั่วสารทิศเมืองไทย

หลวงพ่อช้างให้ความสนใจการสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาเป็นพิเศษท่านเห็นว่า “ความรู้สร้างคนให้เป็นคนดีช่วยเหลือสังคมประเทศชาติได้” ท่านจึงให้ทุนปีละประมาณ 100 ทุนทุกปี มอบเงินสนับสนุนโรงเรียนหลายแห่ง ส่งลูกศิษย์จบปริญญามีอาชีพไปหลายรุ่น หลวงพ่อช้างไม่ชอบคนพาลสันดานหยาบและอบายมุข ท่านเคยบอกว่า “คนคดไม่คบเสาคดไม่เอามาทำเรือน”

วัตถุมงคลสร้างเหรียญรุ่นแรกขึ้นในปี พ.ศ.2559 และสร้าง “ เหรียญพรหมธาดา ” ตลอดจนเครื่องราง"เสือ" ซึ่งได้รับการถ่ายทอดวิชามาทางสายหลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน ซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ของท่านเองคือ “ ก๋งเฮง ” นอกจากนี้ ยังสร้าง ผ้ายันต์ ตะกรุด ลูอม และปลัดขิก ตามแนวทางของหลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก รวมทั้งวัตถุมงคล"ท้าวเวสสุวรรณ"ทุกรุ่น วัตถุมงคลที่สร้างขึ้นแต่ละรุ่นล้วนได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง และมีประสบการณ์เล่าขานมากมาย