ลักษณะ การแบ่งชนชั้น

ลักษณะ การแบ่งชนชั้น

1.ชนชั้นปกครอง แบ่งออกได้เป็น

1.1 พระมหากษัตริย  ทรงดำรงตำแหน่งสูงสุดในสังคม มีอำนาจสูงสุด มีหน้าที่ปกครองดูแลพลเมืองให้อยู่ด้วยความสุขและความปลอดภัย ออกกฏหมายและพิจารณาตัดสินคดีความต่างๆ

ทรงดำรงฐานะเป็นสมมติเทพตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์
เป็นทั้งเจ้าแผ่นดินและเจ้าชีวิต และเป็นธรรมราชาตามความเชื่อของพระพุทธศาสนา ทรงเป็นพุทธมามกะ และบำเพ็ญตนตามหลักทศพิธราชธรรมและจักรวรรดิวัตร

1.2 พระบรมวงศานุวงศ์ หรือเจ้านาย  คือเชื้อพระวงศ์ของพระมหากษัตริย์ มีฐานะรองจากพระมหากษัตริย์ อำนาจจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตำแหน่ง หน้าที่การงานกับความโปรดปรานของพระมหากษัตริย์ ยศของเจ้านายแบ่งได้เป็น

สกุลยศ  เป็นยศที่ได้รับมาตั้งแต่เกิด สืบเชื้อสายจากพระมหากษัตริย์โดยตรง มีลำดับชั้นดังนี้ เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า หม่อมเจ้า
 อิสริยยศ  เป็นยศที่ได้รับพระราชทานจากการได้รับราชการ เช่น พระราเมศวร พระบรมราชา เป็นต้น

………ยศที่ได้รับอาจมีการเลื่อนขั้นหรือลดขั้นได้แล้วแต่ความผิดที่ได้กระทำลงไปหรือความชอบ ที่ได้รับ แต่มิได้สืบทอดยศที่ได้นั้นไปถึงลูกหลาน สิทธิตามกฏหมายของเจ้านายนั้น เช่น สามารถได้รับส่วนแบ่งรายได้จากภาษีอากรของแผ่นดินจะถูกพิจารณาคดีความได้ภายใน ศาลของกรมวังเท่านั้น และจะนำไปขายเป็นทาสไม่ได้ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีการสถาปนาเจ้านายให้ทรงกรมมีตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นตำแหน่ง
ที่สำคัญที่สุดในตำแหน่งของเจ้านายทั้งหมดจะตั้งให้กับพระราชโอรสผู้หนึ่งผู้ใดเพื่อแสดงว่า ผู้นั้นสมควรจะได้ครองแผ่นดินเป็นกษัตริย์ต่อไป

1.3 ขุนนาง และข้าราชการ  ในสมัยอยุธยาขุนนางมีฐานะซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้กับผู้ที่ได้รับอำนาจต่างๆ ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ
ยศ  คือฐานะหรือบรรดาศักดิ์ที่ได้รับของขุนนาง เช่น เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น พัน เป็นต้น
ตำแหน่ง  คือหน้าที่ทางราชการที่ได้รับ เช่น สมุหนายก สมุหพระกลาโหม เสนาบดี เจ้ากรม เป็นต้น
ราชทินนาม  คือนามที่ได้รับพระราชทาน ซึ่งแสดงถึงตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ เช่น จักรีศรีองครักษ์
ศักดินา  คือเครื่องกำหนดฐานะในสังคมตามตำแหน่งหน้าที่ราชการ เช่น 10,000 ไร่ ตำแหน่งต่างๆ ของขุนนางนั้นเป็นของเฉพาะบุคคล ไม่มีการสืบสายโลหิต 
………ขุนนางมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ได้แก่ ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับ ควบคุมกำลังพลสำหรับใช้งานในราชการทั้งในยามภาวะปกติและภาวะสงคราม สิทธิพิเศษที่ขุนนางได้รับ เช่น ได้รับการยกเว้นการถูกเกณฑ์แรงงาน รวมถึงบุตรของขุนนางด้วย ผู้ที่ถือศักดินาตั้งแต่ 400 ไร่ขึ้นไปจะได้รับสิทธิเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ และสามารถตั้งทนายว่าความให้ตนเองเมื่อเกิดคดีความ ได้รับยกเว้นการเสียภาษีที่นา เป็นต้น

.2.ชนชั้นใต้การปกครอง แบ่งออกเป็น 
2.1 ไพร  คือ ราษฎรทั่วไปที่ไม่ได้เป็นเจ้านาย ขุนนาง และทาส บุคคลกลุ่มนี้มีมากที่สุดในสังคม ชายฉกรรจ์ทุกคนเมื่อมีอายุถึงกำหนดเริ่มตั้งแต่ 18 หรือ 20 ปี ต้องไปขั้นทะเบียนสังกัดมูลนาย มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ได้รับมา ทั้งในภาวะที่สังคมสงบหรือมีสงคราม โดยที่ไม่มีการให้ค่าตอบแทนแต่อย่างใด

ไพร่แบ่งออกเป็นหลายประเภท ได้แก่ 

– ไพร่หลวง  ไพร่ที่ขึ้นต่อพระมหากษัตริย์โดยตรง ถูกเกณฑ์แรงงานมาทำงานตามที่ราชการกำหนด ซึ่งพระมหากษัตริย์จะแบ่งให้ไปทำงานในกรมหรือกองต่างๆ เข้าเวรทำงานตามเวลาที่ถูกกำหนด คือ 6 เดือนต่อปี ( เข้าเดือนออกเดือน)

– ไพร่ส่วย  ไพร่ที่ส่งเงินหรือสิ่งของมาแทนตัวของไพร่แทนการทำงานเพื่อชดเชย อาจเนื่องจากอยู่ไกลจากเมืองหลวง เข้ามารับราชการไม่สะดวก ตั้งแต่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีการส่งเงินมาแทนแรงงานมากขึ้น เงินที่ส่งมานี่เรียกว่า เงินค่าราชการ เก็บในอัตราเดือนละ 2 บาท หรือปีละ 12 บาท

– ไพร่สม  ไพร่ที่ขึ้นต่อขุนนางและข้าราชการต่างๆ เพื่อทำงานรับใช้โดยตรง ไพร่นี้จะตกเป็นของมูลนายนั้นจนกว่ามูลนายจะถึงแก่กรรม ไพร่สมจะถูกโอนมาเป็นไพร่หลวง แต่บุตรของมูลนายเดิมมีสิทธิยื่นคำร้องของควบคุมไพร่สมนี้ต่อจากบิดาก็ได้ สิทธิทั่วไปของไพร่ เช่น ไพร่จะอยู่ภายใต้สังกัดของมูลนายคนใดคนหนึ่ง ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ไพร่ไม่สามารถย้ายสังกัดได้นอกจากมูลนายของตนจะยินยอม ที่ดินของไพร่สามารถสืบทอดไปยังรุ่นต่อไป แต่ถูกจำกัดสิทธิในการย้ายที่อยู่ และต้องขึ้นทะเบียนตามภูมิลำเนาของตน เป็นต้น หลังจากที่เข้าเวรทำงานครบ 6 เดือนแล้ว สามารถกลับไปอยู่กับครอบครัวเพื่อประกอบอาชีพในครอบครัวได้อิสระ เว้นแต่ในยามสงคราม

2.2 ทาส  เป็นบุคคลชนชั้นต่ำที่สุดในสังคม ไม่มีกรรมสิทธิในแรงงานและชีวิตของตนเอง ทำงานให้แก่นายเงินของตนเท่านั้น ทาสแบ่งตามกฏหมายได้ 7 ชนิด คือ

– ทาสสินไถ่  เป็นไพร่ที่ยากจน ขายตนเองหรือถูกผู้อื่นขายให้แก่นายเงิน ต้องทำงานเพื่อหาเงินมาไถ่ค่าตัวจึงหลุดจากความเป็นทาสได้

– ทาสในเรือนเบี้ย  คือลูกของทาสที่เกิดจากบิดามารดาที่เป็นทาส ทำให้ตกเป็นของนายเงินไปโดยปริยาย และไม่สามารถไถ่ตนเองให้เป็นอิสระได้

– ทาสที่ได้มาด้วยการรับมรดก  ทาสถือว่าเป็นทรัพย์สิน สามารถสืบทอดเป็นมรดกได้

– ทาสที่มีผู้ใหญ่  เนื่องจากทาสเป็นทรัพย์สิน จึงสามารถยกให้แก่กันได้

– ทาสที่ช่วยไว้จากทัณฑโทษ  ผู้ที่ต้องโทษทางอาญาแต่ไม่มีเงินจ่าย แล้วมีผู้นำเงินมาจ่ายค่าปรับให้แทนผู้นั้นแล้วให้ไปทำงาน ผู้นั้นจึงต้องไปเป็นทาส

– ทาสที่ช่วยจากทุพภิกขภัย  หากเกิดภัยจากธรรมชาติต่างๆ เช่น วาตภัย หรืออุทกภัย พวกไพร่ที่ได้รับความเดือดร้อนแล้วมาขอความช่วยเหลือจากพวกเจ้านาย ก็จะต้องขายตัวมาเป็นทาสเพื่อจะได้มีชีวิตอยู่ได้ต่อไป

– ทาสเชลย  คือเชลยที่ได้มาจากการไปทำการรบในศึกต่างๆ เมื่อจับได้ก็ให้เป็นทาสรับใช้นายผู้นั้นไป ทาสนั้นต้องทำงานให้กับนายของตนเท่านั้น ไม่มีสิทธิมีอิสรภาพที่จะดำเนินชีวิตได้ตามลำพัง เมื่อทาสกระทำความผิด นายจะสามารถลงโทษทาสอย่างไรก็ได้ แต่ต้องไม่ให้ถึงแก่ความตาย ถ้าหากทาสตาย นายเงินจะมีความผิดฐานฆ่าคนตาย ทาสเปรียบเสมือนเป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่ง จะนำไปแลกเปลี่ยน ซื้อขาย หรือตกทอดเป็นมรดก แต่ผู้ที่ไม่สามารถดำรงชีวิตหรือ ประกอบอาชีพตามปกติได้ก็มักจะขายตัวมาเป็นทาส เพราะมีความสุขสบายกว่าการเป็นขอทาน

” แม้ว่าทาสจะเป็นบุคคลชนชั้นต่ำสุด ไม่มีอิสรภาพ แต่ยังเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้บ้าง มีศักดินา 5 ไร่ สามารถทำมรดกหรือสัญญา และมีสิทธิไถ่ถอนตัวเองได้หากมีเงินมาไถ่ถอน เว้นเพียงทาสเชลยเท่านั้นที่ไม่มีโอกาสเป็นอิสระ”

ศักดินาของการแบ่งชนชั้น  ชนชั้นของบุคคลแต่ละกลุ่มนอกจากจะถูกแบ่งตามบทบาทในสังคมที่ได้รับแล้ว ก็ได้มีศักดินาเป็นของตนเองที่เป็น เครื่องแบ่งชนชั้นของบุคคลด้วย ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้มีการแบ่งศักดินาเป็นดังนี้

– พระมหาอุปราช 100,000 ไร่ 
– พระอนุชา 20,000 ไร่
– พระเจ้าลูกเธอ 15,000 ไร่
– ขุนนาง 400 – 1,000 ไร่
– พระสงฆ์ 400 – 2,400 ไร่
– ไพร่ 10 – 25 ไร่
– ทาส 5 ไร่ 

แต่การจัดระบบศักดินานี้ไม่ได้หมายความว่าจำเป็นจะต้องมีที่ดินทั้งหมด เป็นเพียงสิทธิที่จะมีที่ดินจำนวนเท่าที่กำหนดไว้เท่านั้น ส่วนพระมหากษัตริย์ไม่ได้กำหนดศักดินาไว้ เนื่องจากถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของที่ดินทั้งราชอาณาจักรอยู่แล้ว

พระสงฆ์  ไม่ได้จัดให้อยู่ในฐานะใด เนื่องจากพระสงฆ์เป็นบุคคลที่มีหน้าที่สืบทอดพระพุทธศาสนา เป็นที่รวมของบุคคลชนชั้นต่างๆ และได้รับความเคารพนับถือจากบุคคลทุกชนชั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการปกครองบ้านเมืองโดยตรง แต่จะให้ความรู้ด้านวิชาการและจริยธรรมแก่บุตรทุกคน ทุกชนชั้น โดยจะมีวัดเป็นศูนย์กลางเพื่อให้เป็นที่พึ่งของประชาชนของชุมชน คอยให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ ชักชวนประชาชนให้ร่วมกันบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม จัดว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสงเคราะห์ ช่วยเหลือประชาชนนอกจากนี้การบวชจัดเป็นวิธีเลื่อนชั้นในสังคมวิธีหนึ่ง ผู้ได้บวชเรียนแล้วจะได้มีติดต่อใกล้ชิดกับคนหลายชนชั้น และหลังจากสละสมณเพศออกมาก็มีโอกาสเข้ารับราชการ ทำให้ได้รับความก้าวหน้าในชีวิตมากกว่าเดิม

ลักษณะ การแบ่งชนชั้น

การศึกษา 

ในสมัยอยุธยา การศึกษาถูกจำกัดอยู่ในวงจำกัด ไม่ได้มีมากเหมือนในปัจจุบัน เป็นการศึกษาแบบไม่บังคับผู้สอนมักสงวนวิชาไว้แค่ในวงศ์ตระกูลของตนหรือ
คนเพียงวงแคบ ส่วนใหญ่จะจัดกันในสถานที่เหล่านี้ ได้แก่

1) วัด จะให้การศึกษากับบุตรหลานในเรื่องจริยธรรม พฤติกรรม หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ขนบธรรมเนียม การอ่านและเขียนภาษาไทย การคำนวณ รวมไปถึงวิชาการพื้นฐานอื่นๆ เช่น วิชาเวทมนตร์คาถาอยู่ยงคงกระพัน หรือวิชาช่าง ทั้งช่างฝีมือและศิลปกรรมผู้ที่เรียนต้องบวชเรียนเป็นภิกษุหรือสามเณรเสียก่อน ส่วนใหญ่ผู้ที่เรียนจะเป็นบุตรหลานในครอบครัวของคนสามัญชน

2) บ้าน ส่วนใหญ่จะให้การศึกษาในวิชาชีพที่ครอบครัวมีอยู่ สำหรับเด็กชายจะเป็นงานที่เป็นอาชีพในบ้านอยู่แล้ว เช่น งานตีเหล็ก งานปั้น งานแกะสลัก งานช่าง หรือการรับราชการ เพื่อจะได้สืบทอดงานต่อไป ส่วนเด็กผู้หญิงก็จะเป็นงานบ้านงานเรือน เช่น การทำอาหาร เย็บปักถักร้อย เพื่อเป็นแม่บ้านต่อไป

3) วัง เป็นสถานศึกษาสำหรับคนชั้นสูง ผู้ที่เรียนมักเป็นเชื้อพระวงศ์ เจ้านายในพระราชวังเท่านั้น จะให้การศึกษาในเรื่องการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และศิลปวัฒนธรรม เพื่อไปใช้ในการปกครองในเวลาต่อไป ผู้สอนก็เป็นปราชญ์ทั้งหลายที่ประจำอยู่ในพระราชวัง ซึ่งมีความรู้อย่างมาก วังนับเป็นสถานศึกษาที่สำคัญที่สุด เพราะมีนักปราชญ์ราชบัณฑิตอยู่มากมาย

หลังจากที่มีชาวตะวันตกเข้ามาติดต่อกับไทย ก็ได้นำหมอสอนศาสนาหรือมิชชันนารีมาด้วย นอกจากจะเผยแผ่ศาสนาคริสต์ของชาวตะวันตกนั้นแล้ว ก็ได้ให้การศึกษากับชาวไทย โดยจัดตั้งโรงเรียนเพื่อให้วิชาการ วิทยาการต่างๆ แก่เด็กไทยได้มีความรู้ทัดเทียมกัน หรือบางครั้งก็มีการส่งนักเรียนไทยไปเรียนยังต่างประเทศ เพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาบ้านเมืองต่อไป

อ้างอิง http://vichakarn.triamudom.ac.th/comtech/studentproject/soc/ayuttaya1/content08.htm